เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 8
  พิมพ์  
อ่าน: 67533 คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ 176 คำ ที่อาจจะต้องแก้ไขใหม่
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 02 ต.ค. 12, 05:49

อาจารย์ประกอบครับ Tottenham ไอ้ตัวเล็กอ่านออกเสียงว่ากระไร
บันทึกการเข้า
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 02 ต.ค. 12, 07:44


แต่มีบางคำที่น่าฉงนและน่าสนใจ เช่น เม็ตตริก/เม็ตริกตัน (ต.เต่าหายไปไหน) แอนติบอดี้/แอ็นติอิเล็กตร็อน (ไม้ไต่คู้) คำที่เปลี่ยนไปใช้อักษรสูง คำที่ใช้ ห.นำ คำที่ใช้ไม้โท (เต้อร์, เม้ตร) ฯลฯ


Metric ton อาจต้องเขียนว่า "เม็ตถริกทัน"
Antibody อาจต้องเขียนว่า "แอนไทบอดี้"
Antielectron อาจต้องเขียนว่า "แอนไทอีเล็คทรอน" (ต้องมีไม้ไต่คู้หรือไม่ครับ?)

จะรับได้ไหมเนี่ย?
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 02 ต.ค. 12, 14:15

อาจารย์ประกอบครับ Tottenham ไอ้ตัวเล็กอ่านออกเสียงว่ากระไร

ว้ายยยยยย ไหงอาจารย์นวรัตนมาเรียกผมอาจารย์หละนี่   คำที่ถามมาไอ้ตัวเล็กอ่านหนแรกคงออกเสียงว่าทอตเทนแฮม ไม่ใช่ทอตแน่มกระมังครับ ภาษาอังกฤษนี่มีปัญหามาก เขียนอย่างนึงออกเสียงอีกอย่าง เรียนยาก  ผมหละเบื่อที่สุก อนนี้รู้ศัพท์มากมายที่รู้ความหมายถ้าอ่านเจอ แต่ออกเสียงไม่ถูกเอาไปใช้พูดไม่ได้


มีเพื่อนคนตะวันออกกลางคนนึง พี่แกฉลาดมากรู้ 5-6 ภาษา ทั้งภาษาอาหรับ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปนนิดหน่อย แกบอกว่าภาษาเยอรมันออกเสียงง่ายกว่าภาษาอังกฤษ เพราะสะกดยังไงก็ออกเสียงยังงั้น แต่ภาษาอังกฤษนี่ออกเสียงยาก คำมากมายสะกดแบบนึงออกเสียงแบบนึง เป็นอะไรที่ @)$#*@@$$@$(%*@ มากๆ เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีและเราไม่ควรเอาอย่าง


เข้าไปถกใน pantip เจอคนยกตัวอย่างภาษาอังกฤษสะกดแบบนึงออกเสียงแบบนึง  ดังนั้นภาษาไทยเราจะสะกดแบบนึงแต่อ่านออกเสียงแบบนึงมั่งก็ไม่เป็นไร แบบนี้ผมไม่เห็นด้วย เพราะภาษาไทยเราเรามีระบบการสะกดและการออกเสียงที่แม่นยำ คำที่เป็นภาษาไทยแท้ๆ สะกดอย่างไรก็อ่านออกเสียงแบบนั้นตรงๆ  ผมเลยค่อนข้างเห็นด้วยกับการเปลี่ยนการสะกดภาษาไทยใหม่ แต่ไม่ใช่ทุกคำที่เสนอมาครับ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 02 ต.ค. 12, 21:03

อยู่นอกนา ขอเข้ามาร่วมวงด้วยครับ

คำทับศัพท์นั้น ผมเห็นว่าจะเขียนเป็นภาษาว่าไทยอย่างไรยังไปขึ้นว่าเราอ่านภาษานั้นๆ ออกเสียงและสำเนียงตามชาติใด (ที่พูดภาษาอังกฤษ) เช่น

anti-  มีทั้งออกเสียงว่า แอนตี้ (อักกฤษ) และ แอนไท(ต) (อเมริกัน)
tube  มีทั้งทู๊ป และ ทิ้วบ์
day  มีทั้ง เดย์ (ทั่วไป) และ ดาย (ออสเตรเลีย)
Iraq  มีทั้งอิรัก อีรัค และไอรัค (อเมริกันบางพื้นที่)
.....ile  มีทั้ง ....ไ-ร์ และ ....-ิล
 

