เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 62019 ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 09:11

อ้างถึง
ขออนุญาตปรึกษาคุณนวรัตนและคุณเทาชมพูว่า น่าจะแยกกระทู้นี้ตั้งแต่หน้า ๖ เป็นอีกกระทู้หนึ่ง เสนอชื่อลำลองไว้ว่า "ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน"

ตกลงครับ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 10:06


ทางนครลำปาง เมื่อทราบถึงการดักปล้นสินค้าของพ่อค้าชาวจีนและเงินหลวงก็ได้มีการจัดต้องกองสอดแนมออกสืบข่าวเกี่ยวกับกลุ่มโจรด้วยกัน 3 กอง คือ กองที่ 1 ของ พลโท เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 9 และพระยาอุตรการโกศล (เจ้าน้อยบุญสม ณ เชียงใหม่) ไปสืบที่แม่จาง และเมืองลอง กองที่ 2 นำโดยเจ้าราชภาติกวงศ์ (คำตั๋น ณ เชียงใหม่) ไปสืบที่แม่เมาะ ปางป๋วย และกองที่ 3 ของพระมนตรีพจนกิจ (พร จารุจินดา) ข้าหลวงลำปาง เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์ หลวงไอศูรย์ และขุนภูธรธรานุรักษ์ ไปสืบที่เมืองต้า



ที่บทความข้างต้นอ้างชื่อเดิมของ พระยาอุตรการโกศล และเจ้าราชภาติวงศ์นั้นน่าจะไม่ถูก เจ้าราชภาติกวงษ์นครลำปางในเวลานั้นมีชื่อว่า น้อยพาบเมรุ  ณ ลำปาง  ภายหลังเป็น เจ้าราชวงศ์  ส่วนพระยาอุตรการโกศลนั้นมีชื่อว่า น้อยปิงเมือง (ไม่ทราบนามสกุล)
มีข้อสังเกตว่า ตำแหน่งอุตรการโกศลของเชียงใหม่นั้นเป็น เจ้าอุตรการโกศล  ส่วนที่ลำปางเป็นพระยาอุตรการโกศล  ส่วนพระมนตรีพจนกิจ ที่ระบุชื่อ พร  จารุจินดา ก็ไม่ถูกเพราะเจ้าพระยาสุรบดินทรสุรินทรฤาไชย (พร  จารุจินดา) เดิมเป็นพระศิริไอยสวรรย์ สังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ  เมื่อย้ายมาสังกัดกระทรวงมหาดไทยรับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาอุทัยมนตรี ข้าหลวงเมืองนครลำพูน  แล้วเลื่อนเป็นพระยาสุรบดินทรสุรินทรฦาชัย ข้าหลวงมณฑลพิษณุโลก  แล้วเบื่อนเป็นเจ้าพระยาคราวเป็นอุปราชมณฑลภาคพายัพ  พระมนตรีพจนกิจ ในเวลานั้นมีนามเดิมว่า เทียนฮี้  สารสิน ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสารสินสวามิภักดิ์
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 11:19

6. ป้องกันลำปาง

ในรายงานอย่างเป็นทางการ การบุกเข้าโจมตีนครลำปางจนเกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลังของเงี้ยวและตำรวจภูธรลำปางซึ่งนำโดย ร.อ. เจนเซนนั้นเกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 4 สิงหาคม 2445 ทว่าก่อนหน้านั้นเริ่มมีการปะทะกันบ้างแล้ว

วันที่ 2 สิงหาคม ถือได้ว่าเป็นการเผชิญหน้ากับพวกเงี้ยวเป็นครั้งแรก เมื่อ ร.อ. เจนเซนออกลาดตระเวนพร้อมกับพลตำรวจนายหนึ่งที่บริเวณประตูชัย ก็ได้พบกับพวกเงี้ยวจำนวนหนึ่งพร้อมอาวุธครบมือ เขาจึงเรียกให้หยุด เพื่อขอตรวจค้น แต่คนกลุ่มนั้นกลับยิงปืนเข้าใส่ จึงเกิดการปะทะกันขึ้น ท้ายที่สุด พวกเงี้ยวก็หนีไปได้ ส่วน ร.อ. เจนเซนและพลตำรวจนั้น ปลอดภัย ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ
แม้จะไม่มีผู้ใดได้รับอันตราย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสัญญาณเตือนว่า ภัยของนครลำปางใกล้จะถึงยิ่งขึ้นทุกขณะ...

ไม่เพียงเท่านั้น ในวันที่ 3 สิงหาคม มีข่าวลือว่าพวกเงี้ยวจะสังหารตำรวจและทหารให้หมดเช่นเดียวกับที่เคยทำมาแล้วที่เมืองแพร่ ทำให้ตำรวจซึ่งเป็นคนท้องถิ่น เกิดถอดใจ ถอดเครื่องแบบหลบหนี เพราะกลัวตาย ทำให้ยิ่งเสียเปรียบด้านกำลังคนมากขึ้นไปอีก คงเหลือแต่เพียง ร.ท. ชุ่ม สุวรรณสมิต ซึ่งเป็นคนของ ร.อ. เจนเซน ร.ท.เชิญ และทหารยศนายสิบอีกเพียง 20 นายเท่านั้น ที่ยังไม่ไปไหน

นอกจาก ร.อ. เจนเซนแล้ว อีกท่านหนึ่งที่เป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องเมืองลำปางในครั้งนี้ด้วย คือ เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์ เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 9 นั่นเอง ด้วยท่านเป็นผู้ที่ร่วมวางแผนการต่อสู้และจัดกำลังคน รวมถึงช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้ชาวเมืองและตำรวจที่เหลือให้ต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม

เห็นได้ว่า นอกจากจะต้องต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามของทางการแล้ว ร.อ. เจนเซนต้องสู้กับปัญหาภายในที่อาจทำให้สถานการณ์พลิกผันไปได้ตลอดเวลาและไม่อาจควบคุมได้ นั่นคือ ความไม่แน่นอนของ ‘อารมณ์’ และ ‘ใจ’ ของผู้ใต้บังคับบัญชา เพราะแม้จะบอกให้ทำตามคำสั่งได้ แต่ก็บังคับใจและความรู้สึกของคนไม่ได้
นี่เอง ที่มีคนเคยบอกว่า ยามวิกฤติ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งในการพิสูจน์ ‘น้ำใจคน’

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ลำปาง ก็เป็นสถานการณ์หนึ่งที่ได้พิสูจน์น้ำใจของเจ้าผู้ครองนครลำปางและนายร้อยตำรวจหนุ่มชาวต่างชาติ รวมไปถึงน้ำใจของผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีต่อผู้เป็นนายแล้วว่าเป็นเช่นไร

