ถูกต้องนะครับ

ภาพนี้คือภาพของ พันเอก หลวงรณสิทธิพิชัย (เจือ กาญจนิทุ) ครับ
พันเอก หลวงรณสิทธิพิชัย (เจือ กาญจนินทุ) เกิดเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๔๒ ตรงกับวันอังคาร แรม ๗ ค่ำ ปีกุน ณ ตำบลบางซื่อ อำเภอบางซื่อ พระนคร เป็นบุตรลำดับที่ ๓ จากจำนวนพี่น้อง ๕ คน ของพันตำรวจตรี หลวงนิกรบริรักษ์ (เจิม กาญจนินทุ) และนางเนย กาญจนินทุ
เนื่องจากคุณพ่อของ พันเอก หลวงรณสิทธิพิชัย เป็นข้าราชการ ย่อมรู้ถึงคุณประโยชน์ของการศึกษาดี จึงให้ลูกทุกคนได้เข้าเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย สถานศึกษาแห่งแรกที่พันเอก หลวงรณสิทธิพิชัย ได้เข้าศึกษา คือโรงเรียนวัดอัมรินทร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้าน หลังจากนั้นท่านได้ลาออกเพื่อไปเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ศึกษาอยู่จนถึงพุทธศักราช ๒๔๕๔ จึงได้ไปสมัครเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบก โดยการแนะนำของพี่ชายคนโต คือ ร้อยโท ขุนพจนการโยธาทร (พจน์ กาญจนินทุ) ขณะศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็น หัวหน้าหมวดในกองร้อยที่ ๑ โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม ผู้ช่วยผู้บังคับหมวดในกองร้อยนักเรียนนายดาบ โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม และนักเรียนทำการนายร้อยกรมทหารราบที่ ๒๐ จังหวัดร้อยเอ็ด
พุทธศักราช ๒๔๖๒ สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็น นายทหารประจำกรมทหารบกที่ ๒๐ พุทธศักราช ๒๔๖๓ ได้รับพระราชทานยศร้อยตรี ปฏิบัติหน้าที่เป็น นายทหารฝึกหัดราชการ แผนกที่ ๕ กรมยุทธศาสตร์ทหารบก พุทธศักราชการ ๒๔๖๔ เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนกรมยุทธศาสตร์ทหารบก และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก พุทธศักราช ๒๔๖๕ ได้รับพระราชทานยศร้อยโท ปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็น นายทหารฝึกหัดราชการ โรงเรียนการฝ่ายเสนาธิการ กรมยุทธศาสตร์ทหารบก นายทหารฝ่ายเสนาธิการ กองพลทหารบกที่ ๑๐ พุทธศักราช ๒๔๗๐ ปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็น นายทหารฝ่ายเสนาธิการ กองพลทหารบกที่ ๖ และในปีเดียวกันนั้นได้รับมอบหมายให้เป็น ครูวิชาทหาร กรมยุทธศึกษาทหารบก พุทธศักราช ๒๔๗๑ ได้รับพระราชทานยศร้อยเอก
วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ ได้ร่วมในคณะราษฎรขอพระราชทานรัฐธรรมนูญจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ในปีเดียวกันนั้น ปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็น ผู้บัญชาการกองร้อยที่ ๓ กองร้อยนักเรียนนายร้อยและนักเรียนนายดาบ
พุทธศักราช ๒๔๗๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ และปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็น ผู้บัญชาการ ร้อย ๑ พัน ๔ (พระนคร) ผู้บัญชาการนักเรียนนายร้อย ร้อย ๑ พุทธศักราช ๒๔๗๗ ปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นรองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๑ รักษาการในตำแหน่ง เสนาธิการมณฑลทหารบกที่ ๑ ในปีเดียวกันนั้น ได้รับพระราชทานยศพันตรี และก้าวหน้าในตำแหน่งทางราชการมาเป็นลำดับ จนพุทธศักราช ๒๔๗๘ ได้รับพระราชทานยศพันโท
