ยิ่งได้เห็นตัวอย่างที่ท่านอาจารย์เทาชมพูยกมาคำว่าสจ๊วต ยิ่งได้เห็นความลักลั่นของการใช้คำภาษาไทยกับคำยืมภาษาอังกฤษ(ตกลงว่าเรียกว่าคำยืมใช่รึเปล่าครับ)
ในขณะที่เราออกเสียงสจ๊วต ว่า สะ-จ๊วต ตรงตามรูปที่เขียน แต่พอ คอร์ด เราออกเสียง ขอร์ด
ถ้าใช้ระบบแบบเดิมที่เปิดกว้าง สจ๊วตก็ควรจะเขียนว่า สจวต แต่ถ้าใครเขียนแบบนี้ คนอ่านคงทำหน้าพิกล แต่ใครเขียน คอร์ด ว่า ขอร์ด คนอ่านก็ทำหน้ากระอักกระอ่วนอีก
ดังนั้นอาการขัดหูขัดตา มันจึงมาจากความเคยชินมากกว่า ทำให้ยอมรับแบบใหม่ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะการสะกดแบบใหม่ให้ตรงกับการออกเสียงมันไม่ดี
ตกลงมาตรฐานปัจจุบันเลยกลายเป็นว่าคำไหนนิยมเขียนแบบไหน นิยมออกเสียงแบบไหน ก็ใช้ต่อไปตามเดิม
เด็กไทย ป.2 ที่ผันเสียงเก่งแม่นยำ ถ้าไม่เคยได้ยินคำว่าสจ๊วต คอมพิวเตอร์ คอร์ด คลับ มาก่อน อ่านครั้งแรกคงออกเสียงว่า สะ-จวด คอม-พิว-เตอ คอด คลับ(ไม่ใช่ขลับ)
ที่ทุกวันนี้ออกเสียงกันได้ถูกตามมาตรฐานไทย เพราะคนอื่นๆ ออกเสียงกันแบบนั้น อาศัยความคุ้นเคยล้วนๆ
อย่างคำว่าแฟนคลับ เวลาเขียน ผมกลับรู้สึกขัดใจที่ต้องเขียนว่าคลับ ดังนั้นมักจะนิยมเขียนแบบเล่นๆ ว่าแฟนขับไปเลย
เขียนแบบมาตรฐานมันขัดใจครับ เพราะตอนประถมถูกครูบังคับเคี่ยวเข็ญให้ผันเสียงให้ถูกต้อง พอเจอบางคำมันขัดๆ สามัญสำนึก
แต่กับคำว่าคอมพิวเตอร์ แฟลต ผมกลับไม่ขัดใจ แม้แต่ตัวเองก็หลายมาตรฐานจริงๆ
ผมค่อนข้างเห็นต่างจากท่าน CrazyHOrse ที่บอกว่าต่อไปเด็กไทยต้องมานั่งท่องจำว่าจะเขียนอย่างไร
เพราะถ้าเราออกมาตรฐานว่า คำไหนคนไทยนิยมออกเสียงอย่างไร ก็ให้สะกดตามเสียงนั้น ปัญหาจะไม่เกิดมาก ไม่ต้องมานั่งจำหรือบัญญัติกันอีก
จะมีปัญหาแต่คำเสียงสั้น เช่นจะเขียนว่า คอม หรือ ค็อม มากกว่า แต่เรื่องวรรณยุกต์ จะเป๊ะกว่าปัจจุบัน
ต่อไปอีก 100 ปี คำยืมคงไม่ได้มีแค่ห้าพันคำ แต่คงมีมากกว่านั้นมาก การใช้ภาษาอังกฤษในประโยคภาษาไทย จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น
ราชบัณฑิตไม่ควรพยายามไปบัญญัติคำเป็นภาษาไทยใหม่ เพื่อใช้แทนคำภาษาอังกฤษนั้นๆ แต่ให้เราใช้ทับศัพท์ไปเลย โดยเฉพาะพวกชื่อเฉพาะทั้งหลาย
ดังนั้นการเขียนให้ตรงกับที่คนไทยออกเสียง ผมไม่เห็นว่ามันจะสร้างปัญหาอะไรเลย นอกจากเราคนไทยกันเองต้องแม่นยำเรื่องการสะกด การผันเสียงวรรณยุกต์ให้มาก
เพียงแต่ถ้าจะทำแบบนั้นจริงๆ ช่วงแรกๆ มันจะขัดหูขัดตาคนรุ่นปัจจุบันมาก ผมว่าอาการขัดหูขัดตานี่แหละ ทำให้ อ.กาญจนาได้รับก้อนอิฐก้อนหินไปเต็มๆ
ถ้าตัดอคติไป ผมยังมองไม่เห็นข้อเสียของการเขียนให้ตรงกับที่เรานิยมออกเสียงจริงๆ
ปัญหาของระบบการศึกษาไทย ที่เด็กไทยโง่ลง อันหนึ่งที่เห็นคือตำราของกระทรวงฯ มันห่วยมากๆ
เมื่อปีที่แล้วผมซื้อตำราภาษาไทยเด็ก ป.1 ของกระทรวง ตั้งใจจะเอามาสอนเด็กไทยที่บ้านที่อังกฤษ แต่พอเอามาสอนต้องอึ้ง
ปรากฏว่าหน้าแรก สอนให้เด็กอ่านใบบัวใบโบก ไม่ทันสอนสะกด ผันเสียง แต่ใช้วิธีให้เด็กจำเสียงของคำเป็นคำๆ ไป ดังนั้นถ้าเด็กเจอคำใหม่ที่ไม่รู้จัก จะอ่านไม่ได้
ไม่รู้ว่านักการศึกษาที่ไหนคิด อะไรอยู่เบื้องหลังการคิดแบบนั้น มาสอนเด็กไทยแบบทำลายความสามารถในการอ่าน การสะกด การผันเสียงของเด็กแบบจงใจ
ผมต้องไปหาโหลดตำราภาษาไทย มานะมานีแบบที่ผมเรียนตอนเด็กๆ มาสอนแทน
ง่า เรียนถามท่านอาจารย์เพ็ญชมพูต่อ เรื่องมาตรฐานภาษาไทยอักษรต่ำเดี่ยวฉบับประกอบปรับปรุงใหม่ครับ ที่ลองย้ายอักษรต่ำเดี่ยวมาเป็นอักษรกลาง เพราะอ่านแล้วยังงงๆ
เห็นท่านอาจารย์บอกว่ามันผิดกฏ ซึ่งก็จริงครับ แต่เป็นไปได้ไหมว่ากฏเองมันก็ใช้ผิด เพราะผมยังไม่เห็นว่าเสียงคำไหนมันหายไปเลยนะครับ หรือมันหาย ยังงงต่อไปครับ
