เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 53527 ราชสกุล อิศรางกูร ณ อยุธยา
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 27 ต.ค. 12, 09:42

พระโอรสธิดาลำดับที่ ๒ พระธิดา เจ้าฟ้ากรมขุนอนัคฆนารี (เจ้าฟ้าหญิงฉิม)   
คำว่า ‘ฉิม’ เป็นคำโบราณ มักใช้เรียกลูกชายหรือลูกหญิงคนใหญ่ ในสมัยโบราณจึงมี ‘พ่อฉิม’ ‘แม่ฉิม’ กันแทบทุกครอบครัว
กรมขุนอนัคฆนารี (เจ้าฟ้าหญิงฉิม) พระองค์นี้ปรากฏพระนามในหนังสือประเภทพระราชพงศาวดารกระซิบ เรื่อง ‘ขัติยราชบริพัทย์’ ซึ่งแม้แต่ในหมู่เจ้านายก็ยังไม่มีใครทราบแน่ว่าท่านผู้ใดเป็นผู้จดเอาไว้ แต่ก็เริ่มมีผู้ล่วงรู้ถึงความในหนังสือนี้ ซึ่งเรียกกันอีกอย่างว่า ‘หนังสือข้างที่’ บ้าง ‘พงศาวดารข้างที่’ บ้าง ‘ข้างที่’ คือ ข้างเตียง ข้างแท่น ข้างที่บรรทม นั่นเอง
หนังสือนี้ ซึ่งขึ้นต้นเรื่องราวว่า
“จะพรรณนาถึงเรื่องพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ครั้งพระองค์ท่านยังดำรงอยู่ในที่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรอยู่นั้น เกิดปีมะแม เอกศก จุลศักราช ๑๑๖๑
ผู้จดเล่า เล่าถึงเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ แต่ยังเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จเข้าไปทรงเยี่ยมพระอาการประชวรสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์น้อย ซึ่งเป็นสมเด็จป้า และเป็นพระมารดาเจ้าฟ้าบุญรอด จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอสิ้นพระชนม์ เชิญพระโกศประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่เสด็จเวียนไปเวียนมา เพราะได้ทอดพระเนตรเห็นเจ้าฟ้าบุญรอด ถ้อยทีถ้อยทรงเสน่หาต่อกัน โดยมีพระกนิษฐภคินีทั้งสองพระองค์ (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ และ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเทพยวดี) ทรงมีพระทัยยินดีด้วย พูดง่ายๆ ว่าทรงรู้เห็นเป็นใจ ดังนั้น เมื่อเสร็จการพระศพแล้ว วันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯเสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมชนกนาถแล้ว เสด็จแวะที่ตำหนัก สมเด็จพระกนิษฐภคินีทั้งสองพระองค์ทรงได้พบปะกันกับเจ้าฟ้าบุญรอดทุกวัน จะเสด็จกลับข้ามไปพระราชวังเดิมที่ประทับก็ต่อเวลาค่ำมืด (คล้ายๆ ในพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ตอนพบกับนางจินตะหรา...จึงได้กล่าวกันว่า อันพระราชนิพนธ์บทละครอิเหนา นั้นคือส่วนหนึ่งของ ‘ชีวิตรัก’ ของพระองค์ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ ไม่ว่าจะเป็นนางจินตะหรา หรือนางบุษบา)

