เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15 ... 19
  พิมพ์  
อ่าน: 63556 เฮนรี่ อาลาบาศเตอร์ ฝรั่งดีที่ฝากร่างและผลงานไว้ในสยาม
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 180  เมื่อ 17 ก.ย. 12, 18:43

เหตุที่อลาบาสเตอร์ไม่สามารถทำงานร่วมกับนายน๊อกซ์ กงสุลชาติเดียวกันนั้น  น่าจะเป็นเพราะเหตุดังที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ในพระบรมราโชวาทเสือป่า คราวหนึ่งว่า

"“ฝรั่งที่ออกมาอยู่ในเมืองเรานี้ย่อมมีเปน ๒ จำพวก คือ พวกที่ ๑ เปนผู้ที่ออกมาอยู่โดยมีกิจธุระ, มีเปนข้าราชการของกรุงสยามบ้าง, เปนพ่อค้าบ้าง,
อีกพวก ๑ เปนคนที่ซึ่งจะหาคำอื่นเรียกไม่ได้ดีกว่า “จรจัด.” “เพราะมักจะเปนผู้ที่ได้ซัดเซคะเนจรมาหลายแห่งแล้ว, และอยู่แห่งใดก็ไม่ใคร่จะได้นาน.  
ฝรั่งจำพวกที่ ๑ กับที่ ๒ นั้น  ถึงแม้เปนฝรั่งด้วยกันก็จริง, แต่เขาจะได้คบค้าสมาคมระหว่างกันและกันนั้นก็หามิได้.  เพราะเขาย่อมถือตนว่าเปนคนละชั้น
กันโดยแท้ทีเดียว."
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 181  เมื่อ 17 ก.ย. 12, 19:16

เรื่องนายน๊อกซ์นั้นคุณวันดีเขียนไว้แล้วว่า

อาลาบาสเตอร์นั้น  ขยันและเรียนหนังสือสูง   จะทำงานกับน๊อกซ์ก็คงลำบากใจเต็มประดา

เพราะน๊อกซ์นั้นเรียนหน้งสือคงไม่จบมัธยม  และต่อสู้ชีวิตมาอย่างสาหัส   ขนาดเดินเท้าหนีเจ้าหนี้เล่นม้าเข้าเมืองไทยมาจนได้


ขยายความที่ฝรั่งเขียนว่าเป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอกมาเผชิญโชค ทำงานต๊อกต๋อยในเมืองไทย

ปั๊ดโธ่ เป็นตั้งครูฝึกทหารของวังหน้า ยังว่ายังงั้นอีก


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 182  เมื่อ 17 ก.ย. 12, 19:24

คุณปิยะสาส์นครับ

ตา Murton ตายก่อน อลาบาสเตอร์ ปีเดียว ข่าวตาย เขาลงว่า ตายเพราะ candle burns at both ends ผมแปลได้ว่า ทำงานหนักจนตาย ...... (ท่านใดแปลได้อย่างถูกต้องโปรดชี้แนะ)

ผมว่านายอาลาบาศเตอร์ก็ประเภทเดียวกัน ทำงานหนักไม่พักไม่ผ่อน...หักโหมจนอายุสั้น
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 183  เมื่อ 17 ก.ย. 12, 20:21



       คุณนวรัตน์เริ่มกระทู้ พระปรีชากลการเมื่อไร   จะได้รีบมาจองข้างเวทีค่ะ

น็อกซ์มาจากกองร้อยทหารพื้นเมือง       กว่าจะยิงปืนใหญ่ในไทยเป็นก็คงอ่านอินสตรัคชั่นเสียเหนื่อย

อิมเปที่เดินเท้าหนีคุกทหารมาจากพม่า  ก็ไม่ได้รับเงินเดือนมากเท่าที่หวังไว้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 184  เมื่อ 17 ก.ย. 12, 20:43




เคยมีคนกล่าวว่า  การตั้งน็อกซ์เป็นกงสุลอังกฤษประจำสยามนั้น  เป็นการตั้งข้ามหัวอาลบาสเตอร์
ก็ขออธิบายไว้ ณ ที่นี้ว่า  น็อกซ์ ทำหน้าที่ล่ามประจำกงสุลมาตั้งแต่ปี 1857  
ตำแหน่งล่าม (interpreter) เป็นตำแหน่งที่สูงกว่า 1st Assistant หรือเลขานุการกงสุลคนที่ ๑
ซึ่งอาลบาสเตอร์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเมื่อ 1859


