เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 19
  พิมพ์  
อ่าน: 63561 เฮนรี่ อาลาบาศเตอร์ ฝรั่งดีที่ฝากร่างและผลงานไว้ในสยาม
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 13:20

นับเป็นความน่าทึ่ง และคงเส้นคงวาในการรับแขกที่แสดงออกโดยรัฐบาลสยามในครั้งนี้ กล่าวคือ บรรดาพวกเสนาบดีทั้งหลายมิได้ทำที่พักของพวกเขาเองให้สะดวกสบายดังเช่นที่ทำให้สำหรับแขก ท่านสมุหกลาโหมเอง แทนที่จะอนุโลมให้คนที่เกินมาในคณะของข้าพเจ้ามาแย่งเนื้อที่ห้องพักในเรือนของข้าพเจ้า   ก็กลับยอมสละห้องบนเรือนของท่านเองห้องแล้วห้องเล่า จนมันกลายเป็นรังของคนยุโรปและอเมริกันทั้งหญิงและชาย ห้องรับรองของท่านได้กลายเป็นสโมสร และท่านก็เหลือเพียงห้องนอนห้องเดียวสำหรับตัวท่านเอง เมื่อข้าพเจ้าพยายามดึงแขกเรือนอันมากมายของท่านออกมาเสียบ้าง ท่านก็มาเอาตัวกลับไป  และแสดงความขัดขืนบ้างก่อนที่จะเห็นด้วยว่าพวกเหล่านั้นควรจะรับประทานอาหารกับเรา    ข้าพเจ้ารู้จักท่านดี ข้าพเจ้าทราบว่าการแสดงความสุภาพแก่พวกผู้หญิงที่ไม่ได้รับเชิญ ซึ่งมาล้มทับท่านกันเป็นจำนวนมากโดยที่ไม่ได้คาดการมาก่อนเช่นนี้ ได้สร้างภาระแก่ท่านเพียงใด แต่ความเอาใจใส่ของท่านก็ยังดำเนินต่อไป ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ท่านถามด้วยอยากทราบว่ายังมีอะไรอีกบ้างไหมที่ต้องการ พวกเจ้าหน้าที่สยามอื่นๆก็ราวกับแข่งกันแสดงมารยาท และความมีน้ำใจต่อแขก ความเอื้ออาทรเช่นนี้ ข้าพเจ้าไม่เคยพบเคยเห็นที่ไหนมาก่อน และไม่คาดหวังที่จะได้รับอีก


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 13:34

แต่ทว่า ยังมีความอึดอัดใจอยู่ตลอดเวลาสองประการ คือหนึ่ง อากาศที่ขมุกขมัวต่อเนื่องมาซึ่งถึงแม้จะดูดีขึ้นในวันที่๑๕ แต่ก็มีความคาดหมายกันทั่วไปว่าเราจะไม่ได้เห็นสิ่งที่เราสู้เดินทางมาเพื่อจะดูมัน และสอง พวกฝรั่งเศสได้บ่นและแสดงความไม่พอใจ บอกว่าคนสยามตั้งแง่คอยระแวงพวกตนและไม่ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกใดๆ (ข้อนี้ไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไหร่ ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้ฟังมาผิด คนสยามต้องการที่จะทำให้ทุกอย่าง แม้แต่จะเลี้ยงดูพวกเขา) ยกตัวอย่าง ข้าพเจ้าขอเอ่ยถึงกรณีย์ของมองซิเออร์ปิแอร์ นักพฤกษศาสตร์ของคณะสำรวจ ปรารถนาที่จะออกเดินสำรวจ“พวกสยามขี้อิจฉา” บางคนกล่าว “ไม่จัดรถลากให้และไม่ยอมช่วยเหลืออะไรเขาเลย คงคิดว่าเขาจะมาทำจารกรรม” ข้าพเจ้าถามว่าแล้วท่านเคยทำเรื่องขอแล้วกระนั้นหรือ เขาตอบว่า “เปล่า” หัวหน้าของเขาตั้งใจว่าจะไม่ร้องขอความช่วยเหลืออะไรจากพวกสยาม ข้าพเจ้าจึงเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับเจ้าหน้าที่สยามนายหนึ่ง และสองสามชั่วโมงต่อมาเขาก็เริงร่ามาพร้อมด้วยรถลากสามคันกับกุลีสิบคน ด้วยสิ่งเหล่านี้เอง บวกกับบริการอื่นๆอีกเล็กน้อยซึ่งข้าพเจ้าโชคดีที่ได้กระทำให้กับมองซิเออร์ปิแอร์ ข้าพเจ้าจึงได้รับพืชพรรณซึ่งมองซิเออร์ปิแอร์ได้ไปเก็บมาซ้ำกันหนึ่งชุด(ประกอบด้วยพรรณไม้ที่เขาเชื่อว่าไม่เคยพบมาก่อนถึง๒๐๐สายพันธุ์)ซึ่งข้าพเจ้าจะส่งมันต่อไปยังพิพิธภัณฑ์คิว รวมทั้งชื่อของข้าพเจ้า หรือตำแหน่งปัจจุบันของข้าพเจ้าที่จะแนบไปกับพืชอันน่าทึ่งพันธุ์หนึ่งซึ่งเติบโตอยู่ในหลุมโคลนของสยาม ข้าพเจ้าเชื่อว่าสาเหตุมาจากอากาศที่ขมุกขมัวนี่เอง เลยทำให้ใจคนขุ่นมัวตามไปด้วย พอฟ้าเปิดทุกสิ่งทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี และทำให้พวกฝรั่งเศสยอมรับน้ำใจของชาวสยาม รวมทั้งมันฝรั่งหลายกระสอบ ฯลฯ อย่างเต็มใจ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 13:42

