เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 62264 ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 22:22

บอกกล่าว

ต้องบอกกล่าวในเบื้องต้นก่อนว่า งานเขียนนี้เป็นการเรียบเรียงขึ้นจากเรื่องราวที่ได้อ่านมา ในลักษณะของการเล่าเรื่องให้ฟัง และไม่ได้เขียนในลักษณะของงานวิชาการที่ได้มีการเขียนอ้างอิงตามแบบแผน ยังมีเอกสารหลาย ๆ ฉบับที่เกี่ยวข้อง แต่ยังค้นไม่เจอและยังไม่ได้ไปค้นต่อ จึงอาศัยข้อมูลที่ค้นได้จากอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ดังนั้น จึงอาจไม่สามารถนำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการได้ค่ะ

สำหรับงานเขียนนี้ ตั้งใจจะเขียนขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่ตัวเองก็เพิ่งจะทราบเลยอยากเล่าให้คนอื่น ๆ ได้อ่าน ได้รับรู้เรื่องราวของบุคคลท่านนี้ด้วย

ในตอนแรก คิดว่าจะเรียบเรียงให้จบภายในตอนเดียว แต่ไป ๆ มา ๆ ก็ยาวจนได้ จึงต้องตัดแบ่งเป็น 2 ตอน คือ ตอนต้นและตอนจบ โดนตอนจบจะนำมาลงในถนนนักเขียนวันจันทร์หน้า เพื่อที่จะไม่ยาวเกินไปและไม่เบียดกระทู้อื่น ๆ ตกหน้าไปด้วย และตัวเองจะได้มีเวลาอ่านทบทวน รวมถึงลองไปตามหาเอกสารอ่าน ๆ เพิ่มเติม (ถ้าไม่ถูกกองงานถล่มทับก่อน ^^")

ไม่ได้เขียนอะไรทำนองนี้มานานแล้ว มีข้อผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย และขอบคุณที่แวะมาอ่านกันค่ะ ^^

“ปิยะรักษ์”


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 22:24

1. อนุสาวรีย์

จากวันแรกที่มาสัมภาษณ์งานที่พะเยา จนมาถึงวันนี้ก็ร่วมสองปีแล้วที่ฉันใช้เส้นทางเดิมเดินทางไปทำงาน และเป็นสองปีเศษที่ฉันขับรถผ่านสถานที่ที่สะดุดตา สะดุดใจฉันตั้งแต่แรกเห็น เมื่อข้ามพ้นสะพานห้วยเกี๋ยง ที่นั่นมีป้ายสีขาวขนาดใหญ่ริมทางมีข้อความว่า

“อนุสาวรีย์นายร้อยเอก เอ็ช เอ็ม เยนเซ่น”

ไม่มีคำอธิบายอะไรมากไปกว่านั้น และกว่าจะรู้ตัวว่าจุดหมายที่อยากรู้อยากเห็นนักหนาอยู่ตรงไหน ก็ขับรถผ่านไปไกลแล้ว และเมื่อลองถามใครต่อใครดู ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีใครให้คำตอบได้กระจ่างสักเท่าใด ครั้นตั้งใจวะแวะไปดูสักครั้งให้เห็นกับตาให้ได้ ขับผ่านไปอีกหลายครั้ง เพราะอยู่ในจุดที่สังเกตได้ไม่ง่าย ยิ่งช่วงแสงอาทิตย์เริ่มลับฟ้า บริเวณนั้นก็มืดสนิทจนแทนมองอะไรไม่เห็น

หลายเดือนผ่านไป ยังไม่มีคำตอบสำหรับคำถามของฉัน...

ชายชาวต่างชาติที่มียศนำหน้าอย่างทหารที่ชื่อ “ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน” หรือที่บนป้ายเขียนว่า “ฮันส์ มาร์กว๊อต เย็นเซ่น” (Hans Markward Jensen) คนนี้เป็นใครกันแน่

จนกระทั่ง วันหนึ่ง เย็นแล้ว แต่แสงยังไม่หมด ฉันหักพวงมาลัยรถเลี้ยวเข้าไปยังอนุสาวรีย์ วันนี้ ต้องรู้ให้ได้ว่า...
เขาคือใคร



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 22:26

2. ใคร

"อ้าว ตำรวจหรอกเหรอ"
เป็นคำแรกที่นึกได้ ณ แวบแรกที่เห็นแผ่นป้ายหินอ่อนสามแผ่น จารึกอุดมคติของตำรวจ ตราโล่เขน และป้ายอนุสรณ์แด่ตำรวจผู้เสียสละบนฐานอนุสาวรีย์ เพราะตั้งแต่เห็นยศร้อยเอกที่ว่า ก็เคยคิดมาตลอดว่าเขาคนนี้เป็นนายทหาร แต่สิ่งที่เคยคิดไว้ ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเสียแล้ว

หลังนำรถเข้าจอดใต้ต้นสักที่เรียงแถวอยู่ในเขตรั้วอนุสรณ์สถานที่ตั้งของอนุสาวรีย์... ฉันมองซ้ายมองขวาให้แน่ใจว่าไม่มีใครอื่นอยู่ที่นั่นก่อนลงจากรถ กะเวลาที่จะเดินสำรวจบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ที่แสนจะเรียบง่ายแห่งนี้ แม้จะอยู่ติดถนน แต่ก็ห่างไกลผู้คนพอดู เสียงใบสักแห้งที่ตกเกลื่อนพื้นก็ดังพอจะทำให้สะดุ้งได้อยู่เหมือนกัน

ฉันเดินตรงไปยังอนุสาวรีย์ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปเสาโอเบลิสก์ หรือ เสาทรงสี่เหลี่ยมยอดแหลมทาสีแดงเลือดหมูและขาว

ที่นั่นมีคนเอาธงชาติเดนมาร์กมาวางไว้ นอกจากพวงมาลัย กระถางธูป ช้าง และม้าแล้ว สิ่งที่ทำให้ฉันอดขำไม่ได้ คือ ยังอุตส่าห์มีคนเอารูปปั้นไก่ชนตัวโตมาตั้งไว้บริเวณอนุสาวรีย์ ซึ่งฉันก็ยังนึกอะไรไม่ออกว่า ไก่ชนควรจะมาเกี่ยวกับเขาตรงไหน และเมื่อเดินไปดูที่ด้านหลังกระถางธูป ก็พบว่ามีปืนปลอม 2 กระบอก แถมด้วยเค้กกับกาแฟจากร้านสะดวกซื้อที่เปิดยี่สิบสี่ชั่วโมง