เมื่อถึงปี 1864 เซอร์โรเบิร์ต ชอมเบิร์ก ได้พ้นจากตำแหน่งกงสุลอังกฤษประจำสยามไป
น็อกซ์ที่เป็นล่ามประจำสถานกงสุล  มีตำแหน่งอาวุโสสุด  จึงได้แต่งตั้งเป็นกงสุลต่อมา เมื่อ 30 พ.ย. 1864/2407
ซึ่งข่าวการแต่งตั้งนอกซ์เป็นกงสุล  รู้ถึงเมืองสยามเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 1865
ในการแต่งตั้งน็อกซ์เป็นกงสุลนั้น  อาลบาสเตอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นล่ามประจำกงสุล ในคราวเดียวกัน
และนิวแมน  ผู้ที่ต่อมาเป็งกงสุลในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เลื่อนขึ้นจากนักเรียนล่าม หรือล่ามฝึกหัด คนที่ ๑ ของกงสุล
มาเป็นเลขานุการคนที่ ๑ ของกงสุล
แทนที่อาลบาสเตอร์ อันเป็นการแต่งตั้งตามอาวุโส และไม่ข้ามหัวใคร


อ่านแล้วก็สับสนกับคำบอกเล่าของคุณหลวงเล็ก
๑  ล่าม interpreter เป็นตำแหน่งสูงกว่า 1st assistant หรือเลขานุการคนที่ 1 ของกงสุล
๒  นิวแมนเลื่อนจากนักเรียนล่ามหรือล่ามฝึกหัดคนที่ ๑  มาเป็นเลขานุการคนที่ ๑ ของสถานกงสุล

ก็เลยคิดว่าจะต้องหาผู้รู้จริง เรื่องตำแหน่งในสถานกงสุลมาอธิบายให้เข้าใจดีกว่า   เผอิญรู้จัก คุณ Robert Fitts อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำปาปัวนิวกินี  ที่เคยเป็นนักการทูตในประเทศไทยมาหลายปี   ปัจจุบันพำนักอยู่ในกรุงเทพ   ก็เลยติดต่อไป
ถามท่าน ว่าตำแหน่งในสถานทูตหรือกงสุลเมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีก่อน อะไรมันขั้นต้นขั้นสูง     โดยยกประวัติของอาลาบาศเตอร์มาเล่าให้ฟัง
คุณโรเบิร์ตก็เปิดกูเกิ้ลอ่านประวัติอาลาบาศเตอร์ แล้วลำดับให้ฟังว่า  สถานกงสุลในสมัยโน้นมีเจ้าหน้าที่น้อยมาก    ตำแหน่งเรียงจากต่ำไปสูงตามนี้
๑  ล่ามหรือ interpreter  
๒ 1st assistant  หรือเลขานุการ(จะสถานทูตหรือสถานกงสุลก็ตาม)
คุณฟิตตส์อธิบายว่า ที่ตำแหน่งล่ามต่ำกว่าเลขานุการสถานกงสุล  เพราะหน้าที่ของล่ามคือสื่อสารระหว่างฝรั่งกับไทยเท่านั้น  ไม่ได้รับผิดชอบกิจการต่างๆของสถานกงสุล ไม่ว่าด้านบริหารหรือธุรการ   ดังนั้นเจ้าหน้าที่ขั้นต้นที่มาเริ่มทำงาน ก็ต้องเริ่มที่ล่ามก่อน เพราะขอบเขตงานมีแค่แปลภาษา  
เมื่อเรียนรู้งานในกงสุลเพิ่มขึ้น ตำแหน่งจึงอาจขยับขึ้นเป็นเลขานุการ   ขอบเขตความรับผิดชอบกว้างและลึกกว่าล่าม
ดังนั้นจึงผิดขั้นตอนที่ใครสักคนเป็นเลขานุการแล้วกลับเลื่อนเป็นล่าม แต่ถ้าทำสองตำแหน่งควบ หรือทำหน้าที่ชั่วคราว เพราะขาดล่ามในระยะนั้น  ก็ไม่แปลกอะไร
๓  deputy consul หรือบางแห่งเรียก vice consul  คือรองกงสุล   สูงขึ้นไปจาก assistant
๔  consul หรือ consul general เป็นตำแหน่งสูงสุด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 185  เมื่อ 17 ก.ย. 12, 20:55

