เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
อ่าน: 23117 กษัตริย์อยุธยา ในสายตาของนักคติชน
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 09 ต.ค. 12, 11:17

กระทู้นี้ มีที่มาจากบทความของดร.กิ่งแก้ว อัตถากร  เรื่อง "ประวัติศาสตร์อยุธยาในสายตาของนักคติชน"  ซึ่งเป็นเอกสารประกอบสัมมนาประวัติศาสตร์อยุธยา ณ วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา เมื่อปี ๒๕๒๓
ต่อมานำมาพิมพ์ซ้ำในหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ร.ว.พรรณเรือง(เกษมสันต์) อัตถากร  คุณแม่ของดร.กิ่งแก้ว

เป็นเรื่องที่ดร.กิ่งแก้วเก็บความจากข้อมูลจดหมายเหตุของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาติดต่อทางการทูต  และการค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา ในหลายรัชสมัยด้วยกัน
เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ก็นำมาวิเคราะห์ในทัศนะของนักคติชน  ซึ่งอยู่ในสาขาวิชาที่ท่านสำเร็จการศึกษาด้านปริญญาเอกมาจากสหรัฐอเมริกา

ดิฉันจึงนำมาย่อยให้อ่านกันอีกทีค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 09 ต.ค. 12, 11:33

นักคติชนวิทยาคนแรกที่ดร.กิ่งแก้ว นำแนวคิดของเขามาเป็นหลักในการอ้างอิง คือ Wm.Hugh Jansen   แนวคิดที่ว่านี้ มีศัพท์ที่แจนเสนเรียกว่า Esoteric-Exoteric Factor  
คำที่สะกดยากอ่านยากนี้ ขอเรียกด้วยสำเนียงไทยว่า เอสโซเทริค และเอ๊กโซเทริค    อย่างแรกแปลว่า ทัศนะสำหรับวงใน   อย่างหลังแปลว่าทัศนะสำหรับวงนอก

ขยายความโดยส่วนตัวอีกที ว่า การมองแบบเอสโซเทริค คือคนในมองคนในกลุ่มด้วยกันเอง     ยกตัวอย่างก็เช่นสมาชิกเรือนไทยมองเว็บเรือนไทยว่าเป็นอย่างไรแบบไหน  
ส่วนการมองแบบเอ็กโซเทริค  คือมองอย่างคนนอกมองเข้ามา    เหมือนคนในเว็บไซต์อื่นๆมองเรือนไทยว่าเป็นอย่างไรแบบไหน  
ทั้งๆศูนย์กลางก็คือเรือนไทย เว็บเดียวนี่แหละค่ะ  แต่การมองแบบเอส และ เอ๊กซ์ อาจจะแตกต่างกันไปตรงกันข้ามเลยก็ได้
ทำให้เรือนไทยในสายตากลุ่มเอสอาจเป็นสีขาว     แต่ในสายตากลุ่มเอ๊กซ์ เรือนไทยอาจจะกลายเป็นสีดำ   หรือไม่ก็ตรงกันข้าม เอสมองเป็นดำ  เอ๊กซ์มองเป็นขาว ก็ได้เหมือนกัน

กลุ่มเอส-เอ๊กซ์ที่ว่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในสาขาวิชาคติชนวิทยา   เพราะกลุ่มสังคมแต่ละกลุ่มมีวัฒนธรรมและนโยบายในการดำเนินชีวิตผิดกัน ทำให้คำตอบที่ได้ ขึ้นกับสิ่งเหล่านี้ด้วย   ไม่ใช่ขึ้นกับข้อเท็จจริงอย่างเดียว
ดังนั้นเพื่อความเข้าใจคำตอบ   นักคติชนจึงต้องคำนึงด้วยว่า ผู้มองเป็นใคร   ไม่ได้หยุดดูแค่ว่า สิ่งที่เขามองคืออะไร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 09 ต.ค. 12, 12:03

