เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 19
  พิมพ์  
อ่าน: 63565 เฮนรี่ อาลาบาศเตอร์ ฝรั่งดีที่ฝากร่างและผลงานไว้ในสยาม
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 13 ก.ย. 12, 22:15




ข้อมูลนั้นอาจไม่ตรงกันบ้างก็เป็นได้
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 07:14

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายเฮนรี่ ถึงพระเนตรพระกรรณ

"ร.ที่ ๒๓๕

ทูล  สมเดจพระเจ้าบรมวงษเธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์

       ด้วยมิสเตออาลบาสเตอป่วยเปนลมอำมพาธอย่างแรงที่สุดแต่คืนนี้เวลา ๑๐ ทุ่ม
ไม่มีสติเลย  มาจนเวลาวันนี้สองทุ่มตาย   เปนการขาดทุนยิ่งใหญ่ของเรา 
การทั้งปวงก็ยังอะร่าอร่ามอยู่มาก  มิสเตออาลบาสเตอได้รับราชการมาถึงสิบสามสิบสี่ปี
ทำการโดยซื่อตรงจงรักภักดีต่อไทยจริงๆ  การใหญ่ๆ ก็ได้ปล้ำปลุกมามาก   
จะหาคนนอกใช้ให้เสมอเหมือนยากนัก  จะว่าโดยความชอบที่มีมากให้กินพานได้ทีเดียว
ธรรมเนียมกงซุลต่างประเทสที่มาตายในกรุงเทพฯ ก็เคยได้เครื่องศพ 
มิสเตออาลบาสเตอตายในระหว่างราชการ  ควรจะต้องจัดการศพให้ดีกว่ากงซุลต่างประเทศ
ขอให้ท่านทรงสั่งการให้พร้อมทุกอย่าง  ถ้ามีเรือสำหรับที่จะพาหีบสพไปด้วยจะดี 
ขอให้จัดให้พร้อมแต่เช้า  ทันเวลาที่เขาจะไปฝัง  จะได้เปนเครื่องล่อใจคนต่างประเทศ
ที่รับราชการให้เหนเปนเกียรติยศด้วย   ถ้าได้จัดการอย่างไรบ้าง  ขอให้รับสั่ง
กับเทวัญให้ทราบด้วย  จะได้ไปนัดแนะบอกเล่ากันให้รู้

      ทูลมา ณ วัน ๖ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๙ ปีวอก ฉศก  ศักราช ๑๒๔๖
                                             
                                                      สยามินทร์"
บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 08:27

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายเฮนรี่ ถึงพระเนตรพระกรรณ



       มิสเตออาลบาสเตอได้รับราชการมาถึงสิบสามสิบสี่ปี


อลาบาสเตอร์ ถึงแก่อนิจกรรม วันที่ ๘ สิงหาคม  ค.ศ.  ๑๘๘๔ (พ.ศ. ๒๔๒๗)อายุ ๔๘ ปี

ถ้าลบด้วย ๑๓ - ๑๔ ปี ก็จะเข้ามาเมืองไทย ประมาณ พ.ศ. ๒๔๑๓-๒๔๑๔ ซึ่งตรงกับที่ที่เสด็จฯ ประพาส สิงค์โปร์ ชวา อินเดีย รวม ๒ ครั้ง ....

ถ้าเป็นเช่นดังที่ อาจารย์เทาชมพูได้กรุณา ค้นข้อมูลเิชิงลึก มาให้ แสดงว่า ท่านกลับไปพำนักที่อังกฤษ เพียง ๑-๒ ปี ก่อนเดินทางมารับราชการในสยาม และในช่วงแรก ท่านก็เดินทาง ไป-มา สยามกับอังกฤษ อยู่ หรือไม่เช่นนั้น คุณนายปาลาเซีย ก็เดินทางเก่งมาก เพราะต้องลงเรือหลายเดือนกว่าจะเดินทางกันถึง....

ในช่วงปีที่ท่านรับราชการ ให้กับรัฐบาล อังกฤษ (๑๘๖๔-๑๘๗๑) มีหนังสือโต้ตอบ ระหว่าง อลาบาสเตอร์ กับกระทรวงต่างประเทศอังกฤษหลายฉบับ อยู่ที่อังกฤษ  อยากทราบเรื่องราวจังครับ ว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง.......


