เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4666 เตลงไม่ใช่พม่า แต่เป็นมอญ
อะแฮ่ม
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 15 พ.ค. 01, 01:07

จาก"ลิลิตเตลงพ่าย" พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ที่ทรงกล่าวถึง
การยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี ดังบทหนึ่งที่สมเด็จ
พระนเรศวร กล่าวเชิญพระมหาอุปราชกระทำคชยุทธ ว่า
๐ อ้าไท้ถูธเรศหล้า .......   แหล่งเตลง โลกยฤๅ
เผยพระยศยินเยง ......   ย่านแกล้ว
สิบทิศทั่วฦๅเลวง ........   หวั่นเดช  ท่านฤๅ
ไป่เร่อมรอฤทธิแผ้ว ....   เผือดกล้าแกลนหนี ฯ
๐ พระพี่พระผู้ผ่าน ......   ภพอุด  ดมเฮย
ไป่ชอบเชษฐยืนหยุด ...   ร่มไม้
เชิญราชร่วมคชยุทธ์ ....   เผยอเกียรติ  ไว้แฮ
สืบกว่าสองเราไส้ ........   สุดสิ้นฤามี ฯ
๐ หัสดีรณเรศอ้าง ......   อวสาน  นี้นา
นับอนาคตกาล ...........   ห่อนพ้อง
ขัติยายุทธ์บรรหาร ......   คชคู่  กันแฮ
คงแต่เผือพี่น้อง ........   ตราบฟ้าดินไกษย ฯ
๐ ไว้เป็นมหรศพซร้อง..   ศุขสานต์
สำหรับราชสำราญ .......   เร่อมรั้ง
บำเทองหฤทัยบาน ......   ประติยุทธ์  นั้นนา
เสนอเนตรมนุษย์ตั้ง ....   แต่หล้าเลอสรวง ฯ

แม้ในเรื่อง "สามกรุง" พระนิพนธ์ในพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ในภาค ๑ กรุงศรีอยุธยา
ตอนหนึ่งทรงพระนิพนธ์ว่า
๐ เคยทนงองอาจบ้าง   บางสมัย  ไทยเอย
แม้เมื่อแผลแผ่ไหล   เลอะเปื้อน
ทุกคาบทุกคราใน   เมื่อพม่า  มาแฮ
ถนัดดั่งโชคโรคเรื้อน   รบาดพื้นภูสยาม ฯ
๐ อยุธยากล้าศึกสู้   เศิกกษัย
เริงร่านชาญสมรสมัย   สมรรถโน้น
ไพรีจะตีไทย   ไทยต่อ  ตีนา
เตลงพ่ายเพิดภายโพ้น   เพิกแพ้พังหนี ฯ
เวียงมอญนคนม่านต้อง   แตกสลาย
เจ้าแผ่นดินถิ่นกจาย   กจัดลี้
หงษาวดีกลาย   เป็นฝุ่น
ยุบยับทัพไทยขยี้   เหยียบขย้ำทำสนอง ฯ

คือว่า "เตลง" ในที่นี้หมายความถึงคำเรียก"ชนชาติพม่า" อันเนื่องจากพระมหาอุปราชานั้นเป็นพม่า
ไม่ใช่มอญ แต่จากเรื่องเกี่ยวกับชนชาติมอญมีกล่าวว่า "ชนชาติมอญมีชื่อเรียกหลายชื่อ คือ มอญ
รามัญ ตะเลง เปกวน คำว่ามอญ(Mon)เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า รมัน(Rman) ส่วนคำว่า รามัญ
(Raman)เป็นรูปที่บัญญัติขึ้นจากรูป รมัน(Rman) เพื่อใช้ในภาษาบาลีในสมัยที่ยังนิยมใช้ภาษาบาลี
คำว่า ตะเลง เป็นคำที่ชาวต่างชาติโดยเฉพาะใช้เรียกพวกมอญในบริเวณพม่าตอนล่างเป็นเวลาช้านาน
แต่ปัจจุบันไม่นิยมเรียกชื่อ มอญ ว่า ตะเลง แล้ว ส่วนคำว่า เปกวน นั้น ชาวตะวันตกเรียกชนชาติมอญ
อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ปัจจุบันนี้ก็เลิกใช้แล้ว" (ละออ แป้นเจริญ, หลักภาษามอญ,
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร)

