เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 34286 กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


 เมื่อ 21 ต.ค. 12, 13:06

กัปตันซามูเอล โยเชฟ เบิร์ด เอมส์ (Captain Samuel Joseph Bird Ames พ.ศ. 2375 - พ.ศ. 2444) เป็นคนอังกฤษชาวเมืองWeymouth เกิดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 1832  เคยเป็นนายเรือสินค้าแบบเรือใบสี่เสากระโดง ตระเวนไปตามเมืองท่าของทะเลแถบแอตแลนติก และเมื่อบริษัทขยายเส้นทางมายังตะวันออกไกล แถวอินเดีย ลังกา พม่า และสุดท้ายมาที่สยาม ทำให้กัปตันหนุ่มผู้นี้หลงเสน่ห์ประเทศนี้เอามากๆ ถึงกับเมื่อกลับไปอังกฤษแล้ว ได้เกลี้ยกล่อมเคทเธอรีน โซเฟีย บราวน์ Katherine Sophia Brown ผู้เป็นภรรยา ให้ตัดสินใจนำบุตรชาย 2 คนเดินทางอพยพเข้ามาเพื่อตั้งรกรากในกรุงเทพ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 21 ต.ค. 12, 13:09

กัปตันเอมซ์คงจะเบื่อชีวิตทะเลที่ต้องจากลูกเมียไปครั้งละนานๆ จึงเริ่มต้นอาชีพใหม่บนแผ่นดินสยามในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้าง เพราะมีพื้นเพความรู้ทางงานช่างมาก่อนแล้ว งานชิ้นแรกที่ได้รับเป็นสะพานเล็กๆแถวตรอกโรงภาษี ผลงานเป็นที่ยอมรับจึงได้งานต่อมาเรื่อยๆ

จนถึงปีพ.ศ. 2403 ขณะอายุได้ 29ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯโปรดฯให้เจ้าพระยายมราช(ครุฑ บ่วงราบ)เป็นแม่กอง จัดตั้งกิจการตำรวจสยามเรียกว่า“กองโปลิศคอนสเตเบิ้ล”ตามแบบยุโรปขึ้น เพื่อทำหน้าที่แทนข้าหลวงกองจับและกองตระเวนซ้ายขวาแบบโบราณ กัปตันเอมส์จึงได้สมัครเข้ารับราชการตามประกาศ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโปลิศคนแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับกอง ติดยศร้อยเอกในปีนั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 21 ต.ค. 12, 13:11

โรงพักที่สมัยก่อนเรียกว่าโรงตำรวจพระนครบาล จัดตั้งขึ้นแห่งแรกในย่านคนจีนแถวตรอกโรงกระทะ(เดี๋ยวนี้เป็นสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์) ใช้แขกมลายูและอินเดียที่เคยเป็นลูกน้องเก่าของกัปตันเอมส์เป็นพลตระเวน เริ่มปฏิบัติงานในสำเพ็งและพาหุรัดเป็นย่านแรกเพราะเป็นท้องที่ทำมาหากินของพวกขโมยขโจรและนักฉกชิงวิ่งราว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 21 ต.ค. 12, 13:14

แรกๆคนก็เห็นโปลิศเป็นตัวตลก เพราะเป็นแขกโพกหัวด้วย เครื่องแบบสมัยเริ่มต้นก็ยังไม่มีเป็นเรื่องเป็นราว จึงพากันยั่วเย้ากระเซ้าแหย่ แต่พวกโปลิศก็ไม่เอาใจใส่ กัปตันเอมซ์ได้อบรมและกำชับเรื่องวินัยเป็นอย่างยิ่งไม่ให้ต่อล้อต่อเถียงกับชาวบ้าน แต่ถ้าเห็นผู้ใดทำผิดแล้วก็จะเอาจริงเอาจังไม่กลัวเกรง ปล้ำจับเอาตัวไปโรงตำรวจจนพวกหัวขโมยครั่นคร้าม ชาวบ้านก็พอใจให้ความนับถือมากขึ้นเพราะโปลิศคอนสเตเบิ้ลเอาจริงเอาจัง ไม่ได้เดินวางก้ามอวดเบ่งเฉยๆ ถือว่าการเริ่มต้นทำงานของโปลิศคอนสเตเบิ้ลได้ผล

