เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 62172 ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 12:35

8. อนุสรณ์

ในเวลานั้น เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ได้สงวนที่ดินไว้ประมาณ 1,600 ตารางวา บ้านห้วยเกี๋ยง ตำบลแม่กา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นบริเวณที่นายร้อยเอกฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซนเสียชีวิต ไว้เพื่อเตรียมไว้ทำอนุสรณ์ให้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลับไม่สามารถสร้างอนุสรณ์ขึ้นได้เลยโดยไม่ทราบสาเหตุ ที่ดินแห่งนั้นจึงมีแต่เสาเป็นเครื่องหมายปักไว้พอเป็นที่สังเกต โดยเฟลมมิง วินเธอ นีลเซนระบุว่าเครื่องหมายที่ใช้บอกตำแหน่งบริเวณที่ ร.อ. เจนเซนเสียชีวิตนั้นเป็นเสาสูงแปดฟุต สลักข้อความบอกว่า เป็นสถานที่ที่ ร.อ. เจนเซนเสียชีวิตจากการต่อสู้กับพวกเงี้ยว เมื่อเวลาผ่านไป เรื่องราวเริ่มเลือนหาย ชาวบ้านแถบนั้นได้รับคำบอกเล่าต่อกันเพียงว่า ที่แห่งนี้เป็นสถานที่ซึ่งตำรวจฝรั่งถูกเงี้ยวยิงตาย

ต่อมาในปี ค.ศ. 1929 นายสไตเนอร์ ชาวเดนมาร์กได้เขียนจดหมายถึงสมาคมชาวเดนมาร์กว่าเครื่องหมายที่ใช้บอกตำแหน่งบริเวณที่ ร.อ. เจนเซนเสียชีวิตนั้นได้หักพังลงมา และได้ส่งชิ้นส่วนของเสาที่หักนั้นให้แก่สมาคมชาวเดนมาร์กให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย เพราะบริเวณนั้นจะมีการทำถนน โดยเสนอว่าควรจะมีอนุสรณ์ที่ทำจากหินซึ่งมีลักษณะถาวรเอาไว้แทนที่ และร้องขอให้สมาคมชาวเดนมาร์กเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งก็มีผู้สนับสนุนเงินในการซ่อมแซมอนุสรณ์ดังกล่าว แต่พื้นที่ในบริเวณใกล้เคียงกันที่เคยถูกสงวนเอาไว้สำหรับทำอนุสรณ์ก็ถูกชาวบ้านรุกล้ำเข้ามาใช้สิทธิครอบครอง ประกอบกับมีการตัดถนนพหลโยธินผ่าน บริเวณดังกล่าวจึงเหลือพื้นที่เพียง 152 ตารางวาเท่านั้น

ความพยายามในการบูรณะอนุสรณ์ของ ร.อ. เจนเซนเกิดขึ้นอีกครั้ง ประมาณ พ.ศ. 2498 เมื่อ พ.ต.อ. จง สุวรรณมณี ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ออกตรวจราชการมาถึงอำเภอพะเยา ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย เกิดความสงสัยว่าสถานที่นี้มีความสำคัญอย่างไร และเมื่อได้กลับไปศึกษาประวัติของสถานที่นี้มาจนชัดเจนแล้ว พ.ต.อ. จงจึงมีความคิดที่จะบูรณะสถานที่แห่งนี้ แต่เมื่อของบประมาณไปแล้ว กรมตำรวจมิได้ตอบสนอง ต่อมา พล.ต.อ. เทพ ศุภสมิต ผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 5 (ลำปาง) ได้พบเรื่องที่ พ.ต.อ. จง สุวรรณมณีเสนอขึ้นมา จึงได้นำเรื่องเสนอของบประมาณขึ้นไปอีกครั้ง แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าอีก

