เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8
  พิมพ์  
อ่าน: 67440 คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 10:13

นาน น๊าน จะมีคนชมทีนึง

ยินดีครับ
ว่าแต่ว่าวัยอย่างคุณลุงหาตุ๊กตาน่ารัก ๆ มาประกอบได้อย่างไรครับ (ล้อเล่นนะครับ)
บันทึกการเข้า
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 11:20

ผมมีอีกแง่มุมหนึ่งในทางตรงกันข้ามของปัญหาที่ยังไม่เห็นมีใครพูดถึง นั่นคือการเขียนคำภาษาอังกฤษจากคำไทยที่เป็นชื่อ (proper noun) โดยเฉพาะชื่อหน่วยงาน ชื่อสถานที่ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็แปลเป็นอังกฤษเองเพราะไม่รู้จะปรึกษาใครหรือจะอ้างอิงจากที่ไหน เช่น
 
"ราชวิถี"
โรงพยาบาลราชวิถี Rajavithi Hospital
มูลนิธิโรงพยาบลราชวิถี Rachavithi Hospital Foundation
สโมสรฟุตบอลราชวิถี Raj-Vithi F.C.
The Faculty of Tropical Medicine, Mahidol University "Students may use the library of the Rachavithi campus....."
สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี Rajvithi Home for Girls
TUUGO.in.th New-ccet ที่อยู่: 420/1 Rajchavithi Rd Rajchathawee, Bangkok, 10400
ฯลฯ

คำต่อไปที่ยิ่งปวดหัวมากอีก
"เจ้าพระยา"
Chaophraya "The Chao Phraya[1] is a major river in Thailand,..."
Chaopraya
Chaophya
Jaophraya
ฯลฯ

ทางออกของปัญหาควรทำอย่างไรครับ
 ฮืม  ร้องไห้





บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 11:36

ท่านรอยอินเตรียมทางออกไว้ให้คุณสุจิตราแล้ว

http://www.royin.go.th/upload/246/Fileupload/416_2157.pdf

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 11:40

เข้ามาช่วยอีกแรง

การเขียนภาษาอังกฤษ - ไทย ชื่อเขต อำเภอ ทั่วประเทศ http://www.royin.go.th/upload/246/FileUpload/1723_5812.pdf

ทั้งนี้ยังมีบางคำที่บางหน่วยงานราชการยังแย้งกันอยู่ ในเรื่องการเขียนชื่อ ถนน และคลอง จะให้เป็นการถ่ายเสียง หรือ ถ่ายความหมาย  ฮืม

เช่น ถนน ก. - Kor. Road หรือจะเขียน Thanon Kor.  เป็นต้น

คลองก็เช่นเดียวกัน คลองตัน - Khlong Ton หรือจะเขียน Ton Canal



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 11:42

ขออนุญาตกลับเข้ามาสู่หัวข้อกระทู้อีกครั้งหนึ่ง

เรื่องการแก้ไขคำนี้มีเรื่องหนึ่งที่อาจทำความสับสนให้กับประชาชนทั่วไปรวมถึงในเรือนไทยนี้ด้วย

เอกสารที่ออกมาจากราชบัณฑิตเรียกคำเหล่านี้ว่า "คำยืม" ส่วนหัวข้อกระทู้นี้เรียกว่า "คำทับศัพท์"  

ตกลงคำทั้ง ๑๗๖ คำเป็น "คำทับศัพท์" หรือ "คำยืม"

อาจารย์กาญจนาเขียนไว้คอลัมน์ "ภาษาไทยวันนี้" เรื่อง "คำทับศัพท์ คำยืม" ในนิตยสารสกุลไทย ดังนี้