แม้จะได้รับคำสั่งให้ควบคุมสถานการณ์ แต่ ร.อ. เจนเซนก็ไม่ได้ตัดสินใจทำทุกอย่างแต่เพียงลำพัง หากมีการปรึกษาและทำงานร่วมกับเจ้าผู้ครองนครลำปาง รวมถึงมีการขออนุญาตจากท่านด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการให้เกียรติกับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ที่รู้จักท้องที่และสถานการณ์ดีกว่าตนเอง
เดิมทีนั้น ร.อ. เจนเซนได้ขออนุญาตนำกำลังตำรวจไปตั้งรับอยู่ภายนอกด่าน แต่เจ้าบุญวาทย์ไม่อนุญาต ด้วยเห็นว่า ควรตั้งรับอยู่เฉพาะในเมือง ซึ่งแม้แนวทางการต่อสู้ของเจ้าบุญวาทย์จะแตกต่างออกไป ทว่าเขาก็ยอมรับและปฏิบัติตาม ซึ่งการไม่อนุญาตให้นำกำลังออกไปสู้รับภายนอกด่านนั้น ย่อมมีเหตุผล เนื่องจากมีตำรวจที่หนีราชการไปเป็นจำนวนมาก กำลังพลที่มีอยู่มีน้อย หากมีคนบาดเจ็บล้มตายอีก คนที่เหลือจะยิ่งเสียกำลังใจมากขึ้น การตั้งรับจากภายในเมืองจึงเป็นการรักษากำลังคนเอาไว้ได้ดีกว่า และเพื่อปลอบขวัญผู้ใต้บังคับบัญชาที่ยังเหลืออยู่ เจ้าบุญวาทย์ก็ได้ประกาศตั้งค่าหัวพวกเงี้ยวเอาไว้รายละสามร้อยรูปีเป็นแรงจูงใจเพิ่มเติมด้วย

แม้ความต่างทางเชื้อชาติและภาษา รวมถึงระยะเวลาที่จำกัดจนไม่อาจสร้างความไว้วางใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเชื่อว่า เขาจะเป็นผู้นำในการป้องกันเมืองและผู้คนได้ จะเป็นปัญหาใหญ่ที่นายร้อยเอกชาวเดนมาร์กต้องเผชิญ แต่ในเวลาเดียวกัน มีบทพิสูจน์อีกบทหนึ่งเกิดขึ้นด้วยเช่นกันว่า เมื่อคนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างฐานะ และที่มาสามารถก้าวข้ามความแตกต่าง และมีเป้าหมายเช่นเดียวกันแล้ว ถึงจะมีจำนวนน้อย ถึงจะรู้ดีว่า โอกาสที่จะพ่ายแพ้นั้นมีอยู่ แต่พวกเขาก็ไว้ใจกันและยืนยันที่จะทำหน้าที่ของตนเองร่วมกันจนถึงที่สุดได้เช่นกัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 11:21

ในวันเดียวกันนั้น มีรายงานว่าพวกเงี้ยวยึดแม่เมาะเอาไว้ได้ และคาดว่าจะถึงเมืองลำปางในช่วงเช้าตรู่วันที่ 4 สิงหาคม... พวกเขามีเวลาเหลืออีกไม่ถึงยี่สิบสี่ชั่วโมง
ช่วงเช้ามืดของวันที่ 4 สิงหาคม พะก่าหม่องและหัวหน้าเงี้ยวเมืองลองก็นำกำลังเข้ามาประชิดเมืองลำปาง และเริ่มโจมตีจากทางเหนือของเมือง จุดไฟเผาบ้านเรือนราษฎร

ด่านที่ 1 ซึ่ง ร.ท. เชิญควบคุมอยู่นั้นสามารถป้องกันพวกเงี้ยวได้ แต่สำหรับด่านที่ 2-5 ซึ่งอยู่เลียบแม่น้ำวัง ตำรวจส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนพื้นถิ่นถอดใจหนีไปกันเกือบทั้งหมดหลังจากมีการปะทะกัน ทำให้เงี้ยวมุ่งตรงไปยังบ้านพักของข้าหลวงนครลำปาง ซึ่งอยู่หลังด่านที่ 5 และสามารถบุกยึดบ้านเอาไว้ได้ หากทำได้เพียงแค่ยึดสถานที่และทรัพย์สินเอาไว้เท่านั้น เนื่องจากตัวของพระมนตรีพจนกิจ รวมถึงข้าราชการสยามคนอื่น ๆ อพยพออกไปจากลำปางก่อนหน้านี้แล้ว

นอกจากบ้านของข้าหลวงลำปาง พวกเงี้ยวอีกส่วนหนึ่ง ยังมุ่งตรงมายังด่านที่ 9 ซึ่งวางไว้ป้องกันคุ้มเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์ โดยมีนายร้อยโทชุ่ม วรรณสมิตรักษาอยู่ด้วย ตำแหน่งของคุ้มเจ้าบุญวาทย์นี้ อยู่ฝั่งตรงข้ามกับสถานีตำรวจภูธรลำปาง และข้างสถานีตำรวจนั้น เป็นวัดบุญวาทย์ ซึ่งเจ้าบุญวาทย์ได้สร้างขึ้น จึงถือว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญก็ว่าได้

บริเวณด่านที่ 9 นี้ ที่ ร.ท. ชุ่มนำกำลังตำรวจต่อสู้กับพวกเงี้ยวอย่างเต็มกำลังจนฝ่ายหลังสู้ไม่ได้ ต้องล่าถอยไปรวบรวมกำลังคนกลับมาโจมตีด่านใหม่อีกครั้ง แต่ก็ต้องล่าถอยกลับไปอีก ว่ากันว่า นอกจากกำลังตำรวจภายใต้การควบคุมของ ร.ท. ชุ่มแล้ว เจ้าหลวงบุญวาทย์วงศ์มานิตก็ได้ร่วมป้องกันด่านนี้ด้วย โดยกระสุนนัดแรกที่ใช้ยิงผู้บุกรุกเป็นกระสุนของเจ้าผู้ครองนครลำปางองค์นี้นี่เอง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ อยู่ในสายตาของ ร.อ. ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซนโดยตลอด และความสำเร็จที่ได้รับในการป้องกันด่านที่ 9 เอาไว้นี้ ทำให้เขาตัดสินใจที่จะยึดด่านที่ 5 กลับมาจากพวกเงี้ยวให้ได้

ร.อ. เจนเซน นำ ร.ท. ชุ่ม และตำรวจอีก 12 นายไปยังด่านที่ 5 แต่ พวกเงี้ยวไหวตัวทัน ระดมยิงเข้ามา แม้จะไม่มีใครได้รับอันตราย แต่ตำรวจที่ได้รับคำสั่งให้ตามมาบุกยึดด่านนั้นก็ขวัญเสียจนหนีไปเกือบทั้งหมด ไม่ยอมกลับเข้ามาทำหน้าที่ คงเหลือเพียง ร.อ. เจนเซน ร.ท. ชุ่ม และพลตำรวจอีก 2 นาย รวมเป็น 4 นายเท่านั้น
แต่กำลังตำรวจแค่ 4 นายจะสู้กับเงี้ยวนับสิบนับร้อยที่มีอาวุธครบมืออย่างไรได้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 11:22

