เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 62241 ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


 เมื่อ 28 ต.ค. 12, 08:24

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น มีผู้ที่เคยมีตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีกรมตำรวจ หรือเป็นอธิบดีกรมตำรวจดังนี้

๑ หลวงรัถยาภิบาลบัญชา (เอส.เย.เบริ์ด เอมส์)

เข้ารับราชการและดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองโปลิศคอนสเตเบิลที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯโปรดเกล้าฯให้ท่านผู้นี้จัดตั้งขึ้นในพ.ศ.๒๔๓๐ มีหน้าที่กำกับดูแลพื้นที่ที่ชาวยุโรปและคนในบังคับของกงสุลชาติต่างๆอยู่กันหนาแน่น ซึ่งทำได้อย่างเรียบร้อยเป็นอย่างดี
ในพ.ศ.๒๔๑๔ พวกอังยี่ปล่องเหลี่ยมที่คุมกุลีจีนกำเริบ วางเพลิงก่อการจลาจลทั้งในพระนครและจังหวัดระนองซึ่งมีคนจีนอพยพมารับจ้างแรงงานทำเหมืองแร่มาก แต่ในที่สุดก็ถูกทางราชการปราบปรามจนราบคาบ ในพระนครนั้นโปลิศได้มีบทบาทสำคัญภายใต้การบัญชาของกัปตันเอมซ์ เสร็จภารกิจแล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงได้พระราชทานบำเหน็จให้เป็นหลวงรัฐยาภิบาลบัญชา
 
นอกงานผลงานด้านการปราบปรามแล้ว หลวงรัฐยาภิบาลบัญชา ได้วางระเบียบหน้าที่ของโปลิศอันพึงปฏิบัติ วางระเบียบการรับสมัครบุคคลเข้ารับราชการ  ออกกฎหมายที่เรียกว่า “กฎหมายโปลิศรักษาพระนคร ๕๓ ข้อ”  เปลี่ยนชื่อกองโปลิศเป็นกองตระเวน และรวมกองตระเวนเป็นกรมตระเวน

หลวงรัฐยาภิบาลบัญชาพ้นตำแหน่งในปีพ.ศ.๒๔๓๕ เนื่องจากเกษียณอายุ รวมเวลาที่อยู่ในราชการ๓๒ปี


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 28 ต.ค. 12, 08:26

๒ พระอนันต์นรารักษ์(ภัสดา บุรณศิริ (พระยาอรรคราชวราทร))

ท่านเป็นสามัญชนชุดแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดเกล้าฯให้ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษร่วมกับสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธและจ้าวนายชั้นสูงพระองค์อื่นในปี พ.ศ.๒๔๒๕ เมื่อกลับจากประเทศอังกฤษในปีพ.ศ.๒๔๓๒แล้ว เข้ารับราชการในกรมมหาดเล็กและเป็นเลขานุการส่วนพระองค์เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ

พ.ศ.๒๔๓๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ไปเป็นปลัดกรมกองตระเวน ในกรมพระนครบาล
พ.ศ. ๒๔๓๕ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระอนันต์นรารักษ์ เข้าดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมกองตระเวนแทนหลวงรัฐยาภิบาลบัญชาซึ่งเกษียณอายุ
พระอนันต์นรารักษ์อยู่ในตำแหน่งนี้จนวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๐ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใปเป็นข้าหลวงจัดราชการเมืองสมุทรปราการแลเมืองนครเขื่อนขันธ์(พระประแดง)ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเพชรชฎา

พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นอัครราชทูตสยามประจำกรุงวอชิงตัน และ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอรรคราชวราทร



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 28 ต.ค. 12, 09:17

ว่ากันว่าท่านเป็นต้นแบบของคุณหลวงอัครเทพวรากรของแม่มณีในเรื่อง "ทวิภพ"

http://men.mthai.com/infocus/5761.html

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 28 ต.ค. 12, 09:46

^
อ้อ เหรอครับ

คงเห็นว่าหล่อแบบจะเป็นพระเอกได้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 28 ต.ค. 12, 09:49

๓ นาย เอ.เย.ยาดีน (A.J. Jardine)

ชาวอังกฤษผู้นี้เคยเป็นผู้บังคับการตำรวจของสหราชอาณาจักรในประเทศอินเดียมาก่อน ลาออกมารับราชการในสมัยรัชกาลที่๕ ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บังคับการกองตระเวน และชักชวนเพื่อนชาวอังกฤษจากอินเดียมาร่วมงานอีกหลายคน เพื่อปรับปรุงกิจการตำรวจสยามให้ก้าวหน้าขึ้นตามแนวทางของตำรวจอังกฤษที่ใช้ในการปกครองอินเดีย
ในระหว่างปฏิบัติราชการนั้น ได้มีส่วนร่วมพัฒนากองทหารโปลิศซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๑๙ สำหรับเป็นกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในส่วนภูมิภาค ให้ยกระดับขึ้นเป็นกรมตำรวจภูธร เพื่อป้องกันปราบปรามโจรผู้ร้าย อำนวยความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่ราษฎรในต่างจังหวัดให้ได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น

