การทำศึกสงครามกันระหว่างประเทศ เท่าที่ทราบมาก็หนีไม่พ้นเรื่องการเข้ามาขายอาวุธ ยุทธภัณฑ์ให้กับสยาม ทั้งนี้ชาวต่างประเทศเข้ามาขายทั้งพม่า ทั้งเขมร เช่นเดียวกัน อยากทราบว่าทั้งฝ่ายเอส และฝ่ายเอ๊กซ์ มีข้อคิดเห็นกรณีนี้ไม่หนอ

เอ! ไม่เข้าใจคำถาม ต้องส่งไม้ต่อให้ท่านอื่นๆที่เข้ามาร่วมวง
รู้แต่ว่าในกระทู้นี้มีพูดไว้ในหน้าก่อน ว่าฮอลันดาปฏิเสธไม่ช่วยสยามรบเขมร เพราะถือว่าค้าขายกับเขมรเท่ากัน แต่รบในที่นี้อาจจะหมายถึงจับพลัดจับผลูเข้าไปอยู่ในกองทัพด้วย ต้องเปลืองเลือดเนื้อ
ถ้าหมายถึงจอดเรือไว้ปากอ่าวเฉยๆ แล้วขนอาวุธมาขายให้ทั้งสองฝ่ายอย่างปลอดภัยไร้กังวล รับทรัพย์อย่างเดียว ฮอลันดาน่าจะไม่รังเกียจนะคะ
แต่โปรตุเกสไม่ใช่แบบนี้ ย้อนไปถึงกระทู้โปรตุเกสเข้าเมือง พวกนี้เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำตัวกลมกลืนกับชาวบ้านจนตั้งหมู่บ้าน มีภรรยาและลูกเต้าเป็นลูกครึ่งกันมากมาย น่าจะจัดเข้าประเภท เอส เมื่อมีการรบ ก็มีทหารอาสา(หรือเรียกอีกอย่างว่าทหารรับจ้าง)ไปช่วยรบด้วย นอกจากขายอาวุธแล้วยังขายแรงงานและฝีมือด้วย อนุโลมเข้าฝ่าย เอส
คุณ NAVARAT.C และคุณ Samun007 เห็นอย่างไรคะ
ถ้าส่วนตัวผมเดานะครับ
ฝรั่งก็มีจุดประสงค์ต่างกันครับ ทุกประเทศส่วนใหญ่มาเพื่อค้าขายและหวังเป็นพ่อค้าคนกลางในการควบคุมเส้นทางสายไหมทางทะเลในภูมิภาคนี้ แต่ โปรตุเกสกับฝรั่งเศส ดูจะเน้นเรื่องอื่นด้วยเช่นเรื่องของการเผยแพร่ศาสนา ซึ่งจะต่างจากของ อังกฤษ,สเปน,ฮอลันดา ที่เน้นค้าขายอย่างเดียว
ทำให้เมื่อสยามให้โอกาสที่ดีกว่าในเรื่องของการเผยแผ่ศาสนากับโปรตุเกส จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับโปรตุเกสดูจะดีที่สุดในบรรดาฝรั่งที่เข้ามาหากินกับสยามนั่นเอง แต่อาจจะเพราะว่า โปรตุเกสเองก็ถูกลดอิทธิพลในระดับนานาชาติลงไปพอสมควรด้วยเหมือนกัน เพราะมีประเทศมหาอำนาจเกิดใหม่อย่างฝรั่งเศสและอังกฤษรวมไปถึงฮอลันดาเข้ามาแทนที่ จึงทำให้โปรตุเกสไม่สามารถจะเรียกร้องอะไรมากไปกว่าประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
ซึ่งเรื่องการเมืองในรูปแบบการเผยแผ่ศาสนานี้ ไม่ใช่แค่สยามชาติเดียวเท่านั้นที่มีปัญหา เพราะแม้แต่ในยุคไล่ ๆ กันอย่างญี่ปุ่น ก็ถึงกับต้องปิดประเทศ เพราะเกิดกรณีกบฏแบ่งแยกดินแดนชิมะบะระ(Shimabara Rebellion 島原の乱) ซึ่งเกิดจากการเผยแผ่ศาสนาของนักบวชจากสเปนและโปรตุเกส ทำให้คนญี่ปุ่นไปเข้ารีต และบางส่วนของพวกที่เข้ารีต ก็ดันเป็นระดับเจ้าเมืองมีอำนาจทหารในมือ เมื่อศรัทธาถึงขีดสุด ก็อยากจะสร้าง Holy Land ขึ้นมา จึงได้เกิดสงครามปลดแอกสถานะทางชนชั้นขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นต้องประกาศปิดประเทศ และไม่ค้าขายกับประเทศที่นับถือนิกายโรมันคาธอลิกไปนาน จนกระทั่งนายพลเปอร์รี่แล่นเรือดำมาบีบให้เปิดประเทศอีกรอบนั่นล่ะครับ แต่ในช่วงนั้นที่ว่าไม่ขายกับประเทศที่นับถือคาธอลิก แต่ญี่ปุ่นกลับซื้อขายกับประเทศอื่น ๆ อย่างสยาม ผ่านบริษัท VOC ซึ่งก็ไม่ใช่อื่นไกล ของดัตช์ ซึ่งนับถือคนละนิกายนั่นเอง และ ดัตช์เองก็ยังเข้าไปมีส่วนร่วมในการปราบกบฏชิมะบะระด้วยเช่นกันครับ
เพราะฉะนั้น สยามในยุคปลาย ๆ รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูง ก็คงจะระแวงฝรั่งเศสซึ่งนับถือนิกายเดียวกับโปรตุเกสและสเปนเป็นแน่แท้ ประกอบกับยิ่งฟอลคอน ทำตัวให้เห็นเด่นชัดว่า มีความคิดไม่ซื่อ ก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของฝรั่งเศสกู่ไม่กลับในสายตาคนสยามครับ ซึ่งตรงข้ามกับฮอลแลนด์ แม้สยามจะรู้ว่าฮอลแลนด์เองก็ไม่ใช่มิตรที่ดี แต่ตราบใดที่เงินสยามยังมีค่าอยู่ ก็ยังพอคุยกันด้วยเงินได้ครับ
ผมก็เดา ๆ ประมาณนี้ล่ะครับ