ตอนนี้เห็นจะเป็น "ไคลแมกซ์" ของเรื่อง
เรื่องตัวตนของวีรกรรมของคุณหญิงโม มีความเป็นไปได้เป็น ๒ ทาง คือ
๑.
วีรกรรมของคุณหญิงโมไม่มีตัวตนจริงหากมีตัวตนจริง ใบบอกและคำให้การทั้งจากบุคคลฝ่ายไทยและฝ่ายลาวก็น่าจะกล่าวถึงบทบาทวีรกรรมของคุณหญิงโม โดยเฉพาะกรมการเมืองนครราชสีมาซึ่งอยู่ในเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด ดังเช่น พระยาปลัดสามีของคุณหญิงโม ขุนโอฐ หรือขุนเวดที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ตลอด และน่าจะเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์เป็นอย่างดี ซึ่งพิจารณาได้จากคำให้การที่เล่าถึงเหตุการณ์การต่อสู้ของชาวนครราชสีมาอย่างละเอียดต่างไม่ได้กล่าวถึงวีรกรรมของคุณหญิงโมเลย แต่หากว่าคุณหญิงโมได้ประกอบวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่และกล้าหาญอย่างที่รับรู้กันในปัจจุบันจริง โลกทัศน์ที่มีต่อฐานะและบทบาทของผู้หญิง ก็คงมิอาจหยุดยั้งการปรากฎตัวของวีรกรรมของคุณหญิงโมได้
๒.
วีรกรรมของคุณหญิงโมอาจมีตัวตนจริงการที่ไม่ปรากฏตัวตนและความดีความชอบในคำให้การ ใบบอก และจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ เลย เนื่องมาจากเหตุผลที่กรมการเมืองโคราชที่รายงานเรื่องนี้มา ก็เพื่อแก้ต่างว่าพวกตนมิได้เป็นกบฏ แต่ที่ต้องร่วมมือกับเจ้าอนุวงศ์ก็เพราะความจำใจ กรมการเมืองต้องแก้ต่างดังนี้ เพราะเมื่อเจ้าอนุวงศ์ยกทัพมายึดเมืองนครราชสีมานั้น ไม่มีกรมการเมืองคนใดต่อต้านเพื่อปกป้องเมืองนครราชสีมาเลย อีกทั้งยังให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีกับฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ด้วย โดยเฉพาะพระยาปลัดได้เข้าหาเจ้าอนุวงศ์เพื่อขอติดตามครัวไป เจ้าอนุวงศ์ก็ยอมแสดงว่าการปฏิบัติตนของพระยาปลัดที่มีต่อเจ้าอนุวงศ์น่าจะแสดงความอ่อนน้อมอย่างยิ่ง จนทำให้เจ้าอนุวงศ์ไว้วางใจยอมให้ติดตามครัวไป
การที่กรมการเมืองไม่ได้ต่อต้านกองทัพเจ้าอนุวงศ์ในครั้งแรกนั้น น่าจะทำให้กรุงเทพฯ ไม่พอใจต่อการปฏิบัติตนของกรมการเมืองนครราชสีมาซึ่งกรมการเมืองก็ตระหนักดี จึงจำเป็นต้องรายงานเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นการต่อต้านฝ่ายกบฏของพวกตน กรมการเมืองจึงเขียนรายงานการต่อสู้ที่ทุ่งสัมฤทธิ์อย่างละเอียด พร้อมทั้งกล่าวถึงรายชื่อกรมการเมืองที่สำคัญที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ด้วย โดยเฉพาะบุคคลสำคัญที่เป็นเสมือนผู้นำการต่อสู้ครั้งนี้พระยาปลัด บทบาทของพระยาปลัดในเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นที่รับรู้ทั้งในหมู่กรมการเมือง และทัพหลวงจากกรุงเทพฯ ย่อมแสดงว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบเรื่องนี้ ดังนั้น ก็น่าจะได้รับความดีความชอบถ้าหากพระองค์จะทรงเห็นว่าพระยาปลัดและกรมการเมืองนครราชสีมาได้กระทำความดี
แต่จากการหลักฐานประเภทใบบอกและจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ ไม่พบว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาปลัดเป็น "เจ้าพระยามหิศราธิบดี" เหมือนอย่างที่รับรู้กันอยู่ในปัจจุบัน พระยาปลัดน่าจะได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น "เจ้าพระยามหิศราธิบดี" ในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยชื่อนี้ปรากฏในใบบอกครั้งเกณฑ์ทัพไปตีเมืองเชียงตุง เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔
เกี่ยวกับเรื่องนี้สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีลายพระหัตถ์ตอบสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ทรงถามเกี่ยวกับเรื่องคุณหญิงโมว่า
"....พระยาปลัดที่เป็นสามีท่านผู้หญิงโม้นั้น....ก็อุบายเข้าหาพวกเวียงจันทน์โดยดี...ถูกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรังเกียจในข้อที่เข้าหาพวกขบถ....พระยาปลัดไม่ได้รับบำเหน็จในการสงครามครั้งนั้น....อับจนมาถึงรัชกาลที่ ๔ จึงได้เป็นเจ้าพระยามหิศราธิบดี ท่านผู้หญิงโม้ หม่อมฉันก็เข้าใจว่าได้เป็นท้าวสุรนารีต่อเมื่อรัชกาลที่ ๔..."พระยาปลัดและกรมการเมืองนครราชสีมาคงตระหนักดีว่า การที่พวกตนเข้าหาพวกกบฏอาจทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่พอพระราชหฤทัย ดังนั้น จึงเขียนรายงานเพื่อแก้ตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ และที่ไม่กล่าวถึงบทบาทของคุณหญิงโม ก็เพราะถ้าคุณหญิงโมมีบทบาทอย่างเด่นชัดเหมือนที่รับรู้กันในปัจจุบันนี้ คือมีความกล้าหาญยิ่งนัก อาจจะดูเหมือนมากกว่าบรรดากรมการเมือง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะมีผลทำให้บทบาทของกรมการเมืองไม่เด่นชัดนัก และไม่ได้แสดงความกล้าหาญเท่าใดนัก
เรื่องทั้งหมดข้างบนนี้คงจะพอตอบคำถามคุณเทาชมพูข้อ ๒ และ ๓ ได้บ้าง
สำหรับคำถามข้อที่ ๑ จะได้ตอบในตอนต่อไป
