ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อ่างศิลาเป็นสถานที่พักฟื้นของเจ้านายชั้นสูง และได้เสด็จประพาสอากาศที่สามมุข เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๒ คัดจากหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ แต่งโดยเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ความว่า
“ครั้นมาถึง ณ วันพุธ เดือนยี่ ขึ้น ๑๒ ค่ำ (๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๒) เสด็จพระราชดำเนินลงเรือพระที่นั่งมณีเมขลาใช้จักรจากท่านิเวศวรดิฐไปประพาสอากาศที่สามมุข แล้วเสด็จกลับทางปากน้ำบางปะกง ทอดพระเนตรเขาดิน แล้วก็เสด็จขึ้นไปตามลำน้ำถึงเมืองปราจีนบุรี แล้วก็เสด็จกลับเข้าพระนคร”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สร้างตึกใหญ่สำหรับให้ต่างชาติที่เจ็บไข้อยู่รักษาตัว
“ที่อ่างศิลา แขวงเมืองชล อากาศดี โปรดให้ทำที่ประทับแห่งหนึ่ง ได้ทำแต่อิฐปูนขึ้นไว้กับถมสะพานศิลาเป็นถนนออกมาสายหนึ่ง ฯพณฯ หัวเจ้าท่าน เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ ที่สมุหกระลาโหมสร้างตึกใหญ่ขึ้นไว้หลังหนึ่ง เพื่อจะให้พวกยุโรปที่เจ็บไข้ไปอยู่รักษาตัวตากอากาศ ที่นั้นเป็นการบุญ แลที่ตลาดหลังเขาสามมุกนั้น โปรดให้ทำพลับพลาเป็นที่ประพาสขึ้นไว้หมู่หนึ่ง ให้ถมศิลาเป็นถนนออกมาสายหนึ่ง…”
หนังสือพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กล่าวถึงตึกที่สร้างไว้ว่า
“ตึกอาไศรยสถาน”พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสอ่างศิลาหลายครั้งและทรงโปรดปรานมาก ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์จดหมายเหตุ ฉบับวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๓๔๑๙ ว่า “…ที่อ่างศิลาเป็นที่สนุกแลเป็นที่สบายมาก เราอยากใคร่อยู่นาน ๆ แต่ไม่ใคร่จะมีเวลาจะไปอยู่พ้น ๑๐ วันเลย…”
จากหนังสือย้อนรอยเจ้าจอมก๊กออ ในรัชกาลที่ ๕ กล่าวถึงเจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ว่า เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต่างประเทศครั้งแรกที่ชวาและอินเดีย เจ้าพระยาภาณุวงศ์ก็ได้ตามเสด็จด้วย เมื่อทรงเสด็จประพาสพระพุทธบาทและเสด็จต่อไปยังนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และประทับที่อ่างศิลา เจ้าพระยาภานุวงศ์สร้างตำหนักขึ้นที่อ่างศิลาปลายปี พ.ศ. ๒๔๑๕ แล้วทำถนนจากอ่างศิลาไปชลบุรีและบ่อน้ำร้อนบางพระ ตำหนักที่อ่างศิลานี้เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพาเจ้านายและข้าราชการฝ่ายในไปตากอากาศอีกแห่งหนึ่งนอกเหนือจากที่บางปะอิน คณะทูตานุทูตชาวต่างประเทศต่างก็นิยมไปพักฟื้นรักษาตัว หรือตากอากาศที่อ่างศิลานี้เช่นกัน เจ้าพระยาภาณุวงศ์ชอบปลูกไม้ผลโดยเฉพาะมะม่วง จึงปลูกมะม่วงไว้รอบตำหนักอ่างศิลา
ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ สมเด็จพระนางเจ้าศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ (ขณะนั้นทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ขณะเสด็จประพาสยุโรป) ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ปฏิสังขรณ์อาคารทั้ง ๒ หลัง และพระราชทานนามอาคารหลังใหญ่ว่า “ตึกมหาราช” และอาคารหลังเล็กว่า “ตึกราชินี” เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในมงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๙ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ประชวรพระโรคปอดในระยะเริ่มแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จจากพระบรมมหาราชวังไปประทับรักษาพระองค์ ณ อ่างศิลา และโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นตามเสด็จไปถวายการรักษาพยาบาลด้วย
ตลาดอ่างศิลาในปัจจุบันยังคงความงดงามและสง่างามด้วย “ตึกมหาราช” และ “ตึกราชินี” หรือ “ตำหนักราชินี” ซึ่งมีสีแดงตั้งเป็นสง่าอยู่ริมชายทะเลอ่างศิลา ตรงปากทางเข้าตลาดอ่างศิลานั่นเอง
จาก
หนังสือพิมพ์บ้านเมือง 