เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16
  พิมพ์  
อ่าน: 89124 "คำถามจากหนังสือ "การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี" - "วีรกรรมนี้เกิดขึ้นจริงหรือ?"
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 195  เมื่อ 10 มี.ค. 23, 09:35

คุณธานินทร์ สุนทรานนท์ ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยเป็นบรรณาธิการหนังสือ "ศิลป พีระศรี สรรเสริญ" จัดพิมพ์โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรีอนุสรณ์ กรมศิลปากร ได้เผยแพร่ภาพเอกสารพิมพ์ดีด ประทับตรา สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการลงชื่อรับเงินค่าจ้างเป็นแบบปั้นรูปอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ได้เงิน ๑ บาทต่อวัน ปรากฏชื่อผู้รับเงินคือ "นางเชื่อม" พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

"ทีนี้ ..เราก็รู้แล้วว่า ใครเป็นแบบ ปั้น ย่าโม อาจารย์ศิลป พีระศรี ปั้นดูแบบอยู่ ๓ วัน นางเชื่อม ได้ค่าจ้างไป ๓ บาท"


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 196  เมื่อ 10 มี.ค. 23, 09:35

ประติมากรรมต้นแบบ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ซึ่งมีใบหน้าของนางเชื่อมเป็นแบบปั้น ?) เก็บรักษาและจัดแสดงที่หอประติมากรรมต้นแบบ ภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 197  เมื่อ 12 มี.ค. 23, 09:35

ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 198  เมื่อ 12 มี.ค. 23, 10:35

ข้อมูลจากหนังสือราชการ ลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๔๗๗ ถึงอธิบดีกรมศิลปากร

ค่าปั้น-หล่อ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พระสาโรจน์รัตนนิมมานก์ หัวหน้ากองสถาปัตยกรรม (ในเวลานั้น) รับทำในราคา ๑,๐๐๐ บาท ค่าแรง ๒๐๐ บาท รวม ๑,๒๐๐ บาท

ลงนาม พระยากำธรพายัพทิศ ข้าหลวงประจำจังหวัดนครราชสีมา




บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 199  เมื่อ 12 มี.ค. 23, 10:35

http://164.115.41.171/web/flipbook/NakhonRatchasima/index.html?fbclid=IwAR2mN4BUZBnV-E0JEyr_DJdS03pKEnduRH_QgYp3LSQA8qgporlLy_ijXIc

หน้า ๘๘ ลงรูปนางบุรคามบริรักษ์(นิ่ม เมนะรุจิ ณ นครราชสีมา) ผู้เป็นแบบรูปหล่อท้าวสุรนารี

เลยไม่แน่ใจว่ามีคนมาเป็นแบบหลายคน หรือหน้านางเชื่อม แต่หุ่นเป็นนางนิ่มครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 200  เมื่อ 12 มี.ค. 23, 11:35

เลยไม่แน่ใจว่ามีคนมาเป็นแบบหลายคน หรือหน้านางเชื่อม แต่หุ่นเป็นนางนิ่มครับ

คุณยายนิ่มน่าจะเป็นแบบลักษณะการยืนและถือดาบของย่าโม

ภาพคุณยายนิ่ม เมนะรุจิ จาก เมืองนครราชสีมา: การศึกษาเมืองเก่าผ่านประวัติศาสตร์ การตั้งถิ่นฐานและมรดกทางสถาปัตยกรรม หน้า ๘๐


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 201  เมื่อ 12 มี.ค. 23, 12:35

คุณธานินทร์ สุนทรานนท์ กล่าวถึงเรื่องการยืนลักษณะนี้ว่า

"เห็นด้วยอย่างมากที่เคยเห็นมีคนบอกว่า แรงบันดาลใจของ อาจารย์ศิลป พีระศรี ที่โพสต์ท่ายืนถือดาบของย่าโมนั้น น่าจะมาจาก เดวิดผู้ฆ่ายักษ์ ของโดนาเตลโล"


บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 202  เมื่อ 12 มี.ค. 23, 16:43


อย่านั่งเทียน กระจายความไม่จริงกันไปเรื่อยครับ

คนร่างแบบ คุณหญิงโม ยืนห่มสไบเฉียง มือขวาถือพระแสงดาบพระราชทาน มือซ้ายแตะเอว เสนอกรรมการจังหวัด
คือ พระเทวาภิมนิมิตร แล้วถึงส่งให้ อ.ศิลป พีระศรีปั้นแบบ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 203  เมื่อ 12 มี.ค. 23, 17:35

คุณคนโคราชลองอ่านสาส์นสมเด็จ จากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๗๗ ใจความว่า (สะกดตามต้นฉบับ)