ปัญหาของโปลิศแขกอยู่ที่ภาษา พูดกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ยิ่งสมัยนั้นมีปัญหาการเมืองเรื่องคนในบังคับของต่างชาติอยู่ด้วย แม้จะเป็นคนไทยแต่เป็นสัปเยคของชาติอื่นก็เอาเขาขึ้นศาลไทยไม่ได้ และพวกนี้จะหัวหมอเป็นพิเศษ กัปตันเอมซ์ต้องใช้ความสุขุมรอบคอบในการจัดการกับพวกผิดกฎหมายเหล่านี้ จนได้รับคำกล่าวขวัญยกย่องจากบรรดากงสุลต่างๆ และให้ความร่วมมือกับทางการของสยามเป็นอย่างดี

ในภาพไม่ใช่ของจริงในเมืองไทยนะครับ เอาแขกหัวโตมาให้ชมพอให้ได้ความรู้สึกเท่านั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 21 ต.ค. 12, 13:16

กิจการโปลิศคอนสเตเบิ้ลในบังคับบัญชาของกัปตันเอมซ์ก้าวหน้าไปด้วยดีจนต้องขยายขนาดและย้ายโรงตำรวจพระนครบาลไปอยู่ที่สามแยกต้นประดู่ ชาวบ้านจะเรียก “โรงพักสามแยก”

คดีความต่างๆส่วนมากก็ไม่พ้นเรื่องโจรกรรมทั้งทางบกทางน้ำ สมัยที่คนไทยยังใช้คลองมากกว่าถนน เรือพายใครจอดทิ้งไว้ก็มักจะหายเป็นประจำ กัปตันเอมซ์ต้องใช้วิชาตำรวจกวดล่าวิชามารจนบ้านเมืองดีขึ้น แม้กระนั้นคนไทยก็ยังไม่สมัครใจมาเป็นโปลิศจับขโมย เพราะเห็นว่าเป็นงานของแขกยาม กองโปลิศคอนสเตเบิ้ลคงต้องสั่งสมชื่อเสียงเกียรติคุณอยู่หลายปี ปรับปรุงเครื่องแบบให้ดูดี จนคนไทยเห็นว่าบ้านเมืองน่าอยู่ขึ้นเพราะมีโปลิศช่วยปกป้องคุ้มครอง ก็เลื่อมใสศรัทธา พอราชการประกาศรับสมัครจึงมีคนไทยต้องการเป็นพลตระเวนจำนวนมากเกินพอ กองโปลิศจึงเริ่มมีทั่งคนอินเดีย มลายูและคนไทยเอง

พอมีคนหลายชาติหลายภาษา การทะเลาะเบาะแว้งกันเองก็มีเป็นประจำเหมือนกัน แต่ด้วยความสามารถของกัปตันเอมซ์ ก็สามารถใช้ระเบียบวินัยปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาให้ทำงานร่วมกันได้ ต่อมาเมื่อจำนวนพลตระเวนคนไทยมากขึ้น คนต่างชาติก็กลายเป็นชนส่วนน้อยลงไปทุกทีๆ จนปัญหาที่ว่าได้หมดลงไปเองในที่สุด


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 21 ต.ค. 12, 13:18

หน้าที่หลักของพลตระเวนก็คืออยู่ประจำถนนที่เป็นทางแยกซึ่งมีม้า มีรถม้า มีรถลาก ราษฎรเดินไปมามาก อยู่ประจำตรอก ประจำสถานที่ต่างๆ ที่มีผู้คนโคจรอยู่เสมอ คอยจับโจรผู้ร้าย ระงับการวิวาท ดับเพลิง ฯลฯ สุดแท้แต่จะมีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้นตามถนนหนทาง และบ้านเรือนในละแวก

นอกจากนั้นยังใช้เรือสำปั้นเป็นพาหนะทำการลาดตระเวนรักษาท้องที่ลำน้ำ เวลากลางวันมีพลตระเวนลงเรือลำละ ๓-๔ คน พายเลียบไปตามริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง ตรวจดูตามตลาดในท้องน้ำ แพบ่อน โรงงิ้วโรงลิเกโรงฝิ่นทั้งหลาย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย จับกุมผู้กระทำผิดต่างๆ ส่วนเวลากลางคืนเพิ่มพลตระเวนในเรือเป็น ๖-๘ คน