ระหว่างที่อ่านข้อมูลถึงตรงนี้ เรื่องราวหนึ่งก็ผ่านเข้ามาในความทรงจำ พร้อม ๆ กับที่คำถามหนึ่งแวบเข้ามาในความคิด

คืนหนึ่ง ดึกมากจนฉันไม่คิดว่าจะมีใครโทรศัพท์มาหาอีก ฉันได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนสนิทที่เป็นตำรวจ แม้จะยังไม่ทันรับสาย ฉันก็พอจะเดาออกว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะในช่วงเวลานั้น ดูเหมือนกับว่าชีวิตการทำงานของเขาจะมีแต่ปัญหาที่ผ่านเข้ามาไม่เว้น และเช่นเดียวกับทุกครั้ง ฉันเป็นคนรับฟังปัญหาของเขา โดยที่ไม่รู้ว่าจะช่วยเขาเช่นไร
“เวลามีคนมาขอให้เราช่วย เราก็ช่วยเขาเต็มที่ อะไรที่เราทำให้เขาได้เราก็ทำ แต่เวลาที่เราเดือดร้อน ต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ บ้าง กลายเป็นว่าเขาปฏิเสธที่จะช่วยเรา หันหลังให้เรา ทำไมถึงเป็นแบบนี้ก็ไม่รู้”

เขาเอ่ยด้วยเสียงธรรมดา ไม่ได้แสดงอารมณ์อะไร แต่ฉันพอจะรู้ความรู้สึกของเขา ณ ตอนนั้น
“แล้วคิดจะทำยังไงต่อ”
“ยังไม่รู้เลย แต่เรื่องมันมาถึงขนาดนี้แล้ว...”

เขาเอ่ยเพียงแค่นี้ แล้วเงียบไป แต่ฉันก็รู้ว่าเขาคงมีคำตอบอยู่ในใจอยู่แล้ว หากในเวลานั้น เขาต้องการเพียงคำตอบว่า จะมีเพื่อนสักคนหรือไม่ที่จะบอกว่าเชื่อในการตัดสินใจของตัวเองไม่ว่ามันจะออกไปในทางไหนเท่านั้นเอง

ฉันไม่อาจรู้ได้เลยว่า ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซนจะรู้สึกเช่นเดียวกับเพื่อนของฉันบ้างหรือไม่ เมื่อเขาต้องพบกับแรงกดดันหนักหน่วงจากการที่ลูกน้องทิ้งเขาและเพื่อนร่วมเป็นร่วมตายคนอื่นไว้ในจุดเสี่ยงเพื่อเอาชีวิตรอด และทำให้ต้องรับมือกับสถานการณ์ร้ายแรงด้วยจำนวนคนแค่หยิบมือ ในเวลาที่ไม่เหลือทางเลือกมากนัก และผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งหมดฝากชีวิตไว้ภายใต้การตัดสินใจของเขาเพียงผู้เดียว

เขาต้องเลือกว่า จะถอยหรือจะสู้ต่อ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 11:35

ในที่สุด อดีตนายทหารสังกัดกรมทหารรักษาพระองค์เดนมาร์ก ซึ่งเป็นหน่วยทหารราบที่เป็นแนวหน้าในการปะทะกับข้าศึกในสมรภูมิ ก็ตัดสินใจที่จะสู้ต่อด้วยกำลังตำรวจที่เหลืออยู่เพียง 4 คน เพื่อที่จะยึดด่านที่ 5 กลับคืนมาให้ได้
เมื่อปะทะกันซึ่งหน้าไม่ได้ ก็ต้องปรับยุทธวิธีใหม่ โดน ร.อ. เจนเซนนำ ร.ท. ชุ่ม และพลตำรวจอีกสองนายอ้อมไปทางวัดบุญวาทย์ เพื่อหาช่องทางในการโจมตี และเมื่อพบฝ่ายตรงข้ามที่ยืนอยู่นอกด่าน โดยไม่มีการป้องกัน เขาก็ให้สัญญาณกับผู้ใต้บังคับบัญชาให้ยิงออกไปพร้อมกัน และกระสุนทั้งสี่นัดของฝ่ายตำรวจนั้น ก็ทำให้เป้าหมายเสียชีวิตพร้อมกันทั้งสี่คน

ฉันอดคิดไม่ได้ว่า ความไว้วางใจที่พวกเขามีให้กันว่า สิ่งที่ทำอยู่จะต้องลุล่วง และน้ำใจที่ต่างคนต่างพิสูจน์แล้วว่าจะไม่ทิ้งกันจนทำให้ ร.อ. เจนเซนกล้าพอที่จะตัดสินใจดำเนินการต่อ ในขณะเดียวกับที่ ร.ท. ชุ่ม และพลตำรวจอีกสองนายนั้น เชื่อถือและเคารพในตัวของผู้บังคับบัญชาว่าจะเลือกในสิ่งที่ถูกต้องที่สุด คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น

หลังจากประสบความสำเร็จในการทำลายขวัญตั้งแต่ครั้งแรกที่ลงมือ โดยในบทความ "Hans Jensen - Hero of Thailand” ของรอย ฮัดสันในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 21 พฤษภาคม ปี 1978 กล่าวว่า ร.อ. เจนเซนได้ยิงใส่ฝ่ายตรงข้ามจนล้มไปทีละคน จากนั้น ตำรวจทั้งสี่นายก็ระดมยิงกลุ่มโจรที่ไม่ทันตั้งตัวจนมีทั้งคนที่ตายและบาดเจ็บจนเกิดความระส่ำระสาย ทำให้ตำรวจที่หนีไปและแอบอยู่ตามด่านต่าง ๆ ออกจากที่ซ่อน กลับมาช่วยต่อสู้อีกครั้ง

สถานการณ์พลิกผัน ฝ่ายลำปางกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบอีกครั้ง กองกำลังตำรวจภายใต้การบังคับบัญชาของ ร.อ. ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซนป้องกันนครลำปางเอาไว้ได้ในที่สุด
จากคนแปลกหน้า ผู้กองหนุ่มได้รับการยอมรับนับถือจากชาวลำปางว่าเป็นวีรบุรุษภายในระยะเวลาเพียงชั่ววัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 11:37

เมื่อสำรวจความเสียหายแล้ว จากรายงานภาษาอังกฤษที่ ร.อ. เจนเซน นำเสนอต่อทางการสยาม มีเงี้ยวเสียชีวิตไป 19 ราย และค้นพบผู้ตายเพิ่มเติมอีก 6 ราย และถูกจับกุมไว้อีก 26 ราย โดยหนึ่งในบรรดาเงี้ยวที่เสียชีวิตไปในครั้งนี้ มีพะก่าหม่อง หัวหน้ากองโจร รวมอยู่ด้วย ส่วนทางฝ่ายทหารตำรวจนั้น ไม่มีการสูญเสียกำลังพลไปแต่อย่างใด

