เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 62263 ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 28 ต.ค. 12, 13:55

ยุคนี้เป็นยุคของนายตำรวจอังกฤษครับ


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 07:18

ขอส่งรายชื่อนักเรียนนายร้อยตำรวจที่จบการศึกษาดังนี้

นักเรียนนายร้อยตำรวจภูธร พ.ศ. ๒๔๔๔ - ๒๔๔๖ จบการศึกษาที่จังหวัดนครราชสีมา

นักเรียนนายร้อยตำรวจ พ.ศ. ๒๔๔๗ - ๒๔๖๐ จบการศึกษาที่หัวยจระเข้ จังหวัดนครปฐม

นักเรียนนายร้อยตำรวจ พ.ศ. ๒๔๖๑ - ๒๔๖๓ จบการศึกษาที่คลองไผ่สิงโต กรุงเทพมหานคร

นักเรียนนายร้อยตำรวจ พ.ศ. ๒๔๖๔ - ๒๔๗๘ จบการศึกษาที่หัวยจระเข้ จังหวัดนครปฐม

นักเรียนนายร้อยตำรวจยุทธศึกษา พ.ศ. ๒๔๘๑ - ๒๔๘๘

++++

รายชื่อนักเรียนนายร้อยตำรวจภูธร พ.ศ. ๒๔๔๔ - ๒๔๔๕ จบการศึกษาที่จังหวัดนครราชสีมามีดังนี้

๑. เกศ สุนทรรัตน์ (พระยาอาชญาพิทักษ์)

๒. แก้ว ดุลยายน (พระยาเสนานนท์)

๓. จ่าง กะรีกุล (หลวงเสนพลกล้า)

๔. ยิ้ม นีละโยธิน (พระยาบริหารราชอาณาเขตร์)

๕. เลื่อน นวลักษณ์ (ขุนผลาญไพริน)

๖. สิงโต เปรมานนท์ (พระยาถกลสรศิลป์)

๗. เหล็ง ก๔นานนท์ (พระยาปราบไภยพาล)

๘. อิ่ม ตันตระมาล
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 08:39

๕ พลโท พระยาวาสุเทพ (กูสตาฟ เชาว์-Gustav Schau)

อ้างถึง
ความคิดเห็นที่ 21  
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ห้า เมื่อกัปตันเอมซ์เกษียณอายุไปแล้ว ได้ทรงว่าจ้างกัปตันกูสตาฟ เชาว์ (Captain Gustav Schau)ชาวเดนมาร์กมาเป็นผู้วางโครงการต่อเพื่อขยายกิจการของกองโปลิส และเขตรักษาการกว้างขวางออกไปเป็นลำดับ เพื่อให้คุ้มครองคนไทยทั่วไปได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น มีการจัดตั้งโรงพักพลตระเวนขึ้นในพระนคร นอกพระนคร และฟากกรุงธนบุรี รวมกันทั้งหมดถึง๖๔โรงพัก บางโรงพักก็ตั้งอยู่บนแพ มีหน้าที่ลาดตระเวนรักษาแม่น้ำลำคลอง เช่น โรงพักปากคลองสาน โรงพักปากคลองบางกอกใหญ่เป็นต้น
ในต่างจังหวัดก็มีจัดตั้งตำรวจภูธรขึ้นด้วยในรูปทหารโปลิสในปี พ.ศ.2419 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมกองตระเวนหัวเมือง จนถึงปี พ.ศ.2440 ได้ตั้งเป็นกรมตำรวจภูธรขึ้นในสังกัดกระทรวงมหาดไทยแทน โดยมีนายพลตรี พระยาวาสุเทพ (กูสตาฟ เชาว์) เป็นเจ้ากรม ใช้กฎหมายเกณฑ์คนเข้าเป็นตำรวจเช่นเดียวกับทหาร

เมื่อถึงรัชกาลที่หก จึงโปรดเกล้าฯให้รวมกรมตำรวจภูธรกับกรมพลตระเวนเข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า “กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน” สังกัดกระทรวงนครบาลเมื่อวันที่13 ตุลาคม พ.ศ.2458

