เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 9
  พิมพ์  
อ่าน: 48479 สมาชิกใหม่แนะนำตัวพร้อมถามข้อข้องใจเรื่องรัตนชาติ
tubtimthai
อสุรผัด
*
ตอบ: 20


 เมื่อ 30 ก.ย. 12, 17:21

สวัสดีครับ ผมเป็นสมาชิกใหม่ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยครับ

รู้จักเว็บนี้เพราะกำลังค้นข้อมูลเรื่องทับทิมสยามอยู่ เจอเนื้อหาจากกระทู้ ว่าด้วยเรื่องรัตนชาติ http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5014.0 แล้วประทับใจจึงสมัครเป็นสมาชิกขอพูดคุยด้วยคนนะครับ

เพื่อไม่เป็นการเยิ่นเย้อขอเล่าพร้อมฝากข้อข้องใจบนบ่นไว้ในที่นี้ดังนี้ครับ

ผมเผอิญได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องราวของพลอยและทับทิมสยามโดยบังเอิญ พอลองค้นคว้าหาความรู้สักพักก็เกิดพบว่า มันมีมากมายที่เป็นเรื่องต่างคนต่างกระแสต่างทรรศนะ มีทั้งที่ออกจะดูแปลกๆ และขัดแย้งกันจนทำให้เกิดความสงสัยว่า

- จะหาคนที่เคยเห็นได้สัมผัสทับทิมสยามจริงๆ ได้น้อยมากจริงๆ หรือครับ มีใครเคยเห็นทับทิมสยามขนาด 20 กะรัตบ้างไม๊ครับ

- ผมทราบว่าปัจจุบันไม่มีใครนำทับทิมสยามออกมาขายหรือประมูลเลย นั่นเพราะผู้ครอบครองไม่อยากนำมาอวดมาขายให้ใครอีกแล้ว ทั้งที่สมัยก่อนทับทิมสยามเคยอุดมสมบูรณ์ มีการขุดออกมามากมายและกระจายไปทั่วโลก หรือที่เงียบหายไปนี้เป็นเพราะมันสูญหายตกหล่นไปตามกาลเวลา ไม่มีหลงเหลืออยู่แล้วกันแน่

- ทับทิมสยามดีเด่นกว่าทับทิมพม่าจริงหรือไม่แค่ใหน หรือเป็นเพราะเกิดต่างสมัยกันจึงเปรียบเทียบกันไม่ได้ครับ
  ผมได้ข้อมูลมาว่าทับทิมสยามโดดเด่นกว่าทับทิมของทุกชาติ แต่พออ่านบทความของต่างชาติกลับพบว่าเค้าให้ชั้นเป็นรองทับทิมพม่าจากเมือง mogok ทั้งการตั้งเกรดตั้งราคาแล้วทับทิมสยามแพงที่สุดยังเป็นรองของพม่า หรือนั่นเป็นแค่เพราะกลยุทธ์ทางการตลาด เพราะทับทิมไทยหาไม่ได้แล้วจึงไม่มีประโยชน์ที่จะยกชั้นไว้ให้สูง ผมลองเมล์คุยกับฝรั่งบางคน ทั้งที่เป็นคนในวงการ เค้าบอกว่าไม่มั่นใจว่าชื่อทับทิมสยามนี้เป็นพลอยลักษณะใด แต่จากคำบอกเล่าของผู้รู้คนไทยกลับบอกว่า ทับทิมพม่านั้นเทียบทับทิมสยามไม่ได้เลย หรือเป็นเฉพาะความนิยมของแต่ละชาติๆ ไป

- ประวัติและชื่อชั้นของทับทิมไทยไม่ค่อยมีการบันทึกไว้มากนัก แทบจะเหลือเพียงเรื่องราวเล่าขาน เท่าที่บันทึกก็ไม่มีการเผยแพร่เป็นภาษาต่างชาติ ทับทิมไทยดีเด่นแค่ใหนจึงมีแค่คนไทยเท่านั้นที่รู้
   ผมศึกษา เรื่องประวัติทับทิมสยามจากอินเตอร์เน็ตเป็นหลักครับ เรื่องทับทิมไทยที่บันทึกไว้ในเว็บไทยก็เป็นเรื่องพื้นๆ แต่กับฝ่ายฝรั่งเค้ากลับเขียนเป็นตำราเป็นที่อ้างอิง ผมศึกษาจากเว็บ www.ruby-sapphile.com ในส่วนหนึ่งครับ เจ้าของเว็บเค้าเป็นฝรั่งที่มาอยู่เมืองไทยยาวนานและเป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญด้านพลอย (จากคำแนะนำตัวเองที่เค้าเขียนไว้) ทุกวันนี้เค้าเป็นเป็นมือพลอยและหินสีรวมไปถึงเพชรอันดับต้นๆ ของโลกไปแล้ว เป็นคนที่เมื่อพูดอะไรเรื่องพลอยขึ้นมาแล้วคนแทบทั้งโลกจะนิ่งฟัง ทรรศนะของเค้าต่อทับทิมสยามดูไม่ค่อยดีนักเลยครับในความรู้สึกผม
   บนหน้าเว็บของเค้าก็อ้างอิงประวัติทับทิมสยามจากบันทึกเก่าๆ ของชาวฝรั่งเช่นกัน คงทำได้เท่านั้นเพราะฝ่ายไทยไม่มีบันทึกหรือมีก็เข้าไม่ถึง ฝรั่งคนนี้เค้าเขียนตำราชื่อ ruby&sapphile ที่เปรียบได้ว่าเป็นหนังสือเล่มแรกหรือหนังสือ ก. กา ที่ผู้ที่ต้องการศึกษาเรื่องพลอยระดับอินเตอร์ฯ ต้องอ่านและต้องเก็บไว้อ้างอิง ผมยังหามาอ่านทั้งเล่มไม่ได้เพราะขายหมดไปนานแล้ว แต่บางเรื่องจากหนังสือที่เผยแพร่บนเว็บนั้นมีอะไรหลายอย่างที่ขัดแย้งกับข้อมูลจากกระทู้ในเว็บนี้ที่ผมอ้างถึง แต่ตำรานั้นเรียกได้ว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์โลกไปแล้ว ในอีกด้าน เรื่องราวความดีเด่นของทับทิมสยามของคนไทยกลับกลับเป็นแค่เรื่องบอกเล่า รู้กันแต่เฉพาะในหมู่คนไทยวงแคบๆ และกำลังเลือนหายไปหมดสิ้น ผมอยากเห็นบันทึกเรื่องทับทิมสยามอย่างเป็นแก่นสารและโต้แย้งชาติอื่นๆ ได้ในเรื่องที่ไม่ถูกต้องจริงๆ ครับ

- อีกเรื่องที่ได้ยินมาคือการเผาพลอย ใครจะเผาก่อนหลังไม่ใช่ประด็นหลัก แต่ที่เกิดการเผาจนกลายเป็นวิธีการแพร่หลายและมีอิทธิพลระดับโลกนี้เกิดที่ไทยนี่เอง เป็นเพราะไฟใหม้ตลาดพลอยเมืองจันทร์ฯ หลังไฟสงบเจ้าของร้านก็เข้าไปเขี่ยหาพลอยของตัวเองจากกองขี้เถ้า ความเรื่องเผาพลอยแล้วสวยขึ้นจึงเกิดและระบาดไปทั่วโลก อันนี้เคยมีไฟใหม้ตลาดจริงหรือเปล่าครับใครทราบบ้าง

