เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5
  พิมพ์  
อ่าน: 23047 กษัตริย์อยุธยา ในสายตาของนักคติชน
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 11 ต.ค. 12, 11:01

ดร.กิ่งแก้วได้พูดถึงบทบาทของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ไว้ในบทความนี้ด้วย    ท่านไม่ได้ระบุลงไปว่าเป็นเอส หรือเอ๊กซ์   แ   ดิฉันจึงขออนุญาตจัดให้เข้าเกณฑ์ของแจนเสน เพื่อให้ติดตามอ่านได้เข้าใจง่ายๆ

ก็เป็นเรื่องน่าคิดเหมือนกันว่าชายต่างชาติอย่างเจ้าพระยาวิชเยนทร์มีความรู้สึกเป็น"เอส" กับพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาที่ชุบเลี้ยงตัวเองจนเจริญรุ่งเรือง   หรือว่ายังไงความต่างชาติของเขาก็ยังทำให้เขาเป็น "เอ๊กซ์" อยู่นั่นเอง    ข้อนี้ไม่ชัดในเรื่องความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์   แต่ที่ชัดก็คือ วิชเยนทร์มีทัศนะ "เอ๊กซ" กับพระญาติพระวงศ์และขุนนางชาวสยามค่อนข้างชัด     เขาไม่ทำ-หรือไม่สามารถจะทำตัวเองให้กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชาวสยามได้   ยิ่งพระเพทราชาด้วยแล้ว น่าจะเป็นปรปักษ์ตัวสำคัญกันเชียว

ความเป็น "เอ๊กซ์" ของวิชเยนทร์เห็นชัดในกรณีเขียนไปขอกำลังทหารเรือจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14  ให้เดินทางมาอยุธยา   คำขอนี้ไม่ใช่ทางราชการ  แต่น่าจะเป็นคำขอส่วนตัว  เพราะระบุไว้ในคำสั่งลับจากราชเลขาธิการของพระเจ้าหลุยส์ถึงบาทหลวงตาชาร์ด ว่า
" ที่ ม.คอนสตันซ์ได้เขียนหนังสือฉบับเดียว และเซ็นชื่อของตัว  จนถึงกับชักนำให้กองทัพเรืออันสำคัญได้เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมารับราชการของพระเจ้าแผ่นดินของตัว  ไม่เคยปรากฏในประเทศอินเดียเลย"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 11 ต.ค. 12, 11:08

การทำศึกสงครามกันระหว่างประเทศ เท่าที่ทราบมาก็หนีไม่พ้นเรื่องการเข้ามาขายอาวุธ ยุทธภัณฑ์ให้กับสยาม ทั้งนี้ชาวต่างประเทศเข้ามาขายทั้งพม่า ทั้งเขมร เช่นเดียวกัน อยากทราบว่าทั้งฝ่ายเอส และฝ่ายเอ๊กซ์ มีข้อคิดเห็นกรณีนี้ไม่หนอ  ฮืม

เอ! ไม่เข้าใจคำถาม   ต้องส่งไม้ต่อให้ท่านอื่นๆที่เข้ามาร่วมวง 
รู้แต่ว่าในกระทู้นี้มีพูดไว้ในหน้าก่อน ว่าฮอลันดาปฏิเสธไม่ช่วยสยามรบเขมร   เพราะถือว่าค้าขายกับเขมรเท่ากัน    แต่รบในที่นี้อาจจะหมายถึงจับพลัดจับผลูเข้าไปอยู่ในกองทัพด้วย  ต้องเปลืองเลือดเนื้อ
ถ้าหมายถึงจอดเรือไว้ปากอ่าวเฉยๆ แล้วขนอาวุธมาขายให้ทั้งสองฝ่ายอย่างปลอดภัยไร้กังวล   รับทรัพย์อย่างเดียว   ฮอลันดาน่าจะไม่รังเกียจนะคะ

แต่โปรตุเกสไม่ใช่แบบนี้    ย้อนไปถึงกระทู้โปรตุเกสเข้าเมือง    พวกนี้เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำตัวกลมกลืนกับชาวบ้านจนตั้งหมู่บ้าน มีภรรยาและลูกเต้าเป็นลูกครึ่งกันมากมาย  น่าจะจัดเข้าประเภท เอส   เมื่อมีการรบ ก็มีทหารอาสา(หรือเรียกอีกอย่างว่าทหารรับจ้าง)ไปช่วยรบด้วย    นอกจากขายอาวุธแล้วยังขายแรงงานและฝีมือด้วย   อนุโลมเข้าฝ่าย เอส

คุณ NAVARAT.C  และคุณ Samun007 เห็นอย่างไรคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 11 ต.ค. 12, 11:29