   ดิฉันเห็นว่าทัศนะของนักคติชนเรื่องเอส-เอ๊กซ์นี้ อาจจะนำเราไปสู่ความเข้าใจได้ว่า ทำไมในศึกเจ้าอนุวงศ์ คนไทยถึงเห็นแบบหนึ่ง   และคนลาวเห็นอีกแบบหนึ่ง     ทำนองเดียวกับในสงครามประกาศอิสรภาพระหว่างสหรัฐอเมริกากับอังกฤษเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน  คนอเมริกันกับคนอังกฤษก็มองกันตรงข้าม      แม้แต่ล่าสุดนี้   เรื่อง 176 คำ ของนักปราชญ์ในสถาบันเดียวกัน ยังมองกันคนละอย่างได้นี่นา..
   เอาละ  เดี๋ยวจะออกทะเลกลายเป็นกระทู้อื่น  กลับมาที่อยุธยาดีกว่านะคะ
   ดร.กิ่งแก้วจำกัดขอบเขตเนื้อหาไว้ 3  ประเด็นหลักด้วยกัน คือ
   1   พระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา
   2   ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
   3   ศาสนา
   4   ประชาชน

    ประเด็นที่ 1   กษัตริย์อยุธยากับประชาชน  รักหรือกลัว?
    ดร.กิ่งแก้ว ให้พื้นหลังของเรื่องนี้ว่า กษัตริย์อยุธยานั้นวางพระองค์กับราษฎรแบบ" เจ้ากับข้า"   ผิดกับสมัยสุโขทัยที่วางพระองค์แบบ "พ่อกับลูก"  ข้อนี้มองได้จากหลักฐานจากเอกสารกฎหมายและการปกครองเช่นกฎมณเฑียรบาล      แต่สิ่งที่หายากหรืออาจเรียกว่าหาไม่ได้คือทัศนะจริงๆที่ประชาชนมีต่อกษัตริย์     เราไม่รู้ว่าประชาชนมีความรู้สึกแท้จริงกับพระเจ้าแผ่นดินของพวกเขาอย่างไรกันแน่   
    หลักฐานตัวหนังสือถ้ามีก็อาจสูญหายไปหมด  และถึงมีจริงก็คงมีน้อย เพราะการอ่านออกเขียนได้ยังไม่แพร่หลาย   ที่สำคัญคือการแสดงความรู้สึกต่อกษัตริย์ไม่ว่าทางบวกหรือลบ เป็นสิ่งต้องห้าม    บาทหลวงตาร์ชาร์ดเคยบันทึกไว้ว่า แม้การถามถึงพระอนามัยของพระเจ้าแผ่นดินก็ยังเป็นเรื่องหวงห้าม    ยิ่งเรื่องส่วนพระองค์แล้ว จะต้องเก็บเป็นความลับในหมู่ข้าราชบริพาร ห้ามเอาไปพูดต่อกับคนภายนอกทีเดียว   เพราะนอกจากจะถือเป็นการละลาบละล้วงแล้ว   ยังอาจเป็นช่องทางให้ผู้คิดคดทรยศฉกฉวยไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 09 ต.ค. 12, 12:27

    ดิฉันนึกถึงบทเฉลิมพระเกียรติต่างๆในวรรณคดีอยุธยา  ที่กวีจะใส่เอาไว้ตอนต้นเรื่องที่แต่ง หรือบางเรื่องก็เป็นบทเฉลิมพระเกียรติโดยตรง     แล้วเกิดคำถามว่า จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ไหมถึงความรู้สึกเทิดทูนจงรักภักดี อันมีกวีเป็นตัวแทนของประชาชนต่อพระเจ้าแผ่นดิน   คำตอบคือ เห็นจะไม่ได้    แต่ถ้าแสดงถึงขนบธรรมเนียมประเพณีของการยกย่องเทิดทูน "สมมุติเทพ" ของตน น่าจะถูกต้องมากกว่า
    ในเมื่อกษัตริย์อยุธยาวางพระองค์เป็น "สมมุติเทพ" ต่อประชาชน    ความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็คือความห่างเหินซึ่งกันและกันโดยมีความยำเกรงเป็นตัวเชื่อมอยู่     ลาลูแบร์ที่เข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์สรุปว่า "...ยากนักที่ไพร่ฟ้าประชาราษฎรจะมีความรักในองค์พระประมุขของตนได้"
   ลาลูแบร์ยังมีความเห็นต่อไปอีกว่า  การที่ประชาชนไม่รักกษัตริย์ ทำให้บัลลังค์อยุธยาไม่มั่นคง    แม้ว่าสถาบันกษัตริย์ยังดำรงอยู่ตั้งแต่ก่อตั้งอาณาจักร   แต่บุคคลที่หมุนเวียนเข้ามารับตำแหน่งมีความไม่แน่นอนอยู่เสมอ      ไม่มีใครแน่ใจว่าผู้สืบทอดบัลลังก์คนต่อไปจะเป็นใคร   เพราะรัฐประหารโค่นล้มอำนาจอาจเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้   
ทั้งหมดนี้ประชาชนไม่เคยรู้สึกเสียดายพระเจ้าแผ่นดินที่ถูกโค่น    เพราะไม่เคยมีความรักให้(ไม่ว่าองค์ไหน) อยู่แล้ว   ถ้าจะมีความรู้สึกก็คือหวาดผวากลัวเหตุการณ์นองเลือดเสียมากกว่า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 09 ต.ค. 12, 12:37