เป็นธรรมดาของผู้ที่ก้าวเข้าไปเล่นการเมือง ย่อมได้รับผลของการเมืองบ้าง ดังนั้น ชะตาร้ายทางการเมืองจึงได้เดินเข้ามาหา พันเอก หลวงรณสิทธิพิชัย เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ ได้มีคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็น ประจำกองบัญชาการ กรมเสนาธิการทหารบก และขอให้หยุดราชการไปพักผ่อนร่างกายในประเทศอินโดจีนฝรั่งเศส (คือประเทศกัมพูชา ซึ่งในขณะนั้นเป็นประเทศในอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศส) โดยยังได้รับพระราชทานเงินเดือนอยู่ ขณะที่อยู่ในประเทศอินโดจีนฝรั่งเศสนี้ ได้เกิดกรณีพิพาทระหว่างประเทศไทยกับประเทศอินโดจีน คือการเรียกร้องดินแดนบางส่วนของประเทศไทยคืน ทางประเทศฝรั่งเศสทราบว่า พันเอก หลวงรณสิทธิพิชัย เป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการและต้องออกไปอยู่ที่ประเทศอินโดจีนฝรั่งเศส เพราะเหตุทางการเมือง จึงได้ไปติดต่อขอให้ช่วยกองทัพของฝรั่งเศส แต่ท่านได้ตอบปฏิเสธโดยเด็ดขาด เพราะรู้ว่าจะให้ช่วยทำแผนเข้าโจมตีประเทศไทย ท่านไม่มีเหตุผลอันใดที่จะทรยศต่อชาติไทย ถึงแก่ต้องลดฐานะของนายทหารไทย และคนไทยลงไปต่ำถึงเพียงนั้น เมื่อได้รับการปฏิเสธ ทางการของประเทศฝรั่งเศสจึงได้สั่งย้ายท่านจากกรุงพนมเปญไปอยู่ที่เมืองโชลอง อันเป็นถิ่นทุรกันดารซึ่งท่านก็ได้ปฏิบัติตาม
ตลอดระยะเวลาที่อยู่ที่ประเทศอินโดจีนฝรั่งเศสนั้น พันเอก หลวงรณสิทธิ-พิชัย ได้เคยขออนุญาตกลับประเทศไทยไม่น้อยกว่า ๑๐ ครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล จนเมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๒ เมื่อผลการสอบสวนของคดีการเมืองในครั้งนั้นพาดพิงไม่ถึงท่าน ทางราชการจึงมีคำสั่งเรียกตัวให้กลับ ท่านได้ย้ายครอบครัวคืนกลับสู่ประเทศไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๘๙
เมื่อกลับสู่ประเทศไทยแล้ว เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๐ พันเอก หลวงรณสิทธิพิชัย ก็ได้รับเชิญให้เข้าดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการ (ต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็น กรมประชาสัมพันธ์) ปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็น ข้าราชการพลเรือนชั้นพิเศษ
พลเอก กฤช ปุณณกันต์ อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เขียนไว้ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก หลวงรณสิทธิพิชัย เกี่ยวกับงานที่ได้ปฏิบัติในขณะที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการ ว่า
