เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 15801 บันทึกบางตอนของชีวิตเด็กในพระบรมมหาราชวัง
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 28 ก.ย. 12, 03:28



        เป็นบันทึกของ คุณ ประจวบ  บุรานนท์  ที่เขียนถึงเหตุการณ์ และเรื่องราวที่เกิดกับตนเอง

เป็นบันทึกตั้งแต่จำความๆกได้   ช่วงเวลาของการบันทึกไม่ต่ำกว่า ๕๐ ปี

        คัดลอกถอดความที่น่าสนใจมาฝากเพื่อน ๆ ในเรือนไทย

        เป็นหนังสืออนุสรณ์ที่สนุกและให้ความรู้อย่างยิ่งในระยะนี้ในจำนวนที่สั่งกวาดต้อนมาค่ะ   
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 28 ก.ย. 12, 04:04




คุณประจวบ  บุรานนท์    เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์   พ.ศ. ๒๔๔๗

ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑ เมษายน  พ.ศ. ๒๕๑๙


        สถานที่เกิดคือบ้านของคุณตา  พระยาศรีสรราชภักดี (หนู  โกมารกุล ณ นคร) ณ ตำบลสมเด็จ  อำเภอบางยี่เรือ 

จังหวัดธนบุรี

       ต่อมาคุณป้าของคุณพ่อ  คุณย่าเงินเป็นน้องสาวของท่านผู้หญิงพัน  ภรรยาของสมเด็จเจ้าพระยา ฯ ถึงแก่กรรม

คุณพ่อเป็นผู้ได้รับมรดกด้วยผู้หนึ่งจึงย้ายไปอยู่ที่บ้านนั้นจนถึงวันแต่งงาน



       คุณประจวบเล่าว่า  ตนเองตอนเป็นเด็กผิวขาว และอ้วน    ญาติที่มีอยู่มากมายขออนุญาตคุณแม่มารับไปนอนค้างคืนก็มี   

เท่าที่จำได้เคยไปนอนค้างอยู่สองสามคืนก็มี     ญาติชั้นผู้ใหญ่ถึงเวลาตรุษฝรั่งพาไปซื้อของที่ห้างเคี่ยมฮั่วเฮง    ยังมีหลักฐานที่เป็น

เครื่องแบบทหารรัสเชี่ยนตัวเล็กๆถ่ายรูปไว้

        เมื่อคุณแม่เข้าไปค้างที่สวนดุสิต  ได้เฝ้าสมเด็จพระปิยะมหาราชครั้งหนึ่งในเวลาเสวย       จำได้ว่ามีเด็ก ๆ

เฝ้าอยู่ด้วยในเวลานั้น คือ  พระองค์อาทิตย์   พระนายสรรพเพ็ชรภักดี (อ้น  บุนนาค)  และนายเทอด  บุนนาค


        เมื่ออายุได้ ๕ ขวบ   คุณพ่อได้นำไปถวายตัวเป็นข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  กรมขุนเทพทวาราวดี

เจ้าคุณอนิรุทธได้พาไปเฝ้าสมเด็จพระบรมที่หลังโรงลคร          ได้มีโอกาศตรงเข้าไปหมอบกราบที่พระบาท        เลยรับสั่งกับ

เจ้าคุณอนิรุทธว่า  "ฟื้นไปเอาเสมามาให้อัน"          ในเวลานั้นเป็นเวลากลางคืนแล้วจะไปเบิกที่เจ้าหน้าที่ก็ไม่มี       เจ้าคุณอนิรุทธ

จึงไปคว้ามาจากคอของ จมื่นเทพสุรินทร์(ประณีต  บุนนาค)  พร้อมทั้งสายสร้อยเสร็จนำไปถวาย       แล้วก็พยักพระพักตร์

ให้เข้าไปรับพระราชทาน   จึงได้คลานเข้าไปก้มคอให้ท่านทรงสรวมให้

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 28 ก.ย. 12, 04:15



        เมื่อครั้งที่จะได้รับพระราชทานเหรีญ "ส.ผ." จากสมเด็จพระศรีพัขรินทราบรมราชินีนารถฯ   

จำได้ว่าคุณแม่นำไปเฝ้าที่พระราชวังดุสิต    เข้าใจว่าเป็นพระที่นั่งพิมานเมฆเพราะรู้สึกว่าต้องขึ้นบันไดสูง  แล้วก็ถึงที่ประทับ

ซึ่งกำลังเสวยพระกระยาหารอยู่          ท่านรับสั่งให้เข้าไปนั่งด้วยแล้วแบ่งอาหารพระราชทานจนรู้สึกอิ่ม   พออิ่มแล้ว

ก็ลุกขึ้นร้องตะโกนลั่นว่า    "แม่  อิ่มแล้ว"         เลยทรงพระสรวลและรับสั่งว่า  "ดูซิอิ่มแล้วก็ต้องร้องเรียกแม่ด้วย"

