เมื่อลองนับชื่อดอกไม้จากเพลง "อุทยานดอกไม้" พบว่าเนื้อเพลงเพียงแค่สี่ท่อนนี้ร้อยเรียงชื่อเหล่ามวลพรรณไม้ดอกไว้มากถึง ๔๘ ชนิด ผู้ประพันธ์คำร้องใส่ในทำนองเพลงนี้ได้อย่างน่าอัศจรรย์
เพลงอุทยานดอกไม้ถือเป็นเพลงไทยลูกกรุงที่ได้สร้างชื่อให้นักร้องสาวเสียงใส "วงจันทร์ ไพโรจน์" เธอเป็นผู้ขับร้องเพลงนี้ได้ไพเราะจับใจผู้ฟังในยุคนั้น ความโดดเด่นของบทเพลงนี้อยู่ที่คำร้อง ช่างงดงามเหลือเกิน แทบไม่น่าเชื่อเป็นบทเพลงที่มีชื่อดอกไม้มากที่สุด จนทำให้เพลงนี้เข้ามานั่งอยู่ในใจคนหลายยุคหลายสมัย
ทว่า น่าเสียดายคนส่วนใหญ่มักจะรู้จักบทเพลงอันโด่งดังหรือนักร้อง น้อยคนที่รู้จักคนเขียนเพลงที่เป็นผู้ร้อยดอกไม้เกือบครึ่งร้อยไว้ในสร้อยตัวโน้ตจนเป็นเพลงอมตะ น้อยคนจะจดจำหรือรำลึกชื่อของ "สกนธ์ มิตรานนท์" หรือ มิตตรา ครูเพลงเจ้าของคำประพันธ์อุทยานดอกไม้ ชื่อของศิลปินท่านนี้อาจจะไม่เป็นที่คุ้นหูนักสำหรับนักฟังเพลงในปัจจุบัน แต่สำหรับมิตรรักนักเพลงที่ชื่นชอบเพลงลูกกรุงในอดีตย่อมรู้จักผลงานการประพันธ์คำของครูเพลงท่านนี้ เพราะได้ประพันธ์เพลงที่เป็นอมตะไว้มิใช่น้อย อาทิ เพลงวอลทซ์นาวี
หากเพลงอุทยานดอกไม้เป็นเพลงที่ประพันธ์ด้วยดวงใจและดวงตาของชายที่เห็นความงามของเหล่าดอกไม้ในสวนสวยแล้ว เพลงวอลทซ์นาวีก็เป็นเพลงที่มีภาษาอันอ่อนโยนราวสายน้ำไหลสายลมพลิ้ว หากแต่ทระนงห้าวหาญสร้างพลังแห่งความสามัคคีอย่างชนิด "เพื่อปกป้องเสรี ขอสละชีพพลี พร้อมกันได้ทุกคน" ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเพลงนี้กลายมาเป็นเพลงแห่งพลังอุดมคติของเหล่าราชนาวีไทย หากแต่เพลงนี้กลับประพันธ์ขึ้นโดยพลเรือนคนสามัญธรรมดาที่ไม่ใช่ทหาร
พิพิธ มิตรานนท์ หรือลุงเปี๊ยก วัย ๗๗ ปี บุตรชายคนโตที่เกิดกับภรรยาคนแรก เขาเล่าว่า ภาคภูมิใจในบิดามาก ทุกวันนี้ยังคงเปิดเพลงที่พ่อแต่งคำร้องฟังอยู่ทุกวัน อาจเพราะเป็นความผูกพันที่ทำให้ตนรักเสียงเพลงเช่นกันกับพ่อ แม้ไม่อาจเป็นนักแต่งเพลงเหมือนพ่อ แต่เพลงก็เป็นเหมือนเสียงลมหายใจหนึ่งมาโดยตลอด
"จำได้ว่าสมัยก่อน พอพ่อจะแต่งเพลงเพลงหนึ่ง ท่านต้องค้นคว้าหาข้อมูลมาติดลงกระดาษแล้วก็อ่านอย่างตั้งใจ หลายเพลงท่านต้องหาเอกสารทางหนังสือพิมพ์บ้าง นิตยสารบ้าง หรือบางทีก็ไปตามสถานที่ที่เกี่ยวข้อง แต่บางทีท่านก็คิดแต่งเพลงขึ้นโดยฉับพลัน แบบที่เรียกว่าอารมณ์ศิลปิน เช่น
เพลงอุทยานดอกไม้ พ่ออยากแต่งเพื่อแม่หญิงหนึ่งที่ท่านรัก เพราะแม่ชื่อ "อุบล" ที่แปลว่าดอกบัว สมัยนั้นผมยังได้มีส่วนร่วมคิดหาชื่อดอกไม้ให้พ่อตั้งหลายชื่อ" ลุงเปี๊ยกกล่าวแล้วยิ้มในที ราวว่าตนเป็นเด็กชายเปี๊ยกที่ได้มีส่วนกับการขุดดินปลูกไม้ดอกในอุทยานดอกไม้ของพ่อที่ยังสวยสดงดงามในอุทยานดนตรีตราบจนวันนี้
ครูสกนธ์ มิตรานนท์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๘ และลาจากโลกไปในวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๒ ด้วยโรคมะเร็งในท่อน้ำดี เดือนมิถุนายน ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา จึงครบรอบปีที่ ๒๑ ของการจากไป แต่หากครูยังมีชีวิตอยู่ก็สิริรวมอายุได้ ๙๕ ปี
ส่วนหนึ่งจาก บทความเรื่อง
'สกนธ์ มิตรานนท์' บทเพลงในอุทยานชีวิต รำลึก ๙๕ ปี หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันอังคารที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
