รบกวนลงรูปหน้าถัดไปด้วยได้ไหมครับ
หน้าถัดไป (หน้า ๓๗๘) จากหนังสือของคุณสายพิน เขียนว่า
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ จังหวัดชัยภูมิได้เขียนประวัติของเมืองโดยให้ภาพพญาแลว่า
...นายแลเจ้าเมืองชัยภูมิ พร้อมด้วยขุนพลนายด่านบ้านชวน และกองทัพเจ้าเมืองสี่มุม (จัตุรัส) ได้ยกไพร่พลไปสมทบกับทัพของคุณหญิงโม ตีขนาบกองทัพเจ้าอนุเวียงจันทน์แตกกระจายไป...สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้คุณหญิงโมเป็นท้าวสุรนารี นายแลเมืองไชยภูมิ (ชัยภูมิ) เป็นเจ้าพระยาภักดีชุมพล...
การให้ภาพพญาแล เชื่อมโยงกับวีรกรรมของคุณหญิงโม อาจเป็นเพราะวีรกรรมเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์เหมือนกัน อีกทั้งการรับรู้วีรกรรมของคุณหญิงโมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ค่อนข้างแพร่หลายแล้ว ดังนั้น จึงน่าจะมีส่วนสร้างเสริมให้กับการับรู้วีรกรรมของพญาแลได้ด้วย นอกจากนี้ทางจังหวัดก็ยังพยายามให้ภาพของเจ้าเมืองสี่มุม ซึ่งขณะนั้น (พ.ศ. ๒๕๐๐) เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชัยภูมิว่าเป็นบุคคลหนึ่งที่ไปช่วยคุณหญิงโมรบกับกองทัพฝ่ายลาว
แต่การให้ภาพเกี่ยวกับเรื่องนี้จะพบว่าขัดแย้งกับคำให้การของพระยาณรินทร์ เจ้าเมืองสี่มุมที่ให้ภาพว่าตนเองร่วมอยู่กับกองทัพเจ้าอนุวงศ์ อีกทั้งเมื่อถูกกองทัพไทยจับได้ พระยาณรินทร์ยังเลือกที่จะแสดงความจงรักภักดีกับเจ้าอนุวงศ์ ด้วยการยอมถูกประหารชีวิต
การับรู้เรื่องพญาแลยังคงไม่แพร่หลายนัก จนกระทั่งอนุสาวรีย์ของพญาแลเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ประกอบกับการสร้างความเชื่อมโยงกับวีรกรรมของวีรสตรีแห่งชาติ เช่น คุณหญิงโม จึงน่าจะทำให้วีรกรรมของพญาแลแพร่หลายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เรื่องวีรกรรมพญาแลก็สะท้อนให้เห็นว่า การรับรู้เรื่องราววีรบุรุษในประวัติศาสตร์ของปัจจุบันสามารถเกิดขึ้นได้ โดยผ่านกระบวนการผลิตซ้ำของงานเขียนหรือความพยายามเชื่อมโยงกับการรับรู้เกี่ยวกับวีรบุรุษคนอื่น ๆ มากกว่าเกิดขึ้นจากตัวตนของวีรกรรมที่รับรู้อย่างกว้างขวางจริง ๆ ในประวัติศาสตร์
