เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 6252 ภาษาอเมริกันวันละคำ Our Choices Make Us
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


 เมื่อ 10 ต.ค. 12, 09:01

Our Choices Make Us
สิ่งที่เราเลือกจะชี้ให้เห็นถึงตัวตนที่แท้จริงของเรา

เพื่อนต่างชาติส่งข่าวการจับกุมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคนหนึ่งประจำท่าอากาศยานนานาชาติในรัฐนิวเจอร์ซี่ของสหรัฐอเมริกามาให้อ่าน  เพราะรู้ว่าสาวไทยกำลังเตรียมจัดกระเป๋าเดินทางไปเยี่ยมเพื่อนที่ฝั่งตะวันตกของประเทศนั้น   ข่าวที่ว่าก็คือข่าวการลักลอบขโมยของโดยเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว  ทั้งจากกระเป๋าเดินทางที่ผู้โดยสารนำไปฝากเข้าใต้ท้องเครื่องและกระเป๋าสะพายที่ผู้โดยสารต้องนำไปผ่านการตรวจสอบโดยเครื่องเอ็กซเรย์ก่อนขึ้นเครื่อง    เนื้อข่าวระบุว่า  เจ้าหน้าที่คนนี้ได้นำของที่ขโมยมาทั้งหมด (ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมกันสูงถึงแปดแสนเหรียญฯ) ไปป่าวประกาศขายในอีเบย์จนเป็นกิจวัตร   แต่ที่มาพลาดถูกจับได้ก็เพราะว่าเขาลืมลอกเอาสติกเกอร์ CNN ออกจากกล้องถ่ายรูปที่เขานำไปประกาศขาย  ซึ่งเป็นกล้องที่เขาขโมยมาจากกระเป๋าของโปรดิวเซอร์คนหนึ่งของสถานีข่าวชื่อดังของอเมริกานั่นเอง

ที่สาวไทยติดใจจนต้องนำกลับมาเขียนถึงในคอลัมน์นี้หาใช่คำศัพท์ใด ๆ ในภาษาอังกฤษแบบอเมริกันที่เขาใช้เขียนรายงานข่าวไม่  แต่เป็นคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวว่าทำไมเขาถึงทำอย่างนั้น   และเพราะอะไรระบบควบคุมภายในของสำนักงานที่รับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยทางอากาศของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ หรือที่อเมริกันเขาเรียกกันย่อ ๆ ว่า TSA (Transportation Security Administration) จีงหละหลวมถึงขนาดที่ทำให้คนที่ขโมยของผู้โดยสารอย่างเขาถึงลอยนวลอยู่ได้เป็นเวลานานขนาดนี้  ในระหว่างการให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวนั้น  พ่อหนุ่มหัวขโมยอธิบายว่า  เพื่อนร่วมงานของเขาจำนวนมากไม่ให้ความสำคัญต่องานที่พวกเขาทำอยู่   โดยพวกเขามักจะบ่นอยู่เสมอ ๆ ว่าค่าจ้างที่ได้นั้นต่ำเกินไป    นอกจากนี้  การที่หน่วยงานต้นสังกัดไม่ได้ดูแลเอาใจใส่พนักงานอย่างที่ควรจะเป็นก็ทำให้พนักงานหลายคนใช้มาเป็นข้ออ้างในการขโมยของผู้โดยสารอย่างเป็นล่ำเป็นสันอีกด้วย
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 10 ต.ค. 12, 09:02

อ่านข่าวนี้แล้วสาวไทยก็ตระหนักถึงสัจธรรมข้อที่ว่า  บริษัทหรือองค์กรใด ๆ ก็ตามนั้นจะดีได้ก็ขึ้นอยู่กับขวัญกำลังใจของพนักงานทั้งสิ้น   ถ้าเจ้าของบริษัทหรือผู้บริหารไม่ดูแลเอาใจใส่พนักงานของเขาให้ดี  ไม่หาวิธีมากระตุ้นให้พวกเขารู้สึกกระตือรือร้นที่จะมาทำงานหรือทำให้เขารู้สึกเหมือนเป็นส่วนสำคัญขององค์กรแล้วล่ะก็   ผลเสียที่จะเกิดขึ้นมันก็จะตกอยู่กับบริษัทหรือองค์กรนั่นเอง  