คำว่า คำทับศัพท์ เป็นคำที่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ คิดขึ้นใช้เรียกคำภาษาอังกฤษที่เขียนด้วยตัวอักษรไทยในบทความทางการแพทย์ที่ตีพิมพ์ในสารศิริราช เมื่อ ๕๐ กว่าปีมาแล้ว ศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ เป็นบรรณาธิการวารสารการแพทย์ฉบับนั้น และได้พบว่าผู้เขียนบทความและรายงานผลการวิจัยทางการแพทย์ส่วนมากเขียนบทความภาษาไทย โดยใช้คำภาษาอังกฤษที่เขียนด้วยตัวอักษรโรมันแทรกอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพราะแพทย์ได้รับการศึกษามาจากต่างประเทศ รับวิทยาการจากต่างประเทศและยังไม่สามารถแปลหรือบัญญัติคำภาษาไทยใช้เพื่อแทนคำภาษาอังกฤษนั้นได้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ จึงเสนอวิธีการทับศัพท์ เพื่อไม่ให้ปรากฏคำที่เป็นตัวอักษรโรมันในบทความภาษาไทย

การทับศัพท์เป็นเพียงการถ่ายรูปคำภาษาอังกฤษนั้นมาเป็นภาษาไทย โดยการเทียบตัวอักษรตัวต่อตัว ทั้งนี้เพื่อให้นายแพทย์ทั้งหลายสามารถแปรรูปคำทับศัพท์กลับไปสู่คำภาษาอังกฤษได้ คำทับศัพท์แสดงการออกเสียงคำภาษาอังกฤษพอประมาณ แต่ไม่ได้แสดงว่าเป็นคำยืมที่จะนำมาใช้ในภาษาไทย การทับศัพท์เป็นเพียงการเขียนคำภาษาอังกฤษชั่วคราว ด้วยตัวอักษรไทยพอเป็นเค้าให้ทราบว่า คำนั้นๆภาษาอังกฤษคือคำอะไร การเขียนจึงกำหนดให้ใกล้เคียงกับคำในภาษาอังกฤษ ใช้ตัวอักษรทั้งหมดที่มีในภาษาไทยเพื่อช่วยให้ย้อนกลับไปหาคำในภาษาอังกฤษได้ เช่น ใช้ ฆ-ก ฌ-ช ธ-ท ศ-ส ไ-ัย แทนตัวอักษรโรมันที่ต่างกัน ตัวอักษรที่ไม่ออกเสียงแม้จะอยู่หน้าคำก็เขียนไว้และใส่เครื่องหมายทัณฑฆาต เช่น คำว่า pneumonia ทับศัพท์เป็น ป์นิวมอเนีย enzyme ทับศัพท์ว่า เอ็นซัยม์ vitamin ทับศัพท์เป็น วิตะมิน syphilis ทับศัพท์เป็น ซิย์ฟิลิส anticholinergic ทับศัพท์เป็น แอนติโฆลิเนอร์จิค acanthocyte ทับศัพท์เป็น อะคันโธซัยต์ achromia ทับศัพท์เป็น อะโฆรเมีย achylia gastrica ทับศัพท์เป็น อะฆัยเลีย กาสตริคา acidosis ทับศัพท์เป็น แอศิโดสิส adenoids ทับศัพท์เป็น อะดีนอยด์ส์ เป็นต้น คำทับศัพท์เป็นศัพท์ทางวิชาการที่ใช้เมื่อยังไม่มีคำบัญญัติศัพท์หรือคำแปลที่เหมาะ ต่อมาคณะแพทย์ได้ร่วมกันคิดศัพท์บัญญัติขึ้นใช้แทนคำภาษาอังกฤษนั้นๆ จึงเกิดคำภาษาไทยที่เป็นศัพท์บัญญัติทางการแพทย์ขึ้น คำใดบัญญัติศัพท์ขึ้นใช้ได้แล้วก็ไม่ต้องใช้คำทับศัพท์อีกต่อไป คำใดไม่สามารถบัญญัติศัพท์ให้ถูกใจได้ก็รับไว้เป็นคำยืม ปรับการเขียนให้ใกล้เคียงกับเสียงที่ใช้ในภาษาไทย เช่น gout เขียนเป็น เก๊าต์ reflex เขียนเป็น รีเฟล็กซ์ ataxia เขียนเป็น อะแท็กเซีย เป็นต้น
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 11:45