เพื่อให้พลตระเวนเป็นโปลิสที่ดี เป็นที่พึ่งของราษฎรได้ จึงมีข้อห้ามบัญญัติไว้ต่างๆ เช่น
 
ห้ามรับสินบน ถ้าพลตระเวนคนใดรับสินบนให้ไล่ออกเสียจากกรมกองตระเวนทันที
ห้ามใช้กระบองตีจำเลยในกรณีจำเลยไม่ต่อสู้และยอมให้จับโดยดี ถึงแม้ว่าจำเลยจะด่าว่าหยาบคายอย่างไรก็ตาม
ห้ามใส่กุญแจมือจำเลยที่เป็น หญิง คนชรา และคนพิการ
ห้ามไมให้ไถลเชือนแช หรือคุยกับราษฎรเวลาอยู่ยาม
ห้ามเดินก้มหน้าหรือหลังค่อม อันจะทำให้เสียความสง่าผึ่งผายของพลตระเวนไป
ห้ามเอาชื่อของผู้แจ้งเหตุ(ผู้กล่าวหาหรือเจ้าทุกข์) และเรื่องที่แจ้งเหตุไปบอกหรือพูดกับผู้หนึ่งผู้ใด ตลอดจนบอกแก่พวกหนังสือพิมพ์ และบอกทนายความเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้เสียรูปคดีได้
ห้ามไม่ให้พลตระเวนและภริยา กู้ยืมเงินดิดดอกเบี้ยซึ่งกันและกันเป็นอันขาด ถ้าห้ามไม่ฟังให้ไล่ออก(สงสัยจะห้ามแขกปล่อยกู้กินดอกคนไทย)
ฯลฯ

เมื่อพ.ศ. 2414 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้กัปตัน เอส.เย.เอมส์ เป็น "หลวงรัฐยาธิบาลบัญชา" ถือศักดินา 600  คุณหลวงรับราชการทั้งหมดเป็นเวลา 32 ปี จึงปลดเกษียณเมื่อ พ.ศ. 2435


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 21 ต.ค. 12, 13:20

ในปีเดียวกันนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ทรงย้ายกลับจากตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอนมาดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมพระนครบาล ทรงเห็นว่ากิจการของกองโปลิศคอนสเตเบิ้ลเจริญรุ่งเรืองดีสมควรจะได้รับการยกฐานะขึ้นทัดเทียมกับหน่วยราชการอื่นๆในกรมพระนครบาล เมื่อจัดระเบียบใหม่แล้วจึงได้กำหนดเครื่องแบบใหม่ของตำรวจให้มีมาตรฐานขึ้นด้วย

เครื่องแบบที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ก็เอาความคิดมาจากตำรวจอังกฤษ  สวมกางเกงตามสมัยนิยม เสื้อสีน้ำเงินสวมหมวกยอด ส่วนพวกแขกซิกข์ที่ยังหลงเหลืออยู่บ้างอนุโลมให้โพกหัวตามขนบประเพณีได้แต่ต้องสวมหมวกยอดทับลงไป เมื่อสวมไปแล้วก็เท่ห์ดีเหมือนกันเพราะแขกจะปล่อยชายผ้าสีน้ำเงินห้อยลงมาท้ายหมวก กลายเป็นเครื่องประดับหมวกไป

ส่วนนายตำรวจนุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อเครื่องแบบและหมวกยอด ดังที่เห็นในภาพ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 21 ต.ค. 12, 13:26