ที่น่าสนใจคือ coke ให้เขียนว่า โคก แต่ให้ออกเสียง โค๊ก    มิฉะนั้นจะเป็น  ส่งโคกแล้วส่งยิ้ม    ยิ้มเท่ห์ ยิ้มกว้างๆ ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 02 ต.ค. 12, 21:07

ที่น่าสนใจคือ coke ให้เขียนว่า โคก แต่ให้ออกเสียง โค๊ก    มิฉะนั้นจะเป็น  ส่งโคกแล้วส่งยิ้ม    ยิ้มเท่ห์ ยิ้มกว้างๆ ยิงฟันยิ้ม

เรื่องนี้ ท่านรอยอิน มีทางออกไว้แล้ว

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 03 ต.ค. 12, 05:54

เปิดใจราชบัณฑิตฯ “อยากเขียนแบบผิด ๆ ก็เรื่องของพวกคุณ”

ศ.ดร.กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ประเภทวรรณศิลป์ สาขาภาษาไทย พร้อมเปิดใจ ถามตอบทุกข้อสงสัย

จู่ ๆ อะไรดลใจให้ลุกขึ้นมาปฏิวัติการเขียนครั้งใหญ่ขนาดนี้?

ไม่ใช่ว่าเพิ่งลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงนะคะ จริง ๆ แล้วกรรมการราชบัณฑิตฯ มีมติเรื่องนี้ออกมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ แล้ว เพียงแต่ว่าเรายังไม่ได้พิมพ์พจนานุกรมเล่มใหม่ ก็เลยยังไม่ได้แก้ไขอย่างเป็นทางการ แต่ในพจนานุกรมฉบับเดิมนั้นก็มีคำทับศัพท์กว่า ๒๐๐ คำแล้วที่ใส่วรรณยุกต์และเขียนได้ถูกต้อง นี่ก็เหลือแค่คำไม่กี่คำที่ยังไม่ได้แก้ ยังไม่ได้ใส่วรรณยุกต์ ก็เลยคิดว่าจะแก้ให้เสร็จไป ทางเราเองทำงานตรวจสอบและแก้ไขคำผิดมาตลอด ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเพิ่งจะมาเป็นประเด็นอะไรกันในสังคมตอนนี้ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถึงได้มีคนลุกขึ้นมาโวยวายอะไรกันนักกันหนา ก็แปลกดีเหมือนกันค่ะ (หัวเราะ) จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรเลย แค่เรื่องเขียนหนังสือให้ถูกต้อง
      
ทำไมไม่บัญญัติคำที่ถูกต้องไปตั้งแต่แรก มาแก้ให้จำใหม่ทีหลังยิ่งยาก?

ตอนแรกเรายังไม่แน่ใจไงคะว่าจะเขียนยังไงจึงจะถูกต้อง เพราะมันเป็นคำที่รับมาจากต่างประเทศ เลยใช้แบบนั้นไปพลาง ๆ ก่อน แต่ยอมรับว่าก็ใช้กันมานานพอสมควร มาถึงตอนนี้ ทุกคนสามารถออกเสียงได้ตรงกันแล้ว เสียงไม่เปลี่ยนแล้ว ก็ควรจะเขียนให้ถูกด้วย ยกตัวอย่างง่าย ๆ คำว่า “เฟซบุ๊ก” ทุกคนก็ออกเสียงได้ตรง ไม่มีใครออกว่า “เฝด-บุก” ในเมื่อเรามีระบบการเขียนตามอักขรวิธีที่ถูกต้องของเราอยู่ เราก็แค่เขียนให้มันตรงกับที่ออกเสียงมา มันก็เท่านั้นเอง
        
เราเป็นมนุษย์นี่คะ จะให้เรารู้ทุกอย่างทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์มันคงเป็นไปไม่ได้ เราไม่ใช่พระพุทธเจ้าที่จะตรัสรู้ได้ทุกอย่าง มันก็ต้องมีผิดบ้าง-พลาดบ้าง ตอนที่ยังไม่รู้ว่าผิดก็ทำตามที่เข้าใจว่าถูกไปก่อน แต่พอเวลามันผ่านไป รู้แล้วว่ามันไม่ถูกต้อง เราก็ลงมือแก้ไข มันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายนี่คะ ไม่ใช่ว่ารู้ว่าผิดแล้วยังจะดึงดันไม่แก้ ถ้าเป็นอย่างนั้นน่ะเสียหาย
 
