เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
อ่าน: 39215 กัปตันบุช ทหารเรือเชื้ออังกฤษที่คนไทยรู้จักเพียงชื่อตรอก
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


 เมื่อ 30 ก.ย. 12, 09:49

เมื่อเด็กๆ ผมได้ยินชื่อตรอกที่คนไทยเรียกว่าตรอกกัปตันบุด ยังเข้าใจไปว่าสะกด กัปตันบุตร เมื่อเห็นป้ายชื่อกลายเป็นเขียนว่า “กัปตันบุช” อ้าว..ไม่ใช่คนไทยดอกหรือ แล้วกัปตันฝรั่งคนนี้เป็นใครล่ะ

ในเวปต่างๆที่ลอกกันไปลอกกันมาไม่ทราบใครเขียนเป็นคนแรก ค้นหาประวัติกัปตันบุชได้ประมาณนี้

ตรอกกัปตันบุช ตั้งอยู่ระหว่างตรอกฮ่องกง กับที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขกลาง ถนนเจริญกรุง มีระยะทางจากถนนเจริญกรุงไปจดแม่น้ำเจ้าพระยา ชื่อตรอกมาจากชื่อกัปตัน จอห์น บุช

จอห์น บุช เป็นชาวอังกฤษ เข้ามารับราชการในประเทศไทยเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๖ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตำแหน่งเจ้าท่า สังกัดกรมท่า มีความรู้ความสามารถ และความฉลาดเฉลียวในการปฏิบัติราชการ จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์อย่างขุนนางไทยตามลำดับ คือ หลวงสาครหรือหลวงสุรสาคร พระวิสูตรสาครดิฐ และพระยาวิสูตรสาครดิฐ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กัปตันบุชมีโอกาสสนองพระเดชพระคุณใกล้ชิด ในฐานะผู้บังคับการเรือพระที่นั่งเสด็จประพาสที่นั่งต่างๆ หลายครั้ง ทั้งในประเทศและนอกประเทศ เช่น ครั้งเสด็จสิงค์โปรและอินเดีย พ.ศ. ๒๔๑๓ และพ.ศ. ๒๔๑๔ เป็นต้น จึงเรียกกันว่า กัปตันบุช นอกจากราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว กัปตัน จอห์น บุช ยังประกอบธุรกิจส่วนตัว คือเป็นผู้จัดการบริษัทบางกอกด๊อกอีกด้วย

กัปตันบุชตั้งบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ที่ทำการกรมเจ้าท่า จนถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐
ปัจจุบันแม้จะไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับบ้านเรือนของกัปตันบุช แต่สิ่งที่ยังคงเหลือเป็นอนุสรณ์คือ ตรอกที่ตั้งบ้านเรือนของท่าน เรียกว่า “ตรอกกัปตันบุช” ปัจจุบันตรอกกัปตันบุชมีชื่อเป็นทางการว่า ซอยเจริญกรุง ๓๐


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 30 ก.ย. 12, 09:53

เมื่อตามไปดูเวปของกรมเจ้าท่า ในเรื่องประวัติของกรม ก็เขียนเกี่ยวกับกัปตันบุชไว้เพียงเท่านี้ ชื่อของท่านภาษาอังกฤษยังสะกดผิดเลย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการได้ทำสัญญาจ้างกัปตัน จอห์น บูช (John buch) ชาวอังกฤษ  มาเป็นผู้ริเริ่มงานฝ่ายเจ้าท่า มีการลงนามในสัญญาระหว่างไทยกับอังกฤษ เมื่อวัน  8ฯ9 ค่ำ จุลศักราช 1221 ปีมะแม เอกศก ตรงกับวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2402 กรมเจ้าท่าจึงถือเอาวันที่ 5 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมเจ้าท่า