ฉันอ่านประวัติของเขาที่ติดอยู่บนอนุสาวรีย์เพิ่มเติม… ไม่ยาวเท่าไหร่ คิดว่าคงใช้เวลาไม่นานสำหรับการหาคำตอบ

“ชาวเดนมาร์ก ได้รับการชักชวนจากนายพันโทพระยาวาสุเทพให้เข้ามารับราชการในกรมตำรวจภูธร เมื่อ พ.ศ. 2443 ต่อมาได้เลื่อนยศเป็นนายร้อยเอก ตำแหน่งครูฝึกตำรวจภูธรที่เชียงใหม่ ถึงแก่กรรมขณะไปปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามพวกกบฏเงี้ยวที่เมืองพะเยา โดยถูกพวกกบฏเงี้ยวแอบซุ่มยิงข้างทางที่บ้านแม่กาท่าข้าม เมืองพะเยา เป็นนายตำรวจไทย เชื้อสายเดนมาร์ก เกิดเมื่อ พ.ศ. 2421 เสียชีวิตเมื่อ 14 ตุลาคม 2445”

ภาพถ่ายที่ติดอยู่เหนือประวัตินั้น เป็นภาพที่ทำให้ฉันประหลาดใจ เพราะผิดคาดจากที่คิดไว้แต่เดิม และยิ่งพิศวงมากขึ้น เมื่อเห็นอายุของเขาที่ซ่อนอยู่ใต้พวงมาลัยที่มีคนนำมาคล้องไว้ที่ใต้รูป...
ยี่สิบสี่ปี... เขาตายตอนยังหนุ่มขนาดนี้เลยเหรอ...

ในขณะที่เขาอายุยี่สิบต้น ๆ นี่เอง เขาได้เป็นถึงครูฝึกตำรวจภูธร มีหน้าที่รับผิดชอบที่หนักและเป็นเรื่องใหญ่เอาการ และ ณ วันที่เขาเสียชีวิตนั้น เขาเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ เพราะถูกลอบยิงโดยฝ่ายที่ทางการต้องการปราบปราม ณ ขณะนั้น
จุดที่เขาเสียชีวิตก็คือจุดที่อนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่นั่นเอง

ฉันได้คำตอบแล้วว่าเขาคือใคร แต่คำตอบนั้นไม่ใช่สิ่งที่ฉันพอใจ หากกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของคำถามมากมายที่ทำให้ฉันเริ่ม ‘อยากรู้อยากเห็น’ เกี่ยวกับเรื่องของเขามากขึ้น

อะไรที่พาเขามาที่นี่ และสิ่งที่เขาทำนั้น มีอะไรมากกว่าที่ฉันได้อ่าน ได้เห็นที่อนุสาวรีย์นี้หรือเปล่า...

ในคืนที่นั้น ฉันนำภาพที่ถ่ายจากอนุสาวรีย์ของร้อยเอกเจนเซน มาลงในสื่อสังคมออนไลน์ ปฏิกิริยาของเพื่อนหลายคน ดูเหมือนจะแปลกใจกับข้อค้นพบในเรื่องนี้ แต่มีบางความเห็นที่ทำให้ฉันต้องเป็นฝ่ายแปลกใจเสียเอง
เพื่อนสมัยเรียนของฉัน ซึ่งปัจจุบันเป็นตำรวจ เขียนข้อความหนึ่งเอาไว้สั้น ๆ
“คิดอยู่แล้วว่าต้องไม่มีใครรู้จัก... รู้ไหม เขาเป็นวีรบุรุษของเรา”
เขาไม่ได้ให้คำตอบหรือเหตุผลเพิ่มเติมสำหรับคำพูดนั้น ซึ่งฉันรู้ว่า เป็นหน้าที่ของฉันที่ต้องไปค้นคว้าต่อ...
สิ่งที่ฉันกับเขาเคยคุยกัน และเขาเป็นฝ่ายถามขึ้น แวบกลับมาในความทรงจำ
“รู้หรือเปล่าว่า คำว่า gendarme ที่ใช้เรียกตำรวจภูธรสมัยก่อน กับคำว่า police ที่ใช้เรียกตำรวจทั่วไปสมัยนี้ไม่เหมือนกัน”

นี่คือคำตอบแรกสำหรับคำถามว่า ทำไม ร.อ. เจนเซน ถึงมียศเป็น “ทหาร” ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นเขาเป็น “ตำรวจ”


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 22:36

3. ตำรวจภูธร

ข้อมูลเกี่ยวกับยศทหารที่ใช้กับตำรวจในสมัยนั้นที่ค้นเจอเป็นหนแรก อยู่ในบทความเกี่ยวกับประวัติตำรวจภูธรเมืองลำปางที่ฉันลองค้นจากชื่อของ ร.อ. เจนเซน นั่นเอง
 
“ตำรวจภูธรเมืองลำปาง เริ่มในสมัยที่นครลำปางยังมีเจ้าผู้ครองนคร ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ เหตุการณ์ สำคัญที่ต้องมีการปรับปรุงกิจการตำรวจ คือ ประมาณปี พ.ศ. 2445 พวกเงี้ยวก่อการจลาจลขึ้นในภาคเหนือหลายจังหวัด จึงได้ปราบปราม แต่ไม่สงบเพราะกำลังคนและอาวุธเหนือกว่า จึงได้ขอกำลังทหารและตำรวจส่วนกลางมาช่วยเหลือ โดยมี ร.อ. ฮันส์ มาร์ควอร์ด เจนเซน (ขณะนั้นตำรวจภูธรใช้ยศแบบทหาร) ซึ่งเป็นตำรวจหลวงชาวเดนมาร์ค (2421-2445 ) ครูฝึกตำรวจ ผู้บังคับหน่วยกำลังของตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง ได้นำกำลังตำรวจภูธรเข้าต่อสู้กับกองโจรเงี้ยวที่เข้ามาบุกนครลำปาง จนกองโจรบาดเจ็บล้มตายลงเป็นจำนวนมากและได้ล่าถอยกลับไปทางจังหวัดพะเยา ร.อ.ฮันส์ ฯ ได้ทำการออกไล่ล่าติดตามกองโจรไปอย่างกระชั้นชิด และได้ถูกกองโจรยิงจนเสียชีวิตในเขตท้องที่บ้านแม่กา ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา ในปัจจุบันนี้”

