เรื่องหนังสือที่พูดถึงวีรกรรมของคุณหญิงโมยังมีต่อ
ต่อไปเป็นเรื่องงานเขียนก่อนหน้าพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่คุณสายพินพูดถึง
งานเขียนเรื่องใด ๆ ที่กล่าวมาแล้ว (๑)
(๑) จะได้พูดถึงในภายหลัง
งานเขียนเรื่องต่อมาที่กล่าวถึงวีรกรรมของคุณหญิงโมคือ "สยามสงครามว่าด้วยกองทัพกรุงสยามทำศึกสงครามกับลาวเวียงจันทน์ เป็นมหายุทธการ จ.ศ. ๑๑๘๗ (พ.ศ. ๒๓๖๘)" เป็นหนังสือที่พระยาพิทักษ์เทพธานีคัดลอกมาจากฉบับของมองซิเออร์ฮาดูวิน กงสุลฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ. ๑๑๔ (พ.ศ. ๒๔๓๘) แต่นำมาถวายฯ เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ สมัยรัชกาลที่ ๖ หนังสือเล่มนี้ให้ภาพคุณหญิงโมว่า
"...ครั้นเวลา ๔ ทุ่มวันนั้น พระยาณรงค์สงครามจัดให้ท่านผู้หญิงโม่ อายุ ๔๐ ปีเศษ ซึ่งเปนภรรยาพระยาปลัดเมืองนครราชสีมา แต่ชำนิชำนาญในการขี่ม้าขี่ช้าง กล้าหาญ ให้เปนแม่ทัพแม่กองคุมพวกผู้หญิงแต่งตัวล้วนห่มผ้าตะแบงมาน ผ้าโพกศีร์ษะ มือถือไม้หลาวและไม้ตะบองเปนอาวุธทุกคนเปนกองหนุน..."
"...พระยาณรงค์สงครามขึ้นขี่ม้าขาวแซม มือถือหอกและปืน คุมพลผู้ชายเปนกองทัพน่า ฝ่ายท่านผู้หญิงโม่ขึ้นม้าดำมือถือหอกคุมพลผู้หญิงที่ฉกรรจ์ ๓๐๐ คนเปนกองหนุน.."หลังจากทัพของเจ้าอนุวงศ์ถอยไปแล้วกรมการเมืองนครราชสีมา ก็ทำใบบอกรายงานเหตุการณ์เข้ามายังกรุงเทพฯ ว่า
ข้าพระพุทธเจ้าพระยาปลัด พระยายกกรบัตร์ พระณรงค์สงคราม พร้อมด้วยท่านผู้หญิงโม่ คิดร่วมใจกันเปนกลอุบายหลอกล่อลาวให้หลงกลอุบายแล้ว จึ่งได้คิดเปนการจลาจลลุกขึ้นรบฆ่าลาวที่คุมครัวไปนั้นตายมาก แล้วก็คิดแก้ไขกลับตีเอาครอบครัวคืนมาบ้านเมืองได้ แล้วได้แต่งกองทัพไปติดตามตีทัพลาวที่ล่าไปนั้น ได้สู้รบกันเปนสามารถ ลาวแตกหนีไปถึง ๒ ตำบล ไพร่พลลาวตายมาก.....(ฉากรบตอนนี้คุณสายพินคัดจากหนังสือบรรยายไว้มากกว่านี้ รายละเอียดคุณนวรัตนได้หาประตูเข้าพบแล้ว ลองเปิดเข้าไปดู

)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบเหตุการณ์แล้วโปรดเกล้าฯให้เลื่อนพระณรงค์สงคราม (มี) จางวางส่วยทองเมืองนครราชสีมาเป็นพระยาณรงค์สงคราม พร้อมทั้งพระราชทานถาดหมากทองคำ คนโททองคำเป็นเครื่องยศ โดยทรงให้นำมาพระราชทานที่ค่ายพันพร้าว พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) เป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี
งานเขียนเรื่องนี้ไม่ได้กล่าวถึงทั้งพระยาปลัดและคุณหญิงโมว่าได้รับความดีความชอบแต่อย่างใด ทั้งที่ได้กล่าวถึงบทบาทของทั้งสองท่านนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม งานเขียนนี้จะเน้นบทบาทของพระณรงค์สงครามมากกว่า เพราะเป็นทั้งผู้วางแผนการต่าง ๆ และผู้นำการรบด้วย ซึ่งทำให้ดูสมจริงที่จะได้รับความดีความชอบครั้งนี้ ในส่วนของวีรกรรมของคุณหญิงโม งานเขียนนี้ก็ให้ความสำคัญเช่นกัน ดังที่กล่าวถึงบทบาทของคุณหญิงโมไว้ทุกครั้งเมื่อมีการสู้รบกับลาว
(ยังมีต่อ)