กุสตาฟ เชาว์(Gustav Schau)จบโรงเรียนนายทหารของเดนมาร์กและมียศร้อยโท แต่เลือกเส้นทางชีวิตมุ่งหน้ามาหาอนาคตในสยามเมื่อพ.ศ.๒๔๑๘ โดยขอเข้าเฝ้าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ทูลแนะนำตนเองขอสมัครเป็นนายทหาร พร้อมกับถวายประกาศนียบัตรให้ทอดพระเนตร จากรูปร่างที่สูงใหญ่ ผมบรอนซ์สีทองสง่างาม เสด็จนายกรมชอบพระทัยจึงทรงรับไว้ทันที และมอบหน้าที่เป็นครูฝึกทหารหน้า ที่วังสราญรมย์ ตามมาตรฐานยุโรป

พ.ศ.๒๔๑๙ เมื่อมีการปรับปรุงกิจการตำรวจ นอกจากได้ขยายงานกรมกองตระเวนนครบาลสมัยนายยาดีนเป็นอธิบดี ยังได้จัดตั้งกองทหารโปลิศ สามารถปฏิบัติการแบบทหารสำหรับเป็นกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในหัวเมือง โดยร้อยโทกุสตาฟ เชาว์ ได้ถูกมอบหมายให้เป็นผู้วางโครงการฝึก ผู้บังคับบัญชาส่วนมากก็โอนมาจากนายทหาร ต่อมาได้เปลี่ยน "กองทหารโปลิศ" เป็น "กรมกองตระเวนหัวเมือง"

กุสตาฟ เชาว์ได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก ยังคงเป็นนายทหารอยู่มิได้ย้ายไปไหน เมื่อพ.ศ.๒๔๓๒ได้นำทหารใต้บังคับบัญชา๓๐๐นาย สมทบกับทหารเรือ๔๐๐นายภายใต้บังคับบัญชาของกัปตันริชลิว นายทหารเรือสยามเชื้อชาติเดนมาร์กเช่นกัน เข้าปราบแก๊งค์อั้งยี่กวนเมืองที่ยกพวกตีกันเองแย่งเขตอิทธิพล แต่ทำความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านชาวเมืองจนไม่มีอันจะทำมาหากิน โดยปิดล้อมย่านสำเพ็งเข้ากระชับพื้นที่ จับตายพวกที่เข้าต่อสู้ และลากตัวพวกกวนเมืองไปพิจารณาโทษจนราบคาบ ได้รับความดีความชอบมาก


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 08:41

พ.ศ.๒๔๔๐ กรมหลวงดำรงฯ เสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กราบบังคมทูลและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง "กรมตำรวจภูธร" ขึ้นแทนกรมกองตระเวนหัวเมือง จึงทรงแต่งตั้ง พันเอกกุสตาฟ เชาว์ ซึ่งตอนนั้นได้เป็นที่หลวงศัลวิธานนิเทศน์แล้ว มาเป็นเจ้ากรมกองตระเวนหัวเมืองจัดตั้งกองตำรวจภูธรตามมณฑลต่างๆ ขึ้นหลายแห่งเพื่อป้องกันปราบปรามโจรผู้ร้าย และอำนวยความร่มเย็นเป็นสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ได้อย่างทั่วถึง ทำให้เกิดการขาดแคลนนายตำรวจที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ เจ้ากรมตำรวจภูธรจึงรายงานความเห็นและขออนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยเพื่อจัดตั้งโรงเรียนสำหรับผลิตนายตำรวจขึ้นเอง ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๔๔๔ จึงได้มีการจัดตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา ในบริเวณที่ราชการให้ชื่อว่า"ประตูชัยณรงค์" แต่ชาวเมืองเรียกว่า "ประตูผี" ปัจจุบันคือที่ตั้งกองบังคับการตำรวจภูธรเขต๓  รับนักเรียนผู้ที่สำเร็จประโยคประถมขณะนั้น(เทียบชั้นมัธยม๓) ผู้มีประสงค์ขอสมัครกับเจ้ากรมตำรวจภูธร เมื่อท่านเจ้ากรมดูรูปร่างหน้าตา ท่าทางกริยาวาจา เห็นสมควรก็ส่งตัวไปเรียนที่จังหวัดนครราชสีมาเลย ไม่ได้มีการประกาศรับสมัครและสอบคัดเลือกเหมือนทุกวันนี้