คำในภาษาอังกฤษที่ความหมายน่าจะใกล้เคียงกับคำว่าขวัญกำลังใจในภาษาไทยมากที่สุดก็คงจะเป็นคำว่า morale (ออกเสียงว่า "มอ-รัล")  ซึ่งเป็นคำที่มีต้นกำเนิดมาจากภาษาฝรั่งเศส  เวลาที่ฝรั่งเขาจะอธิบายว่าหน่วยงานหรือบริษัทไหนก็ตามกำลังมีปัญหา  อันเนื่องมาจากการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ไร้ประสิทธิภาพทำให้พนักงานของหน่วยงานหรือบริษัทนั้น ๆ ไม่มีแก่จิตแก่ใจที่จะทำงาน  เขามักจะพูดว่า "This office is suffering from low morale." หรือ "Morale is very low in this office."  ถ้าผู้บริหารคนไหนต้องการที่จะยกระดับขวัญกำลังใจของพนักงานให้สูงขึ้น  ผู้บริหารคนนั้นก็กำลังพยายามที่จะ improve หรือ boost morale นั่นเอง

สัจธรรมอีกข้อหนึ่งที่สาวไทยตระหนักหลังจากที่ได้อ่านข่าวนี้แล้วก็คือ   การทำความดีนั้นมันไม่ง่ายเอาเสียเลยจริงๆ  ในแต่ละวัน   มนุษย์เราต้องเผชิญกับสิ่งยั่วยุมากมาย   รวมทั้งอุปสรรคต่าง ๆ ที่จะทำให้การทำในสิ่งที่ถูกต้องนั้นมันยากเย็นแสนเข็ญ  ไม่เหมือนการทำชั่วที่ไม่ต้องคิดมากก็ทำได้  
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 10 ต.ค. 12, 09:02

มนุษย์ที่ไม่มี integrity หรือ dignity  (หมายถึงไม่รักศักดิ์ศรีหรือไม่มีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพของตนเอง) ก็คงจะใช้เหตุผลเดียวกับที่เจ้าหน้าที่ TSA ที่โดนจับนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการขโมยของของผู้อื่นนั่นแหละ  “เพราะบริษัทไม่ดูแลพนักงานให้ดี  เราถึงขโมย”   ใครที่เคยอ่านข้อเขียนเก่า ๆ ในคอลัมน์เดียวกันนี้มาบ้างก็อาจจะยังจำตอนที่สาวไทยพูดถึง "strength of character" และ "moment of truth" ได้   ในกรณีของเจ้าหน้าที่ TSA คนที่ว่า  การที่เขากระทำผิดมาเนิ่นนานโดยไม่ได้รู้สึกละอายใจแต่อย่างใดนั้นก็เป็นสิ่งที่จะชี้ให้เห็นถึง strength of character ของเขาเองได้ดีที่สุดสิ่งหนึ่ง  วินาทีที่เขาเห็นของมีค่าในกระเป๋าผู้โดยสารและตัดสินใจขโมย   นั่นคือ moment of truth สำหรับเขา   เป็นช่วงเวลาที่จะพิสูจน์ความแข็งแกร่งของจิตใจของเขาเอง (หรือความล้มเหลวของพ่อแม่เขา) ให้ผู้อื่นได้เห็น

