ส่วนพระตำรวจ ๔ นายที่ถือกระบี่นำเสด็จนั้น พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคาริก) อดีตเจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย
ท่านอธิบายว่า เป็นหน้าที่ของ ๔ เจ้ากรมพระตำรวจ คือ เริ่มจากคู่หน้า เจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้าย ขวา คู่ถัดมาก่อนถึง
ที่ประทับคือ เจ้ากรมพระตำรวจในขวา ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยามหาเทพกษัตรสมุห และพระยามหามนตรีศรีองครักษ์สมุห
แต่ถ้าเป็นการเสด็จเป็นกระบวนใหญ่เพิ่มพระตำรวจนำเสด็จเป็น ๘ เจ้ากรมพระตำรวจเต็มตามอัตรา นอกจากนั้นก็จะมี
พระตำรวจชั้นประทวนถือหอกเงินเดินแซงเป็นริ้ว ๒ ข้างกระบวนเสด็จ
ฉันยังทราบอีกว่า สมัยโบราณนั้นขณะที่องค์พระมหากษัตริย์ออกศึกสงครามทำยุทธหัตถีจะประทับอยู่บนคอช้าง ส่วนตำแหน่งที่ยืนอารักขาเท้าช้างทั้ง ๔ ข้างนั้นเรียกกันว่าจตุรงคบาท จะมีทหารเอกคอยคุ้มกันอยู่ ๔ ตำแหน่งและเท้าช้างข้างซ้ายนับว่าสำคัญที่สุด เพราะข้าศึกมักปีนขึ้นมาทำร้ายองค์พระมหากษัตริย์ตรงจุดนั้น จึงต้องใช้ทหารที่มีฝีมือการรบสูงเป็นพิเศษ
ส่วนเท้าช้างอีก ๓ ข้าง ได้แก่ พระมหามนตรี พระอินทรเทพ และพระพิเรนทรเทพ

ตามจริงแล้ว ตำแหน่งผู้รักษาเท้าช้างพระที่นั่งคือ "จตุลังคบาท" ครับ ชื่อตำแหน่งนี้มักจะเรียกผิดกันบ่อย ๆ ส่วนว่าต้องมีฝีมือสูงเป็นพิเศษ ส่วนตัวผมคิดว่าอาจจะไม่จำเป็น
เพราะตามแผนผังการจัดวางกำลังรายล้อมถวายการอารักขา โดยปกติ ก็จะมีทหารประจำอยู่เป็นร้อย ๆ นายอยู่แล้ว และยิ่งตำแหน่งผู้รักษาเท้าช้างเป็นตำแหน่งสูง เป็นเจ้ากรม ก็ต้องมีไพร่ในสังกัดของตัวเองอีกไม่น้อย เพราะฉะนั้นกองกำลังรักษาช้างพระที่นั่งจริง ๆ จึงมีมากกว่า ๔ นายอยู่แล้วครับ
ถ้าจะว่ากันด้วยเรื่องสุดยอดฝีมือทางดาบ ทางมวย ในวังหลวง น่าจะต้องยกให้
"กรมทนายเลือกหอก" ทั้งซ้ายและขวาครับ เพราะคัดมาแล้วจริง ๆ ว่า
"มีฝีมือ" ซึ่งก็เห็นได้ชัดเจนจากการถวายความรู้เรื่อง มวยปล้ำ(ชื่อเรียกแต่เดิมของมวยไทย) และวิชาอาวุธแด่พระเจ้าลูกเธอทั้งหลาย ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งผู้ที่ถวายความรู้ก็คือ คุณหลวงไชยโชกชกชนะ(อ้น) เจ้ากรมทนายเลือกหอกขวา และอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยผู้ถวายความรู้ท่านเดิม ถ้าจำไม่ผิดท่านจะได้บรรดาศักดิ์สุดท้ายเป็น คุณพระไชยโชกชกชนะ ครับ