การปกครองและการฝึกอบรมนักเรียนนายตำรวจ มี ร้อยเอก ออกัส ฟิกเกอร์ เฟรดเดอริก คอลส์ นายทหารเดนมาร์คเป็นผู้ดำเนินการ ท่านผู้นี้แต่แรกรับราชการเป็นทหารบก ต่อมาโอนมาเป็นทหารเรือมีหน้าที่ฝึกสอบการยิงปืนใหญ่ นายพลตรีพระยาวาสุเทพขอโอนตัวมาเป็นครูผู้ปกครองโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรที่จังหวัดนครราชสีมาโดยเด็ดขาด
นอกจากนักเรียนนายร้อยตำรวจแล้ว ทางมหาดไทยยังได้ส่งนักเรียนมหาดเล็กปีสุดท้ายไปร่วมเรียนอีกด้วย คือทางราชการต้องการให้ข้าราชการอำเภอกับตำรวจสมัครสมานสามัคคีกัน จึงได้จัดให้นักเรียนทั้งสองหน่วยนี้ได้อยู่กินเป็นเพื่อนกันแต่ต้น ครั้นออกมารับราชการแล้ว เมื่อมีโอกาสร่วมงานกันก็จะเป็นไปได้ด้วยดี
 
ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๔๗ โรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรได้ย้ายที่ตั้งไปที่ตำบลห้วยจรเข้ อำเภอเมืองนครปฐม แต่ยังถือกันว่า ต้นกำเนิดของโรงเรียนนายร้อยตำรวจปัจจุบันคือที่จังหวัดนครราชสีมา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 08:43

น่าสังเกตว่า สยามแยกกรมกองตระเวนเป็นสองกรมในสมัยนั้น ให้คนอังกฤษคุมนครบาล และให้คนเดนมาร์กคุมภูธร น่าจะมีนัยยะสำคัญแฝงอยู่ เพราะการพยายามล่าเมืองขึ้นของอังกฤษยังไม่นิ่ง ผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างสยามและอังกฤษตามชายแดนด้านล้านนานั้น สร้างปมปัญหาการเมืองขึ้นเสมอ ในที่สุดก็เกิดเรื่องขึ้นจนได้ระหว่างมณฑลพายัพกับคนไทในรัฐฉานที่เราไปเรียกเขาว่าเงี้ยว เมื่อก่อนไปมาหาสู่กันแบบบ้านพี่เมืองน้อง พออังกฤษขีดเส้นแบ่งแดนเอาไปก็เข้ามาทำมาหากินอย่างเดิมในเขตสยามไม่ได้ ข้อขัดแย้งนี้ลุกลามเป็นเหตุการณ์ร้ายที่เรียกว่า กบฏเงี้ยว  ที่กล่าวกันแบบไม่มีหลักฐานว่าอังกฤษหนุนหลัง

พ.ศ.๒๔๔๕ กองตระเวนภูธรของนายพลตรีพระยาวาสุเทพ(กุสตาฟ เชาว์) ภายใต้บังคับบัญชาของนายร้อยเอกแฮนด์ มากว๊อร์ต เยนเซ่น นายทหารเชื้อชาติเดนมาร์กเช่นกัน ได้ประกอบวีรกรรมอย่างกล้าหาญ สามารถป้องกันรักษาเมืองลำปางไว้จากการเข้าโจมตีหมายจะยึดเมืองของพวกเงี้ยวไว้ได้ แม้ตัวนายร้อยเอกแฮนด์ มากว๊อร์ต เยนเซ่นจะต้องกระสุนฝ่ายกบฏเสียชีวิตก็ตาม แต่ก็ได้พิสูจน์การจัดองค์กรตำรวจที่สยามจัดตั้งไว้เช่นนั้นว่าไม่ผิด

