เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 19
  พิมพ์  
อ่าน: 63560 เฮนรี่ อาลาบาศเตอร์ ฝรั่งดีที่ฝากร่างและผลงานไว้ในสยาม
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 150  เมื่อ 16 ก.ย. 12, 13:25

ร.ที่ ๑๖๖/๔๕

ถึง กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์
    ด้วยเธอจดหมายว่า  มิสเตออาลบาสเตอ  จะขอเจาะกำแพงตรงถนนข้างกำแพงวัง
ด้านวัดพระเชตุพน  ริมประตูพิทักษบวรนั้น  ได้ทราบความแล้ว  เห็นว่าไม่เปนการขัดขวางอันใด
ให้ทำเปนประตูช่องกุดใหญ่ๆ ฤาทำเปนประตุตัดก็ได้  ให้ทำไปเถิด
    จดหมายมา ณ วัน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแมเบญจศก ๑๒๔๕
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 151  เมื่อ 16 ก.ย. 12, 13:56

บางกอกกาเลนเดอ 1861

ิbritish consulate
established june 11th 1856

Sir Robert H. Schomburck, Phil.Dr,  F.R.S. Corresp.
   Member of the R.G.S.L.&c.  Consul.  Appoited 1858

Interpreter  ,Thomas George Knox. Appt. July 7th 1857  absent on leave.

1st Assistant   ,Henry  Alabaster. Acting Interpreter. Appt. March 24th 1859



บางกอกกาเลนเดอ 1862

Dec. 12th 1861  Thomas George Knox, Interpreter to the British Consulate,
returned from a tour to Europe.
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 152  เมื่อ 16 ก.ย. 12, 14:01

ยินดีที่คุณหลวงเล็กเข้ามาครับ

ผมพอจะทราบอยู่ว่ามีการพระราชทานบรรดาศักดฺ์ให้ชาวต่างประเทศมาแต่รัชกาลก่อนๆแล้ว แต่คิดว่าคงพระราชทานแก่พวกนักการทูต หรือพ่อค้าวาณิชย์ที่เข้ามาทำประโยชน์เป็นกรณีย์ๆไป ไม่ใช่ลูกจ้างหลวงที่เรียกว่าข้าราชการ แต่ผมไม่ได้มีตู้หนังสือพระราชกิจจานุเบกษาอยู่ใกล้ตัว จึงอ่านน้อยรู้น้อยในเรื่องนี้ ผู้รู้อย่างคุณหลวงเข้ามาให้ความรู้แก่ผู้อ่านก็ดีแล้ว ตกลงว่า ในรัชกาลที่๔ถึงต้นสมัยรัชกาลที่ห้า ก่อนที่จะพระราชทานบรรดาศักดฺ์ให้กัปตันริเชลิวเป็นหลวงชลยุทธโยธินทร์ประมาณปี๒๔๒๔ พระองค์ได้เคยพระราชทานให้แก่ข้าราชการผู้ใหญ่ท่านใดบ้างหรือเปล่าครับ

อ้างถึง
สมัยต้นรัชกาลที่๕ มีฝรั่งได้กินพานก่อนมรณกรรมของนายอาลาบาศเตอร์หรือไม่ เท่าที่ผมพยายามนึก ไม่เห็นมี

อนึ่ง บรรดาศักดฺ์ที่พระราชทานให้เซอร์จอห์น บาวริ่ง(บางสำเนียงเรียกโบวริ่ง) เป็นกิตติมศักดฺ์ เพราะบาวริ่งมิใช่ข้าราชการสยาม นึกย้อนขึ้นไป ข้าราชการฝรั่งเริ่มมีในรัชกาลที่๔ แต่ทั้งวังหลวงวังหน้า ไม่ได้พระราชทานราชทินนามแก่ผู้ใด

แต่ผมจะรู้จะอ่านน้อยไปก็เป็นได้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 153  เมื่อ 16 ก.ย. 12, 14:30

อ้างถึง
บางกอกกาเลนเดอ 1861

ิbritish consulate
established june 11th 1856

Sir Robert H. Schomburck, Phil.Dr,  F.R.S. Corresp.
   Member of the R.G.S.L.&c.  Consul.  Appoited 1858

Interpreter  ,Thomas George Knox. Appt. July 7th 1857  absent on leave.

1st Assistant   ,Henry  Alabaster. Acting Interpreter. Appt. March 24th 1859



บางกอกกาเลนเดอ 1862

Dec. 12th 1861  Thomas George Knox, Interpreter to the British Consulate,
returned from a tour to Europe.

คุณหลวงเล็กพยายามจะบอกอะไรหรือครับ?
 
แล้วบางกอกกาเลนเดอ August 1868 ลงตำแหน่งสองคนนี่ไว้ว่าอย่างไร


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 154  เมื่อ 16 ก.ย. 12, 15:43

ในรัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ ต้นรัชกาล ฝรั่ง แขก มารับราชการในสยามกันหลายคน
พระราชทานเงินเลี้ยงชีพคนละไม่ใช่น้อย  บางคนได้รับพระราชทานบ้านที่พัก
บางคนได้รับพระราชทานเมีย  บางคนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์

ทำไมถึงจำกัปตันบุช ที่เป็นพระยามิได้เล่า  นั่นก็รับราชการมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔

มีแขกลังกาคนหนึ่ง  รับใช้รัชกาลที่ ๔ มาตั้งแต่ทรงพระผนวช
เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็ได้มารับใช้จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ถึงคุณพระ