สมัยกัปตัน บูช เป็นเจ้าท่า ตำแหน่งเจ้าท่าขึ้นอยู่ในกรมพระคลัง ต่อมาย้ายสังกัดอยู่ในกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเดิมมีชื่อว่า "กรมท่า" (Kromata) พ.ศ. 2432 ย้ายไปอยู่กระทรวงโยธาธิการ ครั้นพระยาวิสูตรสาครดิษฐ์ชราภาพ ได้กราบถวายบังคับลาออกจากราชการ กัปตัน เอ. อาร์. วิล เป็นเจ้าท่าสืบแทน ต่อมา เมื่อกัปตันวิล ถึงแก่กรรม ใน พ.ศ. 2438 ได้ยุบตำแหน่งเจ้าท่าลงเป็นตำแหน่งเวรท่ามีนาย โยเกนซัง ชาวเดนมาร์ก เป็นเวรท่า ทำหน้าที่ตรวจตราลำแม่น้ำ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งที่ทำการของกรมที่ตึกเจ้าสัวเส็งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ข้างตลาดน้อย ตรงข้ามปากคลองสาน (คือที่ตั้งของกรมเจ้าท่าในปัจจุบัน) ใน พ.ศ. 2439 ทรงยกฐานะเวรท่าเป็น กรมเจ้าท่าและทรงแต่งตั้ง ม.ร.ว. พิณ สนิทวงศ์ เป็นเจ้ากรมเจ้าท่า พ.ศ. 2444 ย้ายสังกัดกรมเจ้าท่าไปขึ้นอยู่ในกระทรวงนครบาล พ.ศ. 2448 กรมเจ้าท่าได้ยกฐานะเป็นกรมชั้นอธิบดี และ ทรงให้ตราพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) และในปีนี้เอง ทรงเริ่มปรับปรุงกิจกรรมกรมเจ้าท่าขึ้นใหม่ โดยยกเอางานบางส่วนจากกรมคลองเดิมมารวมกับกรมเจ้าท่า


ผมต้องหันไปพึ่งเวปภาษาอังกฤษจึงพอจะแกะรอยกัปตันคนดังนี้ได้บ้าง พอจะเอามาเขียนกระทู้ให้อ่านสนุกๆเป็นความรู้รอบตัวของคนกรุงเทพได้สักเรื่องหนึ่ง ก่อนอื่นต้องบอกว่าชื่อภาษาอังกฤษของกัปตันบุช เขียนอย่างถูกต้องตามที่จารึกบนหลุมฝังศพของท่านดังนี้

ADMIRAL SIR JOHN BUSH K.C.W.E. 

 เซอร์ จอห์น บุช เคซีดับเบิ้ลยูอี
(ตัวย่อท้ายชื่อเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ผู้ได้รับสามารถใช้คำว่าเชอร์นำหน้าชื่อได้)

ในภาคภาษาไทยท่านชื่อ นายพลเรือเอก พระยาวิสูตรสาครดิฐ
 


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 30 ก.ย. 12, 09:57

จอห์น บุชมาถึงกรุงเทพพร้อมกับศรีภรรยา อลิซาเบท ลอร์สัน บุช ในปีพ.ศ.๒๔๐๐ หลังจากที่สยามลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีกับอังกฤษเพียงปีเดียว โดยข้อตกลงข้อหนึงในนั้นคือการที่สยามจะต้องเปิดท่าเรือรับการค้าจากต่างประเทศ นอกจากอังกฤษแล้วฝรั่งเศสและอเมริกาก็เป็นชาติที่ติดตามเข้ามาทำสนธิสัญญาฉบับเดียวกันอย่างรวดเร็ว การพาณิชย์นาวีก็เบิกบานขึ้นในทันใดจนท่าเรือกรุงเทพแน่นขน้ดไปด้วยเรือสินค้านานาชาติ สุดปัญญาที่ข้าราชการกรมท่าคนไทยจะบริหารจัดการได้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจึงทรงมีพระราชประสงค์จะได้ฝรั่งสักคนที่มีประสพการณ์มารับราชการในงานนี้ จึงทรงทาบทามกัปตันบุชนายทหารระดับผู้บังคับการเรืออังกฤษที่มาประจำการอยู่ในกรุงเทพ เมื่อเซอร์ซอมเบิร์กกงสุลใหญ่อังกฤษสนับสนุน จอห์น บุชก็ตอบรับพระกรุณา ลาออกจากราชการอังกฤษ ทรงตั้งตำแหน่งให้เป็นที่หลวงวิสุทธิ์สาครดิฐเจ้าท่า และกัปตันบุชก็รับหน้าที่เป็นนายท่าของท่าเรือกรุงเทพอันคึกคักมากที่สุดแห่งหนึ่งในอุษาคเนย์

