ในปี 1974 ผมเรียนอยู่ชั้น ม.ต้น ตอนนั้นผีเพลงฝรั่งเข้าสิงเต็มรูปแบบ และผมกำลังเริ่มต่อยอดด้วยการแสวงหาความรู้จากสื่อต่าง ๆ ฟังดูหลากหลาย แต่สมัยนั้นสื่อเกี่ยวกับเพลงฝรั่งมีอยู่ประเภทเดียวคือ หนังสือ SP และหนังสือเพลง 3 ชื่อที่เคยกล่าวมาแล้ว และอีกสิ่งหนึ่งที่แปลกใหม่คือการสะสมแผ่นเสียง ความจริงเรื่องแผ่นเสียงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับผม เพราะตอนนั้นเรามีเครื่องเล่นแผ่นเสียงอยู่แล้ว เป็นขนาดพกพาหรือที่เรียกว่า pickup turntable ที่เหมาะสำหรับเล่นกับแผ่นเล็กมากกว่าเพราะแป้นรองแผ่นมันเล็ก
ผมมาเริ่มซื้อแผ่นเสียงแผ่นใหญ่ในปีนั้น แรงกระตุ้นมาจาก Agnes Chan สมัยก่อนผมอายเวลาคนถามว่าแผ่นเสียงแผ่นแรกในชีวิตเป็นแผ่นของใคร กลัวคนหาว่าเสี่ยว แต่เดี๋ยวนี้แก่แล้ว หน้าด้านขึ้นเป็นกอง แต่แผ่นเสียงแผ่นที่ 2 ที่ซื้อนี่ คนฟังแล้วทำสีหน้าเลื่อมใส มันคือแผ่นของ Helen Reddy ซุป'ตาร์ ในยุคนั้น
ตะเริ่มแรกผมอยากได้อีกแผ่น แผ่นที่บรรจุเพลง Keep on singing ที่ผมโปรดปราน แต่ไปหาซื้อไม่มี ความจริงแล้วคงมีแต่ผมเพิ่งเตาะแตะหาแหล่งขายแผ่นเสียงไม่เป็น ร้านที่ไปหาก็ในย่านวังบูรพา เพราะทำเลอยู่ใกล้บ้านคือวงเวียนใหญ่ ก็เลยไปได้แผ่นนี้มาซึ่งเป็นแผ่นออกมาตั้งแต่ปีก่อน (1973) ที่จริงแผ่นนี้ดังกว่าด้วยซ้ำไป มีเพลงฮิตกระหน่ำถึง 2 เพลงคือ Delta Dawn กับ Leave me alone เพียงแต่ว่าตอนที่เพลงกำลังดังนั้นผีเพลงฝรั่งยังเข้าสิงไม่เต็มที่ เลยไม่คุ้นเคย

ตอนนั้นเด็กไม่มีเงิน แล้วแผ่นเสียงก็ราคาแพง แผ่นละตั้ง 100 กว่าบาท เมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ค่ามันไม่ใช่ย่อย ผมก็เลยนาน ๆ ซื้อแผ่นที เอาที่อยากได้จนสุดจะทน
จบเรื่องเกริ่น...
วันหนึ่งในปี 1974 นั้นก็มีสถานีวิทยุเพลงฝรั่งเปิดเพลงของนักร้องหญิงที่มีเสียงหวานกังวาน (เพิ่งรู้ว่า สะกดด้วย น.หนู) ทำนองเพลงก็ติดหูมาก หลังจากนั้นไม่นานแทบทุกสถานีวิทยุเพลงฝรั่งก็กระหน่ำเปิดเพลง ๆ นี้ ยิ่งฟังก็ยิ่งเพราะ จำได้ว่าได้ข้อมูลของเพลงนี้มาจากดีเจคนหนึ่ง เธอบอกว่าคนร้องเป็นแม่ชี แหม... ข้อมูลแบบนี้ สำหรับผมแล้วหูผึ่ง อีกไม่นาน นส. SP ผู้นำสมัยในเรื่องบันเทิงต่างประเทศ ก็ลงเรื่องราวย่อ ๆ ของแม่ชีคนนี้ เธอเป็นชาว Australia ชื่อ Sister Janet Mead เพลงนี้เริ่มแรกออกสู่ตลาดที่ Australia บ้านเกิด ความดังของมันทำให้ต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาทดสอบหูชาวอเมริกัน ซึ่งก็ โป๊ะเช้ะ ดีเจทุกสถานีวิทยุพร้อมใจกันเปิดเพลงนี้ ซึ่งทำให้มันดังระเบิดเถิดเทิง สามารถไต่อันดับ Billboard เข้าไปอยู่ใน top 5 และคว้าแผ่นเสียงทองคำมาได้
อะไรที่ดังที่อเมริกาอีกไม่นานความดังก็แผ่ไปทั่วโลกแล้วมันก็มาถึงเมืองไทย เพลงที่ว่านี้ชื่อ The Lord’s Prayer
พอเพลงนี้เริ่มคุ้นหูนักฟังเพลง (ชาวไทย) อีกเพลงก็ตามมา
เพลงที่ 2 นี้มีข้อมูลเสริมที่ตอนนั้นนักฟังเพลงฝรั่งชาวไทยรวมถึงผมไม่รู้เรื่อง คือมันเป็นเพลงจากหนังเรื่อง Brother Sun and Sister Moon ต้นฉบับนั้นร้องโดยนักร้องจากอังกฤษ Donovan หนังมาฉายบ้านเราด้วย แต่ผมไม่ได้ดู
สำหรับ 2 เพลงที่ว่าก็มีข้อมูลเสริมที่ตอนนั้นนักฟังเพลงฝรั่งชาวไทยรวมถึงผมไม่รู้เรื่องเช่นกัน คือเริ่มแรก บ. แผ่นเสียงต้องการ promote เพลง Brotherฯ นี้จึงจัดไว้ในหน้า A แล้วเอาเพลง The Lordฯ ไว้หน้า B แต่เหล่าดีเจ (เริ่มตั้งแต่ที่ Australia มาเลย) เห็นพ้องต้องกันว่าเพลงหน้า B เพราะเด่นกว่ามากก็เลยรวมหัวกันเปิดแต่เพลง The Lordฯ เหตุการณ์การตัดสินใจที่ผิดพลาดของ บ. แผ่นเสียงนี้เกิดบ่อยมากในยุคแผ่นเสียงฯ
ดังนั้นนักฟังเพลงต่างชาติจึงได้ยินแต่เพลง The Lordฯ แต่เมืองไทยห่างไกลลิขสิทธิ์เลยกำไร ได้ยินทั้ง 2 เพลง
วงการเพลงไม่เคยหยุดนิ่ง พอความดังของเพลง The Lordฯ ขึ้นถึงขีดสุดก็เริ่มจาง เพลงใหม่ที่พร้อมจะดังก็เข้ามาแทนที่ แต่ใจผมยังไม่พร้อมที่จะละทิ้งเพลงนี้ ยังอยากฟังเพลงนี้อีกบ่อย ๆ แต่ความถี่ในการเปิดก็น้อยลง ๆ
ผมสงสัยว่า SJM นี้จะมีเพลงอะไรออกมาอีก อีกไม่นานผมก็ได้ยินเพลงใหม่ของเธอ
แต่เพลงนี้ไม่ดัง ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ผมเคยได้ยินอยู่ 2-3 ครั้งเอง แล้วก็ไม่มีใครพูดถึงเลย สรุปแล้ว SJM มีเพลงดังเพียงเพลงเดียว เข้าข่ายนักร้อง One hit wonder
เพลงของเธอหายไปจากหน้าปัดวิทยุ แต่ไม่ได้หายไปจากใจของผม มาถึงขั้นนี้ผมต้องยอมอดข้าวอดน้ำเพื่อสะสมเงินไว้ซื้อแผ่นเสียงของเธอ