ผู้ที่ได้รับพระราชทานพานทอง ถ้าเป็นพระยาก็ต้องเป็นพระยาที่มีตำแหน่งสำคัญในราชการจริงๆ
ถึงจะได้รับพระราชทานพานทอง  พานทองใบหนึ่งมีค่ามาก  ราคาไม่ใช่น้อย  ดูแลเก็บรักษาไม่ง่าย
สมัยก่อนโจรชุกชุม  ขนาดจวนเจ้าเมืองยังถูกปล้นได้
  

ฝรั่งที่รับราชการในหลวง  ถึงไม่มีบรรดาศักดิ์ก็พระราชทานเงินเป็นค่าจ้างสูงอยู่แล้ว
อย่างอาลบาสเตอร์นี่  พระราชทานปีละ ๕๐๐ ปอนด์ (อันนี้มีบันทึกหลักฐาน ไม่ได้เดาชั่น)
ครูฝรั่งหลายคนมีเงินเดือนสูงถึง ๔๐๐ - ๖๐๐ บาท

กรณีของอาลบาสเตอร์นั้น  ต้องเข้าใจว่า ๒๔๑๖ รัชกาลที่ ๕ เริ่มทรงปกครองบริหารบ้านเมืองด้วยพระองค์เอง
สมเด็จเจ้าพระยาลงจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปเป็นที่ปรึกษา   ราชการต่างประเทศช่วงนั้นคับขันนัก
การโต้ตอบราชการด้วยหนังสือต่างๆ  จำต้องหาฝรั่งที่รู้หนังสือรู้ธรรมเนียมราชการฝรั่งพอสมควรมาใช้
จะไปพึ่งเสมียนฝรั่งของสมเด็จเจ้าพระยาได้อย่างไร  อาลบาสเตอร์เคยเป็นเลขานุการกงสุลอังกฤษมานานหลายปี
ย่อมรู้เรื่องธรรมเนียมทางยุโรปมาก  จึงได้ทรงว่าจ้างไว้ใช้ราชการไว้ก่อน  (ประกอบกับอาลบาสเตอร์ยังไม่มีหน้าที่อะไรทำเป็นหลักฐาน
หลังจากออกจากตำแหน่งในสถานกงสุลแล้ว  จึงได้รับมาทำราชการกับในหลวง)

แต่จะใช้อาลบาสเตอร์ในราชการระหว่างประเทศอย่างออกหน้าไม่ได้  เพราะสยามมีเรื่องขัดแย้งกับอังกฤษบ่อย
อาลบาสเตอร์เองก็เป็นชาติอังกฤษ  หากแสดงตัวว่าเป็นผู้ขัดขวางผลประโยชน์หรือนโยบายของรัฐบาลอังกฤษ
มีหรือที่อาลบาสเตอร์จะรอด   อาลบาสเตอร์จึงเป็นได้แต่เป็นที่ปรึกษาราชการเฉพาะบางเรื่อง และไม่เปิดเผยเท่าไรนัก

อย่างเรื่องคดีพระปรีชากลการนั่น  อาลบาสเตอร์ได้เข้าร่วมประชุมกับเคาน์ซลลอว์ออฟสเตทด้วย
และที่ประชุมนั้นมีมติเห็นชอบให้ตั้งราชทูตพิเศษไปกรุงลอนดอน   สมเด็จเจ้าพระยานำมติที่ประชุมไปกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕
และเสนอว่า  ควรให้พระยาภาสกรวงศ์เป็นราชทูตพิเศษ
 แต่ครั้นจะให้ไปคนเดียวก็กระไร  จึงเสนอให้ทรงหาคู่หูไปด้วย
ตอนแรกรัชกาลที่ ๕ ทรงเลือกบุตรชายของสมเด็จเจ้าพระยา  แต่สมเด็จเจ้าพระยากราบบังคมทูลค้านว่า  บุตรชายไม่กินเส้นกับเจ้าคุณภาส
เดี๋ยวจะไปทำเรื่องเสียหายเปล่าๆ  คู่หูของเจ้าคุณภาสที่เหมาะที่สุดคือจมื่นไวยวรนารถ (เจิม  แสง-ชูโต) เพราะเป็นควาญบังคับกันได้
จึงโปรดเกล้าฯ ตามที่สมเด็จเจ้าพระยาเสนอมา   การก็สำเร็จด้วยดี

ต้นรัชกาลที่ ๕ ผู้ที่ทำหน้าที่เลขานุการในพระองค์ด้านฝ่ายต่างประเทศต้นรัชกาล คือ พระยาภาสกรวงศ์ (นักเรียนนอกรัชกาลที่ ๔)
ต่อมา  เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการทรงเจริญพระชันษา ก็ได้รับราชการเลขานุการต่อมา
โดยมีกรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์กับพระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ คอยช่วยเหลืองานเลขานุการ  ส่วนฝ่ายล่ามนั้น  มีบันทึกว่า  จันดเล กับ ครูสมิทรับหน้าที่อยู่
บรัดเลเองบางทีก็ช่วยร่างหนังสือด้วยเหมือนกัน  