แล้วก็เลยโปรดเกล้าพระราชทานเหรียญอักษรพระนาม ส.ผ. มีคำขวัญอวยพรด้านหลังว่า "ชนม์เจริญ"
บันทึกการเข้า
tony_hui
อสุรผัด
*
ตอบ: 32

เป็นพนักงานบัญชีครับ


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 28 ก.ย. 12, 08:18

หัวหน้าหน่วยกวาดต้อนแพลมให้ฟังเหมือนกันเลยมานั่งปูเสื่อรอฟังต่อฮับ
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 28 ก.ย. 12, 10:23

ส่งภาพเหรียญ "ผ.ศ." มาประกอบค่ะ... ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 28 ก.ย. 12, 10:44


สวัสดีค่ะคุณโทนี่ฮุย      

        เพื่อนที่เดินตลาดชมหนังสือแถวท่าช้าง   ส่งข่าวมาว่าหนังสืออนุสรณ์จะหายากแล้ว

เพราะมีผู้สนใจเก็บกันมาก    ดิฉันเลยไปร้องขอต่อท่านที่ปรึกษาว่าให้ทิ้งมาทางดิฉันบ้าง    

ก็เลยได้เล่มปกแข็งมาจำนวนหนึ่ง     สหายผู้เยาว์สองสามคนก็ตีตลุยอ้อมทัพนำสะเบียงมาทิ้งไว้ให้

พอเพียงมิให้อดอยากลำบากในการหาอ่าน  อิอิ

        ยอมรับว่าบันทึกของคุณประจวบเล่มนี้  สนุกสนานจริง ๆ แต่ต้องระมัดระวังในการคัดลอก

เพราะความละเอียดอ่อนของระดับข้อมูล

        
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 28 ก.ย. 12, 11:01

สวัสดีค่ะคุณ ดีดี

        ขอบคุณเหลือเกินในความกรุณา

คุณดีดีมีรูปเหรียญหมูทองคำไหมคะ        สหายผู้เยาว์หนึ่งรายคร่ำครวญว่าทำไมไม่เคยเห็น

เขาเล่าว่าหายากมาก     อันที่จริงเซียนหนังสือบางท่านก็เป็นผู้ชำนาญการในอีกหลายด้านของยุทธภพ

เรื่องเหรียญ  เรื่องแสตมป์      ระดับน้ำแถวบ้านเป็นอย่างไรบ้างคะ

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 28 ก.ย. 12, 11:35




บิดาของคุณประจวบคือ มหาอำมาตย์ตรี พระยาราชมบัติ (เอิบ  บุรานนท์) ท.จ. และคุณหญิงเยื้อน  ราชสมบัติ ต.จ.

(สกุลเดิม โกมารกุล ณ นคร)    มีพี่ร่วมบิดาเดียวกัน คือ

๑.   ขุนสุนทรโกษา (แจง  บุรานนท์)

๒.   คุณหญิงเจือ  อัศวรักษ์  ต.จ.

๓.  คุณจง  บุรานนท์

๔.  คุณจ๊อย   บุรานนท์

๕.   พลตรี ขุนสุจิตรบรรจงยุทธ์ (สุจิตร   บุรานนท์)


       เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๔  ได้ทำการสมรสกับ นางสาว วิมาลา  ศุภมิตร  ธิดาของ พระตำรวจเอก  เจ้าพระยาราชศุภมิตร

(อ๊อด  ศุภมิตร) และท่านผู้หญิงแปลก    โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต 

ทรงเป็นองค์อุปการะในการสมรส        มีบุตรธิดารวม ๔ คน คือ

๑.   พันตำรวจเอก  อังกูร  บุรานนท์

๒.  ด.ญ.  บังอร   (ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเยาว์)

๓.   นายประวิตร  บุรานนท์

๔.  นายทนง  บุรานนท์ 
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 28 ก.ย. 12, 11:50




        คุณแม่ก่อนที่จะได้กราบถวายบังคมลาออกมาแต่งงานเป็นข้าหลวงเรือนนอก       ได้ถวายตัวเป็นข้าหลวง

เรือนนอกของสมเด็จพระพันปีเมื่ออายุ ๒๐ เศษแล้วภายหลังที่กำพร้าทั้งบิดาและมารดา       คุณแม่มีฝีมือ

ในเรื่องการสดึงกรึงไหมและมาลาการ     คราวใดที่รับสั่งใช้ให้ทำสิ่งใดแล้วก็ทำได้เป็นที่สบพระราชหฤทัยเสมอ

เมื่อคุณแม่ได้ออกมาอยู่กับคุณพ่อแล้ว   เวลาว่างก็มักจะได้พาไปดูลิเกบ้าง  ลครร้องบ้าง     ลิเกนั้นไม่เหมือน