    ข้อสรุปของลาลูแบร์ ผู้อยู่ในกลุ่มเอ๊กซ์  มองสถาบันกษัตริย์ในสมัยอยุธยาว่า
    1   ประชาชนไม่รักพระเจ้าแผ่นดิน
    2   พระเจ้าแผ่นดินมีสิทธิ์ขาดเหนือชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
    3   ประชาชนมี 2 พวกคือพวกที่เป็นไท  และพวกที่อยู่ในภาวะจำยอม( เช่นเชลย หรือพวกที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งถิ่นฐาน เมื่อแพ้สงคราม) แต่โดยภาระหน้าที่  พวกเป็นไทกลับมีภาระหนักกว่าพวกหลัง เพราะต้องเข้ามารับใช้ราชการ  เป็นไพร่หลวงในเมืองหลวงถึงปีละ 5-6 เดือน   ผู้ใดไม่อยากแบกภาระก็ต้องหลบหนีไปอยู่ในป่าลึก     ไปๆมาๆ พวกเชลยจะสบายกว่าเสียอีก
    4  ถ้ากษัตริย์ยังทรงพระเยาว์  อำนาจก็จะอยู่ในมือผู้สำเร็จราชการ ซึ่งจะรวบอำนาจเสียเองในที่สุด
    ด้วยระบบนี้  จึงกลายเป็นว่าโอกาสที่กษัตริย์อยุธยาจะผูกพันใกล้ชิดกับประชาชนนั้นไม่มี     ทุกองค์ขึ้นสู่บัลลังก์ได้เพราะแผ่อำนาจ และดำรงอยู่ได้ด้วยอำนาจ    ความเกรงกลัวจึงกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญเชื่อมระหว่างประชาชนกับกษัตริย์  ไม่ใช่ความรัก
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 09 ต.ค. 12, 13:47

แล้วกลุ่มต่าง ๆ มอง ลาลูแบร์ ว่าเป็น "นักการทูต" หรือ "สายลับ" กันหรือเปล่า  ฮืม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 09 ต.ค. 12, 14:10

เรื่องนี้ เป็นเรื่องนักคติชนมองกษัตริย์อยุธยาค่ะ  ไม่ได้มองลาลูแบร์
บทบาทของลาลูแบร์ไม่ได้มีผลมากมายถึงกับกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ให้เห็นชัดเจน    นอกจากจะบันทึกสภาพสังคมที่เห็น ให้ผู้เกี่ยวข้องทางฝ่ายเขาได้อ่านกัน