"กถามรรค จะทูลถวายเรื่องกรมศิลปากรเขากำลังปั้นรูปท้าวสุรนารี คือ ท่านผู้หญิงโม้กันอยู่ ในว่าจะหล่อเอาไปตั้งเปนอนุสสาวรีย์ที่ประตูชัยโคราช มีขนาดสูง ๔ ศอกเลย ทำเปนรูปหญิงสาวตัดผมปีก ยืนถือดาบ นุ่งจีบ ห่มผ้าสะใบเฉียง

อนุสสาวรีย์รายนี้ เดิมทีพระเทวา (พระเทวาภินิมมิต) เขียนมาปรึกษาเกล้ากระหม่อม ก่อนเป็นรูปผู้หญิงนั่งบนเตียง มีเครื่องยศ พานหมาก กะโถน ตั้งข้าง ๆ เกล้ากระหม่อมถามว่า ใครจะทำ เขาว่าเป็นผู้แทนราษฎรนครราชสีมา เกล้ากระหม่อมถามว่า เคยเห็นท่านหญิงโม้หรือ หน้าตาอย่างนี้หรือ ได้แต่หัวเราะไม่ได้คำตอบ ถามว่าจะตั้งที่ไหน ว่าตั้งที่ประตูชัย เกล้ากระหม่อมว่า ประตูเปนทางเดินแล้วจะเอารูปไปตั้งอุดเสีย มิเดินไม่ได้หรือ แกก็หัวเราะอีก แล้วก็นำแบบกลับไป

ต่อมาเกล้ากระหม่อมไปที่ศิลปากรสถาน เห็นนายเฟโรจิ (อาจารย์ศิลป์ พีระศรี) ปั้นดินเปนรูปผู้หญิง ยืนถือดาบ อยู่ตัวเล็ก ๆ หลายตัว ท่าต่าง ๆ กัน ถามว่าทำอะไร แกบอกว่าทำผู้หญิงโคราช ใครก็ไม่รู้ ที่ว่ารบกับผู้ชายนั้น เกล้ากระหม่อมก็เข้าใจ แล้วได้แนะนำว่า เราไม่รู้จักตัว หน้าตาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ทำไม่ได้ดอก ทำ Allegory เป็นนางฟ้าถือดาบดีกว่า แกเห็นด้วย ต่อมาอีกสองสามวันวัน เกล้ากระหม่อมไปอีก เห็นแกปั้นไว้น่าเอนดูดี เป็นรูปผู้หญิงสาว ผมยาวประบ่า ใส่มาลาถือพวงดอกไม้สด นุ่งจีบ ห่มสะใบสะพักสองบ่า ยืนถือดาบ เกล้ากระหม่อมเห็นแล้ว ก็รับรองว่าอย่างนี้ดี

มาเมื่อก่อนหน้าจะเขียนหนังสือถวายนี้ ไปเห็นปั้นตัวเบ้อเร่ออย่างที่ทูลมา ถามว่า
ทำไมไม่ทำเปนรูป Allegory แกบอกว่าเขาไม่เอา"

แบบของ พระเทวาภินิมมิต เป็นรูปผู้หญิงนั่งบนเตียง ส่วนของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นรูปผู้หญิงยืนถือดาบ ยิงฟันยิ้ม



บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 204  เมื่อ 12 มี.ค. 23, 19:43

จดหมายวันที่ 11 กันยายน 2477
พระยากำธร  มอบให้พระเทวาภินิมมิต เป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่กรมศิลป์
ตกลงคิดราคาค่าปั้น หล่อ สร้าง กันเรียบร้อย

วันที่ 17 ธันวาคม 2477
จ้างนางเชื่อม มา "นั่ง" เป็นแบบปั้น

วันที่ 1 มกราคม 2477
กรมพระนริศ บอกว่า อ ศิลป ปั้นแบบปัจจุบันแล้ว
เพราะแบบอื่น "เขาไม่เอา"

เรียนถามว่า ใครเป็นผู้ตัดสินว่าให้ใช้แบบปัจจุบัน
อนึ่งรูปถ่าย หญิงยืนถือดาบ ก็มาจากโคราชในคราวนั้น
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 205  เมื่อ 12 มี.ค. 23, 21:49

1. กรรมการโคราช ตกลงใจจะสร้างอนุเสาวรีย์ท้าวสุรนารี
พระเทวา เสนอแบบ
พระยากำธร ตกลงกับกรมศิลป สั่งจ้าง
วันที่ 11 กันยายน 2477
มอบ พระเทวา เป็นที่ปรึกษา (ควบคุมงาน)
2. วันเวลาไม่ปรากฎ 
พระเทวา ไปเรียนปรึกษา กรมพระนริศ
ไม่ทรงโปรดแบบ ผู้หญิงนั่ง มีเครื่องยศ
พระเทวา หัวเราะฮ่าๆ แล้วนำแบบกลับไป
3. อ ศิลป์ ทำ study ปั้นแบบ ผู้หญิงโคราช ยืนถือดาบ หลายท่าทาง
กรมพระนริศ แนะนำให้ปั้นแบบ มาจากตำนาน
ทรงชอบแบบ ผู้หญิงผมยาว สวมพวงมาลัย ยืนถือดาบ
4. นางเชื่อม รับจ้างเป็นแบบ "นั่ง" ให้ปั้นใบหน้า 17 ธันวา 2477
5. ปลายเดือนธันวา แบบ ปัจจุบัน ที่ "เขาเอา" แล้วเสร็จ
เป็น ผู้หญิงผมสั้น ห่มสไบเฉียง ถือดาบ เท้าสะเอว

