เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 20511 ใครเป็นผู้ประพันธ์บทสวดมนต์ พาหุง
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



 เมื่อ 05 ต.ค. 12, 14:10

เรียนสมาชิกเรือนไทย

ข้าพเจ้าคุยกับเพื่อน แล้วเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับคำแปลบทพาหุง ที่แปลเป็นฉันท์ว่าประพันธ์เพื่อเหตุใด ขออนุญาตถามทุกท่าน

ข้อมูลแรก กล่าวไว้ดังนี้

  ท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า รัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนี ออสเตรีย และฮังการี เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยเข้าร่วมกับ ฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ และทรงได้ส่งทหารไปสู่สงครามเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑นั้นพระองค์ทรงนำกองทัพสวดคาถาพาหุง พร้อมทั้งคำแปลที่ทรงพระราชนิพนธ์ เป็นวสันตดิลกเพื่อชัยชนะแห่งกองทัพไทย และฝ่ายพันธมิตร

          ท่านอาจารย์กล่าวต่อไปว่า สถานที่ที่ทรงประกอบพระราชพิธีจะเป็นท้องสนามหลวง (ทุ่งพระเมรุ) หรือไม่ ไม่แน่ใจ กำลังหาหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ ท่านว่าอย่างนั้น

          ฉันท์พระราชนิพนธ์บทนี้ ทรงนำเอา “ชยมังคลอัฏฐกคาถา” บทแรก (คือบทพาหุง) มาลงไว้ดัดแปลงตอนท้ายจากเดิม ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ เป็น ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะสิทธิ นิจจัง ข้อความมีดังนี้ครับ

พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินาชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะสิทธิ นิจจัง

ปางเมื่อพระองค์ปะระมะพุท
ธะวิสุทธะศาสดา
ตรัสรู้อนุตตะระสะมา
ธิ ณ โพธิบัลลังก์

ขุนมารสหัสสะพหุพา
หุวิชาวิชิตขลัง
ขี่คีริเมขละประทัง
คชะเหี้ยมกระเหิมหาญ

แสร้งเสกสราวุธะประดิษฐ์
กละคิดจะรอนราน
ขุนมารผจญพยุหะปาน
พระสมุททะนองมา

หวังเพื่อผจญวระมุนิน
ทะสุชิน(ะ)ราชา
พระปราบพหลพยุหะมา
ระเมลืองมลายสูญ

ด้วยเดชะองค์พระทศพล
สุวิมล(ะ)ไพบูลย์
ทานาทิธัมมะวิธิกูล
ชนะน้อมมโนตาม

ด้วยเดชะสัจจะวจนา
และนะมามิองค์สาม
ขอจงนิกรพละสยาม
ชยะสิทธิทุกวาร

ถึงแม้จะมีอริวิเศษ
พละเดช(ะ)เทียมมาร
ขอไทยผจญพิชิตผลาญ
อริแม้นมุนินทร.ฯ

คราวหน้าจะนำ “คำแปลพาหุง” พร้อมอรรถาธิบายประกอบมาลงให้อ่านจนจบครับ

 

......
จากหนังสือ คาถาพาหุง
คาถาแห่งชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์
ศาสตราจารย์พิเศษเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

ที่มา http://www.dhammajak.net/index2.php?option=com_content&task=view&id=540&pop=1&page=0&Itemid=56
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 14:14

นอกจากนี้ยังมีการแต่งเพิ่มเติมอีก โดยอาจารย์มะเนาะ ยูเด็น

บทสวดถวายพรพระ ทำนองสรภัญญะ

เป็นบทสวดที่แปลมาจากคาถา พาหุง ในภาษาบาลี ซึ่งมีอยู่แปดบท กล่าวถึงชัยชนะแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อ'มาร' หรือเหตุการณ์ต่างๆ ในการสวดสรภัญญะเป็นหมู่ นิยมสวดบทสวดที่หนึ่ง (ปางเมื่อพระองค์ปรมพุท) ซึ่งเป็นคำแปลโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยดัดแปลงบทลงท้าย ชะยะมัง คะละลานิ มาเป็น ชะยะสิจธินิจจัง

   บทที่สอง ถึง แปด นั้น ท่านอาจารย์ มะเนาะ ยูเด็น แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นผู้แต่ง ซึ่งได้แต่งไว้ในคำประพันธ์ชื่อ พาหุงคำฉันท์
   