ต่อนะคะ
ดร.กิ่งแก้วไม่ได้พูดถึงบทบาทของลาลูแบร์ว่าเป็นสายลับหรืออะไรทำนองนั้น   แต่เราก็คงรู้ๆกันอยู่ดีว่า พวกนี้ก็ต้องรายงานทุกอย่างที่เห็นในสายตากลับไปหาต้นสังกัดของตัวเองเพื่อเป็นประโยชน์ทางใดทางหนึ่ง     ดังนั้น ดิฉันคิดว่าความสัมพันธ์ของกษัตริย์กับประชาชนจึงอยู่ในการประเมินของทูตด้วยแน่นอน  เพราะมันย่อมก่อความเข้าใจให้ฝรั่งเศสได้ว่า พระเจ้าแผ่นดินอยุธยามีความมั่นคงอยู่บนราชบัลลังก์มากน้อยแค่ไหน
ลาลูแบร์แกก็ซอกแซกจนได้ความรู้มาว่า พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาไม่ได้พยายามจะอยู่ใกล้ชิดประชาชน   ในแต่ละปี พระองค์ปรากฏพระองค์ให้ประชาชนเห็นประมาณ 5 -6 วันเท่านั้น   ที่ให้เห็นก็ไม่ใช่ว่าเสด็จไปเยี่ยมเยียนใกล้ชิด  แต่เห็นในงานนักขัตฤกษ์หรือพระราชพิธีต่างๆ     ซึ่งก็คงเป็นการเห็นในระยะห่างมากๆ   
การห้ามประชาชนเข้าใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินจนเห็นหน้าค่าตากันได้ยังคงสืบทอดมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3   ในกระทู้เก่าของเรือนไทยก็มีการพูดถึงเจ้าพนักงานที่ยิงกระสุนถูกตาราษฎรแตกมาแล้ว  เพื่อไม่ให้มองพระเจ้าแผ่นดิน

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 09 ต.ค. 12, 14:19

  นอกจากรักษาอำนาจโดยไม่เข้าใกล้ชิดประชาชนแล้ว    พระเจ้าแผ่นดินอยุธยายังรักษาอำนาจด้วยการไม่ให้ขุนนางได้ใกล้ชิดกันด้วย    จากบันทึกของฟอร์บัง ซึ่งเข้ามารับราชการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าเมืองบางกอก ราชทินนามว่าพระศักดิสงคราม   บอกไว้ว่าข้าราชบริพารทั้งหลายถูกแยกให้อยู่ในที่ห่างกัน   เสนาบดีกับอำมาตย์ถูกจำกัดไม่ให้ไปมาหาสู่กันได้     
เรื่องนี้ก็จริง   ถ้าเปิดกฎมณเฑียรบาลจะเห็นว่ามีระบุไว้ในนั้นด้วย      ขุนนางไม่อาจเดินเอ้อระเหยลอยชายเข้าบ้านโน้นออกบ้านนี้โดยไม่เกี่ยวกับหน้าที่การงาน     ฟอร์บังระบุว่าไม่มีใครเข้าใกล้องค์พระเจ้าแผ่นดินได้    แม้แต่เวลาออกว่าราชการหรือรับทูต พระองค์ก็จะประทับข้างหลังสีหบัญชรซึ่งสูงกว่าพื้นดินถึงสี่ศอก   ส่วนขุนนางก็ต้องหมอบเฝ้าติดพื้นดิน 
ประเพณีที่ต้องอยู่สูงต่ำห่างกันมากแบบนี้ จะเว้นก็แต่ตอนเชอวาเลียร์ เดอ โชมองมาเฝ้าที่สามารถยืนเข้าเฝ้าได้   แต่ถึงกระนั้นสมเด็จพระนารายณ์ก็ยังประทับอยู่สูงกว่าทูตขึ้นไปอีกมาก     เดอ โชมองจะถวายพระราชสาส์นก็ต้องถวายใส่พานซึ่งมีด้ามส่ง ชูขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 09 ต.ค. 12, 14:24

กฏมณเฑียรบาลต่าง ๆ สมัยกรุงศรีอยุธยา นั้นในสังคมสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็เคยมีผู้วิพากษ์เช่นกัน คือ ก.ศ.ร. กุหลาบ ซึ่งอธิบายในเชิงว่าเป็นประเพณีบาบาเรียน ไม่เจริญเท่าที่ควร ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 09 ต.ค. 12, 14:52

