เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5]
  พิมพ์  
อ่าน: 23127 กษัตริย์อยุธยา ในสายตาของนักคติชน
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 17 ต.ค. 12, 08:43

 ลาลูแบร์เป็นนักสังเกตพฤติกรรมมนุษย์  หลังจากอยู่ในสยามมาพักหนึ่ง คงจะเที่ยวสังเกตสังกาชาวบ้านอยู่มากพอควร   จึงสรุปว่า

  " ชาวสยามนั้นแตกกระจายก็ง่าย    รวมกันเข้าใหม่ก็ง่าย"  

ตรงนี้ต้องดูข้อความก่อนหน้าด้วยนะครับ เพราะเป็นการกล่าวถึงตอนที่ลาลูแบร์ไปดูการซ้อมของทหารสยาม ซึ่งลาลูแบร์ไม่รู้จักการทำศึกแบบใช้กลพยุหะของสยาม ในสมัยนั้นลาลูแบร์เคยชินกับการตั้งแถวเป็นรูปสี่เหลี่ยม แล้วเดินเข้าหากันพอได้ระยะ ก็ดวลกันด้วยปืนชนิดที่ว่าแล้วแต่เวรกรรม ถ้าโชคดีกระสุนเปลี่ยนทิศเพราะเทคโนโลยีการตีเกลียวในลำกล้องปืนยังไม่มี ก็รอดตัวไป แต่ถ้าโชคร้ายก็บาดเจ็บจนถึงกับเสียชีวิตไปก็มีให้เห็นบ่อย

เมื่อลาลูแบร์มาอยู่สยาม ไปเห็นการแปรกลพยุหะเข้า ก็คงจะสงสัยเลยทึกทักเอาไปตามที่เขียนมานี่ล่ะครับ  เพราะฉะนั้น ท่านผู้เขียนบทความนี้ คงจะตัดเอามาแค่บางส่วนโดยที่อาจจะลืมพินิจพิเคราะห์ถึงเนื้อหาที่เกี่ยวกันด้วย ซึ่งถ้าตัดเนื้อหาก่อนหน้านี้ไป ความหมายตรงนี้จะเปลี่ยนไปคนละอย่างเลยครับ

กินยาแก้หวัดมา ๓ วัน ทำเอาหนักหัวมาก อ่านหนังสือไม่ไหว   เลยเดินมาไม่ถึงกระทู้นี้สักที   วันนี้เริ่มค่อยยังชั่วแล้วค่ะ
ดิฉันกลับไปอ่านหนังสือแล้ว  ขอยกมาให้อ่านทั้งย่อหน้านะคะ

" แต่ทว่า  เมื่อใดที่เกิดความขัดแย้ง   คนไทยจะกลายเป็นคนมีโทสะจริตแรงอย่างชนิดปากว่ามือถึงทีเดียว   กลายเป็นคนหุนหัน   พลันแล่น  ซึ่งตรงนี้กระมังที่ทำให้ลาลูแบร์เห็นว่า  ไม่ใช่ลักษณะความห้าวหาญของนักรบ     นักรบคงต้องสงวนท่าทีกว่านี้  มีพลังความเด็ดเดี่ยวที่เหมือนเสือซ่อนเล็บกว่านี้     ถ้าจะว่าไป ลาลูแบร์เป็นคนช่างตั้งข้อสังเกตอย่างยิ่งเวลาวินิจฉัยลักษณะคนไทย   เขาเห็นอีกอย่างหนึ่งว่า ชาวสยามนั้นแตกกระจายก็ง่าย   รวมกันเข้าใหม่ก็ง่าย