จดหมายที่วิชเยนทร์เขียนไปขอกำลังทางทหารจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14  เขาอ้างเหตุผลว่า
1   เพื่อต่อสู้กับผู้คิดร้ายต่อคริสตศาสนาในสยาม
2   เป็นการป้องกันตัวจากผู้ทุจริตคิดร้ายต่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์ด้วยความอิจฉาริษยา
ข้อ 1  ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะเป็นได้ เพราะอยุธยาไม่มีนโยบายกีดกันศาสนาอื่นอยู่แล้ว    โปรตุเกสเข้ามาเผยแพร่ศาสนาได้อย่างเสรี    ส่วนข้อ 2  น่าจะเป็นไปได้มากกว่า
เพราะทัศนะของราชสำนักเว้นแต่สมเด็จพระนารายณ์ มองวิชเยนทร์อย่างเอ๊กซ์ และเป็นเอ๊กซ์ลบชนิดรุนแรงเสียด้วย  จากบันทึกของเซเบเรต์ กล่าวถึงสมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ เจ้านายสตรีที่มีอำนาจสูงสุดในราชสำนักฝ่ายในว่า ทรงเกลียดชังวิชเยนทร์ถึงที่สุด     ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเจ้านายอื่นๆตลอดจนขุนนางสำคัญๆจะรู้สึกกับขุนนางฝรั่งคนนี้แบบไหน   

เราก็คงสรุปได้ไม่ยากว่า เท่าที่วิชเยนทร์ลอยตัวอยู่ได้ก็เพราะพระราชอำนาจคุ้มหัวเขาอยู่     พระราชอำนาจของกษัตริย์อยุธยาที่อยู่ในทัศนะเอ๊กซ์กับเจ้านายขุนนางทั้งหลาย ยังดำรงความศักดิ์สิทธิ์อยู่ตราบใดที่พระองค์ยังแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ    แต่ถ้าพระองค์อ่อนแอ เช่นประชวรหนัก   เมื่อนั้นรัฐประหารก็เกิดขึ้นง่ายดายโดยฝีมือคนเข้มแข็งกว่าเข้ามาแทนที่    วิชเยนทร์มองเห็นข้อนี้ดี  จึงอาศัยกำลังทหารของฝรั่งเศสมาปกป้องตัวเอง   
 
ในการขอกำลังทางทหารจากพระเจ้าหลุยส์ก็ไม่ใช่ว่าขอกันง่ายๆ  แค่อ้างศาสนามาบังหน้า   ของพรรค์นี้มีค่าใช้จ่าย หรือพูดให้เข้าประเด็นว่ามีผลประโยชน์ร่วมกัน   จึงมีบันทึกของฝรั่งเศสว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์ขนของมีค่าเหลือคณานับในท้องพระคลังไปถวายพระเจ้าหลุยส์  เป็นการแลกเปลี่ยนกับกองทหาร 5 ลำเรือเต็มเพียบ   
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 11 ต.ค. 12, 11:56

แต่เหรียญก็มีสองด้านเช่นกันนะครับผม

แม้ว่าหลาย ๆ ตำราจะกล่าวถึงบุคคลิกอันแปลกประหลาดและพูดในทางที่ไม่ดีของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (ฟอลคอน) ก็ตาม ผมก็จะเล่าถึงอีกด้านหนึ่งของลาลูแบร์ ในทำนองเดียวกัน

ในบันทึกของบาทหลวงตาชาด์ ได้เขียนบรรยายไว้มากมายด้านความประพฤติของลาลุแบร์ บางครั้งก็มีการเถียงและทะเลาะกัน ในขณะที่บาทหลวงตาชาด์เข้ามายังสยามหลายครั้งก็ได้พบกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (ฟอลคอน) และมีการพูดคุยเจรจา ตลอดจนนินทาลาลูแบร์ด้วย และทั้งคู่ก็ได้มีพระราชสาส์นถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ต่อว่าลาลูแบร์ด้วยในหลาย ๆ เรื่องเช่นกัน

ตรงนี้จะชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (ฟอลคอน) หรือลาลูแบร์ ต่างก็มีหลายมิติมุมองของแต่ละฝ่าย ซึ่งพ้องประโยชน์หรือขัดประโยชน์กัน ก็ล้วนถูกชื่นชมและถูกด่าทั้งคู่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 11 ต.ค. 12, 12:33

มันก็คงเป็นเรื่องไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ น่ะค่ะ
เขี้ยวพอกันทุกฝ่าย
บันทึกการเข้า
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 11 ต.ค. 12, 15:06