   1.  ปางเมื่อพระองค์ปรมพุท-  ธวิสุทธศาสดา
   ตรัสรู้อนุตรสมา -         ธิ ณ โพธิบัลลังก์
   ขุนมารสหัสพหุพา - หุวิชาวิชิตขลัง
   ขี่คีริเมขละประทัง คชะเหี้ยมกระเหิมหาญ
   แสร้งเสกสราวุธประดิษฐ์ กลคิดจะรอนราน
   รุมพลพหลพยุหะปาน      พระสมุทรนองมา
   หวังเพื่อผจญวรมุนิน    - ทสุชินราชา
   พระปราบพหลพยุหมา  - รเมลืองมลายสูญ
   ด้วยเดชะองค์พระทศพล สุวิมลไพบูลย์
   ทานาทิธรรมวิธิกูล ชนน้อมมโนตาม
   ด้วยเดชะสัจวจนา และนมามิองค์สาม
   ขอจงนิกรพลสยาม ชยสิทธิทุกวาร
   ถึงแม้จะมีอริวิเศษ พลเดชเทียมมาร
   ขอไทยผจญพิชิตผลาญ อริแม้นมุนินทร
   
   2.   ถ้วนรัตติอาฬวกยักษ์ มุหะกักขฬากร
   โฆราปวาทพระชินวร หฤหรรษ์อหังการ
   ยิ่งคราพระองค์ปรมพุทธ อภิยุทธ์ผจญมาร
   สัมพุทธโปรดประณุทพาล อริจิตอมิตรคลาย
   ทรงไขพระขันติวรธรรม วิธิคัมภิโรบาย
   จิตจัณฑยักษ์มุหะมลาย กุธะฟุนละมุนลง
   ด้วยเดชชเยศอภิยุท- ธพิสุทธิ์ภิเษกสรง
   สรวมพรบวรอนุตรมง- คลฤทธิ์ประสิทธิ์พลัน
   
   3.   นาฬาคิรีพลพิลึก คชะคึกคะนองมัน
   คืออัคนีประลยวัน วิยจักรารอน
   เริงรุทรประดุจอสนิบาต นฤนาททิฆัมพร
   โถมทวนพิถียบทจร พระสุคตเสด็จคลา
   ทรงโสรจวรัมพุทกสิญ- จนะรินพระเมตตา
   รื่นรส ณ คชหทยา มทะอุณห์ละมุนลง
   ด้วยเดชพระเมตติยมฤต อภิสิตภิเษกสรง
   สรวมพรบวรอนุตรมง- คลวัฒน์จิรัฐกาล
   
   4.   โจรใจฉกาจทระนง กิระองคุลีมาล
   ชูขรรค์ถลันถลทะยาน ระยะโยชนาตรี
   อุกอำมหิตหทยะมาด จะพิฆาตพระชินสีห์
   หากพุทธโกศลวิธี นิยยานการนำ
   ด้วยอิทธิสังขตมโน วรโพธิญาณธรรม
   พาพ้นอนันตริยกรรม ภยะร้ายสลายลง
   ด้วยเดชชเยศมนมยิทธิ์ อภิสิตภิเษกสรง
   สรวมพรบวรอนุตรมง- คลฤทธิ์ประสิทธิ์ผล
   
   5.   ปางจิญจยาปทุฐจิต กละคิดพิรากล
   ก้อนกาฐะคาดอุทระตน วิยคัพภินียา
   ในกลางนิกรชนะประกาศ อปวาทพระสัตถา
   มวลสัตบุรุษจะสถิรา วิจิกิจฉ์ก็คิดแคลง
   สัมพุทธดุษณิยสันต์ วิยะจันทร์จรัสแสง
   สันตาธิวาสนแสดง ทุรุบายสลายลง ด้
   วยเดชะสันตชยฤทธิ์ อภิสิตภิเษกสรง
   สรวมพรบวรอนุตรมง- คลฤทธิ์พิสิฐา
   
