เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 6
  พิมพ์  
อ่าน: 28817 เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 05 ก.ย. 12, 23:30

วัตถุประสงค์ของการเรียนประวัติศาสตร์  ควรเป็นการเรียนเพื่อรู้จักกระบวนการตั้งคำถามและคิดวิเคราะห์หาคำตอบสำหรับคำถาม
และควรเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้นั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม  เช่นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ให้รู้รากเหง้าของท้องถิ่น  หรือนำไปประยุกต์ใช้กับการดำรงชีพในยุคปัจจุบัน  แต่การศึกษาวิจัยเพื่อให้เกิดข้อขัดแย้ง  เช่นการขัดแย้ง
ในเชิงประวัติศาสตร์กับประเทศเพื่อนบ้านนั้น  ถึงศึกษาวิจัยไปก็ไม่ทำให้เกิดประโยชน์อันใด  แล้วจะมาศึกษากันทำอะไร?

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 06 ก.ย. 12, 19:42

ผมเห็นว่า ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมของมนุษย์ ซึ่งมีทั้งที่เรื่องที่เป็นการก้าวย่างที่มนุษย์โลกต่างก็เห็นพ้องกันว่าเป็นเรื่องที่ดี มีหลายเรื่องที่คนกลุ่มใหญ่เห็นพ้องกันว่าดีหรือไม่ดี และก็มีหลายเรื่องที่ต่างกลุ่มต่างคนเห็นว่าดีหรือไม่ดีคละกันไป

เรื่องราวทางประวัติศาสตร์นั้นเป็นพลวัติที่เกิดขึ้นได้ทั้งในระดับท้องถิ่นเล็กๆไปจนถึงระดับทวีปและโลก

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกกันนั้น เป็นเหตุการจริงที่เกิดขึ้น แต่ในการบันทึกนั้นมักจะมีการผนวกความเห็นของผู้บันทึกเข้าไปด้วย แล้วก็มีผู้รู้หรือผู้ที่อ่านมาก ได้เห็นข้อมูลจากหลายแหล่งบันทึก เอามาเรียบเรียงผูกกันขึ้นมาเป็นเรื่องราวตามที่ตนเองได้วิเคราะห์และเห็นว่าข้อมูลเหล่านั้นมีความสอดคล้องกันหรือสนับสนุนซึ่งกันและกัน แล้วก็มีคนเอาข้อมูลทั้งหลายเหล่านั้นมารวมกันเขียนเป็นเรื่องราวต่อไปอีก นอกจากนั้นยังมีการเอาเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยเข้ามาผนวกและขยายความ บ้างก็ละเลยเลยที่จะไม่กล่าวถึงในบางเรื่อง บ้างก็เน้นในบางเรื่อง 

เมื่อจะนำไปทำเป็นตำราสอนกัน ก็ตัดตอนเขียนกันใหม่อีกให้เหมาะสมตามวัตถุประสงค์และนโยบายของรัฐ ตามสภาพของสังคมในเวลานั้นๆ

เขียนมาเสียยาวก็เพื่อแสดงความเห็นว่า เราสร้างเรื่องจากข้อมูลเท่าที่มีได้ในสามลักษณะ คือ ในลักษณะของการสร้างทรงบ้านที่มันน่าจะเป็นเสียก่อน (โครงของเรื่องราว) แล้วพยายามหาเฟอร์นิเจอร์ (รายละเอียด) มาใส่ ว่ามันสอดคล้องกันหรือไม่ ดูเข้ากันดีหรือไม่อย่างหนึ่ง  หรือจะรวบรวมข้อมูลเฟอร์นิเจอร์ (รายละเอียด)ให้พร้อมมากพอแล้วจึงคิดว่าบ้านนั้นจะเป็นรูปทรงใด (โครงของเรื่องราว) ที่จะเหมาะสมกับเฟอร์นิเจอร์นั้นๆ

ในการสอนประวัติศาสตร์ของเราก็เช่นกัน เนื่องจากเป็นการสอนต่อเนื่องหลายปี ประเด็นชวนคิดคือ เราจะเริ่มจากใหญ่ไปหาเล็ก หรือจากเล็กไปหาใหญ่ อย่างใหนจะดีกว่ากัน ฮืม