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 09:57

ที่ผมเขียนไปแล้วว่า นายอาลาบาศเตอร์ได้เดินทางจากอังกฤษกลับมาประเทศไทยโดยตรง แล้วจึงมีโอกาสเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว

คือผมไม่คิดว่าท่านจะมีโอกาสได้เข้าเฝ้าในสิงคโปรหรือประเทศอื่น ในขณะเสด็จประพาสเพื่อศึกษาบ้านเมืองที่ฝรั่งพัฒนา สมัยนั้น พระองค์เจ้าปฤศฎางค์เป็นทูตอยู่ในลอนดอน ผมเคยผ่านตาว่าเคยมีรับสั่งไปให้เสาะหาฝรั่งเข้ามารับราชการด้วย เฮนรีมีความผูกพันกับคนไทย ทีความรู้ภาษาไทยดี ได้น่าจะไปที่สถานทูตเพื่อหางานทำบ้าง ซึ่งทำให้เขาได้มีโอกาสกลับมาสยามเพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นช่องทางที่เสี่ยงน้อยกว่าจะสุ่มพาลูกพาเมียไปเตะฝุ่นในอินเดียหรือสิงคโปรเพื่อหางานดีๆทำ แล้วเผอิญโชคช่วยให้ได้พบพระเจ้าอยู่หัวที่นั่น

 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 10:40

    ต่อจากค.ห. 97
    - เฮนรีลาออก และเดินทางจากสยามไปในปี ค.ศ. 1868 (พ.ศ. 2411) คือปีที่เปลี่ยนแผ่นดินจากรัชกาลที่ 4 เป็นรัชกาลที่ 5   
    - เฮนรีไม่ได้กลับไปรับราชการ   เขาไปตั้งหลักแหล่งอยู่ในเมืองทวิกเกินนัม  มณฑลมิดเดิลเซกส์  ประเทศอังกฤษ
    - ลูกชายคนที่สองของเขา ชาร์ลส์ ชาลอนเนอร์ เกิดที่เมืองทวิกเกินนัม (Twickenham) เมื่อ ค.ศ. 1869 (พ.ศ. 2412)
    - ลูกชายคนที่สาม  เอ็ดเวิร์ด เพอร์ซี  อาลาบาศเตอร์   เกิดที่บ้านนี้เช่นกัน เมื่อค.ศ. 1870 (พ.ศ. 2413)
    - เฮนรีใช้เวลาช่วงนี้เขียนตำราธรรมะเรื่อง THE WHEEL OF THE LAW  ซึ่งตีพิมพ์เมื่อค.ศ. 1871 (พ.ศ. 2414) 
    - ลูกชายคนสุดท้อง  เออเนสต์  เกิดที่บ้านนี้เช่นเดียวกับพี่ชายทั้งสอง  เมื่อค.ศ. 1872  (พ.ศ. 2415)
    - เฮนรี่เดินทางกลับเข้ามาในสยาม  เมื่อ ค.ศ. 1873 (พ.ศ. 2416) ในฐานะที่ปรึกษา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ดิฉันยังหาหลักฐานไม่ได้ว่าคุณนายพาลาเซียเดินทางกลับมาด้วยหรือเปล่า    มีหลักฐานว่าเธอมีผลงานภาพวาด เป็นศิลปินมืออาชีพ    ถ้าหากว่าเธอกลับมาสยามก็น่าจะมีภาพวาดบ้านเมืองในสยามให้เห็นเป็นหลักฐานบ้าง   แต่ก็ยังไม่เจอ
    รู้แต่ว่าเฮนรี อาลาบาศเตอร์กลับมาพำนักอยู่ตลอดไปในกรุงเทพ   จนถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 48 ปี ในค.ศ. 1884(พ.ศ. 2427)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 10:59

  เฮนรี อาลาบาศเตอร์ มีลูกชายอีก 2 คนกับคุณเพิ่ม ภรรยาชาวไทย
  - ทองย้อย  (พระยาวันพฤกษ์พิจารณ์) เกิดเมื่อพ.ศ. 1879 (พ.ศ. 2422)  หลังจากพ่อกลับเข้ามาอยู่ในสยามได้ 6 ปี
  - ทองคำ  (พระยาอินทราธิบดี สีหราชรองเมือง) เกิดเมื่อ พ.ศ. 1882 (พ.ศ.2425)  อายุเพียง 2 ขวบ เมื่อบิดาถึงแก่กรรม