เมื่ออ่านบริบทแล้ว  จะเห็นว่า ดร.กิ่งแก้วไม่ได้หมายถึงการสรุปจากการมองกลพยุหะ   แต่สรุปจากบันทึกทั้งเล่มของลาลูแบร์  ว่าเขามองคนไทยอย่างไร   แต่ดร.กิ่งแก้วใช้คำสรุปสั้นๆ ที่คุณ samun007 เห็นว่านำมาจากการมองกลพยุหะในตอนหนึ่งของบันทึก   จนทำให้คุณเข้าใจว่าอาจารย์อ่านตอนนั้นแล้วตัดเอามาบางส่วนเท่านั้นเอง      แต่จริงๆแล้วดร.กิ่งแก้วหมายถึงโดยรวมทั้งหมด    ไม่ได้หมายความถึงตอนซ้อมรบค่ะ
ถ้าอ่านแค่ตอนนั้นแล้วนำมาสรุปจากตอนนั้น   ท่านก็คงไม่ใช้คำว่า "วินิจฉัยคนไทย" แต่น่าจะใช้คำว่า " ลาลูแบร์ตั้งข้อสังเกตจากการซ้อมรบของคนไทยว่า...ชาวสยามนั้นแตกกระจายก็ง่าย  รวมกันเข้าใหม่ก็ง่าย" ถ้าอย่างนั้นละก็อาจจะผิดอย่างที่คุณสมุนว่า
บันทึกการเข้า
mrpzone
มัจฉานุ
**
ตอบ: 89


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 17 ต.ค. 12, 08:50

ขอให้ อ.เทาชมพู หายเร็วๆ นะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 18 ต.ค. 12, 19:57

ค่อยยังชั่วขึ้นแล้วค่ะ   หวัดปีนี้ค่อนข้างแรง  เพื่อนฝูงหมอบกันไปหลายรายแล้ว   

ความสุภาพอ่อนโยนของชาวสยาม

ชาวต่างประเทศมองอัธยาศัยคนไทยในแบบเอ๊กซ์  ที่ค่อนไปทางเอ๊กซ์บวก    ลาลูแบร์บันทึกถึงนิสัยคนไทยไว้ว่า
"คนไทยไม่กระโดกกระเดก ดังที่พวกเรามักจะเป็นกันอยู่ "
คือคนไทยรู้จักค้อมตัว  และไม่ยืนค้ำหัวกัน
ลาลูแบร์แกก็ซอกแซกอยู่ไม่น้อย  ถึงกับสอบถามได้ความว่า "คนไทยไม่เปลือยกายเวลานอน"

ในทัศนะเรื่องสตรี  ชายไทยนิยมสตรีที่เรียบร้อยสงบเสงี่ยม  ไม่ทำตัวอื้อฉาวต่อหน้าบุรุษ    ข้อนี้บาทหลวงเดอชัวสียซึ่งกลับฝรั่งเศสพร้อมกับคณะราชทูตโกษาปาน  ถึงกับกระซิบบอกสุภาพสตรีฝรั่งเศสว่า ของขวัญของท่านทูตจะมอบให้ผู้ที่สงบเสงี่ยมที่สุด   เพราะ

"ชาวสยามชอบบุคคลที่สงบเสงี่ยม    เมื่อพวกเจ้าหล่อนไปเยี่ยมเยียนพวกเขานั้น  มิพึงลืมพัดขนนกติดตัวไปด้วย   สวมหมวกปีกใหญ่ๆเข้าไว้    ซ่อนเนื้อซ่อนตัวให้ดี  และจะปรากฏตัวออกให้เห็นก็ต่อเมื่อได้รับการคะยั้นคะยอเป็นอย่างหนักเท่านั้น"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 19 ต.ค. 12, 19:51

หวัดยังไม่หายดี   คงจะลากยาวไปถึงสัปดาห์หน้า

ทัศนะเอ๊กซ์บวกของชาวต่างประเทศต่อค่านิยมอัธยาศัยสุภาพเรียบร้อยของชาวสยาม คือการตระหนักและยอมรับความประพฤติด้านนี้   ส่งผลให้มีความพิถีพิถันในการคัดเลือกชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในสยาม
พ่อค้าเวเรต์ เขียนไว้ในจดหมายถึงบุคคลสำคัญคนหนึ่งในฝรั่งเศสว่า

"ถ้าท่านจะส่งคนเข้ามาอยู่ในเมืองนี้แล้ว    คนเหล่านั้นจะต้องเป็นผู้ดี  และเป็นคนที่สุภาพเรียบร้อยจึงจะได้    มิฉะนั้นก็อย่าส่งคนมาเลยจะดีกว่า"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 20 ต.ค. 12, 21:48