นายร้อยเอกแฮนด์ มากว๊อร์ตมีอนุสาวรีย์เล็กๆอยู่ในที่ที่เขาเสียชีวิต ผมจะกลับมานำเสนอถึงวีรกรรมของฝรั่งดีท่านนี้โดยละเอียดอีกครั้ง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 08:49

พระยาวาสุเทพไม่มีครอบครัว ท่านจึงอุทิศตนทำงานอย่างเต็มที่ นึกอยากจะไปไหนก็ไปได้ทันที่ เมื่อเริ่มรับหน้าที่นั้น ตำรวจภูธรมีอยู่เพียง๒๕๐นาย สำนักงานเดียว ท่านได้จัดตั้งขึ้นมาทั้งหมดจนเมื่อปลายสมัยของท่านนั้นถึง๔๐๐สถานี กำลังพลทั้งหมด ๙๕๐๐นาย ท่านจึงต้องใช้เวลาในชีวิตเดินทางไปตรวจราชการโดยไม่มีกำหนดล่วงหน้า และนอนตามโรงพักโดยไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเกินความจำเป็น

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย พระธิดาจองกรมพระยาดำรงฯทรงนิพนธ์ไว้ใน“บันทึกความทรงจำ”ตอนหนึ่งว่า

“……ตำรวจภูธรนั้นโปรดให้พระยาวาสุเทพ (ครูเชาว์ ชาวเดนมาร์ก) เป็นผู้บังคับการ เจ้าคุณผู้นี้ตรวจงานโดยไม่มีกำหนด บางทีเวลา ๒๔ น. ก็ขอติดรถไฟสินค้าไปและหยุดตามสถานีตำรวจต่างๆ และค้างคืนที่นั่น งานตำรวจภูธรจึงเรียบร้อยและเร็วเหมือนกันทุกแห่ง จนในหลวงตรัสว่า "ฉันเบื่อโรงตำรวจของกรมดำรงฯ" เพราะเหมือนๆ กัน….”

ยศสุดท้ายของพระยาวาสุเทพ(กุสตาฟ เชาว์)เป็นนายพลโท อธิบดีกรมตำรวจภูธรในรัชสมัยรัชกาลที่๖ อาจกล่าวได้ว่า ท่านผู้นี้ทำให้เมืองไทยทั่วประเทศร่มเย็นเป็นสุขขึ้นเพราะภัยจากโจรผู้ร้าย คนเดินทางไปมาหาสู่กันได้โดยไม่มีไอ้เสือเอาวาคอยดักปล้นจนไม่กล้านำเกวียนออกไปตามถนน วัวควายที่เมื่อก่อนปล่อยทิ้งไว้เมื่อไหร่ก็หายเมื่อนั้นได้ลดลงมาก เพราะมีกำลังตำรวจคุ้มครองอยู่ทั่วทุกหัวระแหง

อย่างไรก็ดีในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ พระราชโอรสในรัชกาลที่๕ที่เสด็จไปเรียนเมืองนอกต่างกลับมารับราชการในหน้าที่สำคัญๆแทนฝรั่งได้แล้ว แม้ในที่สุดในปีพ.ศ.๒๔๔๕ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯก็ยังต้องทรงลาออก พลโทพระยาวาสุเทพ(กุสตาฟ เชาว์)จึงขอลาออกตามเพื่อรับพระราชทานบำนาญ รวมอายุราชการทั้งสิ้น๑๘ปี
 