คำวิจารณ์ของก.ศ.ร.กุหลาบ คือแบบเอ๊กซ์ ตามแนวคิดของแจนเสน ตรงเผงเลยค่ะ   มองจากสายตาคนนอก(คือคนสมัยอาณาจักรรัตนโกสินทร์) ไปที่อาณาจักรอยุธยาที่ตัวเองไม่ได้เป็นสมาชิกสังคมนั้น  และห่างไกลถึงขั้นไม่มีส่วนได้ หรือส่วนเสียกับระบอบในสังคมนั้นด้วย  
ส่วนดิฉันมองก.ศ.ร.กุหลาบแบบเอส  ในฐานะคนอยู่ในสังคมไทยด้วยกัน   คือมองว่าท่านนอกจากมีแนวคิดแบบเอ๊กซ์(คือคนนอก)กับสมัยโบราณของไทยแล้ว  ยังมีแนวคิดแบบเอส(หรือคนใน) กับสังคมฝรั่งร่วมสมัย   เพราะดูจากการดำเนินชีวิต  ค่อนไปทางหัวก้าวหน้า นิยมธรรมเนียมหลายอย่างของฝรั่งสมัยปลายศตวรรษที่ 19 มาใช้กับชีวิตส่วนตัว  
ฝรั่งในยุคล่าอาณานิคม ไม่มีวันมองชาวเอเชียอย่างยอมรับนับถือและเข้าใจสภาพสังคมของเอเชียว่าทำไมเขาอยู่หรือคิดกันแบบนั้น    เมื่อเห็นว่าคนเอเชียอยู่แตกต่างจากประเพณีของพวกเขา ก็ดูถูกเอาไว้ก่อนเสมอ   คนไทยที่คิดอย่างฝรั่งก็มักจะมองว่าคนไทยที่ทำตัวไม่เหมือนฝรั่งเป็นบาเบเรี่ยน ทำนองเดียวกันค่ะ

ดิฉันขอมองแบบเอส กับสังคมอยุธยาว่า    กฎมณเฑียรบาลตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ      อะไรก็ตามที่ตราขึ้นเป็นข้อบังคับในสังคมย่อมเกิดจากสภาพสังคมผลักดันให้ต้องเกิดสิ่งนี้ขึ้นมา    กฎมณเฑียรบาลเกิดขึ้นเพื่อเสริมสร้างระเบียบและความมั่นคงในสถาบันกษัตริย์  เริ่มในสมัยสมเด็จพระบรมไตรฯ  และมันก็คงจะได้ผลอยู่มากจึงยั่งยืนมาตลอดอายุของราชอาณาจักร    
แต่จุดอ่อนอย่างหนึ่งที่แก้ไม่ได้ หรือไม่คิดจะแก้กันก็ไม่ทราบ    คือมันไม่ได้ช่วยในด้านการสืบสันตติวงศ์ให้เรียบร้อยราบรื่น     แต่เราจะเห็นได้ว่า ความวุ่นวายในปลายรัชกาลในหลายๆรัชกาล เป็นการวุ่นวายแบบแย่งที่นั่งบนเก้าอี้ดนตรี   แต่ไม่มีใครคิดเปลี่ยนเก้าอี้ให้ไปเป็นที่นั่งแบบอื่น    สถาบันกษัตริย์อยุธยายังมั่นคงมาจนจบสิ้นเมื่อพ.ศ. 2310
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 10 ต.ค. 12, 10:20

  ขอกลับไปที่ทัศนะเอสและเอ๊กซ์
  การสร้างความห่างเหินในแนวตั้ง(คือกษัตริย์อยุธยาสูงกว่า-ทูตประเทศอื่นๆต่ำกว่า)  สมเด็จพระนารายณ์ทรงอนุโลมให้ทูตฝรั่งเศสมากกว่าทูตประเทศอื่น   เช่นทรงจัดให้มีการต้อนรับทูตฝรั่งเศส แต่มิได้ทรงอนุญาตให้ทูตอิหร่านได้รับบ้าง   เมื่อฝรั่งเศสรู้ว่าตนเองมีอภิสิทธิ์ ก็ยินดี      
  เมื่อทูตฝรั่งเศสยินดี(เกิดเอส) กับอภิสิทธิ์ของกลุ่มตน   ก็เกิดความรู้สึกแบบเอ๊กซ์กับทูตประเทศอื่น คือไม่อยากให้ได้อภิสิทธิ์แบบนี้บ้าง อันจะทำให้อภิสิทธิ์กลายเป็นสิทธิ์เท่าเทียมกันไป     ข้อนี้ตรงกับหลักคิดของแจนเสน คือเอสทำให้เกิดความรู้สึกแนบแน่นในกลุ่มเดียวกัน    และทำให้รังเกียจกลุ่มอื่นขึ้นมาพร้อมๆกันด้วย