   ส่วนอัธยาศัยของคนไทยที่ถูกมองด้วยทัศนะแบบเอ๊กซ์ลบในสายตาชาวต่างประเทศ  เรื่องหนึ่งคือความเกียจคร้าน  แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด   ความอ่อนแอด้านอื่นที่ชาวฝรั่งเศสและเปอร์เชียนประณามก็คือการกินเหล้าจนเกินพอดี
   ลาลูแบร์เอ่ยถึงน้ำเมาของไทย คือน้ำตาลเมา    น้ำเมาที่แรงที่สุดของไทย ลาลูแบร์เรียกแบบฝรั่งเศสว่าบรั่นดี เทียบกับภาษาไทยว่าเหล้า    เขากล่าวว่าคนไทยชอบบรั่นดีมากที่สุด   เหตุผลที่เขาให้ไว้ก็คือ มาจากอากาศร้อน คนไทยก็ประสงค์ของร้อนแรงที่จะทวีแรงเมาให้หนักยิ่งขึ้น     บรั่นดีไทยนั้นเป็นสิ่งที่นิยมกันอย่างหลงใหลทีเดียว
  แต่เหล้าก็มักจะจำกัดอยู่ในกลุ่มชาวบ้านเสียมากกว่าผู้ดี หรือมีผู้มีฐานะในสังคมสูงกว่าชาวบ้าน   คนไทยที่มีฐานะสูงกว่าชาวบ้านไม่ชอบทำตัวมึนเมา  ถือว่าการดื่มเหล้า(จนเมา?) ถือเป็นเรื่องน่าละอาย    ลาลูแบร์คงได้เข้าสังคมกับคนไทยชั้นสูงอยู่บ้าง มากพอจะตั้งข้อสังเกตว่าชนชั้นสูงกว่าชาวบ้านร้านตลาด  (ซึ่งอาจจะหมายถึงขุนนาง) ไม่มีใครปล่อยตัวให้เมามายจนน่ารังเกียจ
  ส่วนชาวบ้านนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง    จากบันทึกของบาทหลวงที่เดินทางไปจันทบุรี เล่าว่าฝีพายเอาแต่ปล่อยตัวให้เมามายเป็นอาจิณ   เจรจาขอร้องอะไรก็ไม่ได้   ที่บาทหลวงตั้งข้อสังเกตคือหนึ่งในจำนวนขี้เมานั้นเคยบวชมาแล้วถึง ๒๐ พรรษา  ตกใจ ตกใจ  เมื่อถามว่าสึกไปทำอะไร  ก็ได้คำตอบว่า สึกไปตกปลา บ้าง  สึกไปกินเหล้า บ้าง
   ทัศนะเอ๊กซ์ลบ จึงสรุปเรื่องนี้ว่า ความอ่อนแอของคนไทยอยู่ที่การมอมเมาตนเอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 23 ต.ค. 12, 09:09

มิน่าว่ากษัตริย์อยุธยาจะไม่มีพระองค์ใดได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ผู้ใช้พระคุณในการปกครองเลย แต่ละพระองค์ที่มีชื่อเสียงเป็นผู้ที่ใช้พระเดชอย่างแรงกล้าทั้งนั้น องค์อื่นๆ ที่ไม่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักนักก็ไม่มีพระองค์ใดได้ชื่อว่าเป็นนักปกครองที่เอื้ออารีต่อไพร่ฟ้าเลย เพราะถ้าจะใช้พระคุณคงอยู่ในอำนาจไม่ได้นาน บังลังก็อยุธยาตั้งอยู่บนคมหอกคมดาบจริงๆ

จริงๆ หนังไทยยุคหลังน่าจะให้ภาพที่ผิดจากสังคมจริงสมัยอยุธยาไปมาก เช่นหนังสุริโยทัยของท่านมุ้ยภาคแรก  ฉากที่ในบ้านเรือนของพระเฑียรราชามีการฝึกทหารฝึกอาวุธแล้วสรพงศ์มาสมัครขอเป็นข้า ถ้าสมัยอยุธยาจริงเจ้านายหรือขุนนางใดมีการฝึกทหารแบบนั้นไม่แคล้วต้องอาญาฐานกบฏถูกตัดหัว  ทุบในถุงแดงหรือถ่วงทะเลแน่ๆ