ส่วนที่คุณหลวงเล็กบอกว่าอาลาบาศเตอร์ไม่เคยเป็น deputy consul  ดิฉันหาไม่เจอว่าอยู่ในค.ห.ไหน     แต่ดิฉันผ่านสายตามาว่ามี หลักฐานจากข่าวหนังสือพิมพ์ 2 แห่ง ระบุว่าเขาเคยเป็น deputy consul นั้น คือข่าวที่ลงประวัติสั้นๆในมรณกรรมของเชา
เป็นข่าวทั้งในสยามและในบอสตัน  คือในค.ห. 153 ของคุณนวรัตน  สแกนข้อความจากบางกอกกาเลนเดอ มาลงให้อ่านกัน



และหนังสือพิมพ์ในบอสตัน นำข่าวมรณกรรมจากบางกอกกาเลนเดอไปลงซ้ำอีกที  ว่าอาลาบาศเตอร์เคยเป็น vice consul
ถ้าหากว่าจะผิด ก็ผิดว่าบางกอกกาเลนเดอลงผิดกระมัง  โดยไม่มีใครในกรุงเทพทักท้วงเลยสักคน  แต่ไม่ใช่ว่ามีคนในเรือนไทยนี้นั่งเทียนยกเมฆเอาเองแน่ๆค่ะ



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 186  เมื่อ 17 ก.ย. 12, 21:03

ดิฉันขอขอบคุณหลายท่านที่ประคับประคองบรรยากาศในกระทู้อาลาบาศเตอร์ ซึ่งเป็นกระทู้ที่เนื้อหาหนักและค่อนข้างยาก   ให้เดินหน้ามาด้วยดีจนถึงค.ห.นี้     สิ่งที่น่าชื่นใจคือมีหลายท่านกระตือรือร้นเข้ามาร่วมวงหัวข้อที่คุณ NAVARAT.C ตั้งขึ้นมา  
ขอบคุณเจ้าของกระทู้ที่ท่านอุตส่าห์แปลบทความมาลง ด้วยความเหนื่อยยาก  คุณปิยะสาส์นก็เข้ามาสานต่ออย่างกระตือรือร้น   มีส่วนเป็นกำลังใจให้คนอ่านอย่างดิฉันและท่านอื่นๆ เกิดสนุกจะไปค้นในเน็ตต่อ      
ถ้าหากว่าไม่มีใครสนใจจะตอบ อ่านอย่างเดียว  เราก็โพสต์ได้ แต่มันแห้งแล้ง    พิมพ์ได้จบเรื่องก็จบดีกว่า วงเงียบกริบไม่มีใครคุย ใครจะพูดคนเดียวได้นาน
ดิฉันจึงพยายามต่อกระทู้นี้ทั้งๆคุณ NAVARAT.C แปลบทความที่หว้ากอจบแล้ว เพราะเสียดายกระทู้สนุกๆ อยากต่อยอดมันให้ยาวออกไปอีก  เพราะคิดว่าหลายท่านน่าจะยังสนุกที่จะสนทนากันต่อ เพียงแต่ชะงักไปเป็นระยะเพราะไม่รู้จะต่อทางไหน  
 
การเล่นเว็บบอร์ดคือการสนทนากันด้วยตัวอักษรผ่านหน้าจอ   ไม่ใช่การเขียนวิจัยหรือบทความทางวิชาการที่จะมุ่งความถูกต้องแม่นยำ   (แม้แต่วิจัยหรือบทความวิชาการก็ยังมีผู้ค้านได้ออกบ่อยๆ ทั้งๆผู้เขียนก็มุ่งความถูกต้องเป็นหลักอยู่แล้ว)  การแสดงความเห็นหรือข้อมูล  ผิดถูกไม่สำคัญ ขอแต่ให้มีที่มาที่ไปให้คนอ่านรู้  เขาจะได้ไปหาข้อมูลต่อได้  ว่าถูกแล้วหรือขาดตกบกพร่องตรงไหน
ถ้าหากว่าผิด จะได้มีคนเข้ามาแก้ไข ต่อลมหายใจให้กระทู้ต่อไปอีก   ไม่มีใครผูกขาดความรู้เอาไว้คนเดียว เพราะจะก่อให้คนอื่นๆเกิดเกร็งไม่อยากจะตอบ กลัวผิด   หนักเข้าก็ไม่อยากมีใครคุย  กระทู้ก็ตกจอไปด้วยความเบื่อหน่ายของคนอ่าน