คำถามคือ ตอนสั่งจ้างและคิดราคา ถ้าไม่ใช่แบบยืนถือดาบ
แต่พระเทวา เสก็ตช์มาเป็น ผู้หญิงนั่ง
แล้ว อ ศิลป์ จะดื้อไปทำ study เฉพาะ ผู้หญิงยืน ถือดาบเท่านั้น ?
เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดถ้าผู้จ้างให้ทำท่านั่ง แล้วฝืนไปทำท่ายืน
สุดท้ายไปจบที่แบบ "เขาเอา" อยู่ดี

แต่เรื่องที่ผมขอค้านคือ การอ้างว่า อ.ศิลป์ได้แรงบันดาลใจจากรูปปั้นสมัย ศตวรรษที่ 15 ทั้งๆ ที่ กรมพระนริศ เป็นผู้ให้ อ.ศิลป์ ปั้นธารพระกร ซ่อมรูป ร.4 ในปีใล่เลี่ยกัน  ที่ยืนในท่าคล้ายกัน
มีแบบร่วมสมัยเยอะแยะ ไม่ต้องแต่งเรื่องกลับไปไกลถึงห้าร้อยปี
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 206  เมื่อ 13 มี.ค. 23, 09:35

วันที่ 1 มกราคม 2477
กรมพระนริศ บอกว่า อ ศิลป ปั้นแบบปัจจุบันแล้ว
เพราะแบบอื่น "เขาไม่เอา"

เรียนถามว่า ใครเป็นผู้ตัดสินว่าให้ใช้แบบปัจจุบัน

แบบอื่นที่คุณคนโคราชว่าคือ แบบ Allegory (สัญลักษณ์แฝงความหมาย) เช่นเป็นรูปนางฟ้าถือดาบ

ขออนุญาตนำคำตอบของ คุณสายพิณ แก้วงามประเสริฐ ซึ่งเคยมีการอภิปรายมาแล้วในกาลก่อน มาแสดงอีกครา

คุณสายพินเธอเขียนว่า อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี : การต่อสู้ระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ เธอให้เหตุผลว่า

รัฐบาลเห็นด้วยกับการสร้างอนุสาวรย์ท้าวสุรนารี น่าจะเป็นเพราะ "ท้าวสุรนารี" เป็น "สามัญชน" เหมือนกันที่ "คณะราษฎร" เป็น การปรากฏตัวของอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีในช่วงเวลานี้ จึงเป็นเหมือนตัวแทนของคณะราษฎรที่จะประกาศว่า "สามัญชน" ก็สามารถเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ได้ทัดเทียมกับพวก "เจ้า"

ความคิดที่รัฐบาลต้องการใช้อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เป็นเครื่องต่อสู้กับความคิดของระบอบเก่านั้น ปรากฏอยู่หลักฐานร่วมสมัยคือในลายพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่มีถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๗  ว่า

เกล้ากระหม่อมไปที่ศิลปากรสถาน เห็นนายเฟโรจีปั้นดินเป็นรูปผู้หญิงยืนถือดาบตัวเล็ก ๆ หลายตัว...เกล้ากระหม่อมก็เข้าใจแล้วได้แนะนำว่า เราไม่รู้จักตัวหน้าตาเป็นอย่างไรไม่รู้ ทำไม่ได้ดอก ทำ Allegory เป็นนางฟ้าถือดาบดีกว่า แกเห็นด้วย... มาเมื่อก่อนหน้าจะเขียนหนังสือถวายนี้ ไปเห็นปั้นตัวเบ้อเร่ออย่างที่ทูลมา ถามว่าทำไมไม่ทำเป็นรูป Allegory แกบอกว่าเขาไม่เอา.....

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีลายพระหัตถ์ตอบเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ว่า "การสร้างรูปท่านผู้หญิงโม้นั้น เป็นอุทาหรณ์อันหนึ่ง ซึ่งแสดงว่าความคิดสมัยใหม่ผิดกับสมัยก่อนหมดทุกอย่าง..."