บทความของอ.กิ่งแก้ว ที่ดิฉันย่อยมาให้อ่านจบลงเพียงเท่านี้ค่ะ  ถ้าท่านใดสนใจจะแสดงความคิดเห็นต่อ ก็เชิญได้

ตอบคุณประกอบ   ดิฉันเคยอ่านกฎมณเฑียรบาล แต่นานมาแล้ว  จำได้คร่าวๆว่ามีข้อหนึ่งระบุไว้ว่าแม้ขุนนางคนหนึ่งจะไปมาหาสู่ หาขุนนางอีกคนถึงเรือน ก็ทำไม่ได้    ข้อนี้เห็นจะถูกวางไว้เพื่อป้องกันการซ่องสุมก่อการกบฏ    แต่เดาว่าถ้าไปด้วยเหตุอันสมควร มีที่มาที่ไปก็คงอนุโลมให้ไปได้    แต่ถ้าจะเอาผิดก็เอาได้เหมือนกัน  จะเห็นได้จากเหตุการณ์ที่เจ้าพระยากลาโหม(ต่อมาคือพระเจ้าปราสาททอง)จัดงานศพมารดา
พงศาวดารบันทึกไว้ว่า

ใน พ.ศ. 2173 มารดาของเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ถึงแก่กรรม (จดหมายเหตุวัน วลิตกล่าวว่าน้องชาย) เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ได้จัดงานศพอย่างใหญ่โต ขุนนางทั้งหลายต่างไปช่วย บางคนถึงกับไปนอนค้าง เมื่อสมเด็จพระเชษฐาธิราชออกว่าราชการ มีข้าราชการหายไปจำนวนมากจึงทรงพระพิโรธว่าจะลงอาญาข้าราชการเหล่านั้น เหล่าข้าราชการจึงไปขอพึ่งเจ้าพระยากลาโหม และไม่ไปเข้าเฝ้า พวกข้าหลวงเดิมก็ทูลยุยงว่าเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์คิดเป็นกบฏ จึงทรงให้ข้าหลวงไปหลอกให้เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์เข้าวังมาเพื่อสังหารทิ้ง แต่เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์รู้ตัวก่อนจึงประกาศแก่คนทั้งปวงว่า
    ...เราได้ทำราชการมาด้วยความสุจริต เดี๋ยวนี้พระเจ้าแผ่นดินพาลเอาผิดว่าคิดกบฏ เมื่อภัยมาถึงตัวก็จำต้องเป็นกบฏตามรับสั่ง...

    ข้าราชการทั้งปวงก็พากันเข้าด้วย จึงคุมกำลังเข้ามาปล้นพระราชวัง จับสมเด็จพระเชษฐาธิราชไปปลงพระชนม์

    ถ้ากรองเอามาแต่เนื้อๆ ก็อาจจะมองเห็นได้อีกทางหนึ่งว่า
    1  มีขุนนางจำนวนมาก ไปชุมนุมกันที่บ้านเจ้าพระยากลาโหม อยู่ที่นั่นกันนานไม่ใช่เจอกันประเดี๋ยวประด๋าว  ถึงกับอยู่นานข้ามวันข้ามคืน
    2  เป็นที่ผิดสังเกตของราชสำนัก   เพราะพวกนี้หายไปไม่มาเข้าเฝ้าตามหน้าที่เมื่อพระเจ้าแผ่นดินออกว่าราชการ
    3  พระเจ้าแผ่นดินจึงมีพระบรมราชโองการให้ปราบปราม     เข้าลักษณะผิดกฏมณเฑียรบาล 
    4  พวกนี้ก็เลยยกพลมาล้อมวัง ก่อการกบฏจริงๆตามที่คบคิดกันเอาไว้แล้ว

    แต่ข้อความในพงศาวดารซึ่งน่าจะบันทึกเมื่อพระเจ้าปราสาททองขึ้นครองราชย์แล้ว   บันทึกไว้ในลักษณะ เอส กับพระเจ้าปราสาททองมาก   กลายเป็นสมเด็จพระเชษฐาฯ เป็นฝ่ายผิดไปเสียอย่างนั้น

   
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.046 วินาที กับ 19 คำสั่ง