เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 19
  พิมพ์  
อ่าน: 63725 เฮนรี่ อาลาบาศเตอร์ ฝรั่งดีที่ฝากร่างและผลงานไว้ในสยาม
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 135  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 15:47

<

เป็นอันว่าคุณนายปาลาเซียได้กลับมาอยู่ในสยามกับสามี มิได้แยกกันอยู่ในกรุงลอนดอน

ผมย้อนกลับไปอ่านกระทู้ที่ผมเองเคยเขียนขึ้น เรื่อง “ชีวิตดั่งนิยาย-พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ กระดูกสันหลังพระปิยะมหาราช?” เพื่อหาข้อมูลเรื่องนายอาลาบาศเตอร์ เจอเข้าดังนี้ครับ


เมื่อจบการศึกษาในปีพ.ศ.๒๔๑๙ (พระองค์เจ้าปฤษฎางค์)ได้เสด็จกลับมาเมืองไทยเพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พร้อมทั้งทูลเกล้าฯถวายรางวัลและประกาศนียบัตรต่างๆ ได้รับพระราชทานทั้งเงินรางวัลและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เป็นเครื่องหมายว่าทรงชื่นชมยินดี

ทรงโปรดเกล้าฯให้เข้ารับราชการ เป็นผู้ช่วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ ซึ่งมีนายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ อดีตผู้ช่วยกงสุลอังกฤษที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงจ้างไว้เป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ ทำงานอยู่ด้วยในด้านการทำแผนที่ นายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ (คุณปู่ของพลอากาศเอกสิทธิ์ เศวตศิลา) ซึ่งจบมาจากสถาบันเดียวกัน เห็นประกาศนียบัตรต่างๆของหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ก็กราบบังคมทูลว่า เหนือกว่าที่ตนเองได้รับมากนัก ท่านก็เลยได้รับมอบหมายแบบปล่อยเดี่ยวให้ไปเที่ยวสำรวจลำคลองต่างๆเพื่อจะชักน้ำเข้าคลองเปรมประชากร สำหรับมาทำน้ำประปาสำหรับกรุงเทพ

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/07/K8075368/K8075368.html

เป็นอันว่า เส้นทางที่นายอาลาบาศเตอร์ใช้ในการกลับเข้ามารับราชการในสยามนั้น ก่อนหน้าที่สยามจะตั้งสถานทูตในลอนดอน ซึ่งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงเป็นอัครราชทูตพระองค์แรก

แต่ทฤษฎีเดาชั่นที่ผมว่าไว้อันนี้ยังยืนยันความเป็นไปได้อยู่ ถึงแม้จะยังไม่มีสถานทูต แต่สยามก็มีกงสุลกิตติมศักดิ์อยู่ที่นั่นก่อนนานแล้ว นายอาลาบาศเตอร์อาจจะติดต่อผ่านกงสุลก็ได้


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 136  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 16:13

  ถ้าอย่างนั้นขอเรียงข้อมูลใหม่
  - ค.ศ. 1873 (พ.ศ. 2416)  เฮนรีเดินทางกลับมาสยาม ในฐานะที่ปรึกษาของพระเจ้าแผ่นดินสยาม   
  - ค.ศ. 1877 (พ.ศ. 2420)  คุณนายแหม่มกับลูกๆ อยู่ในสยามแล้ว
  เธออาจจะเดินทางตามมาทีหลังเมื่อลูกคนเล็กโตพอจะเดินทางได้   หรือว่ามาพร้อมสามีตั้งแต่ 1873  ข้อนี้ต้องรอหลักฐานจากคุณวันดี  ว่าคุณนายพาลาเซียเขียนจดหมายถึงป้าในค.ศ. 1873 บ้างไหม
  - ค.ศ. 1879 (พ.ศ. 2422)  ลูกชายของเธอเข้าโรงเรียนประจำในอังกฤษไปแล้ว   คุณนายยังอยู่ในสยาม   ในปีนี้ ชาร์ลส์อายุ 10 ขวบ   เอ็ดเวิร์ด เพอร์ซี อายุ 8 ขวบ  และเออเนสต์ คนเล็ก อายุ 7  ขวบ 
  - ค.ศ. 1884 (พ.ศ. 2427)  นายอาลาบาศเตอร์ถึงแก่กรรม   คุณนายขายข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวทั้งหมด  เดินทางกลับอังกฤษอย่างถาวร
    เมื่อพ่อเสียชีวิต  ชาร์ลส์ ชาลอนเนอร์ คนโตในสามพี่น้อง  อายุ 15 ปี  น่าจะยังเรียนหนังสืออยู่ เช่นเดียวกับน้องชายทั้งสองคน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 137  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 16:41

