ปัญจมา
อสุรผัด

ตอบ: 100
|
To Tell Or Not To Tell ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย
ในวงสนทนาหลังการทานอาหารเย็นของเพื่อนเก่าที่นาน ๆ จะมีโอกาสได้เจอกันสักครั้ง สาวไทยซึ่งแต่งงานกับหนุ่มเทศถึงกับสะอึกเมื่อเพื่อนสาวนางหนึ่งหันมาถามโดยไม่ให้โอกาสตั้งตัวว่า "เธอแต่งงานมาเป็นชาติแล้วยังไม่มีลูก คุมกำเนิดหรือยะ หรือว่าแฟนเธอเป็นหมัน" ถ้าคนถามเป็นใครก็ไม่รู้ที่ไม่จำเป็นต้องใส่ใจความรู้สึก สาวไทยคนดังกล่าวคงจะตอบกลับไปสั้น ๆ แล้วว่า "It's none of your business." แล้วมันธุระกงการอะไรของแกล่ะ แต่เพราะคนถามเป็นเพื่อนที่รักใคร่กันอยู่ คนถูกถามเลยไม่ถือสาหาความเท่าไหร่ พอหายสะอึกแล้วก็แค่ย้อนกลับไปสั้น ๆ ว่า "เรื่องส่วนตั๊ว ส่วนตัวอย่างนี้ใครเขาถามกันต่อหน้าประชาชีล่ะแก" สมัยเป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ในกรุงเทพฯ สาวไทยมักจะต้องแปลกใจเสมอ ๆ ที่พนักงานบัญชีคนหนึ่งของบริษัทมักจะบอกแก่ชาวต่างชาติที่โทร.มาหาหัวหน้าข่าวชาวอเมริกันโดยไม่รู้สึกกระอักกระอ่วนใจแต่อย่างใดว่า "He can't come to the phone right now. He's in the toilet." (คนที่คุณโทร.มาหาเขามารับโทรศัพท์ไม่ได้ค่ะ เขาอยู่ในส้วม) เพราะกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ต้องกระทำในห้องน้ำนั้น ฝรั่งเขาถือว่าเป็นกิจกรรมส่วนตัวที่ไม่จำเป็นต้องเล่าแจ้งแถลงไขให้แก่ใครได้รับรู้ ยกเว้นแต่จะเป็นคนในครอบครัวเดียวกันหรือคนที่สนิทกันจริงๆ เท่านั้น ดังนั้น เวลาเราโทร.ไปหาใครที่สำนักงานของเขา ต่อให้คนรับโทรศัพท์แทนจะรู้โดยไม่มีข้อกังขาว่าคนที่ีคุณโทร.ไปหานั้นกำลังนั่งเบ่งจนหน้่าเขียวหน้าเหลืองอยู่ในห้องน้ำ เขาก็จะบอกแค่ว่า "He just stepped out and will be back shortly. Would you like to leave a massage?" (เขาเดินออกไปข้างนอกค่ะ เดี๋ยวก็กลับมา จะฝากข้อความอะไรไหมคะ) ไอ้ที่จะลงรายละเอียดด้วยว่ากำลังทำอะไรอยู่ "ข้างนอก" ด้วยนั้นไม่มีเสียล่ะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ปัญจมา
อสุรผัด

ตอบ: 100
|
ความคิดเห็นที่ 1 เมื่อ 06 ต.ค. 12, 16:07
|
|
"Too much information" เป็นประโยคหนึ่งที่อเมริกันชนชอบใช้เวลาจะบอกใครเป็นนัยๆ ว่า "แกจะท้องเสียหรือถ่ายไม่ออกก็ไม่ต้องมาบอกชั้นหรอก เราไม่ได้สนิทกันขนาดนั้น" ข้อมูลที่เกี่ยวกับความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการเจริญพันธุ์ของใครก็ตาม จะว่าไปแล้วก็เป็น "private information" หรือข้อมูลส่วนตัวของเขาผู้นั้น