.


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 13:44

วันที่๑๕ ตรงกับวันเฉลิมพระเจ้าจักรพรรดินโปเลียนของชาวฝรั่งเศส เรือทุกลำถูกประดับประดาเพริศแพร้วและยิงปืนสลุตกันอย่างยกใหญ่ หัวหน้าคณะนักสำรวจฝรั่งเศสและกงสุลฝรั่งเศสไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ว่าโดยลำดับตำแหน่งแล้ว ใครควรอยู่ในฐานะประธานจัดงานฉลองวันนี้ได้ นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลทั้งหลายที่ตัวกงสุลฝรั่งเศสยังคงอยู่ในกรุงเทพ

วันที่๑๖ ข้าหลวงใหญ่ของสิงคโปร์มาถึงโดยเรือยอชต์ “ปีโก”ของท่าน แต่เนื่องจากเป็นวันอาทิตย์ท่านจึงเลื่อนการขึ้นฝั่งเป็นวันรุ่งขึ้น เช้าของวันที่๑๗ กัปตันเอดีย์มาถึงโดยเรือรบหลวงแซทเทิลไลท์ คณะของท่านขึ้นบกพร้อมด้วยการยิงสลุตของปืน๑๗กระบอกโดยกองทหารยามฝั่ง และได้รับการนำไปพบท่านสมุหกลาโหม ซึ่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ(พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท)ได้ทรงรออยู่ด้วย ในขณะเดียวกัน พระเจ้าอยู่หัวทรงรู้สึกว่าน่าจะดีที่จะสร้างหอสังเกตุการณ์แห่งที่๒ ห่างออกไปสักสองสามไมล์และพระองค์เพิ่งเสด็จไปทรงเลือกจุดที่จะสร้าง    เรารอเกือบสามชั่วโมงจนกระทั่งพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับและโปรดเกล้าฯให้เราเข้าเฝ้า


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 13:46

พันเอกออร์ดได้รับการต้อนรับด้วยพิธีรีตองเต็มเหยียดที่สุดเท่าที่สถานการณ์จะอำนวยได้ แถวทหารกระทำวันทยาวุธเมื่อท่านเดินเข้าไปยังพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งประทับรออยู่บนพระราชบัลลังก์ลำลอง เจ้านายและข้าราชสำนักประมาณสองร้อยนายในชุดผ้าไหมเลื่อมพราย  สวมเสื้อครุยปักดิ้นทองหมอบเฝ้ารายรอบพระองค์ ข้าพเจ้าเบิกตัวฯพณฯ กัปตันเอดีย์ และเจ้าหน้าที่อื่นๆเข้าเฝ้า  แล้วพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงแนะนำพระเจ้าลูกยาเธอและบรรดาขุนนางให้ฝ่ายเรารู้จัก     การกราบบังคมทูลถูกจำกัดไว้แค่การทักทายตามมารยาทอย่างเป็นทางการ กับพระราชปฏิสันถารตอบว่าทรงพึงพอพระทัยมากต่อการมาเยือนครั้งนี้