การที่กรมศิลปากรไม่ยอมรับรูปปั้นท้าวสุรนารีที่มีรูปร่างเป็นนางฟ้านั้น คงจะเป็นเพราะขัดกับความเป็นจริงที่ว่า ท้าวสุรนารีเป็น "มนุษย์" โดยเฉพาะคือมนุษย์ที่เป็น "สามัญชน" ดังนั้นรูปปั้นท้าวสุรนารี ถ้าจะสื่อให้เห็นการกระทำของท้าวสุรนารีได้ดีและเหมาะสมกับสภาพการณ์ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ รูปปั้นนี้จึงต้องมีความเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ไม่ต้องมีบุญญาบารมี แต่ต้องเป็นมนุษย์ที่กล้าหาญ

ผู้ตัดสินว่าให้ใช้แบบปัจจุบัน คือ กรมศิลปากร ในร่มเงาของคณะราษฎรนั่นแล ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 207  เมื่อ 13 มี.ค. 23, 10:35

แต่เรื่องที่ผมขอค้านคือ การอ้างว่า อ.ศิลป์ได้แรงบันดาลใจจากรูปปั้นสมัย ศตวรรษที่ 15 ทั้งๆ ที่ กรมพระนริศ เป็นผู้ให้ อ.ศิลป์ ปั้นธารพระกร ซ่อมรูป ร.4 ในปีใล่เลี่ยกัน  ที่ยืนในท่าคล้ายกัน
มีแบบร่วมสมัยเยอะแยะ ไม่ต้องแต่งเรื่องกลับไปไกลถึงห้าร้อยปี

"เดวิดของโดนาเตลโล" เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบาร์เกลโล (Museo Nazionale del Bargello) เมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี

มี ๒ เรื่องที่ชวนให้เข้าใจว่า ย่าโมของอาจารย์ศิลป์ ได้แรงบันดาลใจมาจาก เดวิดของโดนาเตลโล

๑. เดวิดของโดนาเตลโล มีท่วงท่าละม้ายคล้ายย่าโมของอาจารย์ศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นมือซ้ายเท้าสะเอว มือขวาถือดาบชี้ลงพื้น และยืนหย่อนเข่าซ้าย

๒. อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เกิด เติบโต เรียน และสอนศิลปะ ที่ฟลอเรนซ์ คงเคยเห็น เดวิดของโดนาเตลโล ในพิพิธภัณฑ์ (อาจตั้งแต่สมัยเรียนศิลปะก็เป็นได้)

ย่าโมของอาจารย์ศิลป์ กับ เดวิดของโดนาเตลโล อาจไม่เกี่ยวข้องกันเลยตามที่คุณคนโคราชค้าน ก็เป็นไปได้ ด้วยเป็นเพียงความเชื่อ ซึ่งก็ยากจะตัดสินว่าถูกหรือไม่ เพราะไม่มีบันทึกจากผู้ปั้น ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 208  เมื่อ 13 มี.ค. 23, 12:17

ขอบพระคุณครับท่านอาจารย์เพ็ญชมพู

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนกันต่อไปครับ

กรรมการจังหวัดนครราชสีมา โดยพระยากำธร ได้ตกลงว่าจ้าง
กรมศิลปากรให้ดำเนินการสร้างอนุเสาวรีย์ท้าวสุรนารี ตาม จดหมายที่อ้าง และมอบให้พระเทวา เป็นผู้ควบคุมงาน

กรมศิลปากรมอบ อ.ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ปั้นแบบ
อ.ศิลป์ ทำการ Study แบบผู้หญิงยืนถือดาบรูปแบบต่างๆ
สุดท้ายไปจบในรูปแบบปัจจุบัน  ผมสั้น สไบเฉียง มือขวา ถือดาบ มือซ้ายเท้าสะเอว ซึ่ง ต้องเป็นไปตามความต้องการของผู้ว่าจ้าง
คือจังหวัดนครราชสีมาที่มี พระเทวา เป็นผู้ควบคุมงาน
ไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของผู้รับจ้าง

* กรมศิลป์ไม่ได้มีส่วนกับการตัดสินใจเลือกแบบสร้างสุดท้ายแต่อย่างใด *

แบบอนุเสาวรีย์ที่สร้าง จึงไม่ได้เกี่ยวกับแนวคิดทางการเมืองของราชการส่วนกลางของไทย ตามที่คุณสายพิณ (หรือ กรรมการวิทยานิพนธ์ ?)
ได้นำมาขยายความแต่ประการใด
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 209  เมื่อ 14 มี.ค. 23, 13:17

ขอบันทึกไว้ว่า ผู้มีส่วนสำคะญในการกำหนดรูปแบบ
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เป็นผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน

พระสาโรช  ด้านสถาปัตยกรรม
พระเทวา  ด้านจิตรกรรม
อ.ศิลป์  ด้านปฏิมากรรม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.071 วินาที กับ 20 คำสั่ง