อะไรกันครับเพิ่งถามเมื่อเช้านี้ว่า "คติชนแปลว่าอะไร" ตั้งใจกลับมาอ่านคำตอบคุณครู อ่านคำตอบจบกำลังจะพิมพ์ตอบว่า อึ้ม (น้ำเสียงแบบทรงภูมิ แต่จริงๆยังไม่เข้าใจชัดเจน)
งั้นเอาภาษาแบบดิฉันก็แล้วกันค่ะ ง่ายๆ
คติชน เรียกอีกอย่างว่าคติชาวบ้าน  คืออะไรก็ตามที่ชาวบ้านในท้องถิ่นสร้างขึ้น ทั้งในรูปลายลักษณ์อักษร และเล่าด้วยปาก   เช่นตำนาน นิทาน บทกล่อมเด็ก ฯลฯ  ทั้งหมดนี้จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม มันคือวิถีชีวิต (หรือเรียกอีกอย่างว่าวัฒนธรรม) ของชาวบ้านนั้นๆ  นักคติชนวิทยาก็จับสิ่งเหล่านี้มาศึกษาเพื่อดูว่ามันสะท้อนอะไรบ้าง เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน

ต่อมาสาขาวิชานี้มีขอบเขตขยายกว้างออกไป ไม่ได้หมายถึงแต่เฉพาะหมู่บ้านชนบทเท่านั้น  แต่รวมสังคมเมืองด้วย  คำว่า"ชาวบ้าน" ก็ขยายออกไป หมายถึงกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมเดียวกัน   หรือมีเอกลักษณ์บางอย่างร่วมกัน เช่นมีอาชีพเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน นับถือศาสนาเดียวกัน กระทำกิจกรรมบางประเภทเหมือนกัน  ฯลฯ

เป็นคำตอบที่ขัดเจนขึ้นมากครับ (สำหรับชาวบ้านอย่างผม)
กระทู้นี้เดินเร็วจริงๆครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 11 ต.ค. 12, 20:30

ทัศนะแบบเอ๊กซ์ ต่อเจ้าพระยาวิชาเยนทร์

ด้วยตำแหน่งฐานะสูงเด่นและมีอำนาจ  วิชเยนทร์ตกเป็นเป้าหมายการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก   ทางฝ่ายไทยยกเว้นสมเด็จพระนารายณ์และพระปีย์โอรสบุญธรรม  ดูเหมือนจะไม่มีใครชอบเขา       ดร.กิ่งแก้วสรุปไว้ว่าชาวต่างประเทศด้วยกันก็ยังมองวิชเยนทร์เป็นเอ๊กซ์  แต่มีทั้งเอ๊กซ์บวกและเอ๊กซ์ลบ

   1     ทัศนะแบบเอ๊กซ์บวก  ปรากฏอยู่ในบันทึกของบาทหลวงตาชาร์ด และคนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง    บาทหลวงตาชาร์ดเล่าถึงประวัติของวิชเยนทร์ตั้งแต่เป็นกลาสีเรือมาจนเข้ารับราชการ  อาศัยไหวพริบในการจัดการกับพ่อค้าชาวมัวร์และชาติอื่นๆ มิให้เอาเปรียบสยามได้  และวางตัวเป็นที่ปรึกษาได้ดีสำหรับสมเด็จพระนารายณ์ ในด้านการคลัง ค้าขาย สถาปัตยกรรม และการสัมพันธ์ต่างประเทศ
   2    ชาวฝรั่งเศสคนอื่นๆอย่างฟอร์บัง  เซเบเรต์และ เวเรต์   พวกนี้มองวิชเยนทร์ในแง่ลบทั้งหมด     เซเบเรต์เห็นว่าวิชาเยนทร์มีเล่ห์เหลี่ยมทางการค้า   ซึ่งก็เป็นได้ว่าออกมาในทำนองไก่เห็นตีนงู   เพราะเซเบเรต์เองก็ใช่ว่าจะซื่อกับสยามเสียเมื่อไหร่   เมื่อวิชเยนทร์เป็นก้างขวางคอก็ย่อมมองในทางลบเป็นธรรมดา
    ส่วนฟอร์บังเป็นศัตรูโดยส่วนตัว ไม่ถูกกันอย่างแรง  ถึงขั้นวิชเยนทร์พยายามกำจัดมาหลายครั้งหลายครา     ฟอร์บังจึงมองหาอะไรดีในตัววิชเยนทร์ไม่เจอเอาเลย     เจอแต่ความเลวเช่นเจ้าเล่ห์ ริษยา  คดโกง มักใหญ่ใฝ่สูง และพึ่งฝรั่งเศส
    ในเมื่อทัศนะแบบเอ๊กซ์มีอยู่รอบตัว  โดยเฉพาเอ๊กซ์ลบ  ก็ไม่แปลกที่เมื่อพระราชอำนาจสิ้นสุดลงเพราะอาการประชวร   จนถึงสวรรคต   วิชเยนทร์ก็ถูกกำจัดทันที
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 11 ต.ค. 12, 21:53