    กำลังสงสัยอีกอย่างหนึ่งว่า เฮนรี กับพาลาเซียอาจจะแยกกันอยู่   ตั้งแต่เขาเดินทางกลับมาสยามในค.ศ. 1873   เธออยู่กับลูกชายเล็กๆ 3 คนทางโน้น   มีรายได้จากการวาดภาพพอเลี้ยงชีพได้ไม่เดือดร้อน   ส่วนสามีมารับราชการอยู่กับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทางนี้    เพราะมีที่ใดที่หนึ่งในค.ห.ก่อนๆในกระทู้นี้ระบุว่าพาลาเซียเข้ากับชีวิตในสยามไม่ค่อยจะได้     ลูกคนแรกก็ตายที่นี่
     เมื่อมีลูกเล็กๆอีก 3 คน อายุแค่ 4 ขวบ  3 ขวบ และ 1 ขวบ  เธออาจไม่อยากหอบลูกตามมาอยู่ให้เสี่ยงกับโรคภัยไข้เจ็บ   ส่วนเฮนรีน่าจะเป็นคนสุขภาพดีในวัยหนุ่ม  เห็นได้จากไปหว้ากอแล้วกลับมาปลอดภัยแข็งแรงดี   ไข้ป่าทำอะไรไม่ได้

     การหย่าขาดจากกันในสมัยวิคตอเรียนเป็นเรื่องใหญ่และยาก   ไม่ง่ายดายอย่างยุคปัจจุบัน    ดังนั้นสามีภรรยาที่ไม่ประสงค์จะอยู่ด้วยกัน อาจใช้วิธีแยกกันอยู่     แต่ตามกฎหมายก็ยังได้ชื่อว่าสมรสกันอยู่เช่นเดิม
      ด้วยเหตุนี้    จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมอาลาบาศเตอร์จึงมามีภรรยาใหม่ที่นี่    ในตอนแรกๆอาจหวังว่าคุณนายแหม่มจะตามมา พร้อมกับลูกๆ  แต่ปีแล้วปีเล่าก็ไม่ยอมมาสักที    จนรู้แน่ว่าเธอไม่มาแล้ว เขาจึงมีภรรยาใหม่  มีลูกเล็กๆอีก 2 คน
     นี่คือเหตุผลว่าทำไมไม่มีบันทึกถึงลูกๆฝรั่งของเฮนรี่ในจดหมายเหตุหรือเรื่องเล่าสมัยรัชกาลที่ 5   อย่างน้อยถ้าอยู่ในสยาม  เด็กพวกนี้น่าจะได้ติดตามพ่อที่เป็นที่ปรึกษาพระเจ้าแผ่นดิน ไปเข้าเฝ้าเจ้านายเล็กๆบ้าง   ขนาดนายหลุยส์ เลียวโนเวนส์ตอนเด็กๆอยู่ในรัชกาลที่ 4  ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเล่าให้ได้ยินกัน
 
   ในเมื่อยังไม่ได้หย่าขาดจากพาลาเซียตามกฎหมาย สถานกงสุลก็ถือว่าคุณนายพาลาเซียเป็นภรรยาม่ายอย่างถูกต้องตามกฎหมายของเฮนรี อาลาบาศเตอร์  เงินทองบำเหน็จบำนาญก็ต้องตกทอดไปถึงเธอเพียงผู้เดียว
บันทึกการเข้า
piyasann
พาลี
****
ตอบ: 379


ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 11:08

สรุปจาก ค.ห. ๑๐๘ - ๑๐๙ แปลว่า

อลาบาสเตอร์ น่าจะตรงมาจากอังกฤษ เมื่อปีค.ศ. ๒๔๑๖ ไม่ใช่ ไปบังเอิญ พบกับ ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ที่สิงค์โปร์ ในระหว่าง เสด็จฯประพาส ?