เวลาที่ถูกทดสอบด้วยผู้คนรายล้อมหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ประดาดังเข้ามาในชีวิต   คำคมในภาษาอังกฤษประโยคหนึ่งที่สาวไทยมักจะนำมาใช้เตือนตัวเองบ่อยๆ ก็คือ  "We all make our choices. But in the end, our choices make us."  ในแต่ละวัน  มนุษย์เรามักจะมีเรื่องให้คิดให้ตัดสินใจมากมาย ทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี  "We all make our choices." หมายความว่าเราแต่ละคนนั้นต่างมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะเลือกทำหรือไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยตัวเราเอง  หรือเลือกและไม่เลือกสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้แก่ชีวิต  "But in the end, our choices make us."  แต่เมื่อเรา "เลือก" แล้ว   สิ่งต่าง ๆ ที่เราเลือก  ทั้งที่เลือกที่จะทำและเลือกที่จะไม่ทำนั่นต่างหาก   คือสิ่งที่จะย้อนกลับมาเป็นตัวตัดสินคุณค่าของตัวเราเอง
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 10 ต.ค. 12, 09:04

สมัยที่หนุ่มเทศคนใกล้ตัวของสาวไทยยังเป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อยู่   เขาเคยถูกส่งไปประจำการที่ซาอุดิอาระเบียสองปี   มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการบำรุงรักษาสถานทูตและบ้านพักของนักการทูตอเมริกันให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย    ครั้งหนึ่งเมื่อเขาตกลงเซ็นสัญญาเช่าบ้านของนักธุรกิจคนหนี่งในท้องถิ่นเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยของนักการทูตอเมริกันในระยะยาว   เจ้าของบ้านได้เสนอให้เงินค่าคอมมิสชั่นแก่หนุ่มเทศเป็นจำนวนมากเพื่อแสดงความขอบคุณทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้ขอ    พอหนุ่มเทศรู้ว่าเจ้าของบ้านได้เตรียมพร้อมที่จะจ่ายเงินอยู่แล้ว  (เพราะถ้าไม่เป็นธรรมเนียมของประเทศนั้นก็อาจจะเป็นไปได้ว่า  คนที่เคยทำหน้าที่เดียวกับหนุ่มเทศก่อนที่เขาจะมาประจำการที่นี่เคยรับอามิสสินจ้างในทำนองนี้มาก่อนแล้ว)     เขาเลยขอให้เจ้าของบ้านเช่าคนดังกล่าวเอาเงินไปซื้อพรมเปอร์เชียสวย ๆ สัก 2-3 ผืน แล้วยกพรมนั้นให้เป็นของขวัญแก่สถานทูตเพื่อให้เอาไปใช้ประดับเรือนรับรองของเอกอัครราชทูตแทน

สาวไทยได้ยินเรื่องนี้จากปากสามีแล้วก็ถามด้วยความอยากรู้เห็นตามประสานักข่าวเก่าว่า  “Just out of curiosity, how much did he offer?” (แล้วเขาเสนอเงินให้เท่าไหร่เนี่ย)  

"Oh, about $400,000, I think. It was real money back then." (ก็สักสี่แสนเหรียญได้  สมัยนั้นสี่แสนเหรียญมันก็เป็นเงินที่มากโขอยู่นะเธอ) หนุ่มเทศตอบ

สาวไทยได้ยินแล้วก็ขำ "Back then? What is it now? Pocket change?"   แหม...”สมัยนั้น” มันเป็นเงินที่มากโขอยู่  คุณพี่พูดราวกับว่าสี่แสนเหรียญในสมัยนี้มันมีค่าแค่เศษสตางค์อย่างนั้นแหละ....
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 ต.ค. 12, 09:05

สิ่งที่เราเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ  นอกจากจะเป็นสิ่งซึ่งวัดคุณค่าของตัวเราเองแล้ว  ยังสามารถบอกให้ผู้อื่นรับรู้ได้ด้วยว่าเราเป็นคนแบบไหน   และปรัชญาในการใช้ชีวิตของเราคืออะไร   