คำตอบสำคัญที่อยู่ในบทความนี้ คือ ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ตำรวจภูธรใช้ยศแบบทหาร... แต่คำถามก็คือ แล้วทำไมถึงใช้ยศอย่างทหาร ไม่ใช้ยศอย่างตำรวจที่เราเห็นกันปัจจุบันนี้

นอกจากนี้ ที่กองตำรวจภูธรในสมัยนั้น มีคำเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Royal Provincial Gendarmerie” ซึ่งเป็นคนละอย่างกับกองโปลิศ หรือ กรมกองตระเวน ที่มีหน้าที่ในการดูแลความสงบเรียบร้อยในเขตพระนคร

ถ้ากลับไปดูคำศัพท์ ‘Gendarmerie’ ก็จะทราบเหตุผลว่า เพราะเหตุใดตำรวจภูธรในสมัยนั้นจึงใช้ยศแบบทหาร

“A gendarmerie is a military force charged with police duties among civilian populations”
หมายความว่า กองกำลังทหารซึ่งมีหน้าที่เป็นตำรวจรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่พลเรือน

“A gendarme is a soldier who is employed on police duties.”
หมายความถึง ทหารซึ่งได้รับการว่าจ้างให้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอย่างตำรวจ
สรุปอย่างสั้นที่สุด ตำรวจที่เรียกว่า ‘gendarme’ แท้จริงแล้วก็คือ ‘ทหาร’ ที่ทำหน้าที่อย่าง ‘ตำรวจ’ นั่นเอง

นอกจากนี้ เขตอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ของ gendarme และ police ยังต่างสถานที่กันด้วย กล่าวคือ police จะทำงานในเมืองหลวงและเมืองขนาดใหญ่ ในเขตปริมณฑล ในขณะที่ gendarme จะทำงานในเมืองขนาดเล็กและเมืองที่อยู่รอบนอกออกไป แต่อำนาจหน้าที่ในการสืบสวนจับกุมคนร้ายและปราบปรามการกระทำความผิดนั้น มีอยู่เหมือน ๆ กัน
หากพิจารณาดูจากสภาพสังคมของเมืองอื่น ๆ ที่อยู่นอกพระนครไปทางต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคเหนือในสมัยนั้น จะก็เห็นได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งในทางการเมืองภายในและภายนอกอยู่พอสมควร รวมไปถึงเรื่องซื้อขายทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ สินแร่ต่าง ๆ ทั้งยังมีความไม่สงบบางประการเกิดขึ้น

วัตถุประสงค์หลักของการมีกองตำรวจภูธรนั้น ก็เพื่อส่งไปทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ที่มีความวุ่นวายหรือมีปัญหานั่นเอง ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ที่ทำหน้าที่ของตำรวจซึ่งต้องติดตามและปราบปรามผู้กระทำความผิด การมีกำลังคนและอาวุธที่จะใช้ในงานของตนเองด้วย การไปทำหน้าที่ของตำรวจภูธรนั้น โดยแรกเริ่มจึงมีลักษณะกึ่งทหารอยู่ด้วยนั่นเอง

ดังนี้แล้ว คงไม่ต้องแปลกใจแล้วว่า เพราะเหตุใดตำรวจภูธรสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมียศอย่างทหาร โดยการเปลี่ยนยศตำรวจภูธรจากการใช้ยศทหารมาเป็นยศตำรวจอย่างที่เป็นอยู่กันในปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งยุบรวมเอากรมกองตระเวนกับกรมตำรวจภูธรเข้ามาเป็นหน่วยงานเดียวกัน และเปลี่ยนชื่อเรียกยศ เป็นนายร้อยตำรวจ นายพันตำรวจ รวมถึงใช้คำเรียกที่ทำการของตำรวจว่า สถานีตำรวจ ด้วย

เมื่อพูดถึงที่มาของตำรวจภูธรแล้ว สิ่งหนึ่งที่ไม่พูดถึงเลยคงไม่ได้ ก็คือ ผู้ก่อตั้งกองตำรวจภูธร และบุคคลผู้นี้ก็ได้ชักนำชายหนุ่มชาวเดนมาร์กหลายคนให้ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามายังแผ่นดินสยามเพื่อรับราชการเป็นตำรวจ ก็คือ นายพลโทพระยาวาสุเทพ หรือชื่อเดิมว่า กุสตาฟ เชา (Lieutenant General Gustav Schau, 1859 – 1919) ชาวเดนมาร์กนั่นเอง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่เจ้ากรมตำรวจภูธร นายตำรวจในระดับผู้นำหรือระดับครูฝึกตำรวจภูธรในสมัยแรกเริ่มนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวเดนมาร์กทั้งสิ้น นับแต่ พ.ศ. 2440 เป็นต้นมาก็ได้ขยายกำลังตำรวจภูธรออกไปประจำการใน 10 มณฑล โดยมีทั้งนายตำรวจชาวเดนมาร์กและไทยไปประจำการอยู่ ซึ่งตำรวจภูธรมณฑลพายัพ หรือ ทางภาคเหนือนั้น เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2442

นี่คือจุดเริ่มต้นเรื่องราวของนายตำรวจชาวเดนมาร์ก ชื่อ ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 06:38

4. ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน : จากเดนมาร์กถึงสยาม

ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน (Hans Marqvard Jensen หรือที่หลุมศพของเขาจารึกว่า Hans Markward Jensen) เป็นใคร มาจากไหน ในเอกสารของไทยเท่าที่หาได้ ก็มีที่มาที่ไปไม่มากมายนัก ที่มากที่สุดก็เพียงแต่บอกได้ว่า เกิดที่เดนมาร์ก เมื่อ ค.ศ. 1878 หรือ พ.ศ. 2421 เมื่อจบการศึกษาสามัญแล้ว ได้ไปเป็นทหาร และได้รับการชักชวนจากนายพันโทพระยาวาสุเทพให้มารับราชการในสยาม แต่เมื่อลองค้นจากชื่อภาษาอังกฤษของเขาแล้ว ฉันก็ได้พบบทความที่เกี่ยวกับเขาโดยตรง และในบทความนี้เอง ประวัติและที่มาของ ร.อ. เจนเซนก็ดูจะชัดเจนและจับต้องได้ยิ่งขึ้น

ในวารสาร ScandAsia ฉบับเดือนตุลาคม ค.ศ. 2009 ได้นำประวัติความเป็นมาของนายตำรวจชาวเดนมาร์กผู้นี้ และสิ่งหนึ่งในบทนำของบทความนี้ ที่ฉันชอบเป็นการส่วนตัว คือ ข้อความที่ผู้เขียน คือ Flemming Winther Nielsen เขียนไว้ในบทความ The Dane Who Save the North ว่า
“ชาวต่างชาติหรือฝรั่งที่อยู่มานาน และผู้มาใหม่มีน้อยคนนักที่จะรู้จักชื่อของเขาและพูดถึงเขา หลายคนส่ายหน้า และบางครั้งก็ยักไหล่ว่าไม่รู้จัก ลองจินตนาการดูว่า เขาโดดเดี่ยวและถึงแก่ความตายในดินแดนที่ไม่มีใครรู้จัก ด้วยอายุเพียงแค่ยี่สิบสี่ปีเท่านั้น คำบอกเล่าเกี่ยวกับเขาส่วนใหญ่อยู่บนพื้นฐานของการคาดเดาและทฤษฎีต่าง ๆ มากมาย แต่ผู้เขียนจะนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฮันส์และชีวิตของเขา... เพราะเขาสมควรที่จะได้รับสิ่งนี้”

ใช่... He deserves it

ฉันคิดอย่างนั้น เช่นเดียวกันกับใครอีกหลายคนที่มีเพียงชื่อปรากฏในประวัติศาสตร์ แล้วจางหายไปในกาลเวลา ไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม

เมื่ออ่านบทความของนีลเซนแล้ว ฉันก็อดยิ้มด้วยความทึ่งไม่ได้ว่า นี่เขาไปค้นคว้ามาได้ถึงขนาดนี้เลยหรือ แต่ถ้าพูดอีกที คนที่เก่งพอๆกันกับคนค้นก็คือคนที่เก็บเอกสารหลักฐานเหล่านี้เอาไว้ด้วย เพราะแง่มุมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่มีใครเอาใจใส่ ในบางครั้งก็เป็นแง่มุมที่น่าค้นหาอยู่ไม่น้อย ด้วยบางมุมที่แสนจะธรรมดา อย่างเขาชอบอะไร มีงานอดิเรกอะไร ใช้ข้าวของแบบไหน ก็เป็นภาพสะท้อนการใช้ชีวิตของคนในยุคนั้นได้อย่างหนึ่ง และแน่นอนว่า บางครั้ง เราก็อยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับชีวิตของคนธรรมดาทั่วไปว่าเขากินอยู่อย่างไรบ้างเช่นกัน

“ต้นเดือนพฤศจิกายน ปี 1902 ห่อพัสดุเล็ก ๆ ถูกส่งจากเมืองโอเดนส์ ประเทศเดนมาร์ก สู่สยาม โดยทางเรือของบริษัทอีสต์เอเชียติก... แต่ ร.อ. เจนเซนผู้รับนั้นตายเสียแล้ว ห่อพัสดุนั้นจึงถูกส่งต่อไปยังกงสุลเดนมาร์กเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน เมื่อเปิดออก ภายในมีกระป๋องโกโก้ 6 กระป๋อง และรองเท้าบู๊ตหนังคู่ใหม่หนึ่งคู่... แต่คนที่โปรดปรานเครื่องดื่มชนิดนี้และคนที่จำเป็นต้องใช้รองเท้าคู่นั้นไม่เคยได้รับ”

น่าเสียดายที่พัสดุนั้น ส่งคลาดเวลากันกับช่วงเวลาที่ผู้มีชื่อรับของนั้นยังมีชีวิตอยู่เพียงเดือนเดียว

แม้จะไม่ได้บอกว่าใครเป็นผู้ส่ง แต่เป็นที่แน่นอนว่า พัสดุจากเมืองโอเดนส์ดังกล่าวเป็นของที่ทางครอบครัวของเขาส่งมาให้จากบ้านเกิดเมืองนอนของเขา และสำหรับคนเป็นผู้หญิงอย่างฉัน ก็พอจะคาดเดาจากข้อมูลดังกล่าวได้ว่า คนที่รู้ดีว่าเราชอบอะไร เอาใจใส่ในเรื่องอาหารการกิน และจำได้แม้กระทั่งว่าเขาใส่รองเท้าเบอร์ไหน อย่างไรถึงจะพอดี คงจะมีแต่แม่เท่านั้น

นอกจากเรื่องของพัสดุที่ส่งมาแล้วไม่เคยไปถึงมือผู้รับ... จากการค้นคว้าของนักข่าวชาวเดนมาร์กมีข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวและการศึกษาของเขาอย่างละเอียดพอสมควรด้วย

ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน เกิดเมื่อวันที่ 3 เมษายน ปี 1878 ที่เขตVindegade เมือง Odense ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของเดนมาร์ก และเป็นบ้านเกิดของนักเขียนเทพนิยายอย่างฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซนด้วย

บิดาของฮันส์ซึ่งมีอาชีพที่จดแจ้งไว้ในทะเบียนราษฎร์ว่าเป็นช่างไม้ ชื่อราสมุส เจนเซน (Rasmus Jensen) มารดาชื่อ มารี เจนเซน (Marie Jensen) เป็นแม่บ้าน มีพี่สาวหนึ่งคนไม่ปรากฏชื่อ กับแม่บ้านอีกหนึ่งคน และมีฟาร์มอยู่ในเขตชานเมืองด้วยอีกแห่งหนึ่ง