เจอจดหมายที่เฮนรี อาลาบาศเตอร์เขียนถึงญาติลูกพี่ลูกน้องของเขาชื่อเพอร์ซี คริดเดิล  เล่าถึงการเดินทางมาตะวันออกไกลเป็นครั้งแรกในพ.ศ. 1856  เมื่ออายุได้ 20 ปี
เพอร์ซี คริดเดิลอายุแค่ 12 ในปีนั้น  แต่ก็ดูสนิทชิดเชื้อกันดีกับญาติที่แก่กว่า 8 ปี    
นายคริดเดิลคนนี้เองที่ชาร์ลส์ ชาลอนเนอร์ลูกชายของเฮนรี่เดินทางจากอังกฤษไปเยี่ยมเขาที่แคนาดา เมื่ออายุ 34 ปี หลังพ่อเสียชีวิตในสยามไปนานแล้ว    แล้วก็ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแคนาดานั้นเลย

Singapore

Dear Percy

It is preciously hot here, but we have lots of fun, and I hope you at home are as jolly as we are. What do you think of a lot of ladies and gentlemen, playing blind-man’s buff, that is how we amuse ourselves.

I often think of you, and wonder what you will be like when I come back. I hope you work hard, and remember God’s command to honour your father and your mother.

When I get to China I will write again, so now Good bye and may God bless you.

Your affectionate Cousin

Henry Alabaster

เฮนรีพูดว่าจะเดินทางไปเมืองจีน  คิดว่าเขาหมายถึงฮ่องกง ซึ่งใช้เวลา 5 วันเมื่อเดินทางเรือจากสิงคโปร์ 
เอาลายมือของเฮนรีมาให้ดูกันค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 138  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 17:02

จดหมายที่เฮนรีเขียนถึงป้าของเขา ในค.ศ. 1876   สามปีหลังจากเขากลับมารับราชการในสยาม  บอกอ้อมๆถึงความรู้สึกเดียดฉันท์ที่มีต่อครอบครัวของน็อกซ์    

Jan 1676: Henry to Auntie:
(พิมพ์ค.ศ.ผิดค่ะ ต้องเป็น 1876)
"This New Year on duty from an early hour. I do not complain. The more I am used the more necessary I become and the better I hope will be my remuneration. I am as proud as ever I was now - having made my position without anyone to thank for it Palacia now leads society and her parties are the only largely attended ones.
She and her lady friends decline to go where Mr Knox's daughters go - and so make successful parties impossible except in our house".
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 139  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 19:41



แฟนนีนั้นไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมสุภาพชน(ฝรั่ง)   จะหาสามีเป็นฝรั่งผู้ดีคงยาก

เคยอ่านเอกสารที่ข้าราชการชั้นสูงของอังกฤษพาดพิงถึงเธอต่อสมเด็จพระบรมราชินีนาถว่า

ลูกสาวนอกสมรสของ กงสุล เยนิรัล ของใต้ฝ่าละออง ฯ (natural daughter)  และแทนตัว

แฟนนีว่า  that creature

        คนไทยเรานั้นนับกันที่ความรู้  หน้าที่การงานที่ทำ    ลูกจีนบวชเสียไม่กี่ปี  สึกมา  ถ้าเก่งได้รับ

พระราชทานยศคุณหลวงก็มี    ยังไม่ทันลืมก็ได้เป็นพระยา

        ท่านที่นับถือท่านหนึ่งในเรือนไทย  กินยศประมาณ คุณพระแล้วค่ะ    ลูกศิษย์ปลื้มใจกันมาก

นับยศถอยไปมาว่าจะได้ประมาณอำมาตย์เอกไหมนี่     

        ตาน๊อกซ์คงทำมาหากินเรื่องเข้าหุ้นป่าไม้ไว้   มีเงินทิ้งไว้ให้ธิดามากมาย

       
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 140  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 20:13

      พระราชหัตถ์เลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงมีไปถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

