เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 13 14 [15] 16 17 ... 19
  พิมพ์  
อ่าน: 63562 เฮนรี่ อาลาบาศเตอร์ ฝรั่งดีที่ฝากร่างและผลงานไว้ในสยาม
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 210  เมื่อ 18 ก.ย. 12, 13:50

นายเบล(Bell)เข้าทำหน้าที่รักษาการในหน้าที่กงสุลแทน จนกระทั่งเซอร์จอห์น บาวริงเอกอัครราชทูตประจำกรุงสยาม ผู้มีถิ่นพำนักในฮ่องกง ได้ส่งนายจิงเจล(Gingell)มาเป็นกงสุลสืบแทนนายฮิลลิเออร์

กงสุลอังกฤษคนแรกได้เช่าที่ดินที่ตำบลบางคอแหลมไว้ แต่นายจิงเจลต้องการกรรมสิทธิ์ที่ถาวรกว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้ทรงแสดงน้ำพระทัยช่วยเหลือให้ได้ที่ดินข้างๆสถานทูตปอร์ตุเกต และยังได้พระราชทานเงินยืม16000บาท เพื่อให้นายจิงเจลสามารถสร้างอาคารสถานกงสุลไปก่อนที่เงินที่อังกฤษส่งจากลอนดอนจะมาถึง

คุณหนุ่มสยามเขียนไว้ว่า
สถานทูตอังกฤษที่ถนนเจริญกรุงนั้นเป็นที่ดินที่รัชกาลที่ ๔ ทรงซื้อตารางวา ๑ บาท เป็นจำนวนเงิน ๑๖,๐๐๐ บาทเพื่อให้เป็นที่ทำการสถานกงสุลอังกฤษ ซึ่งก่อนหน้านี้ยังมี "คดีนายเส็ง" ที่ขายที่ดินให้อังกฤษเช่า ๙๙ ปี แต่ต้องพระราชอาญาเฆี่ยนจนตายที่บางคอแหลม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 211  เมื่อ 18 ก.ย. 12, 13:51

นายคนแรกของนายอาลาบาศเตอร์


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 212  เมื่อ 18 ก.ย. 12, 13:55

สถานกงสุลอังกฤษแห่งใหม่สร้างแล้วเสร็จในปี1876 กงสุลใหญ่คนแรกที่ได้เข้าพำนักในก็คือ เซอร์ โรเบิร์ต ซอมเบิร์ก (Sir Robert Schomburgk )วงการไฮโซฝรั่งนินทาว่าท่านผู้นี้เป็นคนปรัสเซียที่พูดภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ชาวบริติสแท้
กงสุลท่านนี้แหละที่รับหนุ่มอาลาบาศเตอร์เข้าทำงานเป็นครั้งแรกในสถานกงสุล

ท่านอาจารย์เทาชมพูเขียนไว้ในตอนต้นว่า
เป็นบ้านไม้ตั้งอยู่ตรงที่เป็นที่ว่าการไปรษณีย์ ริมถนนเจริญกรุงซึ่งเพิ่งตัดใหม่ การก่อสร้างนอกจากไม้กระดานสร้างบ้านซึ่งหาได้จากท้องถิ่นแล้ว นอกนั้นพวกเครื่องประกอบทั้งหลายต้องสั่งตรงมาจากอังกฤษหมด เพราะไม่มีขายในสยาม ไม่ว่าจะเป็นกุญแจประตู สายยู ลูกบิด และกระจกหน้าต่าง ต้องอิมพอร์ตเข้ามาใช้ในการนี้ทั้งนั้น กว่าจะเดินทางจากอังกฤษมาถึงสยามได้ก็ต้องใช้เวลาประมาณหกถึงแปดเดือน
นอกจากนี้ในกรุงเทพยังมีสัตว์ป่าอาศัยปะปนอยู่กับมนุษย์ได้ เห็นกันทั่วไป   ถ้าเดินลงไปที่สนามก็จะเจองูต่างๆ 13 ชนิดกับผีเสื้ออีก 27 ชนิด  แล้วยังมีแม้แต่คุกในสถานกงสุล(consular gaol)