ในภาพเป็นท่าเรือกรุงเทพในสมัยรัชกาลที่สี่ ตามจินตนาการของผู้สร้างหนังเรื่อง “แอนนาแอนด์เดอะคิง"


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 30 ก.ย. 12, 10:01

สยามมิได้เพียงแต่จะมีกิจการด้านการท่าเรือเท่านั้น แต่ยังออกแบบและสร้างเรือของตนเอง ทั้งเรือขนาดใหญ่มีปั้นจั่นยกของในตัวไปจนเรือขนาดเล็ก ที่กำลังทดลองเรือกลไฟต้นแบบอยู่ก็มี แต่สยามก็ขาดบุคคลากรระดับกัปตันผู้มีประสพการณ์มาขับเคลื่อนมัน ในบรรดาข้าราชการคนไทยไม่มีใครจะมีความรู้ความชำนาญเท่ากัปตันบุช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเวลาจะเสด็จทางทะเล ก็โปรดที่จะใช้กัปตันบุชให้ทำหน้าที่ผู้บังคับการเรือพระที่นั่ง อ่างศิลาหรืออ่างหินก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่เสด็จบ่อย เพราะทรงมีพระตำหนักอยู่ที่นั่น
 
ในคราวที่เสด็จคลองวาฬเพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ กัปตันบุชก็เป็นผู้บังคับการเรือพระที่นั่งเป็นเรือธงนำขบวนหมู่เรือรบไป ณ จุดที่ทรงคำนวณไว้นั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 30 ก.ย. 12, 10:05

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของสยามที่เสด็จไปทั่วพระราชอาณาจักรโดยชลมารค โดยกัปตันบุชจะเป็นผู้บังคับการเรือพระที่นั่งเป็นส่วนใหญ่ ส่วนพระราชโอรสที่เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระองค์คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ถือเป็นพระองค์แรกที่เสด็จต่างประเทศ ในปีพ.ศ.๒๔๑๔ พระองค์ได้เสด็จอินเดีย สมเด็จเจ้าพระยาฯ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้ซื้อเรือสินค้าของเอกชนชื่อเรือบางกอก ซึ่งเป็นเรือใบจักรท้ายทันสมัยให้เป็นเรือพระที่นั่งแทนลำเก่าที่ใช้มาแต่รัชกาลที่แล้ว ให้กัปตันบุชเป็นกัปตันสนองพระเดชพระคุณ
หลังจากทรงผ่านพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ได้โปรดเกล้าให้สั่งต่อเรือพระที่นั่งลำใหม่จากประเทศอังกฤษในปีพ.ศ.๒๔๒๑ เป็นเรือสกูนเนอร์ที่มีใบจักรท้าย แต่มีกระโดงให้แล่นใบได้ พระราชทานชื่อว่า “เรือเวสาตรี” ทรงโปรดที่จะใช้เรือลำนี้เสด็จพระราชดำเนินทั้งทางแม่น้ำและทางทะเล กัปตันที่ทำหน้าที่ผู้บังคับการเรือคือกัปตันริชลิว(นาวาเอก พระชลยุทธโยธิน ยศขณะนั้น)

ในคราวที่เสด็จแปรพระราชฐานไปพระราชวังบางปะอินครั้งหนึ่งกัปตันตัวจริงไม่อยู่ กัปตันบุชถูกเรียกตัวไปปฏิบัติราชการแทน เมื่อถึงท้องคุ้งแถวปทุมธานีที่เรียกว่าลานเท ลมแรงเกิดพัดกระหน่ำมาด้านขวางทำให้เรือเวสาตรีวิ่งพลาดร่องลึก ไถลไปติดสันทรายใต้น้ำ พระเจ้าอยู่หัวต้องเสด็จต่อโดยเรือพระที่นั่งสำรอง ซึ่งเป็นเรือกลไฟใบจักรข้าง ทิ้งให้กัปตันบุชอยู่แก้สถานการณ์เองจนกระทั่งนำเรือออกจากสันทรายได้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 30 ก.ย. 12, 10:08