อย่างคำว่า “วงศ์” เมื่อก่อนก็มีทั้งคนที่เขียนว่า “วงษ์” และ “วงศ์” เราก็ประกาศแก้ไขให้เขียนว่า “วงศ์” เป็นมาตรฐานเดียวกันหมดและใช้กันมาถึงทุกวันนี้ ครั้งนี้ก็เหมือนกันค่ะ คำยืมที่ประกาศก็มีแค่ร้อยกว่าคำ คนอาจจะตกใจว่ามันเยอะ แต่จริง ๆ แล้วเทียบกับคำทั้งหมดเป็นหมื่น ๆ คำในภาษาไทย มันแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์เลยด้วยซ้ำ
      
ถ้าประกาศใช้ตามนั้นจริง ๆ ก็จะสร้างความสับสนให้สังคมอย่างมาก เพราะทุกคนเขียนแบบเดิมจนชินแล้ว
      
ถึงใช้กันมานานแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่ามันถูกต้องนี่คะ ต้องถามว่าคุณจะเลือก “ความเคยชิน” หรือ “ความถูกต้อง” ถ้าใช้ด้วยความเคยชินแต่มันผิด แล้วทำไมไม่แก้ให้มันถูกล่ะคะ เคยทำมาผิด ๆ แล้วจะปล่อยให้ผิดต่อไปอย่างนั้นหรือ หรือว่าเห็นว่าผิดแล้วก็ควรแก้ให้ถูกต้อง ตามที่ควรจะเป็น
 
ถ้าเรายังจะใช้แบบผิด ๆ กันต่อไปแบบนี้อีกไม่รู้นานเท่าไหร่ เด็กเล็กที่ต้องเรียนหนังสือก็จะอ่านคำผิด ๆ เหล่านั้นไม่ถูก อ่านไม่ออก เราจะปล่อยให้เด็กๆ จดจำสิ่งผิด ๆ จากที่ผู้ใหญ่ทำเอาไว้และใช้กันต่อไปอย่างนั้นเหรอคะ สำหรับคนที่คัดค้าน อยากให้ลองถามตัวเองดูสิคะว่า มีเหตุผลดี ๆ สักข้อไหมที่จะไม่แก้ไขให้ถูกต้อง
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 03 ต.ค. 12, 05:58

ที่เห็น-ที่เป็น-ที่ใช้กันอยู่ มันผิดตรงไหน?

ถ้าคุณออกเสียงว่า “สะ-นุ้ก-เก้อ” คุณก็ต้องเขียนว่า “สะนุ้กเก้อร์” จะมาเขียน “สนุกเกอร์” มันก็ออกเสียงว่า “สะ-หนุก-เกอ” น่ะสิคะ มันไม่ถูกต้อง ภาษาเรามีกฎของเราอยู่ อาจารย์ท่านวางรูปแบบไว้ตั้งแต่โบราณกาลแล้ว มีทั้งอักษรสูง-กลาง-ต่ำ มีสระสั้น-ยาว มีวรรณยุกต์ที่ผสมออกมาเป็นคำ ถ้าผสมอย่างถูกต้อง ทุกคนก็สามารถออกเสียงได้เหมือนกันหมด จะอยู่เหนือจดใต้ อยู่สุไหงโก-ลก ก็ออกเสียงเหมือนกันได้หมด แล้วทำไมเราไม่รักษากฎกันล่ะคะ ทำไมไปเอาความเคยชินที่ผิด ๆ มาเป็นบรรทัดฐาน
        
มันเป็นหน้าที่ของราชบัณฑิตฯ อยู่แล้วที่จะต้องคอยดูแลภาษาให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง ไม่เปลี่ยนไปในทางเสื่อม แต่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เราเขียนภาษาต่างประเทศโดยไม่ใส่เครื่องหมายกำกับ ทั้งการสะกดการันต์ การใส่พยัญชนะ วรรณยุกต์ทั้งหมด เขียนผิด ๆ ก็เป็นการทำลายระบบอักขรวิธีของเราเอง ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านี้เราทุกคนเรียนกันมาตั้งแต่ ป.๑-ป.๒ แล้ว อ่านออก-สะกดถูก-ผันวรรณยุกต์กันได้ แต่พอมาเขียนกลับเขียนไม่ถูก เขียนไม่ตรงกับเสียง เราใช้แบบผิด ๆ กันมานานมากแล้ว มันก็น่าจะปรับให้ถูกต้อง แค่นั้นเอง
        
อย่างคำว่า “คอมพิวเตอร์” ถึงจะมาจากภาษาอังกฤษ แต่เมื่อเอามาเขียนด้วยตัวอักษรไทย ในประโยคภาษาไทย ก็ต้องเขียนให้ถูกตามหลักภาษาไทย ถ้าออกเสียงว่า “ค็อม-พิ้ว-เต้อ” ก็ต้องเขียนว่า “ค็อมพิ้วเต้อร์” หรือถ้าออกเสียงว่า “คอม-พิว-เตอ” ก็ต้องเขียนว่า “คอมพิวเตอร์” ถ้าเขียนกันถูกต้องตามเสียงที่ออกมา มันจะทำให้การเรียนการสอนง่ายขึ้นด้วย
      