  ขนาดทูตซึ่งเข้ามาสัมผัสพระราชอำนาจกษัตริย์อยุธยาเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ยังแบ่งความรู้สึกเป็นเอสและเอ๊กซ์ได้ขนาดนี้   ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าขุนนางอยุธยาที่อยู่ใต้พระราชอำนาจตลอดชีวิตจะรู้สึกเอสและเอ๊กซ์ขนาดไหน     เมื่อเอสกับตัวเอง(หรือพรรคพวกเดียวกัน)มากเท่าใดก็ยิ่งเกิดเอ๊กซ์กับคนอื่น(หรือกลุ่มอื่น)มากเท่านั้น     กลายเป็นความรู้สึกแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันอย่างรุนแรง    ทั้งนี้เพราะการ "หมดดี" ของขุนนางหมายถึงการถูกพระราชอาญาอย่างชนิดหมดศักดิ์ศรี
  ข้อนี้ก็แปลกเหมือนกัน   เมื่อดูจากประวัติศาสตร์จะพบว่าขุนนางต่อให้ตำแหน่งใหญ่ขนาดไหนก็ดูไม่มั่นคงในเก้าอี้ตัวเองเท่าไร    ทุกอย่างล้วนขึ้นกับพระราชอำนาจที่ใช้ผ่านพระราชอาญาต่างๆ    ไม่ว่าใครแม้แต่ขุนนางผู้ใหญ่ที่สุดจะรอดพ้นจากพระราชอาญาไปได้ตลอดรอดฝั่ง    วิชเยนทร์เองก็เคยถูกโบย  ขุนนางใหญ่สุดคนหนึ่งในอยุธยาอย่างเจ้าพระยาโกษาเหล็กก็ถูกโบยและลงโทษสาหัสในบั้นปลาย    ในเมื่อเป็นอย่างนี้ ขุนนางก็ต้องพยายามรักษาตัวเองให้รอด   มากกว่าจะรักษาราชบัลลังก์ให้รอด
  เมื่อต้องเอาตัวรอดเป็นหลัก    ทัศนะเอ๊กซ์จึงรุนแรงเข้มข้นมากในสังคมขุนนางอยุธยา ทั้งระหว่างกัน และระหว่างขุนนางกับกษัตริย์     กฎมณเฑียรบาลกีดกั้นความร่วมมือร่วมใจของขุนนางอยู่แล้วเพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อราชบัลลังก์     พระราชอำนาจสูงสุดก็เป็นอีกอย่างที่ขุนนางเข้าไม่ถึง    กลายเป็นว่าต่างฝ่ายต่างอยู่โดดเดี่ยว   มีทัศนะเอ๊กซ์ระหว่างกัน   ความร่วมมือกันระหว่างขุนนางกับกษัตริย์จึงไม่มี     และข้อนี้ก็เป็นสาเหตุของการยึดอำนาจในตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์  
   นี่คือมุมมองของฝรั่ง
  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 10 ต.ค. 12, 10:44