             “ขัติยราชบริพัทย์” เล่าถึงเจ้าฟ้ากรมขุนอนัคฆมนตรีเอาไว้ว่า
             “แต่เจ้าครอกเสียพระจริต ซึ่งภายหลังมีพระนามว่ากรมขุนอนรรคฆนารี เสด็จไปแอบทอดพระเนตรเห็น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จไปนั่งชิดกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ช่วยกันเดิมเล่นสกาเล่นกับกรมหลวงศรีสุนทรเทพ เมื่อทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงเสด็จออกมาตรัสว่าข้าหลวง โดยพระสุรเสียงอันดังว่า ท้าวพรหมทัตล่วงลัดตัดแดน มาเท้าแขนเล่นสกาพนัน สูๆ สีๆ อีแม่ทองจันทร์อีกสองสามวันจะเป็นตัวจิ้งจก
            ว่าที่รับสั่งร้องดังนี้ จะเป็นที่ขัดเคืองพระทัยหรือจะเป็นอย่างไรก็ไม่ได้ความชัด แต่รับสั่งร้องอยู่ดังนี้หลายวัน ถ้าเสด็จออกเยี่ยมพระแกลเห็นผู้ใดเดินมาก็ทรงร้อง สูๆ สีๆ อีแม่ทองจันทร์ อีกสองสามวันก็เป็นตัวจิ้งจก ทรงร้องได้วันละหลายๆ ครั้ง...ฯลฯ...”
            ว่ากันว่า กรมขุนอนัคฆนารี หรือเจ้าฟ้าฉิม เวลานั้นในรัชกาลที่ ๑ คงจะออกพระนามกันว่า เจ้าครอกฉิมเล็ก เพราะเจ้าครอกฉิมที่สิ้นพระชนม์แล้ว ออกพระนามกันว่าเจ้าครอกฉิมใหญ่ ส่วนที่เรียกกันว่า เจ้าครอกเสียพระจริตคงจะสังเกตเอาจากพระจริตกิริยาซึ่งคงฟุ้งซ่านขาดๆ เกินๆ ในการกระทำและวาจาผิดแผกแตกต่างคนปกติไปบ้าง เห็นจะไม่ใช่ถึงกับเสียพระจริต หรือ ‘บ้า’ เพราะหากเป็นคนเสียจริตหรือบ้าคงไม่อาจผูกกลอนได้เข้าเรื่องเข้าราว เช่นเดียวกับผู้ที่ถูกว่าว่า ‘เสียจริต’ หรือ ‘บ้า’ อีกท่านหนึ่ง คือ ‘คุณสุวรรณ’ ชาววังผู้แต่งเรื่อง “พระมเหลเถไถ’ ซึ่งในประวัติที่ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ ว่า “ไม่ปรากฏว่าทำราชการในตำแหน่งพนักงานใด คุณสุวรรณมามีชื่อเสียงโด่งดังเมื่อรัชกาลที่ ๔ เหตุด้วยเสียจริต แต่ไม่คลั่งไคล้อันใด เป็นแต่ฟุ้งไปในทางกระบวนแต่งกลอน”
            พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอนัคฑนารี พระเชษฐภคินีของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (เจ้าฟ้าบุญณอด) ประสูติ พ.ศ.๒๓๐๕ สิ้นพระชนม์เมื่อใดไม่ปรากฎในจดหมายเหตุพระราชพงศาวดาร เข้าใจว่าจะสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๑ นั่นเอง
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 27 ต.ค. 12, 09:47

ยกสาแหรก จาก "ปฐมวงศ์" มาให้ดูจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นครับ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
art47
องคต
*****
ตอบ: 739


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 27 ต.ค. 12, 10:11

ถึงรัชกาลที่ ๖ มีพระราชบัญญัตินามสกุลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงโปรดฯ พระราชทานนามสกุลที่สืบสายลงมาจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ว่า ‘เทพหัสดิน’ โดยเอาพระนามกรมข้างหน้าของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ กับ ‘หัสดิน’ ที่แปลว่า ‘ช้าง’ รวมเข้าด้วยกัน เป็นการแปลกกว่าราชสกุลอื่น ซึ่งมักจะมาจากพระนามจริงหรือพระนามกรมแต่อย่างเดียว


"หัสดิน" มาจากนามของ พระยาราชภักดี (ช้าง) "บุตรที่บิดาไม่รับ แต่พี่น้องเขารับกันหมด"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 27 ต.ค. 12, 19:57

เจ้าฟ้าเกศ ประสูติเมื่อปีมะเส็ง เบญจศก  จุลศักราช ๑๑๓๕  ตรงกับวันพุธ เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๑๖
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้า   ท่านยังทรงพระเยาว์อยู่มาก พระชันษาแค่ ๙ ขวบ    ยังไม่ได้ทรงกรม   
พระประวัติเมื่อทรงพระเยาว์นั้น ดิฉันยังหารายละเอียดไม่ได้มากกว่านี้    มาพบบันทึกอีกครั้งเมื่อเจริญพระชันษาขึ้นมากแล้ว คือเมื่อพ.ศ. ๒๓๕๐  หลังสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์มาแล้ว ๒๕ ปี    ในครั้งนั้นมีการเลื่อนกรมเจ้านาย ๒ พระองค์ และตั้งกรม ๗ พระองค์    ในจำนวนตั้งกรมนั้น มีเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์รวมอยู่ด้วย  พระชันษาตอนนั้น ๓๔ ปี