ดูจะเป็นความเห็นไม่เข้าท่าและไม่เข้าเรื่องนัก ยิ้มกว้างๆ   
 
เพียงจะบอกว่า แทนที่จะสอน (เล่าเรื่อง) ลงไปถึงในระดับรายละเอียดว่า ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ช่วงนั้นๆคิดอย่างไร และสอนกันไปถึงในรายละเอียดถึงขั้นของผลลัพท์ที่เกิดขึ้นนั้นๆ   ก็เพียงแต่จะเล่าเรื่องราวได้ใหมว่า เหตุการณ์เป็นอย่างไร เราคิดอย่างไร เขาคิดอย่างไร  ก็น่าจะเพียงพอแล้ว 

     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 16 ก.ย. 12, 20:02

ยังติดใจเรื่องการสอนประวัติศาสตร์อยู่ครับ

การศึกษาภาคบังคับของเราได้พัฒนาไปมาก จากพื้นฐานเดิมๆที่ 4 ปี (ป.4) จนในปัจจุบันนี้ คือ 12 ปี (หรือจบ ม.8 ในสมัยก่อนโน้น)

ในนัยหนึ่ง คือ เปลี่ยนจากสอนให้เกิดความรู้อันพึงมีสำหรับคนในะดับอายุประมาณ 12 ปี (ป.4) ไปเป็นการสอนให้เกิดความรู้อันพึงมีสำหรับคนในระดับอายุประมาณ 18 ปี (ม.8 สมัยก่อน) ซึ่งตามกฎหมายถือว่าเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว   หรือในอีกนัยหนึ่ง คือ เพื่อทำให้คนในวัยเจริญพันธุ์ซึ่งพร้อมที่จะเป็นพ่อแม่ของคนรุ่นต่อไปแล้วนั้น ได้มีความรู้พื้นฐานเพียงพอสำหรับการสั่งสอนเลี้ยงดูบุตรธิดาอันเป็นคนในรุ่นต่อไป

ประเด็นอยู่ที่ว่า อะไรคือสาระทางวิชาความรู้ที่คนในวัยประมาณ 18 ปีนี้พึงได้รู้เป็นพื้นฐานเพียงพอที่จะนำไปต่อยอด ทั้งในเชิงของการศึกษาต่อทางวิทยาการ การศึกษาต่อทางวิชาชีพ และการนำไปศึกษาต่อด้วยตนเองหรือนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ


 
บันทึกการเข้า
P.bangban
อสุรผัด
*
ตอบ: 1


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 16 ก.ย. 12, 23:47

ประวัติศาสตร์คือข้อเท็จจริงในอดีต
คนบันทึกประวัติศาสตร์จะบันทึกข้อเท็จจริงที่เข้าข้างตัวเองหรือไม่
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 17 ก.ย. 12, 19:38

ประวัติศาสตร์นั้นมีระบบการชำระกันบ้างหรือไม่ครับ   ผมคิดว่าน่าจะต้องมี เพราะว่าจะต้องมีการค้นพบเอกสารที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเอกสารในรูปของ archive และ chronicle รวมทั้ง documents ที่ปรากฎหรือเก็บอยู่ในที่อื่นๆนอกประเทศอีกด้วย  ซึ่งจะทำให้สามารถสอบทวนความถูกต้องได้ และอาจจะเพิ่มรายละเอียดและเรื่องราวที่ขาดหายไปในเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ซึ่งได้เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริงนั้นๆ

 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 17 ก.ย. 12, 21:57

ใช่ค่ะ เรามีคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ ทำงานอยู่ทุกวันนี้  แต่ระหว่างกรรมการทำงานอยู่  ตำราของกระทรวงก็ยังต้องมีให้เรียนกันต่อทุกปี  ไม่สามารถรอให้ชำระจบหมด ซึ่งอีกไม่รู้ว่านานเท่าไร   ก็ต้องเรียนกันไป แก้หลักสูตรกันไป  เท่านั้นเอง