“...คุณหลวงเป็นบุคคลพิเศษ ที่เป็นนักพูด นักเขียน เป็นผู้มีความคิดริเริ่มที่ดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการประชาสัมพันธ์นั้น เมื่อกองการโฆษณาซึ่งเป็นหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐแห่งแรก ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานโฆษณาการ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๗๖ แล้ว คุณหลวงก็ได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าสำนักงานโฆษณาการเป็นคนแรก และเมื่อการโฆษณาได้ขยายงานเป็นกรมโฆษณาการ ท่านก็ได้กลับมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการอีกคำรบหนึ่ง เพราะท่านได้ทำงานให้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ว่าท่านได้วางรากฐานงานด้านประชาสัมพันธ์ไว้อย่างถูกหลักและมั่นคง ซึ่งเป็นแนวทางสะดวกต่อการพัฒนาสืบมาอย่างดียิ่ง อาทิเช่น การจัดรายการทางวิทยุกระจายเสียงอย่างถูกต้องทันสมัย ให้ความรู้ ความบันเทิง ให้ข่าวสารทันท่วงที เป็นสื่อกลางสำหรับประชาชนและรัฐบาล มีการให้ความรู้ในเรื่องประชาธิปไตย ให้ประชาชนได้ทราบทั้งทางวิทยุกระจายเสียง และทางไปปาฐกถาเผยแพร่ความรู้แบบหน่วยเคลื่อนที่ ซึ่งในขณะนั้นต้องเดินทางด้วยเรือ ด้วยขี่ม้า และเดินเข้าไปปาฐกถาตามหัวเมืองและชนบทห่างไกลที่ประชาชนยังด้อยการศึกษา มีสำนักงานท่องเที่ยวบริการประชาชนที่ทำงานแข็งขันเป็นที่นิยมของคนทั่วไป สำหรับในด้านวิทยุกระจายเสียงนั้น คุณหลวงได้พยายามฝึกฝนโฆษกให้พูดจาและอ่านข่าวอย่างถูกต้องตามอักขรวิธี โฆษกจะต้องผ่านการคัดเลือก โดยทดลองให้ผู้มีเสียงไพเราะให้อ่านข่าว อ่านประกาศ อ่านโฆษณาแจ้งความให้ถูกต้อง ทำให้มีโฆษกอักษรศาสตรบัณฑิตอยู่หลายคน
การจัดรายการ ก็มีทั้งธรรมะ ความรู้ ความบันเทิงที่ให้ประโยชน์ ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ผู้ฟัง และมีทั้งรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยไว้ และดนตรีตามสมัยนิยม มีเรื่องสำหรับเด็ก อบรมจิตใจเด็กไปพร้อมมูล เมื่อย้ายจากกรมประชาสัมพันธ์ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ท่านก็ทำงานขยันขันแข็งตลอดมา นับว่าท่านเป็นบุรุษเหล็กได้คนหนึ่ง เพราะท่านเป็นทั้งนักการทหาร นักการเมือง นักสู้ นักประชาสัมพันธ์ นักเขียน นักพูดนักริเริ่ม และนักทำงานตลอดชีวิต..."
นายรักศักดิ์ วัฒนพานิช อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อีกท่านหนึ่งเขียนไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน เกี่ยวกับงานด้านประชาสัมพันธ์ที่ พันเอก หลวงรณสิทธิพิชัย ได้มีส่วนร่วม และผลักดันให้เกิดความเจริญก้าวหน้าแก่กรมประชาสัมพันธ์ว่า
“...ท่านเป็นนักทำงานที่เข้มแข็ง เป็นนักริเริ่มที่ดี กิจการงานของกรมโฆษณาการในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีอยู่ ได้ก้าวหน้าอย่างคึกคักมั่นคงและถูกต้อง ผลงานของท่านกล่าวได้ว่าเป็นรากฐานส่วนหนึ่งที่ทำให้งานประชาสัมพันธ์ก้าวหน้าเป็นประโยชน์ในด้านเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐบาลได้ผลดี ท่านได้ขยายงานด้านวิทยุกระจายเสียง ย้ายสถานีวิทยุจากศาลาแดง มาใช้
สถานีวิทยุพญาไท ตรงข้ามโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ ทำให้งานด้านวิทยุกระจายเสียงก้าวหน้าต่อมาเป็นลำดับ