เจ้านายอีก ๖ พระองค์ที่ได้ทรงกรมพร้อมกันกับเจ้าฟ้ากรมขุนอฺิศนานุรักษ์ มีทั้งพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๑ และพระเจ้าหลานเธอ สายต่างๆ    คือ
๑  สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ  เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต    หรือพระนามเดิมว่าเจ้าฟ้าเหม็น  พระองค์นี้เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ประสูติแต่เจ้าฟ้าฉิมใหญ่ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ
๒  พระเจ้าลูกยาเธอ   พระองค์เจ้าชายอภัยทัต  กรมหมื่นเทพพลภักดิ์  ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อยแก้วในรัชกาลที่ ๑
๓  พระเจ้าลูกยาเธอ   พระองค์เจ้าชายอรุโณทัย  กรมหมื่นศักดิ์พลเสพ  ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเจ้าจอมนุ้ยใหญ่ ธิดาเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ในรัชกาลที่ ๑
   ต่อมาในรัชกาลที่ ๓  โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นวังหน้า   สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ หรือ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ
๔ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าชายปาน  กรมหมื่นนราเทเวศร์ พระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (กรมพระราชวังหลัง)
๕  พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าชายบัว  กรมหมื่นนเรศโยธี  พระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (กรมพระราชวังหลัง)
๖  พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าชายแตง  กรมหมื่นเสนีบริรักษ์  พระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (กรมพระราชวังหลัง)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 28 ต.ค. 12, 17:17

น่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่งคือเจ้านาย ๗ องค์นี้แม้ได้รับพระราชทานพระสุพรรณบัฏจารึกพระนามทรงกรมเช่นเดียวกัน   แต่เนื้อทองไม่เท่ากัน   ในกฎหมายจารึกพระนามตั้งกรม   ระบุไว้ว่า เจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตกับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์เท่านั้นที่พระสุพรรณบัฏเป็นทองเนื้อแปดเหมือนกัน  แต่อีก ๕ องค์ เป็นทองเนื้อหก ทั้งหมด
เดาว่าคงเป็นด้วยพระยศต่างกัน คือเป็นเจ้าฟ้า กับพระองค์เจ้า

บทบาทของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ในพระราชพิธีต่างๆ ที่บันทึกไว้  มี ๒ ครั้งด้วยกัน คือพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี  ในรัชกาลที่ ๑  กับพระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้ามงกุฎในรัชกาลที่ ๒
ในปีต่อมาจากที่ทรงกรม   พ.ศ. ๒๔๕๑  มีพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากุณฑล   เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ฉลองพระองค์ครุย ทรงสวมชฎาเดินหน  สมมุติว่าเป็นพระอิศวร  เสด็จลงมาจากมณฑปใหญ่ยอดเขาไกรลาศ   ทรงรับพระกรพระเจ้าลูกเธอที่ชั้นทักษิณทิศตะวันตกกลางบันไดนาค   จูงพระกรขึ้นบนเขาไกรลาศ    ประทานพรแล้วนำเสด็จลงมาส่งที่เกยด้านทิศตะวันออก เพื่อเสด็จพระยาณุมาศแห่เวียนประทักษิณเขาไกรลาศ
บันทึกการเข้า
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 10:05

วังที่ประทับ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์
วังท่าเตียน วังนี้อยู่ต่อวังเจ้าฟ้ากรมหลวงพิททักษมนตรีลงไปข้างใต้จนต่อบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุญ) ซึ่งอยู่ที่ท่าเตียน โปรด ฯ ให้สร้างพระราชทานสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ พระโอรสพระองค์น้อยของสมเด็จพระพี่นางพระองค์น้อย เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ประทับอยู่วังนี้จนในรัชกาลที่ ๓ ย้ายไปประทับที่วังสวนมังคุดฟากข้างโน้น พระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานวังท่าเตียนให้กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๑ ประทับต่อมา...
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 10:17