สิ่งที่เว็บบอร์ดเล็กๆอย่างเรือนไทยอยู่มาได้ คือสมาชิกที่เข้ามาคุยล้วนเป็นสุภาพชน  และปัญญาชน  ให้เกียรติและมีมิตรภาพระหว่างกัน   ขอบคุณอีกครั้ง สำหรับทุกท่านที่มีมารยาท และไม่ทำลายบรรยากาศความเป็นมิตรในเรือนไทยนี้ค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 187  เมื่อ 17 ก.ย. 12, 21:42

ขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูที่อุตสาห์ไปถามผู้รู้ตัวจริงมายืนยันครับ

Vice Consul เรียกแบบอเมริกัน Deputy Consul เรียกแบบอังกฤษ ไทยเรียกรองกงสุล เป็นตำแหน่งผู้ใหญ่ จะเป็นรองก็แต่ตัวกงสุลเท่านั้น
Assistant Consul คือตำแหน่งผู้ช่วยกงสุล เด็กๆก็เป็นได้
 
ผมยังงงๆอยู่ว่าตำแหน่งล่าม จะใหญ่ได้ถึงไหน มีหน้าที่แปลตามที่คนอื่นพูด ใหญ่จริงก็พูดเองสิ พูดไม่ต้องแปลให้ใครฟังด้วย
แต่เผลอไปผิดประเด็นหลักเข้า เพราะความจำวิปลาศไป เรื่องข้างบนเลยไม่ได้ยกมือขออภิปราย


อ้างถึง
คุณนวรัตน์เริ่มกระทู้ พระปรีชากลการเมื่อไร   จะได้รีบมาจองข้างเวทีค่ะ

น็อกซ์มาจากกองร้อยทหารพื้นเมือง       กว่าจะยิงปืนใหญ่ในไทยเป็นก็คงอ่านอินสตรัคชั่นเสียเหนื่อย

คงไม่ไหวแล้วละครับ เรื่องพระปรีชานี่ว่ากันมาหลายวิกแล้ว ต้องชวนคุณเพ็ญชมพูกับคุณแสนอักษรขึ้นมาแสดงผมขอจองข้างเวทีบ้าง หากกระทู้ถึงตอนมันๆ ผมเกิดของขึ้นๆมาจึงจะกระโดดขึ้นไปเล่น
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 188  เมื่อ 17 ก.ย. 12, 22:10

จากที่ท่านอาจารย์เทาชมพูว่ามา ถ้าเผื่อว่านายอาลาบาสเตอร์ไม่ได้มีอาวุโสด้อยกว่านายนอกซ์ เป็นไปได้ไหมว่าการที่นายนอกซ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นกงสุลเป็นเกมส์การเมืองของอังกฤษ เพราะนายนอกซ์รับราชการเป็นครูฝึกทหารของวังหน้า เคยได้อ่านมาว่านายนอกซ์เองก็ซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระปิ่นเกล้ามาก  ดังนั้นเมื่อมีการผลัดเปลี่ยนรัชกาล แถมมีการตั้งวังหน้าใหม่ที่สมเด็จเจ้าพระยาฯตั้ง ไม่ใช่รัชกาลที่ 5 ตั้ง  อังกฤษอาจจะเล็งเห็นว่าการตั้งนายนอกซ์นั้นน่าจะเป็นผลดีต่ออังกฤษในอนาคตมากกว่า เพราะ

1. วังหน้ากรมพระราชวังบวรมีพระชนม์มากกว่ารัชการที่ 5  แถมรัชการที่ 5 ขณะนั้นพระพลานามัยก็ไม่ค่อยดี แถมยังเด็กอยู่มาก ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงพระมหากษัตริย์ในอนาคต การมีกงสุลที่มีความสัมพันธ์อันดีและคุ้นเคยกับว่าที่กษัตริย์พระองค์ใหม่น่าจะช่วยในการขยายอิทธิพลของอังกฤษในอนาคตได้มากกว่าตั้งนายอาลาบาสเตอร์ที่ถึงแม้จะเคยรักษาการตำแหน่งนี้ก็ตาม