คำว่า คำยืม เป็นคำศัพท์ทางวิชาการภาษาศาสตร์ เรียกคำที่ภาษาหนึ่งรับมาจากภาษาอื่น ทุกภาษามีคำยืมจากภาษาอื่นมาใช้ในภาษาตน มากบ้างน้อยบ้างตามความจำเป็น และขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ หรือความนิยมภาษาที่ถูกยืมมาว่ามีมากน้อยเพียงใด เช่น ภาษาไทยมีคำยืมจากภาษาบาลีภาษาสันสกฤตมาก มีคำยืมจากภาษาเขมร ภาษาจีน ภาษาชวา-มลายู ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอื่น ๆ พอสมควร เป็นต้น ในทางหลักภาษา คำยืมเป็นคำที่ใช้ในภาษาผู้ยืมได้เช่นเดียวกับคำดั้งเดิมหรือคำแท้ในภาษา ในทางวัฒนธรรมและค่านิยม คำยืมจากบางภาษาอาจมีสถานะสูง แต่คำยืมจากบางภาษาอาจมีสถานะเป็นเพียงคำภาษาปาก เช่น ในภาษาไทย คำยืมจากภาษาบาลี สันสกฤต ได้รับการยอมรับว่าเป็นคำสูง เพราะใช้เป็นราชาศัพท์ และใช้ในการแต่งหนังสือประเภทร้อยกรอง ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นวรรณคดีของชาติ ส่วนคำยืมจากภาษาจีนหรือภาษาอังกฤษที่ไม่ใช่ศัพท์ทางวิชาการถือว่าเป็นคำภาษาปาก ใช้ได้แต่ในภาษาพูด ไม่นิยมให้ใช้ในภาษาเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาษาราชการหรือภาษากฎหมาย

คำยืมในภาษาไทย จะรับมาจากภาษาใดก็ตาม จะใช้ในทางวิชาการ หรือใช้ในภาษาธุรกิจ ใช้เป็นภาษาทางการ หรือเป็นภาษาชาวบ้านย่อมมีสถานะเป็นคำไทยเท่าเทียมกัน เพราะไม่ว่าจะเป็นการออกเสียง การปรากฏในตำแหน่งใดๆในโครงสร้างของประโยค คำยืมย่อมมีลักษณะเป็นคำไทย ในการออกเสียง คำภาษาไทยทุกพยางค์ทุกคำจะประกอบด้วยหน่วยเสียงเท่าที่มีในระบบเสียงภาษาไทย คำยืมในภาษาไทยก็มีลักษณะการออกเสียงเช่นเดียวกัน คือประกอบด้วยหน่วยเสียงพยัญชนะต้น สระ และวรรณยุกต์ เสียงพยัญชนะ เสียงสระของคำจากภาษาต่างประเทศจะปรับเปลี่ยนมาเป็นเสียงไทย และไม่ว่าคำที่ยืมมานั้นจะมาจากภาษาที่มีวรรณยุกต์หรือไม่ ทุกพยางค์ในคำยืมภาษาไทยจะมีวรรณยุกต์เสียงใดเสียงหนึ่งตามที่มีอยู่ในระบบของภาษาไทยทั้งสิ้น และเมื่อออกเสียงด้วยวรรณยุกต์ใดแล้วก็จะไม่เปลี่ยนไปเป็นวรรณยุกต์อื่น ในด้านการใช้คำ คำยืมก็จะใช้ในตำแหน่งและหน้าที่ตามลักษณะของคำไทย คำนามภาษาอังกฤษมีการเปลี่ยนรูปคำเพื่อแสดงพจน์ คำกริยาเปลี่ยนรูปเพื่อแสดงกาล แต่คำภาษาอังกฤษที่รับมาใช้ในภาษาไทยจะไม่เปลี่ยนรูปเพื่อแสดงพจน์หรือกาลเพราะภาษาไทยไม่มีวิธีการนี้ คำนามและคำกริยาภาษาไทยมีคำลักษณนามเมื่อต้องการแสดงจำนวนหรือเมื่อต้องการการชี้เฉพาะ คำภาษาอังกฤษซึ่งไม่มีลักษณนามนั้น เมื่อรับมาใช้ในภาษาไทยก็จะถูกกำหนดให้มีลักษณนามด้วย เช่น รถแวน ๒ คัน ไมโครโฟน ๒ ตัว เชิ้ต ๓ ตัว คลิก ๒ ครั้ง เป็นต้น คำยืมจะหมดสภาพของความเป็นภาษาของผู้ถูกยืม และกลายเป็นสมบัติของภาษาผู้ยืมโดยสมบูรณ์