อีกกระแสหนึ่งกล่าวว่า พวกรามัญหรือมอญได้อพยพมาจากอาณาเขตจีน แล้วมาสร้างบ้านเมืองอยู่ใน
บริเวณแม่น้ำอิระวดี แม่น้ำสะโตงและแม่น้ำคง ในครั้งแรกได้ตั้งเมืองสะเทิมเป็นเมืองหลวง ในครั้งนั้น
มีเจ้าในแคว้นเตลิงคณะ (Talingana) ซึ่งอยู่แถวเหนือเมืองมัทราสได้มาตีเมืองสะเทิมได้ เมื่อเจ้าเมือง
เป็นชาวอินเดียก็คงจะเป้นสื่อชักนำให้ชาวอินเดียในแคว้นเตลิงคณะพากันมาตั้งรกรากทำมาหากินและ
แต่งงานกับพวกมอญเจ้าของถิ่นมากขึ้น เข้าใจกันว่าที่เราเรียกรามัญหรือมอญว่า "เตลง" หรือ
"ตะเลง" ก็คงจะมาจากนี้ แต่ในหมู่ชาวรามัญเองดูเหมือนว่าจะไม่ชอบคำนี้เท่าใดนัก เพราะกระเดียด
ไปในทางดูหมิ่นเหยียดหยามอะไรทำนองนั้น นี่ก็ทราบจากเพื่อนชาวรามัญเอง (ส. พลายน้อย, เล่าเรื่อง
พม่ารามัญ)

สำหรับพม่านั้นมีกล่าวไว้ดังนี้ "ชนชาติพม่ามีหลายชื่อเรียกกันไปตามกาลสมัย บางชื่อเป็นชื่อที่ชนชาติ
อื่นเรียกพม่าก็มีและเป็นชื่อที่พม่าเรียกตัวเองก็มี ดังเช่น
๑. มะแรนมาหรือมะรันมา (Mranma) เป็นชื่อแรกที่ใช้เรียกชื่อพม่า คำนี้ปรากฏในจารึกเมื่อปี ค.ศ. ๑๑๙๐
(พ.ศ. ๑๗๓๓)
๒. มีร์มา (Mirma) ชื่อนี้ปรากฏในจารึกของมอญเมื่อปี ค.ศ. ๑๑๐๒ (พ.ศ. ๑๖๔๕)
๓. เมี่ยงหรือเมียน (Mien) เป็นชื่อที่จีนเรียกพม่า คำนี้ปรากฏในปี ค.ศ. ๑๒๗๓ (พ.ศ. ๑๘๓๖) เข้าใจว่า
ในสมัยราชวงศ์หงวนเมื่อครั้งพระเจ้ากุบไลข่าน(ชาวมงโกลที่เข้าปกครองแผ่นดินจีนในขณะนั้น)ยกทัพ
ไปตีพม่า
(ไพโรจน์ โพธิ์ไทร : ภูมิหลังของพม่า)

คำว่า "รามัญ" นั้นไทยเรานิยมใช้เรียกชนชาติมอญมาแต่ครั้งโบราณ ดังปรากฏในเรื่องราชาธิราช ดังใน
คำปรารภนำเรื่อง ดังนี้ "ศุภมัสดุพระพุทธศักราช ๒๓๒๘ ปีมะเส็ง นักษัตร สัปตศก พระบาทสมเด็จ
พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ... จึงมีพระราช
โองการมานพระบันฑูรุรสีหนาท ดำรัสเหนือกระหม่อมสั่งว่า เรื่องราวพระเจ้าราชาธิราชซึ่งทำศึกกับ
พระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง เป็นมหายุทธสงครามมีในพระราชพงศาวดารรามัญนั้น ที่แปลออกจากโรมัญภาษา
เป็นสยามภาษาถวายสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ แปลกเปลี่ยนกันกับที่ได้ทรงฟังสังเกต
ไว้แต่ก่อน ... " (ราชาธิราช) ส่วนพม่านั้นไทยเราก็เรียกว่า "พม่า" มาแต่โบราณ เข้าใจว่าเพี้ยน
เสียงหรือให้ออกเสียงเป็นแบบไทยๆจาก"มะรันมาหรือมะแรมมา" ดังกล่าวข้างต้น

นเรศ นโรปกรณ์ เจ้าของผลงานเขียน Pocket Book "สาวเอยจะบอกให้" อันโด่งดังสุดขีดในยุค ๒๕๑๖
กล่าววิจารณ์คำนำในเรื่องราชาธิราช ไว้ว่า"ในคำปรารภนี้ ตรงที่ระบุพระนาม "พระบาทสมเด็จพระพุทธ
ยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเจ้าอยู่หัว" นั้น น่าจะเป็นของเติมขึ้นภายหลัง ด้วยพระนามนี้เพิ่งเกิดในรัชสมัย
พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือรัชกาลที่ ๓ ทรงประกาศให้เรียกรัชกาลที่ ๑ ตามพระนามพระพุทธรูปซึ่งทรง
สร้างขึ้น เป็นพระบรมราชูทิศไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทั้งนี้เพราะเกิดมีการเรียกพระเจ้าแผ่นดิน
สองรัชกาลก่อนว่าแผ่นดินต้น และแผ่นดินกลาง ซึ่งหากยังเรียกเช่นนั้นอยู่ย่อมหมายถึงว่า แผ่นดินของ
พระองค์ก็จะกลายเป็นแผ่นดินสุดท้าย ทรงเห็นว่าเป็นอัปมงคล จึงทรงประกาศไว้เป็นบรรทัดฐาน
ดังกล่าวแล้ว ดังนั้น ตรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเจ้าอยู่หัว" นั้น
หาใช่ความเดิมของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กับคณะไม่ ของเดิมคงจะเป็น "สมเด็จพระบรมราชาธิราช
รามาธิบดี พระพุทธเจ้าอยู่หัว" ตามที่จารึกพระนามรัชกาลที่ ๑ ในพระสุพรรณบัฎ หรือมิฉะนั้นก็คงจะเป็น
"สมเด็จบรมบพิตร พระเจ้าอยู่หัว" หรือ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ที่ถูก
อย่างไรนั้น จะต้องดูต้นฉบับเดิมของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งจะยังอยู่หรือไม่ก็ไม่ทราบ น่าหวดก้น
คนต่อเติมเสียเหลือเกินละ(นเรศ นโรปกรณ์, ศึกรามัญ เล่าเรื่องราชาธิราช)