ประวัติศาสตร์คือข้อเท็จจริงในอดีต
คนบันทึกประวัติศาสตร์จะบันทึกข้อเท็จจริงที่เข้าข้างตัวเองหรือไม่
ตราบใดมนุษย์ยังมีอัตตา  แม้แต่ข้อเท็จจริงตรงหน้าก็ยังมองกันคนละอย่างได้
มีน้ำอยู่ครึ่งแก้วตรงหน้า   นายก.บอกว่า ยังมีน้ำอีกตั้งครึ่งแก้ว  ไม่ต้องเติมหรอก นายข.บอกว่า ไม่เติมได้ไง  เหลือครึ่งแก้วเท่านั้นเอง
การมองประวัติศาสตร์ก็ทำนองเดียวกัน
แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เราต้องหยุดบันทึกประวัติศาสตร์นะคะ   มันทำให้คุณมีโอกาสเปรียบเทียบแล้วตัดสินด้วยตัวเองต่างหาก
บันทึกการเข้า
puyum
พาลี
****
ตอบ: 245


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 25 ก.ย. 12, 22:55

ปิดภาคต้นแล้วครับ
เมื่อไรคุณครูจะเริ่มสอนประวัติศาสตร์ เสียที
ติดน้องน้ำหรือน้องฝนครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 27 เม.ย. 13, 14:05

วิธีสอนอย่างนี้จะดีไหม    ยิ้มเท่ห์

บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 27 เม.ย. 13, 18:46

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความเห็นของท่านอาจารย์ใหญ่ที่ว่า
"ตราบใดมนุษย์ยังมีอัตตา  แม้แต่ข้อเท็จจริงตรงหน้าก็ยังมองกันคนละอย่างได้
มีน้ำอยู่ครึ่งแก้วตรงหน้า   นายก.บอกว่า ยังมีน้ำอีกตั้งครึ่งแก้ว  ไม่ต้องเติมหรอก นายข.บอกว่า ไม่เติมได้ไง  เหลือครึ่งแก้วเท่านั้นเอง
การมองประวัติศาสตร์ก็ทำนองเดียวกัน
แต่มันก็ไม่ได้ทำให้เราต้องหยุดบันทึกประวัติศาสตร์นะคะ   มันทำให้คุณมีโอกาสเปรียบเทียบแล้วตัดสินด้วยตัวเองต่างหาก"

แต่ประเด็นที่น่ากังวลในทุกวันนี้ คือการที่บรรดานักวิชาการ  ใช้วิธีคิดไปเองโดยมิได้ศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์โดยถ่องแท้  แล้วนำสิ่งที่ตนคิดและเข้าใจไปเองไปสอนศิษย์  ตัวอย่างเช่นเรื่องการรวมประเทศราชล้านนาเข้ากับราชอาณาจักรสยาม  ในเรื่องเทศาภิบาลของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงกล่าวไว้ว่าล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ โปรดให้รวมหัวเมืองประเทศราล้านนาเป็นมณฑลลาวเฉียงเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗  แล้วจึงเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลตวันตกเฉียงเหนือ และมณฑลพายัพในเวลาต่อมาตามลำดับ  พระนิพนธ์มีเพียงเท่านี้  แต่นักวิชาการท่านไปตีความเอาว่า รัชกาลที่ ๕ ไปยึดเอาหัวเมืองประเทศราชล้านนามารวมกับสยาม  แต่ในอัตชีวประวัติของพระประชากิจกรจักร (ชุบ  โอสถานนท์) ซึ่งขึ้นไปรับราชการป่าไม้ที่เมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๓๙  กลับบันทึกว่าการปกครองในหัวเมืองเหล่านั้นล้วนเป็นสิทธิ์ขาดอยู่ในเจ้าครองเมือง ยิ่งค้นเอกสารจดหมายเหตุต่อไปยิ่งพบความตลาดเคลื่อนอีกมาก  ปัญหาคือคนไทยในยุคนี้ขาดวิสัยที่จะศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง  คอยแต่จะรับสิ่งที่ถูกปรุงแต่งมาเท่านั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 28 เม.ย. 13, 15:17

วิทยานิพนธ์และตำราในหลายสำนัก มีค่านิยมให้เกิดการตีความแปลกๆกันออกไปจากตำราเรียนกันเมื่อก่อน     โดยเชื่อกันว่าเป็นการขยายโลกทัศน์ออกไป   หรือไม่ก็ 'จะได้ไม่ซ้ำซากจำเจอยู่อย่างเก่า'   เพราะ 'ตำราเด่นต้องไม่ซ้ำของเก่า'    ใครทำได้ถือว่าเก่ง