ระบบการเขียนของภาษาไทยเป็นระบบที่รูปอักษรรูปหนึ่งแทนเสียงหนึ่ง การเขียนเป็นพยางค์หรือเป็นคำที่ใช้วิธีประสมรูปอักษรให้ได้เสียงตามที่กฎของอักขรวิธีกำหนดไว้ การอ่านคำยืมไม่ว่าจะรับมาจากภาษาใดย่อมต้องออกเสียงตามระบบเสียงภาษาไทย การเขียนคำที่รับมาจากภาษาอังกฤษโดยไม่รักษาระบบอักขรวิธีของไทย เช่น ไม่ใช้อักษรสูง ไม่ใช้ ห นำอักษรต่ำเดี่ยว ไม่ใช้เครื่องหมายวรรณยุกต์ ไม่ใช้เครื่องหมายไม้ไต่คู้ จึงเป็นที่น่าเสียดายว่า ไม่รักษาหลักอักขรวิธีไทย หรือจะเรียกว่าทำลายระบบอักขรวิธีไทยก็น่าจะได้
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 11:54

จากคำอธิบายของอาจารย์กาญจนา สรุปได้ว่าทั้ง ๑๗๖ คำนี้เป็นคำยืมมาจากภาษาอังกฤษ มิใช่คำทับศัพท์แต่ประการใดไม่

ฝรั่งเมื่ออยู่ในเมืองเขาก็อยู่ภายใต้กฎหมายของเมืองฝรั่ง ครั้นมาอยู่เมืองไทย แปลงสัญชาติเป็นคนไทย ก็อยู่ภายใต้กฎหมายไทย  ฉันใดก็ฉันนั้น คำยืมที่มาจากภาษาอังกฤษก็แปลงสัญชาติเป็นไทยแล้ว  ไฉนจึงจะไม่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของไวยากรณ์ไทยเล่า

 ขยิบตา

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 12:17

ช้าก่อน  คุณเพ็ญ โปรดอ่านคำให้สัมภาษณ์ของศ.กาญจนา
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000121006

      จู่ๆ อะไรดลใจให้ลุกขึ้นมาปฏิวัติการเขียนครั้งใหญ่ขนาดนี้?
       ไม่ใช่ว่าเพิ่งลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงนะคะ จริงๆ แล้วกรรมการราชบัณฑิตฯ มีมติเรื่องนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว เพียงแต่ว่าเรายังไม่ได้พิมพ์พจนานุกรมเล่มใหม่ ก็เลยยังไม่ได้แก้ไขอย่างเป็นทางการ แต่ในพจนานุกรมฉบับเดิมนั้นก็มีคำทับศัพท์กว่า 200 คำแล้วที่ใส่วรรณยุกต์และเขียนได้ถูกต้อง นี่ก็เหลือแค่คำไม่กี่คำที่ยังไม่ได้แก้ ยังไม่ได้ใส่วรรณยุกต์ ก็เลยคิดว่าจะแก้ให้เสร็จไป ทางเราเองทำงานตรวจสอบและแก้ไขคำผิดมาตลอด ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเพิ่งจะมาเป็นประเด็นอะไรกันในสังคมตอนนี้ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถึงได้มีคนลุกขึ้นมาโวยวายอะไรกันนักกันหนา ก็แปลกดีเหมือนกันค่ะ (หัวเราะ) จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรเลย แค่เรื่องเขียนหนังสือให้ถูกต้อง