- ปัจจุบันชื่อเสียงการเผาพลอยในสมัยใหม่นี้ไทยโด่งดังที่สุด ผู้ให้กำเนิดตำราเผาพลอยก็คนไทยนี่แหละ และคนเดียวกันนี้ก็ให้กำเนิดวิธีเผาพลอยแบบเติมแก้วด้วย เรื่องนี้ทำให้คนไทยมีชื่อเสียงและไถูกพูดถึงอย่างชื่นชมในความช่างคิดไปทั่วโลก แต่อีกด้าน ฝรั่งต่างชาติบางกลุ่มกลับตำหนิอย่างรุนแรงต่อเรื่องนี้ ตอนนี้ชื่อเสียงของไทยเรื่องพลอยเริ่มด่างพร้อยแล้ว กระแสนิยมกลับตีกลับไปหาพลอยธรรมชาติที่ไม่มีการเติมแต่งเป็นอย่างมาก ผมผมเองก็เห็นผู้คนบน ebay เริ่มพูดคุยกันหลายกระทู้แล้วว่า "ถ้าคิดจะซื้อพลอยหรืออัญมณีอย่าซื้อที่ทำจากจีนและไทย เพราะมันเป็นของเกรดต่ำเกือบ 100%"
   ที่จริงมันก็เผากันทั้งโลกนั้นแหละ (กว่า 90%) แต่ประเทศไทยถูกตีตราไปแล้วจากผู้ซื้อนี่สิ อันนี้ว่ามันน่ากลัวมาก (แต่รัฐบาล/ผู้ค้าพลอยไทย/สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กลับกำลังมุ่งไปทางสนับสนุนการแต่งเติมนี้อย่างเต็มตัว)

ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 30 ก.ย. 12, 18:47

ไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจอัญมณีเลยค่ะ    เรื่องทับทิมพม่าและทับทิมสยามก็เหมือนกัน
รู้แต่ว่าสมัยก่อน 1960s  ไม่เคยได้ยินชื่อทับทิมสยาม  แต่รู้จักพลอยสีแดงของจันทบุรี     ทับทิมอย่างเดียวที่ได้ยินชื่อคือทับทิมพม่า

คุณทับทิมไทยถามแบบมืออาชีพ    เห็นจะต้องส่งไม้ต่อให้คุณ Naitang   ขอให้ใช้สิทธิ์พาดพิงอีกครั้ง

พอดีไปเจอเว็บนี้ค่ะ เลยเอามาลงไว้ให้พิจารณา
ทับทิมสยาม แหล่งใหญ่อีกแหล่งหนึ่ง ของทับทิม ที่ปัจจุบันแทบจะเหลือแต่แหล่ง ไม่ค่อยเหลือเม็ดทับทิม ไว้ให้ขุดสักเท่าไร แต่ถ้าดูในตลาดทับทิมของไทย ก็ดูยังครองตลาดเกินครึ่งกว่าทับทิมจากแหล่งอื่น ในสมัยที่พม่ายังรุ่งเรือง ก่อนปี 1962 ทับทิมไทยแทบจะไม่เป็นที่สนใจ ของเหล่าพ่อค้าพลอยเลย ด้วยความที่ ทับทิมไทย มีสีแดงคล้ำมากกว่า ส่วนใหญ่ติดสีม่วง แม้ว่าจะมีขนาดใหญ่กว่า สะอาดกว่าก็ตาม แต่พอพม่า เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 1962 และปิดการทำเหมืองพลอยอย่างเป็นทางการหมด จึงทำให้พลอยพม่า หายากมากขึ้น จะมีให้เห็นบ้าง ก็จากการประมูลปีละครั้ง ของรัฐบาล หรือจากพวกที่ลักลอบนำออกมา ซึ่งนับเป็น ปริมาณที่น้อยมาก ทับทิมไทย จึงได้โอกาสแจ้งเกิด ประกอบกับการค้นพบกรรมวิธี ที่เรียกว่า Cooking หรือ เผาพลอย ทำให้ทับทิมไทยที่เคย ติดม่วง หรือแดงคล้ำ กลับสุกใส ไร้สีอื่นเจือปน จนแทบแยกไม่ออก ว่าเม็ดไหนของไทย เม็ดไหนของพม่าราคาของทับทิมไทย

ในปัจจุบันจึงสูงกว่า สมัยก่อนมาก โดยเฉพาะภายหลัง จากการลดค่าเงินบาทในปี 1985 ราคาทับทิมไทย สูงขึ้นประมาณ 30 - 50 % และในตลาดส่วนใหญ่ ก็มีแต่เพียงทับทิมไทยขาย จึงทำให้ทับทิมไทย ครองตลาดเกินกว่าครึ่ง ในตลาดโลก ลูกค้าที่ซื้อทับทิมจากไทย มีทุกตลาด อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี และศูนย์กลาง การซื้อขายทับทิมของโลก จะอยู่ที่กรุงเทพฯ

ทับทิมไทย มีสีแดงเข้ม โทนสีมืด อาจเป็นแดงส้ม (แดงลายไทย) แดงดำ แดงติดม่วง (น้ำเงิน) หรือ แดงชมพู ทับทิมขนาดใหญ่เกือบ 100 % ผ่านการเผามาแล้ว เพราะปรับปรุงสี

ถ้าดูด้วยเครื่องฟลูออเรสเซ็นส์ ทับทิมไทย จะเฉื่อยในคลื่นสั้น ไม่แดงเหมือนทับทิมพม่า และเวียตนาม ส่วนรอยตำหนิภายใน มักพบของเหลว 2 phase เป็นแผ่นฟิล์มบางๆ และตำหนิแบบดาวเสาร์ ที่เป็นผลึกอยู่ตรงกลาง Fingerprint หรือพบตำหนิรูปเส้นเข็มหรือ หรือ Repeated Twining ผลึก และผลึก Nagative และตำหนิของเหลวพวก Fingerprint แต่สังเกตว่าจะไม่พบเส้นเข็มรูทิลภายในพลอยไทย รวมทั้งไม่ค่อยจะพบแถบสี หรือเส้นสี หรือ หรือ Treacle ภายในด้วย

 http://www.weloveshopping.com/template/e1/show_article.php?shopid=22655&qid=66056


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 30 ก.ย. 12, 21:31

ทับทิม เป็นแร่ตระกูลคอรันดัม ซึ่งไทยเรียกว่า "กะรุน" ซึ่งจะแบ่งออกเป็น ๒ ชนิดครับ

๑. ทับทิม (สีชมพู จนถึงแดง)

๒. แซบไฟร์ (สีอื่น ๆ)

ทับทิมสยามนั้นแหล่งเกิดที่จันทบุรี และตราด มีสีแดงอมม่วง เล็กน้อยครับถือเป็นแหล่งที่กำเนิดทับทิมที่มีคุณภาพสวยมาก ส่วนพลอยพม่าจะมีสีแดงอมชมพูต่างกันชัดเจน



บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 30 ก.ย. 12, 21:43

งานวิจัยของ รัก หรรษจเวก ฝ่ายแร่รัตนชาติ กองเศรษฐธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ได้เปิดเผยความเป็นมาของการเผาพลอยไว้ว่า ไม่ต่ำกว่า 100 ปีมาแล้วที่คนไทยรู้จัก การหุงพลอย หรือ การเผาพลอยเพทายที่นำมาจาก บ่อข่า จังหวัดรัตนคีรี ประเทศเขมร เพทายที่นำมาเผาจะได้สีน้ำทะเลเข้มลึก


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เผาพลอย ต้นกำเนิดที่เริ่มจากความบังเอิญ
บันทึกการเข้า
tubtimthai
อสุรผัด
*
ตอบ: 20