นายเออร์เนสต์ ยัง( Ernest Young )ชาวอังกฤษผู้เขียนหนังสือเรื่อง " ราชอาณาจักรแห่งจีวรเหลือง " ( The Kingdom of The Yellow Robe ) ในปีพ.ศ. 2441 ได้บรรยายถึงภาพลักษณ์ของพลตระเวน หรือโปลิศในสมัยนั้นว่า “ ..ตำรวจส่วนใหญ่เป็นคนไทย แต่งตัวสง่าสู้บุรุษไปรษณีย์ไม่ได้ ตำรวจใช้เครื่องแบบสีน้ำเงิน ตั้งใจเลียนแบบตำรวจกรุงลอนดอน แต่ผ้าที่ใช้สีตกและหดทำให้ดูตลก ตำรวจชอบถือร่ม ชอบถลกขากางเกงเหนือเข่า ไม่สวมรองเท้า สวมหมวกยู่ยี่ แม้ไม่มีบุคลิกน่าเกรงขาม แต่ก็ไม่ถูกต่อต้านจากผู้จับกุม มักเห็นตำรวจโทรมๆ เหล่านี้นำผู้ต้องหาสามสี่คนเดินไปโรงพัก ให้ผูกข้อมือไพล่หลังด้วยผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าขะม้าของผู้ต้องหาเอง”

แต่ภาพข้างล่างนี้ เสื้อเครื่องแบบของพลตระเวนไม่น่าจะสีน้ำเงิน สงสัยหลังจากที่เรื่องดังกล่าวตีพิมพ์ ทางราชการจึงได้เปลี่ยนเครื่องแบบเสียใหม่ดังที่เห็น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 21 ต.ค. 12, 13:32

กัปตัน เอส.เย.เอมส์ นั้น หลังจากเคทเธอรีนภรรยาชาวอังกฤษ เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2405 ขณะที่เธอมีอายุเพียง29ปี หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2405 ได้แต่งงานใหม่กับหญิงไทยเชื้อมอญชื่อ นางหยา มีบุตรด้วยกัน 6 คนคือ

ด.ญ. โนรี (ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์)
นายเสน่ห์ เอมซ์บุตร (ถึงแก่กรรมตั้งแต่อายุน้อย)
อำมาตย์ตรี หลวงอนุสรณ์หิรัญการ (อั้น เอมซ์บุตร) ผู้ช่วยสมุหบัญชีใหญ่ กรมรถไฟ
รองอำมาตย์เอก ขุนสารสำรวจลักษณ์ (สุดใจ เอมซ์บุตร)
นางเขียน กล้าณรงค์ราญ สมรสกับนายพลจัตวา นายกล้าณรงค์ราญ (ปาน  เกสะรานนท์) ภายหลังเปลี่ยนเป็น กล้าณรงค์ราญ
นางวาศ์น จารุวัสตร์ สมรสกับ นายพันเอก หลวงชัยรณฤทธ์ (ชิต จารุวัสตร์)

ส่วนบุตรสองคนที่เกิดจากภรรยาชาวอังกฤษ เชื่อว่าเมื่อโตขึ้นก็ได้เดินทางออกจากประเทศไทยไป แต่เมื่อไหร่และที่ใดหลักฐานไม่ปรากฏ

กัปตัน เอส.เย.เอมส์ หลังจากเกษียณแล้วก็มิได้ทำกิจการอะไรอีก และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2444 อายุรวม 69 ปี
ตระกูล "เอมซ์บุตร" เป็นนามสกุลที่พระราชทานโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสำหรับลูกหลานของสุภาพบุรุษอังกฤษผู้นี้


บันทึกการเข้า
สัตตบรรณ
อสุรผัด
*
ตอบ: 3


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 21 ต.ค. 12, 14:02

ตามอ่านบทความดีๆเช่นเคยครับ  ยิงฟันยิ้ม
แต่พออ่านบทบัญญัติ แล้ว มามองปัจจุบัน ตำรวจไทยละเมิดทุกข้อ (ฮา)  รูดซิบปาก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 21 ต.ค. 12, 20:38

ขอบคุณสำหรับบทความดีๆค่ะ

ย้อนกลับไปอ่านประวัติความเป็นมาของตำรวจไทย  พบว่าถอยหลังไปได้ถึงสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อทรงแบ่งการปกครองบ้านเมืองเป็น 4 เหล่า เรียกว่า จตุสดมภ์ ( เวียง วัง คลัง นา) ก็ทรงตั้งให้มีตำรวจขึ้นด้วย  โดยขึ้นอยู่กับเวียง

กิจการตำรวจครั้งนั้นแบ่งออกเป็นตำรวจพระนครบาล ตำรวจภูธร  มีเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี เป็นผู้บังคับบัญชา 
อีกพวกหนึ่งคือตำรวจหลวง  ขึ้นอยู่กับวัง มีเจ้าพระยาธรรมาธิบดีศรีรัตนมณเฑียรบาล เป็นผู้บังคับบัญชา