ภาษาอังกฤษที่เขาใช้ในการเขียนรายงาน น่าจะเป็นคำตอบส่วนหนึ่งของข้อสงสัยที่ฉันนึกมาตลอดว่า เขาติดต่อสื่อสารกับคนอื่น โดยเฉพาะคนท้องถิ่นและผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นคนสยามได้อย่างไร

ในฐานะครูฝึกตำรวจภูธร การออกคำสั่งในการฝึกยุทธวิธีคงไม่สู้เป็นปัญหานัก เพราะเป็นคำที่ไม่ซับซ้อน เน้นที่การปฏิบัติเสียมากกว่า แต่หน้าที่ของตำรวจไม่ได้หมดเพียงเท่านี้ เพราะการออกปราบปรามผู้กระทำความผิดนั้น จำเป็นต้องวางแผนและทำความเข้าใจกับผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ ด้วย จากภาษาที่เขาใช้ในการเขียนรายงาน ก็น่าเชื่อได้ว่า ภาษากลางที่ใช้สื่อสารกันระหว่างข้าราชการต่างชาติด้วยกันและใช้ติดต่อกับข้าราชการสยาม น่าจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก

จากการที่พันโทพระยาวาสุเทพเป็นผู้ที่ชักชวนให้นายทหารชาวเดนมาร์กเข้ามารับราชการในสยาม การคัดเลือกนายทหารให้ไปประจำการในต่างประเทศเช่นนี้ ทางต้นสังกัดคงต้องเตรียมความพร้อมให้แก่คนของตนมาบ้าง จึงคาดว่า ร.อ. เจนเซนน่าจะได้เรียนภาษาอังกฤษมาพอสมควรก่อนที่จะมารับตำแหน่งครูฝึกในกรมตำรวจภูธร และน่าจะใช้ภาษาอังกฤษได้ดีพอที่จะทำงานร่วมกับข้าราชการระดับสูงของสยาม และชาวอังกฤษอย่างนายหลุยส์ เลียวโนเวนส์ได้เป็นอย่างดีด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่มีความเป็นไปได้ อย่างที่ฉันเคยพูดเล่นกับเพื่อนที่ว่า ไปประเทศไหน ก็ควรจะรู้ภาษาเขาพอให้ซื้อข้าวกินได้ นั่นก็คือ เมื่อมาถึงสยามแล้ว ร.อ. เจนเซนจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาไทย และอาจรวมไปถึงภาษาถิ่นให้พอสื่อสารได้บ้าง

ส่วนระยะเวลาสองปีที่อยู่ในสยามนั้น อาจจะสั้น แต่ฉันคิดว่าระยะเวลาอาจไม่ใช่ปัญหา เพราะเท่าที่เคยทำงานกับชาวต่างชาติที่มาทำงานฝึกอบรมให้กับคนไทย เขาใช้เวลาไม่ถึงเดือนก็พูดภาษาไทยประโยคง่าย ๆ ได้บ้าง แม้จะฟังดูแปร่ง ๆ ก็ตาม ผิดกับคนไทยหลายคนที่เรียนภาษาอังกฤษมานาน แต่บางคนก็ยังไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษเพราะกลัวพูดผิด

ในขณะเดียวกัน ฉันก็อดคิดไม่ได้ว่า นายตำรวจคนสนิทของเขา อย่าง ร.ท. ชุ่ม วรรณสมิตเอง ก็น่าจะพูดภาษาอังกฤษได้ดีพอสมควร ไม่เช่นนั้น ก็คงจะไม่เข้าใจและไม่สามารถทำงาน เคียงบ่าเคียงไหล่ กับผู้บังคับบัญชาชาวต่างชาติผู้นี้ได้เช่นกัน


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พูดมานี้ คงเป็นเพียงแต่การคาดเดาเท่านั้น



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 11:43

ย้อนกลับไปยังเรื่องที่เขานำตำรวจต่อสู้กับเงี้ยวจนได้ชัยชนะกลับมา
 
แม้จะป้องกันนครลำปางเอาไว้ได้ตามที่ได้รับคำสั่งมา และเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์ก็ได้ปฏิบัติตามที่สัญญาไว้แต่ต้นว่า จะจ่ายค่าหัวให้แก่พลตำรวจภูธรที่จับตายพวกเงี้ยวได้รายละสามร้อยรูปีด้วย แต่ภารกิจของ ร.อ. เจนเซนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องด้วยพระยานริศรราชกิจ ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพได้สั่งมาด้วยว่า หากถึงคราวคับขันให้พยายามนำเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางหนีออกจากนครลำปางไปที่นครเชียงใหม่

แม้สถานการณ์จะสงบให้พอพักหายใจได้ แต่ยังวางใจอะไรไม่ได้ เพราะในช่วงเย็นของวันที่ 4 สิงหาคมนั้น ก็มีข่าวว่า พวกเงี้ยวจะนำกำลังร่วมพันคนจากแม่เมาะเข้ามาโจมตีลำปางอีกครั้ง ถึงสิ่งที่ได้รับรู้มาจะเป็นเพียงข่าว แต่เขาก็ไม่อาจเอาชีวิตของเจ้าผู้ครองนครลำปางที่ร่วมต่อสู้กับเขามาไปเสี่ยงได้อีก

นอกจากนี้ ในบทความของอภิรัตน์ รัตนชัย ได้นำเสนอข้อมูลว่า เมื่อได้รับข่าวนี้ ร.อ. เจนเซนได้ขอกำลังพลและกระสุนเพิ่มจากเชียงใหม่ แต่ถูกปฏิเสธ หัวเมืองอื่น ๆ ก็ไม่ยอมส่งกำลังมาช่วย เนื่องจากต่างเกรงเงี้ยวจะบุกเมืองของตนแล้วจะไม่มีกำลังมาต่อสู้ หรือเมื่อให้ความช่วยเหลือไปแล้ว เงี้ยวจะกลับมารุกราญเมืองของตนคืน

ดังนั้น ร.อ. เจนเซน จึงได้ขอให้เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์เดินทางออกจากนครลำปางไปยังนครเชียงใหม่ เพื่อความปลอดภัย โดยจะจัดกำลังคุ้มกันไปส่งด้วย ซึ่งเจ้าบุญวาทย์ก็ตกลงที่จะปฏิบัติตามคำขอของ ร.อ. เจนเซน

ใจจริงแล้ว เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตเองก็คงไม่อยากไปจากลำปางนัก หากแต่ไม่อยากสร้างความลำบากใจให้กับ ร.อ. เจนเซนที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของข้าหลวงมณฑลพายัพ และไม่ต้องการให้เขาต้องห่วงหน้าพะวงหลังกับการปกป้องตัวท่านเองในขณะที่ต้องวางแผนการต่อสู้ ประเมินสถานการณ์ ประเมินกำลังคนและอาวุธยุทโธปกรณ์อื่น ๆ ไปด้วย