วัดที่พระองค์ทรงสร้าง
วัดรังษีสุทธาวาส เป็นวัดโบราณ สถาปนาขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บนพื้นที่ริมกำแพงพระนคร ด้านเหนือของกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สร้างวัดรังษีสุทธาวาส คือ พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ พระโอรสนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดรักษ์ (พระเจ้าหลานเธอนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก)
ตามจารึก ที่ปรากฏผบผนังพระอุโบสถวังรังษีสุทธาวาส วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๖ ใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งหมด ๖ ปี พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงเอาใจใส่ในการก่อสร้างเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระอุตสาหะในการทำหน้าที่เป็นนายช่างและตรวจตราการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง ดังข้อความที่ปรากฎในจารึกว่า
"พระพุทธศักราชล่วง ๒๓๖๖ พระวษาปีมะแมนักสัตว เบญศก สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ จ้าวฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงพระราชศรัทธา ถาปะนาจับส้างพระอารามนี้ ทรงพระอุสาหะกระทำพระองค์เปนนายช่าง บอกการงานให้แบบหย่าง ตรวจตราติเตียนด้วยพระองค์เอง ๖ ปีจนแล้วสำเรธิ์บริบูรณ์ จึ่งให้นามวัดรังษีสุทธาวาส....."
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 10:30

วัดรังษีสุทธาวาส


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 29 ต.ค. 12, 10:40

บทบาทของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ในพระราชพิธีต่างๆ ที่บันทึกไว้  มี ๒ ครั้งด้วยกัน คือพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี  ในรัชกาลที่ ๑  กับพระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้ามงกุฎในรัชกาลที่ ๒
ในปีต่อมาจากที่ทรงกรม   พ.ศ. ๒๔๕๑  มีพระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากุณฑล   เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ฉลองพระองค์ครุย ทรงสวมชฎาเดินหน  สมมุติว่าเป็นพระอิศวร  เสด็จลงมาจากมณฑปใหญ่ยอดเขาไกรลาศ   ทรงรับพระกรพระเจ้าลูกเธอที่ชั้นทักษิณทิศตะวันตกกลางบันไดนาค   จูงพระกรขึ้นบนเขาไกรลาศ    ประทานพรแล้วนำเสด็จลงมาส่งที่เกยด้านทิศตะวันออก เพื่อเสด็จพระยาณุมาศแห่เวียนประทักษิณเขาไกรลาศ

พระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้ามงกุฏ มีลักษณะเหมือนพระราชพิธีโสกันต์  ผิดกันแต่ว่าพระราชพิธีโสกันต์จัดทำที่เขาไกรลาศในพระบรมมหาราชวัง  แต่พระราชพิธีลงสรงทำแพพระมณฑปที่สระในแม่น้ำ   มีที่สรงอยู่ในพระมณฑป  มีกระบวนเรือเข้าในพระราชพิธีคือเรือกันยา  เรือกระบี่  เรือครุฑ เรือดั้ง  เรือรูปสัตว์และเรือพิฆาตเขียนรูปสัตว์ต่างๆ  ทอดทุ่นเหนือน้ำ   ท้ายน้ำมีเรือหมอจระเข้  เรือทอดแห สำหรับจับสัตว์ร้าย  รายกันอยู่ในที่ล้อมวง

ขั้นตอนของพระราชพิธีลงสรงคือ เมื่อแห่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอไปที่ตำหนักแพ   เปลื้องเครื่องทรงออก   พอได้อุดมฤกษ์ก็ลั่งฆ้องชัย สังข์แตร ประโคมดนตรี  ยิงปืนสัญญาณพร้อมกัน      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุ้มสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเสด็จไปยังบันไดแก้ว
ถึงตอนนี้  ก็เป็นช่วงที่เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์รับต่อพระหัตถ์ ทรงอุ้มเข้าสู่ที่สรง   ให้ทรงเกาะมะพร้าวสรงน้ำในแม่น้ำที่ในกรงก่อน แล้วรับเสด็จขึ้นมาประทับบนพระแท่นสรง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 10:44