คำหลังนี้ดิฉันไม่แน่ใจว่าเขาหมายถึงอะไร   น่าจะเป็นห้องขัง เตรียมเอาไว้ขังชาวต่างชาติที่กระทำผิด อย่างห้องขังใต้ถุนศาล 


เซอร์ โรเบิร์ต ซอมเบิร์ก ได้สร้างอาคารขึ้นอีกมากมาย เช่น บ้านผู้ช่วยกงสุล เรือนบริวาร คุกสองหลัง(ต้นฉบับที่ผมแปลใช้คำว่าjail) และอาคารสำนักงาน ทำให้สถานกงสุลดังกล่าวสามารถใช้เป็นที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตที่สมบูรณ์ได้

ภาพสถานกงสุลอังกฤษแห่งแรกมองจากแม่น้ำ ถ่ายปี 1867 หรือพ.ศ. 2410


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 213  เมื่อ 18 ก.ย. 12, 13:58

ผู้เขียนได้หยุดตำนานกงสุลอังกฤษไว้ตรงนี้ คงจะขนลุกที่จะเขียนเรื่องท่านเซอร์น๊อกซ์ลงไป แล้วมาเริ่มต้นใหม่กับท่านในภาพข้างล่าง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 214  เมื่อ 18 ก.ย. 12, 14:04

ทิ้งช่วงไปประมาณ6ปี เริ่มต้นที่ เมื่อเซอร์ ราล์ฟ ปาเจต์ (Sir Ralph Paget)เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ได้เข้าดำรงตำแหน่งในปี1902 ได้พบว่าสถานทูตดังกล่าวอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เรือยนต์ต่างๆวิ่งส่งเสียงสลับกับเปิดหวูดสนั่นทั้งวันทั้งคืน ฝั่งตรงข้ามกันกลายเป็นโรงสีใหญ่สองโรง กำลังสร้างยังไม่แล้วเสร็จอีกหนึ่ง ที่ดำเนินกิจการอยู่แล้วนั่นอยู่ก็หนวกหูเวลาเดินเครื่องจักร แถมปล่องควันก็ส่งเขม่าลอยตามลมเข้ามาจับที่อาคารทั้งปวงของสถานกงสุลเป็นคราบดำไปหมด ครั้นปี1905 รถรางสายเจริญกรุงก็อุบัติขึ้น ส่งเสียงล้อบดรางเหล็กสลับกับเสียงเคาะกระดิ่งแก๊งๆเตือนคนไปตลอดทาง หน้าสถานทูตนั้นก็มีบาร์เหล้าของสาวอิตาเลี่ยนชื่อว่ามาดามสตาโรที่มีลูกสาวๆหลายนาง ส่งเสียงเปียนโนและเครื่องดนตรีนานาชนิดเคล้ากับการให้บันเทิงบริการอย่างอื่นแก่ลูกค้าที่หื่นกระหาย ภาคเช้าตรู่ก็เบิกอรุณด้วยเสียงระฆังจากวัดข้างเคียง ประกวดกับเสียงสวดอ้อนวอนอัลเลาะห์จากสุเหร่าที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน

แปลไปอ่านไปไม่รู้ว่าต้นฉบับเว่อร์ไปหรือเปล่า ดูในภาพถ่ายข้างล่างก็เงียบๆ

อย่างไรก็ดีที่คุณวีหมีเคยเล่าว่า สาเหตุที่สถานทูตอังกฤษจำเป็นต้องย้ายจากที่เดิม เพราะเมื่อก่อนแม่น้ำคือหน้าบ้าน ตอนหลังถนนเจริญกรุงกลายเป็นหน้าบ้าน ก็คงจะจริงอยู่ แต่จริงไม่หมดด้วยประการเช่นนี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 215  เมื่อ 18 ก.ย. 12, 14:06