อาลบาสเตอร์นั้น  รัชกาลที่ ๕ โปรดให้ทำงานเป็นฟรีแลนซ์  สุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำงานอะไร  ไม่มีหน้าที่ประจำตายตัว
แต่เมื่อมีรับสั่งเรียกใช้  ก็ต้องเข้าเฝ้าฯ ได้ทันที ไม่ว่าเวลาใด   เท่าที่เคยเห็น  อาลบาสเตอร์เคยรับหน้าทีออกไปเซอเวย์ทำแผนที่ตำแหน่งหินโสโครก
ซ่อมถนน  จัดหอมิวเซียม  จัดสวนสราญรมย์ เป็นต้น  เอกสารชั้นหลังบางทีก็เขียนยกกันจนเกินเลยและลอกกันต่อๆ มา ทำให้เข้าใจเลอะเลือนไป
ที่กล่าวเช่นนี้  ไม่ใช่ว่าอาลบาสเตอร์ ไม่สำคัญ  แต่สำคัญในราชการส่วนพระองค์  ไม่ใช่ในราชการบ้านเมืองทั่วไป

ถามว่า  ทำไมรัชกาลที่ ๕ จึงไม่ใช้อาลบาสเตอร์ในทางราชการบ้านเมืองอย่างเปิดเผย  ก็เพราะเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ
โดยเฉพาะเรื่องกับอังกฤษที่มีตาน็อกซ์มาเกี่ยวข้อง  นี่เอง  ทำให้สมัยต่อมา รัชกาลที่ ๕ จึงทรงว่าจ้างชาวยุโรปที่ไม่ใช่อังกฤษ ฝรั่งเศส
มาทำราชการบ้านเมืองที่เกี่ยวกับความมั่นคง  เพื่อไม่ให้เกิดเหตุอย่างอาลบาสเตอร์  หรือถึงจะว่าจ้างชาวอังกฤษฝรั่งเศสมาทำราชการ
ก็เป็นราชการอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  เช่น สอนหนังสือ งานก่อสร้าง ขุดคลอง ทำเหมือง เป็นต้น
แต่ก่อนหน้านั้นที่ต้องว่าจ้างชาวอังกฤษ  ก็เพราะความจำเป็นในราชการพัฒนาประเทศ  และยังหาใครไม่ได้ในขณะนั้น

เคยมีคนกล่าวว่า  การตั้งน็อกซ์เป็นกงสุลอังกฤษประจำสยามนั้น  เป็นการตั้งข้ามหัวอาลบาสเตอร์
ก็ขออธิบายไว้ ณ ที่นี้ว่า  น็อกซ์ ทำหน้าที่ล่ามประจำกงสุลมาตั้งแต่ปี 1857  
ตำแหน่งล่าม (interpreter) เป็นตำแหน่งที่สูงกว่า 1st Assistant หรือเลขานุการกงสุลคนที่ ๑
ซึ่งอาลบาสเตอร์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเมื่อ 1859


เมื่อถึงปี 1864 เซอร์โรเบิร์ต ชอมเบิร์ก ได้พ้นจากตำแหน่งกงสุลอังกฤษประจำสยามไป
น็อกซ์ที่เป็นล่ามประจำสถานกงสุล  มีตำแหน่งอาวุโสสุด  จึงได้แต่งตั้งเป็นกงสุลต่อมา เมื่อ 30 พ.ย. 1864/2407
ซึ่งข่าวการแต่งตั้งนอกซ์เป็นกงสุล  รู้ถึงเมืองสยามเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 1865
ในการแต่งตั้งน็อกซ์เป็นกงสุลนั้น  อาลบาสเตอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นล่ามประจำกงสุล ในคราวเดียวกัน
และนิวแมน  ผู้ที่ต่อมาเป็งกงสุลในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เลื่อนขึ้นจากนักเรียนล่าม หรือล่ามฝึกหัด คนที่ ๑ ของกงสุล
มาเป็นเลขานุการคนที่ ๑ ของกงสุล แทนที่อาลบาสเตอร์ อันเป็นการแต่งตั้งตามอาวุโส และไม่ข้ามหัวใคร


ฉะนั้น ที่ว่าตั้งน็อกซ์ข้ามหัวอาลบาสเตอร์จึงไม่ถูกต้อง  และที่สำคัญคือ น็อกซ์เป็นกงสุลในรัชกาลที่ ๔ ไม่ใช่เพิ่งมาเป็นกงสุล
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ช่วงผลัดแผ่นดินอย่างเข้าใจกัน   และไม่มีตำแหน่งรองกงสุลในขณะนั้น  อาลบาสเตอร์ไม่เคยเป็นรองกงสุล
เป็นแต่ทำหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่กงสุลในเวลาที่น็อกซ์เดินทางไปต่างประเทศเท่านั้น


ประการต่อมา  คือเรื่องพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นทูตที่อังกฤษ  พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไม่ได้เป็นทูตที่อังกฤษในช่วงต้นรัชกาลที่ ๕
แม้กระทั่งเกิดเหตุคดีอ้ายสำอางจนต้องส่งราชทูตพิเศษไปอังกฤษนั้น  พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ยังเป็นเพียงนักเรียนซิวิลเอ็นจีเนียร์อยู่ที่ต่างประเทศ
และได้ตามคณะราชทูตพิเศษนั้นไปเพื่อทำหน้าที่ล่ามด้วย  