     ท่านเรียกของท่านว่า "คำทับศัพท์" ราชบัณฑิตฯออกมาแถลง ใช้คำว่า "คำยืม"
     จะให้สรุปว่ากระไรดี     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 12:45

  ตัวอย่างความแตกต่าง
  Penchompoo เป็นคำทับศัพท์จากชื่อ เพ็ญชมพู
  เพ็ญ  เป็นคำยืมจากภาษาเขมร  เพ็ญ  แปลว่าเต็ม

  คำว่า สจ๊วต  หรือพนักงานฝ่ายชาย ทำหน้าที่ต้อนรับบนเครื่องบิน  เป็นคำยืมจากภาษาอังกฤษว่า  Steward
  แต่ถ้าเขียนทับศัพท์  ต้องเขียนว่า  สต๊วด  
  ถ้าเอาวรรณยุกต์ออก คือ สตวด  
  คำนี้ เป็นคำหนึ่งซึ่งใส่วรรณยุกต์ตรีไว้จะใกล้กับเสียงเดิมมากกว่า  เพราะถ้าไม่ใส่  อ่านแล้วเสียงค่อนข้างระคายหู เกือบเท่าโค้กและโคก
  ผมจะไปสมัครงานเป็นสจ๊วต  /  ผมจะไปสมัครงานเป็นสตวด  ลังเล 
 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 13:50

ช้าก่อน  คุณเพ็ญ โปรดอ่านคำให้สัมภาษณ์ของศ.กาญจนา
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000121006

       จู่ๆ อะไรดลใจให้ลุกขึ้นมาปฏิวัติการเขียนครั้งใหญ่ขนาดนี้?
       ไม่ใช่ว่าเพิ่งลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงนะคะ จริงๆ แล้วกรรมการราชบัณฑิตฯ มีมติเรื่องนี้ออกมาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว เพียงแต่ว่าเรายังไม่ได้พิมพ์พจนานุกรมเล่มใหม่ ก็เลยยังไม่ได้แก้ไขอย่างเป็นทางการ แต่ในพจนานุกรมฉบับเดิมนั้นก็มีคำทับศัพท์กว่า 200 คำแล้วที่ใส่วรรณยุกต์และเขียนได้ถูกต้อง นี่ก็เหลือแค่คำไม่กี่คำที่ยังไม่ได้แก้ ยังไม่ได้ใส่วรรณยุกต์ ก็เลยคิดว่าจะแก้ให้เสร็จไป ทางเราเองทำงานตรวจสอบและแก้ไขคำผิดมาตลอด ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเพิ่งจะมาเป็นประเด็นอะไรกันในสังคมตอนนี้ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถึงได้มีคนลุกขึ้นมาโวยวายอะไรกันนักกันหนา ก็แปลกดีเหมือนกันค่ะ (หัวเราะ) จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรเลย แค่เรื่องเขียนหนังสือให้ถูกต้อง

     ท่านเรียกของท่านว่า "คำทับศัพท์" ราชบัณฑิตฯออกมาแถลง ใช้คำว่า "คำยืม"
     จะให้สรุปว่ากระไรดี    

เห็นคำว่า "คำทับศัพท์" ในคำให้สัมภาษณ์ของอาจารย์กาญจนาตั้นแต่แรกแล้ว และคิดว่าต้องมีผู้ถามแน่

เรื่องนี้อาจารย์กาญจนาพลาด เข้ากับคำพังเพยที่ว่า  

"สี่เท้ายังรู้พลาด   นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง"

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 13:54

แนวคิดของอ.กาญจนาฟังดูเหมือนจะมีเหตุผลดีอยู่ ในเมื่อคำเหล่านี้แปลงสัญชาติเป็นคำไทยแล้ว ก็ควรเขียนแบบไทยๆ