เดิมทีนั้น ฮันส์ไม่ได้เริ่มต้นศึกษาวิชาทหารเสียทีเดียว เพราะเขาเรียนมาด้านการเป็นสมุห์บัญชี แต่เข้ารับการเกณฑ์ทหาร และได้สังกัด The Royal Life Guards (Den Kongelige Livgarde) กองทหารรักษาพระองค์ที่โคเปนเฮเกน เมืองหลวงของเดนมาร์ก จากนั้น จึงเข้าศึกษาในสถาบันทางการทหาร และติดยศร้อยตรีเมื่อปี 1989 จนกระทั่งปี 1900 จึงได้ย้ายมารับราชการในกรมตำรวจภูธรสยาม


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 06:40

ไม่มีใครรู้ว่า อะไรที่ทำให้เขาตัดสินใจข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำงานไกลถึงเพียงนี้...

ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับปัญหาทางการเงินของครอบครัว มีเพียงข้อเท็จจริงว่า เขายังไม่ได้แต่งงาน และบิดาเพิ่งเสียชีวิตไปก่อนหน้าที่เขาจะตัดสินใจเดินทางมายังประเทศไทย เพราะฉะนั้น ญาติที่เหลืออยู่ที่เดนมาร์กจึงมีเพียงพี่สาวและมารดา

ข้อสันนิษฐานหนึ่งที่เป็นไปได้ ก็อาจเป็นเพราะโอกาสก้าวหน้าในการทำงานของชาวเดนมาร์กในกรมหรือกองทหารของไทยในสมัยนั้นมีอยู่ค่อนข้างสูง และชาวเดนมาร์ก ซึ่งเป็นประเทศเป็นกลาง ไม่มีวัตถุประสงค์หรือข้อขัดแย้งในเรื่องการล่าอาณานิคม ที่เข้ารับราชการในสยามก็ต่างอยู่ในระดับของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่น กุสตาฟ เชา หรือนายพันโทพระยาวาสุเทพ เจ้ากรมตำรวจภูธร เป็นต้น

สำหรับฉันแล้ว การตัดสินใจเดินทางไปในที่ที่ไม่เคยไป เพื่อทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งยังไม่รู้ว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไรของเขานั้น ฉันคิดว่า ฉันพอจะเข้าใจอยู่บ้าง เพราะฉันก็เคยมีช่วงเวลาที่จะต้องตัดสินใจไปเรียนต่อในต่างประเทศ แม้จะไม่เสี่ยงภัย แต่ก็ต้องคิดมากพอสมควร

การไปเรียนต่อในเมืองที่มีคนไทยไม่เกินห้าสิบคน ทั้งมหาวิทยาลัยมีนักเรียนไทยอยู่ประมาณยี่สิบคน และฉันเป็นคนไทยคนเดียวในคณะ ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยเลย... เทียบกันแล้ว ก็คงไม่ต่างจากเขามากสักเท่าไหร่

ถ้าไม่ไปก็เท่ากับว่าฉันทิ้งโอกาสที่อยู่ใกล้แค่มือเอื้อม แต่การไปที่ว่าก็อาจเท่ากับต้องให้ใครบางคนรออยู่ข้างหลัง แต่เมื่อเงื่อนไขทุกอย่างเหมาะสม และมีบางสิ่งบอกว่า ถึงเวลาแล้ว เมื่อนั้นการตัดสินใจว่า ‘ต้องไป’ คือ การตัดสินใจเด็ดขาดที่จะเกินไปข้างหน้าโดยไม่เปลี่ยนใจอีก

ท้ายที่สุด คำพูดที่บอกตัวเองว่า ‘ยังไงก็ต้องไป’ คือคำตอบที่กำหนดชะตาตัวเองและเป็นเหตุผลของการตัดสินใจก้าวข้ามไปสู่โลกอีกใบหนึ่งที่เราเกือบไม่รู้จักเลยอย่างแท้จริง เพื่อทำอะไรสักอย่างที่เราควรจะทำ... เท่านี้เองจริง ๆ

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น คือ คำอนุญาตจากคนในครอบครัว... ขอแค่คำว่า ‘ทำเลย’ หรือ ‘ไปเลย’ แค่นี้ การตัดสินใจที่เคยยากเย็นมากมายก็กลายเป็นง่ายดายขึ้นมาทันที

ทั้งนี้ เหตุผลของฉันกับเหตุผลของเขาอาจไม่เหมือนกันเลยก็ได้



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 06:46

ไม่ว่าจะจากเดนมาร์กมาด้วยเหตุผลใด ปลายเดือนธันวาคม ปี 1900 ร.ต. ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน ก็เดินทางมาถึงสยาม และรับราชการในกรมตำรวจภูธร ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของนายพันโทกุสตาฟ เชา โดยติดยศนายร้อยโท แล้วไปประจำการที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นแห่งแรก ขณะอายุยี่สิบสองปี และโยกย้ายไปในจังหวัดต่าง ๆ ตั้งแต่ปราจีนบุรี อยุธยา มาจนกระทั่งมาประจำการที่จังหวัดเชียงใหม่ในตำแหน่งครูฝึกตำรวจภูธร ในช่วงต้นปี 1902

ในส่วนของการใช้ชีวิตนั้น เฟลมมิง วินเธอร์ นีลเซน ผู้เขียนบทความและค้นคว้าเกี่ยวกับ ร.อ. เจนเซนได้บรรยายถึงสมบัติส่วนตัวที่เขานำติดตัวไปในการรับราชการแต่ละแห่งว่ามีอะไรอยู่บ้าง ซึ่งน่าสนใจไม่น้อย เนื่องจากสิ่งของส่วนตัวของแต่ละคนก็สามารถสะท้อนลักษณะการใช้ชีวิตและความสนใจของบุคคลนั้นได้อยู่เหมือนกัน