ผมไม่ได้อ่านราชกิจจานุเบกษาเพียงอย่างเดียว  หนังสืออื่นๆ ผมก็อ่าน  ข้อมูลบางอย่างต้องเก็บเล็กผสมน้อยจากเอกสารที่อ่าน
ได้มากบ้างน้อยบ้างก็ค่อยสะสมกันไป  แลกเปลี่ยนข้อมูลความเห็นกับสหายบ้าง  จะได้ไม่ตีบตัน
เดี๋ยวนี้ ราชกิจจานุเบกษาก็ค้นหาและอ่านได้จากทางอินเทอร์เน็ต  สะดวกสบาย  จะเซฟเก็บไว้ก็ได้  ไม่ต้องเก็บเป็นตู้หรอก
หนักบ้านเปล่าๆ  เล่มหนึ่งๆ ก้ไม่ใช่ถูก ยิ่งเก่ายิ่งแพง    ขนหนีน้ำก็ลำบาก  ใช้ในเน็ตนี่แหละดีด้วย  

อ้อ  เสริมท้ายอีกนิดว่า  ฝรั่งที่รับราชการสยามสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น  เป็นแต่รับราชการตามกรมหรือราชการส่วนพระองค์
ที่จะรับราชการอย่างออกหน้านั้น  ถึงขั้นเสนาบดีใหญ่  ก็มีแต่โรลังค์ ยัคมินส์  เป็นคนแรก  ส่วนเดอริชลิวและน้องชายนั้น
สองคนนี้มารับช่วงต่อจากกัปตันบุชเรื่องกิจการเรือกลไฟและทหารเรือ ถ้าจะนับเป็นเสนาบดีก็คงได้  แต่เป็นช่วงหลัง
ช่วงต้นรัชกาล  สยามยังคงระมัดระวังการตั้งฝรั่งเป็นข้าราชการ  เพราะสถานการณ์บ้านเมืองล่อแหลมมาก
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 155  เมื่อ 16 ก.ย. 12, 16:06

ผมได้รับอาราธนาจากสหายให้มาลงกระทู้นี้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา  
ทั้งที่ผมเองก็มีภารกิจที่ต้องทำหลายอย่าง  ไม่ค่อยมีเวลาค้นหนังสือเอกสารหรือเล่นเน็ตนานๆ
และคงจะเป็นอย่างนี้ ไปอีกหลายเพลา  แต่ก็ได้เข้ามาอ่านกระทู้ในเรือนไทยเสมอ
กระทู้นี้ก็ได้ติดตามอ่านดูอยู่  เป็นกระทู้ที่น่าสนใจและเคลื่อนไหวเร็วมาก   จนบางทีตามอ่านไม่ทัน
และไม่ค่อยถนัดแล่นเรือออกโต้คลื่นลมในเขตทะเลหลวงเสียด้วย

อันที่จริง ไม่ใช่คนที่รู้เรื่องนายอาลบาสเตอร์ลึกซึ้งอะไรนัก  มีก็ข้อมูลเกร็ดเล็กๆ
อาศัยว่า  เดี๋ยวนี้ในเน็ตมีหนังสือเก่าให้โหลดอ่านมากมาย   ข้อมูลเก่าๆ ย้อนไปร้อยๆ ปี ก็มีให้อ่าน
ก็ได้เซฟเก็บไว้บ้าง   เสียดายว่า  หลายคนยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้น

วันก่อนอ่านบทความในหนังสือพิมพ์ เล่าว่า  ที่อังกฤษได้สำรวจสถิติการอ่านหนังสือของเด็กๆ
เห้นแล้วก้ตกใจว่า   เด็กอังกฤษอ่านหนังสือน้อยลง ไม่ว่านิตยสาร การ์ตูน หรือหนังสือพิมพ์
และมีแนวโน้มลดลงไปเรื่อยๆ  แม้แต่การอ่านในคอมพ์ ไอแพด ไอโฟน แทบเล็ต ก็น้อยมาก
เด็กไปให้ความสนใจอ่านข้อความสั้นในเฟซบุค หรือคอมเมนต์ในยุทิวป์มากกว่า
นี่ขนาดเด็กในยุโรปที่มีวัฒนธรรมการอ่านสูงยังเจออย่างนี้   บ้านเราล่ะ  จะมีเด็กสักกี่คนที่อ่านหนังสือจากจอต่างๆ

สุดท้ายนี้  ผมได้รับทำตามที่ได้รับอาราธนาจากสหายแล้ว  เห็นควรกลับไปปลีกวิเวกทำงานการของตนต่อ
คำถามอะไรที่มีต่อข้อความของผมนั้น  ถ้าผมว่าง  อาจจะกลับมาตอบให้  เข้าใจว่า  อาจจะต้องรอไปจนพ้นช่วงตรียัมปวายแล้ว
ใครรอได้ก็รอ  รอไม่ได้ก็กรุณาช่วยกันหาคำตอบหรือถกเถียงกันไปก่อน  ขอให้หนุกหนานกันทุกๆ ท่าน  สวัสดี
 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 156  เมื่อ 16 ก.ย. 12, 17:51

ผมเพิ่งกลับเข้ามาเห็นครับ

อ่านแล้วรู้สึกว่าราวกับมีพายุผ่านมา แล้วก็ผ่านไป จนกว่าหลังตรียัมปวายจึงจะกลับมาอีก

เดี๋ยวขอเวลาอ่านและแกะข้อมูลก่อน
อะไรที่เป็นความรู้ ผมขอน้อมรับด้วยความขอบคุณ อะไรสงสัยจะขอถาม อะไรที่แดกดันมาจะขอทิ้งไป

เอาประโยชน์ของผู้อ่านเป็นหลักก็แล้วกัน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 157  เมื่อ 16 ก.ย. 12, 19:54

อ้างถึง
ในรัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ ต้นรัชกาล ฝรั่ง แขก มารับราชการในสยามกันหลายคน
พระราชทานเงินเลี้ยงชีพคนละไม่ใช่น้อย  บางคนได้รับพระราชทานบ้านที่พัก
บางคนได้รับพระราชทานเมีย  บางคนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์