เมื่อ 3-4 เดือนก่อน  หนุ่มเทศคนหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของสาวไทยได้ไปร่วมงานเลี้ยงส่งเพื่อนร่วมงานอีกคนกลับประเทศ   แต่ละคนที่ไปงานในวันนั้นต่างก็ทราบว่าเขาต้องจ่ายค่าอาหารของตัวเอง  บังเอิญหนุ่มเทศคนนี้ต้องกลับเข้าสำนักงานก่อนคนอื่น  เขาเลยฝากเงินค่าอาหารไว้กับเพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่ง    ถึงเวลาจ่ายเงิน  เพื่อนร่วมงานคนนั้นลืมว่าต้องจ่ายให้เพื่อนที่กลับไปก่อนแล้วด้วย  ก็เลยจ่ายแต่ของตัวเอง  พอกลับเข้าสำนักงานแล้วนึกขึ้นมาได้ก็เลยเอาเงินห้าร้อยบาทที่หนุ่มเทศทิ้งไว้ให้มาคืนเขา  แต่แทนที่จะเดินกลับไปจ่ายค่าอาหารด้วยตัวเอง  หนุ่มเทศกลับยักไหล่แล้วบอกใคร ๆ ว่า  ไม่ใช่ความผิดของเขาที่เขาไม่ได้จ่ายค่าอาหารในวันนั้น เป็นความผิดของเพื่อนร่วมงานคนที่เขาฝากเงินไว้ให้ต่างหาก  และแม้สาวไทยจะพร่ำบอกอย่างไรก็ตามว่าพนักงานเสิร์ฟของเขาในวันนั้นคงถูกหักเงินค่าจ้างแน่เพราะเก็บเงินค่าอาหารได้ไม่ครบ   หนุ่มเทศก็ยังไม่ยอมกลับไปจ่ายเงินค่าอาหารอยู่ดี 

Integrity (ออกเสียงว่า “อิน-เท็ก-กระ-ถี่”)  เป็นคำที่ฝรั่งใช้พูดถึงความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น  และการยึดมั่นในหลักคุณธรรมหรือความชอบธรรม    integrity เป็นสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้  บังคับให้มีก็ไม่ได้  ต้องมาเอง   แต่อาจจะเป็นสิ่งที่มีอยู่ในกมลสันดานตั้งแต่เกิดหรือเป็นผลจากการอบรมปลูกฝังของพ่อแม่ก็เป็นได้    หนุ่มเทศคนที่ไม่ยอมไปจ่ายค่าอาหารได้แสดงให้สาวไทยเห็นด้วยการกระทำแล้วว่า  ความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่นของเขานั้นมีค่าเท่ากับเงินห้าร้อยบาท  ขณะเดียวกัน  หนุ่มเทศอีกคนที่ปฏิเสธเงินสี่แสนเหรียญฯ ไปทั้ง ๆ ที่โอกาสอำนวยก็บอกให้สาวไทยได้รับรู้ด้วยการกระทำอีกเช่นกันว่า  เงินมากขนาดไหนก็ซื้อ integrity ของเขาไม่ได้    เป็นสองตัวอย่างที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วจริงๆ             
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 10 ต.ค. 12, 13:19

สิ่งที่เราเลือกที่จะทำหรือไม่ทำ  นอกจากจะเป็นสิ่งซึ่งวัดคุณค่าของตัวเราเองแล้ว  ยังสามารถบอกให้ผู้อื่นรับรู้ได้ด้วยว่าเราเป็นคนแบบไหน   และปรัชญาในการใช้ชีวิตของเราคืออะไร     

เมื่อวานนี้กำลังค้นเพลงสำหรับลงในอีกกระทู้หนึ่ง  เลยไปถึงค้นประวัตินักร้องมาประกอบเพลงด้วย  จึงไปเจอประวัติของดอริส เดย์ นักร้องยอดนิยมยุค 1960s เข้า    เป็นประวัติด้านเศร้าของดาราสาวที่สร้างความบันเทิงแก่ผู้ชมและผู้ฟังมาหลายร้อยล้านทั่วโลก
หวังว่าคุณปัญจมาคงไม่คิดว่าเป็นการเอาเรื่องส่วนตัวของคนอื่นมาขยาย  เพราะเจ้าตัวเขาไม่ได้ปกปิดประวัติส่วนตัว