เซอร์ ราล์ฟ ปาเจต์เล็งที่ดินไม่ไกลจากราชกรีฑาสโมสรสำหรับที่จะสร้างสถานทูตใหม่ แต่พอเสนอไปทางลอนดอนเรื่องก็ถูกดองเค็ม พอถึงเวลาที่จะต้องวางเงินค่าที่ดินตามสัญญา เงินปอนด์ก็หาได้โผล่มาไม่ แถมทางโน้นก็เลี่ยงที่จะแจ้งเหตุแจ้งผลตรงๆด้วยว่าเป็นเพราะเหตุใด บังเอิญท่านเซอร์กำลังปวดขมับเรื่องที่ไทยตื้อขอแก้ไขสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและปัญหาการปรับเปลี่ยนแนวเขตแดน ก็เลยไม่มีเวลาที่จะแบ่งความปวดดังกล่าวไปให้ขมับข้างที่รับรูปเสียงกลิ่นรสทั้งหลายอันเคยเป็นภาระแก่โสตประสาทของท่าน

บังเอิญโชคดีที่ฝ่ายไทยรู้ข่าวว่าทางสถานทูตอังกฤษอยากจะย้ายที่ทำการไปอยู่ที่อื่นก็เห็นที่ดินดังกล่าวเหมาะเหม็งกับที่จะทำสำนักงานไปรษณีย์กลาง แต่ระบบราชการที่ขยับอย่างเชื่องช้าของทั้งสองฝ่ายราวกับหอยทากวิ่งแข่งกัน สงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็ระเบิดขึ้นเสียก่อนในปี1914 ต้องรอจนจบสงครามในปี1919 เมื่อนายริชาร์ด เสตอจีส ซีมอร์มารับหน้าที่ และรัฐบาลสยามได้ส่งข้อเสนอเป็นเรื่องเป็นราวที่จะขอแลกเปลี่ยนที่ดินกัน ยังไม่ทันได้เรื่องได้ราวก็เปลี่ยนทูต ให้เชอร์ โรเบิร์ต เกรก (Sir Robert Greg)มารับตำแหน่งแทนในปี1921


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 216  เมื่อ 18 ก.ย. 12, 14:14

ท่านผู้นี้และภรรยามีรสนิยมวิไลของศิลปินตรงกัน สถาปัตยกรรมโคโลเนียลที่เป็นกลุ่มเรือนไม้ทรงปั้นหยา และแม่น้ำอันทรงเสน่ห์มีชีวิตจิตใจ ช่างถูกกับจริตของทั้งสองยิ่งนักแล้ว ตัวท่านทูตเองนั่นแหละที่รู้สึกหลอนเหลือเกิน ทุกครั้งที่จิตกระหวัดไปคิดถึงยามที่จะต้องย้ายไปอยู่ทำเนียบหลังใหม่ ที่กำลังออกแบบโดยสถาปนิกฝีมือระดับข้าราชการกรมโยธา

สำนวนที่ผมเขียนก็ฉวัดเฉวียนไปตามอารมณ์ของเจ้าของต้นฉบับภาษาอังกฤษที่ผมถอดความเขามานะครับ ไม่ได้แต่งปรุงขึ้นเอง เพียงแต่เติมพริกน้ำส้มเหยาะน้ำปลาไปบ้างให้ fish and chipsของเขาออกรสไทยๆเท่านั้นเอง
 
เอ้าต่อครับต่อ
 
โชคมหาศาลของเครือจักรภพยิ่งแล้วที่นายวูด(Wood)รองกงสุลได้ไปราชการในลอนดอน และมีโอกาสได้ช่วยในการขึ้นแบบร่างส่วนที่เป็นอาณาบริเวณทำเนียบทูต นายวูดคือผู้ที่รับผิดชอบในแผนแบบของสถานกงสุลแห่งใหม่ของอังกฤษในเชียงใหม่และสงขลา และแนวความคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่จะสร้างในกรุงเทพของเขาก็ได้รับการยอมรับอย่างชื่นมื่น