คำว่า Burma เข้าใจว่าคงเป็นคำที่อังกฤษใช้เรียกพม่าตั้งแต่เริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามาและทำการค้ากับชาติ
ต่างๆในภูมิภาคนี้ ซึ่งพม่าได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "เมียรมาร์" (Myanmar) อันเป็นชื่อเดิมของดินแดน
พม่าด้วยความจงเกลียดจงชังอังกฤษเป็นอย่างที่สุด ส่วนเหตุผลรายละเอียดการเปลี่ยนชื่อนั้น ผมไม่มี
รายละเอียดนี้อยู่จึงไม่อาจกล่าวอ้างได้ จำได้ลางๆว่าพม่าอ้างประวัติศาสตร์ของตนเองขึ้นเป็นหลักฐาน

ท่านที่สนใจติดตามข่าวการรบตามแนวชายแดนไทย-พม่านั้น หากต้องการความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น ผมว่าน่าจะ
ศึกษาประวัติศาสตร์พม่า-มอญ และชนกลุ่มน้อย ในพม่า จะเข้าใจเหตุผลของการรบในปัจุบันได้ดีขึ้น
บันทึกการเข้า
วรณัย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 09 พ.ค. 01, 20:05

พระมหาอุปราชาเป็นลูกของนันทบุเรงและหลานปู่บุเรงนองใช่ไหมครับ?
แล้วบุเรงนองไม่ใช่มอญหรือ?
ตะเบงชเวตี้เป็นกษัตริย์พม่าราชวงศ์ตองอู?
สถาปนาหงสาวดีขึ้นที่พะโค
หงสาวดีก็คือเมืองหลวงเก่าของมอญรึเปล่า?
ผมว่า "ลิลิตเตลงพ่าย"เป็นลิลิตที่แต่งขึ้นมาภายหลัง จึงเรียก"ชื่อ"รวมให้ผู้คนในทัพมหาอุปราชาที่มีทั้ง มอญ พม่า กระเหรียงและชาติพันธ์อีกหลาย ๆ กลุ่มคือ"เตลง " รึเปล่าครับ?
หลังจากนั้นราชวงศ์ตองอูก็สถาปนาอาณาจักรของพม่าขึ้นเหนือมอญ?
บันทึกการเข้า
อะแฮ่ม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 11 พ.ค. 01, 11:10

บุเรงนองเป็นชาวพม่าครับ ไม่ใช่มอญ
เรื่องของการผลัดกันครอบครองเมืองหงสาวสดีระหว่างพม่ากับมอญ
แนะนำให้อ่านบทนำเรื่อง"ไทยรบพม่า" ของกรมพระยาดำรงฯ ครับ
ส่วนพม่ารบไทยของ ดร.สุเนตร ฯนั้น ผมอ่านไม่จบซักที เลยอ้างไม่ได้
บันทึกการเข้า
วรณัย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 15 พ.ค. 01, 13:07

ก็ขอยืนยันตามเอกสารของฝ่ายพม่าเองนะครับว่า บุเรงนองสืบเชื้อสายมาจากชาวมอญอังวะ และก็ขอแนะนำให้อ่านหนังสือเรื่องบุเรงนองกะยอดินมูรธา นอกจาก หนังสือเรื่องพม่ารบไทย อีกเล่มของอาจารย์ สุเนตร ชุตรินธานนท์ ส่วนงานวรรณกรรมเรื่องไทยรบพม่าของกรมพระยาดำรงฯนั้น ก็เป็นที่รู้ ๆอยู่ว่าใช้เอกสารเพียงด้านเดียวโดยใช้ฉบับของหลวงประเสริฐ ที่พบที่เพชรบุรีเป็นหลัก
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.055 วินาที กับ 17 คำสั่ง