ก่อนออกจากนครลำปาง ท่านได้รวบรวมเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ ของหลวงไปฝากไว้ที่สำนักงานของนายหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ซึ่งเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุด เนื่องจากเป็นสำนักงานของชาวอังกฤษ จึงแน่ใจได้ว่าพวกเงี้ยว ที่เป็นคนในบังคับของอังกฤษจะไม่เข้ามาแตะต้องอย่างแน่นอน

กลางดึกของวันที่ 4 สิงหาคม เจ้าบุญวาทย์พร้อมตำรวจและกำลังคุ้มกันได้ออกเดินทางจากลำปาง โดยมี ร.อ. เจนเซน และนายหลุยส์ เลียวโนเวนส์ ขี่ม้าไปส่งถึงบ้านหางสัตว์ หรือ ห้างฉัตร ในปัจจุบัน และเดินทางไปถึงบ้านหางสัตว์ในช่วงเช้าวันที่ 5 สิงหาคม

ที่บ้านหางสัตว์ ร.อ.เจนเซนได้พบว่าตำรวจภูธร 50 นายกำลังจะเดินทางกลับเชียงใหม่ โดยมี ร.ท. ชุ่ม วรรณสมิตกับ ร.ท. อินอยู่กับพวกตำรวจที่จะเดินทางด้วย ร.ท. ชุ่มชี้แจงว่า เกรงพวกตำรวจจะถอดเครื่องแบบทิ้งอาวุธหนีไประหว่างทางอย่างที่เคยทำ จึงต้องตามมาคอยควบคุม เมื่อรับทราบว่าเกิดอะไรขึ้น และเชื่อว่าสิ่งที่ ร.ท. ชุ่มนั้นบอกมาเป็นความจริง ร.อ. เจนเซน จึงแก้ปัญหาด้วยการมอบหมายงานให้ตำรวจที่จะกลับไปเชียงใหม่มีหน้าที่คุ้มกันขบวนเดินทางของเจ้าบุญวาทย์ให้ถึงปลายทาง ซึ่งโดยนัยแล้ว ก็เท่ากับอาศัยกำลังคนให้เป็นประโยชน์พร้อมกับควบคุมไม่ให้หนีไประหว่างทางไปในตัว

เนื่องจากต้องเปลี่ยนแผนการในการคุ้มกัน ทำให้ต้องพักค้างแรมที่บ้านหางสัตว์คืนหนึ่ง เช้าวันที่ 6 สิงหาคม ร.อ. เจนเซนจึงขออนุญาตเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตกลับลำปาง เนื่องจากเป็นห่วงสถานการณ์และเป็นห่วงทรัพย์สินของหลวงที่ฝากไว้กับสำนักงานป่าไม้ว่าจะมีคนดูแลเพียงพอหรือไม่ โดยนายหลุยส์ เลียวโนเวนส์ขอตามกลับไปด้วย ส่วนเจ้าบุญวาทย์นั้นยังคงเป็นห่วงนครลำปาง ขอพักค้างที่หางสัตว์อีกระยะหนึ่งเพื่อรอฟังข่าว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 11:46

เมื่อ ร.อ. เจนเซนกับนายหลุยส์ เลียวโนเวนส์ พร้อมผู้ติดตามอีก 3 คนกลับไปถึงนครลำปางก็พบว่า ไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงใด ๆ เพิ่มเติมอีก นอกจากนักโทษเงี้ยวที่พยายามจะแหกคุก แต่ ร.ท. อินกับผู้คุมเรือนจำสามารถควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ ส่วนที่สำนักงานของนายหลุยส์ เลียวโนเวนส์ ซึ่งมีคนงานชาวลำปางและชาวอินเดียดูแลอยู่นั้น ยังคงปลอดภัยดี จึงได้ส่งข่าวดีนี้กลับไปยังเจ้าผู้ครองนครลำปางที่บ้านหางสัตว์

เช้าวันที่ 7 สิงหาคม เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์เดินทางกลับเข้ามาในนครลำปางอีกครั้ง พร้อมสั่งการให้เก็บกวาดบ้านเมืองให้สะอาดเรียบร้อย นายพันตรีเจ้าราชภาติกวงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรนครลำปาง สั่งให้ตำรวจทุกนายกลับเข้าประจำการ ส่วนตำรวจภูธรที่เคยละทิ้งหน้าที่ไประหว่าง วันที่ 3-4 สิงหาคมนั้น ร.อ. เจนเซนทำเพียงแต่คาดโทษไว้เท่านั้น

แม้เหตุการณ์ในนครลำปางจะกลับสู่ความสงบ แต่ชาวเมืองยังไม่อาจวางใจได้และฝากความเชื่อมั่นไว้ที่นายตำรวจหนุ่มชาวเดนมาร์กเพียงผู้เดียว ผู้บังคับการตำรวจภูธรนครลำปางจึงได้ทำหนังสือถึง ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ เพื่อขอตัวนายร้อยเอกฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซนให้อยู่ช่วยราชการที่นครลำปางต่อไป


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 11:50

V_Mee

อ้างถึง
มีข้อสังเกตเรื่องกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ หลายประการคือ

เหตุใดจึงก่อกบฏยึดเมืองแพร่เป็นเมืองแรก คำตอบคือการเดินทางขึ้นสู่ล้านนาในเวลานั้นมีเพียง ๒ เส้นทางคือ เดินทางบกจากอุตรดิตถ์ข้ามเขาพรึงไปเมืองแพร่ อีกเส้นทางจากเมืองตากไปตามลำน้ำปิงไปเมืองลำพูนและเชียงใหม่ตามลำดับ
การที่กบฏเงี้ยวยึดเมืองแพร่จึงเป็นการควบคุมเส้นทางการส่งกำลังจากอุตรดิตถ์ขึ้นไปสู่ล้านนา

ประเด็นต่อมาเมืองแพร่นั้นเป็นชุมทางแยกไปนครน่านและนครลำปาง เหตุไฉนพวกเงี้ยวจึงไม่ยกไปตีเมืองน่าน แต่มุ่งไปนครลำปาง ซึ่งเป็นชุมทางที่จะแยกไปเมืองงาว พะเยา เชียงราย กับอีกทางหนึ่งไปลำพูน และเชียงใหม่
คำตอบในประเด็นนี้น่าจะอยู่ที่ นครน่านไม่มีป่าไม้สัก และหากตีลำปางได้ก็ไม่ยากที่จะเลยไปตีนครเชียงใหม่

เมื่อคิดตามประเด็นเหล่านี้แล้วก็เกิดข้อสงสัยตามมาว่า พวกเงี้ยวจะวางแผนการยุทธได้เพียงลำพังหรือ? ยิ่งได้อ่านรายงานของพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒน์พงษ์ (กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม) ที่กราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลพายัพหลังกบฏเงี้ยวราว ๖ เดือน ที่ทรงกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ชาวอังกฤษที่รัฐบาลสยามจ้างมาจากพมานั้นล้วนทุจริตต่อหน้าที่ และหาโอกาสเอารัดเอาเปรียบพ่อค้าไม้ชาวไทยของกลุ่มกิมเซ่งหลีอยู่ตลอดเวลา ก็เลยยิ่งเชื่อว่าพวกพ่อค้าไม้ชาวอังกฤษอยูเบื้องหลังเรื่องนี้เป็นแน่