กับสมัยนี้เพราะในสมัยนั้นยังมีผู้นิยมไม่มาก    ลิเกที่คุณแม่ชอบดูคือ ลิเกของหลวงราชพงศ์  มีแม่ปุ่มเป็นตัวชูโรง

ลครร้องคือลครปรีดาลัยของเสด็จในกรมพระนราธิปประพันธพงศ์      คุณแม่ไปดูลครหรือลิเกก็พาคุณประจวบไปด้วย

จนชินตา   ในที่สุดก็เลียนแบบผู้แสดงได้ตั้งแต่เล็ก          คุณแม่ไปหาพี่น้องคนไหนก็เกณฑ์ให้รำลครทำท่าคนโน้นคนนี้ให้ดู

มักได้รางวัลอยู่เสมอ

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 28 ก.ย. 12, 12:22


        การติดลครของคุณแม่นั้น  มักจะถูกคุณพ่อค่อนขอดอยู่เนือง ๆ   เมื่อแม่ช้อยพระเอกของลคร

ปรีดาลัยวายชนม์ลง   คุณพ่อได้แต่งอินทรวิเชียรฉันท์เหน็บแนมขึ้นบทหนึ่ง    มีข้อความดังนี้


                       อินทรวิเชียรฉันท์  พรรณาถึงแม่ช้อยชื่นใจ
 
รู้ข่าวว่าขนิษฐน้อย                                              ปิยช้อยมลายชนม์

พักตร์ผ่องก็เผือดดล                                            ชลเนตรพะพรากพรู

เสียดาย ณ  ปรีดา                                              ลยะราจะเริศดู

ดูใครฤจักตรู                                                     จิตระรื่นบฝืนใจ

ดูช้อยสิช้อยชด                                                   ฤจะงดดูไฉน

ท่าเก๋ก็หยอดใน                                                   ยนะดีแหละทีทำ

ทำชายก็ทีชาย                                                    ดุจะชายบ่เขินขำ

ชิดโฉมตระโบมทำ                                                ผิวคิดก็ติดตา

...........................
................................

        ท่านที่นับถือผู้ได้กรุณาซ้อมดาบกันประปรายในเรือนไทย   เคยเอ่ยถึงคุณป้าช้อยว่า  ไม่มีรายละเอียด

แต่จะคัดมาหมด  ก็ไม่มีแรงเจ้าค่ะ         ขอลงตอนท้ายไว้พอเป็น น้ำจิ้ม


ตัดหยวกสิมีใย                                                    ผิไฉนบ่มีอา

ลัยมิตรและพงษา                                                 คณะผู้จะพึงยล

กลอยใจละไปศุข                                                 สละทุกขะทำงน

ให้พี่กระโหยหน                                                  บมิเว้นมิวายตรอม
บันทึกการเข้า
:D :D
นิลพัท
*******
ตอบ: 2333


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 28 ก.ย. 12, 18:08


คุณดีดีมีรูปเหรียญหมูทองคำไหมคะ        สหายผู้เยาว์หนึ่งรายคร่ำครวญว่าทำไมไม่เคยเห็น


ไม่ทราบว่า ใช่ เหรียญ ที่พูดถึงหรือเปล่านะคะ... ยิงฟันยิ้ม



บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 28 ก.ย. 12, 19:07



        เมื่อสมเด็จพระพันปีทรงฉลองพระชนมายุครบ  ๕๐ ปี  เป็นงานใหญ่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖   คุณประจวบ

เล่าว่างานพิธีจะได้กระทำอย่างมโหฬารแค่ไหนไม่ทราบ  เพราะอายุยังน้อยมาก   แต่คงจำได้ว่าทำกันอยู่

หลายวัน     ในขณะนั้นไปค้างอยู่กับคุณแม่ในพระบรมมหาราชวัง        จำได้ว่าแม้กระทั่งของรับประทาน

แม้กระทั่งจะเหลือเอาไปถึงที่พักแล้วก็ยังเก็บไว้กินได้อีกหลายวัน     ส่วนลูกองุ่นและแอปเปิ้ลซึ่งเป็นของโปรด

ก็เกือบไม่มีท้องให้ใส่


        วันที่จำได้แม่นยำและติดตาที่สุดก็คืองานวันพระราชทานของเล่นแก่กุลบุตรและธิดาของข้าราชบริพาร

ที่สวนศิวาลัย     บนศาลาข้างสระซึ่งเป็นศาลาที่ใหญ่โตพอใช้นั้น   เต็มไปด้วยบรรดาของเล่นที่ดี ๆ ทั้งสิ้น

ของเล่นในสมัยนั้นดีกว่าของเล่นในปัจจุบันมากมาย   ไม่เสียง่าย  แตกง่ายหรือหักง่าย       การแจกของเล่นนั้น