แต่ในทางปฏิบัติ ทุกปีท่านราชบัณฑิตทั้งหลายต้องมาร่วมกันพิจารณาว่าปีนี้คำต่างชาติคำไหนที่กลายเป็นคไทยแล้ว และเมื่อเป็นคำไทยก็ต้องเปลี่ยนวิธีเขียน (ซึ่งหลายคำเขียนแบบนี้มา 70 ปีแล้ว) ตกลงกันเสร็จก็ประกาศออกมา เด็กไทยจะต้องมานั่งท่องจำว่าคำไหนบ้างที่ได้รับสัญชาติไทยแล้ว และท่านราชบัณฑิตท่านจะให้เขียนอย่างไร ผมคาดว่าอีก 100 ปีข้างหน้าคงมีรายการคำยืมพวกนี้สัก 5000 คำเป็นอย่างน้อย

และผมพอจะรู้แล้วว่าทำไมเด็กไทยถึงเรียนหนักระดับแนวหน้าของโลกแต่กลับมีความรู้ระดับต่ำเตี้ยติดดินเช่นนี้
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 16:44

ยิ่งได้เห็นตัวอย่างที่ท่านอาจารย์เทาชมพูยกมาคำว่าสจ๊วต ยิ่งได้เห็นความลักลั่นของการใช้คำภาษาไทยกับคำยืมภาษาอังกฤษ(ตกลงว่าเรียกว่าคำยืมใช่รึเปล่าครับ)


ในขณะที่เราออกเสียงสจ๊วต ว่า สะ-จ๊วต  ตรงตามรูปที่เขียน แต่พอ คอร์ด  เราออกเสียง ขอร์ด

ถ้าใช้ระบบแบบเดิมที่เปิดกว้าง สจ๊วตก็ควรจะเขียนว่า สจวต แต่ถ้าใครเขียนแบบนี้ คนอ่านคงทำหน้าพิกล  แต่ใครเขียน คอร์ด ว่า ขอร์ด คนอ่านก็ทำหน้ากระอักกระอ่วนอีก
ดังนั้นอาการขัดหูขัดตา มันจึงมาจากความเคยชินมากกว่า ทำให้ยอมรับแบบใหม่ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะการสะกดแบบใหม่ให้ตรงกับการออกเสียงมันไม่ดี
ตกลงมาตรฐานปัจจุบันเลยกลายเป็นว่าคำไหนนิยมเขียนแบบไหน นิยมออกเสียงแบบไหน ก็ใช้ต่อไปตามเดิม
เด็กไทย ป.2 ที่ผันเสียงเก่งแม่นยำ ถ้าไม่เคยได้ยินคำว่าสจ๊วต  คอมพิวเตอร์  คอร์ด คลับ  มาก่อน อ่านครั้งแรกคงออกเสียงว่า สะ-จวด   คอม-พิว-เตอ  คอด  คลับ(ไม่ใช่ขลับ)
ที่ทุกวันนี้ออกเสียงกันได้ถูกตามมาตรฐานไทย เพราะคนอื่นๆ ออกเสียงกันแบบนั้น อาศัยความคุ้นเคยล้วนๆ


อย่างคำว่าแฟนคลับ  เวลาเขียน ผมกลับรู้สึกขัดใจที่ต้องเขียนว่าคลับ  ดังนั้นมักจะนิยมเขียนแบบเล่นๆ ว่าแฟนขับไปเลย  
เขียนแบบมาตรฐานมันขัดใจครับ เพราะตอนประถมถูกครูบังคับเคี่ยวเข็ญให้ผันเสียงให้ถูกต้อง พอเจอบางคำมันขัดๆ สามัญสำนึก  
แต่กับคำว่าคอมพิวเตอร์  แฟลต  ผมกลับไม่ขัดใจ แม้แต่ตัวเองก็หลายมาตรฐานจริงๆ