ดูเหมือนว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจะไม่โปรดให้กัปตันบุชเป็นมือหนึ่งอีกต่อไป แต่ยังทรงเรียกหาใช้งานอยู่ในเรื่องที่สำคัญ เช่นครั้งนี้ ให้โดยเสด็จตามที่ทรงมีพระราชประสงค์จะไปทอดพระเนตรระบบรักษาความปลอดภัย ในเส้นทางเดินเรือภายในน่านน้ำของสยาม


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 30 ก.ย. 12, 10:14

ปกติ งานราชการในรัชกาลนี้คงเบามือ เพราะคนไทยเริ่มปฏิบัติหน้าที่แทนได้ กัปตันบุชจึงใช้เวลาหนักไปทางธุรกิจ เขาจัดตั้งอู่เรืออันทันสมัยขึ้นรับทั้งงานหลวงงานราษฎร์ตั้งแต่พ.ศ.๒๔๐๘แล้ว ชื่อว่า บางกอกด๊อกกัมปานี มีชื่อเสียงไปทั่วย่านนี้ เรือดีๆไม่ต้องลากไปซ่อมที่สิงคโปร์อีกต่อไป

ทั้งรับเงินเดือนราชการ ทั้งรับเงินกำไรทางธุรกิจโดยเปิดเผย ไม่มีใครว่ากล่าวอะไรในสมัยนั้น ชีวิตน่าจะสบายๆลงตัวดีอยู่



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 30 ก.ย. 12, 10:20

แต่ประมาณสิบปีหลังจากนั้น กลับเกิดเหตุเลวร้ายหนักหนาสาหัส คือในปีพ.ศ.๒๔๓๓  กัปตันชราอายุ๗๑ปี ไม่ทราบถูกใครเรียกใช้งาน เป็นกัปตันเรือเวสาตรีอีก เพื่อเกาะหมู่เรือพระที่นั่งอุบลบูรทิศ เสด็จประพาสแหลมมลายูฝั่งตะวันตกของอังกฤษ คราวนี้ไปชนหินโสโครกถึงกับอับปางเลยทีเดียว แม้จะไม่ได้เป็นเรือพระที่นั่งแล้ว กัปตันบุชก็เหมือนกับตกที่นั่งพันท้ายนรสิงห์เหมือนกัน แต่เป็นภาคภาษาอังกฤษ

การอัปปางของเรือเวสาตรี ปรากฏในบทความของพลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัช ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารนาวิกศาสตร์ ก่อนจะหาอ่านได้ทางอินเทอเน็ทดังนี้

เรือเวสาตรี ได้ไปเกยหินอัปางในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๓ ระหว่างเดินทางไปเข้าแม่น้ำกลัง (ที่ตั้งของท่าเรือปอร์ตกลังอันทันสมัย ของกัวลาลัมเปอร์ในปัจจุบัน)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เหตุการณ์สำคัญนี้ไว้ในเรื่อง"ระยะทางเสด็จประพาสทางบก ทางเรือรอบแหลมมลายู ร.ศ.๑๐๙" เล่ม ๒ ดังนี้

"ออกเรือ (อุบลบุรทิศ-ผู้เขียน) จากเกาะดินดิง เวลาเช้า ๒ โมง กินข้าวเช้าแล้วนอน กลางวัน พอบ่ายตื่นขึ้นเขียนหนังสือตลอดทาง เวลาที่กะแต่เดิมว่าจะมาถึงแต่เย็น แต่เป็นการ ไปอย่างบาลูน เข้าช่องกังซาไปจนถึงข้างใน ทอดสมอระหว่างทางเวลายามเศษ….
…..ในค่ำวันนี้ เรือเวสาตรีก็ตามมาถึงที่ไลต์เฮาส์ แล่นหนีไลต์เฮาส์ไปเกยหินที่ริมนั้น ทุ่นเขาก็มี เดินบุ่มบ่ามเอง แต่ซัดกันป่นไปว่านำร่องบอกให้ไปทางโน้น เห็นว่าอย่างไรก็เป็นความผิดของพระยาวิสูตรทั้งนั้น"