ขอย้ายมาไว้ที่นี่ครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 12:20

7. กระสุนสังหาร

นับจากเหตุการณ์บุกปล้นลำปางในวันที่ 4 สิงหาคม 2445 แม้ความเป็นไปในนครลำปางจะกลับคืนสู่ความสงบ แต่การต่อสู้กับเงี้ยวในพื้นที่อื่น ๆ ของมณฑลพายัพยังไม่หมดสิ้น และ นอกจากต้องปราบปรามการจลาจลที่เกิดขึ้นในที่ต่าง ๆ แล้ว ทางสยามเองก็ต้องรับมือกับข่าวลือข่าวปล่อยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา พร้อมกับต้องคอยระวังการฉวยโอกาสแทรกแซงกิจการบ้านเมืองโดยประเทศผู้ล่าอาณานิคม

ทางพระนครได้มีการส่งกำลังสนับสนุนมาเพิ่มเติมเรื่อย ๆ เจ้าพระยาอนุชิตชาญชัยได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นแม่ทัพนครลำปาง และให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นแม่ทัพแพร่ ทำการปราบปรามความไม่สงบในพื้นที่ภาคเหนือ

จนกระทั่งเดือนตุลาคม พ.ศ. 2445 มีรายงานข่าวออกมาว่ามีชาวเงี้ยวทยอยเดินทางเข้าเมืองพะเยามากจนผิดปกติ แต่การข่าวของสยามในขณะนั้นค่อนข้างสับสน และมีเค้าลางของความขัดแย้งในแนวทางการทำงานของแม่ทัพ จนน่าเป็นห่วงว่าจะเสียนครลำปางไปอีก โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอักษรถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2445 ถึงเรื่องนี้ว่า

“...เห็นว่าอานุภาพและเกียรติยศของบ้านเมืองตกอยู่ที่ปลายลิ้นของคนเสียแล้ว ถ้าเมืองนครลำปางเสียในครั้งนี้ อำนาจของเมืองไทยซึ่งปรากฏต่อสายตาคนต่างประเทศจะเป็นที่เสื่อมเสียยิ่งนัก ถ้าพระยาอนุชิตเดินแต้มคูดีๆ ใจคอกว้างขวางขึ้นอีกนิดหนึ่ง อย่าถือเขาถือเรานัก คนร้ายจะไม่กำเริบไปถึงไหน”

เนื่องมาจากในวันที่ 5 ตุลาคม เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้สั่งให้กองทหารไปปราบพวกเงี้ยวที่เชียงคำ และให้กองทหารจากลำปางตีโอบจากพะเยาลงมา ส่วนเจ้าพระยาอนุชิตชาญชัยได้สั่งให้ ร.อ. ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน คุมกำลังตำรวจนครสวรรค์ไปปราบเงี้ยวที่พะเยาด้วยเช่นกัน และให้เจ้าราชภาติกวงศ์ นำกำลังพลและเสบียงตามไปสนับสนุน แต่ก็ใช้เวลานาน กว่าจะตามไปทันกับ ร.อ. เจนเซนที่งาว ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในความดูแลของลำปางก็ล่วงเข้าวันที่ 10 ตุลาคมแล้ว จึงได้เริ่มวางแผนในการที่จะป้องกันเมืองงาว โดย ร.อ. เจนเซนเป็นผู้ออกสำรวจพื้นที่ที่จะป้องกันเมืองและวางแผนนำกำลังไปสนับสนุนที่เมืองพะเยา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 12:22

ในวันที่ 13 ตุลาคม ร.อ. เจนเซนตกลงใจที่จะเริ่มออกเดินทางไปพะเยา แต่ทหารที่คุมกำลังพลมาด้วยขอว่า มีทหารบางคนกำลังป่วยและบางส่วนยังเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทาง จึงพอพักค้างคืนที่งาวก่อน รุ่งเช้าจึงค่อยตามไป ซึ่ง ร.อ. เจนเซนเองก็ไม่ขัดข้องและให้กำลังตำรวจภูธรที่มากับตนได้พักพร้อมกับทหารด้วย แต่ส่วนตัวของเขาเองนั้น ไม่อยากเสียเวลามากไปกว่านี้อีก จึงเลือกเอา ร.ท. ชุ่ม วรรณสมิต และพลตำรวจที่เคยร่วมรบด้วยกันที่ลำปางคราวนั้น และคัดนายสิบตำรวจกับพลตำรวจฝีมือดีอีก 25 นาย พร้อมอาวุธและเครื่องกระสุนออกเดินทางล่วงหน้าไปพะเยาก่อน

ร.อ. เจนเซน พร้อมด้วย ร.ท. ชุ่ม และกำลังตำรวจเดินทางมาถึงบริเวณห้วยเกี๋ยง บ้านแม่กา ได้พบกับเงี้ยวกลุ่มหนึ่งและได้ปะทะกัน พวกเงี้ยวตายไป 10 คน ที่เหลือบาดเจ็บและหนีไป ส่วนตำรวจภูธรทุกนายไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด

เมื่อเห็นว่าฝ่ายตนเป็นฝ่ายได้เปรียบ และไม่ต้องการให้การต่อสู้ยืดเยื้อ หรือฝ่ายตรงข้ามนำกำลังกลับมาสู้อีก ร.อ. เจนเซนจึงสั่งให้ตำรวจภูธรติดตามคนร้ายต่อไป โดยมีการยิงตอบโต้กันเป็นระยะ จนมาถึงบริเวณป่า ในขณะที่สั่งการอยู่และเคลื่อนที่เข้าใกล้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งเพื่ออาศัยเป็นที่กำบัง เงี้ยวที่ซุ่มอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กันนั้นก็ยิงเขาจนล้มลง

ณ ที่แห่งนั้น คือ สถานที่ที่นายตำรวจหนุ่มชาวเดนมาร์กสิ้นลมหายใจ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 12:24

เมื่อ ร.ท. ชุ่ม วรรณสมิต ผู้ช่วยตำรวจภูธร เห็นผู้บังคับบัญชาถูกยิงเสียชีวิต จึงได้นำร่างของ ร.อ. เจนเซน กลับมาฝากไว้กับกองทหารที่บ้านแม่กาท่าข้าม แล้วจึงนำตำรวจที่เหลือออกไปสู้กับพวกเงี้ยว จนในที่สุด ฝ่ายหลังได้พากันถอยห่างออกไปจากแนวรบ แล้ว ร.ท. ชุ่มจึงส่งตำรวจไปแจ้งข่าวให้พันตรีเจ้าราชภาติกวงศ์ทราบ และได้ย้อนกลับมารับศพของ ร.อ. เจนเซนในวันที่ 15 ตุลาคมไปบำเพ็ญกุศลตามธรรมเนียมไทยที่เมืองพะเยาก่อน แล้วแจ้งให้เจ้าบุญวาทย์วงศมานิตย์ทราบต่อไป ส่วนเจ้าราชภาติกวงศ์กับทางตำรวจได้ทำการเข้าขับไล่พวกเงี้ยวออกไปจากบ้านแม่กาได้ค่ำในวันนั้นด้วย