    ส่วนหน้าที่การงานของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์  ปรากฏในพระราชพงศาวดารในรัชกาลที่ ๒ ว่าเมื่อเสร็จศึกพม่าแล้ว   พระเจ้าอยูู่หัวโปรดเกล้าฯให้เจ้านายมีหน้าที่กำกับราชการหลายพระองค์    เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์เป็นหนึ่งในนั้น    ทรงได้กำกับกรมมหาดไทย
    เรื่องเจ้านายกำกับกรมราชการ หมายถึงอะไร   สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบายว่า หน้าที่นี้ไม่ปรากฏว่ามีในรัชกาลที่ ๑   เพิ่งมีในรัชกาลที่ ๒    สันนิษฐานว่าเกิดจากเหตุ ๒ ประการ
  ๑  เมื่อจัดทัพไปรบพม่าในพ.ศ. ๒๓๕๒  น่าจะมีผลการรบบางอย่างไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ เพราะข้าราชการเจ้ากระทรวงต่างๆหย่อนความสามารถ     จึงทรงเห็นว่าต้องมีกำลังช่วย เพื่อคิดอ่านอุดหนุนราชการในกระทรวงนั้นๆ     
  ๒   ในเวลานั้นก็มีเจ้านายหลายพระองค์ที่เจริญพระชนม์พอสมควร  มีฝีมือความสามารถ  จึงทรงเห็นว่าควรมาช่วยราชการ ดีกว่าอยู่เปล่าๆ
  ส่วนบทบาทการกำกับราชการ ก็ทำหน้าที่คล้ายที่ปรึกษาของเสนาบดีหรือเจ้ากระทรวง   เมื่อเจ้ากระทรวงจะทำการอันใดก็ต้องทูลปรึกษาเจ้านายที่กำกับราชการเสียก่อน    ส่วนกระแสพระราชดำริ ก็ทรงปรึกษาเจ้านายนั้นๆเหมือนกัน
  เมื่อเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีสิ้นพระชนม์  พ.ศ. ๒๓๖๕ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์จึงได้กำกับกรมมหาดไทย
บันทึกการเข้า
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 31 ต.ค. 12, 10:03

กรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงเสกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงปัญจปาปี พระราชธิดาพระองค์ที่ 13 ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับกรมบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ มีพระโอรสธิดา 5 พระองค์ คือ หม่อมเจ้าใหญ่ หม่อมเจ้ากลาง หม่อมเจ้าหญิงศรีฟ้า หม่อมเจ้าสุนทรา หม่อมเจ้าหญิงรสสุคนธ์ และน่าจะมีหม่อมอีกหลายท่าน เพราะมี พระโอรสที่ชื่อ หม่อมเจ้าถึก อีกองค์หนึ่ง ชึ่งมี บุตร คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (หม่อมราชวงศ์ เจริญ อิศรางกูร) วัดระฆังโฆษิตาราม นามฉายาว่า ญาณฉนฺโท เป็นบุตรหม่อมเจ้าถึก พระโอรสในสมเด็จพระประพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ เกิดที่บ้านบางอ้อ จังหวัดนครนายก เมื่อวันจันทร์ แรม 12 ค่ำ เดือน 9 ปีมะเส็ง พ.ศ.2400 แล้วย้ายเข้ามาอยู่กรุงเทพกับบิดา 
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว. เจริญ อิศรางกูร) มรณภาพเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม เวลา 18.35 น. ปีมะโรง พ.ศ.2471 คำนวณอายุได้ 70 ปี พรรษา 50
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 31 ต.ค. 12, 19:52

    บทบาทสำคัญของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทางด้านการทำศึก  มีให้เห็นในรัชกาลที่ ๒    ดิฉันไม่ทราบว่าเจ้าฟ้าพระองค์นี้ท่านเคยทำศึกในรัชกาลที่ ๑ มามากน้อยแค่ไหน แต่ก็น่าจะมีฝีมือเก่งพอตัว      เพราะในรัชกาลที่ ๒  เมื่อเขมรเกิดแตกร้าวกับไทย เพราะมีญวนหนุนหลัง  ในพ.ศ. ๒๓๕๘ จนกระทบมาถึงเมืองพัตบอง (พระตะบอง) ซึ่งขึ้นกับไทย     พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ โปรดฯให้เกณฑ์ทัพจากกรุงเทพ สมทบกับโคราช  ยกไปรักษาเมืองพระตะบองไว้    แม่ทัพที่ยกไปจากกรุงเทพคราวนั้นคือเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์
    โชคดีที่คราวนั้นไม่ได้เกิดศึกถึงขั้นรบราฆ่าฟันกัน  ทั้งญวนและเขมรเลิกราถอยกันไปก่อน    เรื่องก็เงียบกันไป  ทัพไทยก็กลับมาโดยไม่เปลืองรี้พล