ทีนี้ ถ้ามีข้อมูลใหม่เข้ามาจนเป็นเหตุให้ตีความแตกต่างไปได้จากเดิม ก็ดีไป    กลายเป็นนวัตกรรม มีของใหม่มาให้ตื่นเต้นกัน   แต่ความเป็นจริงคือข้อมูลมันไม่ได้งอกขึ้นมาง่ายๆ  หากันแทบตายยังไง  ประเด็นเรื่องนี้ก็มีข้อมูลเท่าเดิม   เพื่อจะทำให้เป็นเรื่องใหม่ก็เลยต้องตั้งสมมุติฐานขึ้นมาใหม่      แล้วค่อยเลือกหยิบข้อมูลที่เข้ากับสมมุติฐานใหม่นี้ขึ้นมารองรับ    
เช่นมีข้อมูลทั้งหมด  10 ประการ    8 ประการชี้ไปทิศทางขวา  อีก 2 ชี้ไปทิศทางซ้าย      ถ้าเอามาหมด   คำตอบมันก็ไปทางขวามืออย่างที่เคยเป็นมาในอดีต  อย่ากระนั้นเลย เพื่อให้ฉีกแนวออกไป  ก็เอามาแค่ส่วนที่ชี้ไปทางซ้ายเท่านั้นก็พอ   เพื่อจะให้มีคำตอบใหม่เกิดขึ้น    
ถึงรวบรวมมาได้  มันไม่ค่อยจะมีน้ำหนักนัก ก็มั่วผสมเข้าไปบ้างก็ได้  ยังไงก็ให้อยู่ในแนวทางเดียวกันก็พอ
จากนั้นก็เกิดคำตอบใหม่ ว่า ทิศด้านซ้ายต่างหากคือคำตอบ    ไม่ใช่ขวา     แล้วก็ตื่นเต้นกันไปว่าเป็นนวัตกรรม  ไม่มีใครเคยทำ  เพิ่งค้นพบกัน

ใครอยากค้านก็ต้องไปหาอีก 8 ขวามาค้าน   แต่ค้านแล้ว คำตอบกลับไปเหมือนเดิมตามที่ท่านก่อนๆเคยว่ากันมา  ก็ไม่มีอะไรตื่นเต้น  บางทีจะถูกค่อนเสียอีกว่า เป็นเรื่องเก่าไดโนเสาร์เต่าล้านปี  งมงาย ไม่ยอมรับของใหม่  เป็นงั้นไป

หนังสือบางเล่มที่คุณ V_Mee คงนึกออกว่าเป็นเรื่องอะไร  ก็เข้าลักษณะเช่นนี้ละค่ะ
บันทึกการเข้า
เอ้อระเหย
อสุรผัด
*
ตอบ: 32

เอกเขนก


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 01 พ.ค. 13, 22:32

ผมนึกถึง หนังสือที่เพิ่งออกมาวางจำหน่ายครับ
"นายใน สมัยรัชกาลที่6"
ผิดไหมครับ ถ้าผมอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเห็นแย้งกับผู้นิพนธ์
ผมรู้สึกว่าผู้นิพนธ์พยายามโยงเรื่องราวต่างๆ ให้เราคิดเช่นนั้น
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 02 พ.ค. 13, 07:09

หนังสือเล่มที่ว่า เป็นหนังสือที่หลายท่านไม่อยากจะเอ่ยถึงแม้ชื่อ  เพราะเนื้อหาในหนังสือเป็นการตัดแปะข้อความจากแหฃ่งต่างๆ เพียงบางส่วน  เพียงเพื่อจะสนับสนุนความเชื่อของผู้เขียน  ซึ่งถ้าได้อ่านเนื้อความส่วนที่เหลือจากการตัดแปะ  จะได้ความหมายที่ต่างจากที่ปรากฏในหนังสือนั้นโดยสิ้นเชิง  ตัวอย่างเช่นเรื่องกีฬาฟุตบอล  ที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้  แต่ผู้เขียนไม่หยิบลกไอ้างถึงคือ