ถ้าเขาอยากให้คนทั้งโลกรู้เขาก็คงเอาไปปิดประกาศบนเฟซบุ๊กหรือทวีตบอกชาวบ้านไปนานแล้ว ที่ตลกกว่าการถามเพื่อนว่าแฟนแกคุมกำเนิดหรือเป็นหมันต่อหน้าบุคคลอีกหลายคนที่ล้วนแล้วแต่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียแต่อย่างใดกับความสำเร็จในการเจริญพันธุ์ของเพื่อนก็คือ พอสาวไทยคนที่เอ่ยถึงไปแล้วข้างต้นส่งสัญญาณให้เพื่อนคนหนึ่งในโต๊ะทราบกลาย ๆ ว่า "เรื่องที่แกถามนี่เก็บไว้คุยกันหลังไมค์นะ" เพื่อนอีกคนก็รีบเอ่ยขึ้นมาทันทีว่า "เฮ้ย คุยกันตรงนี้ได้ ชั้นไม่ถือหรอก" (แต่จะว่าไปแล้วอันนี้ยังแค่เบาะๆ ที่แย่ที่สุดที่สาวไทยเคยเจอมาก็คือ "นี่น้อง น้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอะไรเหรอ ใช้ถุงยางหรือว่ายาคุม" ได้ยินแล้วคุณน้องอยากจะตอบไปจริงๆ ว่า "ไม่ได้ใช้อะไรทั้งสิ้นค่ะ แค่แฟนหนูได้ยินเสียงพี่ก็หมดอารมณ์ที่จะทำอะไรแล้ว เลยไม่ต้องคุม") อเมริกานั้นจะว่าเป็นชาติที่หยาบคายก็ได้ เพราะเวลาไปเที่ยวต่างประเทศทีไร ถ้านักท่องเที่ยวคนไหนส่งเสียงคุยกันดังลั่นรบกวนคนอื่น หรือเอะอะโวยวายไม่ยอมรับกฎระเบียบของสถานที่ที่เข้าไปเที่ยวล่ะก็ ให้เดาไว้ก่อนเลยว่าเป็นอเมริกันแน่ ๆ (ถึงแม้ว่ากฎระเบียบบางอย่างจะถือกำเนิดขึ้นบนพื้นฐานของความไม่เสมอภาคของหญิงชายก็ตามที เช่น การกำหนดให้นักท่องเที่ยวสตรีต้องใส่กระโปรงเข้าไปในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เป็นต้น)
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 ต.ค. 12, 18:02 โดย เทาชมพู »
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ปัญจมา
อสุรผัด

ตอบ: 100
|
ความคิดเห็นที่ 2 เมื่อ 06 ต.ค. 12, 16:08
|
|
ขณะเดียวกัน อเมริกาก็เป็นชาติที่สุภาพมาก เพราะคนอเมริกันส่วนใหญ่จะละเว้นที่จะเปิดเผยความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองเวลาคนอื่นถาม ถ้าเขาเกรงว่าการซื่อสัตย์ต่อผู้ถามนั้นจะกลายเป็นดาบที่ย้อนกลับมาทำร้ายความรู้สึกของผู้ถามเสียเอง หรือเป็นการเสียมารยาทโดยใช่เหตุ คนไทยนั้นเวลาเจอหน้ากันก็บอกกันทันทีว่า "แกอ้วนขึ้นนะ" "ทำไมแกโทรมอย่างนี้ล่ะ" เวลาไปกินข้าวบ้านใคร ถ้าเจ้าภาพเขาถามว่า "อาหารใช้ได้ไหม" คนไทยบางคนก็รีบตอบโดยไม่ถนอมน้ำใจผู้ฟังเลยว่า "แกงนี่เค็มไปหน่อย" "ทำไมปลาแกเหม็นคาวจังเลยล่ะ ไม่สดเหรอ" แต่อเมริกันชนนั้นเขาจะไม่ติกันตรง ๆ แบบนี้ โดยเฉพาะในยามที่เขาได้รับคำเชิญไปกินข้าวบ้านคนอื่น เวลาเจ้าภาพถามสาวไทยสามีเทศว่า "ทำไมไม่เห็นกินปลาที่ชั้นทอดเลยล่ะ" สาวไทยก็จะตอบอย่างถนอมน้ำใจว่า "Oh I'm not a fish person." อ๋อ...