   6.   เดียรัตถิย์สัจจกนิครนถ์ อธิอนธอันธา
   เหิมจิตเพราะทิฐิอติมา- นะอนุตรวาที
   เสียสัตย์จะทัดพระวรวากย์ ปฏิพากย์พระชินสีห์
   เพียงเสาวณิตพระสวนีย์ ก็วิรัติวิวาทา
   ปัญญาปทีปชวลิต พระพินิตนิคัณฐา
   ฤๅรังสิขัชชุปนกา จะประจัญประภากร
   ด้วยเดชชเยศพระนรสีห์ รศมีประภัสสร
   สรวมสรรพพิสุทธิ์อนุตรพร ชยฤทธิ์ประสิทธิ์ผล
   
   7.   นันโทปนันทภุชคิน- ทรหินชาติมนท์
   กำแหงแสดงสทิสพล เพราะพิโรธนาวรณ์
   มืดมน ณ บนอนิลบถ ธุมะจดทิฆัมพร
   จึงองค์พระผู้อนธิวร วรพุทธฎีกา
   พุทโธรสาอธิกฤทธิ์ ทมะทิสนาคา
   ฤทธูปเทสะทมนา- คนุฤทธิ์พิชิตลง
   ด้วยเดชชเยศวรฤทธิ์ อภิสิตภิเษกสรง
   สรวมพรบวรอนุตรมง- คลพาสิตารมณ์
   
   8.   พรหมมิจฉทิฐิอติมา- นะพกาภิไธยพรหม
   หลงความวิสุทธิ์ชุตินิยม และมหิทธินิจจา
   มิจฉาเสมือนอสิรพิษ ทฐวิส ณ หัตถา
   สมเด็จบรมวรนา- ยกพาธพยาบาร
   ทรงมอบมโหสถวิเศษ วรเวชอาธาร
   คือองค์อนุตรติญาณ ปริวัฏตรีวง
   ด้วยเดชพระญาณวรวิชช์ อภิสิตภิเษกสรง
   สรวมพรบวรอนุตรมง- คลฤทธิ์วิศิษฐา
   
          ถ้วนอัฐมังคลชยุตม์           วรพุทธคาถา
          ผู้ปรีชญาณละอลสา          บริกรรมประจำกาล
          จักป้องอุปัททรพเหตุ          ภยเภทสลายลาญ
          จักนีรทุกข์สุขพิศาล            ลุวิมุตติวิสุทธิ์แล ฯ
   
   ที่มา พาหุงคำฉันท์ ของท่านอาจารย์ มะเนาะ ยูเด็น
   กราบ3ครั้ง

ที่มา http://truthoflife.fix.gs/index.php?topic=5111.15

ท่านใดทราบประวัติท่านผู้ประพันธ์บ้าง
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 14:16

แต่ที่อยากรู้จริงๆเลยคือ ใครเป็นผู้แต่งคาถาบาลีพาหุงนี้ เป็นของเก่ามาแต่อินเดีย หรือเกิดในไทย

ข้าพเจ้าอ่านมา เขาอธิบายดังนี้

 ความเป็นมาของคาถาพาหุงค่อนข้างสับสน บางท่านว่าน่าจะแต่งโดยนักปราชญ์ศรีลังกา เพราะพระลังกาสวดกันได้ทุกรูป บทสวดมนต์บางบทที่สวดกันแพร่หลายในเมืองไทยเช่น นโมการอัฏฐกคาถา หรือนโมแปดบท พระลังกาสวดไม่ได้ เพราะแต่งที่เมืองไทย ใช้สวดเฉพาะพระไทย (ไม่สากล) เมื่อคาถาพาหุงค่อนข้างจะ “สากล” จึงน่าจะแต่งโดยพระลังกา ว่ากันอย่างนั้น

          เหตุผลนี้ฟังดู “หลวม” คือไม่จำเป็นต้องสรุปว่าแต่งที่ลังกาก็ได้ แต่งที่เมืองไทยนี่เองเมื่อแต่งดีและแต่งได้ไพเราะ พระลังกามาคัดลอกไปสวดย่อมเป็นไปได้ ทีอะไรๆ ก็มักจะอ้างลังกา อ้างพม่า ก็ เพราะไม่เชื่อว่า ปราชญ์ไทยจะมีปัญญาแต่งฉันท์ที่ไพเราะอย่างน ี้ด้วยเหตุนี้คัมภีร์ศาสนาหลายเล่มจึงมอบให้เป็นผลงานของพระลังกาและพระพม่าไป