     "ลูกสาวสองคนนี้  คนต่างประเทศไม่มีใครนับถือเลย  ไม่มีใครเอาเป็นภรรยาเป็นแน่    ไปมานอนค้างอยู่ในวังจนคนพูดว่า กงสุลถวายวังหน้าก็มีมาแต่ก่อน    แต่พูดกันแต่ไทย ๆ  คนฝรั่งไม่พูด  มาในครั้งนี้เขาว่าเมื่อไปกาญจนบุรีนี้ออกหน้ามาก   ไปตามเสด็จวังหน้า นั่งที่ไหนก็นั่งเคียงกัน   แลในบางกอกก็มีเถ้าแก่รับส่งเป็นเวลาขึ้นไปนอนวัง   ประทานเข้าของแต่งตัวมากนัก  แต่คำที่คนฝรั่งพูดกันนั้นเป็นการเยาะเย้ยกันมาก      ด้วยเขาไม่นับถือในตัวผู้หญิง  และก็ผิดธรรมเนียมในศาสนาเขามาก"
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 141  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 20:57

นายอาลาบาศเตอร์คงไม่ใด้ไม่กินเส้นกับนายน๊อกซ์เรื่องลูกเมียคนไทยกระมั้ง?ฮืม?
บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 142  เมื่อ 15 ก.ย. 12, 08:14

natural daughter , that creature....... ฟังแล้ว เสียวสันหลัง ว๊าบ .  หมายถึงใคร คนนั้นคงหน้าชา ไป ๓ วัน ๗ วัน


อลาบาสเตอร์ นอกจากจะทำงาน ๑๐๘, ๑๐๐๙ แล้ว ยังได้มีโอกาส ถวายการสอนหนังสือเจ้านายด้วย ปรากฏใน ข้อเขียนของ พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ ในหนังสืองานศพท่านดังนี้


"....... ท่านอาลาบาศเตอร์ ได้เป็นครูสอนวิชารังวัดแผนที่และวิชาเบ็ดเตล็ดอีกหลายอย่าง อย่างไรก็ตาม ในตอนหลังต่อมา เจ้านายใหญ่โตหลายพระองค์ เช่น สมเด็จกรมพระยาภารุพันธ์วงศ์ฯ สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ สมเด็จกรมพระยาดำรง. ฯ,ฯ ได้ทรงเรียกท่านอาลาบาศเตอร์จนติดพระโอษฐว่า "ครู" และเรียกตัวข้าพเจ้าว่า "ลูกครู" เสมอ แม้แทต่ท่านเจ้าพระยาภาษสกรวงษ์ฯ เจ้าพระยาเทเวศร์ ฯ,ฯ ก็เรียกเช่นเดียวกัน ข้าราชการเมื่อครั้งตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ถ้าผู้ใดเอ่ยวาจาเพียงคำเดียวว่า "ครู" ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า หมายความถึง "ท่านอาลาบาศเตอร์" ดังนี้ ......."



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 143  เมื่อ 15 ก.ย. 12, 08:27

คำถามของผมที่ยังไม่มีคำตอบ

ทำไมนายอาลาบาศเตอร์จึงมิได้เป็นขุนนางท้าวพระยา ทั้งๆที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเห็นว่าทำคุณความดีไว้มากมาก สามารถ"กินพาน"ได้เลย
ฤาว่าพ.ศ.นั้น สมัยรัชกาลที่๕ ยังไม่มีธรรมเนียมที่จะพระราชทานราชทินนามกับชาวต่างชาติ

พวกคุณออกหลวงออกพระท่านหายไปไหนกันหมด ไม่เข้ามาเฉลยสักหน่อยหรือขอรับ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 144  เมื่อ 15 ก.ย. 12, 08:48

คำถามของผมที่ยังไม่มีคำตอบ

ทำไมนายอาลาบาศเตอร์จึงมิได้เป็นขุนนางท้าวพระยา ทั้งๆที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเห็นว่าทำคุณความดีไว้มากมาก สามารถ"กินพาน"ได้เลย
ฤาว่าพ.ศ.นั้น สมัยรัชกาลที่๕ ยังไม่มีธรรมเนียมที่จะพระราชทานราชทินนามกับชาวต่างชาติ