    นอกจากเรื่องบัญชาการรบ  เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ยังเก่งด้านดีไซน์ด้วย    เห็นได้จากในการสร้างสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง  ทรงเป็นตัวแทนของเจ้านายฝ่ายหน้าร่วมกับกรมหลวงพิทักษ์มนตรี ออกแบบตกแต่งสวน     
    ผลงานอีกอย่างหนึ่งของท่านคือทรงออกแบบ "เรือญวน"  ซึ่งเป็นเรือต่อขนาดใหญ่ใช้แจว มีเก๋งประทุนสำหรับเดินทางไกล  ทรงออกแบบใช้ขึ้นมาก่อน แล้วต่อๆมาก็มีคนทำใช้กันหนาตาทั้งของหลวง ของเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่   เรือญวนเป็นเรือขนาดใหญ่มีถึง 20 แจว   ข้างหลังเรือปักธงติดอาวุธ และปักหางนกยูง   ใช้กันมาจนถึงรัชกาลที่ 5
    เรือชนิดนี้ เดิมญวนเป็นผู้ใช้มาก่อน แต่ตั้งเก๋งค่อนไปทางท้าย    สันนิษฐานว่าเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงเห็นเมื่อคราวเป็นแม่ทัพไปรักษาเมืองพระตะบอง  จึงทรงนำมาดัดแปลง แต่เลื่อนเก๋งจากท้ายเรือมาอยู่ตรงกลางเรือแทน
บันทึกการเข้า
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 01 พ.ย. 12, 11:27

มีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ได้กล่าวถึงพระองค์ ในจดหมายรายงานถึงผู้สำเร็จราชการเกาะปรินซ์ออฟเวลส์ (ปีนัง)

มีเจ้านายพระองค์หนึ่ง ซึ่งหันตรีเล่าไว้ในจดหมายรายงานถึงผู้สำเร็จราชการเกาะปรินซ์ออฟเวลส์ (ปีนัง)
            หันตรีเขียนเล่าว่า
             “นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่มีอิทธิพลมากในกรุงเทพฯอีกท่านหนึ่งคือกรมขุน ผู้ซึ่งในสมัยรัชกาลที่แล้วเป็นสมาชิกรัฐบาลที่มีอิทธิพลและเอาใจใส่ในกิจการต่างๆ อย่างมาก แต่เมื่อพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันขึ้นครองราชย์ ท่านก็ลาออกจากการบริหารราชการต่างๆ โดยกล่าวอ้างว่าอายุมากแล้ว กล่าวกันว่าท่านไม่พอใจในการขึ้นครองราชสมบัติของรัชกาลนี้ แต่พระเจ้าอยู่หัวก็แสดงความนับถือให้เกียรติกรมขุนเป็นอย่างดี เวลาที่เข้าเฝ้าก็จะพระราชทานหมอนให้พิง แต่ท่านก็ไม่ค่อยจะเข้าเฝ้าบ่อยนัก ตามปกติวังหน้าอาจใช้หมอนพิงได้เวลาอยู่ต่อหน้าพระที่นั่ง”
            จากจดหมายของหันตรี ทำให้ได้ทราบว่า เจ้านายที่เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวนั้น หากพระราชทานหมอนให้ทรงพิง หรือมีหมอนพิงเป็นพิเศษ แสดงว่าเป็นเจ้านายที่มีเกียรติยศสูง
             ‘กรมขุน’ ซึ่งหันตรีกล่าวถึง คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ สมเด็จพระอนุชาพระองค์น้อยในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒

ที่มาครับ
http://writer.dek-d.com/bird711/writer/viewlongc.php?id=524172&chapter=133
บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 01 พ.ย. 12, 11:59