หลังสิ้นสุดพิธีกรรม พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯที่จะให้มีการฉายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์แวดล้อมด้วยพระราชอาคันตุกะ  พอจบเรื่องนี้แล้ว นายพันเอกออร์ดจึงได้รับการเชิญให้ไปยังที่พำนักที่สร้างขึ้นสำหรับท่าน และสำรับอาหารระดับสุดยอดได้ถูกนำมาตั้งบริการ เรือนรับรองของนายพันเอกออร์ดมีขนาดที่เป็นรองก็เฉพาะพระราชฐานเท่านั้น ข้าพเจ้าคิดว่าบรรดาเครื่องประกอบต่างๆ เหล้าไวน์ ฯลฯ ไม่ได้ด้อยกว่าที่ข้าพเจ้าเคยได้ยินหรือได้เห็นบนโต๊ะของท่านข้าหลวงของอาณานิคมทั้งหลายเลย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 13:50

ในตอนค่ำ นายพันเอกออร์ดและคุณนาย กัปตันเอดีย์ ข้าพเจ้ากับภรรยาฯลฯ ทั้งหมดรวมแปดคน ได้รับพระราชทานเลี้ยงรับรองในส่วนพระราชฐานชั้นใน และทรงแนะนำพระราชโอรสพระราชธิดาและเจ้าจอมที่ทรงโปรดเก้าท่าน เช้าวันรุ่งขึ้นความสนิทสนมที่ได้เพิ่มขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ ได้เปิดโอกาสให้บรรดาพระราชวงศ์ทั้งหลายทรงเลิกแสดงท่าทีเคร่งครัดตามขนบธรรมเนียมเสียสิ้น  ขณะที่พระเจ้าอยู่หัวและบรรดาเจ้าจอมกำลังสนทนากับนายพันเอกออร์ดและคุณนายในห้องหนึ่ง ในห้องที่ติดกันนั้น ข้าพเจ้าและสุภาพบุรุษอื่นๆได้สนทนากับพระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธออยู่ถึงสี่สิบห้านาทีเต็มๆ หลายพระองค์เป็นสาวรุ่นพระชันษาระหว่าง๑๕-๑๘ ทรงสนทนาด้วยความเปิดเผยตรงไปตรงมาและฉลาดเฉลียวรอบรู้  เกินกว่าที่ข้าพเจ้าจะนึกถึงเสียอีก

ทรงตรัสใช้ภาษาง่ายๆ  กรองคำที่หยาบหรือกระด้างออกจนฟังอ่อนโยน อันถือได้ว่าเป็นลักษณะเด่นเฉพาะของภาษาไทย สำหรับพวกที่ร่วมอยู่กับข้าพเจ้าผู้ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ก็ทรงตรัสด้วยภาษาอังกฤษสองสามคำ พระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาพ่อผู้ใจดี ทรงได้ยินเสียงพูดและเสียงหัวเราะของการสนทนา ทรงยอมรับด้วยพระอารมณ์ขันที่สุด ทรงแย้มพระสรวลขณะที่ตรัสระหว่างเสด็จเข้าว่า  "ลูกๆพูดกันเสียงหนวกหูเสียนี่กระไร"


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 13:54

ช่วงเวลาทั้งหมดช่างเพลิดเพลิน ราวกับมาเที่ยวปิกนิคกัน    เมื่อสยามได้เริ่มลดฉากบังตาที่สร้างไว้ในกรุงเทพเพื่อกั้นกลางระหว่างชาวต่างชาติกับพวกเขาลง ข้าพเจ้าก็หวังว่าการกระทำนั้นจะทำให้พวกชาวสยามเกิดความไว้วางใจต่อคนต่างชาติมากขึ้น  พอๆกับการได้ที่พวกเขาจะได้รับความยอมรับนับถือเพิ่มขึ้นมากจากชาวต่างชาติเช่นกัน