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 01 ต.ค. 12, 01:32

ขอบคุณทุกท่านที่ตอบครับ

ขอบคุณคุณเทาชมพูที่หาข้อมูลมาให้ เนื้อความที่อ้างถึงผมตีประเด็นได้หลายทาง แต่ตามไปอ่านแล้วก็คิดว่านี่คงเป็นมุมมองของผู้ค้าพลอยที่อยากให้ผู้ซื้อคล้อยตาม ที่น่าห่วงคือตลาดผู้ซื้อมันกว้างและตลาดต่างชาติเค้าคิดอีกอย่างไม่เหมือนเรา โดยเฉพาะประโยคที่เขียนว่า

"คำว่า ทับทิมพม่า ทับทิมสยาม ทับทิมซีลอน จะใช้เป็นเพียงพื้นฐานของคุณภาพสีเท่านั้นคือใช้เป็นสื่อแทนสี มิได้เกี่ยวข้องกับแหล่งที่เกิดเลย กล่าวคือ อาจพบทับทิมที่มีสีเหมือนกับทับทิมสยามในพม่า หรืออาจพบทับทิมสีเหมือนทับทิมพม่าในไทย ได้เช่นกัน"

นั้นผมว่าค่อนข้างผิดมหันต์ เหล่าสถาบันผู้ตรวจสอบรับรองคุณภาพชั้นนำสามารถตรวจหาแหล่งที่มาที่น่าจะเป็นของทับทิมแต่ละเม็ดได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ การกล่าวสีเหมือนกันมาจากที่ใหนก็เหมือนๆ กัน อันตรายครับ หากผู้ซื้อซื้อสินค้าราคาแพงไปแล้วเมื่อนำไปขอใบรับรองและพบว่าถูกหลอกหรืออ้างชื่อทับทิมประเทศอื่น ความน่าเชื่อถือของผู้ขายจะไม่เหลืออีกต่อไป เหมือนกล่าวว่าส้มเขียวหวานมาจากประเทศใหนๆ ก็เหมือนกัน เทรวมกันแล้วคัดสีคัดขนาดให้เป็นกลุ่มๆ แล้วบอกส่งๆ ไปว่ามาจากใหนสักแห่งที่ดูน่าเชื่อก็เสร็จเรื่องไปอย่างนั้นเลยครับ แล้วไม่งั้นเราก็ซื้อ "ทับทิมสังเคราะห์" จากจีนมาขายก็ได้ เจ้านั้นเค้าขายเป็นกิโล (เช่น http://www.alibaba.com/product-gs/524371634/High_Quality_Rough_Ruby_Stone.html) เฉลี่ยแล้วตกกะรัตไม่กี่บาท สวยกว่าของแท้อีกครับ แนวความคิดของประโยคที่ผมยกมาจึงน่าห่วงมาก

ขอบคุณคุณ siamese ที่ให้ข้อมูลครับ เรื่องเผาพลอยผมไม่ค่อยติดใจ ใครจะเผาก่อนเผาหลังก็เผาเหมือนกัน บางคนว่าเพราะไฟใหม้ตลาด บางคนว่าเพราะไฟใหม้บ้านพ่อค้าพลอย ส่วนคนฝรั่งบางคนอ้างถึงย้อนไปไกลถึงอียิปต์โน่น ส่วนตัวผมเองสนใจพลอยธรรมชาติไม่เผาหรือทำอะไรนอกจากล้างน้ำเปล่า อาจจะเป็นที่ความชอบครับ

ส่วนเรื่องสีของพลอยนี่ยังเป็นเรื่องยาว พลอยบ่อใหม่ของพม่า (Mong Hsu) คุณภาพไม่ดีในบทความนี้ก็เขียนถึง http://www.ruby-sapphire.com/flux_healing_mong_hsu_ruby.htm ในนั้นระบุเป็นนัยๆ ว่าคนที่เผานั้นเป็นคนไทย ซึ่งเค้าไม่ชื่นชอบ โดยเฉพาะเผาแบบเติมองค์ประกอบอื่นลงไป สถาบันรับรองบางแห่ง เช่น GIA ถือว่าไม่ใช่ทับทิมเลยทีเดียว แต่ปัญหาใหญ่คือ "ทรรศนะและการฝังค่านิยม" ของเรากำลังมุ่งสวนกับกระแสของต่างชาติอย่างแรง ที่สำคัญไทยคือตัวการใหญ่ที่ทุกคนกำลังโทษอยู่ตอนนี้ครับ

ส่วนเหมือง mogok ที่โด่งดัง ที่สีสวยนั้นก็เป็นเม็ดที่เป็น 1 ใน 1,000 หรือ 1 ใน 10,000 ซะด้วย ถ้าเทียบกับทับทิมสยามระดับเดียวกันผมว่าไม่แน่ วันนี้พม่าเองก็ยอมรับอย่างชัดเจนแล้วว่าของเค้าไม่ใช่สีเลือดนก แต่เป็นสีของตานกพิรายเผือก ผู้คนเข้าใจผิดไปเองต่างหาก จาก http://www.mogok-rubies.com/mogok_rubies.php ในข้อความ

อ้างถึง
The color Pigeon Blood Ruby red, is not associated with the color of a pigeon’s blood but rather the color of a white pigeon’s eye. So many have made this mistake.

ซึ่งก็แปลก ความจริงก็ไม่มีใครระบุได้แน่ชัดว่าสีเลือดนกพิราบเป็นสีแดงแบบใหน (บันทึกเก่าๆ ของฝ่ายตะวันตกก็ยอมรับไว้เช่นนี้) อันที่จริงไม่มีใครอยากเห็นหรืออยากลองเอานกพิราบมาเชือดดู แต่ที่ผมว่าแปลกคือสีของเลือดหมูยังเป็นสีของเลือดไม่ใช่สีของตาหมูเผือกซักหน่อย แต่สีเลือดนกกลับไม่ใช่ซะอย่างนั้น

สีแดงแบบทับทิมแดงของพม่าในความคิดผมคิดว่ามันแดงแบบแก้วสี มองอีกทีเหมือนแก้วใส่น้ำแดง ฝรั่งนิยามว่าเป็น vivid red อันนั้นตรงที่สุดแล้ว

แต่แดงแบบในตำนานมีคนกล่าวว่า มันเหมือนหยดเลือดที่หยดออกมาจากตัวนกพิราบใหม่ๆ แดงแบบเหมือนมีน้ำเต้นระริกอยู่อย่างนั้น อันนี้เขียนพรรณาเกินจริงไว้หรือไม่ไม่ทราบ แต่ถ้าแดงแบบทับทิมไทยผมบอกได้ว่ามันเป็นอีกแบบ ไม่สวยใสเหมือนของพม่าเค้า บางเม็ดที่สวยเห็นได้ชัดเลยว่าเป็นแดงแต่เป็นแดงแบบเปื้อนเลือด คือถ้าเอาวางไว้เดินถอยห่างมาหน่อยรู้สึกได้ชัดเลยว่าเหมือนชิ้นเนื้อสดๆ ที่หั่นมาใหม่ๆ วางอยู่ และเป็นชิ้นเนื้อมีเลือดฉ่ำอยู่เหมือนจะไหลหยดได้จริงๆ

ไม่รู้เหมือนกันว่านั่นจะดูเหมือนชิ้นเนื้อของนกพิราบใหม หรืออาจจะแค่ชิ้นเนื้อวัว ไม่รู้ว่าผู้คนจะชอบสีแดงฉูดฉาด (vivid red) ของพม่าไปซะแล้วทั้งหมด ถ้าเช่นนั้นแดงแบบเลือดไม่ว่าจะเป็นเลือดนกฟ้าหรือเลือดพญาครุฆก็คงไม่มีความหมาย เพราะแดงแบบเลือดได้เปลี่ยนไปเป็นแดงแบบตานกพิราบเผือกไปซะแล้ว