“บรรดาผู้อ่านหนังสือพิมพ์ของท่าน  คงจะได้สังเกตเห็นแล้วว่าฟุตบอลนั้น  ในสมัยนี้มีคนพอใจชอบเล่นกันเปนอันมาก  แลไม่ต้องสงสัยเลยคงจะเปนการเล่นที่จะยั่งยืนต่อไปในกรุงเทพฯ ข้อนี้ก็ไม่ปลาดอะไร  แต่ท่านทั้งหลายคงจะได้สังเกตเห็นแล้วว่าฟุตบอลซึ่งเปนการเล่นของชาวอังกฤษโดยแท้นั้น  พึ่งจะได้มีคนนิยมเล่นกันมากใน ๔ – ๕ ปีนี้เอง.  ตามโรงเรียนต่างๆ นั้น ได้เล่นกันมานานแล้วจริงอยู่  แต่ในหมู่ทหารพึ่งจะได้มาแลเห็นเล่นกันหนาตาขึ้นในเร็วๆ นี้เอง.  ผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารย่อมทราบอยู่ดีแล้วว่า  เวลาใดที่คนหนุ่มๆ มาประชุมรวมกันอยู่ในที่แห่งเดียวกันเปนจำนวนมาก  จะเปนทหารหรือพลเรือนก็ตาม  ความคนองอันเปนธรรมดาแห่งวิสัยหนุ่มจำเปนต้องมีทางระบายออกโดยอาการอย่างใดอย่าง ๑ ในสมัยก่อนเมื่อครั้งกองทัพของเราได้เริ่มจัดระเบียบขึ้นตามแบบของกองทัพเยอรมันโดยเคร่งครัดนั้น  การเล่นใดๆ และการกรีฑาทั้งปวงย่อมนับว่าเปนสิ่งที่ไม่สมควรแก่ทหาร  เพราะฉนั้นข้าพเจ้าเข้าใจว่าด้วยเหตุนี้เองผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารของเรา  ถึงจะไม่ห้ามปรามตรงๆ จึงไม่ใคร่จะได้อุดหนุนส่งเสริมการเล่นอย่างใดๆ ทั้งสิ้น  จริงอยู่การกรีฑาได้มีมาแล้วเปนครั้งคราว  และเราก็ยังจำได้ว่าได้เคยเห็นการกรีฑาของทหารที่ท้องสนามหลวงมาแล้ว ๒ คราว  แต่การกรีฑาอย่างที่จัดมาแล้วนั้นเปนแต่การชั่วคราว  ความพยายามที่จะบำรุงการเล่นในหมู่ทหารเพื่อให้เปนทางออกกำลังกายและหย่อนใจนั้นนับว่าไม่มีเลย  เพราะฉนั้นทหารไทยเราจึงล้วนเปนผู้ที่ได้เคยต้องประพฤติตนอย่างที่ชนเยอรมันเขาเห็นว่าสมควรแก่ทหาร  แต่ซึ่งชาวเราเห็นว่าไม่สนุกอย่างยิ่ง