ส่วนเรื่องศักดินา มีอยู่ในบทพระอัยการระบุตำแหน่งนายพลเรือน ตามนี้
หลวงวาสุเทพ   เจ้ากรมมหาดไทยตำรวจภูธร                                       ศักดินา   1000
ขุนพิศนุแสน   ปลัดขวา                                                       ศักดินา    600
ขุนเพชรอินทรา ปลัดซ้าย                                                       ศักดินา    600
หลวงเพชรฉลูเทพ   เจ้ากรมมหาดไทยตำรวจพระนครบาล               ศักดินา   1000
ขุนมหาพิชัย   ปลัดขวา                                                       ศักดินา   600
ขุนแผลงสท้าน ปลัดซ้าย                                                        ศักดินา   600
หลวงอินทราบดีศรีราช   รองเมืองเจ้ากรมกองตระเวรขวา               ศักดินา   1000
ขุนเทพฉลู   เจ้ากรมกองตระเวนซ้าย                                       ศักดินา   1000
หลวงพิเรณเทพบดีศรี   สมุหะเจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวา               ศักดินา    2000
พระอินณเทพบดีศรี   สมุหะเจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย                       ศักดินา    2000
พระอนุชิตราชา   จางวางกรมตำรวจขวา                               ศักดินา   3000
พระยาอภัยรณฤทธิ์   จางวางกรมตำรวจซ้าย                               ศักดินา   3000
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 21 ต.ค. 12, 21:05


แต่ภาพข้างล่างนี้ เสื้อเครื่องแบบของพลตระเวนไม่น่าจะสีน้ำเงิน สงสัยหลังจากที่เรื่องดังกล่าวตีพิมพ์ ทางราชการจึงได้เปลี่ยนเครื่องแบบเสียใหม่ดังที่เห็น


พลตระเวนแบบนี้ เป็นประเภท "หัวแดง แข้งดำ" ใช่ไหมครับ แล้วใช่พวกเดียวกับ "หม่าต๋า" ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ไหมครับ ฮืม


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 21 ต.ค. 12, 21:42

^
น่าจะใช่นะครับ

ส่วนคำว่า หม่าต๋า ผมเคยได้ยินว่าหมายถึงตำรวจ เป็นภาษาจีนเหรอครับ เป็นแสลงหรือเปล่า

อยากให้คุณหนุ่มสยามช่วยหาว่า ป้อมฮึกเหี้ยมหาญ ที่โรงพักแห่งแรกตั้งอยู่ใกล้ๆนั้น อยู่ที่ไหนของสำเพ็งด้วยน่ะครับ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 22 ต.ค. 12, 07:07

^
น่าจะใช่นะครับ

ส่วนคำว่า หม่าต๋า ผมเคยได้ยินว่าหมายถึงตำรวจ เป็นภาษาจีนเหรอครับ เป็นแสลงหรือเปล่า


มาจากภาษาจีนครับ

จากนิราศเมืองปะเหลียน พ.ศ. ๒๔๒๒
"มีของกินต่างต่างวางไว้ขาย ผลไม้หลายพันธุ์จัดสรรใส่
แต่ราคาแพงกว่าของเมืองไทย ส้มโอใบหนึ่งค่าห้าสิบเซนต์
มีหมาต๋ารักษาทุกถนน  ใครซุกซนก่อเรื่องให้เคืองเข็ญ
ถ้าถูกจับตัวได้แล้วไม่เว้น ก็เป็นอันตกลงขังกรงความ"
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 22 ต.ค. 12, 07:40

หากจะจัดชื่อป้อม และที่ตั้งของป้อมในปัจจุบันซึ่งเป็นที่ตั้งของเขตสัมพันธวงศ์ ควรจะเป็น "ป้อมปิดปัจจนึก" มากกว่าป้อมฮึกเหี้ยมหาญ เนื่องจากในแผนที่ต่าง ๆ ชี้พิกัดมาตรงปากคลองผดุงกรุงเกษมครับ


บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 20 คำสั่ง