การทำศึกสงครามกันระหว่างประเทศ เท่าที่ทราบมาก็หนีไม่พ้นเรื่องการเข้ามาขายอาวุธ ยุทธภัณฑ์ให้กับสยาม ทั้งนี้ชาวต่างประเทศเข้ามาขายทั้งพม่า ทั้งเขมร เช่นเดียวกัน อยากทราบว่าทั้งฝ่ายเอส และฝ่ายเอ๊กซ์ มีข้อคิดเห็นกรณีนี้ไม่หนอ  ฮืม

เอ! ไม่เข้าใจคำถาม   ต้องส่งไม้ต่อให้ท่านอื่นๆที่เข้ามาร่วมวง  
รู้แต่ว่าในกระทู้นี้มีพูดไว้ในหน้าก่อน ว่าฮอลันดาปฏิเสธไม่ช่วยสยามรบเขมร   เพราะถือว่าค้าขายกับเขมรเท่ากัน    แต่รบในที่นี้อาจจะหมายถึงจับพลัดจับผลูเข้าไปอยู่ในกองทัพด้วย  ต้องเปลืองเลือดเนื้อ
ถ้าหมายถึงจอดเรือไว้ปากอ่าวเฉยๆ แล้วขนอาวุธมาขายให้ทั้งสองฝ่ายอย่างปลอดภัยไร้กังวล   รับทรัพย์อย่างเดียว   ฮอลันดาน่าจะไม่รังเกียจนะคะ

แต่โปรตุเกสไม่ใช่แบบนี้    ย้อนไปถึงกระทู้โปรตุเกสเข้าเมือง    พวกนี้เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำตัวกลมกลืนกับชาวบ้านจนตั้งหมู่บ้าน มีภรรยาและลูกเต้าเป็นลูกครึ่งกันมากมาย  น่าจะจัดเข้าประเภท เอส   เมื่อมีการรบ ก็มีทหารอาสา(หรือเรียกอีกอย่างว่าทหารรับจ้าง)ไปช่วยรบด้วย    นอกจากขายอาวุธแล้วยังขายแรงงานและฝีมือด้วย   อนุโลมเข้าฝ่าย เอส

คุณ NAVARAT.C  และคุณ Samun007 เห็นอย่างไรคะ

ถ้าส่วนตัวผมเดานะครับ

ฝรั่งก็มีจุดประสงค์ต่างกันครับ ทุกประเทศส่วนใหญ่มาเพื่อค้าขายและหวังเป็นพ่อค้าคนกลางในการควบคุมเส้นทางสายไหมทางทะเลในภูมิภาคนี้  แต่ โปรตุเกสกับฝรั่งเศส ดูจะเน้นเรื่องอื่นด้วยเช่นเรื่องของการเผยแพร่ศาสนา ซึ่งจะต่างจากของ อังกฤษ,สเปน,ฮอลันดา ที่เน้นค้าขายอย่างเดียว

ทำให้เมื่อสยามให้โอกาสที่ดีกว่าในเรื่องของการเผยแผ่ศาสนากับโปรตุเกส จึงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับโปรตุเกสดูจะดีที่สุดในบรรดาฝรั่งที่เข้ามาหากินกับสยามนั่นเอง แต่อาจจะเพราะว่า โปรตุเกสเองก็ถูกลดอิทธิพลในระดับนานาชาติลงไปพอสมควรด้วยเหมือนกัน เพราะมีประเทศมหาอำนาจเกิดใหม่อย่างฝรั่งเศสและอังกฤษรวมไปถึงฮอลันดาเข้ามาแทนที่ จึงทำให้โปรตุเกสไม่สามารถจะเรียกร้องอะไรมากไปกว่าประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