สำหรับผมตอนนี้ที่ยังไม่เคยเห็น "ทับทิมพม่าธรรมชาติ" ที่สวยแบบในรูป ถ้าตามในรูปยอมรับว่าทับทิมพม่าแดงสวยกว่า ใสกว่า อันนี้จริง แต่เรื่องที่ว่าของพม่าเค้าเป็นที่หนึ่ง และทับทิมไทยเทียบชั้นไม่ได้เลยนั้นผมยังสงสัยอยู่ จึงอยากตามหาบันทึกหรือข้อมูลจากปากผู้รู้ถึงตอนสมัยที่ทับทิมไทยรุ่งเรืองนั้นว่าสู้เค้าได้หรือไม่ อย่างไรครับ
บันทึกการเข้า
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 01 ต.ค. 12, 11:03

ผมไม่มีความรู้เรื่องเพชรพลอยหรอกครับ แต่อ่านในกระทู้แล้วเกิดความงง ผมถามตนเองว่า ถ้าทับทิมแบ่งออกเป็นทับทิมและแซบไฟร์ (ตามความเห็นของท่านSiamese) ถ้าผมไปพบหินที่มีค่าก้อนหนึ่งที่สีไม่แดงถึงชมพู ผมควรจะเรียกว่า ทับทิม(ชื่อในภาพรวม)หรือแซบไฟร์(ชื่อเมื่อถูกจัดเป็น subgroup แล้ว) และถ้าผมเรียกว่า ทับทิม ผู้อ่านจะทราบได้อย่างไรว่า ผมหมายถึงทับทิม(ในภาพรวม) หรือทับทิม(ที่เป็นsubgroup)
เพื่อความกระจ่างก็เลยลองถามอากู๋และน้าวิกิ ได้ความดังนี้ครับ

แร่รัตนชาติ หรือ รัตนชาติ (อังกฤษ : gemstone) เป็นกลุ่มประเภทของแร่ประเภทหนึ่ง โดยหมายถึง แร่หรือหินบางชนิด หรืออินทรียวัตถุธรรมชาติที่นำมาเจียระไน ตกแต่ง หรือแกะสลัก เพื่อใช้เป็นเครื่องประดับ มีความงาม ทนทาน และหายาก โดยปกติแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ เพชร และพลอย ซึ่งหมายถึง อัญมณีทุกชนิดยกเว้นเพชร หากผ่านการตกแต่งหรือเจียระไนแล้ว เรียกว่า อัญมณี นอกจากนี้ สารประกอบที่ได้จากสิ่งมีชีวิตที่อาจจัดเป็นรัตนชาติได้แก่ ไข่มุก และปะการังและอำพัน
รัตนชาติหรืออัญมณี เป็นผลึกที่มีมลทินอยู่ภายใน ทำให้มีสีต่าง ๆ กันไป มีความแข็ง สามารถเจียระไนให้เกิดมุม เพื่อให้เกิดการกระจายแสงเห็นความแวววาว มลทินในแร่ ทำให้แร่มีสีต่าง ๆ กัน แร่คอรันดัมบริสุทธิ์ เป็นสารพวกอะลูมิเนียมออกไซด์ มีสีขาว ถ้ามีมลทินจำพวกโครเมียมผสม ทำให้มีสีแดง เช่นทับทิม ส่วน เหล็ก ไทเทเนียม ทำให้มีสีน้ำเงิน (ทับทิมกับไพลิน เป็นแร่คอรันดัมเหมือนกัน แต่มีมลทินต่างชนิดกัน)
เกณฑ์ที่ใช้ตัดสินอัญมณีได้แก่ ความแข็ง (ตาม Moh's scale), ความถ่วงจำเพาะ และค่าดัชนีหักเหของแสง
ดัชนีหักเหของแสง เป็นค่าคงที่ของอัญมณีแต่ละชนิด จึงใช้ตัดสินว่าเป็นของปลอมหรือไม่ ความแข็งของแร่ก็มีผลต่อราคาของอัญมณีด้วย จึงนำมาทดสอบ โดยการขูดขีดกัน (อาจใช้ตะไบ มือ เหรียญทองแดง มีดพับ, กระจก ทดสอบ) แร่ที่มีรอยขูดขีดจะอ่อนกว่า ซึ่งทดสอบได้

ประเภทของรัตนชาติ

พลอย หรือหินสี ที่สำคัญได้แก่
พลอยในตระกูลคอรันดัม ซึ่งประกอบด้วย Al2O3 โดยมี Al : O = 52.9 : 47.1 โดยมวล การที่พลอยแต่ละชนิดมีสีต่างกันเป็นเพราะมีธาตุเจือปนที่ต่างกัน เช่น ทับทิม มีสีแดง เพราะมี โครเมียม เจือปนอยู่ 0.1 – 1.25 โดยมวล บุษราคัม (แซฟไฟร์สีเหลือง) มี เหล็ก และไทเทเนียม เจือปน ไพลิน (แซฟไฟร์สีน้ำเงิน) มีสีน้ำเงินเพราะมี เหล็ก และ ไทเทเนียม เจือปน พลอยสาแหรก หรือสตาร์ มีรูไทล์ปนอยู่ในเนื้อพลอย
พลอยในตระกูลควอทซ์ เช่น อเมทิสต์ ซิทริน อาเกต เป็นต้น
เพชร เป็นธาตุคาร์บอนที่บริสุทธิ์ มีความแข็งแรงมากที่สุด เพชรที่ดีจะต้องไม่มีสี (ถ้ามีสีสวยงามในกลุ่ม เหลือง ชมพู ส้ม แดง น้ำเงิน จะมีราคาสูงกว่าเพชรสีขาวมากๆเรียกว่า Fancy Diamond)

รัตนชาติไทย

หากจะแปลตามตัว รัตนชาติ ที่เดิมเขียนกันว่า รัตนชาต ก็จะแปลไว้ว่า สิ่งที่ถือกำเนิดมาเป็นแก้ว (รัตน=แก้ว ชาต=เกิด) ซึ่งในประเทศไทยเอง ก็พบว่ามีรัตนชาต ๙ อย่างอันเป็นมิ่งมงคล แต่บางชนิดหายากหรือหาไม่พบในประเทศไทยปัจจุบันแล้ว
รัตนชาต ทั้ง ๙ หรือเรียกว่า นพรัตน์ นั้น โบราณท่านผูกเป็นบทกลอนไว้ว่า
   
เพชรดีมณีแดง เขียวใสแสงมรกต เหลืองใสสดบุษราคัม แดงแก่ก่ำโกเมนเอก สีหมอกเมฆนิลกาฬ มุกดาหารหมอกมัว แดงสลัวเพทาย สังวาลย์สายไพฑูรย์