เมื่อกลับมากรุงเทพแล้ว ท่านทูตเมื่อได้เห็นแบบใหม่แล้วก็แสดงความพออกพอใจในผลงานของท่านรองมาก ดำเนินการถอนคำคัดค้านที่จะก่อสร้างมาเป็นขอแก้แบบนั่นนี่โน่นบ้างนิดๆหน่อยๆ จบลงในเดือนมีนาคมของปี1922ด้วยการลงนามทำสัญญาซื้อขายที่ดินอันเป็นที่ตั้งสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษผืนนี้จากพระยาภักดีนรเศรษฐ์ ที่รู้จักกันในนามว่านายเลิศ ซึ่งในขณะนั้นครอบครองที่ดินแปลงมหึมาที่จัดเป็นสวนเรียกว่า“ปาร์กนายเลิศ”จากถนนเพลินจิตไปจรดคลองแสนแสบ โดยแบ่งขายให้สถานทูตอังกฤษไปครี่งหนึ่ง ประมาณ28ไร่ อีกครี่งหนึงเจ้าของเก็บไว้และทายาทได้สร้างโรงแรมขึ้น ชื่อโรงแรมปาร์กนายเลิศ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 217  เมื่อ 18 ก.ย. 12, 14:15

ยังไม่จบครับ แต่เอาเท่านี้ก่อน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 218  เมื่อ 18 ก.ย. 12, 14:34

กงสุลท่านนี้แหละที่รับหนุ่มอาลาบาศเตอร์เข้าทำงานเป็นครั้งแรกในสถานกงสุล

ขออนุญาตแวะเข้าป่าแป๊บเดียว

กงสุลท่านนี้นี่แหละที่ทำให้โลกรู้จัก "สมัน" Schomburgk's Deer



ใน พ.ศ. ๒๔๐๖ ท่านเซอร์โรเบิร์ต โชมเบิร์ก (Sir Robert Schomburgk) ได้นำเขาสมันซึ่งเป็นเขาหลุดเก็บตกจากเมืองไทย ทูลถวายพระนางวิกตอเรียแห่งอังกฤษ พระนางวิกตอเรียรับสั่งให้ส่งไปยังพิพิธภัณฑ์เซาท์เคนชิงตัน ต่อมาโปรเฟสเซอร์ไบลท์ (Blyth) ซึ่งเป็นผู้มีความชำนาญคุ้นเคยกับเขากวางต่าง ๆ จากประเทศอินเดีย ได้ศึกษาเขากวางดังกล่าวและยกให้สมันเป็นกวางชนิดใหม่ โดยใช้ชื่อใหม่ว่า กวางโชมเบิร์ก Rucervus schomburgki (Blyth, 1863) เพื่อเป็นเกียรติแก่ เซอร์โรเบิร์ต โซมเบิร์ก

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 219  เมื่อ 18 ก.ย. 12, 14:49

ออกจากป่า มาเห็นเรื่องผิดปรกติเรื่องหนึ่ง

สถานกงสุลอังกฤษแห่งใหม่สร้างแล้วเสร็จในปี1876 กงสุลใหญ่คนแรกที่ได้เข้าพำนักในก็คือ เซอร์ โรเบิร์ต ซอมเบิร์ก (Sir Robert Schomburgk )วงการไฮโซฝรั่งนินทาว่าท่านผู้นี้เป็นคนปรัสเซียที่พูดภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ชาวบริติสแท้

คุณวิกกี้ บอกว่าท่านเซอร์เสียชีวิตเมื่อ ค.ศ. ๑๘๖๕

มีอะไรต้องแก้ไขหรือเปล่าหนอ

 ฮืม

บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 220  เมื่อ 18 ก.ย. 12, 14:51

เหตุที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ทรงจ้างอลาบาสเตอร์มาเป็นที่ปรึกษานั้น  น่าจะเป็นผลมาจากการที่อังกฤษ
บังคับให้สยามทำสัญญาเชียงใหม่ฉบับแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕  อันเป็นผลมาจากคดีความเรื่องสัมปทานป่าไม้
ระหว่างพ่อค้าอังกฤษและสัปเยกกับเจ้านายฝ่ายเหนือ  ซึ่งอังกฤษถือปฏิบัติตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่า
ประเทศราชไม่สามารถติดต่อกับต่างประเทศได้โดยตรง  ต้องให้ประเทศแม่เป็นผู้ติดต่อแทน  และในเวลานั้น
คงจะหาชาวสยามที่รู้แบบธรรมเนียมทางการทูตไม่ได้  จึงเป็นโอกาสดีสำหรับอลาบาสเตอร์ที่จะเข้ามาช่วยงาน
ด้านนี้พอดี

