ความเดิมตอนที่แล้ว
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5411.0คดีอำแดงเหมือน เป็นคดีสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศชายและเพศหญิงอย่างชัดเจน อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นเสรีภาพการแต่งงานของหญิงสามัญ และการยกเลิกระบบคลุมถุงชน
ใจความสำคัญในหนังสือฎีกาของอำแดงเหมือนมีว่า อำแดงเหมือนมีอายุ ๒๑ ปี ผูกสมัครรักใคร่อยู่กับนายริดโดยที่พ่อแม่ได้ยกตนให้แก่นายภู แต่คนไม่สมัครใจที่จะอยู่กินด้วย พ่อแม่จึงทุบตีและบีบบังคับจะให้แต่งงานกับนายภูให้ได้ พ่อแม่ได้สมคบกับนายภูให้ฉุดคร่าตนไปที่บ้านของนายภู แต่ตนก็ไม่ยอมเข้าไปในเรือนของนายภู เมื่อหนีกลับที่บ้านก็ถูกพ่อแม่ทุบตีและข่มว่าจะฆ่า ในที่สุดตนจึงหลบหนีไปอยู่บ้านนายริด หลังจากนั้นพ่อแม่ได้บอกให้นายริดและเถ้าแก่ไปขอขมาที่บ้านกำนัน ต่อมาอำแดงเหมือน นายริดและบิดามารดาของนายริดถูกหมายเรียกตัวไปยังศาลากลางเมืองนนทบุรี อำแดงเหมือนให้การต่อพระนนทบุรีและกรมการว่า ไม่ได้รักใคร่ยอมเป็นเมียนายภู กรมการจึงเปรียบเทียบว่า ถ้านายภูสาบานตัวได้ว่า อำแดงเหมือนยินยอมเป็นเมียนายภู ก็ให้นายริดแพ้ความ แต่นายภูไม่ยอมสาบาน กรมการจึงเปรียบเทียบว่า ให้อำแดงเหมือนสาบานว่าไม่ได้ยอมเป็นเมียภู ให้คดีเลิกแล้วต่อกัน แต่นายภูก็ไม่ยอมให้อำแดงเหมือนสาบาน ต่อมานายภูได้มาฟ้องกล่าวโทษนายริด บิดามารดาของนายริด และเถ้าแก่ของนายริดอีกสองคน พระนนทบุรีและกรมการบังคับให้นายริดส่งตัวอำแดงเหมือนให้แก่ตระลาการ อำแดงเหมือนให้การตามเดิมว่าไม่ได้เป็นภรรยานายภู อำแดงเหมือนจึงถูกควบคุมตัว ในระหว่างนั้นมารดาก็ได้มาขู่เข็ญจะให้ยอมเป็นเมียนายภู อำแดงเหมือนเร่งรัดให้พิจารณาคดี กลับถูกกักขังแกล้งให้ทำงานต่าง ๆ ทำให้ได้รับความทุกข์ร้อนมาก ในที่สุดจึงได้หนีมาถวายหนังสือฎีกาใจความว่า ไม่ยอมเป็นภรรยานายภูและสมัครใจที่จะอยู่กับนายริด (มาลี พฤกษ์พงศาวลี, ๒๕๕๑, หน้า ๒๐๓)
รัชกาลที่ ๔ จึงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ให้อำแดงเหมือนอยู่กินเป็นภรรยานายริดได้ เพราะอำแดงเหมือนมีอายุถึง ๒๑ ปีแล้ว ควรเลือกสามีได้ตามใจชอบ แต่ให้นายริดจ่ายเบื้ยละเมิดและค่าฤชาธรรมเนียแก่บิดาของอำแดงเหมือน และให้นายภูเลิกอายัด และยกฟ้องเถ้าแก่ของนายริด อีกทั้งยังมีพระบรมวินิจฉัยในเรื่องการเห็นผู้หญิงเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งว่า
"บิดามารดาไม่ได้เป็นเจ้าของบุตรชายบุตรหญิง ดังหนึ่งคนเจ้าของโค กระบือ ช้าง ม้า จะตั้งราคาขายตามใจชอบใจได้... บิดามารดายากจนจะขายบุตรยอมให้ขายจึงขายได้ ถ้าไม่ยอมให้ขายก็ขายไม่ได้ ฤๅยอมให้ขายถ้าบุตรยอมรับนี่(หนี้) ค่าตัวเพียงไร ก็ขายได้แต่เพียงเท่านั้น กฎหมายเก่าอย่างไรผิดไปจากอย่างนี้อย่าเอา" (
ประกาศพระราชบัญญัติลักษณะลักภา จ.ศ. ๑๒๒๗ (พ.ศ. ๒๔๐๘) ตีพิมพ์ในประชุมประกาศรัชกาลที่ ๑)
กล่าวคือ ตัดสินให้พ่อแม่อำแดงเหมือนเป็นฝ่ายคืนเงินค่าตัว โดยไม่ให้มาบังคับเอาจากอำแดงเหมือนและนายริด และหากอำแดงเหมือนได้เอาทรัพย์สินของพ่อแม่ติดตัวไปตอนที่หนีไปอยู่กับนายริด และพ่อแม่ทวงคืนก็ต้องคืนให้
กล่าวโดยสรุป นอกจากคดีอำแดงเหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นเสรีภาพการแต่งงานของหญิงสามัญแล้ว ยังได้นำไปสู่การออกประกาศพระราชบัญญัติลักภา จ.ศ. ๑๒๒๗ (พ.ศ. ๒๔๐๘) เพื่อแก้ไขหลักกฎหมายเดิมซึ่งให้อำนาจอิสระแก่บิดามารดาสามารถจำหน่ายจ่ายบุตรได้ตามใจของตน โดยได้มีการจำกัดอำนาจอิสระของบิดามารดา คดีอำแดงเหมือนจึงเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและจดจำเพื่อประกอบการศึกษาวิชาสิทธิมนุษยชนได้อย่างดีเยี่ยม
ที่มา : ห้องเรียน น. ๒๗๗ กฎหมายและนโยบายของรัฐเกี่ยวกับสตรี สอนโดย รศ.มาลี พฤกษ์พงศาวลี
มาลี พฤกษ์พงศาวลี. (๒๕๕๑). ย้อนรอยสิทฺธิความเป็นคนของผู้หญิง. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ออฟเซ็ท จำกัด
http://www.learners.in.th/blogs/posts/257336 