ซึ่งตามคำกลอนดังกล่าว ไม่ได้เรียงตามระดับราคาหรือค่าความแข็งแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้พบว่าชื่อเรียกในโบราณนั้น ปัจจุบันสามารถหมายถึงรัตนชาตชนิดอื่นได้เช่นกัน ถ้าอ้างอิงตามกลอนบทนี้ สามารถถอดความเป็นรัตนชาต ๙ อย่างได้ดังนี้
๑. เพชรดี หมายถึง เพชร แร่รัตนชาติสีขาว (Diamond)
๒. มณีแดง หมายถึง ทับทิม แร่รัตนชาติสีแดง (Ruby)
๓. เขียวใสแสงมรกต หมายถึง มรกต แร่รัตนชาติสีเขียว (Emerald)
๔. เหลืองใสสดบุษราคัม หมายถึง บุษราคัม แร่รัตนชาติสีเหลือง (แซฟไฟร์สีเหลือง)
๕. แดงแก่ก่ำโกเมนเอก หมายถึง โกเมน แร่รัตนชาติสีเลือดหมู (Garnet)
๖. สีหมอกเมฆนิลกาฬ หมายถึง แซฟไฟร์ แร่รัตนชาติสีน้ำเงิน(ไพลิน) (แซฟไฟร์สีน้ำเงิน)
๗. มุกดาหารหมอกมัว หมายถึง มุกดา หรือ จันทรกานต์ แร่รัตนชาติสีขาวขุ่นคล้ายสีหมอก มีลักษณะพิเศษมีเหลือบรุ้งสีออกฟ้าสีนวล (Moonstone)
๘. แดงสลัวเพทาย หมายถึง เพทาย แร่รัตนชาติสีแดงเข้ม (Hyacinth) เขียนอีกอย่างหนึ่งว่า (Yellow Zircon) (ซึ่งเป็นรัตนชาตชนิดเดียวกัน)
๙. สังวาลสายไพฑูรย์ หมายถึง ไพฑูรย์ เป็นอัญมณีหรือหินสีชนิดหนึ่งหรือแร่รัตนชาติ มีหลายสีเช่น สีเหลืองนวล สีเหลืองทอง สีน้ำผึ้ง สีเขียวแอปเปิล สีน้ำตาล ฯลฯ (Chrysoberyl-cat eye)

ทับทิม หรือ มณี ,รัตนราช,ปัทมราช (อังกฤษ: Ruby) เป็นรัตนชาติชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในตระกูลคอรันดัม(Corundum)เช่นเดียวกับบุษราคัม ไพลิน เขียวส่องและ Fancy shappire มีความแข็งรองจากเพชร เป็นที่นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับมาก เพราะมีสีสวยและมีความแข็งแกร่งเปล่งประกายจับตา เป็นที่นิยมมากกว่าอัญมณีสีแดงชนิดอื่นๆ มนุษย์รู้จักทับทิมมานาน กษัตริย์มักนำมาประดับมงกุฏและสวมใส่ออกขณะรบ เป็นที่แพร่หลายมากๆในชมพูทวีป ทับทิมในภาษาสันสกฤตโบราณคือ "ratanraj" หมายถึงเจ้าแห่งอัญมณีทั้งปวง จนทับทิมถูกขนานนามว่าอัญมณีแห่งราชา ในประเทศไทยนั้นถือว่าทับทิมเป็นอัญมณีหนึ่งในนพรัตน์ โดยธรรมชาตินั้นทับทิมมักมีเนื้อขุ่น ตำหนิมากบางชิ้นทึบแสงดูไม่สวยงามดังนั้นทับทิมในท้องตลาดส่วนใหญ่ผ่านการเพิ่มคุณภาพด้วยความร้อนมาแทบทั้งสิ้น สีที่นับว่าหายากและราคาแพงมหาศาลคือ สีแดงสดแบบเลือดนกพิราบเนื้อใสสะอาดสมบูรณ์แบบทั้งสัดส่วนและประกายขนาด 3-4กะรัตอาจจะมีราคาสูงกว่า 7 หลัก ถ้าสูงกะรัตกว่านี้จะหายากมากๆราคาอาจถึง 8หลักเลยทีเดียว

ผิดถูกอย่างไรต้องขออภัยด้วยครับ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 01 ต.ค. 12, 14:09

ผมไม่มีความรู้เรื่องเพชรพลอยหรอกครับ แต่อ่านในกระทู้แล้วเกิดความงง ผมถามตนเองว่า ถ้าทับทิมแบ่งออกเป็นทับทิมและแซบไฟร์ (ตามความเห็นของท่านSiamese) ถ้าผมไปพบหินที่มีค่าก้อนหนึ่งที่สีไม่แดงถึงชมพู ผมควรจะเรียกว่า ทับทิม(ชื่อในภาพรวม)หรือแซบไฟร์(ชื่อเมื่อถูกจัดเป็น subgroup แล้ว) และถ้าผมเรียกว่า ทับทิม ผู้อ่านจะทราบได้อย่างไรว่า ผมหมายถึงทับทิม(ในภาพรวม) หรือทับทิม(ที่เป็นsubgroup)
เพื่อความกระจ่างก็เลยลองถามอากู๋และน้าวิกิ ได้ความดังนี้ครับ

ทับทิม หรือ มณี ,รัตนราช,ปัทมราช (อังกฤษ: Ruby) เป็นรัตนชาติชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในตระกูลคอรันดัม(Corundum)เช่นเดียวกับบุษราคัม ไพลิน เขียวส่องและ Fancy shappire มีความแข็งรองจากเพชร เป็นที่นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับมาก เพราะมีสีสวยและมีความแข็งแกร่งเปล่งประกายจับตา เป็นที่นิยมมากกว่าอัญมณีสีแดงชนิดอื่นๆ มนุษย์รู้จักทับทิมมานาน กษัตริย์มักนำมาประดับมงกุฏและสวมใส่ออกขณะรบ เป็นที่แพร่หลายมากๆในชมพูทวีป ทับทิมในภาษาสันสกฤตโบราณคือ "ratanraj" หมายถึงเจ้าแห่งอัญมณีทั้งปวง จนทับทิมถูกขนานนามว่าอัญมณีแห่งราชา ในประเทศไทยนั้นถือว่าทับทิมเป็นอัญมณีหนึ่งในนพรัตน์ โดยธรรมชาตินั้นทับทิมมักมีเนื้อขุ่น ตำหนิมากบางชิ้นทึบแสงดูไม่สวยงามดังนั้นทับทิมในท้องตลาดส่วนใหญ่ผ่านการเพิ่มคุณภาพด้วยความร้อนมาแทบทั้งสิ้น สีที่นับว่าหายากและราคาแพงมหาศาลคือ สีแดงสดแบบเลือดนกพิราบเนื้อใสสะอาดสมบูรณ์แบบทั้งสัดส่วนและประกายขนาด 3-4กะรัตอาจจะมีราคาสูงกว่า 7 หลัก ถ้าสูงกะรัตกว่านี้จะหายากมากๆราคาอาจถึง 8หลักเลยทีเดียว

ผิดถูกอย่างไรต้องขออภัยด้วยครับ

คือแร่ในตระกูลคอรันดัม มีสองอย่างครับ คือ ตระกูลทับทิม (สีแดง) อย่างหนึ่งกับอีกตระกูลคือพวกแซบไฟร์ (สีอื่น ๆ เช่นสีเขียว สีน้ำเงิน รวมทั้งชมพูอ่อน ๆ ก็มีครับ)
บันทึกการเข้า
tubtimthai
อสุรผัด
*
ตอบ: 20


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 02 ต.ค. 12, 12:06

ขอเสริมตามประสาคนเพิ่งศึกษานะครับ

ทับทิมเป็นชื่อเรียกเฉพาะของพลอยสีแดงครับ ส่วนพลอยสีอื่นมีชื่อเรียกอย่างอื่น แต่ไม่โด่งดังและแพงเท่าแต่ความจริงก็เป็นพลอยเหมือนกัน อีกความจริงคือพลอยสีอื่นบางเม็ดราคาแพงกว่าทับทิมเกรดทั่วๆ ไปก็เยอะครับ