เป็นไปอย่างยุติธรรมและเรียบร้อย    มีข้าหลวงปัจจุบันและข้าหลวงเรือนนอกไว้เป็นเจ้าหน้าที่คอยพาเด็กไปเลือก

ของเล่นได้ตามแต่ใจชอบ     เมื่อได้รับของเล่นแล้วก็ไปรอคอยรับพระราชทาน  "เหรียญหมู"   ซึ่งมีรูปกลม

ทำด้วยโลหะเงิน         ตัวหมูนั้นลงยาสีเทา


ที่โรงลคร   ของพระราชทานข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และข้าราชบริพารนั้นล้วนไปด้วยของดี ๆ ทั้งนั้น    มีเข็มพระรูป

ประดับเพชรบ้าง  ทองคำลงยาบ้าง  แหนบเหรียญหมูทองคำลงยาบ้าง    ถ้าหากว่าข้าราชการผู้ใดที่หากว่าเป็นสหะชาติแล้ว

ก็พระราชทานแหนบเหรียญหมูที่ทำด้วยทองคำลงยาทั้งอัน                 ส่วนลูก ๆ ของข้าราชการผู้นั้นยังได้แหนบทองคำมีรูปหมูคู่

อีกด้วย  เรียกว่า  "ลูกหมู"

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 28 ก.ย. 12, 19:33



        คุณดีดีกรุณามากค่ะ       สหายที่อยากเห็นปลื้มใจหาใดมี      ติดต่อดิฉันมา ว่า

เห็นไหมมีคนอยากเห็นเหรียญหมูด้วยล่ะ        ดิฉันก็ตอบไปว่าก็ตัวสหายนั่นแหละที่

ดิฉันนำเรื่องมาลงว่าอยากเห็นเสียจริง       ถามต่อไปว่าอยากได้เหรียญหมูทองคำด้วยฤา

เขาบอกว่ามิได้     เขารักที่จะอ่านและศึกษาเรื่องราวของเจ้านาย    และค่อย ๆ ทำความเข้าใจไปทีละขั้นตอน

ถ้าเล่ามาเป็นเรื่องราวของเด็ก    เขาชอบมากเพราะอ่านง่ายและจำได้เสมอ     นี่คือเรื่องชีวิตของคุณประจวบ

บุรานนท์ผู้มองโลกสวยงาม        เมื่อท่านบันทึกเรื่องราวไว้ท่านเขียนด้วยใจเด็กคนหนึ่งที่ได้พบเห็นเรื่องราว

ที่มหัศจรรย์          หวังว่าคงเป็นที่พอใจของท่านทั้งหลายและเข้ามาสนทนากันในกระทู้


        เรื่องราวความเก่งกล้าของคุณประจวบยังมีอีกมากมาย   และผู้คนที่ท่านได้พบเห็นก็เป็นผู้มีชื่อเสียงทางประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น

แหม!!!  ท่านทั้งซนทั้งเซียนเด็ดขาดเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 28 ก.ย. 12, 19:34

ที่โรงลคร   ของพระราชทานข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และข้าราชบริพารนั้นล้วนไปด้วยของดี ๆ ทั้งนั้น    มีเข็มพระรูป

ประดับเพชรบ้าง  ทองคำลงยาบ้าง  แหนบเหรียญหมูทองคำลงยาบ้าง   ถ้าหากว่าข้าราชการผู้ใดที่หากว่าเป็นสหะชาติแล้ว

ก็พระราชทานแหนบเหรียญหมูที่ทำด้วยทองคำลงยาทั้งอัน                 ส่วนลูก ๆ ของข้าราชการผู้นั้นยังได้แหนบทองคำมีรูปหมูคู่

อีกด้วย  เรียกว่า  "ลูกหมู"


น่าจะเป็นอันนี้



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 28 ก.ย. 12, 19:59



        ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูค่ะ      ยอดเยี่ยมเช่นเคยและใจดีเสมอ

รูปสวยและเก๋


        หมู่นี้ไม่ได้ออกไปไหนเพราะสวนรกรุงรัง    ไปทำสวนแล้วเกิดอุบัติเหตุต้องปิดตาไปข้างหนึ่ง

เพื่อน ๆ เลยรุหนังสือมาให้หลายกอง  เป็นหนังสืออนุสรณ์เก่า ๆ ทั้งสิ้น   นั่งคัดหนังสือแล้วปลื้มเลือกไม่ถูกเลย

อ่านหนังสือได้มากทั้งๆที่มีตาข้างเดียว      งานที่ทำอยู่ข้อมูลครบถ้วนแล้วค่ะ     ต้องเรียงไทม์ไลน์เล็กน้อย
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.073 วินาที กับ 20 คำสั่ง