กระทั่งในปี พ.ศ. 2513 พล.ต.ต. ชวรวย ปริยานนท์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 5 (ลำปาง) ได้พบเรื่องขอสร้างอนุสาวรีย์นายร้อยเอกฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน จึงคิดว่าหากจะให้ทางราชการจัดสร้างคงต้องสิ้นเปลืองงบประมาณไม่น้อย จึงเห็นควรที่จะจัดสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเองจะดีกว่า เพราะที่ดินที่สงวนไว้ยังมีอยู่ และหากไม่สร้างอนุสาวรีย์ขึ้น ที่ดินก็คงจะถูกชาวบ้านรุกล้ำอีก เมื่อตัดสินใจแล้ว จึงได้ขอแรงตำรวจที่มีฝีมือทางช่างมาช่วยกันสร้าง โดยใช้วัสดุในพื้นที่ สร้างไปเรื่อย ๆ ตามแต่มีเวลาและโอกาสอำนวยให้ในที่สุดอนุสาวรีย์อนุสรณ์ของ ร.อ. เจนเซนจึงสำเร็จ และมีพิธีเปิดอนุสรณ์ ร.อ. เจนเซนในวันที่ 14 ตุลาคม 2515 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 70 ปีของวันเสียชีวิตของ ร.อ. เจนเซน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 12:37

9. สิ่งที่หลงเหลือ

ครั้งล่าสุด แต่คงจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ฉันจะแวะไปที่อนุสาวรีย์บนพื้นที่เล็ก ๆ ริมถนน ซึ่งซ่อนอยู่ภายใต้ร่มไม้ใหญ่ แม้ป้ายบอกจะสะดุดตา แต่ก็ใช่ว่าจะหากันได้ง่าย ๆ เพราะส่วนใหญ่แล้ว มักจะขับรถผ่านไปกันเสียมากกว่า คือ ไม่กี่วันหลังจากเริ่มต้นเขียนเรื่องเล่าเกี่ยวกับเขาเรื่องนี้

พวงหรีดจากหน่วยงานต่าง ๆ ของตำรวจและทหารซึ่งนำมาวางไว้เพื่อแสดงความคารวะ ร.อ. ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซนในวันครบรอบวันเสียชีวิตของเขาเมื่อ 14 ตุลาคมยังคงอยู่ มีใครบางคนเอาขนมและน้ำมาวางไว้ด้วยเช่นคราวก่อนที่เคยเห็น

เหมือนทุกครั้งที่แวะมา สถานที่แห่งนี้เงียบสงบและเรียบง่ายกว่าอนุสาวรีย์หรืออนุสรณ์ส่วนใหญ่ ที่ฉันเคยพบ แทบไม่มีเครื่องเซ่นไหว้บูชาใด ๆ ให้เห็น จนในบางครั้ง ฉันก็อดนึกแผลง ๆ ไม่ได้ว่า คนที่คิดจะมาบนบานหรือขออะไรสักอย่างจากเขาคงมีอยู่ แต่คงไม่รู้จะพูดกับเขาเป็นภาษาอะไรดี แต่ไม่ว่าด้วยเหตุใด ฉันอดโล่งใจไม่ได้ที่สถานที่แห่งนี้ไม่ถูกรบกวนจนเต็มไปด้วยความวุ่นวาย และแม้ว่าน้อยคนที่รู้จักหรือเห็นความสำคัญ แต่อย่างน้อยที่สุด เขาก็ไม่ได้ถูกลืมไปโดยสิ้นเชิง

ฉันไม่อาจคาดเดาได้ว่า ร.อ. เจนเซนจะรับรู้บ้างหรือไม่ว่า ตัวของเขาเองเป็นวีรบุรุษ หรือได้สร้างวีรกรรมที่มีความสำคัญมากเพียงใด หรือเพียงแต่คิดว่า เขาเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งมีงาน มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ที่เขาจะต้องปฏิบัติให้ได้จนสุดความสามารถเท่านั้น และนั่นอาจทำให้เขาไม่ได้นึกอยากจะรับเกียรติยศหรือการยกย่องใด ๆ นอกเหนือไปจากสิ่งที่เขาควรได้รับในฐานะนายตำรวจคนหนึ่งที่ทำตามหน้าที่พึงได้ตามปกติเทียบเท่ากับนายตำรวจอื่น ๆ เท่านั้น

“วีรบุรุษ คือ คนธรรมดาที่ค้นพบกำลังอันเข้มแข็งในการที่จะยืนหยัดและอดทนอดกลั้นต่ออุปสรรคที่ท่วมท้น”


คำกล่าวนี้เป็นคำกล่าวที่คริสโตเฟอร์ รีฟ นักแสดงที่เคยสวมบทบาทซูเปอร์แมน วีรบุรุษบนแผ่นฟิล์มเคยบอกไว้ ในช่วงเวลาที่เขาต้องประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ แต่ไม่เคยยอมแพ้จนนาทีสุดท้ายของชีวิต และฉันคิดว่าคำกล่าวของเขาเป็นความจริง