แต่การจัดสีของพลอยว่าแดงแค่ใหนจึงเรียกว่าทับทิมนั้นค่อนข้างซับซ้อน เพราะมันมีสีแดงอ่อน ทีแดงเข้ม สีแดงปนสีอื่น หรือสีชมพูเข้มๆ เต็มไปหมด แต่ผู้ค้าทั้งโลกย่อมอยากจัดพลอยชมพูของตัวเองเป็นทับทิมกันทั้งนั้นเพราะแพงกว่า ตอนนี้จึงมีพลอยชมพูที่ถูกเรียกว่าทับทิมเต็มไปหมด แต่ผู้ซื้อบางกลุ่มก็มีเหมือนกันที่ไม่ชอบสีจัดหรือสีแดงเข้มแต่ชอบสีแดงอมชมพูหรือสีชมพูเข้มมากกว่า และไม่ขัดใจที่จะเรียกมันว่าทับทิมด้วย แต่สำหรับองค์กรที่ออกใบรับรองให้อัญมณีบางแห่งมีเกณฑ์ด้านสีที่เข้มงวดมาก สีแดงอ่อนหรือเข้มไปก็ไม่จัดเป็นทับทิมในขณะที่องค์กรอื่นจัดเป็นทับทิมอยู่ก็มีครับ

ตอนนี้ทับทิมจากพม่าหรือแหล่งอื่นเกือบทั่วโลกแทบจะเป็นพลอยสีชมพูแทบทั้งหมด อาจมีแค่ 1 ใน 10,000 หรือ 1 ใน 100,000 เท่านั้นที่จะเรียกได้ว่าเป็นทับทิมจริงๆ ส่วนทับทิมไทยมีปัญหาคือมันสีเข้ม ติดม่วง ติดน้ำตาล ติดทึบ จนจะกลายเป็นโกเมนไปซะเยอะ จึงเป็นปัญหาที่ต่างกันไป แต่ถ้านับเป็นโทนแดงโดยภาพกว้างๆ แล้ว ของไทยออกโทนแดงมากกว่าของที่อื่น และยังมีพลอยไทยบางเม็ดที่เป็นพลอยใสแต่เจือสีแดงนิดหน่อย (แดงเข้มไม่ติดชมพู)  ถูกเรียกว่าเป็น siam red diamond ก็มีเหมือนกัน

แต่ทับทิมสยามหายไปจากตลาดนานมากแล้ว ที่เหลือขุดได้ในช่วงประมาณ 10-20 ปีหลังนี่ก็เป็นทับทิมเม็ดเล็กไม่กี่กะรัต (น้อยกว่า 3 กะรัต) น่าจะทั้งหมดถูกหุงและเจียรนัยแล้ว (เพราะพ่อค้าเข้าใจว่ามันเป็นวิธีมาตรฐานที่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ลูกค้าน่าจะชอบแบบนี้ตลอดไป) ส่วนที่ยังเป็นเม็ดเดิมๆ เกรดสูงและขนาดใหญ่ (เกิน 3 กะรัต) น่าจะหมดไปจากโลกแล้ว มันจึงทำให้ผมสงสัยว่าทับทิมว่าทับทิมไทยที่ขุดได้ก่อนหน้านั้นหายไปใหน มีคนบอกผมว่ามันยังมีอยู่ แต่คนที่ครอบครองไม่ยอมเปิดเผยหรือนำออกขายไม่ว่าจะราคาแพงแค่ใหน เพราะมันทรงคุณค่าเกินกว่าจะตั้งราคาได้ ผมฟังๆ ดูแล้วก็มีเค้าครับ เพราะเท่าที่ไดด้ยินมาลางๆ ทับทิมสยามเม็ดที่แม้ไม่ใช่เม็ดเอกชั้นเลิศเจ้าของก็ไม่คิดที่จะขายหรือแม้จะเอามาอวดให้ใครรู้ใครเห็นแล้วครับ

ตอนนี้มันจึงเหลือแค่ทับทิมพม่า โดยเฉพาะถ้าเป็นทับทิมจากเหมือง mogok จะแพงมาก ใครๆ ก็ร้องหาแต่ทับทิม mogok เพราะสวยและหายาก ตอนนี้ทับทิมเม็ดแพงสุดเป็นของจาก mogok ซึ่งราคาสูงกว่า 500,000 USD ต่อกะรัต และทับทิมจาก mogok ตอนนี้ก็เริ่มมีสภาพไม่ต่างจากทับทิมสยามเข้าไปทุกวันๆ

ความจริงตลาดทับทิมมีทั้งตลาดที่เปิดเผยและตลาดที่ปิดเงียบ ทับทิมเม็ดสวยถูกขายเปลี่ยนมืออย่างถูกต้องแบบเงียบๆ แม้จะราคาสูงมากแต่ก็ไม่เป็นข่าวเพราะผู้ซื้อผู้ขายต้องการให้เป็นเช่นนั้น ของล้ำค้าบางอย่างก็นำภัยมาให้หากอวดอ้างมากไป จึงมีผู้ผู้บางคนปฏิเสธที่จะซื้อหากข่าวแพร่ออกไปก็มี ผมคิดว่าทับทิมสยามอาจเคลื่อนไหวอยู่ในตลาดนี้ และอาจหยุดเคลื่อนไหวเปลี่ยนมือไปนานแล้วด้วยก็ได้เพราะผู้ซื้อตลาดนี้ซื้อแล้วมักไม่ขายต่อ เก็บไว้เป็นแก้วประจำเมืองอย่างเงียบๆ ตลอดไป ความเชื่อว่าของบางอย่างเป็นของมงคลและให้คุณแก่ผู้ครอบครองนั้นมีอยู่ทั่วโลก ไม่ใช่เป็นเฉพาะคนไทยเท่านั้นนะครับ

ศึกษามาถึงตอนนี้ผมก็คิดว่า การจะตามหาข่าวทับทิมสยามนั้นคงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้แล้ว แม้จะทำเพื่อกู้ศักดิ์ศรีคืนหรืออะไรก็ตามที ถึงจะตามหาเจอหรือมีคนเอาออกมาขายก็คงไม่พอกับความต้องการ

น้อยใจหน่อยๆ ที่คนไทยไม่บันทึกหรืออยากโต้แย้งแทนกันเท่าไหร่ ตอนนี้ตลาดทับทิมโดยเฉพาะฝรั่งมังค่ากำลังสนุกกับการยกระดับทับทิมพม่ากันใหญ่ หนึ่งในวิธีการคือกดทับทิมสยามให้ต่ำชั้นลงไป เรื่องราวบันทึกดีๆ ที่บันทึกไว้ก็ถูกลืมหรือไม่ก็หยิบมาโต้แย้งหักล้างทิ้งไป แต่ก็อย่างว่าเพราะมันไร้ประโยชน์แล้ว ของดีแค่ใหนแต่ไม่มีของขายก็ป่วยการจะโพนทนาให้เหนื่อยแรง คงประมาณนี้มั๊งครับ

แต่ก็ยังอยากตามหาคำบอกเล่าหรือบันทึกเก่าๆ ของทับทิมสยามอยู่ดีครับ ผมยังเชื่อว่าทับทิมสยามเป็นหนึ่งเหนือทับทิมใดๆ ทั้งโลกอยู่ครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 03 ต.ค. 12, 20:21