กุสตาฟ เชาว์เดินทางกลับบ้านที่เดนมาร์กเกือบจะมือเปล่าเมื่อเทียบกับนายทหารเดนมาร์กระดับเดียวกัน เพราะท่านไม่มีเวลาให้กับการทำธุรกิจเลย กระนั้นก็ดี บริษัทอิสท์เอเชียติกที่กรุงโคเปนเฮเกนก็ได้ตั้งให้ท่านเป็นกรรมบริษัท เพื่อตอบแทนที่ในยุคสมัยของท่าน ตลอดเส้นทางลำเลียงไม้สักจากป่าเมืองแพร่ในเขตสัมปทานของบริษัทลงมากรุงเทพยาวกว่า๘๕๐กิโลเมตรนั้นปลอดโจรภัยแทบจะโดยสิ้นเชิง
 
ท่านใช้ชีวิตแบบสมถะตัวคนเดียว และถึงแก่กรรมในปี๒๔๔๙ สิริอายุเพียง๖๐ปี


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 08:56

Phraya Vasuthep: The Good Danish Soldier of Fortune ที่คุณvisitna กรุณาโยงไว้ไว้ในคคห.๘๐ นั้น ผมอ่านแล้วแหละ แต่ให้ผมเสนอประวัติอธิบดีตำรวจที่ยังเหลืออีก๒ท่านให้ครบก่อน แล้วจะแปลมาลงครับ

น่าสนใจทีเดียว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 15:10

๖ พลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ

พระนามเดิม หม่อมเจ้าคำรบ ปราโมช เป็นพระโอรส ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปราโมช กรมขุนวรจักรธรานุภาพ และหม่อมราชวงศ์ดวง ประสูติที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ ทรงเป็นทหารบก ในขณะทรงดำรงตำแหน่งแม่ทัพกองทัพน้อยที่ ๒ ซึ่งดูแลพื้นที่ภาคเหนือ ก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นผู้ช่วยเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเมื่อพ.ศ.๒๔๕๗ ในปีต่อมาโอนย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลตระเวนภูธรแทนพระยาวาสุเทพ และในปีพ.ศ.๒๔๕๘นั้นเอง ทางราชการก็ยุบกรมพลตระเวนภูธรมารวมกับกรมพลตระเวนพระนครบาลเมื่อนายลอร์สันพ้นจากตำแหน่ง โดยพลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลตระเวนเพียงผู้เดียว

พ.ศ.๒๔๖๐ เมื่อไทยประกาศสงครามกับเยอรมนี ออสเตรียฮังการีเพื่อเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่๑ พระองค์เจ้าคำรบได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการวางระเบียบกำหนดหน้าที่ ให้นายตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาจับกุมชนชาติศัตรู
นั่นดูเหมือนจะเป็นงานใหญ่งานเดียวของท่านชายองค์นี้ตลอดที่ทรงอยู่ในตำแหน่งยาวนานถึง๑๔ปี ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจะโปรดฯให้พ้นจากตำแหน่งในปีพ.ศ.๒๔๗๒ เนื่องจากสูงวัยเกิน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 15:13

พระองค์เจ้าคำรบ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่๗ สิงหาคม ๒๔๘๒ พระชันษา๖๙ปี ๙เดือน ทรงมีพระราชโอรสเป็นอภิชาตบุตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของไทยถึง๒คน คือม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (ยืนด้านขวา)และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช(นั่งหน้า)


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 19:52

ขอแหวกช่องแจมเข้ามานิดเีดียวครับ

คุณนวรัตน์ครับ หากมีข้อมูลและถึงช่วงเวลาและโอกาส ช่วยเล่าถึงฝรั่งที่ไปปราบเงี้ยวทางภาคเหนือ แล้วไปตายโดยยังมีการระบุตำแหน่งที่เสียชีวิต (เช่น แถว อ.งาว) ด้วยครับ ดูจะมีอยู่หลายคนเหมือนกัน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 20:05