สัญญาเชียงใหม่ฉบับแรกมีอายุ ๑๐ ปี  เมื่อใกล้จะครบกำหนด  อังกฤษได้ขอต่อสัญญาฉบับที่ ๒ โดยมีเงื่อนไข
ที่จะขอส่งไวซ์กงสุลไปประจำที่เชียงใหม่  ในการเตรียมการรับกงสุลอังกฤษที่จะไปประจำที่เชียงใหม่นี้ได้พบ
สำเนาพระราชหัตถเลขาในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ที่แสดงถึงความจำเป็นที่จะต้องมีคนที่รู้แบบธรรมเนียมการทูต
ดังนี้

 “ด้วยคิดเหนว่าราชการในเมืองเชียงใหม่ต่อไปภายน่าจะมีกงสุล  ก็คงจะมีราชการสำคัญบางสิ่ง  ฃ้าหลวงฃองเรา
รู้แต่ธรรมเนียมฝ่ายไทย  ถ้ามีการที่จะจะต้องอาไศรยธรรมเนียมยุโรป  ก็จะต้องหาฤาลงมาถึงกรุงเทพฯ เปนระยะทางไกล  
อีกประการหนึ่งหนังสือมีไปมากับเมืองมรแมนเปนหนังสือพม่า  จะหาล่ามแปลที่ไว้ใจได้ก็ไม่ใคร่จะมี  จึงได้คิดอยากจะให้ใช้
ภาษาอังกฤษ  จะได้เปนที่เข้าใจกันได้ง่ายตลอดกรุงเทพฯ  แต่จะหาผู้ใดเปนที่ไว้ใจได้ยังไม่มี  จึงค้างอยู่

บัดนี้คิดเหนว่า  มิสเตอหลุยซาเวีย  เปนคนรู้ราชการฃ้างฝ่ายไทยแลเฃ้าใจในธรรมเนียมยุโรปทั้งราชการแลถ้อยความ  
ตัวเฃาก็รักใคร่เมืองเรามาก  เมืองเชียงใหม่นี้  เหมือนหนึ่งเปนเพชรซึ่งประดับมงกุฎของเมืองไทย  ถ้ามงกุฎปราศจาก
เพชรประดับก็จะไม่ผ่องใสงดงามได้  เพราะฉะนั้นราชการเมืองเชียงใหม่จึงเปนการสำคัญ  อยากจะใคร่ได้มิศเตอร์หลุยซ์
ขึ้นไปเปนผู้ช่วยแนะนำธรรมเนียมต่างๆ  สำหรับฃ้าหลวงเมืองเชียงใหม่  จะได้อ่านได้แปลได้แต่งหนังสือ  ซึ่งมีไปมากับ
เจ้าพนักงานฝ่ายอังกฤษ  เหนว่าการลำบากที่จะมีมาถึงกรุงเทพฯ จะเบาบางไปได้มาก”
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 221  เมื่อ 18 ก.ย. 12, 15:07

ออกจากป่า มาเห็นเรื่องผิดปรกติเรื่องหนึ่ง

สถานกงสุลอังกฤษแห่งใหม่สร้างแล้วเสร็จในปี1876 กงสุลใหญ่คนแรกที่ได้เข้าพำนักในก็คือ เซอร์ โรเบิร์ต ซอมเบิร์ก (Sir Robert Schomburgk )วงการไฮโซฝรั่งนินทาว่าท่านผู้นี้เป็นคนปรัสเซียที่พูดภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ชาวบริติสแท้

คุณวิกกี้ บอกว่าท่านเซอร์เสียชีวิตเมื่อ ค.ศ. ๑๘๖๕

มีอะไรต้องแก้ไขหรือเปล่าหนอ

 ฮืม



ผมแปลมาจากตรงนี้ครับ
The first British Consul to inhabit the British Consulate, completed about 1876, was Sir Robert Schomburgk.