ในกองทัพบกอังกฤษ  เขาย่อมมีการเล่นแลกรีฑาต่างๆ  ส่วนในกองทัพบกรัสเซียเขาก็อุดหนุนการเต้นรำและร้องเพลงเปนทางบรรเทิงใจในหมู่ทหาร  ฝ่ายกองทัพเยอรมันนั้น  ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าทหารมีทางบันเทิงใจโดยอาการอย่างไร  ข้าพเจ้าได้ยินแต่กิติศัพท์เขาว่าวิธีเดินก้าวช้ายกขาสูงๆ ซึ่งฝรั่งเขาเรียกกันว่า “เดินตีนห่าน”  นั่นแหละเปนวิธีที่เยอรมันเขาใช้สำหรับฝึกหัดกำลังกาย  ซึ่งผู้บังคับบัญชาในกองทัพอันเปนเจ้าของแบบอย่างนั้นได้ให้อนุมัติเห็นชอบด้วย.  การเดินชนิดนี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงจะต้องใช้กำลังมากจริง  แต่จะนับว่าเปนทางบันเทิงใจนั้นยังแลไม่เห็น  แต่อย่างไรก็ดี  วิธีเดินตีนห่านนี้  หาได้นำเอามาใช้เปน แบบอย่างในกองทัพไทยเราไม่  และเมื่อการเล่นอย่างใดๆ อื่นก็มิได้จัดให้มีขึ้น  ทหารของเราจึงมิได้มีการเล่นเพื่อหย่อนใจและออกกำลังกายเลย  เว้นไว้แต่การฝึกหัดดัดตนและหัดกำลังกาย  ซึ่งทหารของเราก็ถือว่าเปนการงาน  มิใช่การเล่น.  ทางหย่อนใจนี้แหละเปนสิ่งที่ทหารเราต้องการ  ก็เมื่อทหารเหล่านี้ไม่มีทางที่จะระบายความคนองซึ่งมีอยู่โดยธรรมดานั้นโดยอาการอันปราศจากโทษและสนุกสนาน คือ มีการเล่นชนิดที่ออกกำลังกายอย่างลูกผู้ชาย  อีกประการหนึ่งการดื่มเหล้าเบียร์ฤาก็มิใช่เปนทางหย่อนใจที่จะหาได้ด้วยราคาถูกเหมือนอย่างในเมืองอื่นบางเมือง  ทหารของเราตามทางราชการ  จึงนับว่าไม่มีทางสนุกสนานหย่อนใจอะไรเลย  แต่ในทางซึ่งมิใช่ราชการหรือทางส่วนตัวนั้น  เขาทั้งหลายบางทีก็ระบายความคนองของเขาโดยวิธีไม่สนุกแก่พลเรือนเลย (เพราะพลเรือนมักต้องหัวแตก)  และไม่ขันสำหรับพลตระเวนด้วย  ส่วนนายผู้มีน่าที่บังคับบัญชา  ก็ต้องใช้ความระวังระไวอยู่เสมอ  เพื่อควบคุมคนที่อยู่ในบังคับของตน.
ต่อมาความนิยมอย่างใหม่ได้ปรากฏขึ้นทีละเล็กละน้อย.  ในโรงเรียนนายร้อยและนายเรือ  ได้เกิดเล่นฟุตบอลกันขึ้น  ฟุตบอลได้เกิดมีขึ้นด้วยอาการอย่างไรนั้น  ก็หาได้มีปรากฏในจดหมายเหตุแห่งใดไม่  และข้าพเจ้าไม่ทราบว่า  ผู้มีหน้าที่บังคับบัญชาจะได้เปนผู้ชักนำเข้ามาหรืออย่างไร  แต่การเล่นของอังกฤษชนิดนี้ย่อมมีลักษณอยู่อย่าง ๑ คือ ว่าถ้าได้เข้าไปถึงแห่งใดแล้ว  แม้ทางราชการจะแสดงกิริยาเม้ยเมินสักเท่าใดก็ดี  คงไม่สามารถจะบันดาลให้สูญหายไปได้  เพราะฉนั้นในไม่ช้าการเล่นฟุตบอลนี้จึงได้กลายมาเปนวิธีหย่อนใจแลออกกำลังกายของนักเรียนนายร้อยแลนายเรือ  ฝ่ายผู้ที่มีอำนาจบังคับบัญชานั้น  ก็เออ อวยอุดหนุนไปตามควร.  เมื่อในเร็วๆ นี้ได้มีการเล่นแข่งขันกันหลายคราวอย่างฉันมิตร์  ในระหว่างนักเรียนนายร้อยทหารบกแลเสือป่ากรมพรานหลวงรักษาพระองค์  ซึ่งอยู่ใกล้กันในบริเวณสวนดุสิต  ส่วนนักเรียนนายเรือก็ได้มาเล่นกับนักเรียนมหาดเล็กหลวงหลายคราว.