นายยาดีนได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมกองตระเวนในปีพ.ศ.๒๔๔๐ ผลงานอีกประการหนึ่งของท่านผู้นี้คือ การจัดตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้นในปีพ.ศ. ๒๔๔๔ ที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อผลิตนายตำรวจออกรับราชการตำแหน่งผู้บังคับหมวดในส่วนภูมิภาค แม้ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๔๔๗ จะได้ย้ายมาตั้งที่ตำบลห้วยจระเข้ อำเภอเมืองนครปฐม ก็ถือกันว่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร ซึ่งตั้งขึ้นครั้งแรกที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้นกำเนิดของโรงเรียนนายร้อยตำรวจปัจจุบัน

นายยาดีน เกษียณอายุราชการในปีพ.ศ. ๒๔๔๗  รวมเวลาที่ปฏิบัติราชการ๗ปีเศษ หลังจากนั้นได้เดินทางกลับไปยังประเทศอินเดีย

เสียดายที่ไม่มีรูปถ่ายของท่านผู้นี้ปรากฏเลย


บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 28 ต.ค. 12, 11:21

ประวัติของ   Phraya Vasuthep: The Good Danish Soldier of Fortune


http://www.scandasia.com/viewNews.php?coun_code=th&news_id=9329


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 28 ต.ค. 12, 11:48

^
พระยาวาสุเทพเป็นคนที่๕ครับ ยังไม่ถึง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 28 ต.ค. 12, 11:50

๔ มหาอำมาตย์โท อีริก เซ็นต์ เจ ลอร์สัน (Mr.Eric St. J. Lawson)

เกิดที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ในตระกูลแพทย์มีชื่อเสียง บิดาคือ เซอร์ จอร์ช ลอร์สัน อาจารย์สอนวิชาศัลยกรรมที่โรงพยาบาลมิดเวสท์ และเป็นจักษุแพทย์หลวงประจำพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย

เมื่อสำเร็จการศึกษาที่วิทยาลัยเวสท์มินเตอร์แล้ว ได้สมัครเข้ารับราชการเป็นตำรวจสหราชอาณาจักรประจำการในพม่าก่อนที่จะย้ายไปอินเดีย เมืองขึ้นทั้งสองที่อังกฤษรวบเป็นประเทศเดียวกันเรียกว่าอินเดียเบอร์ม่า ในปีพ.ศ.๒๔๔๗ ได้ลาออกและเดินทางเข้ามาสยามตามคำชวนของนายยาดีน ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกรมกองตระเวน ปฏิบัติหน้าที่แทนนาย เอ.เย.ยาดิน ซึ่งได้เกษียณอายุจากราชการ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 28 ต.ค. 12, 12:23

นายยาดีน เกษียณอายุราชการในปีพ.ศ. ๒๔๔๗  รวมเวลาที่ปฏิบัติราชการ๗ปีเศษ หลังจากนั้นได้เดินทางกลับไปยังประเทศอินเดีย

บางแห่งว่านายยาดีนลาออกจากราชการ (แต่ ค.ศ. น่าจะผิด)

จาก หนังสือ Constructing Order Through Chaos: A State Ethnography of the Thai Police โดย Eric James Haanstad หน้า ๕๔

 ขยิบตา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 28 ต.ค. 12, 13:00

^
ปี๑๘๙๗คือพ.ศ.๒๔๔๐ ตรงกับปีที่นายยาดีนเข้ารับราชการครับ

ฝรั่งคงหยิบมาผิด
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 28 ต.ค. 12, 13:02

ท่านลอร์สันได้ดำเนินการปรับปรุงกิจการตำรวจหลายประการ เช่นจัดตั้งกองพิเศษให้มีระบบการทำงานคล้ายกับกองสืบสวนคดีของตำรวจลอนดอน มีการพิสูจน์วัตถุพยาน ระบบลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา เป็นต้น จัดพิมพ์กฎหมายโปลิศเป็นภาษาไทย–อังกฤษ และใช้กฏหมายลักษณะคดีอาญาพิจารณาลงโทษผู้กระทำผิด