ซึ่งเรื่องการเมืองในรูปแบบการเผยแผ่ศาสนานี้ ไม่ใช่แค่สยามชาติเดียวเท่านั้นที่มีปัญหา เพราะแม้แต่ในยุคไล่ ๆ กันอย่างญี่ปุ่น ก็ถึงกับต้องปิดประเทศ เพราะเกิดกรณีกบฏแบ่งแยกดินแดนชิมะบะระ(Shimabara Rebellion 島原の乱) ซึ่งเกิดจากการเผยแผ่ศาสนาของนักบวชจากสเปนและโปรตุเกส ทำให้คนญี่ปุ่นไปเข้ารีต และบางส่วนของพวกที่เข้ารีต ก็ดันเป็นระดับเจ้าเมืองมีอำนาจทหารในมือ เมื่อศรัทธาถึงขีดสุด ก็อยากจะสร้าง Holy Land ขึ้นมา จึงได้เกิดสงครามปลดแอกสถานะทางชนชั้นขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นต้องประกาศปิดประเทศ และไม่ค้าขายกับประเทศที่นับถือนิกายโรมันคาธอลิกไปนาน จนกระทั่งนายพลเปอร์รี่แล่นเรือดำมาบีบให้เปิดประเทศอีกรอบนั่นล่ะครับ  แต่ในช่วงนั้นที่ว่าไม่ขายกับประเทศที่นับถือคาธอลิก แต่ญี่ปุ่นกลับซื้อขายกับประเทศอื่น ๆ อย่างสยาม ผ่านบริษัท VOC ซึ่งก็ไม่ใช่อื่นไกล ของดัตช์ ซึ่งนับถือคนละนิกายนั่นเอง และ ดัตช์เองก็ยังเข้าไปมีส่วนร่วมในการปราบกบฏชิมะบะระด้วยเช่นกันครับ


เพราะฉะนั้น สยามในยุคปลาย ๆ รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูง ก็คงจะระแวงฝรั่งเศสซึ่งนับถือนิกายเดียวกับโปรตุเกสและสเปนเป็นแน่แท้ ประกอบกับยิ่งฟอลคอน ทำตัวให้เห็นเด่นชัดว่า มีความคิดไม่ซื่อ ก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของฝรั่งเศสกู่ไม่กลับในสายตาคนสยามครับ  ซึ่งตรงข้ามกับฮอลแลนด์ แม้สยามจะรู้ว่าฮอลแลนด์เองก็ไม่ใช่มิตรที่ดี แต่ตราบใดที่เงินสยามยังมีค่าอยู่ ก็ยังพอคุยกันด้วยเงินได้ครับ

ผมก็เดา ๆ ประมาณนี้ล่ะครับ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 13 ต.ค. 12, 15:46

ศาสนา

เมื่อเอาหลักเอสและเอ๊กซ์ของแจนแสนไปจับเรื่องการเผยแผ่ศาสนาในอยุธยา  ก็มองเห็นได้ว่า มีทัศนะเอ๊กซ์อยู่มากในบาทหลวงคริสตศาสนาที่มองพุทธศาสนาในยุคนั้น     พวกนี้มักจะมองว่าอะไรที่ดี ถือเป็นของตน    ส่วนความโง่เขลางมงายเป็นของคนอื่น   ส่วนพุทธศาสนามีทัศนะที่ออกไปในทางเอสมากกว่า คือประนีประนอมใจกว้าง ยอมรับศาสนาอื่นโดยไม่กีดกันรังเกียจเดียดฉันท์
ฟอร์บังบันทึกไว้ถึงพระสงฆ์รูปหนึ่ง ที่กล่าวถึงบาทหลวงไว้ว่า

" เมื่ออาตมภาพเห็นว่าศาสนาของท่านเป็นศาสนาที่ดี    เหตุไรท่านจึงไม่เห็นว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ดีบ้างเล่า"

เหตุผลหนึ่งอาจเป็นว่า บาทหลวงที่มาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในยุคนั้นคำนึงถึงปริมาณของผู้นับถือ    ยิ่งมีผู้หันมานับถือคริสต์จำนวนมากเท่าใดยิ่งถือว่าได้บุญมากเท่านั้น    ส่วนพุทธศาสนาไม่ได้ใส่ใจในปริมาณผู้นับถือมากกว่าคุณภาพ    ถ้าชาวบ้านจะศรัทธาก็ศรัทธาด้วยตนเอง  ไม่มีการบีบคั้นหรือเร่งเร้า    ความแข่งดีในทางพุทธจึงไม่ปรากฏ

ดิฉันเห็นเพิ่มเติมอีกอย่างหนึ่งว่า   พุทธศาสนาถือหลักอหิงสา    ไม่เบียดเบียนผู้อื่นไม่ว่าจะศาสนาเดียวกันหรือคนละศาสนา   จะเห็นได้ว่าการเผยแผ่ศาสนาจึงเป็นไปในทางสันติ   ไม่มีการบังคับหรือเกลี้ยกล่อมให้ใครมานับถือ    ใครศรัทธาก็แล้วแต่ใจสมัครของผู้นั้น  จำนวนจะมากหรือน้อยก็ไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 13 ต.ค. 12, 18:49