ผมค่อนข้างเห็นต่างจากท่าน CrazyHOrse ที่บอกว่าต่อไปเด็กไทยต้องมานั่งท่องจำว่าจะเขียนอย่างไร  
เพราะถ้าเราออกมาตรฐานว่า คำไหนคนไทยนิยมออกเสียงอย่างไร ก็ให้สะกดตามเสียงนั้น ปัญหาจะไม่เกิดมาก ไม่ต้องมานั่งจำหรือบัญญัติกันอีก
จะมีปัญหาแต่คำเสียงสั้น เช่นจะเขียนว่า คอม หรือ ค็อม มากกว่า แต่เรื่องวรรณยุกต์ จะเป๊ะกว่าปัจจุบัน
ต่อไปอีก 100 ปี คำยืมคงไม่ได้มีแค่ห้าพันคำ แต่คงมีมากกว่านั้นมาก การใช้ภาษาอังกฤษในประโยคภาษาไทย จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น
ราชบัณฑิตไม่ควรพยายามไปบัญญัติคำเป็นภาษาไทยใหม่ เพื่อใช้แทนคำภาษาอังกฤษนั้นๆ แต่ให้เราใช้ทับศัพท์ไปเลย โดยเฉพาะพวกชื่อเฉพาะทั้งหลาย
ดังนั้นการเขียนให้ตรงกับที่คนไทยออกเสียง ผมไม่เห็นว่ามันจะสร้างปัญหาอะไรเลย นอกจากเราคนไทยกันเองต้องแม่นยำเรื่องการสะกด การผันเสียงวรรณยุกต์ให้มาก
เพียงแต่ถ้าจะทำแบบนั้นจริงๆ ช่วงแรกๆ มันจะขัดหูขัดตาคนรุ่นปัจจุบันมาก ผมว่าอาการขัดหูขัดตานี่แหละ ทำให้ อ.กาญจนาได้รับก้อนอิฐก้อนหินไปเต็มๆ
ถ้าตัดอคติไป ผมยังมองไม่เห็นข้อเสียของการเขียนให้ตรงกับที่เรานิยมออกเสียงจริงๆ


ปัญหาของระบบการศึกษาไทย ที่เด็กไทยโง่ลง  อันหนึ่งที่เห็นคือตำราของกระทรวงฯ มันห่วยมากๆ
เมื่อปีที่แล้วผมซื้อตำราภาษาไทยเด็ก ป.1 ของกระทรวง ตั้งใจจะเอามาสอนเด็กไทยที่บ้านที่อังกฤษ  แต่พอเอามาสอนต้องอึ้ง
ปรากฏว่าหน้าแรก สอนให้เด็กอ่านใบบัวใบโบก ไม่ทันสอนสะกด ผันเสียง  แต่ใช้วิธีให้เด็กจำเสียงของคำเป็นคำๆ ไป ดังนั้นถ้าเด็กเจอคำใหม่ที่ไม่รู้จัก จะอ่านไม่ได้
ไม่รู้ว่านักการศึกษาที่ไหนคิด  อะไรอยู่เบื้องหลังการคิดแบบนั้น มาสอนเด็กไทยแบบทำลายความสามารถในการอ่าน การสะกด การผันเสียงของเด็กแบบจงใจ
ผมต้องไปหาโหลดตำราภาษาไทย มานะมานีแบบที่ผมเรียนตอนเด็กๆ มาสอนแทน

ง่า เรียนถามท่านอาจารย์เพ็ญชมพูต่อ เรื่องมาตรฐานภาษาไทยอักษรต่ำเดี่ยวฉบับประกอบปรับปรุงใหม่ครับ  ที่ลองย้ายอักษรต่ำเดี่ยวมาเป็นอักษรกลาง เพราะอ่านแล้วยังงงๆ
เห็นท่านอาจารย์บอกว่ามันผิดกฏ   ซึ่งก็จริงครับ แต่เป็นไปได้ไหมว่ากฏเองมันก็ใช้ผิด เพราะผมยังไม่เห็นว่าเสียงคำไหนมันหายไปเลยนะครับ หรือมันหาย  ยังงงต่อไปครับ ฮืม  ฮืม  ฮืม
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 17:14