ทำไมถึงจำกัปตันบุช ที่เป็นพระยามิได้เล่า  นั่นก็รับราชการมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๔

มีแขกลังกาคนหนึ่ง  รับใช้รัชกาลที่ ๔ มาตั้งแต่ทรงพระผนวช
เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็ได้มารับใช้จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ถึงคุณพระ

ผู้ที่ได้รับพระราชทานพานทอง ถ้าเป็นพระยาก็ต้องเป็นพระยาที่มีตำแหน่งสำคัญในราชการจริงๆ
ถึงจะได้รับพระราชทานพานทอง  พานทองใบหนึ่งมีค่ามาก  ราคาไม่ใช่น้อย  ดูแลเก็บรักษาไม่ง่าย
สมัยก่อนโจรชุกชุม  ขนาดจวนเจ้าเมืองยังถูกปล้นได้
 
ฝรั่งที่รับราชการในหลวง  ถึงไม่มีบรรดาศักดิ์ก็พระราชทานเงินเป็นค่าจ้างสูงอยู่แล้ว
อย่างอาลบาสเตอร์นี่  พระราชทานปีละ ๕๐๐ ปอนด์ (อันนี้มีบันทึกหลักฐาน ไม่ได้เดาชั่น)
ครูฝรั่งหลายคนมีเงินเดือนสูงถึง ๔๐๐ - ๖๐๐ บาท


อันนี้เป็นบทนำที่คุณหลวงเล็กเขียนและผู้อ่านเยาวชนได้ความรู้เพิ่ม  แม้คุณหลวงเล็กจะมิได้ตอบที่ผมเขียนถามคำถามว่า “คุณหลวงเข้ามาให้ความรู้แก่ผู้อ่านก็ดีแล้ว ตกลงว่า ในรัชกาลที่๔ถึงต้นสมัยรัชกาลที่ห้า ก่อนที่จะพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้กัปตันริเชลิวเป็นหลวงชลยุทธโยธินทร์ประมาณปี๒๔๒๔ พระองค์ได้เคยพระราชทานให้แก่ข้าราชการผู้ใหญ่ท่านใดบ้างหรือเปล่าครับ” ว่าแล้ว มี หรือ ไม่มี

ผมก็ขอใช้วิชาเดาชั่นตอบเองว่า “ไม่มี” ก็แล้วกัน หวังว่าท่านที่ย้อนไปอ่านคงแยกแยะได้ว่าบริบทที่คำว่า “เดาชั่น”มาปรากฏครั้งแรกในกระทู้นี้ เรากำลังว่ากันด้วยเรื่องที่มีสมมติฐานอย่างไร และสุดท้ายก็จบลงด้วยบทสรุปที่มิได้เป็นการเดาอย่างไร อย่างเช่นในคำถามของผม ถ้าคุณหลวงเล็กไมมีคำตอบ ผมก็เขียนให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ขอเดา… แต่ถ้าภายหลังเกิดมีผู้อ้างตน สมมุติใช้นามว่าหลวงใหญ่เข้ามาแสดงหลักฐานว่า มี ชื่อโน้นชื่อนี้ ผมก็คงจะคำนับรับความจริง และผู้อ่านก็จะได้ทราบความจริงนั้น

อนึ่งผมไม่ได้ต้องการใช้กระทู้ที่ผมเขียนเป็นบทวิชาการ หรือวิทยานิพนธ์ ได้บอกกับผู้อ่านหลายครั้งว่าผมเขียนให้อ่านอย่างบันเทิงคดี แต่เป็นสาระบันเทิง ผมจึงไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงเอกสารอ้างอิง เพราะเห็นว่ามันรุงรังและขี้เกียจ นอกจากที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น  อะไรที่ไม่ปรากฏในข้อมูลประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องข้างเคียงที่น่าสนใจ ท่านทั้งหลายก็เข้ามาถกกันหาความจริงต่อ ยอกันบ้างทะเลาะกันบ้าง ผมถือว่าเป็นเสน่ห์ของการเล่นกระทู้ในอินเทอเน็ท เหมือนคนโบราณเล่นต่อสักวา ล้อกันไปล้อกันมา จบแล้วก็จบกันไม่ถือสา เดี๋ยวมีวงใหม่ก็เล่นใหม่ จนกว่าจะเบื่อก็เลิกเล่น

ที่ผมสงสัย และอยากทราบคำตอบดังกล่าวมากก็เพราะว่า ต่อเมื่อนายอาลาบาศเตอร์สิ้นชีวิตแล้ว จึงได้รับพระราชทานเกียรติแก่ศพเช่นพระยาพานทอง ในพระราชหัตถเลขาก็ดูจะทรงเสียพระทัยอยู่มากที่มิได้พระราชทานบรรดาศักดิ์พระยาให้แก่นายอาลาบาศเตอร์ตั้งแต่ครั้งมีชีวิต

มันน่าจะมีเหตุผล แต่เหตุผลอะไร?
ก็เท่านั้น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 158  เมื่อ 16 ก.ย. 12, 19:57