สำหรับฉันแล้ว นายร้อยตำรวจเอกชาวเดนมาร์กที่ชื่อ ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่ผู้ชายธรรมดาคนนี้ สามารถเอาชนะอุปสรรคและความกดดันครั้งแล้วครั้งเล่ามาได้ โดยไม่เคยมีคำว่ายอมแพ้หรือถอยหนี สิ่งที่เขาทำมาตลอดระยะเวลายากลำบากเหล่านั้น คือ ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่ลดละ แสวงหาหนทางที่จะก้าวข้ามข้อจำกัดที่มีอยู่ และไม่เคยหาข้ออ้างใด ๆ ในการที่จะปฏิเสธไม่ทำหน้าที่ของตนเอง ซึ่งการมีจิตใจที่เข้มแข็ง พร้อมเผชิญกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามานี่เอง คือ เกียรติภูมิสูงสุดของเขา และเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การยกย่องนับถือยิ่งกว่าวีรกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น

ฉันไม่ได้คาดหวังว่า เรื่องราวของเขาที่เรียบเรียงขึ้นในคราวนี้จะทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้นหรือมีคนแวะเวียนไปแสดงความเคารพอนุสรณ์ของเขามากขึ้น ฉันเพียงแต่เขียนเรื่องนี้ขึ้น เพื่อให้เขาไม่ถูกลืม และเผื่อว่ามีใครสักคนจะยังจำเรื่องราวของเขา รวมถึงบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและมีความสำคัญกับช่วงชีวิตหนึ่งของเขาได้บ้างเท่านั้นเอง

ฉันวางเบญจมาศสีขาวกำหนึ่งที่ตั้งใจซื้อมาให้ด้วยความรู้สึกว่า นี่คือสิ่งที่ฉันควรจะทำ แต่ก็เป็นดอกไม้ที่มัดเป็นช่อเอาไว้ง่าย ๆ ไม่มีการจัดแต่งอะไรเป็นพิเศษไว้ตรงมุมหนึ่งของอนุสาวรีย์ และยืนอยู่ที่นั่นสักพัก

เป็นเวลานานกว่าที่อนุสรณ์แห่งนี้จะสร้างขึ้นได้ แต่กว่าจะสร้างได้นั้น เนื้อที่นับพันไร่ที่เคยถูกกันเอาไว้ถูกทอนหายไปเหลือเพียงไม่กี่ร้อยตารางวา กว่าจะสร้างขึ้นมาได้ก็เมื่อตำรวจตกลงใจที่จะลงเงินลงแรงของตัวเองในการสร้างขึ้นอย่างไม่รีบร้อน และไม่ต้องอาศัยงบประมาณของแผ่นดินเลยแม้แต่น้อย

สมกับเป็นอนุสรณ์ของเจ้าของสถานที่ซึ่งดูจะรักสันโดษและมักน้อยเหลือเกิน เมื่อนึกถึงข้าวของส่วนตัวที่แสนจะธรรมดาและเรียบง่ายของเขาจากข้อมูลที่เคยได้อ่านผ่านตา

บางครั้ง ฉันก็อดคิดไม่ได้ว่า... ทุกสิ่งที่เป็นอยู่เช่นทุกวันนี้ เขาคงพอใจที่จะให้เป็นไปอย่างนี้และเพียงเท่านี้ก็เป็นได้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 12:39

สุดท้ายแล้ว สำหรับเรื่องนี้ อยากส่งท้ายด้วยโคลงสี่สุภาพจากลิลิตพายัพ พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระยุพราชและได้เสด็จผ่านบริเวณที่ ร.อ. เจนเซนถูกยิง ซึ่งโคลงนี้ ส่วนตัวแล้วก็เพิ่งเคยเห็นเหมือนกัน

ตอนบ่ายขับม้าผ่าน      แลเห็น
ที่ตำรวจร้อยเอกเย็น     เซ่นม้วย
เพราะไล่รุกเงี้ยวเป็น     สามารถ
สนองเดชภูเบศว์ด้วย    ชีพครั้งจำเป็น

เย็นเซ่นเดนมาร์คเชื้อ    ชาติไฉน
สวามิภักดิ์ตราบบรรลัย  ชีพได้
ควรเราที่เป็นไทย         จำเยี่ยง
ผิวะเหตุโอกาสไซร้       เกิดแล้วไป่สยอง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 12:42