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการลอบยิง ร.อ. เจนเซนนี้ แตกต่างกันออกไปหลายทาง ในเอกสารส่วนใหญ่นั้นกล่าวว่า เขาถูกยิงเข้าที่อกซ้ายสามนัด โดยในเอกสารบางฉบับได้ระบุชื่อคนร้ายว่าชื่อ ส่างน้อย แต่ในบทสัมภาษณ์ เจ้าแม่สวน สูงศักดิ์ ในภาคเหนือนิวส์ หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในจังหวัดลำปาง ฉบับพิเศษวันตำรวจไทย 13 ตุลาคม 2516 ซึ่งเกิดทันและอยู่ในเหตุการณ์ครั้งเงี้ยวบุกปล้นเมืองลำปาง กลับได้เรื่องราวที่ต่างจากรายงานของทางการ โดยเจ้าแม่สวนเล่าถึงช่วงเวลาที่ ร.อ. เจนเซน ซึ่งเจ้าแม่สวนเรียกว่า ‘กัปตัน’ ถูกยิงจนเสียชีวิตว่า เขาถูกยิงจากทางด้านหลัง โดยฝีมือของเงี้ยวที่ถูกยิงจนขาหักซึ่งซุ่มอยู่ในกอไม้ รอจน ร.อ. เจนเซน คล้อยหลังไปแล้ว จึงยิงใส่ แต่เขาไม่ได้เสียชีวิตทันที ด้วยเมื่อถูกยิงจนล้มลงไปแล้วนั้น ร.อ. เจนเซนยังเอาปืนอานม้ามายิงเงี้ยวคนนั้นจนตายไปด้วย


ส่วนในบทความ “A Danish Hero in Chiang Mai” ของแกรห์ม มอนาแกน ได้ระบุว่า เหตุที่ ร.อ. เจนเซนสียชีวิตครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากการลอบยิง แต่เกิดจากการยิงปะทะกับพวกเงี้ยวโดยตรง แต่การระดมยิงของฝ่ายเงี้ยวนั้นพุ่งเป้ามายังเขาแต่เพียงผู้เดียว กระสุนจึงถูกเข้าที่หน้าอกของเขาสามนัด โดยไม่มีตำรวจนายอื่นได้รับอันตราย

นอกจากนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจาก ร.อ. เจนเซนเสียชีวิต ในเอกสารฉบับไทย ฉบับของแกรห์ม มอนาแกน และฉบับของนีลเซนและยอร์เกนเซนยังมีความแตกต่างกันอยู่ค่อนข้างมาก โดยในขณะที่ฉบับของไทยระบุว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถนำร่างของเขาออกมาจากบริเวณจุดปะทะได้ แต่ฉบับของมอนาแกน นีลเซน และยอร์เกนเซนกล่าวว่า ร.อ. ฮาล์ฟแดน โทลเลอ (Captain Halfdan Tolle) ได้ไปตามหาร่างของเขาจนพบในวันที่ 15 ตุลาคม เนื่องจากเมื่อเขาถูกยิงนั้น ตำรวจสยามกำลังปะทะกับเงี้ยวอย่างติดพันจน แม้เงี้ยวจะเป็นฝ่ายล่าถอยไปจริง แต่ฝ่ายสยามเองก็ไม่เหลือกระสุนเอาไว้ป้องกันตัวอีก จึงต้องล่าถอยออกจากพื้นที่เช่นกัน วันรุ่งขึ้นจึงค่อยกลับไปตามหาและนำร่างของเขาออกจากจุดปะทะ โดยมีกำลังตำรวจจากลำปาง และ ร.อ. โทลเลอ นายตำรวจภูธรชาวเดนมาร์ก ซึ่งพระยาวาสุเทพแต่งตั้งให้มารับตำแหน่งแทนเมื่อได้รับแจ้งว่า ร.อ. เจนเซนเสียชีวิต เป็นผู้ค้นพบ และดำเนินการเคลื่อนย้ายไปยังเมืองพะเยา

มีข้อมูลอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่ปรากฏอยู่ในฉบับของไทยเลย แต่กลับพบอยู่ในเรื่องที่มาจากการค้นคว้าของนักข่าวชาวเดนมาร์ก และเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าแปลกใจอยู่มากทีเดียว นั่นคือ ในบทความของนีลเซนและยอร์เกนเซนกล่าวว่า เมื่อพบร่างของฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซนในที่เกิดเหตุนั้น ปรากฏว่าหัวใจของเขาถูกนำออกไปจากร่าง และสันนิษฐานว่าเป็นการกระทำตามความเชื่อทางไสยศาสตร์ของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งไม่แน่ชัดนักว่าเป็นคนกลุ่มใด เพราะอย่างที่เล่าไว้แต่แรกนั้น กลุ่มเงี้ยวในที่นี้ มีคนหลายเชื้อชาติปะปนกันอยู่ ความเชื่อเกี่ยวกับการสะกดวิญญาณของศัตรูหรือคนที่ตนเองฆ่านั้นเป็นเรื่องที่ฉันเคยได้ยินมาบ้าง แต่เนื่องจากยังไม่มีเวลาที่จะค้นหาข้อมูลส่วนนี้ จึงไม่อยากจะยืนยันว่าจริงหรือไม่ คงเป็นเพียงเรื่องอีกเรื่องหนึ่งที่ควรจะเล่าสู่กันฟังให้มองเห็นภาพอีกแง่มุมหนึ่งเท่านั้น

ความตายของนายตำรวจภูธรชาวเดนมาร์กผู้นี้ก็ยังคงเป็นเหมือนภาพที่ยังต่อไม่เสร็จสำหรับฉันอยู่ และฉันอดคิดไม่ได้ที่เราไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับนายร้อยโทชุ่ม วรรณสมิต ผู้ช่วยครูฝึกตำรวจภูธร ผู้ใต้บังคับบัญชาที่เปรียบเสมือนเพื่อนตายของเขามากนัก เพราะเขาเป็นบุคคลที่ปรากฏชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์เสี้ยวเล็ก ๆ ที่แทบไม่มีใครนึกถึงเรื่องนี้ ในฐานะผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับ ร.อ. เจนเซนมากที่สุด ในแทบทุกเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของเขา และน่าจะเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่อาจบอกได้ว่า แท้จริงแล้ว ร.อ. เจนเซนเสียชีวิตเป็นอย่างไร แต่ทว่า ชื่อของเขาก็ไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์หน้าใด ๆ ของสยามอีกเลย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 12:26