อ้างถึง
กรณีของอาลบาสเตอร์นั้น  ต้องเข้าใจว่า ๒๔๑๖ รัชกาลที่ ๕ เริ่มทรงปกครองบริหารบ้านเมืองด้วยพระองค์เอง
สมเด็จเจ้าพระยาลงจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปเป็นที่ปรึกษา   ราชการต่างประเทศช่วงนั้นคับขันนัก
การโต้ตอบราชการด้วยหนังสือต่างๆ  จำต้องหาฝรั่งที่รู้หนังสือรู้ธรรมเนียมราชการฝรั่งพอสมควรมาใช้
จะไปพึ่งเสมียนฝรั่งของสมเด็จเจ้าพระยาได้อย่างไร  อาลบาสเตอร์เคยเป็นเลขานุการกงสุลอังกฤษมานานหลายปี
ย่อมรู้เรื่องธรรมเนียมทางยุโรปมาก  จึงได้ทรงว่าจ้างไว้ใช้ราชการไว้ก่อน  (ประกอบกับอาลบาสเตอร์ยังไม่มีหน้าที่อะไรทำเป็นหลักฐาน
หลังจากออกจากตำแหน่งในสถานกงสุลแล้ว  จึงได้รับมาทำราชการกับในหลวง)

แต่จะใช้อาลบาสเตอร์ในราชการระหว่างประเทศอย่างออกหน้าไม่ได้  เพราะสยามมีเรื่องขัดแย้งกับอังกฤษบ่อย
อาลบาสเตอร์เองก็เป็นชาติอังกฤษ  หากแสดงตัวว่าเป็นผู้ขัดขวางผลประโยชน์หรือนโยบายของรัฐบาลอังกฤษ
มีหรือที่อาลบาสเตอร์จะรอด   อาลบาสเตอร์จึงเป็นได้แต่เป็นที่ปรึกษาราชการเฉพาะบางเรื่อง และไม่เปิดเผยเท่าไรนัก

ในเนื้อเรื่องของกระทู้ก็บอกว่า ผลงานของนายอาลาบาสเตอร์จะหนักไปทางวิชาความรู้ที่เขาร่ำเรียนมาทางรังวัด วิศวกรรมและพฤษศาสตร์ ซึ่งเป็นผลงานที่ได้ A+ เพราะบางเรื่องเช่นการไปรษณีย์โทรเลข เป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ ที่เกือบถูกอังกฤษอิ๊บไปเสียแล้ว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 159  เมื่อ 16 ก.ย. 12, 20:00

อ้างถึง
อย่างเรื่องคดีพระปรีชากลการนั่น  อาลบาสเตอร์ได้เข้าร่วมประชุมกับเคาน์ซลลอว์ออฟสเตทด้วย
และที่ประชุมนั้นมีมติเห็นชอบให้ตั้งราชทูตพิเศษไปกรุงลอนดอน  
สมเด็จเจ้าพระยานำมติที่ประชุมไปกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕
และเสนอว่า  ควรให้พระยาภาสกรวงศ์เป็นราชทูตพิเศษ  แต่ครั้นจะให้ไปคนเดียวก็กระไร  จึงเสนอให้ทรงหาคู่หูไปด้วย

ตอนแรกรัชกาลที่ ๕ ทรงเลือกบุตรชายของสมเด็จเจ้าพระยา  แต่สมเด็จเจ้าพระยากราบบังคมทูลค้านว่า  บุตรชายไม่กินเส้นกับเจ้าคุณภาส
เดี๋ยวจะไปทำเรื่องเสียหายเปล่าๆ  คู่หูของเจ้าคุณภาสที่เหมาะที่สุดคือจมื่นไวยวรนารถ (เจิม  แสง-ชูโต) เพราะเป็นควาญบังคับกันได้
จึงโปรดเกล้าฯ ตามที่สมเด็จเจ้าพระยาเสนอมา   การก็สำเร็จด้วยดี

ต้นรัชกาลที่ ๕ ผู้ที่ทำหน้าที่เลขานุการในพระองค์ด้านฝ่ายต่างประเทศต้นรัชกาล คือ พระยาภาสกรวงศ์ (นักเรียนนอกรัชกาลที่ ๔)
ต่อมา  เมื่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการทรงเจริญพระชันษา ก็ได้รับราชการเลขานุการต่อมา
โดยมีกรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์กับพระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ คอยช่วยเหลืองานเลขานุการ  ส่วนฝ่ายล่ามนั้น  มีบันทึกว่า  จันดเล กับ ครูสมิทรับหน้าที่อยู่
บรัดเลเองบางทีก็ช่วยร่างหนังสือด้วยเหมือนกัน
 

เรื่องนี้คุณปิยะสาส์นก็ได้เขียนไว้แล้ว และยกความดีเรื่องนี้ให้แก่นายอาลาบาศเตอร์ที่คุณหลวงเล็กมิได้ชี้ไว้

เมื่อมีคดี พระปรีชากลการ ลูกเขยตา น๊อกซ์ ก็ขู่ฟ้อ ๆ ว่าจะฟ้อง รัฐบาลอังกฤษ ให้เอาเรือรบมาบอมสยาม จนในหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงตั้ง ราชฑูตพิเศษ ได้แก่ เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ และ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง - ชูโต) ไปอังกฤษเป็นการด่วน เพื่อชี้แจง ให้รัฐบาลของกวีนวิคตอเรียทราบ ดีที่ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศ ขณะนั้น (Lord Salisbury) ไม่ตื่นตูมตาม กงซูล .......