ปกติแล้วไม่ค่อยชอบกินอาหารที่ทำจากปลาเท่าไหร่น่ะจ้ะ (แทนที่จะเป็น "แหม...ก็ปลาแกน่ะ ตายมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาล่มครั้งที่สองแล้วเพิ่งจะเอามาเสิร์ฟ ใครจะกินเข้าไปลง") หรือ "My stomach is not feeling well today, so I'm trying to be easy on food." วันนี้ท้องพะอืดพะอมยังไงก็ไม่รู้ เลยไม่ค่อยอยากกินอะไรมาก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ปัญจมา
อสุรผัด

ตอบ: 100
|
ความคิดเห็นที่ 3 เมื่อ 06 ต.ค. 12, 16:09
|
|
ประโยคอีก 2-3 ประโยคที่อเมริกันชนมักจะนำมาใช้ในการตอบแบบเลี่ยง ๆ ไม่ให้คนถามเสียน้ำใจก็คือ "It's interesting." และ "It's different." เวลาที่เราได้ยินคนอเมริกันเขาตอบว่า "It's interesting." อย่าเพิ่งไปตื่นเต้นดีใจว่าเขาเห็นสิ่งที่เราถามความเห็นนั้นน่าสนใจจริง ๆ อย่างที่เขาพูด แต่เขากำลังบอกเรากลาย ๆ ต่างหากว่าสิ่งที่เราถามนั้นไม่สอดคล้องกับรสนิยมหรือความชอบส่วนตัวของเขา แต่เขาไม่มีเหตุผลอะไรที่จะตำหนิติเตียนสิ่งนั้นอย่างโจ่งแจ้ง เช่นเดียวกัน การแสดงความเห็นต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ผู้อื่นอาจจะชอบแต่ผู้พูดไม่ชอบด้วย ประโยคที่ว่า "It's different." ก็เป็นการบอกเป็นนัยว่าผู้พูดนั้นโดยปกติแล้วไม่ใคร่จะชื่นชมกับสิ่งที่พูดถึงนัก แต่ก็ตระหนักดีว่าผู้อื่นอาจจะมีรสนิยมไม่ตรงกับเรา จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องไปพูดถึงสิ่งที่เขาชอบในแง่ลบ "(Something หรือ someone) is too ...... for my taste." เป็นอีกประโยคหนึ่งที่อเมริกันมักจะใช้สำหรับอธิบายอะไรที่ไม่สอดคล้องกับรสนิยมหรือความชอบส่วนตัวของเขา ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสิ่งของ "The food is delicious. But it's too spicy for my taste." (อาหารอร่อยจ้ะ ไม่ใช่ไม่อร่อย แต่ชั้นเป็นคนไม่ชอบกินเผ็ดเลยกินได้ไม่ค่อยเยอะ) "The dress is nice. But it's too colorful for my taste." (จริง ๆ ชุดนี่ก็สวยนะ แต่สีสันมันจัดจ้าเกินไปสำหรับเราน่ะ) "He's a nice person, but a bit too candid for my taste." (เขาก็เป็นคนดีนะ แค่พูดจาโผงผางไปหน่อยในความรู้สึกของเราเท่านั้น)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ปัญจมา
อสุรผัด

ตอบ: 100
|
ความคิดเห็นที่ 4 เมื่อ 06 ต.ค. 12, 16:10
|
|