รายงานของพระยาวิสูตรสาครดิฐ เกี่ยวกับการอับปาง และการกู้เรือเวสาตรี

เอกสารของหอจดหมายเหตุแห่งชาติแฟ้ม ต.๔๒/๑๖ มีรายงานของพระยาวิสูตรสาครดิฐ (จอห์น บุช) กล่าวถึงการแล่นไปเกยหินและความพยายามกู้เรือเวสตรีโดยละเอียด ซึ่งผู้เขียนขอคัดลอกและแปลสรุปมาบางตอน ดังนี้ (รายงานเป็นภาษาอังกฤษทั้งฉบับ)

"วันที่ ๒๖ พฤษภาคม เวลาเช้านำร่องชาวมาเลย์ชื่อ AHMET ซึ่งมาจากแม่น้ำกลัง พร้อมกับคนอื่น มาขึ้นเรือเพื่อนำเรือผ่านช่อง ถอนสมอจากเกาะดินดัง เดินเข็มต่างๆตามเรือที่แล่นไปข้างหน้า เวลา ๒๑.๐๐ ไฟเกาะปูโลอังซาอยู่ตรงกราบเรือ เรือเดินเข็ม ซอ. นำร่องสั่งเปลี่ยนเข็มไปทางตะวันออกมากขึ้น ข้าพระพุทธเจ้าได้ถามถึงความรู้และความชำนาญเกี่ยวกับร่อง นำร่องยืนยันว่ารู้ร่องน้ำและที่เรือดี น้ำทางด้านใต้ของร่องตื้นและมีโป๊ะมาก ระหว่างนี้ได้หยั่งน้ำด้วยดิ่งตลอดเวลา ความลึกของน้ำ ๖,๕,๗ ฟาธอม นำร่องจึงเปลี่ยนเข็มเป็นเซาท์บายเวสท์ พอเปลี่ยนเข็มเรือก็เกยหินด้วยความเร็ว ๖ นอตครึ่ง ก่อนเกยหินหยั่งน้ำได้ ๕ วา ๒ ศอก (เรือเวสาตรี กินน้ำลึกหัว ๘ ฟุต ท้าย ๑๑ ฟุต แสดงว่าได้แล่นขึ้นไปบนกองหิน เต็มลำ - ผู้เขียน) ได้ชักโคม ๓ ดวง ระหว่างเสา จุดไฟสีน้ำเงินยิงปืนใหญ่ทุก ๗ นาที หย่อนเรือโบตลงน้ำ นำสมอกะไปยึดเรือและดึงสายสมอตึง……
…….กัปตันลิงการ์ด นำเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์เข้ามาใกล้ส่งเรือเล็กและเรือกลไฟผูกท้าย และจูงเรือหะเบสสมอกะช่วย แต่เรือเวสาตรีไม่เคลื่อนที่ น้ำยังไม่เข้าเรือ….
 …..วันที่ ๒๗ พฤษภาคม เวลา ๐๑๑๕ เรือเวสาตรีเอียงลงทางกราบขวาอย่างกระทันหัน๔๕ องศา โครมใหญ่ น้ำเข้าเรือจนถึงฝากระจกระบายอากาศเหนือดาดฟ้าท่วมห้องหมดต้องขนของ ไปลงเรือมูรธาฯ เรือเคพเคลียร์ เรือบางกอก พยายามโยงเชือกจากปลายเสาใหญ่ทั้งสองไปผูกกับหินเพื่อไม่ให้เรือเอียงมากขึ้น …..
……วันที่ ๓๐ พฤษภาคม เรือ SUNDA (เข้าใจว่าเป็นเรือจูงจากสิงคโปร์มาถึงพร้อมกับ กัปตันมอสส์ (MOSS) และประดาน้ำ) ประดาน้ำลงดำตรวจท้องเรือพบหินตำเข้าในห้องหม้อน้ำ ใต้หม้อน้ำหินอีกก้อนหนึ่งตำทะลุท้องเรือตรงห้องกัปตันจนถึงดาดฟ้า เป็นรูโตประมาณ ๓ ฟุตหินก้อนนี้ทำให้เรือไม่คว่ำและทำให้ดึงเรือออกไม่ได้ เวลาน้ำขึ้นมีคลื่นใต้น้ำจากทิศเวสท์ เซาท์เวสท์ ทำให้เรือกระแทกอย่างรุนแรงเมื่อประดาน้ำดำตรวจเรืออีกครั้งหนึ่งปรากฎว่าหิน ก้อนท้ายตำทะลุมากขึ้นจนถึงดาดฟ้าทำให้ดาดฟ้าแอ่นขึ้นประมาณ ๖ นิ้วเรือจมลึกยิ่งขึ้น…..”