ดอริสมาจากครอบครัวแตกแยก พ่อแม่หย่ากัน   เป้าหมายในชีวิตของเธอคืออยากเป็นแม่บ้านที่ดี  มีสามีมีลูกพร้อมหน้า   เธอแต่งงานครั้งแรกเมื่ออายุ 17 กับนักดนตรีชื่อแอล จอร์เดนผู้แก่กว่าหลายปี      แอลเป็นผู้ชายโทสะร้าย ขี้หึง  อารมณ์รุนแรง ตบตีเมียจนสลบหรือไม่ก็ฟกช้ำดำเขียวเป็นประจำ  เรื่องด่าว่านั้นไม่ต้องพูดถึง  ไม่ใช่ทะเลาะกันแค่สองคน แต่เขาด่าทอเธอต่อหน้าสาธารณชนเสียด้วยซ้ำ    ซ้ำพอรู้ว่าภรรยาท้องก็บังคับให้ไปทำแท้ง โชคดีที่เธอไม่ยอม   แล้วก็ทิ้งเธอไปเมื่อเธอกำลังท้องแก่
แต่ดอริสก็ยัง "เลือก" ที่จะอยู่กับสามีคนนี้  เมื่อเขากลับมาพร้อมคำสัญญาว่าจะกลับตัว    ซึ่งเราก็คงเดาได้ว่าไม่จริง

เหตุผลของดอริสคือ  มีสามีแบบนี้ก็ยังดีกว่าไม่มีใครเลย    ยังไงเธอก็ได้ชื่อว่ามีชีวิตครอบครัว      แต่เมื่อไม่มีสามี ก็เท่ากับเธอหมดโอกาสจะมีชีวิตครอบครัวต่อไปอีก

ดอริส "เลือก" ทัศนะนี้ต่อมาอีกสามครั้ง   เธอแต่งงาน 4 ครั้ง หย่าทั้ง 4 ครั้ง   ปัจจุบันอายุ 88 ปี   เธออยู่ตามลำพัง  อำลาวงการบันเทิง   ปลีกตัวห่างจากสังคม เพื่อทำงานอุทิศเวลาให้งานกุศลด้านดูแลสัตว์


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 10 ต.ค. 12, 14:35

นักการเมืองไทยส่วนใหญ่อ่านแล้วก็คงจะไม่เข้าใจ
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 12 ต.ค. 12, 08:20

สิ่งที่ดอริสเลือกชี้ให้เห็นว่า  คนบางคนก็เลือกที่จะอยู่กับสิ่งที่ทำร้ายและทำลายตัวเขาเอง  เพราะมันยังดีกว่าที่จะอยู่คนเดียว  เท่ากับว่าเขาคงมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเขาเองมังคะ  It's human nature to want to hold on to something so that they don't have to be alone. But most of the times, things that we keep holding on to will leave us changed, cold, and alone anyway. Unfortunately, some people would rather end up with that than nothing.  เราทุกคนต่างก็ไขว่คว้าหาความรักเพื่อที่เราจะได้ไม่รู้สึกเปล่าเปลี่ยว  อย่างน้อย ๆ ก็ในชั่วขณะหนึ่ง  แต่สุดท้าย  สิ่งที่เราเรียกว่าความรักนั้นก็ทิ้งเราให้โดดดี่ยวเดียวดายยิ่งกว่าเดิม  ที่น่าแปลกก็คือ  คนบางคนรู้ทั้งรู้ว่าจุดจบของความรักที่เขาค้นหานั่นจะเป็นอย่างไร  แต่ก็ยังยังยอมที่จะอยู่กับสิ่งนั้น  เพราะมันทำให้เขารู้สึกดีกว่าการอยู่คนเดียว 
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 12 ต.ค. 12, 09:23

          ^ นึกถึงประโยคที่ได้ฟังจากหนัง และได้พบว่ามาจากนักประพันธ์ใหญ่ของอเมริกา
William Faulkner ครับ

                Between grief and nothing I will take grief.

    Angel of grief, a 1894 sculpture by William Wetmore Story which serves as
the grave stone of the artist and his wife Emelyn at the Protestant Cemetery, Rome.