คนส่วนใหญ่ก็รู้อยู่แล้วว่าคำคำนั้นออกเสียงยังไง จะเขียนเหมือนเดิมหรือเขียนแบบใหม่ ก็ไม่น่าจะใช่ประเด็น

แล้วคนที่เขาไม่รู้คำภาษาอังกฤษล่ะคะ เขาไม่รู้หรอกว่าคำว่า “คอมพิวเตอร์” ต้องออกเสียงว่า “ค็อม-พิ้ว-เต้อ” เขาก็จะอ่านตามตัวสะกดเป็น “คอม-พิว-เตอ” ไป โดยเฉพาะเด็กต่างชาติที่มาเรียนภาษาไทย เขาเจอคำแบบนี้เยอะมากแล้วเขาก็อ่านไม่ออก ไม่เข้าใจ อ่านออกมาก็ผิดหมด เด็กต่างชาติหลายคนถามเลยว่า เขียนว่า “เรดาร์” ทำไมให้อ่านว่า “เร-ด้า” ทำไมไม่ให้อ่านว่า “เร-ดา” ตามตัว เขาเรียนมาว่า “ด เด็ก + สระอา” ต้องอ่านว่า “ดา” มันก็เลยเป็นปัญหามากสำหรับเด็กต่างชาติ
      
พูดอย่างนี้ อาจถูกมองว่าใส่ใจความรู้สึกชาวต่างชาติมากกว่าคนไทยด้วยกันเอง?

ไม่ใช่ว่าสนใจเด็กต่างชาติมากกว่าเด็กไทยนะคะ นั่นเป็นแค่เหตุผลหนึ่ง เพราะวัตถุประสงค์หลักของเราก็คือภาษาไทยเพื่อคนไทย เพื่อคนที่ใช้ภาษาไทยนี่แหละค่ะ เราต้องรักษาไว้ไม่ให้ภาษาถูกทำลาย ซึ่งเขียนกันอย่างทุกวันนี้มันคือการทำลาย มันป่วนไปหมด เขียนอีกแบบแล้วไปออกเสียงอีกแบบ คนที่ไม่เข้าใจก็จะสับสนว่าเมื่อไหร่จะต้องออกเสียงโท-เสียงเอก เขียนโดยที่ไม่บอกวรรณยุกต์ ไม่บอกอะไรเลย แล้วให้รู้ให้จำเองเนี่ย มันจะถูกได้ยังไงล่ะคะ

ก็เหมือนเรามีช้อนส้อมวางอยู่ที่โต๊ะ มีเครื่องมือให้พร้อมอยู่แล้วทุกอย่างในการกิน แต่ถ้าคุณอยากลำบาก คุณก็เปิบมือ ใช้ปากกินไปก็ได้ค่ะ แต่ถามว่าในเมื่อเรามีเครื่องมือทางภาษาที่ดีอยู่แล้ว แล้วทำไมเราต้องหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้ด้วยล่ะคะ พอไม่ใช้แล้วมันก็ป่วนไปหมด เขียนก็ไม่ถูก อ่านก็ไม่ถูก แล้วยังจะดื้อใช้ต่อไปอีก ทำไมยังต้องดื้อแพ่งต่อไปอีก ก็อยากรู้เหมือนกันค่ะว่ามีเหตุผลอะไรที่จะไม่ใช้สิ่งที่ถูกต้อง ขอเหตุผลดี ๆ สักข้อหนึ่งสิคะ อยากรู้จริง ๆ
        
ภาษาไทยของเราเป็นภาษาที่มหัศจรรย์มาก เราสามารถเขียนทุกคำพูดให้ตรงตามที่ออกเสียงได้แบบไม่ผิดเพี้ยนเลย แล้วทำไมเราต้องทิ้งคุณสมบัติดี ๆ เหล่านี้ไปด้วยล่ะคะ เราจะไปเขียนตามภาษาอื่นที่เขาไม่มีวรรณยุกต์ ไม่มีสระที่แน่นอน จะไปเขียนเละเทะตามเขา ให้ทำลายภาษาของเราเองทำไม เรามีหลักของเราอยู่ เราก็ควรจะรักษาหลักเอาไว้ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องยากเลย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 03 ต.ค. 12, 06:03