   อุดมการณ์ของวีรบุรุษ
 
   ดร.กิ่งแก้วกล่าวไว้ว่า มีคนพูดว่าอยุธยาถูกตั้งชื่อเพื่อลบรอยอาถรรพณ์    ดิฉันขออธิบายเพิ่มเติมว่า คำว่า "อยุธยา"แปลว่า รบไม่แพ้  หรือ ศัตรูเอาชนะไม่ได้     ทำนองเดียวกับแหลมกู๊ดโฮปถูกตั้งชื่อนี้เพื่อแก้เคล็ดที่แถวนั้นคลื่นลมแรงจนเรือมาอับปางนับไม่ถ้วน   หรือดงพญาไฟถูกเปลี่ยนชื่อเป็นดงพญาเย็นเพื่อบรรเทาความทุรกันดารและโหดร้ายจากไข้ป่าที่เอาชีวิตคนเดินทางไปเสียมากต่อมาก     ในทางโหราศาสตร์  อยุธยาจะถูกตั้งชื่ออย่างไรก็ตาม  ในความเป็นจริงก็คือเป็นดินแดนแห่งยุทธกรรมอยู่นั่นเอง
   การรบที่ว่านี้คือการยึดอำนาจเพื่อผลัดแผ่นดินแบบนองเลือด   ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำแทบจะทุกปลายรัชสมัย 
   ลาลูแบร์บันทึกไว้ว่า
   "ข้าพเจ้าขอเชิญท่านผู้อ่านให้พิจารณาตัวอย่างของการปฏิวัติอันเป็นสิ่งธรรมดาสามัญในสยาม"
   กษัตริย์ที่ขึ้นครองราชย์ แล้วถูกกำจัดหรือสำเร็จโทษ เท่าที่ลาลูแบร์รู้ มีถึง 7 พระองค์ คือ
   1    พระเจ้าทองจันทร์ (หรือทองลัน  หรือทองล้น) โอรสขุนหลวงพะงั่ว วงศ์สุพรรณภูมิ  ถูกพระราเมศวรกำจัด
   2    สมเด็จพระรัฏฐาธิราช  วงศ์สุพรรณภูมิ  ถูกพระไชยราชาธิราชกำจัด
   3    พระยอดฟ้า โอรสพระไชยราชา ถูกขุนวรวงศาธิราชพ่อเลี้ยงกำจัดม์   (ขุนวรวงศาฯก็ถูกกำจัดเช่นกัน)
   4    เจ้าฟ้าศรีเสาวภาค  โอรสพระเอกาทศรถ ถูกพระเจ้าทรงธรรมกำจัด
   5    พระเชษฐาธิราช  โอรสพระเจ้าทรงธรรม  ถูกพระเจ้าปราสาททองกำจัด
   6    เจ้าฟ้าไชยโอรสพระเจ้าปราสาททอง ถูกสมเด็จพระนารายณ์กำจัด
   7    พระศรีสุธรรมราช  อนุชาพระเจ้าปราสาททอง ถูกสมเด็จพระนารายณ์กำจัด
   
   การกำจัดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะพระเจ้าแผ่นดินที่ขึ้นครองราชย์แล้ว แต่ว่ายังเด็ก หรืออ่อนแอเกินกว่าจะต้านทานฝ่ายตรงข้ามได้    แต่ว่ารวมผู้อยู่ในข่ายที่จะได้ขึ้นครองด้วย เช่นพระขวัญ โอรสพระเพทราชาก็ถูกขุนหลวงสรศักดิ์หรือพระเจ้าเสือกำจัดไปตั้งแต่พระเพทราชายังไม่ทันสวรรคต    ในการกำจัดหลายครั้งก็ทำแบบกวาดล้างโคตรเหง้าพี่น้อง ตลอดจนแม่ทัพนายกองที่เป็น "เอส" กับฝ่ายถูกปราบด้วย
บันทึกการเข้า
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 10 ต.ค. 12, 10:54

"คุณครูฮับ" นักเรียนยกมือขึ้นเหนือศรีษะ  ฮืม
"ว่าไง สุจิตรา!?"  ยิ้ม
"คือผมอยากถามว่า..." นักเรียนละล้าละลัง  รูดซิบปาก
"อยากถามอะไรก็ว่ามาซิ มัวแต่อ้ำๆอึ้งๆอยู่ได้ อย่าถามนอกเรื่องน่ะ ไม่งั้นโดนดีแน่!" โกรธ

"ผมอยากถามว่า.....นักคติชนแปลว่าอะไรฮับ?"  ขยิบตา  ร้องไห้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 10 ต.ค. 12, 11:06