^
ผมเตรียมจะลงอยู่แล้วครับ รอคิวอีกนิดเดียว

อ้างถึง
พ.ศ.๒๔๔๕ กองตระเวนภูธรของนายพลตรีพระยาวาสุเทพ(กุสตาฟ เชาว์) ภายใต้บังคับบัญชาของนายร้อยเอกแฮนด์ มากว๊อร์ต เยนเซ่น นายทหารเชื้อชาติเดนมาร์กเช่นกัน ได้ประกอบวีรกรรมอย่างกล้าหาญ สามารถป้องกันรักษาเมืองลำปางไว้จากการเข้าโจมตีหมายจะยึดเมืองของพวกเงี้ยวไว้ได้ แม้ตัวนายร้อยเอกแฮนด์ มากว๊อร์ต เยนเซ่นจะต้องกระสุนฝ่ายกบฏเสียชีวิตก็ตาม แต่ก็ได้พิสูจน์การจัดองค์กรตำรวจที่สยามจัดตั้งไว้เช่นนั้นว่าไม่ผิด

นายร้อยเอกแฮนด์ มากว๊อร์ตมีอนุสาวรีย์เล็กๆอยู่ในที่ที่เขาเสียชีวิต ผมจะกลับมานำเสนอถึงวีรกรรมของฝรั่งดีท่านนี้โดยละเอียดอีกครั้ง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 21:01

๗ พลตำรวจโท พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช)

หลุย จาติกวณิช เกิดวันเสาร์ที่ 6พฤษภาคม พ.ศ.2419 ที่บ้านตำบลตลาดน้อย อำเภอสัมพันธวงศ์ กรุงเทพ เป็นบุตรของนายปานและนางฮ้อ จาติกวณิช ต้นตระกูลเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาตั้งรกรากในประเทศสยาม "จาติกวณิช"เป็นนามสกุลพระราชทานในรัชกาลที่6 ลำดับที่ 1211แก่ พระอธิกรณประกาศ(หลุย) เจ้ากรมกองตระเวนในขณะนั้น โดยระบุว่าพระอธิกรณประกาศมีปู่คือ พระอภัยวานิช(จาด)
 
เมื่อเยาว์ศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญจนสอบไล่ได้หลักสูตรมัธยม5 แล้วจึงออกจากโรงเรียนไปทำงานเป็นเสมียนที่ห้างบอร์เนียว4ปี ก่อนสมัครเข้ารับราชการในตำแหน่งล่ามภาษาอังกฤษ กรมกองตระเวน กระทรวงนครบาล หลังจากนั้นจึงได้เลื่อนยศและตำแหน่ง ดังนี้

15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 ตำแหน่งล่าม เงินเดือน 50 บาท
1 มิถุนายน พ.ศ. 2442 เป็นนายเวรสรรพการ เงินเดือน 100 บาท
1 สิงหาคม พ.ศ. 2445 เป้นปลัดกรมสรรพการ เงินเดือน 200 บาท
18 พฤษภาคม พ.ศ. 2451 เป็นหลวงนรพรรคพฤฒิกร
1 กันยายน พ.ศ. 2452 เป็นเจ้ากรมกองพิเศษ เงินเดือน 400 บาท
1 มกราคม พ.ศ. 2455 เป็นพระอธิกรณ์ประกาศ
31 มกราคม พ.ศ. 2458 เป็นพันตำรวจเอก
26 มีนาคม พ.ศ. 2458 เป็นผู้บังคับการกองพิเศษ เงินเดือน 500 บาท
17 ธันวาคม พ.ศ. 2458 เป็นพระยาอธิกรณ์ประกาศ
10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 เป็นราชองครักษ์เวร
16 มีนาคม พ.ศ. 2462 เป็นพลตำรวจตรี
29 เมษายน พ.ศ. 2463 เป็นกรรมการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยคนต่างชาติเข้าเมือง
17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 เป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาลกรุงเทพฯ เงินเดือน 700 บาท
18 ธันวาคม พ.ศ. 2465 เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลกรุงเทพฯ เงินเดือนเท่าเดิม
4 เมษายน พ.ศ. 2466 เป็นองคมนตรี
17 มิถุนายน พ.ศ. 2469 เป้นกรรมการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเดินทางเข้าในพระราชอาณาจักร พระราชบัญญัติค้าหญิงแลเด็ก
19 กันยายน พ.ศ. 2469 เป็นกรรมการไปประชุมข้อราชการที่เมืองปีนัง และสิงคโปร์
22 มิถุนายน พ.ศ. 2471 เป็นกรรมการร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์
1 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 รั้งอธิบดีกรมตำรวจ เงินเดือน 900 บาท
1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 เป็นพลตำรวจโท รับตำแหน่งสูงสุดเป็น อธิบดีกรมตำรวจ เงินเดือน 1,100 บาท