รายงานการกู้เรือมีต่อไปทุกวันคณะกู้เรือได้ทำการต่าง ๆ คือ ตัดเสาใหญ่ออกทั้ง ๒ เสา ขนตะกั่วอับเฉาออกจากเรือเพื่อให้เรือลอยขึ้น นำเรือ TONGKANG (ไม่ทราบว่าเป็นเรือ อะไร - ผู้เขียน) มาจากสิงคโปร์ ๖ ลำ ขนของออกจากเรือจนหมดรวมทั้งถอดใบจักรออก บางวันทะเลเรียบบางวันมีคลื่นลม แต่ไม่ได้ผลดีขึ้น

"วันที่ ๒๙ มิถุนายน (กู้มาแล้ว ๑ เดือน - ผู้เขียน) เรือเวสาตรี ถูกคลื่นใต้น้ำซัดให้เอียงลง อีกจนหัวเรือจมน้ำลึก ๔ ฟาธอม เวลาน้ำขึ้นเรือจมมิดน้ำ วันที่ ๓๐ มิถุนายนคณะกู้เรือลงความเห็นว่า ไม่มีทางกู้เรือเวสาตรีได้เรือต่าง ๆ เดินทางกลับในวันที่ ๑ กรกฎาคม"

ท่านที่ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ขอได้อ่านจากเอกสาร ที่หอจดหมายเหตุฯ ที่กล่าวข้างต้น
พระยาวิสูตรสาครดิฐ (จอห์น บุช) ได้กล่าวถึงความรับผิดชอบในการอับปางของเรือ เวสาตรีไว้ในรายงาน ซึ่งผู้เขียนขอคัดลอกมาเป็นภาษาอังกฤษตามต้นฉบับดังนี้
"CONSCIENTIOUSLY I FEEL THAT I CANNOT ATTACH ANY BLAME TO MYSELF FOR THE LOSS OF THE 'VESATRI,'…etc."
.
แปลความว่า…ถ้าจะว่ากันอย่างจริงจังแล้ว ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกว่าข้าพระพุทธเจ้ามิอาจจะผนวกข้อตำหนิต่อตนเองได้สำหรับการสูญเสียของเรือเวสาตรี…ฯลฯ
.
แต่ผมเชื่อว่าคงไม่มีผู้ใดจะเห็นด้วยเช่นนั้น หลังเหตุการณ์นี้กัปตันบุชโดนลบหลู่มาก และบางทีอาจจะกลัวผลที่ติดตามมาด้วย ท่านผู้เฒ่าเลยหลบไปอยู่กับลูกสาวที่สิงคโปรชั่วคราว ในที่สุดก็ยอมวางมือในทุกสิ่งทุกอย่าง มอบกิจการทั้งหมดในกรุงเทพให้เธอไปเลย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 30 ก.ย. 12, 10:22

เมื่อยังหนุ่มยังแน่นนั้น กัปตันบุชได้ทำธุรกิจควบคู่ไปด้วยกับงานราชการโดยอิสระ เช่นเดียวกับข้าราชการทั้งฝรั่งทั้งไทยที่ “มีหัว”ทั้งหลาย กิจการที่โด่งดังมีหน้ามีตาของเขานอกจากอู่บางกอกด๊อกซึ่งท่านเป็นทั้งผู้บริหารเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ตั้งของอู่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อดีตเคยเป็นโบสถ์โปเตสแทนส์เก่าที่ขายให้บริษัทบอร์เนียวและท่านซื้อต่อมาอีกทีหนึ่ง แต่การลงทุนที่ทำให้ได้กำไรมากมหาศาลก็คือการซื้อที่ดิน เมื่อตัดถนนสาธรใหม่ใหม่ กัปตันบุชเป็นคนแรกๆที่เลือกซื้อที่แปลงงามๆไว้หลายแปลงอยู่ วันดีคืนดีก็ขายให้ฝรั่งด้วยกันรายใหม่ที่มาทำมาหากินในกรุงเทพ ฟันกำไรเป็นกอบเป็นกำ นอกจากนั้นก็มีบ้านที่ปากคลองโอ่งอ่าง ขายให้รัฐบาลอิตาลี่ไปทำสถานทูตแห่งแรกในสยาม