ทัศนะทางศาสนาของบาทหลวงมองศาสนาในสยามเป็นเอ๊กซ์   แม้แต่มองคริสตศาสนาด้วยกันที่ต่างนิกายกัน ก็มองแบบเอ๊กซ์กันอยู่นั่นเอง     การเผยแผ่ศาสนาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ไม่ค่อยจะได้ผล  แม้ไม่มีการกีดกัน แต่ประชาชนสยามก็ยังไม่สมัครใจจะเปลี่ยนศาสนาอยู่นั่นเอง   
บาทหลวงตาร์ชาร์ดถึงกับบันทึกยอมรับความล้มเหลวในการเผยแผ่อย่างตรงๆว่า

" ความจริงนั้นก็มิได้รับความร่วมมือจากประชาชนพลเมืองมากมายนักดอก     เพราะว่าคนสยามนั้นยังมิได้เข้ารีตคริสตัง    มีแต่ชาวฝรั่งเศสกับชาวปอร์ตุเกสที่อยู่ในเมืองละโว้เพียงไม่กี่คนเท่านั้น"

ความมุ่งหมายขั้นสูงสุดของบาทหลวงฝรั่งเศสคือเปลี่ยนพระทัยสมเด็จพระนารายณ์ให้เข้ารีตนับถือคริสตศาสนา   ก็คงจะหวังว่าเมื่อเปลี่ยนใจบุคคลสูงสุดได้    ก็จะเปลี่ยนใจประชาชนได้เอง     ข้อนี้ฟอร์บังยืนยันโผงออกมาเลยว่าไม่มีทาง     ส่วนวิชเยนทร์นั้นก็ได้แต่อ้ำอึ้ง  เพราะมองไม่เห็นทางเช่นกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 13 ต.ค. 12, 19:02

  เรื่องของศาสนาที่ดร.กิ่งแก้วเล่าไว้ในบทความนี้  ถ้ามองในแง่หนึ่งก็อ่านได้สนุกและมีสาระน่าสนใจ  แต่มองอีกแง่ถ้าจะถ่ายทอดออกมาให้อ่านในวงกว้างก็ต้องระมัดระวังเหมือนกัน    เพราะมีตัวอย่างมาให้เห็นในหลายเว็บไชต์แล้วว่าเรื่องอะไรจะทะเลาะกันง่ายเท่าการเมืองและศาสนาเป็นไม่มี     
  ในเมื่อกระทู้นี้ไม่ได้ตั้งใจจะให้ถกเถียงกันเรื่องศาสนา  จึงขอสรุปสั้นๆ จากบทความว่าคติทางพุทธและคริสต์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์เป็นเรื่องของ "ลางเนื้อชอบลางยา"  คือป่วยการจะมาเทียบกันว่าศาสนาไหนดีหรือไม่ดีตรงไหน    ผ่านไปสรุปเลยดีกว่าว่าถ้าใครชอบชีวิตแบบมีที่พึ่งเหมือนมีพ่อดูแลเอาใจใส่ทุกย่างก้าว ก็จะมองจากมุมที่มีพระผู้เป็นเจ้า    แต่ถ้าใครชอบชีวิตที่พึ่งพาตนเอง รู้เอง เห็นเอง  ไม่ยึดเหนี่ยวกับสิ่งใดพอจะเอามาเป็นอารมณ์   ก็จะมองจากมุมของปัจจัตตังและอนัตตา

   ฟอร์บังมีทัศนะในทางเอ๊กซ์บวก กับคนไทยว่า
   "คนไทยเป็นคนอ่อนโยน ว่านอนสอนง่าย   จะสั่งให้ทำอะไรก็ทำตามต้องการ"
   เขายังพบด้วยว่าคนไทยไม่รังเกียจที่จะฟังคำเทศน์สั่งสอนจากคริสตศาสนา    ยามบาทหลวงเทศน์ คนไทยก็ฟังเหมือนฟังคนเล่านิทานให้เด็กฟัง   ด้วยความพอใจ ไม่ว่าจะสอนศาสนาใดคนไทยก็ฟังทั้งนั้น"
   แต่ดิฉันก็อยากจะหมายเหตุต่อท้ายว่า   คนไทยผู้มีนิสัยสุภาพอ่อนโยนในตามปกตินั้น ฟังได้ แต่จะเชื่อหรือไม่เชื่อตามไปด้วยนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 13 ต.ค. 12, 19:13