พระเจ้าอยู่หัว ที่หันตรี เอ่ยถึง หมายถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ก็พอจะเป็นที่เข้าใจได้  เพราะพระเชษฐาของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ คือกรมหลวงพิทักษ์มนตรี ท่านเป็นฝ่ายสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎเต็มตัว  
ในรัชกาลที่ ๒   เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นหลักราชการมี  ๓ พระองค์  คือ
๑  สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์พระองค์
๒  เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี พระอนุชาสมเด็จพระศรีสุริเยนพรมราชินีพระองค์
๓  พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดฯให้กรมพระราชวังบวรฯทรงกำกับราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณทั่วไป  โปรดฯใหเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีทรงกำกับกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงวัง  และโปรดฯให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทรทรงกำกับกระทรวงพระคลัง  
แต่ทั้งกรมพระราชวังบวรฯและเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีก็สิ้นพระชนม์ไปในรัชกาลที่ ๒ นั่นเอง  เหลือแต่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในแผ่นดิน     ส่วนเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงรับงานด้านมหาดไทยต่อจากพระเชษฐา  
นับตามศักดิ์ท่านก็เป็น "น้าชาย" แท้ๆของเจ้าฟ้ามงกุฎ     ก็พอจะเป็นที่เข้าใจที่หันตรีบอกว่า ท่านไม่ค่อยจะพอพระทัยที่แผ่นดินตกเป็นของหลานชายอีกพระองค์หนึ่ง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 พ.ย. 12, 16:55 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 02 พ.ย. 12, 16:55

ตาหันตรีแกก็ซอกแซกรู้เบื้องหลังเบื้องลึกของเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์จริงด้วย    ทางฝ่ายไทยมีหลักฐานตรงกัน  ว่าเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ทรงสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎ 
ปรากฏอยู่ในหนังสือ "ความทรงจำ"ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ตามนี้ค่ะ

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เริ่มประชวรเมื่อเดือน ๘ แรม ๔ ค่ำ (ปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗) แต่แรกรู้สึกพระองค์ว่าเมื่อยมึนไป เสวยพระโอสถข้างที่ไม่ถูกโรค เลยเกิดพระอาการเซื่อมซึม จนไม่สามารถจะตรัสได้ แก้อย่างไรก็ไม่ฟื้น ประชวรอยู่ ๘ วัน ถึงวันพุธ เดือน ๗ แรม๑๑ ค่ำ ก็สวรรคต ไม่ได้ดำรัสสั่งมอบเวนราชสมบัติพระราชทานแก่เจ้านายพระองค์ใดให้เป็นรัชทายาท พระราชวงศ์กับเสนาบดีหัวหน้าข้าราชการทั้งปวงจึงต้องประชุมปรึกษากันตามธรรมเนียมโบราณ ว่าจะควรเชิญเจ้านายพระองค์ใดขึ้นเสวยราชย์ครอบครองบ้านเมือง
ในเวลานั้นถ้าว่าตามนิตินัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ในฐานสมควรจะได้รับราชสมบัติ เพราะเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าราชโอรสองค์ใหญ่อันเกิดด้วยพระอัครมเหสี แต่เผอิญในเวลานั้นมีกรมหมื่นเจษฎาบดินทร (คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งเป็นพระองค์เจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ เจริญพระชันษากว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึง ๑๗ ปี ได้ทรงบังคับบัญชาราชการต่างพระเนตรพระกรรณ เมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๒ ผู้คนยำเกรงนับถืออยู่โดยมาก
ที่ประชุมเห็นว่าควรถวายราชสมบัติแก่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร บ้านเมืองจึงจะเรียบร้อยเป็นปกติ จึงอาศัยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ ให้ไปทูลถามว่าจะทรงปรารถนาราชสมบัติหรือจะทรงผนวชต่อไป
ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบกิตติศัพท์อยู่แล้ว ว่าคิดกันจะถวายราชสมบัติ แก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่าถ้าพระองค์ปรารถนาราชสมบัติในเวลานั้น พระราชวงศ์คงแตกสามัคคีกัน อาจจะเลยเกิดเหตุร้ายในบ้านเมือง
ตรัสปรึกษาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ซึ่งเป็นพระเจ้าน้าพระองค์น้อย ทูลแนะนำว่าควรจะคิดเอาราชสมบัติตามที่มีสิทธิ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นชอบด้วย ไปทูลปรึกษากรมหมื่นนุชิตชิโนรส พระปิตุลาซึ่งทรงผนวชอยู่ กับทั้งกรมหมื่นเดชอดิศรพระเชษฐาซึ่งทรงนับถือมาก ทั้งสองพระองค์นั้นตรัสว่าไม่ควรจะปรารถนา อย่าห่วงราชสมบัติดีกว่า
เพราะฉะนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยูหัวได้ทรงฟังคำถาม จึงตรัสตอบว่ามีพระประสงค์จะทรงผนวชอยู่ต่อไป ก็เป็นอันสิ้นความลำบากในการที่จะถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 20 คำสั่ง