2. สถานการณ์การเมืองไทยยุคต้นรัชการที่ 5 อำนาจการปกครองจริงยังไม่ได้อยู่ที่พระมหากษัตริย์ อังกฤษเลยแทงหวยไปทางวังหน้าเต็มตัว แต่สุดท้ายแทงผิด นายนอกซ์กลับสร้างปัญหามากขึ้นในภายหลัง ดังที่เราได้เห็นเรื่องวิกฤติวังหน้าในเวลาต่อมา

อันนี้เดาล้วนๆ ครับ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 189  เมื่อ 17 ก.ย. 12, 22:22

อ่าน ค.ห. ๑๘๘ ของคุณประกอบ แล้ว ตบเข่า บอกกับตัวเองว่า "นั้นปะไร" แถมกด Like ให้ไม่ทันนนนน........



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 190  เมื่อ 17 ก.ย. 12, 22:39

นี่ไงครับคุณประกอบและคุณปิยะสาส์น ที่คุณหลวงเล็กเข้ามาแถลงข่าวโดยการพาดหัวไม้ซะชาวบ้านตกอกตกใจ

คือความเป๋ไป๋ของผมที่หลงตามบทความของฝรั่งจนลืมตรวจสอบกับข้อเท็จจริงว่านายน๊อกซ์ได้เป็นกงสุลเมื่อไหร่ นึกว่าได้รับการแต่งตั้งหลังการเปลี่ยนรัชกาล ซึ่งความจริงก็อย่างที่คุณหลวงเล็กว่า คือเมื่อสิ้นพระปิ่นเกล้า พระจอมเกล้าท่านก็มิได้ทรงตั้งใครเป็นวังหน้าแทน ช่วงนั้นนายน๊อกซ์ก็ออกมาทำงานในกงสุล เป็นล่าม และก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกงสุลไปแล้วก่อนที่พระจอมเกล้าจะเสด็จสวรรคต  หลังจากนั้น สมเด็จเจ้าพระยาก็ใช้อำนาจของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญขึ้นมาดำรงตำแหน่งวังหน้าแทน  
ฉะนั้น การแต่งตั้งนายน๊อกซ์เป้นกงสุลจะด้วยสาเหตุใดๆก็ตาม ก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับการเมืองเรื่องวังหน้าวังหลัง ตามสมมติฐานที่ผิดของผม

ข้อผิดพลาดในเรื่องข้อเท็จจริงนี้ผมจึงขอยอมรับโดยดี และเห็นโทษผิดของตนที่ทำให้ผู้อ่านเช่นคุณทั้งสองเลยหลงลำดับเหตุการณ์ไปด้วย

ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดหลังจากนั้น ไม่น่าจะเกี่ยวในประเด็นนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 191  เมื่อ 17 ก.ย. 12, 23:03

ขอคุณปิยะสาส์นค้นย้อนหลังในกระทู้ ให้หน่อยนะคะ ว่าน๊อกซ์ได้รับตำแหน่งใดในสถานกงสุลอีก นอกจากเริ่มด้วยล่าม แล้วจบลงที่กงสุล
ระหว่างสองตำแหน่งนี้ เขาได้เป็นอะไรบ้างไหม
บางทีเราอาจจะมองเห็นการก้าวหน้าของน๊อกซ์ในฐานะนักการทูต    คุณโรเบิร์ตตั้งข้อสังเกตเอาไว้ประการหนึ่งเกี่ยวกับการเลื่อนตำแหน่งในสมัยนั้น ซึ่งขออุบไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่ามันจะสวมลงข้อมูลได้หรือเปล่า   เดี๋ยวจะอ่านผิดกันอีก
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 192  เมื่อ 17 ก.ย. 12, 23:04

เอ เงื่อนไขเรื่องเวลาเลยชักจะงงๆ   ตกลงตอนนายอาลาบาสเตอร์ไปที่หว้ากอ ไปในฐานะรักษาการกงสุลหรือเปล่าครับ  เพราะช่วงเวลาหลัง ร. 4 เสด็จกลับจากหว้ากอ จนสิ้นพระชนม์รู้สึกจะเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก นายนอกซ์ไม่น่าจะได้รับการแต่งตั้งทัน  ถ้านายนอกซ์เป็นกงสุลแล้ว ทำไมนายอาลาบาสเตอร์ไปในฐานะตัวแทน หรือตอนนั้นนายนอกซ์ไม่ได้อยู่ในสยาม