(จากวิกกี้)


บันทึกการเข้า
นอแรด
มัจฉานุ
**
ตอบ: 99


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 12 ต.ค. 12, 10:16

แต่ผู้รู้ตลอดกาลกล่าวไว้ว่า.........

            กามนี้เป็นเครื่องข้อง มีความสุขน้อย มีความยินดีน้อย มี
            ทุกข์มาก. บุคคลผู้มีปัญญารู้ว่า กามนี้เป็นดังฝี ดังนี้แล้ว
            พึงเที่ยวไปผู้เดียว......
    


             สุตตันต.เล่ม 22 ข้อ 764   
บันทึกการเข้า
awork
แขกเรือน
อสุรผัด
*
ตอบ: 15


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 16 ต.ค. 12, 01:00

คุณปัญจมา อธิบายเรื่อง Integrity ได้อย่างชัดเจนมากครับ ขอบคุณที่เขียนข้อคิดดีๆให้กำลังใจแก่คนอ่านครับ
ขอถามเพิ่มครับ Integrity กับ Dignity มีความหมายแฝง เหมือนกัน หรือมีระดับในการใช้แตกต่างกันยังไงครับ
จากที่อ่านเรื่องราวที่ยกตัวอย่างมา Intergrity จะคล้ายๆกับ Self esteem แล้ว Dignity จัดอยู่ในหมวดคำเดียวกันได้หรือไม่ครับ
ขอบคุณครับ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 30 ต.ค. 12, 07:21

ขอโทษด้วยค่ะที่เข้ามาตอบช้าไปหน่อย  เพิ่งจะเสร็จภารกิจเร่งด่วนของครอบครัวและเดินทางกลับมาเมืองไทยได้แค่สองวัน   

จริง ๆ แล้ว ความหมายของ integrity กับ dignity ก็คล้ายคลึงกันมากอย่างที่คุณ awork ว่า  แต่การใช้อาจจะต่างกันสักหน่อย  integrity นั้นหมายถึงการยึดถือหลักคุณธรรมหรือความซื่อสัตย์ เช่น ในประโยคที่ว่า He has the integrity to refuse bribery. เขามีคุณธรรมมากพอที่จะปฏิเสธอามิสสินจ้างที่มีผู้เสนอให้  ส่วน dignity นั้นหมายถึงเกียรติศักดิ์หรือความภาคภูมิใจในเกียรติของตนเอง เช่น Accepting bribes is beneath his dignity. เขามีความภูมิใจในเกียรติยศของตนเองมากเกินกว่าที่จะยอมรับอามิสสินจ้างจากผู้ใดได้   นอกจากนี้ dignity ยังหมายถึงการให้เกียรติตามที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งสมควรจะได้รับด้วย  เช่น Treat him with dignity. ปฏิบัติต่อเขาให้สมเกียรติของเขาหน่อย   ถ้าคุณ awork เคยอ่านข่าวสารเกี่ยวกับวงการแพทย์ในยุโรปมาบ้าง  คุณอาจเคยพบข่าวเกี่ยวกับการช่วยให้ผู้ป่วยซึ่งต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคร้ายได้ตายอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี  แทนที่จะนอนรอความตายด้วยความเจ็บปวดทรมานทั้งในสังขารและจิตใจ   Let him die with dignity  การหาวิธีช่วยให้ผู้ป่วยได้ตายอย่างมีศักดิ์ศรี  ได้เลือกความตายของตนเอง  คือปรัชญาข้อหนึ่งที่ทำให้การชวยเหลือทางการแพทย์ในลักษณะนี้ไม่เป็นการกระทำที่ผิดกฏหมายในบางประเทศ
บันทึกการเข้า
awork
แขกเรือน
อสุรผัด
*
ตอบ: 15


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 31 ต.ค. 12, 06:53

ขอบคุณครับ คุณปัญจมา ตอบได้กระจ่างแจ้งมากเลยครับ  ยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.077 วินาที กับ 19 คำสั่ง