"The truth will set you free. But first it will piss you off." คือคำอธิบายใต้รูปที่เพื่อนคนหนึ่งนำมาแชร์กับเพื่อนคนอื่น ๆ บนเฟซบุ๊ก การได้พูดความจริง (หมายถึงเลิกโกหก) หรือการได้ยินความจริงจากปากคนอื่นนั้นเปรียบเสมือนการปลดปล่อยทั้งผู้พูดและผู้ฟังให้หลุดพ้นจากพันธนาการทั้งปวงก็จริงอยู่ แต่ก่อนที่ทั้งผู้พูดและผู้ฟังจะก้าวไปถึงขั้นนั้น ความจริงที่ได้ยินได้ฟังก็อาจจะทำให้ไม่ใครก็ใครรู้สึกโมโหโกรธาขึ้นมาได้ เพราะไม่ใช่ความจริงทุกเรื่องที่เราจะรับได้หรืออยากฟัง ต่อให้เป็นเรื่องที่เราจำเป็นจะต้องได้ยินได้ฟังก็ตามที แต่คำพูดบางประโยคของพี่ไทยว่าด้วยการพูดความจริงนี่เด็ดกว่าคำคมของฝรั่งข้างบนเยอะ สมัยเด็ก ๆ แม่ของสาวไทยเคยถามพ่อว่า "งานเลี้ยงที่ไปเมื่อคีนนี้ มีผู้หญิงไปด้วยรึเปล่า" พ่อซึ่งปกติแล้วเป็นคนที่เกรงใจภรรยาสุดขีดก็ลนลานตอบทันทีว่า "โอ๊ย ไม่มีหรอก มีแต่พวกเพื่อนผู้ชายที่ทำงานด้วยกันทั้งนั้น" พอแม่เดินพยักหน้าหงึก ๆ จากไปแล้วนั่นแหละพ่อถึงหันมากระซิบข้่างหูสาวไทยว่า "จำไว้นะลูก ความจริงเป็นสิ่งไม่ตายหรอก แต่ถ้าเอ็งบอกความจริงกับแม่เอ็งเมื่อไหร่ล่ะก็ เอ็งตายแน่" สำหรับคนบางคน "The truth will not set you free. It will get you killed."
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 5 เมื่อ 06 ต.ค. 12, 17:49
|
|
ขอบคุณที่นำมาเขียนให้อ่านครับ "The truth will not set you free. It will get you killed."
พระที่ท่านรักษาศีลอย่างเคร่งครัด แม้ท่านจะไม่กล่าวมุสาเลย แต่ท่านก็ต้องฉลาดที่จะกล่าวความจริงเหมือนกัน
เคยได้ฟังมาว่า ครั้งหนึ่งพระสมณะเจ้ากำลังนั่งพักผ่อนอิริยาบทอยู่ ชายผู้หนึ่งได้วิ่งทะเลิ่กทะลั่กมาหยุดอยู่ในทางสามแพร่ง ก่อนจะวิ่งไปทางหนึ่ง ท่านจึงคิดว่าชะรอยชายผู้นี้จะหนีใครมา เดี๋ยวพวกคงตามมาถึงที่นี่แล้วคงถามเรา ครั้นเราบอกความจริงเขาตามไปฆ่ากันได้ เราคงไม่พ้นที่จะมีส่วนร่วมในปาณาติบาต ถ้าเราบอกความเท็จก็จะเป็นมุสาวาท หากว่าเราจะหลบไปจากที่นี่เสียก่อนได้ก็คงดี แต่ดูจะไม่ทันการเสียแล้ว คิดดังนั้น ท่านจึงลุกขึ้นไปหาที่อันเหมาะสมลาดอาสนะลงแล้วนั่งสำรวมรออยู่ ชั่วอึดใจ กลุ่มที่ตามก็มาถึงทางสามแพร่งนั้น คนหนึ่งถามท่านว่า “พระคุณเจ้า ท่านเห็นไอ้มหาโจรมันมาทางนี้บ้างไหม”
พระสมณะนั้นตอบด้วยอาการสำรวมว่า ตั้งแต่อาตมภาพมานั่งยังตำแหน่งนี้ พวกโยมเป็นคนกลุ่มแรกที่อาตมาภาพเห็น ชายพวกนั้นได้ยินคำพูดของพระ ก็มิได้ติดใจอันใด และเลือกทางไปที่เห็นสมควรกันเอง
พระสมณะนั้นก็ลุกขึ้นเก็บข้าวของ รีบออกเดินทางต่อเช่นกัน
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 6 เมื่อ 06 ต.ค. 12, 18:21
|
|