ได้จัดให้ข้าราชการระดับประจำแผนกทุกคน ฝึกพูด ฝึกปาฐกถา เพื่อประโยชน์ในงานโฆษณาเคลื่อนที่ให้ประชาชนเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย และเข้าใจนโยบายของรัฐบาลโดยถูกต้อง
ท่านได้ดำเนินการปรับอัตราตำแหน่งเจ้าหน้าที่ช่างภาพ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายดนตรีจากลูกจ้างประจำ หรือข้าราชการวิสามัญ ให้เป็นข้าราชการสามัญ ทำให้งานด้านดนตรีและด้านช่างภาพโฆษณาเป็นรูปร่างขึ้น และขยายก้าวหน้ากว้างขวางขึ้นตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
ได้เริ่มให้มีสถานีวิทยุภาคทดลอง ปชส. ขึ้นเป็นครั้งแรก การจัดรายการได้ใช้แผ่นเสียงไปตลอด มีโฆษณาสินค้าหรือข่าวย่อยบ้าง เช่น ข่าวมรณกรรมคั่นบ้างเล็กน้อย และได้จัดทำหนังสือเสียงวิทยุ แบบสารคดี ๕ นาที
ท่านได้ให้มีการฝึกโฆษกหญิงขึ้นเป็นครั้งแรกของเมืองไทย
ท่านได้จัดการประกวดเพลงไทยเดิม และเพลงไทยสากลขึ้น เพื่อส่งเสริมศิลปะการร้องเพลงที่ถูกแบบทั้งเพลงไทยเดิมและเพลงไทยสากล
ท่านได้ขยายหน่วยปาฐกถาเคลื่อนที่กว้างขวางมากขึ้น และให้ดำเนินงานบ่อยครั้งขึ้น
ท่านได้ขยายงานด้านส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยยกระดับแผนกส่งเสริมการท่องเที่ยวในกรมโฆษณาการขณะนั้นขึ้นเป็นสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยว จัดให้บริการประชาชนอย่างเข้มแข็ง ให้มีการนำเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ที่ให้ประโยชน์อย่างแท้จริง เป็นที่พอใจของประชาชนมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งในปัจจุบันเป็นงานที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศเป็นจำนวนมากแขนงหนึ่ง
ในด้านสวัสดิการข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ ท่านได้ให้จัดตั้งร้านสหกรณ์ของกรมขึ้น ให้ข้าราชการซื้อของจำเป็นในการครองชีพ เช่น ข้าวสาร น้ำตาล ฯลฯ ในราคาถูก ผู้ใดจำเป็นต้องซื้อของเป็นจำนวนมากก็มีรถบริการให้ถึงบ้าน นับเป็นการช่วยสวัสดิการครอบครัวของข้าราชการได้เป็นอย่างดีและทันสมัย..."
พันเอก หลวงรณสิทธิพิชัย เป็นผู้ที่มีความสนใจในงานประพันธ์ วรรณคดี ท่านได้เขียนเรื่องราวและบทความที่น่ารู้ น่าอ่าน และเป็นประโยชน์แก่การศึกษาเป็นจำนวนมาก สมัยที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการ ระหว่างพุทธศักราช ๒๔๙๐ – ๒๔๙๓ นั้น ท่านได้เขียนบทความเผยแพร่ทางวิทยุกระจายเสียงหลายครั้ง ที่สำคัญได้แก่บทความเกี่ยวกับความรักชาติ เช่น เรื่องตื่นเถิดชาวไทย เส้นผมบังภูเขา เป็นต้น ในด้านวรรณคดีได้แต่งโคลงกลอนที่เป็นภาษิตหลายเรื่อง โดยใช้นามปากกาว่า “อินทุมาศ” อันมีความหมายเดียวกันกับนามสกุลของท่าน คือ “กาญจนินทุ” ที่แปลว่า “พระจันทร์สีทอง” ภาษิตที่มีชื่อเสียงรู้จักกันแพร่หลาย คือ ภาษิตอินทุมาศ และสุภาษิตานุสรณ์ ซึ่งได้นำออกอ่านเป็นวิทยุสุภาษิตานุสรณ์ และต่อมาได้ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นอนุสรณ์ในวันอายุครบ ๖๐ ปี ของท่าน นอกจากนั้นยังได้แต่งหนังสือคู่มือแม่บ้าน อันเป็นความรู้รอบตัวอีกด้วย