อ้างถึง
คุณ  Navarat.C :
ขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ ที่มาอ่าน และให้คำแนะนำ
จริง ๆ ตอนแรกก็ชั่งใจอยู่ว่า ควรจะเอาลงในห้องประวัติศาสตร์ด้วยดีไหม
แต่สำหรับเรื่องนี้ ตั้งใจเขียนลงในถนนนักเขียน และเลือกวิธีการเขียนแบบเล่าให้ฟัง
ถ้าจะนำเรื่องของ ร.อ. เจนเซนไปลงในห้องประวัติศาสตร์ คิดว่าคงจะต้องเรียบเรียงใหม่
เน้นไปที่ข้อมูลมากกว่านี้อีกหน่อย และจัดระเบียบภาพที่จะเอาไปลงอีกแบบหนึ่ง
ถ้าเห็นว่าเรื่องนี้น่าสนใจหรือมีประโยชน์อยู่ จะนำไปเผยแพร่ก็ยินดีค่ะ


ผมขอขอบคุณคุณ“ปิยะรักษ์”อีกครั้งหนึ่งครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 15:58

สถานีตำรวจนครบาลที่ 1 
คำบรรยายบอกว่า เป็นสถานีตำรวจนครบาลพระราชวงศ์    หมายถึงเขตราชวงศ์ในปัจจุบันหรือเปล่าคะ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 17:42

สถานีตำรวจนครบาลพระราชวังครับ

อยู่ที่ปากคลองตลาด

สมัยยุคทมิฬ๒๔๘๒ สันติบาลของหลวงอดุลจับกรมขุนชัยนาทนเรนทรมาคุมขังไว้ที่นี่
บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 18:18

ขอนอกเรื่องตำรวจ

ครูเหมเคยเล่าไว้ในฟ้าเมืองไทย
ว่าบ้านที่ท่านเกิดและอยู่ตอนเด็กได้กลายเป็นสถานีตำรวจพระราชวัง
 
แต่เนื้อหาทั้งหมดไม่ได้เก็บเอาไว้
มีผู้ลอกมาให้อ่านในพันทิป
ที่จำได้คร่าวๆ บ้านที่ท่านอยู่เป็นลักษณะวัง
เป็นเรือนไทยชุด ด้านนอกทาสีแดง ภายในมีภาพเขียนฝาผนัง

ภายหลังคงเปลี่ยนมือเป็นของคนอื่น
เรือนเก่าถูกรื้อไป สร้างใหม่
สุดท้ายกลายเป็นสถานีตำรวจพระราชวัง



----------------------------------------------------


ครูเหม เวชกร เกิดที่ ตำบลพระราชวัง

(บ้านเก่าของครูเหมเคยอยู่บริเวณที่ตั้งของสถานีตำรวจพระราชวังในปัจจุบัน)

บิดาของครูเหมท่านเป็นคนรูปหล่อ หุ่นดี จึงมีชื่อว่า “นายหุ่น”(หุ่น ทินกร ณ อยุธยา)
มารดาชื่อ นางสัมฤทธิ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา อันเป็นนามสกุลเดียวกับไม้ เมืองเดิม
และแม่ของครูเหม เวชกร มีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ชีวิตในวัยเด็กของครูเหม เวชกร
ไม่ค่อยมีใครทราบเรื่องราวนัก เนื่องจากครูเหมจะไม่ค่อยเปิดเผยชีวิตของท่านกับใคร





ครูเหม เวชกร สิ้นอายุขัยในวัย 66 ปี เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2512
 ณ บ้านพักแหล่งสุดท้ายของท่านที่ซอยตากสิน 1 ช่วงสุดท้ายของชีวิตทั้งๆ
ที่สุขภาพไม่แข็งแรงครูเหมยังสร้างงานเขียนภาพออกมาไม่มีหยุด
ครูเหมเขียนเรื่องและภาพประกอบให้ อาจินต์ ปัญจพรรค์
ลงในคอลัมน์ “จากย่ามความทรงจำ ของ เหม เวชกร” หนังสือฟ้าเมืองไทย ได้ประมาณ 5-6 ฉบับ
 เนื้อหาของคอลัมน์จะเกี่ยวกับประวัติของนักเขียนดังๆ ที่เป็นเพื่อนสนิทกับท่าน อาทิ ไม้ เมืองเดิม และยาขอบ
   



 