แต่อาจจะยากสำหรับเด็กไทย เพราะเด็กไทยอ่อนเรื่องการผันวรรณยุกต์มาก เขียน “นะคะ” กับ “ค่ะ” ยังสลับกันเป็น “นะค่ะ” อยู่เลย       

แต่ยิ่งคุณไปเอาภาษาเละ ๆ มาใช้ในภาษาเรา มันก็จะยิ่งยากเข้าไปใหญ่ การรักษากฎภาษาเราเอง มันไม่ยากหรอกค่ะ วรรณยุกต์ไทยมันก็มีแค่ ๕ เสียงเท่านั้น จะจำไม่ได้กันเลยหรือ มันยากนักหนาหรือสำหรับเด็กไทยที่จะเรียน มันไม่ยากหรอกค่ะ แต่ในทางตรงข้าม ยิ่งเราไปเขียนไม่ตรงวรรณยุกต์ มันยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เด็กก็ยิ่งจะไม่รู้ว่าจะเขียนยังไง จะออกเสียงกันยังไง ยิ่งเสียหายไปกันใหญ่เลยคราวนี้
       
ที่คนส่วนใหญ่รับการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้ ส่วนหนึ่งเพราะมองว่าใส่วรรณยุกต์กำกับมากไป ทำให้ดูรก บั่นทอนความสวยงามของภาษาลงไปอีก

คำทับศัพท์ที่ตั้งใจจะให้เขียนแบบใหม่ทั้งหมด ๑๗๖ คำ มันก็เหมือนคำทุกคำที่อยู่ในภาษาไทยนั่นแหละค่ะ คำว่า “แม่” “บ้าน” “พี่น้อง” ก็มีวรรณยุกต์ทั้งนั้น แค่เพิ่มคำเหล่านี้เข้าไปในประโยคนิดหน่อย มันคงไม่ทำให้ดูรกเพิ่มขึ้นหรอกค่ะ ถ้าบอกว่าใส่ไม้เอก-ไม้โท เพิ่มลงไปในคำฝรั่งพวกนี้แล้วมันไม่สวย มันรกหูรกตา ก็แสดงว่าคุณต้องเลิกใช้วรรณยุกต์ทั้งหมดทุกคำที่มีอยู่สิคะ ส่วนตัวแล้วมองว่ามันสวยจะตาย มันคือเครื่องมือทางภาษาของเรา ทำไมเราต้องไปตามชาติอื่นที่เขาไม่มีวรรณยุกต์กำกับด้วยล่ะคะ มันเรื่องอะไร
       
สุดท้ายแล้ว สังคมก็ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และราชบัณฑิตฯ ก็ยุติการแก้แล้ว รู้สึกอย่างไรบ้าง?

ส่วนตัวก็ไม่ได้รู้สึกอะไรกับกระแสสังคมอยู่แล้ว รู้สึกเฉย ๆ ค่ะ ภาษาเนี่ยนะคะ มันเป็นเรื่องของสังคม สังคมคือคนส่วนใหญ่ คนทุกคนไม่ได้พูดเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันก็ต้องมีถูกบ้าง-ผิดบ้าง ทุกคนก็มีความเห็นของตัว

แต่เราแค่ออกมาบอกสิ่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าเราบอกแล้ว คุณยังไม่อยากรับเอาสิ่งที่ถูกต้อง มันก็เป็นเรื่องของคุณ ทุกวันนี้ก็มีคนเขียนหนังสือผิดอีกมากมาย ตามหน้าหนังสือพิมพ์เองก็มีออกเยอะแยะไป ถ้าคุณอยากทำตามสิ่งที่ถูก ก็ทำตาม แต่ถ้าไม่อยากทำตาม ก็ทำสิ่งที่ผิดไป ก็เท่านั้นเอง มันเป็นเรื่องของคุณค่ะ

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 03 ต.ค. 12, 07:59

เหนื่อใจ กับการแก้ให้ถูกแค่นี้ทำไมมันต้องต่อต้านกันมากมาย

เอาเถิด...
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 03 ต.ค. 12, 14:43

ข่าวประชาสัมพันธ์ ราชบัณฑิตยสถานยืนยัน ไม่แก้คำยืมจากภาษาอังกฤษในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 (แนบท้ายข่าวในลิงก์ของคุณเพ็ญชมพู)

ราชบัณฑิตยสถานชี้แจงว่า ไม่มีการแก้ไขคำยืมจากภาษาอังกฤษในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่กำลังดำเนินการจัดพิมพ์ รวมทั้งยังไม่มีมติให้แก้ไขรูปแบบการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