บางกอกด๊อก ถูกขายเปลี่ยนมือแหลายครั้ง สุดท้ายรัฐบาลไทยซื้อไว้เป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อสนับสนุนการพาณิชย์นาวี ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ภาษาอังกฤษว่า Bangkok Dock company (1957) Limited


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 30 ก.ย. 12, 10:25

ร่ำรวยอย่างนี้ ไม่แปลกที่ตอนเป็นนายท่า กัปตันบุชจึงป๊อบปูล่ามากในบรรดาฝรั่งทั้งหลาย ก็เขาเป็นคนแรกที่ผู้โดยสารจะลงจากเรือมาเจอ นางแอนนาคนดังเองที่จูงลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์ลงมาทำท่าระร้าระรังยังได้รับการเอาใจใส่จากเขา เมื่อรู้ว่าไม่มีใครมารับและนางก็ไม่รู้จะไปแห่งใด เขายังแสดงความเอื้ออารีให้ไปพักที่บ้าน แอนนาเขียนไว้ในหนังสือของเธออย่างสำนึกในบุญคุณว่า กัปตันบุชเป็นชายชาวอังกฤษที่มีท่าทางรื่นเริง ใบหน้าออกกลมๆ แดงก่ำแบบผิวฝรั่งโดนแดด ดูมีชีวิตชีวา หลังจากที่เธอได้ที่พักเป็นหลักแหล่งแล้ว เขายังให้ความอนุเคราะห์แก่เธออีกหลายอย่าง

เมื่อฮอลิวูดเอาเรื่องที่แอนนาเขียนไว้ไปแปลงเป็น “คิงแอนด์ไอ” สร้างภาพครูผู้หญิงแม่ลูกติดเจ้าปัญหาไปเป็นหม้ายแสนสวย เรื่องจริงที่กัปตันบุชเห็นแหม่มจูงลูกเงอะงะแบบว่าไม่รู้จะไปทางไหนถูกนำมาอยู่ในฉากละครด้วย แต่ตัวแสดงเป็นกัปตันบุชดูจะเป็นเบ๊ประจำท่าเรือไปหน่อย ในขณะที่นางเอกดูมาดมั่นเหลือเกิน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 30 ก.ย. 12, 10:28

ลูกชายของนาง จากเด็กชนๆวันนั้น เติบโตเป็นนายหลุยส์ ลีโอโนแวนส์ ต่อมาเป็นนักธุรกิจค้าไม้สักใหญ่และเพลย์บอยรุ่นเดอะในคุ้มหลังงามที่เชียงใหม่


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 30 ก.ย. 12, 10:34

กัปตันบุชมีบ้านอยู่ที่อ่างศิลาหลังหนึ่ง ซื้อที่ดินไว้ตั้งแต่เป็นกัปตันนำเรือพระที่นั่งมาประพาสที่นี่บ่อยๆ สมัยนั้นเรียกว่าอ่างหิน วิวทะเลยามน้ำขึ้นสวยพอได้แต่จะสวยยิ่งขึ้นยามอาทิตย์อัศดง เขาใช้พำนักหลังปลดระวางตัวเองขึ้นคานโดยสิ้นเชิง ที่นี่เขาแก้เหงาด้วยการเป็นเจ้าภาพต้อนรับเด็กอัสสัมชัญ(คงมาจากศรีราชามั้ง)ที่ครูพามาเที่ยวเป็นหมู่คณะ และเป็นที่รับรองพวกฝรั่งนักเล่นเรือใบที่มาจากทางปากน้ำ เขาจะเลี้ยงดูอย่างดีด้วยอาหารและเครื่องดื่ม  ให้ที่พักที่อาบน้ำ สร้างความประทับใจยากที่แขกผู้มาเยือนจะเลือนจากความทรงจำ ตัวเขาจะวางท่าแบบกลาสีรุ่นเก๋า ชอบนั่งฟังแขกเรือนอ่านเรื่องที่น่าสนใจจากหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ให้ฟัง เขาเองอ่านไม่ออกแล้วเพราะตาเป็นต้อเกือบจะมองอะไรไม่เห็น นี่กระมังที่เป็นเหตุ เขาไม่น่าจะไปรับงานจ๊อบสุดท้าย ที่เอาชื่อเสียงอันรุ่งโรจน์ของเขาไปฝังเสียในแม่น้ำกลังเลย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 30 ก.ย. 12, 10:41