พวกคุณออกหลวงออกพระท่านหายไปไหนกันหมด ไม่เข้ามาเฉลยสักหน่อยหรือขอรับ

การกินพานในชาวต่างประเทศ มีมานานแล้วครับ ยังจำ เซอร์จอห์นบาว์ริ่ง กันได้ไหมครับท่านผู้นี้ก็ได้พระราชทานนาม, ตันกิมเจ๋งก็ได้รับพระราชทานราชทินนาม แต่ใน่วนของเฮนรี่ เป็นคนกงสุลฝ่ายอังกฤษ แปลเอกสารต่าง ๆ ใกล้ชิดพระองค์มากแต่ไม่ได้กินพาน เรื่องนี้คงเป็น "ฟ้าลิขิต" หรือ "ทำตัว" ก็ไม่มีใครทราบถึงบุคคลิกและนิสัยใจคอความสัมพันธ์ระหว่างเฮนรี่กับบรรดาพวกพ้องได้ว่าเป็นอย่างไร

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 145  เมื่อ 15 ก.ย. 12, 09:13

สมัยต้นรัชกาลที่๕ มีฝรั่งได้กินพานก่อนมรณกรรมของนายอาลาบาศเตอร์หรือไม่ เท่าที่ผมพยายามนึก ไม่เห็นมี

อนึ่ง บรรดาศักดฺ์ที่พระราชทานให้เซอร์จอห์น บาวริ่ง(บางสำเนียงเรียกโบวริ่ง) เป็นกิตติมศักดฺ์ เพราะบาวริ่งมิใช่ข้าราชการสยาม นึกย้อนขึ้นไป ข้าราชการฝรั่งเริ่มมีในรัชกาลที่๔ แต่ทั้งวังหลวงวังหน้า ไม่ได้พระราชทานราชทินนามแก่ผู้ใด

แต่ผมจะรู้จะอ่านน้อยไปก็เป็นได้
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 146  เมื่อ 15 ก.ย. 12, 09:30


บางกอกกาลันเดอร์มีรายละเอียดการเข้ามาและเดินทางออกไปของชาวต่างประเทศค่อนข้างละเอียดค่ะ

แต่ยังไม่ได้เข้าไปอ่านเพราะติดภาระกิจหลายอย่าง

จำได้ว่าบรัดเลย์เล่าว่าอาลาบาสเตอร์พาเจ้าสาวมา....

บิดาของปาลาเซียเป็นช่างตัดเสื้อ  อยู่ที่ Brentwood ใน Essex


เรื่องลูกเมียคนไทยนั้น   อาลาบาสเตอร์คงมิได้ใส่ใจ  แต่ธรรมเนียมคนอังกฤษบางอย่างเคร่งครัด

เกียรติของภรรยา  คือ เกียรติของสามี

แฟนนีนั้นสังคมกับพวกทันสมัยคือ ก.ศ.ร.  ไปมาหาสู่  ไปงานบวช งานตายกัน   แต่เมื่อนายพลเรือพาคุณหญิงมาในงาน

แฟนนีจะได้รับการแนะนำด้วยหรือ


ชอบอาลาบาสเตอร์มากเหมือนกัน  และได้ติดตามข่าวของสมาคมสกุลนักยิงธนูมาตั้งแต่ต้น(ความหมายของสกุลอาลาบาสเตอร์ที่เพี้ยนมา)

อาลาบาสเตอร์เป็นราชเลขานุการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง

ประโยชน์ยิ่งใหญ่ที่ท่านได้ทำไว้คือทำให้สยามเข้าใจว่าลัทธิล่าเมืองขึ้นนั้นคืออะไร    


ข้อมูลของบ้านเรายังหากันไม่พบอีกมาก     เพราะลัทธิตัดแปะ  
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 147  เมื่อ 15 ก.ย. 12, 09:38



เรียนเตือนคุณปิยะสารณ์   ว่าเมตตากรุณาเขียนเรื่องเจ้าคุณพ่อของท่านองคมนตรีกับเรื่องกล้วยไม้ด้วยเถิด


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 148  เมื่อ 16 ก.ย. 12, 11:29

สมัยต้นรัชกาลที่๕ มีฝรั่งได้กินพานก่อนมรณกรรมของนายอาลาบาศเตอร์หรือไม่ เท่าที่ผมพยายามนึก ไม่เห็นมี

อนึ่ง บรรดาศักดฺ์ที่พระราชทานให้เซอร์จอห์น บาวริ่ง(บางสำเนียงเรียกโบวริ่ง) เป็นกิตติมศักดฺ์ เพราะบาวริ่งมิใช่ข้าราชการสยาม นึกย้อนขึ้นไป ข้าราชการฝรั่งเริ่มมีในรัชกาลที่๔ แต่ทั้งวังหลวงวังหน้า ไม่ได้พระราชทานราชทินนามแก่ผู้ใด