ส่วนใหญ่แล้ว ข้าวของของเขามีเฉพาะของใช้จำเป็นเท่านั้น เช่น มุ้ง เต็นท์ กล่องใส่ของสำหรับเดินทาง โต๊ะไม้แบบเรียบ ๆ ที่นอน เตาแบบพกพา สเปอร์ติดรองเท้า เครื่องครัวที่จำเป็น เป็นต้น แต่จะมีบางอย่างที่พิเศษอยู่บ้าง ก็เช่น พระพุทธรูป หนังสือแผนที่แอตลาส กล่องบุหรี่ กล่องซิการ์ และรูปถ่ายที่เข้ากรอบไว้แล้วสิบรูป ซึ่งมีการสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นภาพถ่ายครอบครัวที่เดนมาร์ก

เมื่อพิจารณาแต่ละรายการแล้ว... ‘สมบัติ’ ของฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน เรียกได้ว่า ‘เรียบง่าย’ และ ‘ธรรมดา’ มากทีเดียว แทบจะไม่มีทรัพย์สินมีค่าในด้านของราคาเลย...

ในช่วงกลางค่อนไปทางปลายปี 1902 นั้นเองที่มีเหตุจลาจลสำคัญอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในมณฑลพายัพ โดยเฉพาะทางลำปาง พะเยา และแพร่ และเหตุการณ์นี้เองที่ ร.อ. ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซนได้รับคำสั่งให้ไปดูแลสถานการณ์ที่ลำปาง
เสี้ยวประวัติศาสตร์เกี่ยวกับผลงานสำคัญของนายตำรวจไทย เชื้อชาติเดนมาร์กผู้นี้ได้เริ่มต้นขึ้นและถูกจารึกไว้ที่นั่น...


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 08:06

5. กองโจร

สถานการณ์ที่ลำปางซึ่ง ร.อ. ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซนได้รับคำสั่งให้ไปดูแล เป็นเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายครั้ง ในหลายจังหวัดทางหัวเมืองฝ่ายเหนือ จากฝีมือของกองโจรซึ่งนำโดยพวกเงี้ยว เหตุการณ์ได้ลุกลามขยายตัวไปในหลายพื้นที่และมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ มีทั้งการปล้นและการฆ่าคนของทางการสยามมากมาย

คำว่า ‘เงี้ยว’ นี้ พระครูปลัดสุวัฒนจริยคุณ (โยธิน ฐานิสโร) หัวหน้าฝ่ายวิชาการ หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ ได้อธิบายไว้ว่า เป็นคำที่ชาวล้านนาสมัยก่อนใช้เรียกคนที่มาจากรัฐฉานทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินของพม่า แม้จะใช้เรียกในความหมายที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่ชาวไทใหญ่ก็ไม่ชอบที่ถูกเรียกว่า ‘เงี้ยว’ เนื่องจากเป็นคำที่ให้ความหมายทางลบ เพราะเงี้ยวแปลว่า ‘งู’ ซึ่งเป็นสัตว์อันตราย ควรเรียกว่า ‘คนไต’ ตามที่คนไทใหญ่เรียกตัวเองจะถูกต้องกว่า

อย่างไรก็ดี คำว่า ‘เงี้ยว’ ที่ใช้หมายความถึง กลุ่มโจรที่ก่อการจลาจลในช่วงเวลานั้น มิได้หมายความเฉพาะชาวไทใหญ่แต่เพียงกลุ่มเดียว หากรวมไปถึง ผู้ร่วมก่อการที่มาจากฝั่งพม่าทั้งหมด โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นชนชาติไหน เหตุที่เรียกรวมกันไปหมดนี้ เนื่องจากรายชื่อนักโทษในเหตุการณ์ดังกล่าวที่ถูกจับได้ปรากฏว่ามีทั้ง ชาวไทใหญ่ และพม่า และ คำว่า ‘เงี้ยว’ ที่ใช้สำหรับกรณีนี้ จึงเป็นคำที่มีความหมายอย่างกลาง ๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายในการอธิบายเหตุการณ์เท่านั้น

ส่วนในบทความภาษาอังกฤษของปีเตอร์ ยอร์เกนเซน (Peder Jørgensen) และเฟลมมิง วินเธอร์ นีลเซนที่เรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘The Shan Rebellion’ หรือ ‘การก่อจลาจลโดยคนที่มาจากรัฐฉาน’ นั่นเอง
ความเป็นมาของการก่อเหตุดังกล่าว ฉันยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงในเชิงประวัติศาสตร์การเมืองค่อนข้างมาก แต่ก็จะพยายามอธิบายอย่างรวบรัดและเป็นกลาง

ก่อนจะพูดถึงเหตุจลาจลที่เกิดขึ้น ต้องเท้าความถึงสภาวะบ้านเมืองทางมณฑลพายัพ ณ ขณะนั้นก่อนว่า เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล ข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ดูแลในส่วนของมณฑลเทศาภิบาล และมีการส่งข้าหลวงประจำจังหวัด ซึ่งเทียบได้กับผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบันเข้ามาปกครอง โดยเจ้าผู้ครองนครเดิมต้องเข้ามาอยู่ภายใต้การบริหารราชการส่วนกลาง ไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการเมืองเช่นแต่ก่อน

แม้มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง เพื่อรักษาหัวเมืองล้านนาเอาไว้ไม่ให้ตกเป็นของประเทศล่าอาณานิคม เนื่องจากสยามได้สูญเสียดินแดนทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ซึ่งแต่เดิมอยู่ภายใต้การปกครองของเชียงใหม่ให้แก่อังกฤษ และต้องยอมเสียดินแดนที่ติดกับจังหวัดน่านให้แก่ฝรั่งเศสไปอีก แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งด้านรูปแบบการปกครอง การเก็บภาษีรัชชูปการที่ผู้ใหญ่บ้านต้องเก็บจากชาวบ้านเพื่อส่งเข้าหลวง และการเกณฑ์แรงงานที่ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเลือกจ่ายภาษีหรือใช้แรงงานแทนกันได้เช่นแต่ก่อน ประกอบกับข้าราชการสยามบางคนได้ยกเลิกสิ่งที่คนพื้นถิ่นเคยปฏิบัติกันมา ทำให้คนท้องถิ่นไม่พอใจ แต่เจ้านายฝ่ายเหนือก็ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 08:09