ในช่วงบ่ายพระราชโอรสพระองค์ใหญ่เสด็จออกทรงม้ากับชาวต่างชาติคณะใหญ่ และชาวต่างชาติอีกคณะหนึ่งก็สนุกสนานไปกับการขี่ช้าง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 14:00

และแล้ววันสำคัญก็มาถึง แต่เช้าตรู่ก็เห็นฝูงชนวุ่นวายกับการตั้งกล้องโทรทัศน์ที่หน้าเรือนพักของพวกเขา แต่เมฆที่ลอยไล่กันบนท้องฟ้าเพิ่มความหนาแน่นขึ้นทุกชั่วโมง ทำให้ความตื่นเต้นทวีขึ้นถึงขีดสุด  เมื่อเสียงปืนประกาศการเริ่มต้นของคราสดังขึ้น เป็นระยะแรกที่ยังมองอะไรไม่ออก แต่ทันทีที่คราสขั้นเต็มดวงกำลังจะเริ่ม อากาศอุ่นจากโลกดูเหมือนจะลอยตรงขึ้นไปสู่ดวงอาทิตย์ แหวกอากาศเย็นจัดข้างบน  ขับไล่เมฆเหนือหัวของเราให้ลอยกระเจิดกระเจิงไป แสงรุ่งโรจน์ของรัศมีโคโรนารอบพระอาทิตย์ แสงของหมู่ดาวส่องประกายราวลูกปัด และลำแสงเสมือนน้ำพุ พวยพุ่งออกมาด้วยความชัดเจนสวยงาม เสียงครางอย่างอัศจรรย์ใจดังกระหึ่มไปทั่วนิคม เล่ากันว่าท่านสมุหกลาโหมได้วิ่งเข้าไปในเรือนเพื่อตะโกนหาเหล่าภรรยา  "ถึงตอนนี้ เธอจะเชื่อในสิ่งที่ฝรั่งบอกหรือยังล่ะ"


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 14:09

ข้าพเจ้ามิได้ประสงค์จะบรรยายเรื่องสุริยุปราคา    นั่นเป็นหน้าที่ของนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส แต่ข้าพเจ้าจะบันทึกสิ่งที่เกิดกับตนเองและบรรดาคนรอบข้าง คณะของข้าพเจ้าทั้งหมดเงียบงันและค่อนข้างตื่นตระหนก คณะพวกมิชชันนารีได้ส่งเสียงเชียร์สั้นๆแต่ดังมาก คนสยามหลังจากส่งเสียงโห่ร้องอย่างประหลาดใจในช่วงแรกก็เปลี่ยนเป็นนั่งเงียบงัน พวกผู้หญิงกลัวๆกล้าๆ ผู้หญิงพื้นเมืองบางคนวิ่งหนีเข้าไปในบ้าน ท่านสมุหกลาโหมออกวิ่งราวกับยังหนุ่มแน่น และวิ่งกลับไปยังหอสังเกตุการณ์กับข้าพเจ้าเมื่อเห็นดวงอาทิตย์เปล่งแสงออกมาอีกครั้ง ท่านนำข้าพเจ้าเข้าเฝ้าโดยทันทีหลังจากนั้น และข้าพเจ้าได้นั่งลงร่วมกับคณะเสนาบดีที่มาร่วมประชุมพร้อมแล้ว เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ฉากกั้นระหว่างเราสองฝ่ายถูกปลดลงไป  พระเจ้าอยู่หัวและเสนาบดีต่างนั่งล้อมรอบ ยิ้มเริงร่าและสนทนากันอย่างตลกขบขัน พิธีรีตรองถูกตัดลงไปที่สั้นที่สุด เสรีภาพในการพูดได้รับพระราชานุญาตให้เป็นไปอย่างเต็มที่

พระเจ้าอยู่หัวทรงบรรยายปรากฏการณ์และสาเหตุของสุริยคราสอย่างชัดเจน แสดงถึงความละเอียดลออที่ทรงศึกษาเรื่องนี้มา สุดท้ายได้พระราชทานเหรียญทอง(ตามประเพณีของสยามในเนื่องในโอกาสสำคัญ) และการประชุมอันน่าสนใจนี้ก็ยุติลง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 14:10

.