แต่ผมจะรู้จะอ่านน้อยไปก็เป็นได้

ย้อนกลับไปรัชกาลที่ 4   วังหลวงจ้างฝรั่งมารับราชการ ชื่อร้อยเอกอิมเปย์  และวังหน้าจ้างร้อยเอกโทมัส จอร์ช น๊อกซ์ มาฝึกทหารไทยแบบยุโรป    น๊อกซ์รับราชการยาวนานจนรัชกาลที่ 5  ก็ไม่ปรากฏว่าได้บรรดาศักดิ์อย่างขุนนางไทย    แต่เมื่อมาเป็นข้าราชการของอังกฤษในตำแหน่งกงสุลสยาม  จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเซอร์จากรัฐบาลอังกฤษ
ครูฝรั่งถวายพระอักษรภาษาอังกฤษให้เจ้านายไทย มาทำงานถวายอยู่นาน ก็ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์อย่างขุนนางไทย   ทั้งๆที่ ถ้าเป็นคนไทย ทำงานแบบนี้ได้บรรดาศักดิ์เป็นขุนเป็นหลวงไปนานแล้ว

จึงคิดว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4  และต้นรัชกาลที่ 5  ยังไม่มีธรรมเนียมให้บรรดาศักดิ์แก่ฝรั่งที่มารับราชการในสยาม   มิฉะนั้นนายอาลาบาศเตอร์คงได้แล้ว  ในเมื่อทำงานถวายยาวนานเป็นที่พอพระราชหฤทัย  ถึงขั้นพระราชทานเกียรติยศในการทำศพให้ชั้นพระยาพานทอง 
จึงเห็นว่าบรรดาศักดิ์ที่พระราชทานแก่พวกฝรั่ง เพิ่งเริ่มในช่วงกลางรัชกาล   เช่นพระราชทานให้พระยาชลยุทธ์โยธิน   
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 149  เมื่อ 16 ก.ย. 12, 13:18

ผมจะรู้จะอ่านน้อยไปก็เป็นได้

ประกาศพระราชทานบรรดาศักดิ์พ่อค้าต่างประเทศ

สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎสุทธิสมมติเทพยพงศ์วงศาดิศวร...ฯลฯ...
ขอประกาศความที่จะว่าไปนี้แก่ท่านทั้งปวงหรือท่านผู้หนึ่งผู้เดียว คือผู้ใดๆ ที่จะได้อ่าน
หนังสือสำคัญนี้ให้ทราบ

ธรรมเนียมในกรุงเทพมหานคร  เมื่อชนชาวต่างประเทศมีความสวามิภักดิ์ได้รับธุระ
ช่วยขวนขวายในราชการแผ่นดินก็ดี  หรือถวายสิ่งของมีราคาต้องพระราชอัธยาศัย
พระเจ้าแผ่นดินสยามก็ดี   นับว่าเป็นผู้มีความชอบแล้ว  ย่อมได้รับพระราชทานตำแหน่ง
บรรดาศักดิ์ฝ่ายสยามเป็นแบบอย่างมา  คือเมื่อในแผ่นดินซึ่งเป็นปฐมรัชกาลที่ ๑
ในพระบรมราชวงศ์นี้  กัปตัน เอฟ. ไลด์ เป็นผู้มาขอเช่าที่เมืองปีนัง  เกาะหมาก ให้อีสตกัมปนีอังกฤษ
ในเวลานั้นได้ถวายดาบประดับพลอย ๑ ปืนบอก ๑ เป็นเครื่องเงินเป็นของดีมีราคา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงรับไว้เป็นพระแสง  แลของอื่นๆ มีราคามาก
ก็ถวายไว้หลายสิ่ง  พระบาทสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามในรัชกาลเป็นปฐม  ได้ทรงพระกรุณา
โปรดตั้งให้เป็นขุนนางมียศฝ่ายสยามว่าพระยาราชกปิตัน นาย ๑ ...ฯลฯ...

ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ ๓ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดตั้งมิสเตอร์หันเตอร์
เป็นขุนนางมียศฝ่ายสยาม  มีนามโดยภาษาสังสกฤตว่า "หลวงอาวุธวิเศษ" นายหนึ่ง ...ฯลฯ...

(หมายเหตุ  รายละเอียดประกาศฉบับเต็ม กรุณาหาอ่านเอง)


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 19
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.055 วินาที กับ 20 คำสั่ง