น.ส.กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า ตามที่ได้มีประชาชนจำนวนมากแสดงความห่วงใยเรื่องรูปแบบการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ผ่านสื่อต่างๆ นั้น ราชบัณฑิตยสถานขอขอบคุณและขอชี้แจงว่า ราชบัณฑิตยสถานได้ถือหลักการเขียนคำในภาษาต่างประเทศ ตามพระดำริของ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ว่า การเขียนคำในภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษออกเสียงไม่แน่นอน จะออกเสียงอย่างไรย่อมแล้วแต่ประโยค เสียงจะสูงต่ำก็แล้วแต่ตำแหน่งของคำในประโยค จึงทรงเห็นว่าไม่ควรใช้วรรณยุกต์กำกับตามเหตุผลดังกล่าว

เลขาธิการราชบัณฑิตยสถานกล่าวต่อไปว่า ในปัจจุบันราชบัณฑิตยสถานมีราชบัณฑิตสาขาวิชาต่างๆ 84 คน ภาคีสมาชิกสาขาวิชาต่างๆ 80 คน และมีคณะกรรมการวิชาการในสาขาวิชาการต่างๆ กว่า 90 คณะ ซึ่งอาจเสนอความเห็นทางด้านวิชาการให้ราชบัณฑิตยสถานพิจารณาได้ และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ในฐานะราชบัณฑิตสาขาวิชาภาษาไทย ได้เสนอขอให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษ โดยแนะให้ใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์ หรืออักษรสูง หรือใช้ ห นำในคำที่ไม่สามารถผันวรรณยุกต์ได้ ราชบัณฑิตยสถานจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางการเขียนคำที่มาจากต่างประเทศ เพื่อพิจารณาเรื่องที่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล เสนอ คณะกรรมการฯ ได้มีมติให้ออกแบบสอบถามตามข้อเสนอของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล โดยสอบถามราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก และกรรมการวิชาการของราชบัณฑิตยสถาน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเฉพาะภายในองค์กรเป็นเบื้องต้นให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2555 และจะเสนอผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวต่อสภาราชบัณฑิต ในการประชุมครั้งที่ 4/2555 ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2555


"ผลการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะภายในองค์กรของราชบัณฑิตยสถานเกี่ยวกับหลักการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะมีผลเป็นประการใด เป็นเพียงความเห็นส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ข้อยุติ การแก้ไขคำยืมจากภาษาอังกฤษซึ่งใช้ในทางราชการ ทางการศึกษา มาเป็นเวลานาน หากมีการเปลี่ยนแปลง ย่อมมีผลกระทบสำคัญต่อการใช้ภาษาไทยของหน่วยงานราชการ นักเรียนนักศึกษา และประชาชนทั่วไป ดังนั้น จึงต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานและบุคคลดังกล่าวก่อน ตามหลักการพื้นฐานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก่อนที่จะพิจารณาดำเนินการไปในทางใดทางหนึ่ง และพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่ขณะนี้กำลังดำเนินการจัดพิมพ์นั้น ไม่ได้แก้ไขรูปแบบการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษตามที่เป็นข่าว ส่วนความคิดเห็นของประชาชนที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ราชบัณฑิตยสถานจะรวบรวมข้อมูลไว้เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป" เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าว


ในตอนท้าย เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน ได้กล่าวย้ำว่า ไม่มีการแก้ไขคำยืมจากภาษาอังกฤษในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิมพ์ และจะเสร็จพร้อมแจกให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ส่วนราชการ สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ในต้นปี 2556 เนื่องจากได้รับงบประมาณจากรัฐบาลในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 03 ต.ค. 12, 15:12

น่าสนใจเหมือนกันว่าพระมติของสมเด็จนราธิปฯในครั้งนั้นสนับสนุนการเขียน "ทับศัพท์" ภาษาอังกฤษโดยไม่ระบุวรรณยุกต์น่าจะมีส่วนไม่มากก็น้อยในการเปิดช่องให้เกิดภาษาอังกฤษสำเนียงไทยขึ้น ใครสักคนที่เหมือนจะรู้ว่าฝรั่งออกเสียงอย่างไรคงเที่ยวสอนคนอื่นแบบผิดๆไปทั่วจนกลายเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

น่าสนใจว่า แทนที่จะไปแก้ที่ต้นตอให้ถูกต้อง กลับพยายามไปรับรองเรื่องผิดๆให้กลายเป็นถูกต้องขึ้นมา

หรือนี่คือค่านิยมใหม่ของไทยยุดหลัง 2540?