นึกว่าจะต้องแก้ตัวว่าสมองวิปลาศอีกแล้ว

แต่จะว่าก็ว่าเถอะ สมัยถูกบังคับให้เรียนประวัติศาสตร์ ผมเกลียดการท่องพ.ศ.มาก สอบแทบจะตกเพราะไม่ยอมจำ บัดนี้เห็นความสำคัญของมันอยู่ แต่ก็ยังขี้เกียจเหมือนเดิมที่จะทำให้ถูกต้องเป๊ะๆ โดยเฉพาะอะไรที่ไม่ค่อยเป็นประเด็นหลักของเรื่อง

ฉะนั้นถ้าอะไรผิดพลาดไป ก็แจ้งมาอย่างคุณเพ็ญนี้ก็จะเป็นพระคุณกับผมมาก แต่ถ้าจะมาเอาเรื่อง ผมยอมถอยครับ จะเอาอะไรกับมือสมัครเล่นมาเขียนสู่กันอ่านสนุกๆ
บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 222  เมื่อ 18 ก.ย. 12, 17:17

ก่อนจะข้ามไป ขอฝอยเรื่อง ท่านเซอร์ โรเบิร์ต ซอมเบอร์ก นอกเรื่องประวัติศาสตร์ แต่ก็เนื่องๆ กันอยู่นิดหน่อยครับ ......

ท่านเซอร์ ไม่ใช่คนอังกฤษโดยกำเนิด แต่ทำงานให้กับรัฐบาลอังกฤษ เป็นสมาชิกใน สมาคมความรู้ชั้นสูงของอังกฤษหลายสมาคม เช่น Royal Geographical Society, Linnean Society เป็นต้น คือไปทำสำรวจหลายประการ อยู่ใน British Guiana (ประเทศกายอานา ในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ)

อายุ ๔๐ กลับมาเขียนผลงานเป็นที่ประจักษ์ถึงความรู้ ก็ได้เป็นท่านเซอร์ จากควีน วิคเตอเรีย และได้เป็น กงสุลคนแรกของ สาธารณรัฐโดมินิกัน อยู่ ๑๐ ปี ............... จึงได้เข้ามาเป็น กงสุลในสยาม เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๕๗ (ปีเดียวกับที่ อลาบาสเตอร์ เดินทางเข้ามาสยาม - ถ้าว่า เขาชวนกันมาทำงาน ก็อาจจะจริง.....)

ซอมเบิร์ก เรียนมาทาง พฤกษศาสตร์ ชีวิตเบื้องต้นตั้งแต่แตกเนื้อหนุ่ม ก็ออกเดินทางสำรวจทางธรรมชาติ และมนุษย์วิทยา มาโดยตลอด จนน่าจะเข้าใจชนพื้นเมือง จึงได้เป็นกงสุลเป็น ๑๐ ปี ก่อนจะถูกย้ายมาสยาม ในระหว่างที่อยู่ กายอานา และ โดมินิกัน ท่านได้เดินทางสำรวจ และเก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้ ส่งให้ Sir. John Lindley บิดาแห่งอนุกรมวิธานกล้วยไม้ เสมอๆ กว่า พัน ตัวอย่าง......

แต่เมื่อท่านเข้ามาสยาม มีปรากฏ ตัวอย่าง (specimen ) หลงเหลืออยู่ที่ Kew  ไม่ถึง ๒๐ ต้น ซึ่งน่าแปลกมาก.......

ท่านเซอร์ ซอมเบิร์ก ฝากชื่อไว้ เป็นชื่อ Genus และชื่อวิทยาศาสตร์ หลายชนิด (ส่วนใหญ๋เป็นพืชหลายสกุล).........  ในส่วนของกล้วยไม้เอง ขณะที่ท่านสำรวจอยู่ใน กายอานา ในปี ค.ศ. ๑๙๓๘ ได้ส่งรูปวาด และตัวอย่างแห้ง กล้วยไม้ชนิดหนึ่ง ไปให้ Sir. Lindley .......... ท่านก็อึ๊ง เพราะเป็นกล้วยไม้ชนิดใหม่ของโลก จึงตั้งชื่อเป็นเกียรติให้ท่านเซอร์ ซอมเบิร์ก ว่า Schomburgkia (ต่อมาถูกพิจารณายุบ รวมไว้กับกล้วยไม้ชนิดอื่นแล้ว)