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 21:09

พระยาอธิกรณ์ประกาศ ในฐานะอธิบดีกรมตำรวจเกือบจะหยุดยั้งความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรเมื่อปี พ.ศ.2475ได้ แต่เป็นเพราะชะตาฟ้าลิขิตของบ้านเมือง สมเด็จกรมพระนครสวรรค์ฯเสนาบดีกระทรวงกลาโหมไม่ทรงเชื่อรายงานและไม่อนุมัติหมายจับในช่วงสุดท้ายก่อนเหตุจะเกิด เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วพระยาอธิกรณ์ประกาศจึงเป็นฝ่ายถูกจับเสียเอง  จนวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2475 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ปลดออกราชการ รับพระราชทานเบี้ยบำนาญ นับอายุราชการได้33ปี 7เดือนเศษ

หลังจากนั้น ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่กับบ้าน ปลูกต้นไม้และเลี้ยงไก่พอให้ไม่ว่าง จนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2497 โรคไตพิการกำเริบขึ้นสุดความสามารถแพทย์ จึงถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 สิริอายุได้ 78 ปี

พระยาอธิกรณ์ประกาศ มีบุตรที่มีชื่อเสียง คือ

นายแพทย์กษาน จาติกวณิช อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
เกษม จาติกวณิช เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ว่าการคนแรกของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ไกรศรี จาติกวณิช อดีตอธิบดีกรมศุลกากรและกรมสรรพากร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 21:17

หลังพลตำรวจโท พระยาอธิกรณ์ประกาศ กรมตำรวจมีอธิบดีอีกยี่สิบกว่าคน ผมคงไม่สาธยายเพราะถือว่าไม่ใช่ยุคก่อตั้งแล้ว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 22:21

เรื่องราวที่จะนำเสนอต่อไปนี้ ผมไปเจอเข้าโดยบังเอิญในหน้าเวปซึ่งลิงค์ไว้ให้แล้วข้างล่าง เป็นความเรียงของคุณ “ปิยะรักษ์” เรื่อง “ร้อยเอก เอช เอ็ม เจนเซน : ร้อยสิบปีวีรกรรม” ซึ่งผมเห็นว่า นอกจากจะเป็นข้อเขียนที่ดี มีสาระแล้ว ยังเกี่ยวกับเรื่องของตำรวจไทยชาวต่างชาติที่ผมกำลังเสนอกระทู้อยู่โดยตรง พอดีคุณปิยรักษ์อนุญาตด้วย ผมจึงขอนำข้อเขียนนี้มาลงโดยไม่ได้ตัดเติมเสริมแต่ง นอกจากจะหาภาพประกอบใส่ลงไปพอให้เข้ากับเรื่อง ท่านจะอ่านในกระทู้นี้ก็ได้ หรือจะตามไปอ่านจากต้นฉบับ ผมก็อำนวยความสะดวกไว้ให้แล้วครับ

ตอน๑

http://www.pantip.com/cafe/writer/topic/W12792121/W12792121.html

ตอน๒

http://www.pantip.com/cafe/writer/topic/W12847239/W12847239.html
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.042 วินาที กับ 19 คำสั่ง