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 14:13

ในเวลาเดียวกัน นายพันเอกออร์ดและคณะของท่านก็ได้สังเกตุการณ์การเกิดสุริยุปราคาครั้งนี้ แต่ไม่ค่อยจะได้คุณค่าทางวิทยาการใดๆ เทียบกับการสังเกตการณ์ของคณะนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่ทำงานด้วยอุปกรณ์ระดับยอดเยี่ยมเป็นที่สุด

ในช่วงบ่ายพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยือนนายพันเอกออร์ดที่เรือนรับรองของท่าน นับเป็นการถ่อมพระองค์อย่างน่ายกย่อง   ค่ำวันนั้นนายพันเอกออร์ดได้รับเชิญให้ไปชมการแสดงละคร
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 14:15

.


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 14:16

เช้าวันรุ่งขึ้นพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯที่จะฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับพระราชอาคันตุกะอีกครั้ง  และทันทีที่แล้วเสร็จ ค่ายสุริยคราสก็สลายตัวลงประหนึ่งกองหิมะภายใต้แสงพระอาทิตย์ อาคันตุกะที่มาอย่างไม่เป็นทางการได้ออกเดินทางทันทีหลังจากคราสแล้ว พระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับประมาณเที่ยงของวันที่๑๙ เรือกลไฟและเรือยอชท์แล่นใบที่คนโดยสารลงไปแออัดยัดเยียดก็รีบออกเดินทางกลับ เรือรบหลวงแซทเทิลไลท์เดินเครื่องมุ่งไปยังประเทศจีน เรือรบฝรั่งเศสเฟรลอง มุ่งสู่ไซ่ง่อนพร้อมกับข่าวของความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

นายพันเอกออร์ดตัดสินใจที่จะลงเรือในช่วงบ่าย ข้าพเจ้าซึ่งควรจะได้ไปส่งท่านถึงเรือ แต่เพื่อที่จะไม่ให้เป็นการเสียเวลาของเรือรบหลวงยงยศอโยฌิยาซึ่งได้รับมอบหมายให้บริการข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจึงต้องยอมขาดงานส่งฯพณฯ และลงเรือเพื่อกลับบ้านพร้อมกับท่านสมุหกลาโหม ทิ้งค่ายที่กำลังเริ่มการรื้อถอนซึ่งข้าพเจ้าได้รับประสบการณ์ของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างกว้างขวาง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณแสดงความสนิทสนมเป็นพิเศษดังกล่าว และได้ร่วมเป็นสักขีพยานในปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่สุดทางดาราศาสตร์


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 15:18

การ"ลงทุน"ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯครั้งนั้น มีกำไรด้านนามธรรมอย่างมากมายประเมินค่ามิได้ การเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าสยามมิได้เป็นชนชาติล้าสมัย ไม่ยอมรับรู้รับเห็นโลกภายนอกอะไรทั้งสิ้นก็เปลี่ยนไป แม้จะไม่ทำให้พวกเจ้าอาณานิคมหยุดความพยายามที่จะเอาสยามเป็นเมืองขึ้น แต่ก็ต้องคิดหนัก เพราะเส้นทางทางการทูตได้ถูกเปิดขึ้น รัชกาลต่อมาสยามจึงสามารถเจรจา หากุศโลบายในการพึ่งพามิตรประเทศในยุโรป ให้ช่วยประคับประคองเอกราชของสยามจนแคล้วคลาดตลอดรอดฝั่ง

เฮนรี อาลาบาศเตอร์อาจถูกมองว่าเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนโยนเกินไป เห็นใจเหยื่อเกินกว่าจะเป็นนักการทูตของประเทศที่หากินทางการล่าอาณานิคม ท่านรักคนไทยมากไป ไม่ควรที่จะดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่แห่งสหราชอาณาจักรประจำสยามได้
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 15:40