ท่านรอยอินเตรียมทางออกไว้ให้คุณสุจิตราแล้ว

http://www.royin.go.th/upload/246/Fileupload/416_2157.pdf

 ยิงฟันยิ้ม

ต้องกราบขอบพระคุณท่านเพ็ญชมพูเป็นอย่างสูงที่ได้ช่วยกรุณาให้ข้อมูล มีระโยชน์และรวดเร็วทันใจมากเลยครับ

เพียงแต่ประเด็นของผมคือจะมีกระบวนหรือแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมอย่างไรที่จะทำให้หน่วยงานต่างๆโดยเฉพาะหน่วยงานราชการได้เขียนและใช้ภาษาอังกฤษที่ตรงกันในส่วนที่มาจากคำไทยเอง
ผมคิดว่านี่คือหน้าที่ของราชบัณฑิตที่ควรต้องทำโดยการสื่อสารกับรัฐบาลและสังคมอย่างจริงจังเพื่อให้รัฐบาลมีคำสั่งทางปกครองเพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ
ไม่ทราบว่าลุงเนาวรัตน์มีความเห็นอย่างไรครับ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 17:20

ปัญหาอยู่ที่ว่าราชบัณฑิตยฯท่านกำหนดวิธีการเขียนทับศัพท์คำภาษาอังกฤษไว้แบบไม่กำหนดวรรณยุกต์น่ะสิครับ ดังนั้นถ้าคำที่เปลี่ยนสภาพเป็นคำยืมมีวิธีการเขียนแบบที่ต่างไป มันก็มีวิธีเดียวแหละครับที่จะรู้ว่าจะต้องเขียนแบบทับศัพท์หรือเขียนแบบคำยืม คือ "ท่องจำ" เอา

ถ้าคิดว่าจะไปแก้วิธีการเขียนทับศัพท์ อันนี้ผมว่าเริ่มจะเข้ามาอยู่ในเส้นทางมากขึ้นแล้ว แต่ก็จะพบปัญหาที่เหล่าราชบัณฑิตได้เคยพบมาเมื่อหลายสิบปีที่แล้วอีก คือภาษาอังกฤษไม่มีวรรณยุกต์ การออกเสียงสูงต่ำขึ้นกับการวางในแหน่งในประโยคและอารมณ์ของผู้พูด ซึ่งสุดท้ายเหล่าราชบัณฑิตในยุคนั้นจึงเลือกไม่กำกับวรรณยุกต์ในการเขียนทับศัพท์ครับ

แล้วถ้าบอกว่าจะเขียนทับศัพท์ตามความนิยมของคนไทย แล้วคำใหม่ๆจะออกเสียงอย่างไร เพราะยังไม่เกิดความนิยม หรือจะอ้างอิงวิธีการออกเสียงคำเก่าๆ ซึ่งเข้ารกเข้าพงอยู่แล้ว มิชวนกันเข้ารกเข้าพงไปกันใหญ่หรือครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 17:26

เข้ามาช่วยอีกแรง

การเขียนภาษาอังกฤษ - ไทย ชื่อเขต อำเภอ ทั่วประเทศ http://www.royin.go.th/upload/246/FileUpload/1723_5812.pdf

ทั้งนี้ยังมีบางคำที่บางหน่วยงานราชการยังแย้งกันอยู่ ในเรื่องการเขียนชื่อ ถนน และคลอง จะให้เป็นการถ่ายเสียง หรือ ถ่ายความหมาย  ฮืม

เช่น ถนน ก. - Kor. Road หรือจะเขียน Thanon Kor.  เป็นต้น

คลองก็เช่นเดียวกัน คลองตัน - Khlong Ton หรือจะเขียน Ton Canal

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ เพิ่งได้ทราบว่า ที่เขียนชื่อิขตตัวเองนั้นถูกต้องคือ Taling Chan
คำถามที่อยากรบกวนถามต่อคือ ผมอยู่ถนนสวนผัก แขวงฉิมพลี ไม่ทราบว่าจะหาวิธีเขียนที่ถูกต้องได้ที่ใดครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.335 วินาที กับ 20 คำสั่ง