คำที่เสนอ 176 คำในครั้งนี้ น่าจะถือเป็นหัวหอกในการโยกย้ายคำที่อยู่ในหมด "เขียนทับศัพท์" เข้ามาเป็นคำไทย ดูจากคำหลายๆคำในรายการนี้ที่ผมไม่คุ้นเคยว่าน่าจะรับเป็นคำยืมที่ไทยที่มาจากภาษาต่างประเทศได้ (เช่นแคลเซียม ไซคลาเมต) และคำอีกหลายคำที่ผมคุ้ยเคยแต่ยังไม่ได้รวมเข้ามาอยู่ในรายการนี้ (เช่น โคแอกเซียล) ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาว่านี่เปลี่ยนส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ หรือถ้าเอาใกล้ตัวกว่านี้ก็กระแส AEC นี่ล่ะครับ

คำภาษาต่างประเทศ (โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ) ได้หลั่งไหลเข้ามามากมาย และจะหลั่งไหลเข้ามาอีกมหาศาล บางคำแทนด้วยคำไทยได้ บางคำเป็นศัพท์ใหม่ของฝรั่งด้วยซ้ำ ราชบัณฑิตท่านก็ขยันเสนอศัพท์บัญญัติให้ แต่ก็เป็นส่วนน้อยที่ได้รับความนิยม เราจึงต้องรับคำพวกนี้เข้ามาใช้อย่างเลี่ยงไม่ได้ แล้วเราควรจะคำพวกนี้เป็น "คำยืม" หรือ "เขียนทับศัพท์" กันแน่

ทุกวันนี้ เด็กไทย "ส่วนมาก" ต้องเรียนภาษาอังกฤษสองครั้งอยู่แล้ว ครั้งแรกเรียนจากโรงเรียน เป็นภาษาอังกฤษสำเนียงไทย (อาจจะไม่ทุกโรงเรียน โรงเรียนฝรั่งผมไม่ทราบเพราะไม่เคยเรียน แต่โรงเรียนไทยๆที่ผมเคยเรียน สอนแบบนี้กันทุกโรงเรียน) และมาเรียนภาษาอังกฤษใหม่อีกครั้งไม่ "ปะทะ" ฝรั่ง คราวนี้ต้องจดจำภาษาอังกฤษสองสำเนียง คุยกับคนไทยพูดอย่างคุยกับฝรั่งพูดอย่าง เป็นเรื่องที่สับสนพิกลจริงๆ

ผมนึกไม่ออกว่าเราจะอนุรักษ์ภาษาอังกฤษสำเนียงไทยไว้ทำไม นี่ไม่ใช่ความภาคภูมิใจของชาติ ภาษาไม่ใช่ภาษาของเรา เราพูดสำเนียงนี้ตามใครเราก็ยังไม่รู้เลย (แต่ผมมั่นใจว่าไม่ใช่คนที่รู้จักภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีแน่ๆ) แล้วทำไมเราต้องไปยึดวิธีการออกเสียงแบบนี้ไว้เป็นหลักของชาติด้วย

อย่างน้อยการเขียนแบบลักลั่นอย่างที่เป็นอยู่นี้ ถึงจะบกพร่องสักหน่อย แต่ก็ยังเปิดช่องให้เราได้ "เปลี่ยนแปลง" อะไรให้มันดีขึ้นได้บ้าง ดีกว่าปิดความบกพร่องด้วยความผิดพลาดอย่างถาวรนะครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 03 ต.ค. 12, 20:54

ในวงการประพันธ์   ตัวอักษรไทยแต่ละตัว ให้ความรู้สึกไพเราะมากน้อยต่างกัน  เมื่อประกอบเป็นคำ  ก็จะมีค่าทางความงามหรือสุนทรียะต่างกันด้วย     
ความงามจากคำเหล่านี้  ถ้านำไปเป็นเนื้อเพลง  เราจะสัมผัสได้ด้วยหู    แต่ถ้าเอามาเรียบเรียงเป็นวรรณกรรม จะสัมผัสได้ด้วยสายตา
เพราะฉะนั้น การสะกดคำนอกจากจะกระทบด้านภาษาแล้ว    ยังมีผลกระทบมาถึงวรรณกรรมด้วยค่ะ
ไม่เชื่อลองอ่านบทสนทนาข้างล่างดูนะคะ