คนที่เป็นคนคิดแนะนำ การตั้งราชฑูตพิเศษนี้ ก็คือ นายเฮนรี่ อลาบาสเตอร์ นั้นเอง ทำให้เรื่องในเมืองไทย ไม่ลุกลามเป็นเรื่องระหว่างประเทศ เพราะพ่อตา-ลูกเขย (ผมว่า เรื่องนี้ อลาบาสเตอร์ ปฏิบัติตนอย่างดีเยี่ยม ไม่นำเรือ่งส่วนตัว มาปะปนกับเรือ่งงาน ดังเช่นท่านกงซูล แม้จะมีความกันมาก่อน)


เรื่องอื่นๆก็เป็นความรู้ ใครที่ยังไม่ทราบก็ทราบไว้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 160  เมื่อ 16 ก.ย. 12, 20:05

อ้างถึง
อาลบาสเตอร์นั้น  รัชกาลที่ ๕ โปรดให้ทำงานเป็นฟรีแลนซ์  สุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำงานอะไร  ไม่มีหน้าที่ประจำตายตัว
แต่เมื่อมีรับสั่งเรียกใช้  ก็ต้องเข้าเฝ้าฯ ได้ทันที ไม่ว่าเวลาใด   เท่าที่เคยเห็น  อาลบาสเตอร์เคยรับหน้าทีออกไปเซอเวย์ทำแผนที่ตำแหน่งหินโสโครก
ซ่อมถนน  จัดหอมิวเซียม  จัดสวนสราญรมย์ เป็นต้น  เอกสารชั้นหลังบางทีก็เขียนยกกันจนเกินเลยและลอกกันต่อๆ มา ทำให้เข้าใจเลอะเลือนไป
ที่กล่าวเช่นนี้  ไม่ใช่ว่าอาลบาสเตอร์ ไม่สำคัญ  แต่สำคัญในราชการส่วนพระองค์  ไม่ใช่ในราชการบ้านเมืองทั่วไป

อันนี้ผมไม่เข้าใจ ขอถามก็แล้วกัน เท่าที่ผมหาข้อมูลมาเสนอในกระทู้นั้น อะไรเกินเลย อะไรทำให้เข้าใจเลอะเลือน กรุณาให้ความรู้หน่อย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 161  เมื่อ 16 ก.ย. 12, 20:11

อ้างถึง
ถามว่า  ทำไมรัชกาลที่ ๕ จึงไม่ใช้อาลบาสเตอร์ในทางราชการบ้านเมืองอย่างเปิดเผย  ก็เพราะเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ
โดยเฉพาะเรื่องกับอังกฤษที่มีตาน็อกซ์มาเกี่ยวข้อง  นี่เอง  ทำให้สมัยต่อมา รัชกาลที่ ๕ จึงทรงว่าจ้างชาวยุโรปที่ไม่ใช่อังกฤษ ฝรั่งเศส
มาทำราชการบ้านเมืองที่เกี่ยวกับความมั่นคง  เพื่อไม่ให้เกิดเหตุอย่างอาลบาสเตอร์  หรือถึงจะว่าจ้างชาวอังกฤษฝรั่งเศสมาทำราชการ
ก็เป็นราชการอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  เช่น สอนหนังสือ งานก่อสร้าง ขุดคลอง ทำเหมือง เป็นต้น
แต่ก่อนหน้านั้นที่ต้องว่าจ้างชาวอังกฤษ  ก็เพราะความจำเป็นในราชการพัฒนาประเทศ  และยังหาใครไม่ได้ในขณะนั้น

ตอบว่า นายน๊อกซ์ถูกน๊อคลงเวทีกลับบ้านไปเรียบร้อยแล้วหลังคดีพระปรีชากลการ  พระเจ้าอยู่หัวไม่จำเป็นที่จะทรงจัดหลีกให้เลขานุการในพระองค์กับกงสุลใหญ่อังกฤษ

แต่ผมเข้าใจว่า ลึกๆแล้ว ยังไงๆพระองค์ก็ไม่ไว้พระทัยเต็มร้อยกับคนสองชาติ คืออังกฤษกับฝรั่งเศสแน่นอน ท่านจึงทรงเลือกคนเดนมาร์กและเยอรมันมาทำงานด้านการทหารและความมั่นคง ท่านโรลังค์ ยัคมินส์ก็เป็นชาวเบลเยี่ยม
ในส่วนที่พระองค์ทรงใช้นายอาลาบาศเตอร์ในหน้าที่เลขานุการในพระองค์ ก็ไม่ปรากฏว่าทรงมีเหตุที่จะขุ่นพระทัย ใช้อะไรก็ตั้งใจทำอย่างดี

พักยกก่อนครับ เดี๋ยวข้าวเรียงเม็ดแล้วจะเข้ามาต่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 162  เมื่อ 16 ก.ย. 12, 21:12

อ้างถึง
เคยมีคนกล่าวว่า  การตั้งน็อกซ์เป็นกงสุลอังกฤษประจำสยามนั้น  เป็นการตั้งข้ามหัวอาลบาสเตอร์
ก็ขออธิบายไว้ ณ ที่นี้ว่า  น็อกซ์ ทำหน้าที่ล่ามประจำกงสุลมาตั้งแต่ปี 1857  
ตำแหน่งล่าม (interpreter) เป็นตำแหน่งที่สูงกว่า 1st Assistant หรือเลขานุการกงสุลคนที่ ๑
ซึ่งอาลบาสเตอร์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเมื่อ 1859