          มังคลัตถทีปนี ที่ พระสิริมังคลาจารย์ชาวเชียงใหม่แต่ง ก็ยังว่า เป็นฝีมือของพระพม่าเลยครับ คือกล่าวว่า พระสิริมังคลาจารย์ เป็นพระพม่ามาอยู่ที่ล้านนา อะไรทำนองนี้

          บางท่านบอกว่า คาถาพาหุง แต่งที่เมืองไทย และแต่งมานานแล้วด้วย ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โน่นแน่ะ ท่านผู้นั้นขยายความว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงรบชนะพระมหาอุปราชา แห่งพม่าแล้วพระนพรัตน์ วัดป่าแก้ว ได้ประพันธ์คาถาพาหุงนี้ถวายพระเกียรติ ในชัยชนะอันยิ่งใหญ่คราวนั้นว่าอย่างนั้น

          ครั้นถามว่า “มีหลักฐานอะไรไหม” ท่านบอกว่า “เห็นในนิมิตตอนนั่งสมาธิ” เมื่อท่านว่าอย่างนี้ เราทำได้ก็แค่ “ฟัง” ไว้เท่านั้น จะเถียงว่าไม่จริง หรือรับว่าจริงก็คงไม่ได้ มีคำพูดฮิตอยู่ในปัจจุบันคือ “ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่” วางท่าทีอย่างนี้ น่าจะเหมาะกว่ากระมังครับ

ที่มา http://www.dhammajak.net/index2.php?option=com_content&task=view&id=540&pop=1&page=0&Itemid=56
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 14:23

สาธุครับ คุณหาญปิง

ข้าพเจ้าตอนเรียนทุกวันศุกร์ก็ท่องบทสวดสรภัญญะ อันไพเราะนี้ด้วย

ข้อมูลในวิกิเกี่ยวกับบทสวดนี้ว่า

"สรภัญญะ (คำอ่านภาษาไทย: /สะระพันยะ/ หรือ /สอระพันยะ/) คือ ทำนองสำหรับสวดฉันท์ เป็นทำนองแบบสังโยค คือ สวดเป็นจังหวะหยุดตามรูปประโยคฉันทลักษณ์ มักใช้สวดบูชาพระรัตนตรัยในพระพุทธศาสนา
 
การสวดฉันท์ทำนองสรภัญญะมีมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ก่อนหน้านั้นนิยมสวดฉันท์ภาษาบาลี มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และผู้สวดส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์ ทำนองสรภัญญะไม่แพร่หลายนัก ต่อมา พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ป.ธ.8 องคมนตรีและเจ้ากรมพระอาลักษณ์ในรัชกาลที่ 5 แปลบทสรรเสริญคุณต่าง ๆ เป็นฉันท์ภาษาไทย เรียก "คำนมัสการคุณานุคุณ" มี 5 ตอน คือ บทสรรเสริญพระพุทธคุณ บทสรรเสริญพระธรรมคุณ บทสรรเสริญพระสังฆคุณ บทสรรเสริญมาตาปิตุคุณ และบทสรรเสริญอาจาริยคุณตามลำดับ บทประพันธ์นี้ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน ใช้สวดกันโดยทั่วไป และเนื่องจากบาทแรกเริ่มว่า "องค์ใดพระสัมพุทธ" จึงมักเรียว่า "บทสวดองค์ใดพระสัมพุทธ"
 
นอกจากบทสรรเสริญพระรัตนตรัยแล้ว ทำนองสรภัญญะยังใช้สวดคาถาบทอื่นอีก เช่น บทแปลคาถาพาหุงซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเริ่มว่า "ปางเมื่อพระองค์ปรมพุทธ"

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ผู้ประพันธ์บทสวดองค์ใดพระสัมพุทธฯ บทสวดทำนองสรภัญญะที่เป็นรู้จักมากที่สุดในปัจจุบัน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 20:16

อย่างน้อยก็มีเวปนึงที่กล่าวว่า ท่านอาจารย์มะเนาะ ยูเด็นเป็นมุสลิม


http://www.oknation.net/blog/print.php?id=739737


ถ้าเป็นความจริงเช่นนั้น ต้องยอมรับว่า นอกจากความเป็นกวีเอกไม่เป็นรองใครในแผ่นดินแล้ว ท่านยังเป็นศาสนิกชนที่มีหัวก้าวหน้ามากด้วย
ผมขอคารวะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.048 วินาที กับ 19 คำสั่ง