เมื่อเทียบข้อมูลกับ ข้อความที่พระยาวันพฤกษ์ฯ เขียนใส่เซฟไว้ แล้วทายาทนำมาพิมพ์ในหนังสืองานศพท่าน ก็ไม่มีตอนที่พบกันที่สิงค์โปร์

ข้อนี้ผมพยายามหา เพื่อจะทราบว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า ทรง "เลือก" ให้อลาบาสเตอร์มารับราชการ หาใช่ อลาบาสเตอร์ มาแกร่ว อยู่สิงค์โปร์ แล้วทรงชวนมารับราชการ ?
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 11:26

   ยังหาหลักฐานไม่ได้  ก็ได้แต่ใช้วิชาเดาชั่น   แต่เดาชนิดมีที่มาที่ไป
   เฮนรี่กลับไปอังกฤษ  มิใช่เพราะมีปัญหากับราชการไทย  แต่มีปัญหากับราชการอังกฤษที่เลือกกงสุลนอกซ์ข้ามหัวเขาไป    หลักฐานที่แสดงออกว่าเขาลาออกจากราชการไปเลย  คือเขาไปตั้งหลักแหล่งในมิดเดิลเซกส์แทนที่จะมีบ้านอยู่ในลอนดอน    เขามีเวลาว่างพอจะเขียนหนังสือเรื่องพุทธศาสนาได้  แสดงว่าเฮนรี่อาจไม่ได้ทำงานประจำที่ไหน
    เป็นได้ว่าเฮนรี่ยังติดต่อทางใดทางหนึ่งกับสยาม   ที่ใกล้ตัวที่สุดพอสื่อสารเขียนจดหมายไปมาหากันได้สะดวกคือติดต่อกับสถานทูตไทย     ชื่อเสียงของเฮนรีที่ทำไว้ดีสมัยทำงานถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็คงทำให้ทูตไทยไม่รังเกียจจะติดต่อด้วย  ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีพระราชปรารภกับพระองค์เจ้าปฤศฎางค์ อยากได้ฝรั่งที่ปรึกษาสักคน    ฝรั่งที่ไหนจะเหมาะเท่าเฮนรี่  ซึ่งเคยอยู่ในสยามมาหลายปี  แล้วยังว่างจากงานประจำอยู่ด้วย   ฝรั่งอื่นๆที่อาจจะอยากมารับตำแหน่งนี้ก็คงไม่มีใครมีประสบการณ์ในสยามมาก่อน
   เมื่อได้รับการติดต่อ  เฮนรี่ก็ตกลงใจเดินทางมาทันที     ลูกคนเล็กเพิ่งขวบเดียว   เป็นได้ว่าคุณนายแหม่มรั้งรอไว้  ขออยู่บ้านในมิดเดิลเซกส์ให้ลูกๆโตกว่านี้เสียก่อน   อุ้มลูกเล็กตั้ง 3 คนเดินทางครึ่งโลกกลับมาในสยามอีก  เธอเกรงว่าเด็กจะทนลำบากตรากตรำไม่ได้   ทารกฝรั่งในสยามป่วยตายกันหมดทั้งนั้น
   ไม่น่าเป็นไปได้ว่าเฮนรีเดินทางตุหรัดตุเหร่มาอินเดีย สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือชวา แบบมาหางานทำเอาดาบหน้า     ไม่มีใครเขาทำกันแบบนั้น   ถ้าเป็นนักแสวงโชคร่อนเร่แบบ soldier of fortune อย่างที่เราอ่านกันในกระทู้โปรตุเกสเข้าเมืองก็ไปอย่าง พวกนั้นเป็นคนไม่มีอนาคต     
  เฮนรีเป็นปัญญาชน  เคยเป็นถึงผู้รักษาราชการแทนกงสุลอังกฤษในสยาม   เขาคงไม่คิดจะเดินทางไปสุดโลก แบมือหางานทำที่ไหนก็ได้   งานกุลีก็เอา    ถ้างั้นหางานในอังกฤษไม่ดีกว่าหรือ เรียนมาตั้งหลายสาขาวิชา  ได้งานดีกว่ามาหาแถวตะวันออกไกลแน่นอนค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 12:08