เดี๋ยวต้องไปเช็ค timeline ใหม่อีกทีให้ละเอียดซะแล้ว  ตกลงนายนอกซ์เป็นกงสุลตั้งแต่ตอนไหนแน่ ตอนนี้งงตึ้บ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 193  เมื่อ 17 ก.ย. 12, 23:46

ผิดตั้งแต่คคห.ที่๕

ต่อมารัฐบาลอังกฤษได้เลื่อนตำแหน่งนายอาลาบาศเตอร์ให้เป็นถึงรองกงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯ นับว่าหนุ่มมากสำหรับตำแหน่งนี้

ในระหว่างดำรงตำแหน่งรองกงสุล ครั้งหนึ่งนายอาลาบาศเตอร์ได้ทำหน้าที่รักษาการกงสุลใหญ่อังกฤษประจำกรุงสยามด้วยเมื่อเซอร์ โรเบิร์ต ซอมเบิร์กพ้นจากตำแหน่งและรัฐบาลอังกฤษยังไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดให้มาแทน
 
เมื่อจะเกิดสุริยุปราคาที่บ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๑๑นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้เชิญผู้แทนรัฐบาลต่างๆที่มีสถานกงสุลอยู่ในสยามให้เข้าร่วมสังเกตุการณ์ด้วย นายอาลาบาศเตอร์จึงได้เป็นหัวหน้าคณะนักดาราศาสตร์ของพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักร ร่วมกับคณะนักดาราศาสตร์จากฝรั่งเศส คณะกงสุลอเมริกันประจำกรุงสยาม ตลอดจนชาวยุโรปและอเมริกันที่พำนักอยู่ในประเทศ ร่วมขบวนเสด็จพระราชดำเนินในฐานะพระราชอาคันตุกะในโอกาสนั้นด้วย


ข้อเท็จจริงคือ เซอร์ โรเบิร์ต ซอมเบิร์กพ้นจากตำแหน่งในปี๑๘๖๔ ยังอยู่ในรัชสมัยรัชกาลที่๔ ต่อมาในปี รัฐบาลอังกฤษได้แต่งตั้งนายน๊อกซ์เป็นกงสุลแทนปี๑๘๖๕ ส่วนปีที่เสด็จหว้ากอคือ ปี ๑๘๖๘ หลังจากนั้นถึง๓ปี

ประวัติของนายอาลาบาศเตอร์ที่คนอื่นเขียน และผมนำมาเล่ากล่าวประมาณว่า นายอาลาบาศเตอร์เข้ามาทำงานในกงสุลตั้งแต่สมัยที่เซอร์ โรเบิร์ต ซอมเบิร์กเป็นกงสุลใหญ่ และไต่อันดับขึ้นมาเรื่อย จนได้เป็นรักษาการกงสุลเมื่อกงสุลไปราชการต่างประเทศ ทำให้มีโอกาสไปหว้ากอ ผมก็เข้าใจผิดคิดว่ากงสุลใหญ่นั้นยังคือเซอร์ โรเบิร์ต ซอมเบิร์กอยู่ ลืมตรวจสอบไปว่าท่านเกษีนณไปแล้ว ไม่นึกว่าจะเป็นนายน๊อกซ์ เพราะชื่อนายน๊อกซ์มาโผล่ว่าไม่ถูกกับอาลาบาสเตอร์ในช่วงที่กลับจากหว้ากอมาระยะหนึ่งแล้ว ก็เลยนึกว่านายน๊อกซ์ได้เป็นกงสุลหลังผลัดแผ่นดิน เพราะเรื่องการเมืองวังหน้าวังหลัง  ดังที่เขียนไว้นี้

คคห.ที่๗

หลังจากกลับจากหว้ากอได้ไม่นาน สยามก็ผลัดแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ แต่เนื่องจากยังมิได้ทรงบรรลุนิติภาวะ เจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินว่าราชการแทน และถวายตำแหน่งวังหน้าให้แก่กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ รัฐบาลอังกฤษก็เล่นการเมืองด้วยการแต่งตั้งนายโทมัส ยอร์ช น็อกซ์ อดีตนายร้อยเอกทหารอังกฤษที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงจ้างไว้ฝึกทหารวังหน้าและสนิทสนมกับกรมหมื่นบวรวิไชยชาญมานานนม  แต่ลาออกจากราชการสยามมาสมัครเข้าคัดเลือกเป็นกงสุลใหญ่แห่งสหราชอาณาจักร ให้ได้ตำแหน่งนี้ข้ามหน้านายเฮนรี่ อาลาบาศเตอร์ ผู้ถือว่าเป็นสายวังหลวงไป