กัปตันบุชมีลูกอย่างน้อยหกคนกับสองภรรยา คนแรกที่ชื่ออลิซาเบท(ลอร์สัน)ตายในกรุงเทพตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๐๙ มีชีวิตชาวกรุงเทพได้ไม่ถึงสิบปี  ตามประวัติที่ฝรั่งเขียนกล่าวว่าลูกชายของนางได้รับราชการเป็นนายท่าแทนพ่อ แต่ผมหาไม่เห็นจะมี นามสกุลของลูกหลานถ้ามีในเมืองไทยจริง จะว่ากระไรก็ไม่ทราบ  แต่กัปตันบุชแต่งงานใหม่กับแม่หญิงมอญบ้านทวาย ปากคลองโอ่งอ่าง ชื่อแม่เพียรมีลูกด้วยกันสองคน ชื่อวิกเตอร์และวิกตอเรีย ทั้งคู่เลือกที่จะเป็นฝรั่ง วิกเตอร์เป็นนายทหารอังกฤษแต่ไปตายเสียในสงครามโลกครั้งที่๑ น้องสาว(คงเป็นคนที่อยู่สิงคโปร์ช่วงหนึ่ง)แต่งงานและไปอยู่แคลิฟอเนีย ลูกชายของเธอเป็นอเมริกันชื่อวิลเลี่ยม บุช (ไม่ได้เกี่ยวดองอะไรกับนายบุชสองพ่อลูกที่เคยอยู่ในทำเนียบขาวนั่น) นายคนนี้เคยมากรุงเทพในปีพ.ศ.๒๕๒๙เพื่อสืบหาญาติ ไม่ทราบเจอใครบ้าง และได้ไปด้อมๆมองๆเดินดูบ้านที่เคยเป็นที่อาศัยของครอบครัวในตรอกกัปตันบุช สมัยคุณตามาเมืองไทยครั้งแรกเมือร้อยห้าสิบปีที่แล้ว

ภาพข้างล่าง(เขาว่า)เป็นบ้านหลังนี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 30 ก.ย. 12, 10:42

ตอนตาย สมบัติของกัปตันบุชประเมินค่าได้ ๑,๒๔๐,๐๐๐ บาท ค่าของเงินในขณะนั้น บ้านดีๆหลังหนึ่ง ค่าก่อสร้าง๑๐,๐๐๐บาท ถ้าสร้างโบสถ์ฝรั่ง มีงบ๕๐,๐๐๐ บาทก็เอาอยู่แล้ว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 30 ก.ย. 12, 10:46

พลเรือเอก เซอร์ จอห์น บุช เป็นคนอังกฤษที่รับราชการสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของสยามสองพระองค์ อยู่กว่าสี่สิบปี เมื่อมาอยู่ในพระราชอาณาจักรของพระราชาผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐแล้ว เขาก็ไปไหนไม่รอด ชีวิตที่โลดแล่นของเขาจบบริบูรณ์ลงที่นี่ เมื่อหาชีวิตไม่แล้วยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณ อนุสรณ์สถานที่โดดเด่นเหนือร่างที่ถูกฝังไว้ของเขาในสุสานโปรเตสแทนต์กรุงเทพ เป็นแท่งหินสี่เหลี่ยมทรงสูงปลายแหลม พระราชทานให้พร้อมจารึกคำอาลัยจากองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเอง

SACRED
TO THE MEMORY
OF
ADMIRAL SIR JOHN BUSH K.C.W.E.
PYA WISUTH SAKORADITH.
BORN 4th AUGUST 1819
DIED 3rd APRIL 1905
AGED 86.
HE SERVED HIS LATE MAJESTY
MAKA MONGKUT AND HIS PRESENT
MAJESTY CHULALONGKORN FOR A
PERIOD OF OVER 40 YEARS.
Thy Kingdom come.
Thy will be done.

ERECTED BY H.M.THE KING OF SIAM



บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 20 คำสั่ง