เป็นวิชาเดาชั่นที่น่าเลื่อมใสครับ คุณนายพาลาเซียหลังจากกลับไปอังกฤษเมื่อสามีลาออกจากราชการก็คงไม่อยากกลับมาสยามอีก น่าจะเป็นห่วงลูกตามสัญชาติญาณของแม่นั่นแล้ว รูปที่เธอวาดไว้ในสยามจึงพบแต่รูปค่ายหลวงหว้ากอ เป็นภาพสีน้ำที่คุณเพ็ญชมพูเอามาลงไว้ตั้งแต่ต้น ถึงจะวาดรูปหาเลี้ยงชีพ นายอาลาบาศเตอร์คงจะยังส่งเสียเลี้ยงดูอยู่ แม้เงินที่พระราชทานหลังนายอาลาบาศเตอร์เสียชีวิต ซึ่งระบุให้แม่หม้ายอาลาบาศเตอร์และบุตร ก็ยังจ่ายเป็นเงินปอนด์เลย แสดงว่าตัวผู้รับคงจะอยู่ทางโน้น ไม่ใช่กรุงเทพ

ส่วนภรรยาไทยและบุตร จะว่าลำบากก็คงจะเปรียบเทียบกับเมื่อบิดายังอยู่ และสิ่งที่ภรรยาแหม่มได้รับ ทว่าบุตรชายทั้งสองของท่านก็ได้รับการศึกษาที่ดีเยี่ยมเท่าที่คนไทยสมัยนั้นจะพึงได้ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เข้ารับราชการ มีเจริญรุ่งเรืองในกาลต่อมาไม่แพ้บิดา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 12:46

ผมนำรายงานที่นายอาลาบาศเตอร์เขียนส่งไปกระทรวงต่างประเทศอังกฤษตามที่คุณเพ็ญชมพูลิงค์ไว้ให้ ไปถอดความเป็นภาษาไทย และขอร้องให้ท่านผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งแก้ใขขัดเกลา เพื่อที่จะเอามาลงในกระทู้นี้ ท่านผู้อ่านนอกจากจะได้ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในค่ายหลวง คราวเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอแล้ว ยังจะได้ทราบหัวจิตหัวใจของนายอาลาบาศเตอร์ ผู้ที่รัฐบาลอังกฤษจ้างไว้เพื่อหาหนทางผนวกสยามไว้เป็นเมืองขึ้น แต่สุดท้าย ท่านกลับเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพยายามกระทำทุกทางที่จะมิให้สยามต้องตกเป็นอาณานิคมของชนชาติยุโรป
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 12:47

.


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 12:49

พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงมีพระประสงค์จะเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาสิงหา๑๘ที่คลองวาฬ ซึ่งข้าพเจ้าได้รับเชิญ(รวมทั้งกงสุลฝรั่งเศส)ให้ไปร่วมด้วยในฐานะแขกของรัฐบาลด้วย ทรงเป็นกังวลอยู่มากว่าน่าจะมีข้าราชการระดับสูงของอังกฤษมาร่วมด้วยสักจำนวนหนึ่ง เมื่อทรงทราบจากข้าพเจ้าว่า นายพันเอก เซอร์แฮรี ออร์ด ข้าหลวงนิคมแหลมมลายูสิงคโปร น่าจะสนองพระราชไมตรีโดยมาเฝ้าพระองค์ที่นั่น จึงทรงมีความยินดีที่จะส่งพระราชสาส์นไปเชิญ ซึ่งเซอร์แฮรี ออร์ดก็ยินดีที่ได้รับ

ข้าพเจ้าได้แนบต้นฉบับพระราชสาส์นมาพร้อมกันนี้

(คือภาพที่ผมอัญเชิญมาไว้ข้างบน)


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 12:54

พระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จออกจากพระนครประมาณสองสัปดาห์ก่อนจะเกิดสุริยคราส ระหว่างนั้นท่านสมุหกลาโหม(สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ต้นฉบับใช้คำว่า Prime Minister)และทหารนายร้อยได้สร้างค่ายใหญ่ราวกับเมืองๆหนึ่งในป่าอันไกลโพ้น สำหรับเป็นที่ให้พวกเราจะได้พำนัก และเพื่อไม่ให้แขกรู้สึกว่าขาดตกบกพร่องสิ่งใด กุ๊กฝรั่งเศสกับผู้ช่วยชาวยุโรปและจีนประมาณสีสิบคนจึงถูกส่งไปจัดการตั้งโรงครัวขึ้นที่นั่น ใช้เรือกลไฟวิ่งไปวิ่งมาหลายเที่ยวเพื่อขนสัมภาระ แม้เรือเมล์ยังต้องเปลี่ยนเส้นทางเพื่อที่จะนำของเลิศหรูจากสิงคโปรมาส่งให้