เมื่อ อลาบาสเตอร์ เข้ามารับราชการที่ในสยาม แล้ว ท่านก็เริ่มสั่งกล้วยไม้ เข้ามาเลี้ยง และเผยแพร่การเลี้ยงกล้วยไม้ "อย่างปราณีต" คือ ไม่ใช่ นำมาแขวนๆ ไว้ ฝากเทวดาเลี้ยง อย่างกล้วยไม้ท้องถิ่น (เพราะกล้วยไม้ ของอลาบาสเตอร์ นั้น ....... แพง !!!) มีคำบอกเล่า ปรากฏว่า กล้วยไม้ชนิดหนึ่ง ที่ท่านเป็นคนแรกที่สั่งเข้ามาเลี้ยงในสยาม ชื่อ

Schomburgkia undulata

ซึ่งค้นพบในปี ค.ศ. ๑๘๔๔ ที่อเมริกาใต้ อยู่ในสกุล Schomburgkia อันเป็นชื่อที่ตั้งให้เป็นเกียรติ แก่ เซอร์ซอมเบิร์ก .......

ซอมโบเกีย นั้น เป็นที่นิยมแพร่หลายมากในสมัยโบราณ รูปร่างลำต้น (ลำลูกกล้วย) คล้ายเอื้องคำของไทย คนยุคใหม่ ที่ไม่รู้ประวัติ เพราะเห็นมาแต่เกิด จึงเรียกว่า เป็นไม้พื้นถิ่นของไทยไปซ่ะแล้ว......


ท่านคงคิดถึง คนที่ชวนท่่านมาทำงาน ก็เป็น ได้ ........



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 223  เมื่อ 18 ก.ย. 12, 18:35

ขอบคุณทุกท่านที่หาเรื่องมาช่วยสลับฉากครับ

เนื่องจากสถานทูตแห่งใหม่อยู่ในย่านชานพระนคร จึงทำให้เงินที่ได้จากการขายสถานทูตเก่าให้รัฐบาลไทยประมาณ £110,000 พอเพียงสำหรับราคาที่ดินที่ซื้อใหม่รวมทั้งค่าก่อสร้าง ตลอดจนการย้ายอนุสาวรีย์พระนางเจ้าวิกตอเรียและเสาธงมาจากที่เดิม อนุสาวรีย์พระนางเจ้าวิกตอเรียนั้นมีคำจารึกที่ฐานว่า “ตั้งขึ้นด้วยความรักอันประทับอยู่ในความทรงจำของพศกนิกรของพระองค์ในสยาม” อนุสาวรีย์นี้เป็นที่นับถือของนักศึกษาไทยมาก เชื่อว่าการอธิษฐานขอพรจากพระองค์คงจะทำให้พวกเขาสำเร็จการศึกษาที่กรุงเทพได้
อนุสาวรีย์นี้เคยถูกนำเอาผนังไม้มาปิดไว้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ญี่ปุ่นก็ยังกรุณาเจาะช่องเล็กๆไว้ให้มองลอดเข้าลอดออกได้ ซึ่งน่าจะทำให้พระองค์ไม่ทรงเซ็งจนเกินไป (but the Japanese kindly provided a peephole so that Her late Majesty should not be upset ใส่ไว้หน่อยกันโดนหาว่านั่งเทียนเขียน)


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 224  เมื่อ 18 ก.ย. 12, 18:39

ส่วนอนุสาวรีย์สงครามที่มองผ่านรั้วไปจะเห็นนั้น สร้างโดยเงินบริจาคของชาวอังกฤษที่พำนักอยู่ในเมืองไทยในปี1923  ถ้านับตามข้อเท็จจริงนี้ มันคือสิ่งก่อสร้างชิ้นแรกบนที่ดินผืนใหม่


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 13 14 [15] 16 17 ... 19
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.192 วินาที กับ 20 คำสั่ง