อ้าว ตาย! ไม่ทันอธิบาย นึกว่ารู้แล้ว  ขออภัยค่ะ  อายจัง

คติชนวิทยา แปลจากอังกฤษว่า Folklore  เมื่อก่อนนี้เราก็มองในแง่ว่า folklore หมายถึงตำนานที่เล่าต่อๆกันมา จะเขียนลงเป็นหนังสือหรือว่าเล่าสืบทอดกันมาปากต่อปากก็ได้ ในไทยก็มี folklore มากมายในแต่ละท้องถิ่น   เช่นตำนานตาม่องล่าย  หรือพญากงพญาพาน    
แต่ในความหมายของศาสตร์สาขา Folklore  มันกว้างกว่านั้นค่ะ
คติ หมายถึง แนวทาง วิถีทาง (เช่นคำว่า คติโลก คติธรรม)
ชน หมายถึง คนในกลุ่มหนึ่ง หรือในชาติหนึ่ง
วิทยา หมายถึง ความรู้
จากรูปศัพท์ดังกล่าว คติชนวิทยา จึงหมายถึง ความรู้ที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

คำว่า คติชน นั้น ดร.กิ่งแก้ว อัตถากร ให้คำอธิบายว่า คือผลผลิตทางวัฒนธรรมที่คติชนวิทยาสนใจนำมาศึกษา ส่วนคำว่า คติชนวิทยา นั้น ดร.กิ่งแก้ว อัตถากร ให้คำจำกัดความว่า คติชนวิทยาคือ วิชาซึ่งว่าด้วยการศึกษาคติชนหรือผลผลิตทางวัฒนธรรมของกลุ่มชน และผลผลิตทางวัฒนธรรมนี้เป็นมรดกที่รับทอดกันมาทั้งภายในชนกลุ่มเดียวกัน และที่แพร่กระจายไปสู่ชนต่างกลุ่มด้วย
สรุปได้ว่า วิชาคติชนวิทยา เป็นวิชาที่ศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากวิถีชีวิตหรือความเป็นอยู่ของมนุษย์ ตลอดจนผลผลิตหรือการสร้างสรรค์ต่างๆ จากอดีตมาจนปัจจุบันของมนุษย์ในสังคมหนึ่งๆ

เพราะฉะนั้นนักคติชน ก็คือผู้ศึกษาทางผลผลิตทางวัฒนธรรมของกลุ่มชน และผลผลิตทางวัฒนธรรมนี้เป็นมรดกที่รับทอดกันมาทั้งภายในชนกลุ่มเดียวกัน และที่แพร่กระจายไปสู่ชนต่างกลุ่มด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 10 ต.ค. 12, 11:14

(ต่อ)
เมื่อนักคติชนมาจับเนื้อหาทางประวัติศาสตร์   เขาจะไม่มุ่งไปตรวจสอบเอกสารว่า ชิ้นไหนเป็นของแท้หรือเทียม   เทียบกันแล้วตรงกันหรือต่างกันอย่างไร    ไม่ตรวจสอบพ.ศ.  ไม่ดูแผนที่  ฯลฯ  แต่จะสนใจว่า เอกสารประวัติศาสตร์ที่เขาจับขึ้นมานั้นแสดงถึงวิถีชีวิต หรือวัฒนธรรมของคนในอดีตนั้นอย่างไรบ้าง   
เขาอาจจะจับประเด็นขึ้นมาในแง่หนึ่งมุมหนึ่ง หรือหลายแง่หลายมุม แล้วแต่ขอบเขตของการศึกษางานว่าจะวางกรอบไว้ให้กว้างหรือแคบขนาดไหน ค่ะ

ในกระทู้ที่ยกมานี้ ดร.กิ่งแก้วเอาแนวคิด เอส และเอ๊กซ์ ของแจนเสนมาจับเป็นหลักอธิบายวัฒนธรรมบางอย่างของอยุธยา  อย่างแรกคือสถาบันกษัตริย์ ที่มีทั้งความมั่นคงและไม่มั่นคง     เพื่อชี้ให้เห็นว่ามันเกิดจากอะไร      นักคติชนจะไม่ถือว่าเรื่องราวต่างๆเกิดขึ้นลอยๆ แบบอะไรมันจะเกิดก็เกิด    แต่จะเห็นว่ามันมีวิถีที่มาและที่ไปของมัน จึงจะเกิดผลแบบนั้นขึ้นมาค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.047 วินาที กับ 20 คำสั่ง