  ทั้งๆยามปกติ ชาวสยามเป็นผู้มีนิสัยสุภาพอ่อนโยน   แต่ในยามเกิดโทสะจะกลายเป็นตรงกันข้าม   พลุ่งพล่านรุนแรงชนิดปากว่ามือถึงทีเดียว    ลาลูแบร์ถึงสรุปว่าคนไทยไม่ใช่นักรบหรือวีรบุรุษ  เพราะนักรบต้องสงวนท่าทีกว่านี้  เก็บความรู้สึกแบบเสือซ่อนเล็บมากกว่านี้    แต่คนไทยดูเหมือนว่าเกิดโทสะขึ้นมาก็เปรี้ยงปร้างออกมาง่ายๆ      ลาลูแบร์เป็นนักสังเกตพฤติกรรมมนุษย์  หลังจากอยู่ในสยามมาพักหนึ่ง คงจะเที่ยวสังเกตสังกาชาวบ้านอยู่มากพอควร   จึงสรุปว่า

  " ชาวสยามนั้นแตกกระจายก็ง่าย    รวมกันเข้าใหม่ก็ง่าย"

   ย้อนกลับมาถึงทัศนะเอ๊กซ์ที่บาทหลวงคริสต์มองพุทธศาสนา   ถ้าถามว่ามองแบบเอ๊กซ์บวกมีไหม  คำตอบคือ มี   หลังจากมาเผยแผ่ศาสนาอยู่นานพอสมควร   บาทหลวงคริสต์ก็ยอมรับว่าสาเหตุที่เผยแผ่ศาสนาของตนได้ยาก  เพราะชาวสยามเคารพนับถือจริยวัตรของพระสงฆ์ไทยมากกว่า
    สิ่งที่ก่อศรัทธาให้ชาวสยามอย่างแน่นแฟ้นจนไม่แปรเปลี่ยนความเชื่อของตนเป็นอื่น ก็คือความมีวินัย และความสำรวมของพระภิกษุสงฆ์นั่นเอง   ฟอร์บังรวบรวมเอาไว้ถึงคุณสมบัติอันน่าเลื่อมใสเหล่านี้ไว้ว่า
   1   อดทนเคร่งครัดมาก
   2   ไม่เสพสุราเมรัย
   3   ฉันแต่ของที่ชาวบ้านถวายในแต่ละวัน
   4   ของที่ได้มาเกินกว่าจะฉันได้ ก็บริจาคแก่คนจน  ไม่ได้เก็บไว้เผื่อตัวเอง
   5   ไม่ออกจากวัดนอกจากเวลาบิณฑบาต
   6   บิณฑบาตเพียงถือบาตรไป และยืนนิ่งๆ
   7   ทรมานอดอาหาร (คงหมายถึงเว้นมื้อเย็น)
   8   สงบกามารมณ์
   เมื่อเปรียบเทียบกับทางฝ่ายตน  ฟอร์บังเห็นว่า
  "สังเกตดูภายนอกก็เห็นจะประพฤติดีกว่าผู้มีศรัทธาแก่กล้าของเรามาก"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 15 ต.ค. 12, 18:55

ส่วนทัศนะเอ๊กซ์ลบที่บาทหลวงมีต่อศาสนาดั้งเดิมของสยาม เห็นได้จากบันทึกที่ท่านเข้าใจผิด นำนิทานชาวบ้านมาปนเปกับพุทธประวัติ  แล้วขนานนามว่า "นิทานโกหก"    ถือว่าเป็นเรื่องบิดเบือนให้ชาวบ้านเข้าใจผิด    นับว่าน่าเสียดายที่บาทหลวงไม่มีโอกาสได้ศึกษาพุทธประวัติในฐานะเรื่องจริง

ประชาชน


ประชาชนชาวสยามแม้เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด  แต่ก็มีบทบาทน้อยที่สุดในสังคม หรือเรียกว่าไม่มีบทบาทเลยก็ว่าได้     สงครามกลางเมืองหรือการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันครั้งไหนๆก็ตาม เป็นเรื่องของเจ้านายและแม่ทัพนายกองที่ขึ้นอยู่กับนายนั้นๆจะรบราฆ่าฟันกันเอง     เห็นได้จากเมื่อเกิดกบฏแขกมักกะสัน    วิชเยนทร์นำทหารรับจ้างทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสออกปราบปรามจนนองเลือดล้มตายกัน ก็เป็นการรบระหว่างชาวต่างชาติ 2 ฝ่าย  คือฝรั่งกับแขก    คนไทยไปอยู่ที่ไหนเสียก็ไม่ทราบ  ไม่มีการเอ่ยถึงในพงศาวดาร  ราวกับสองพวกนี้รบกันอยู่ในเมืองร้าง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 15 ต.ค. 12, 18:58