ในปีพ.ศ. ๒๔๕๒ ได้ตั้งโรงเรียนพลตำรวจขึ้น เมื่อทางราชการประกาศใช้ พ.ร.บ.เกณฑ์ทหารทั่วประเทศ ก็อนุญาตให้ผู้ที่ผ่านการเกณฑ์ทหารแล้ว สามารถสมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นตำรวจได้ โดยผ่านการฝึกอบรมในโรงเรียนพลตำรวจ๑ปี จบแล้วส่งไปรักษาการมีกำหนด๒ปี หากผ่านก็จะพิจารณาบรรจุเข้าในราชการต่อไป ปรากฏว่าหลักเกณฑ์นี้ยังใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน
จัดตั้งโรงเรียนนายหมวดขึ้นในบ้านพักของท่านลอร์สัน ผู้บังคับการกรมกองตระเวนเอง ที่เชิงสะพานไผ่สิงห์โต ปัจจุบันคือซอยสารสิน ด้านหน้าติดถนนราชดำริ โดยจัดพื้นที่ด้านหลังบ้านซึ่งเป็นเรือนไม้๒ชั้น ๓หลังให้เป็นโรงเรียน

เมื่อทางราชการได้รวมกระทรวงนครบาลเข้ากับกระทรวงมหาดไทย กรมกองตระเวน (หรือตำรวจนครบาล)จึงได้มารวมกับตำรวจภูธร เรียกชื่อใหม่ว่า "กรมตำรวจ"

โรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร(ห้วยจระเข้) จึงได้รวมกับ โรงเรียนนายหมวด (หรือ ร.ร.นายตำรวจพระนครบาล)เรียกว่า"โรงเรียนนายร้อยตำรวจ"(สามพราน) จนทุกวันนี้
ในสมัยของท่านลอร์สัน มีนายตำรวจฝรั่งรับราชการหลายนาย ทำให้กิจการตำรวจเจริญรุดหน้าขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในภาพนี้ท่านลอร์สันนั่งอยู่ข้างสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 28 ต.ค. 12, 13:10

ต่อเรื่องของนายยาดีนอีกนิด

จาก หนังสือพิมพ์ The Straits Times, 23 September 1914, Page 8 ของสิงคโปร์

ก่อนมารับราชการในสยาม นายยาดีนรับราชการที่อินเดีย และพม่ามาก่อน

 ขยิบตา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 28 ต.ค. 12, 13:27

ฝรั่งดีอีกคนหนึ่งที่เข้ามารับราชการเป็นนายตำรวจในช่วงนี้ โดยเริ่มเป็นครูโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรที่นครราชสีมาหลายปี และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ไปปฏิบัติราชการพิเศษในท้องที่จังหวัดภาคใต้เพื่อปราบการทุจริต จนเป็นที่มาของประโยคสั้นๆ แต่ซาบซึ้งตรึงใจสุจริตชนเป็นอย่างยิ่ง

“เงินสกปรก...คนสกปรก...เชิญออกไป...ฉันได้รับเงินพระราชทานเงินเดือนพอกินพอใช้อยู่แล้ว ....”

เจ้าของประโยคคือ นายพันโท ออกัส ฟิคเกอร์ เฟรดเดอริค คอลส์ (A.F. Kolls)นายทหารเชื้อชาติเดนมาร์กผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต ภายหลังข่าวเสียชีวิตของท่านที่จังหวัดตรังในปี๒๔๕๔ ถึงพระเนตรพระกรรณ พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าฯทรงโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง ทรงอุทานว่า“แขนขวาฉันขาดแล้ว”
 
อ่านเรื่องของท่านผู้นี้ต่อได้ที่นี่ครับ

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2012/03/K11895214/K11895214.html


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 28 ต.ค. 12, 13:42

ท่านลอร์สันแม้จะเป็นผู้รักษาระเบียบวินัยเคร่งครัด แต่มีความเมตตาปรานีเป็นที่รักใคร่ของผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้การบริหารงานตำรวจเจริญรุดหน้าเป็นอันมาก จึงได้รับพระราชทานยศเป็นนายพลตำรวจโท ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลตระเวน ครั้งสุดท้ายได้เป็นมหาอำมาตย์โท

ท่านได้พ้นหน้าที่ราชการเมื่อพ.ศ.๒๔๕๖ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ อันสืบเนื่องมาจากข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจภายในประเทศตกต่ำ จำเป็นต้องเลิกจ้างข้าราชการชาวต่างประเทศซึ่งล้วนแต่ค่าจ้างสูงกว่าคนไทยหลายเท่า รวมเวลารับราชการของท่านได้๑๑ ปีเศษ แต่ท่านยังได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นที่ปรึกษากรมตำรวจจนกระทั่งปี๒๔๕๘


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 28 ต.ค. 12, 13:47

พระยาวาสุเทพเป็นราชทินนามสำหรับตำรวจ มีฝรั่งได้เป็นพระยาวาสุเทพ๒คน ระวังอย่าสับสนนะครับ


บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.04 วินาที กับ 20 คำสั่ง