ถูกพาดพิงมาสองสามวันแล้ว ขอนุญาตลงเวทีด้วยครับ

มีเรื่องที่ต้องแยกออกจากกัน คือ เรื่องของความเป็นสินค้าเพื่อการค้าขาย (trade) เรื่องของความเป็นทรัพยากร (resource) เรื่องของความมีค่าแบบ tangible (ราคา) เรื่องของความมีคุณค่าแบบ intangible (วิชาการ)  เรื่องทั้งหมดนี้ไปเกี่ยวข้องในเชิงของความคิดทางเศรษฐกิจในเรื่องของ costing กับ pricing

ruby มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินที่แปลว่า สีแดง 
ผมเองยังมีความเชื่อลึกๆว่า รากเง่าของคำว่า รัตนชาติ แต่ดั้งเดิมแท้ๆก็อาจจะมาจาก รัตนชาด (ที่แปลว่าแก้วสีแดง) และแม้คำว่า ธงชาติ ก็อาจจะมาจาก ธงชาด (ธงแดง) เช่นกัน  ซึ่งอาจจะเป็นเหตุบังเอิญที่คำว่า ชาติ นั้น เมื่อใช้แทนที่คำว่า ชาด ก็ให้ความหมายไปในทางที่หมายถึงกลุ่มหรือตระกูล ซึ่งครอบคลุมความต้องการที่จะกล่าวถึง     ผมมีเห็นส่วนตัวว่า ในอดีตกาลนั้นสีแดงคือสีที่ทำให้เกิดขึ้นได้ง่าย แล้วก็เป็นสีที่สามารถใช้แสดง mark ในหลายๆเรื่อง เพราะว่าเห็นได้ง่าย

สีแดงแต่ดั้งเดิมของมนุษยชาตินั้น ทำได้จากผงของแร่เหล็กที่พบได้ทั่วไปทุกแห่งหน สีผงนี้ในทางวิชาการเรียกว่า  streak     ลองเอาเม็ดข้าวตอกพระร่วง (ของสุโขทัย) มาขีดบนกระเบื้องผิวหยาบสีขาว ก็จะได้เส้นสีแดงๆ และหากทุบให้ละเอียดก็จะได้ผงเป็นสีแดงเช่นกัน   แม้กระทั่งสีของผิวไม้หรือต้นไม้หลายๆอย่างที่เราเอามาดองเหล้าก็จะให้สีออกสีแดง ไวน์แดงก็ให้สีแดง เหล้าวิสกี้ที่บ่มในถังไม้โอ๊ค (ที่เผาด้านใน) ก็ให้สีแดง  จำได้ว่าจนในช่วงต้นๆศตวรรษ 1800 จึงได้มีสีแดงสำหรับการใช้งานทั่วๆไปที่ทำมาจากกระบวนการผลิตทางเคมี

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในกาลครั้งหนึ่ง พลอยตามธรรมชาติสีแดงจึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องการมาก ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า รัตนชาด (แก้วสีแดง) นี้  แม้ว่าที่เกิดตามธรรมชาติและตกสะสมอยู่ตามลำห้วยลำธารนั้นจะสามารถเก็บหากันได้ แต่ก็มีน้อยมากที่จะเป็นเม็ดขนาดใหญ่ๆ  ซึ่งก็ปรากฏว่าเม็ดขนาดเขื่องๆพอที่จะเอามาโชว์กันได้นั้นหากันได้ไม่มากนัก ยิ่งขนาดใหญ่มากเพียงใดก็จะยิ่งแสดงถึงสถานะของความมีอำนาจมากเท่านั้น เพราะว่าหากไม่แน่จริงก็คงจะไม่สามารถครอบครองได้ (จะด้วยการอ้างสิทธิ การยึด ฯลฯ หรือด้วยวิธีการใดก็ตาม)

ในทางวิชาการแล้ว ผลึกแร่สีเหล่านี้ มีทั้งความแข็ง (hardness) ความเหนียว  (toughness) ความเปราะ (brittle) และความถ่วงจำเพาะต่างๆกัน  ซึ่งให้ผลต่อความทนทานต่อสภาพการกัดกร่อนในขณะถูกนำพามาสะสม ซึ่งตกอยู่ในบริเวณที่มีลักษณะทางกายภาพของแหล่งที่มาสะสมกันไม่เหมือนกัน    ผลึกแร่สีแดง เช่น โกเมน (garnet ชนิดต่างๆ) เปราะมากว่าทับทิม จึงพบเป็นเม็ดเล็กๆขนาดไม่ใหญ่กว่าเมล็ดทราย  ผลึกแร่โกเมนขนาดใหญ่จึงต้องแกะมาจากจุดที่พบอยู่ในหินที่เป็นสายแร่ที่ให้แร่นี้    ทับทิมซึ่งเป็นผลึกของแร่ คอรันดัม (corundum) นั้น เป็นพวกแร่ประเภทที่ทั้งแข็ง ทั้งเหนียว และทนทานต่อสภาพการกัดกร่้อนทั้งหลาย และมีความถ่วงจำเพาะมากกว่าเม็ดทรายตามปรกติ จึงเหลือให้เห็นเป็นเม็ดหรือก้อนที่ใหญ่กว่าเม็ดทรายและก็จะตกสะสมร่วมอยู่ในชั้นกรวดเป็นหลัก       

ค่อยๆว่าต่อกันนะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 04 ต.ค. 12, 12:04

มาเพิ่มเรตติ้งให้กระทู้ค่ะ

ตอนเด็กๆ ดิฉันเห็นทับทิมเจียระไนแบบเดียวคือแบบหลังเบี้ย   ไม่มีเหลี่ยม   ถ้าเป็นพลอยแดงเจียระไนเหลี่ยม  แม่เรียกว่าพลอยแดง    ราคาน้อยกว่าทับทิม
ส่วนพลอยเผาให้มีสีสวยเรียกว่าพลอยหุง    แม้สีสวยมาก แต่ก็ไม่ถือกันว่าเป็นของแท้

ภาพประกอบ
สร้อยพระศอทับทิม ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีเจ้าฟ้า  เป็นแบบหลังเบี้ย


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 04 ต.ค. 12, 13:56

สร้อยพระศอสวยมากนะครับ

อันที่จริงแล้วทับทิมนั้นได้มีการพบตลอดแนวทิวเขาที่เรียกว่า Alpine Himalayan ซึ่งวางตัวยาวต่อเนื่อง (แบบหยาบๆนะครับ) ตั้งแต่เทือกเขาแอลป์ในยุโรปต่อเนื่องผ่านอิหร่าน ปากีสถาน อินเดียตอนเหนือ ลงมาจนถึงพม่าและจีน แล้วแตกปลายออกไป ลงมาทางอาราขันของพม่าก็มี ผ่านเข้าไปลาวตอนบนก็มี ทิวเขานี้แทบจะเป็นแนวแบ่งเขตทวีปยุโรปกับอัฟริกา และยุโรปกับเอเซีย (ในภาพรวม)
 
ทิวเขานี้เกิดจากปูดขึ้นของเปลือกโลกเนื่องจากการชนกันของแผ่นทวีป ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดแรงอัด (pressure) และอุณหภูมิ (temperature) สูงขึ้น ยังผลให้หินแปรเปลี่ยนสภาพจากหินตะกอนหรือหินชั้น (sedimentary rocks) ไปเป็นหินแปร (metamorphic rocks) ในระดับการแปรที่รุนแรงต่างกัน (degree of metamorphism)    ในกระบวนการแปรเปลี่ยนที่เกิดขึ้นกับหินภายใต้ความร้อนและความดันนั้น ได้ทำให้เกิดผลหลายประการ แต่จะไม่กล่าวในที่นี้ จะกล่าวถึงเฉพาะสองเรื่องที่ปรากฏ คือ เกิดการสลับสับเปลี่ยนของธาตุ (เคมี) โดยเฉพาะจะมีการเคลื่อนย้ายธาตุเหล็กและแมกนีเซียมเข้าไปเพิ่ม (หรือเปลี่ยนแร่เดิมให้เป็นแร่อีกชนิดหนึ่ง) กับเกิดการเปลี่ยนลักษณะทางกายภาพของตัวหินให้เกิดมีการเรียงตัวของแร่ในเนื้อหิน