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 19:29

ขอนอกเรื่องไปเหมือนกันครับ

เรื่องของเงี้ยวปล้นเมืองนี้ เรื่องราวที่รับรู้กันส่วนมากจะไปจบหรือจางหายไปเมื่อจบเรื่องที่ลำปางในปี 2445   ที่จริงแล้วเรื่องไปจบที่การจะเข้าปล้นเมืองเชียงรายแต่ไม่สำเร็จเมื่อ 2448   ซึ่งหลังจากเหตุการณ์นั้น ดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มของการอพยพของคนจากแพร่ เชียงใหม่ พะเยา เข้ามาอยู่ใเขต จ.เชียงราย ทำให้เกิดการขยายตัวของประชากรของเชียงรายอย่างจริงจัง รวมทั้งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของคนที่นับถือศาสนาต่างๆจนกระทั่งในปัจจุบัน       
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 19:32

^
คุณตั้งเล่าสั้นไปแล้วละครับ

ขยายความหน่อย
บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 20:12

ต่อ สน.พระราชวังอีกนิด
1คือ สน.
2คือคลองคูเมืองเดิม
3คือวัดโพ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 20:59

ไปเจอใน FB ย้อนอดีต..วันวาน   มีคำบรรยายว่า
High ranking Siamese Royal Police officers pose in their dress whites, on the occasion of Chulalongkorn's 1907 European return
ภาพนายตำรวจ ที่มีชั้นยศสูงในขณะนั้น ได้ถ่ายรูปหมู่ร่วมกันโดยมีฉากหลังที่เขียน โรงพักชะนะสงคราม เมื่อคราวงานฉลอง ร.5 เสด็จกลับจากยุโรป เมื่อ พ.ศ. 2450


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 21:26

ไปเจอใน FB ย้อนอดีต..วันวาน   มีคำบรรยายว่า
High ranking Siamese Royal Police officers pose in their dress whites, on the occasion of Chulalongkorn's 1907 European return
ภาพนายตำรวจ ที่มีชั้นยศสูงในขณะนั้น ได้ถ่ายรูปหมู่ร่วมกันโดยมีฉากหลังที่เขียน โรงพักชะนะสงคราม เมื่อคราวงานฉลอง ร.5 เสด็จกลับจากยุโรป เมื่อ พ.ศ. 2450


จัดแผนที่โรงพักชะนะสงครามให้ดู เป็นแผนที่ในยุคเดียวกัน ตั้งอยู่หัวมุมถนนข้าวสาร หน้าวัดชนะสงคราม บางลำพูครับ


บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 22:11

ไปอีกด้านที่อยู่ใกล้ๆกัน มีตำรวจที่รถรางหลายคน


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 22:20

สนใจเครื่องแต่งกายของนายตำรวจในรูปที่นำมาลงในค.ห. 70 ว่าที่ขาของพวกเขา เป็นรองเท้าบู๊ต  หรือถุงเท้ายาวสีดำถึงเข่า หรือว่าเป็นผ้าพันแข้งสีดำ สวมกับรองเท้าคัทชู คะ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 31 ต.ค. 12, 06:38

มีทั้งรองเท้าบูต และสนับแข้งครับ
ที่เป็นรองเท้าบู๊ตจะเห็นเป็นกระบอกสูงจากข้อเท้าขึ้นไป  แต่ที่เป็นสนับแข้งนั้นมีทั้งที่เป็นแผ่นหนังหรือผ้าใบสวมทับหน้าแข้ง
ตั้งแจ่ข้อเท้าขึ้นถึงใต้เข้าในทำนองบู๊ต  แต่รองเท้าที่สวมเป็นรองเท้าหนังผูกเชือกหุ้มข้อเท้า  ถ้าเป็นสนับแข้งตัวสนับแข้งจะ
ไม่เป็นกระบอกสูงขึ้นไปเหมือนท๊อบบู๊ต  แต่สนับสนับแข้งที่เทำจากหนังจะต้องมีเชือกร้อยเพื่อรัดสนับแข้งให้กระชับกับน่อง
แต่ถ้าเป็นสนับแข้งที่ทำจากผ้าก็จะต้องมีกระดุมกลัดจากข้อเท้าขึ้นไปถึงใต้เข่าเหมือนกัน  ส่วนผ้าพันแข้งจะเห็นเป็นแนวผ้า
ซ้อนทับเป็นชั้นๆ จากข้อเท้าขึ้นไปจนถึงใต้เข่า  และผู้ที่ใช้ผ้าพันแข้งบางครั้งอาจไม่สวมรองเท้า
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 20 คำสั่ง