June 1877  และ  1879    ปาลาเซียเขียนจดหมายถึงป้า  จากสยาม

19 June, 1877: Palacia to Auntie:

"....Henry has been wonderfully well through all the hot season, the trip with the King and then our own trip in the cold season quite set him up. Charles and Ernest [her sons] are not quite so well. I think require sea air. I am going to take them down to the coast for a few weeks. I am a martyr to prickly heat which makes me exceedingly irritable and disagreeable. We are going on very quietly in Bankok, one week much the same as another and the time slips away very quickly. His Majesty gave us a little change and a very pleasant evening last week....and received us in the drawing room of the New palace - he has exceedingly nice manners.. . Henry is just starting off on a surveying trip - not very good weather for such work - I think he will have to join us at the seaside after - it is such hard work preparing for these trips to the sea - we have to take everything with us - and I am so tired just now with my attempt to prepare that I can hardly stand ...... Yours affectionately. . . . "

(ชาล์ส และ เอิร์นเนส(บุตรชาย) ไม่ค่อยสบาย   น่าจะได้ไปพักผ่อนได้อากาศทะเลบ้าง   หลานกำลังจะพาลูก ๆ ไปชายทะเลเสียบ้าง    หลานอดทนกับความร้อน
 อย่างสุดจะทน     ทำให้อารมณ์ไม่ดีและหงุดหงิด....)

25 May, 1879: Palacia to Auntie from Bangkok:

"Henry is very busy with the Siamese - sent for at all hours of the day - and woken up out of his sleep in the night - I wish that they would see that his salary is inadequate - which is most certainly is - it is wonderful how he manages to get such an amount of brain-work [done]...
(แปล    เฮ็นรี่ทำงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา   คนไทยก็ตามหาตัวเขาอยู่ทั้งวัน       พวกเขาน่าจะเห็นว่าเงินเดือนเฮ็นรีน้อยนิด  ซึ่งเป็นอย่างนั้นจริง ๆ     มหัศจรรย์เหลือเกินที่เฮ็นรียังใช้สมองทำงานได้)




ในจดหมายเหตุส่วนพระองค์ฉบับหนึ่ง     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ครัสกับ อาลาบาสเตอร์ว่า

ฝากขอบใจภรรยาของเจ้าที่ส่งรูปน้ำเป็นท้องน้ำและเรือต่าง ๆมาให้       เราหวังว่าจะได้ดูรูปที่สวยๆอีก
(เล่าจากความทรงจำ  ว่า พระเจ้าน้องยาเธอเป็นผู้ทูลเกลัาทูลกระหม่อมถวายแทน)


Ah, if Henry and I could only be there [England] with the boys. I believe I miss them more and more and when there will be a prospect of seeing them I do not know. I was glad to get your account of them.....".

(แปล     โอ!   เพียงแต่เฮนรีและหลานจะได้ไปอยู่ที่นั่น(ในประเทศอังกฤษ)    หลานเชื่อว่า

หลานคิดถึงลูก ๆ มากขึ้นทุกที     จะได้เห็นหน้ากันอีกเมื่อไรก็ไม่ทราบ     หลานดีใจที่คุณป้าเขียนมาเล่าเรื่องลูก ๆ)

(ลูกฝรั่งนั้นเมื่อเข้าโรงเรียนตอนเด็ก ๆ   ก็ไปอยู่โรงเรียนประจำ  กลับมาบ้านตามวันหยุด)


เงินที่จะมอบให้แม่ม่ายเลี้ยงชีพ  และส่งลูก ๆ เรียนนั้น  ก็จะต้องส่งผ่านสถานทูตไทยต่อไป  จึงนับเป็นปอนด์




ของที่เลหลังนั้นให้แบดแมนเลหลัง       การเลหลังนั้นเมื่อเก็บเงินๆได้ครบถ้วนแล้วก็จะรวบรวมส่งไปให้ผู้นำมาเลหลัง
สยามไสมย    หน้า ๒๔๙  มีรายการครบถ้วน


พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์เล่าว่า  อาศัยอยู่แถวพระบรมมหาราชวัง       ที่อยู่ของอาลาบาสเตอร์อยู่ริมแม่น้ำฝั่งตะวันตก

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 19
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.043 วินาที กับ 19 คำสั่ง