เมื่อถึงปี 1864 เซอร์โรเบิร์ต ชอมเบิร์ก ได้พ้นจากตำแหน่งกงสุลอังกฤษประจำสยามไป
น็อกซ์ที่เป็นล่ามประจำสถานกงสุล  มีตำแหน่งอาวุโสสุด  จึงได้แต่งตั้งเป็นกงสุลต่อมา เมื่อ 30 พ.ย. 1864/2407
ซึ่งข่าวการแต่งตั้งนอกซ์เป็นกงสุล  รู้ถึงเมืองสยามเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 1865
ในการแต่งตั้งน็อกซ์เป็นกงสุลนั้น  อาลบาสเตอร์ได้รับแต่งตั้งเป็นล่ามประจำกงสุล ในคราวเดียวกัน
และนิวแมน  ผู้ที่ต่อมาเป็งกงสุลในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เลื่อนขึ้นจากนักเรียนล่าม หรือล่ามฝึกหัด คนที่ ๑ ของกงสุล
มาเป็นเลขานุการคนที่ ๑ ของกงสุล แทนที่อาลบาสเตอร์ อันเป็นการแต่งตั้งตามอาวุโส และไม่ข้ามหัวใคร

ฉะนั้น ที่ว่าตั้งน็อกซ์ข้ามหัวอาลบาสเตอร์จึงไม่ถูกต้อง  และที่สำคัญคือ น็อกซ์เป็นกงสุลในรัชกาลที่ ๔ ไม่ใช่เพิ่งมาเป็นกงสุล
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ช่วงผลัดแผ่นดินอย่างเข้าใจกัน
  และไม่มีตำแหน่งรองกงสุลในขณะนั้น  อาลบาสเตอร์ไม่เคยเป็นรองกงสุล
เป็นแต่ทำหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่กงสุลในเวลาที่น็อกซ์เดินทางไปต่างประเทศเท่านั้น

เรื่องนี้ผมพลาดไปจริงๆครับ

สับสนไปกับข้อมูลที่ได้มาครั้งนายอาลาบาศเตอร์เป็นตัวแทนกงสุลไปหว้ากอ ซึ่งคิดว่ายังเป็นเซอร์โรเบิร์ต ชอมเบิร์ก

เป็นเพราะความถดถอยของสังขารส่วนสมองดังที่พลาดเรื่องประตูสามยอดแต่จิ้มนิ้วแล้วกลายเป็นประตูสามย่าน ทำให้คุณหนุ่มสยามสับสนไปทีนึง และคราวนี้พลอยทำให้ท่านอื่นเสียหายเพราะความเข้าใจไปผิดด้วย ผมขอน้อมรับไว้เพียงคนเดียว

กำลังคิดจะพิจารณาตัวเองอยู่เหมือนกัน บางทีจะต้องเลิกเขียนลงอินเทอเน็ทเพราะหน้าจะแตกยับเยินเสียก่อนที่จะเหี่ยวไปตามธรรมชาติ
ต้องขอขอบคุณคุณหลวงเล็กที่ทำให้เกิดข้อแก้ไข และทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏในเรื่องนี้ด้วย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 163  เมื่อ 16 ก.ย. 12, 21:15

อ้างถึง
ประการต่อมา  คือเรื่องพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นทูตที่อังกฤษ  พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไม่ได้เป็นทูตที่อังกฤษในช่วงต้นรัชกาลที่ ๕
แม้กระทั่งเกิดเหตุคดีอ้ายสำอางจนต้องส่งราชทูตพิเศษไปอังกฤษนั้น  พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ยังเป็นเพียงนักเรียนซิวิลเอ็นจีเนียร์อยู่ที่ต่างประเทศ
และได้ตามคณะราชทูตพิเศษนั้นไปเพื่อทำหน้าที่ล่ามด้วย

 
อันนี้ก็ถูกของคุณหลวงเล็กอีกนั่นแหละ แต่คำว่าช่วงต้นรัชกาลที่๕ที่ว่า มันจากไหนถึงไหนไม่ทราบ แต่ถ้านับก่อนที่จะทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ทรงได้รับโปรดเกล้าฯเป็นทูตในลอนดอนแล้ว

คดีพระปรีชากลการ ท่านมาเกี่ยวข้องโดยเล็กน้อยช่วงเป็นทูต โดยแฟนนีอ้างตนเป็นภรรยา มาขอให้ช่วยติดตามเงินของสามีในธนาคารที่นั่น และทรงเขียนรายงานกลับมาที่กระทรวงเท่านั้น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 164  เมื่อ 16 ก.ย. 12, 21:17

อ้างถึง
ผมไม่ได้อ่านราชกิจจานุเบกษาเพียงอย่างเดียว  หนังสืออื่นๆ ผมก็อ่าน  ข้อมูลบางอย่างต้องเก็บเล็กผสมน้อยจากเอกสารที่อ่าน
ได้มากบ้างน้อยบ้างก็ค่อยสะสมกันไป  แลกเปลี่ยนข้อมูลความเห็นกับสหายบ้าง  จะได้ไม่ตีบตัน

เดี๋ยวนี้ ราชกิจจานุเบกษาก็ค้นหาและอ่านได้จากทางอินเทอร์เน็ต  สะดวกสบาย  จะเซฟเก็บไว้ก็ได้  ไม่ต้องเก็บเป็นตู้หรอก
หนักบ้านเปล่าๆ  เล่มหนึ่งๆ ก้ไม่ใช่ถูก ยิ่งเก่ายิ่งแพง    ขนหนีน้ำก็ลำบาก  ใช้ในเน็ตนี่แหละดีด้วย

 
อ้อ ครับๆ รับทราบครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 19
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.081 วินาที กับ 20 คำสั่ง