จึงอย่าได้แปลกใจ เมื่อทำงานในตำแหน่งรองกงสุลไปได้สักระยะเดียว นายอาลาบาศเตอร์ก็ได้เกิดขัดแย้งกับกงสุลน็อกซ์อย่างแรง  ถึงขนาดลาออกจากตำแหน่งกลับไปประเทศอังกฤษทีเดียว
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 194  เมื่อ 18 ก.ย. 12, 00:56


ข้อมูลเรื่องนี้กระจายมาก     และยังพอมีอีกหลายเรื่องที่จะนำมาสนทนากันได้



ข้อความใน หนังสือพิมพ์ เดอะ ทรานคริปต์   เป็นความที่ส่งจากผู้อ่านในประเทศจีนมา

แจ้งว่าว่า  เฮนรี  อาลาบาสเตอร์ พูดและเขียนภาษาจีนไม่ได้แม้นแต่น้อย




        ในบทความของต้นตระกูลเศวตศิลา  ที่ ท่านสิทธิ  เศวตศิลาได้เขียนบทนำไว้

ได้พูดถึงคนในสกุลเศวตศิลา  Alabaster Chronicle     ที่ดิฉันตามอ่านมาช้านานแล้ว

ในหน้า ๑๗๗  ได้ลงไว้ว่า


รับราชการในรัฐบาลอังกฤษของสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย

        ท่านเฮนรี  อาลาบาสเตอร์   ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นล่าม(ตำแหน่งเกินอัตรา)   
ประจำสถานทูตอังกฤษในระเทศจีน  เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ.​๒๓๙๙​(ค.ศ. ๑๘๕๖)

แล้วได้ปฎิบัติหน้าที่กองควบคุมงาน (Superintendency)  ตั้งแต่วันที่ ๒๘   กันยายน  พ.ศ. ๒๓๙๙(๑๘๕๖)   จนถึง
วันที่ ๓๑ มกราคม  พ.ศ. ๒๔๐๐​ (ค.ศ.๑๘๕๗)


        จากนั้นท่านก็เดินเรือมาสู่สยามในฐานะล่ามประจำกรุงสยาม

 
ผู้สำเร็จราชการฮ่องกง  เซอร์จอห์น  บาวริง ใน พ.ศ. ๒๓๙๘ (๑๘๕๕)   ได้เข้ามายังบางกอกเพื่อเจรจาสนธิสัญญาว่ากรุงสยามจะยินยอม

และตกลงให้ตั้งกงสุลผู้มีอำนาจเต็มในสยาม         ชาวอังกฤษจะได้มีที่ดินเป็นของตนเอง  มีท่าเรือ   และทำสนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต


       ท่านเฮนรี  อาลาบาสเตอร์  ถูกย้ายจากฮ่องกงเข้ามายังสยาม   ในฐานะ นักเรียนล่ามประจำกรุงสยาม


ภายหลังเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.​๒๔๐๑ (ค.ศ. ๑๘๕๘)  ได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยชั้นสอง     ตอนนั้นกงสุลทำการในหน้าที่ราชทูต


เมื่อวันที่  ๒๔ มีนาคม  พ.ศ. ๒๔๐๒ (๑๘๕๙)ได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยชั้นที่ ๑     และทำงานในตำแหน่งนี้จนถึงวันที่ ๒๑ ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๐๔(๑๘๖๑)


ได้เลื่อนเป็นล่ามตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๗ (๑๘๖๔)   และดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่  ๓๑ ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๑๔ (๑๘๗๑)


        ได้รับเงินเดือนครั้งสุดท้ายปีละ ๕๐๐ ปอนด์   รวมเวลารับราชการทางฝ่ายรัฐบาลอังกฤษ  ๑๕​ ปี ๙ เดือนเศษ

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15 ... 19
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.069 วินาที กับ 20 คำสั่ง