   บทบาทของประชาชนยังจำแนกได้ตามเพศคือบทบาทชายและหญิง    ถ้าพูดถึงสิทธิทางสังคม  เรียกว่าหญิงไม่มีสิทธิ์เลยก็ได้  ต้องอยู่ในอำนาจสามี   ชายสามารถจะเฆี่ยน ตี สั่งสอน หรือขาย จำนำ ได้เหมือนเป็นสัตว์เลี้ยงหรือข้าวของ      แต่ถ้าพูดถึงหน้าที่แล้ว หญิงกลับมีบทบาทสำคัญในการหาเลี้ยงชีพ   เพราะชายชาวบ้านทั่วไปจะถูกเรียกไปเป็นแรงงานหลวง คือถูกเกณฑ์ไปเป็นไพร่หลวงหรือไพร่สม ปีละ 6 เดือน     เมื่อพ้นจากภาระนี้แล้วอีก 6 เดือนก็ไม่ได้ประกอบอาชีพอะไร เพราะไม่ได้ถูกฝึกหัดให้ประกอบอาชีพ     หน้าที่หาเลี้ยงครอบครัวจึงตกเป็นของผู้หญิง ไม่ว่าทำไร่ ไถนาหรือค้าขาย     
    ลาลูแบร์บันทึกถึงการใช้เวลาของชายชาวสยามว่า เกียจคร้าน  ได้แต่กินกับนอน  พูดคุย  และเล่นการพนัน     แต่อย่างไรก็ตามเขาก็บอกในแง่เอ๊กซ์บวก ว่าชายสยามมีนิสัยไม่ดุร้าย  หญิงไทยเป็นผู้หญิงที่บริสุทธิ์(น่าจะหมายถึงประพฤติตัวดีงาม)   เด็กๆก็ว่านอนสอนง่ายอยู่ในโอวาทพ่อแม่    คดีเป็นชู้ไม่ค่อยจะมี  ส่วนความหวงแหนภรรยาและลูกสาว ชายไทยมีมากเอาการ

      ดร.กิ่งแก้วยังมองประเด็นเรื่องชายหญิงอย่างน่าสใจว่า   โครงสร้างของสังคมไทยมีชายเป็นใหญ่ตามกฎหมายก็จริง  แต่ทางด้านพฤติกรรมแล้วหญิงกลับเป็นใหญ่กว่า  เพราะเป็นคนคุมเศรษฐกิจในครอบครัว     ในเมื่อมีความเป็นใหญ่ด้านนี้  หญิงก็ไม่ได้ใฝ่ใจจะแสวงหาความก้าวหน้าในราชการด้วยการอ่านออกเขียนได้    ถ้าพวกเธออยากจะก้าวไปสู่ราชสำนักก็ไม่จำเป็นต้องหาทางเป็นขุนนาง    เพราะเข้าไปเป็นพระสนมนางใน ก็ทำได้ไม่จำกัดอยู่แล้ว
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 15 ต.ค. 12, 23:29

  ลาลูแบร์เป็นนักสังเกตพฤติกรรมมนุษย์  หลังจากอยู่ในสยามมาพักหนึ่ง คงจะเที่ยวสังเกตสังกาชาวบ้านอยู่มากพอควร   จึงสรุปว่า

  " ชาวสยามนั้นแตกกระจายก็ง่าย    รวมกันเข้าใหม่ก็ง่าย"

 

ตรงนี้ต้องดูข้อความก่อนหน้าด้วยนะครับ เพราะเป็นการกล่าวถึงตอนที่ลาลูแบร์ไปดูการซ้อมของทหารสยาม ซึ่งลาลูแบร์ไม่รู้จักการทำศึกแบบใช้กลพยุหะของสยาม ในสมัยนั้นลาลูแบร์เคยชินกับการตั้งแถวเป็นรูปสี่เหลี่ยม แล้วเดินเข้าหากันพอได้ระยะ ก็ดวลกันด้วยปืนชนิดที่ว่าแล้วแต่เวรกรรม ถ้าโชคดีกระสุนเปลี่ยนทิศเพราะเทคโนโลยีการตีเกลียวในลำกล้องปืนยังไม่มี ก็รอดตัวไป แต่ถ้าโชคร้ายก็บาดเจ็บจนถึงกับเสียชีวิตไปก็มีให้เห็นบ่อย

เมื่อลาลูแบร์มาอยู่สยาม ไปเห็นการแปรกลพยุหะเข้า ก็คงจะสงสัยเลยทึกทักเอาไปตามที่เขียนมานี่ล่ะครับ  เพราะฉะนั้น ท่านผู้เขียนบทความนี้ คงจะตัดเอามาแค่บางส่วนโดยที่อาจจะลืมพินิจพิเคราะห์ถึงเนื้อหาที่เกี่ยวกันด้วย ซึ่งถ้าตัดเนื้อหาก่อนหน้านี้ไป ความหมายตรงนี้จะเปลี่ยนไปคนละอย่างเลยครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.052 วินาที กับ 19 คำสั่ง