ในบริเวณที่เป็นหินปูน จะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นหินอ่อน (recrystallized limestone และ marble_ กรณีไม่มีธาตุอื่นเข้ามาปน) และหินโดโลไมท์ (dolomite_กรณีมีธาตุแมกนีเซียมเข้ามาปนร่วอยู่อด้วย)   ในกระบวนการแปรเปลี่ยนของหินนี้มีกจะมีหินอัคนี (igneous rocks) โดยเฉพาะหินอัคนีที่มีองค์ประกอบของแร่อยู่ในกลุ่มหินแกรนิต แทรกซอนเข้ามาด้วย ซึ่งในระยะสุดท้ายของการแทรกซอนของกลุ่มหินแกรนิตนี้ จะมีน้ำแร่ร้อนและแกสที่มีธาตุหลายๆอย่างละลายอยู่ (hydrothermal) ที่ทำตัวเสมือนอ่างผสมธาตุต่างๆให้เกิดเป็นแร่ต่างๆ ตกผลึกบ้าง ละลายออกไปบ้าง ตามเส้นทางที่มันแทรกซอนไป  ผลที่ได้ อย่างหนึ่งคือ การเกิดแร่เป็นผลึกค่อนข้างใหญ่ แยกจากกันเป็นเม็ดๆ ธรรมชาติเขาใจดี เขาเลยใส่สีให้กับแร่เหล่านี้โดยการเจือธาตุที่ให้สีลงไป ออกเป็นสีแดงบ้าง ชมภูบ้าง เขียวบ้าง ฟ้าบ้าง ฯลฯ  เมื่อหินผุพังลงไป แร่เหล่านี้ก็เลยถูกน้ำพักพาไหลไปรวมกองกับหินอื่นๆ ภาษาทางเหมืองแร่แถบบ้านเราเรียกชั้นที่มีการสะสมของแร่ที่ขุดนำออกมาใช้ได้นี้ว่า ชั้นกะสะ (deposit layer หรือ placer deposit)

ทับทิมก็เกิดและพบในลักษณะนี้ โดยเฉพาะในบริเวณที่มีหินอ่อนอยู่ร่วมกับหินแปร    ดังที่เล่ามาครับ ทับทิมจึงมีการพบตลอดทิวเขา Alpine Himalayan เป็นแหล่งใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ตามแต่ธรรมชาติ   ทับทิมจึงมีการพบในหลายประเทศ  จะด้วยลักษณะทางสังคมบางอย่างกระมัง พวกที่เราเรียกว่าแขกขาวจึงมีความสนใจและขุดออกมาใช้กัน  ก็คงจะไม่แปลกอีกนะครับ เรื่องของบรรดาพลอยสีต่างๆจึงจะมีชื่ออิหร่านและอินเดียอยู่ด้วยเสมอ

วิชาการแบบอ่านง่ายๆ (หรือเปล่า??) ครับ ที่เล่ามาก็เพียงเพื่อบอกกล่าวถึงกระบวนการกำเนิดและลักษณะทางธรณีวิทยาบางประการที่เกี่ยวข้องกับทับทิมและหินสีหรือพลอยสีบางชนิดอื่นๆ 

บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 04 ต.ค. 12, 14:20

มาเพิ่มเรตติ้งให้กระทู้ค่ะ

ตอนเด็กๆ ดิฉันเห็นทับทิมเจียระไนแบบเดียวคือแบบหลังเบี้ย   ไม่มีเหลี่ยม   ถ้าเป็นพลอยแดงเจียระไนเหลี่ยม  แม่เรียกว่าพลอยแดง    ราคาน้อยกว่าทับทิม
ส่วนพลอยเผาให้มีสีสวยเรียกว่าพลอยหุง    แม้สีสวยมาก แต่ก็ไม่ถือกันว่าเป็นของแท้


ผมเข้าใจว่า พลอยหลังเบี้ย หรือ หลังเต่า นำมาเข้าแหวนทรงมอญก็สวย ล้อมเพชรก็งามเป็นการเจียแบบโบราณ ซึ่งใช้พลอยดิบมาเจียจึงมีค่ามากกว่า พลอยเจียเหลี่ยมซึ่งอาจจะเป็นพลอยหุงปนเข้ามาก็ได้ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 04 ต.ค. 12, 14:21

อ่านง่ายขึ้นค่ะ   นักเรียนในชั้นนี้อยู่แค่ม.ปลายสายศิลป์เท่านั้นนะคะ
เอารูปมหาราชามาเสริม   ท่านเหล่านี้ประดับเพชรพลอยกันเพียบ   ดูแล้วตาลาย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 04 ต.ค. 12, 14:22

ทับทิมของมหาราชา


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 04 ต.ค. 12, 14:34

คงจะด้วยเส้นทางที่คนโบราณใช้เดินเชื่อมต่อกันระหว่างยุโรปกับเอเซีย ที่เรียกกันว่าเส้นทางสายใหมนี้ ผ่านแหล่งทับทิมมากมายหลายแหล่ง ซึ่งผมคิดว่าน่าจะมีการพบกันแล้วในสมัยนั้น แต่สีของทับทิมที่พบกันตลอดแหล่งนั้น อาจจะไม่เตะตาถูกใจ หรือไม่ก็ไม่สามารถจะซื้อหาได้เนื่องจากผู้ครองอิทธิพลตามเส้รทางนั้นไม่ปล่อยขาย หรือไม่ก็กลัวถูกปล้นในระหว่างการเดินทาง ตอนหลังเมื่อยุโรปเข้ามามีอิทธิพลและครองหลายประเทศในเอเซีย จึงได้พบว่ามา อ้อที่พม่านี้แหละคือทับทิมที่มีสีถูกใจ และเม็ดใหญ่งามได้ที่ทีเดียว ก็คงจะเป็นลักษณะนี้แหละครับที่ทับทิมพม่าถึงได้ดังไปทั่ว

ตอนหลังได้รู้ว่าทับทิมแถบเขตต่อแดนไทยกับเขมรนั้นก็มีเหมือนกัน จึงเรียกชื่อแยกออกมาว่าทับทิมสยาม

ในทางวิชาการ ทับทิมสยามก็มีการกำเนิดต่างกันกับทับทิมของพม่า  ของเรานั้นเกิดมาจากกระบวนการแปรของหินที่เรียกว่า contact metamorphism เป็นเรื่องของการแปรด้วยความร้อนเป็นหลัก (high temperature low pressure) ซึ่งได้มาจากหินละลาย (หินลาวาที่เรียกว่าหิน basalt) ที่แทรกตัวแผ่ปกคลุมพื่นที่หินดินดานที่มีปริมาณของธาตุอะลูมิเนียมสูง หินละลายบะซอลท์นี้มีธาตุเหล็กและแมกนีเซียมอยู่ในเนื้อสูงมาก   ในขณะที่ของพม่าอยู่ในพื้นที่ที่เกิดกระบวนการแปรของหินที่เรียกว่า regional metamorphism     แม้ว่าจะเป็นแร่เดียวกันแต่สีสรรและความสว่างใสต่างกัน

ฝอยไปเรื่อยๆ คงยังไม่เบื่อนะครับ หมดเรื่องทางวิชาการแล้วครับ จากนี้ไปก็จะเป็นเรื่องของคุณค่าและราคา
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.102 วินาที กับ 19 คำสั่ง