ส่วนผลกระทบของระบบมณฑลเทศาภิบาลต่อกลุ่มเงี้ยวซึ่งอาศัยอยู่ในหัวเมืองฝ่ายเหนือที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ เรื่องการที่รัฐบาลสยามไม่ยอมออกหนังสือเดินทางให้กับชาวเงี้ยวในการเดินทางเข้าออกหัวเมืองทางเหนือและพม่าหลังจากการกำหนดเขตดินแดนใหม่ ทำให้ไม่สามารถไปมาหาสู่กันอย่างที่เคยเป็นมา

นอกจากนี้ พวกเงี้ยวยังประสบกับการเสียภาษีซ้ำซ้อน โดยในบทความของจอร์เกนเซนกล่าวว่า คนจากรัฐฉานซึ่งเป็นคนในบังคับของอังกฤษที่เดินทางมาจากพม่าก็ต้องเสียภาษีให้สยามด้วย โดยถือว่ามีที่พำนักอยู่ในสยาม แต่ กลับขอสิทธิในการอยู่อาศัยในสยามได้ยาก ซึ่งทางฝ่ายเงี้ยวเห็นว่าการกระทำนี้เป็นการลิดรอนสิทธิที่เคยมีมาของตนเอง

ทั้งยังมีประเด็นการเลือกปฏิบัติของข้าราชการสยามที่ไม่อนุญาตให้ตัดไม้ไปสร้างวัดเงี้ยวหรือพม่า แต่กลับอนุญาตให้คนไทยหรือลาวตัดไม้เพื่อการนี้ได้ ทำให้ชาวเงี้ยว พม่า และต่องสู้ที่อาศัยอยู่ในหัวเมืองทางเหนือเกิดความไม่พอใจ และเคยมีจดหมายจากเฮดแมน หรือหัวหน้าหมู่บ้านชาวเงี้ยวไปร้องทุกข์กับกงสุลอังกฤษในเรื่องนี้ด้วย

อีกด้านหนึ่ง จากมองจากมุมของสยาม เห็นได้ว่า ทางสยามเองต้องการที่จะรักษาดินแดนเอาไว้ไม่ให้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษและประเทศล่าอาณานิคมอื่น ๆ โดยเฉพาะดินแดนทางเหนือนั้น เป็นจุดที่มีความเปราะบางค่อนข้างสูง ล้านนากับพม่ามีความสัมพันธ์กันมายาวนาน และในขณะนั้นพม่าได้ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษไปแล้ว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลมณฑลพายัพอย่างใกล้ชิดและดึงเข้ามาให้อยู่ในสายตาของสยามให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ไม่เพียงเท่านั้น จากกรณีที่อังกฤษเคยเข้ามาขอสัมปทานทำบริษัททำป่าไม้จากเจ้านายฝ่ายเหนือ และเมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้นระหว่างคนท้องถิ่นกับคนในบังคับของอังกฤษ ทางอังกฤษก็จะอ้างสิทธิในการเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเข้ามาแทรกแซงกิจการ ทำให้ทางการสยามต้องเข้ามาแก้ข้อพิพาทหลายครั้ง และในส่วนไม่ออกใบอนุญาตข้ามแดน รวมไปถึงการอนุญาตให้คนต่างถิ่นครอบครองที่ทำกินในสยามได้ยากขึ้น ก็เป็นที่เข้าใจได้ ว่าการปล่อยให้คนในบังคับของอังกฤษ ไปมาได้อย่างสะดวกหรือตั้งบ้านเรือนโดยเสรีเช่นแต่ก่อนเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของสยาม


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 08:10

ไม่ว่าต่างฝ่ายจะมีเหตุผลอย่างใด แต่การเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือในคราวนั้นก็ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการก่อจลาจลครั้งใหญ่ในมณฑลพายัพใน พ.ศ. 2445 หรือ ค.ศ. 1902 โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่ทางการสยามได้ข่าวว่า มีกลุ่มโจรดักปล้นพ่อค้าชาวจีน และปล้นเงินภาษีรัชชูปการไปหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถจับผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

ทางนครลำปาง เมื่อทราบถึงการดักปล้นสินค้าของพ่อค้าชาวจีนและเงินหลวงก็ได้มีการจัดต้องกองสอดแนมออกสืบข่าวเกี่ยวกับกลุ่มโจรด้วยกัน 3 กอง คือ กองที่ 1 ของ พลโท เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ 9 และพระยาอุตรการโกศล (เจ้าน้อยบุญสม ณ เชียงใหม่) ไปสืบที่แม่จาง และเมืองลอง กองที่ 2 นำโดยเจ้าราชภาติกวงศ์ (คำตั๋น ณ เชียงใหม่) ไปสืบที่แม่เมาะ ปางป๋วย และกองที่ 3 ของพระมนตรีพจนกิจ (พร จารุจินดา) ข้าหลวงลำปาง เจ้าราชสัมพันธ์วงศ์ หลวงไอศูรย์ และขุนภูธรธรานุรักษ์ ไปสืบที่เมืองต้า

ในที่สุด ก็สืบทราบว่าพวกที่ดักปล้นนั้นเป็นพวกเงี้ยว เมื่อปล้นเสร็จก็จะหนีไปอยู่ที่บ้านบ่อแก้ว แขวงเมืองลอง นครลำปาง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ ชาวไทลื้อ ชาวไทเขิน ชาวพม่า ชาวขมุ ชาวต่องสู้ และมีคนล้านนาบางส่วน มีผู้นำที่สำคัญ 3 คน คือ สล่าโปไชย (บางทีก็เรียกสล่าโป่จาย) พะก่าหม่อง และจองแข่ เหตุที่พวกโจรหนีรอดไปได้ทุกครั้ง เป็นเพราะชาวบ้านบางส่วนไม่กล้าบอกทางการ เพราะกลัวอันตราย แต่ชาวบ้านบางส่วนก็ให้การสนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่กลุ่มโจรด้วย
การปล้นอย่างอุกอาจของพวกเงี้ยวนี้ มีผู้สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไทย รวมถึงนักข่าวของเดนมาร์กที่ศึกษาเรื่องนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า อาจได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายอังกฤษด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 08:12