บทสนทนาแสนหวานระหว่างคุณชายกลางกับพจมาน  ด้วยคำทับศัพท์แบบใหม่

" พจมานจ๋า  วันอาทิตย์นี้  เราจะไปไน้ต์ขลับหรือไปฟังค็อนเสิร์ตกันดี"
" น่าเสียดายค่ะคุณชายขา   ได้ข่าวว่าดีเปร๊สชั่นจะเข้า   อยากไปปิ๊กหนิกยังอดเลย"
" งั้นก็เล่นแบ็ดมินตั้นหน้าบ้านทรายทองละกันนะจ๊ะ"
" ไม่ไหวค่ะ  แดดร้อน พจกลัวรังสีอัลตร้าไวโอเหล็ต  พื้นแกรหนิตก็ลื่นจะตาย   พจไม่อยากหกล้มหัวเข่าแตกอีก  แปะปล๊าสเต้อร์จนหมดกล่องแล้ว"
"โธ่เอ๋ย!ทูนหัว   เจ็บแค่ไปทำแผลที่คลิหนิก   เธอพูดราวกับต้องให้อ๊อกซิเย่น  เอ๊กซเรย์แล้วกระดูกก็ไม่แตก ผ้าก๊อซก็ไม่ต้องใช้  กินแอ๊สไพรินสองเม็ดก็หายปวด"
" เอางี้มั้ยคะ  คุณชายกลางไปหาขอร์ตเล่นบ๊าสเก้ตบอลคนเดียวก่อน  หรือจะไปตีก๊อล์ฟก็ตามใจเถอะค่ะ "
" น้อยใจแล้วนะ   ทำไงจะให้เธอโคออร์ดิเหนตกะฉันมากกว่านี้ล่ะจ๊ะ   พจมาน"
" แหม  คุณชายขา  ก็แค่ให้ของเล็กๆอย่างแหวนเพชรสักกะหรัตสองกะหรัต  พจไม่เอาของใหญ่ๆอย่างแฝล็ตหรอกค่ะ  นะคะ นะคะ"
ฯลฯ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 03 ต.ค. 12, 21:53

เมื่อแก้คำให้ตรงกับเสียงอ่านมีปัญหา คงต้องแก้ตรงเสียงอ่านให้ตรงกับคำที่เขียน

ขออนุญาตนำบทสนทนาแสนหวานมาเป็นตัวอย่าง

บทสนทนาแสนหวานระหว่างคุณชายกลางกับพจมาน  ด้วยการอ่านให้ตรงกับคำที่เขียนแบบเดิม

" พจมานจ๋า  วันอาทิตย์นี้  เราจะไป ไน-คลับ หรือไปฟัง คอน-เสิด กันดี"
" น่าเสียดายค่ะคุณชายขา   ได้ข่าวว่า ดี-เปรด-ชัน จะเข้า   อยากไป ปิก-นิก ยังอดเลย"
" งั้นก็เล่น แบด-มิน-ตัน หน้าบ้านทรายทองละกันนะจ๊ะ"
" ไม่ไหวค่ะ  แดดร้อน พจกลัวรังสี อัน-ตรา-ไว-โอ-เลด  พื้น แกร-นิด ก็ลื่นจะตาย   พจไม่อยากหกล้มหัวเข่าแตกอีก  แปะ ปลาด-สะ-เตอ จนหมดกล่องแล้ว"
"โธ่เอ๋ย!ทูนหัว   เจ็บแค่ไปทำแผลที่ คลิ-นิก   เธอพูดราวกับต้องให้ ออก-ซิ-เยน  เอก-ซะ-เร แล้วกระดูกก็ไม่แตก ผ้า-กอด ก็ไม่ต้องใช้  กิน แอด-ไพ-ริน สองเม็ดก็หายปวด"
" เอางี้มั้ยคะ  คุณชายกลางไปหา คอด เล่น บาด-เกด-บอน คนเดียวก่อน  หรือจะไปตี กอบ ก็ตามใจเถอะค่ะ "
" น้อยใจแล้วนะ   ทำไงจะให้เธอ โค-ออ-ดิ-เนด กะฉันมากกว่านี้ล่ะจ๊ะ   พจมาน"
" แหม  คุณชายขา  ก็แค่ให้ของเล็กๆอย่างแหวนเพชรสัก กะ-รัด สอง กะ-รัด   พจไม่เอาของใหญ่ๆอย่าง แฟลด หรอกค่ะ  นะคะ นะคะ"
ฯลฯ

คนไทยในอนาคตอาจจะอ่าน "บ้านทรายทองยุคอวกาศ" ทำนองนี้

แหะ แหะ

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 03 ต.ค. 12, 22:03

^


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 03 ต.ค. 12, 22:49

 ฮืม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.054 วินาที กับ 19 คำสั่ง