อย่างไรก็ตาม หลังจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ถวายรายงานเรื่องการเสียชีวิตของ ร.อ. เจนเซนที่เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์โทรเลขแจ้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเพื่อให้เรื่องที่เป็นที่ยุติ ไม่ให้มีข้อพิพาทหรือข้อสงสัยจนเป็นปัญหากันต่อไปอีก ดังนี้


“แต่ที่จริงซึ่งนายร้อยเอกเยนเซนตายนี้ เห็นจะเป็นด้วยกล้าเกินไป อย่างเช่นเคยสำแดงเดชมาเสมอ คือ ชักดาบออกวิ่งหน้าทหารอย่างทหารฝรั่ง แต่ไอ้พวกนี้มันถนัดแอบยิง ซุ่มยิง คราวก่อนข้างฝ่ายเงี้ยวเป็นผู้มาตีลงในที่แจ้ง คราวนี้อยู่ในสนามเพลาะ เราเป็นผู้ที่อยู่ในที่แจ้ง แต่ไม่ปรากฏว่าฝ่ายเรามีผู้ใดตาย นอกจากนายร้อยเอกเยนเซนคนเดียว”

ท่ามกลางความขัดแย้งภายในที่เกิดขึ้นและอาจทำให้สยามต้องสูญเสียลำปางที่ ร.อ. เจนเซน ร่วมกับเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง และนายหลุยส์ เลียวโนเวนส์เคยพยายามปกป้องเอาไว้จนสุดความสามารถทั้งที่เสียเปรียบในทุกด้าน ยังมีชายหนุ่มชาวต่างชาติคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เกิดและเติบโตบนแผ่นดินนี้ ยังคงมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้สำเร็จลุล่วงโดยไม่คำนึงถึงชื่อเสียงเกียรติยศใด ๆ ที่จะได้รับ และตายเพื่อความมั่นคงของแผ่นดินสยาม

ไม่ว่ารายละเอียดของเหตุการณ์นี้จะเป็นอย่างไร มีเรื่องที่แน่ใจชัดเจนได้ประการหนึ่ง คือ เขาถูกยิงจนเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ และกรมตำรวจภูธรได้สูญเสียนายร้อยเอกฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซนไปอย่างไม่มีวันกลับ

และคงเป็นช่วงเวลานี้เอง ที่มารี เจนเซนส่งพัสดุที่มีโกโก้ 6 กระป๋องกับรองเท้าบู๊ตคู่ใหม่จากเดนมาร์กทางเรือเดินสมุทรของบริษัทอีสต์เอเชียติกมาให้ลูกชายคนเดียวของเธอ จากต้นทางที่เดนมาร์กถึงปลายทางที่สยาม โดยไม่รู้เลยว่า พัสดุนี้ไม่มีผู้รับอีกต่อไปแล้ว.
เมื่อได้ทราบข่าวการเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ของ ร.อ. เจนเซน นายพันโทพระวาสุเทพ (กุสตาฟ เชา) เจ้ากรมตำรวจภูธรได้รวบรวมประวัติในการรับราชการเสนอของเขาต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอรับพระราชทานบำนาญให้แก่มารดาของ ร.อ. เจนเซนที่เดนมาร์ก โดยรายงานว่า เงินเดือนของ ร.อ. เจนเซนเมื่อครั้งรับราชการอยู่นั้น ได้รับเงินเดือนเดือนละ 500 บาท (หรือติกัล (Tical) ซึ่งเป็นหน่วยทางการเงินที่ชาวต่างชาติในสยามเรียกในสมัยนั้น โดยเงิน 1 บาทหรือ 1 ติกัล เทียบเท่ากับ 0.97 คราว์นของเดนมาร์ก)


หลังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ นำเรื่องราวทั้งหมดขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้ทรงพิจารณา พระองค์ท่านได้มีพระราชหัตถเลขาส่งไปยังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ให้ดำเนินการเทียบเงินบำนาญแก่มารดาม่ายของ ร.อ. เจนเซน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินบำนาญแก่มารี เจนเซนเป็นจำนวน 3,000 บาทต่อปี เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของเงินบำนาญเต็ม ร.อ. เจนเซนได้รับตามที่เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติคำนวณ โดยให้บริษัทอีสต์เอเชียติกเป็นผู้บริหารจัดการและนำส่งให้มารี เจนเซน จนกระทั่งเธอเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1938

นอกจาก ร.อ. เจนเซนแล้ว พันโทพระยาวาสุเทพยังได้รวบรวมข้อมูลและประวัติการทำงานของตำรวจภูธรที่เสียชีวิตจากการปราบปรามพวกเงี้ยวในหัวเมืองทางเหนือต่าง ๆ เพื่อของพระราชทานบำนาญและเงินช่วยเหลือแก่ครอบครัวของตำรวจที่เสียชีวิตด้วย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงพระราชทานเงินบำนาญแก่ครอบครัวของตำรวจที่เสียชีวิตนายอื่น ๆ ด้วย โดยเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้คำนวณให้ในอัตรากึ่งหนึ่งของจำนวนบำนาญเต็มที่ตำรวจนายนั้นควรได้รับเช่นเดียวกัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 12:27

พิธีศพของ ร.อ. เจนเซนนั้น เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์ เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 9 ได้จัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2446 เนื่องจากเหตุการณ์วุ่นวายในเมืองลำปางได้สงบลงแล้ว โดยได้รับศพของ ร.อ. เจนเซนซึ่งฝากไว้ที่วัดศรีจอมเรือง เมืองพะเยามาทำพิธีทางศาสนา ทั้งตามหลักศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธอย่างสมเกียรติ ที่ศาลาวังธาร เมืองลำปาง และนำไปประกอบพิธีฝังที่สุสานคริสเตียนเมืองลำปาง และได้รับพระราชทานป้ายจารึกบนหลุมศพจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ด้วย ต่อมาได้มีการย้ายมาฝังไว้ที่สุสานคริสตชน จังหวัดเชียงใหม่ในภายหลัง

ช่วงเวลาที่เจ้าผู้ครองนครลำปางกับนายตำรวจภูธรหนุ่มชาวเดนมาร์กได้รู้จักกันถือว่าไม่นานนัก แต่วิกฤติการณ์ที่ผ่านพ้นมาได้ด้วยกันนั้นได้ทำให้ต่างเห็นน้ำใจและคุณค่าของกันได้เป็นอย่างดี พิธีศพที่จัดขึ้นอย่างสมเกียรติของวีรบุรุษผู้ปกป้องเมืองลำปางไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวที่เจ้าบุญวาทย์อุทิศให้ผู้ร่วมเป็นร่วมตายในยามยาก แต่ท่านยังได้เตรียมพื้นที่สำหรับทำอนุสรณ์ไว้ให้นายตำรวจผู้ล่วงลับด้วยอีกอย่างหนึ่ง และนี่เองคือ ที่มาของอนุสาวรีย์ที่แทบไม่มีใครรู้จัก...



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.091 วินาที กับ 19 คำสั่ง