ปีเตอร์ ยอร์เกนเซน และแกรห์ม มอนาแกนมีข้อสันนิษฐานว่า เนื่องจากพวกเงี้ยวที่ก่อการในครั้งนี้ล้วนเป็นคนในบังคับของอังกฤษ ทางอังกฤษจึงอาจให้การสนับสนุนอย่างลับ ๆ ในรูปแบบที่เรียกว่า “covert operation” เป็นปฏิบัติการที่มีการวางแผนและสั่งการโดยผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งไม่เปิดเผยตัว ทำให้คนเบื้องหลังปฏิเสธว่า ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ เพื่อเปิดช่องทางให้อังกฤษเข้ามาแทรกแซงสยาม โดยอ้างเหตุว่าต้องการเข้ามาควบคุมคนในบังคับ เพราะทางการสยามไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบพยานหลักฐานที่ชัดเจนในเรื่องนี้

เมื่อสืบทราบที่ตั้งของผู้ต้องสงสัยแล้ว พระมนตรีพจนกิจ ข้าหลวงเมืองลำปาง จึงนำกองกำลังทหารและตำรวจภูธรจำนวนหนึ่งบุกไปบ้านบ่อแก้ว แต่กลับถูกพวกเงี้ยว นำโดยสล่าโปไชยซุ่มโจมตี จนทางการต้องล่าถอยกลับไป ส่วนฝ่ายเงี้ยวก็ได้ยึดสัตว์พาหนะ ได้แก่ ช้าง ม้า เสบียงอาหาร อาวุธปืน และกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ไปได้

จากชัยชนะและอาวุธที่ยึดมาได้ ประกอบกับได้รับรายงานว่าทางการจะนำกำลังเข้าปราบปรามอีกครั้ง ทำให้พวกเงี้ยวซึ่งนำโดยสล่าโปไชย และพะก่าหม่อง ได้พาคนประมาณสี่ร้อยคนเข้าปล้นเมืองแพร่ โจมตีสถานีตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ทำให้ตำรวจที่ประจำการอยู่เสียชีวิตเกือบทั้งหมด และยังได้เข้าทำลายสถานที่ราชการ ฆ่าข้าราชการชาวสยามที่อยู่ในเมืองแพร่ไป 32 คน หนึ่งในนั้นมีข้าหลวงเมืองแพร่รวมอยู่ด้วย นอกจากนี้ ยังปล้นเงินในคลังหลวงซึ่งมีอยู่ประมาณสี่หมื่นรูปีไปทั้งหมด ทั้งยังตั้งค่าหัวของชาวสยามเอาไว้ หัวละสามร้อยรูปีด้วย



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 08:14

หลังจากยึดเมืองแพร่สำเร็จแล้ว กลุ่มเงี้ยวก็นำกำลังประมาณ 300 คน มุ่งหน้าไปยังเมืองลำปางเป็นเป้าหมายต่อไป

ข่าวโจรเงี้ยวจะเดินทางไปบุกปล้นนครลำปาง ทำให้พระยานริศรราชกิจ ข้าหลวงใหญ่นครเชียงใหม่ ได้มีคำสั่งให้ ร.อ. ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน ครูฝึกตำรวจภูธร นำกำลังตำรวจจากเชียงใหม่จำนวน 50 นายเดินทางไปช่วยป้องกันนครลำปาง โดยในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 ร.อ. เจนเซนนำกำลังตำรวจเดินทางจากเชียงใหม่โดยใช้ม้าเป็นพาหนะ ใช้เวลาสี่วันจึงถึงลำปาง ในวันที่ 29 กรกฎาคม แม้จะนำกำลังจากเชียงใหม่มาสมทบ แต่เมื่อนับตำรวจภูธรลำปางรวมกับตำรวจภูธรเชียงใหม่แล้ว ก็ยังมีจำนวนน้อยกว่าพวกเงี้ยวอยู่ดี

จำนวนคนที่น้อยกว่าและเวลาที่บีบคั้นเข้ามาทุกขณะมิได้เป็นอุปสรรคในการรับมือกับสถานการณ์ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น ด้วยเขาได้รับการสนับสนุนจากเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง และได้ไม้จากบริษัทบอร์เนียวฯ ของหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ และ มร. ทอมป์สัน ซึ่งทำปางไม้อยู่ในลำปาง ในการสร้างเครื่องกีดขวางและด่านต่าง ๆ เพื่อป้องกันเมือง

ฮันส์ มาร์กวอร์ด เจนเซน มีเวลาเตรียมตัวตั้งรับสถานการณ์ไม่ถึงเจ็ดวัน ก่อนที่พวกเงี้ยวจะเดินทางมาถึงลำปาง

นี่คือภารกิจสำคัญในความรับผิดชอบของนายตำรวจหนุ่มชาวเดนมาร์กวัยยี่สิบสี่ปี... หากพลาดพลั้งพ่ายแพ้ อาจหมายถึงความสูญเสียครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับนครลำปาง ยิ่งไปกว่านั้น อาจเป็นความเสียหายของสยามด้วยก็เป็นได้


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12602



ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 08:20

ขออนุญาตปรึกษาคุณนวรัตนและคุณเทาชมพูว่า น่าจะแยกกระทู้นี้ตั้งแต่หน้า ๖ เป็นอีกกระทู้หนึ่ง เสนอชื่อลำลองไว้ว่า "ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน"

 ขยิบตา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 09:07

แล้วแต่เจ้าของกระทู้จะเห็นสมควรค่ะ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 09:08

ขออนุญาตปรึกษาคุณนวรัตนและคุณเทาชมพูว่า น่าจะแยกกระทู้นี้ตั้งแต่หน้า ๖ เป็นอีกกระทู้หนึ่ง เสนอชื่อลำลองไว้ว่า "ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน"

 ขยิบตา

ก่อนหน้า ๖ ก็เป็น "ควาญหาป้อมฮึกเหี้ยมหาญ" ด้วยนะคุณเพ็ญฯ ... อิอิ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.092 วินาที กับ 19 คำสั่ง