มาเพิ่มเรตติ้งให้คุณปัญจมาค่ะ If you tell the truth, you don't have to remember anything.” ― Mark Twain ถ้าคุณพูดความจริง คุณก็ไม่ต้องคอยจำว่าเคยพูดอะไรออกไปบ้าง - มาร์ค ทเวน นักเขียนชาวอเมริกัน
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ปัญจมา
อสุรผัด

ตอบ: 100
|
ความคิดเห็นที่ 7 เมื่อ 07 ต.ค. 12, 07:31
|
|
"พระสมณะนั้นตอบด้วยอาการสำรวมว่า ตั้งแต่อาตมภาพมานั่งยังตำแหน่งนี้ พวกโยมเป็นคนกลุ่มแรกที่อาตมาภาพเห็น ชายพวกนั้นได้ยินคำพูดของพระ ก็มิได้ติดใจอันใด และเลือกทางไปที่เห็นสมควรกันเอง"
อ่านที่คุณ NAVARAT เขียนแล้วนึกถึง "white lie" ที่ผู้เขียนกับสามีมักจะใช้บ่อย ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการโกหกแบบซึ่ง ๆ หน้า เวลามีใครที่เราไม่ค่อยสนิทหรือไม่อยากสนิทสนมด้วยมาชวนไปไหนหรือทำอะไร เวลาที่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้เขียนกับสามีมักจะตอบปฏิเสธอย่างสุภาพด้วยประโยคที่ว่า "We have friends in town." เสมอ ประโยคนี้อเมริกันชนมักจะใช้เวลามีเพื่อนจากต่างแดนหรือต่างเมืองมาเยี่ยม เป็นการอธิบายสั้น ๆ แทนที่จะบอกยาว ๆ ว่า "We have friends coming to visit us from out of town." แต่ถ้าแปลความหมายของประโยค "We have friends in town" นี้ในภาษาอังกฤษแบบตรงตัวเป๊ะ ไม่คำนึงถึงการใช้ในแบบอเมริกัน ประโยคนี้ก็แปลว่า "เรามีเพื่อนอยู่ในเมือง" เท่านั้น ดังนั้นในทางเทคนิค ผู้เขียนและสามีไม่ได้โกหกคนที่มาชวนไปไหนด้วย เพราะเราทั้งสองต่างก็มีเพื่อนมากมายอยู่ในเมืองนี้จริง ๆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ปัญจมา
อสุรผัด

ตอบ: 100
|
ความคิดเห็นที่ 8 เมื่อ 07 ต.ค. 12, 08:02
|
|
อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน สมัยที่ตกเป็นข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันไม่เหมาะสมที่เขามีกับเด็กฝึกงานในทำเนียขาวชื่อโมนิก้า ลูวินสกี้ ก็เคย "เลี่ยงบาลี" ด้วยการใช้คำว่า "I did not have sexual relations with that woman." เพราะในทางเทคนิค กิจกรรมที่ทั้งคู่ทำกันในทำเนียบขาวอาจจะไม่จัดว่าเป็น "relations" ก็เป็นได้
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 9 เมื่อ 07 ต.ค. 12, 08:27
|
|
แหม พระท่านก็สอนกำกับไว้นะครับ ให้ฉลาดในคำพูดเพื่อหลีกเลี่ยงมุสาวาท แต่อย่าเจ้าเล่ห์นะ
ผมว่าคำหลีกเลี่ยง กับคำแก้ตัว นี่มันต่างกัน คำพูดอย่างของพ่อบิลนี่ กระล่อนชัดๆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|