สมัยนั้น ไม่มีใครเคยเห็นหน้าตาของเธอ นอกจากคนที่ซื้อ นส.SP แต่ก็เป็นรูปขาวดำเล็ก ๆ ถ้าผมไม่ได้ซื้อแผ่นเสียงก็คงไม่ได้เห็นภาพสีของแม่ชี

ด้านหลังของซองแจ้งไว้ว่าอัดเพลงลงแผ่นด้วยระบบทันสมัย (กรุณาอ่านรายละเอียดเอาเอง) แต่ตอนนั้นเครื่องเล่นแผ่นเสียงของผมกระจอกงอกง่อย เลยฟังไม่รู้เรื่องราว มาภายหลัง (ก็อีกหลายสิบปีต่อมา) ผมปีกกล้าขาแข็งขึ้น (หมายถึงด้านการเงิน) มีเครื่องเสียงแบบเจ๋ง ๆ มาได้ฟังแผ่นนี้แล้ว ระบบอัดเสียงดีจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่อัดมานานแล้ว เสียงกระหึ่มเชียวละ
แผ่นเสียงแผ่นนี้จึงเป็นแผ่นที่ 3 ในชีวิตการสะสมแผ่นฯ ของผม ตอนฟังครั้งแรก ๆ รู้สึกผิดหวังไม่น้อยคือ นอกจากไม่มีเพลง Brotherฯ แล้ว เพลงอื่น ๆ ก็ไม่เพราะเท่าไร แต่ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน ในที่สุดผลปรากฏว่าเพลงทุกเพลงในแผ่นฯ นี้เพราะถูกหู ผมฟังแล้วฟังอีกจนเสียง ‘ฝนตกฟ้าร้อง’ เกือบจะดังกลบเสียงเพลงไปแล้ว แผ่นเสียงแผ่นนี้กลายเป็นแผ่นโปรดที่สุดแผ่นหนึ่งของผม ผมฟังอยู่เนือง ๆ ต่อมาหลังจาก technology ทางคอมพิวเตอร์ครอบครองโลกแล้ว ก็เอาเพลงมาดัดแปลงเป็น file สำหรับฟังทางคอมพิวเตอร์ แล้วเก็บแผ่นฯ เข้าคลัง
มาเมื่อวานนี้เองก็ฟังเพลงชุดนี้อีกเป็นครั้งที่หลายร้อยแล้ว จู่ ๆ ก็สงสัยว่า Sister แกเป็นไงบ้าง ผมเคย check เมื่อ 2-3 ปีก่อน เธอก็อยู่ดีกินดี ว่าแล้วก็ถาม Wilki ฯ อ้าว... ไปร้องเพลงให้พระเจ้าบนสรวงสวรรค์เสียแล้ว

ตัวอย่างเพลงอื่น ๆ ที่ผมว่าเพราะ เธอเสียงหวานมาก
เพลงของเธอเด่นตรงที่จับเอาท่อนความใน bible แล้วนำทำนองมาใส่ เพลงของเธอจึงอยู่ในข่าย Gospel music
เกือบลืมเล่าว่า จำได้ (จากการอ่าน นส SP) ว่าตอนที่เธอกำลังดัง พวกนักข่าวประโคมกันว่า ในยุค 60s มี Singing Nun (ที่ร้องเพลง Dominique นักฟังเพลงฝรั่งร่วมยุคบ้านเรารู้จักดี) มายุค 70s ก็มี Rocking Nun เธอเป็นแม่ชีคนที่ 2 ที่นำเพลงเข้า top 10 ในอันดับ billboard