ทรงเกรงว่าเมื่อขุนนางส่วนใหญ่ทิ้งพระนครไปในช่วงดังกล่าว รวมทั้งการเคลื่อนย้ายเรือรบไปอีก จะเป็นการยั่วยุให้พวกอั้งยี่อันธพาลก่อจลาจลขึ้นได้ ข้าพเจ้าได้ทูลแนะนำให้เพิ่มกำลังตำรวจมากยิ่งขึ้น(ซึ่งทรงทำตาม) กำลังตำรวจจึงขยายขึ้นเท่าตัวและเข้าประจำตามจุดต่างๆครอบคลุมส่วนที่เป็นตั้งถิ่นฐานของชาวต่างชาติในกรุงเทพ ดังนั้น อิทธิพลของสุริยคราสทำให้ข้าพเจ้าได้รับสิ่งที่ข้าพเจ้าได้พยายามร้องขอมานานกว่าปีแล้วโดยไม่ยากเย็น


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 12:57

พอถึงวันที่๑๒ ข้าพเจ้าก็เดินทางโดยเรือปืนยงยศอโยชฌิยา(The Impregnable)ซึ่งเป็นเรือรบที่ดีที่สุดของสยาม กัปตันชื่อวัลรอนด์ กงสุลฝรั่งเศสซึ่งไม่ได้เตรียมการจะไปในวันนั้นก็เลยพาลไม่ไปเสียเลย แม้ต่อมาจะมีการเสนอเรืออื่นอีกสองลำให้เขาก็ตาม ส่วนที่ไปพร้อมข้าพเจ้าก็มีภรรยาของข้าพเจ้า นางแคมป์เบล นายเคนเนดี้กับนายโกลด์จากสถานกงสุล และพ่อค้าชาวอังกฤษสองคน ชาวยุโรปและอเมริกันคณะใหญ่รวมทั้งรักษาการกงสุลสหรัฐก็ถูกจัดให้ไปพร้อมกับเรือลำเดียวกันนี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 14 ก.ย. 12, 13:16

เมื่อไปถึงในเช้าของวันที่๑๔ ข้าพเจ้าได้รับหนังสือของท่านสมุหกลาโหม ขอให้ข้าพเจ้าอยู่บนเรือก่อนจนกว่าคนอื่นจะขึ้นฝั่งหมดแล้ว ด้วยว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะต้อนรับข้าพเจ้าอย่างเป็นทางการ ข้าพเจ้าจึงปฏิบัติตาม และเมื่อขึ้นฝั่ง รองเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศได้มารอรับอยู่ที่ปลายสพานท่าเทียบเรือพร้อมเจ้าหน้าที่อื่นๆและนำข้าพเจ้าไปยังประตูชั้นนอกของพระราชฐานโดยทันที ที่นั่น พระเจ้าอยู่หัว รอบล้อมด้วยพระราชวงศ์และเหล่าเสนาบดี ได้ทรงต้อนรับข้าพเจ้าอย่างอบอุ่น และพระราชดำเนินไปทรงปืนเพื่อยิงสลุตเจ็ดบอกให้ข้าพเจ้าด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง ถือได้ว่าเป็นเกียรติยศที่นอกเหนือแบบแผน พระองค์ประทับยืนโดยพระหัตถ์ข้างหนึ่งทรงถือนาฬิกาพกไว้ และทรงจุดชนวนยิงโดยรักษาเวลาให้พอดีไม่มีผิดพลาด   ตรัสว่าทรงต้องการแสดงให้พวกนายทหารเห็นการรักษาช่วงเวลายิงให้เที่ยงตรง

พระเจ้าอยู่หัวเสด็จนำข้าพเจ้าเดินข้ามลานพระราชฐานไปยังพลับพลาโปร่ง และระหว่างการเสริฟน้ำดื่ม ทรงชวนสนทนาด้วยเรื่องสุริยุปราคา แสดงความรู้ของพระองค์ในเรื่องที่ข้าพเจ้าไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนว่าจะได้รับฟัง หลังจากเข้าเฝ้าแล้วท่านสมุหกลาโหมได้นำข้าพเจ้าไปยังเรือนที่พักของท่าน ซึ่งถัดไปก็คือเรือนที่สร้างไว้สำหรับข้าพเจ้า


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 19
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.074 วินาที กับ 19 คำสั่ง