ต่อนั้นมาฟุตบอลจึงได้เข้าไปถึงโรงทหาร  ผู้ใดได้เปนผู้นำเข้าไปนั้น  ข้าพเจ้าหาทราบไม่  แต่จะเปนใครก็ตาม  เขาเปนผู้สมควรที่จะได้รับความขอบใจแห่งเราทั้งหลาย  และข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าพวกทหารเองคงจะรูสึกขอบคุณเขาเปนอันมาก.  เวลานี้พวกทหารมีทางที่จะหย่อนใจด้วยความร่าเริงและไม่มีโทษ  ส่วนการเล่นนั้นเองก็เปนที่บันเทิงไม่เฉภาะแต่ส่วนผู้เล่น  ทั้งคนดูก็พลอยรู้สึกสนุกสนานด้วย.  ท้องสนามหลวงเวลานี้เปนสนามที่ฝึกหัดเล่นฟุตบอลสำหรับทหาร  ดังที่เราเห็นอยู่แทบทุกวันเวลาบ่ายๆ เต็มไปด้วยเพื่อนทหารที่ล้อมคอยดูตะโกนบอกและล้อกันฉันเพื่อนฝูง.  สนามหญ้าในพระบรมมหาราชวังหลังวัดพระแก้ว  ก็เปนที่สำหรับเล่นของกรมทหารรักษาวัง  ส่วนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ก็ไปเล่นที่สวนมิสกะวันใกล้โรงโขนหลวงที่สวนดุสิต  แลได้เล่นแข่งขันกับเสือป่ากรมพรานหลวงรักษาพระองค์เนืองๆ เปนการบำรุงความสามัคคีให้ดีขึ้น  ตั้งแต่ฟุตบอลได้เข้าไปถึงในกองทัพบกแล้ว  ความรู้สึกเปนเกลอกันในหมู่ทหาร  สังเกตเห็นได้ว่าดีขึ้นเปนอันมาก  ในห้องรักษาการแลห้องขังก็มีคนน้อยลงกว่าแต่ก่อน  การออกนอกบริเวณแลการหนีก็มีน้อยลงมาก  ความรู้สึกเปนมิตรเปนเกลอในหมู่ทหารและเสือป่าก็ได้เกิดขึ้นจากการเล่นฟุตบอลเปนปฐม  ทั้งนี้ส่อให้เห็นว่า  นิสัยของทหารเราไม่ถูกกับวิธีปกครองตามแบบของเยอรมัน (ซึ่งไม่ให้มีการเล่น).”

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 27 ต.ค. 15, 10:19

เมื่อวานนี้ (๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๘) ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติมีการจัดงานเสวนาวิพากษ์หนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “ประวัติศาสตร์ชาติไทย” เขียนโดยข้าราชการจากสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

รองศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิพากษ์หนังสือเล่มนี้ว่า

หนังสือเล่มนี้มีทั้งคำปรารภที่เขียนโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คำนำเขียนโดย นายวีระ โรจน์พจน์รัตน์ รมว.วธ. และคำชี้แจงโดย นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร สรุปได้ว่าหนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทยเป็นของรัฐบาล จัดทำตามระบบราชการ เป็นการสั่งการลงมาเป็นทอด ๆ ทั้งนี้ หนังสือเล่มนี้ถูกจัดทำขึ้นโดยมีเป้าประสงค์ เพื่อให้เกิดความรักสามัคคีของคนในชาติ เพื่อให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องในประวัติศาสตร์ และเป็นที่ยอมรับของคนทุกระดับชั้นวัย แต่เป้าประสงค์นี้กลับอยู่ภายใต้ข้อจำกัดสองข้อ คือ ๑.ข้อกำจัดในเรื่องบุคลกร ระบบราชการ ทำให้มีเจ้าหน้าที่ไม่กี่คนที่ต้องทำหน้าที่รับผิดชอบผลงานระดับชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่กี่คนจะตอบโจทย์ที่ยิ่งใหญ่ของประเทศกับโลกที่เปลี่ยนไปได้ดีแค่ไหน ๒.ข้อกำจัดในเรื่องเวลา หนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย ถูกจำกัดให้เขียนให้เสร็จภายใน ๒ เดือน ซึ่งจะคาดหวังจะมีความสมบูรณ์คงเป็นไปได้ยาก

หนังสือเล่มนี้มี ๒ เป้าหมาย ๑.ตอบสนองเชิงนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ ๒.ตอบสนองความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย แต่ความจริงกลับมีความขัดแย้งกันในตัว ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ข้อเท็จจริงทางวิชาการ อาจไปขัดกับวัตถุประสงค์ได้ ยกตัวอย่างเช่น สงครามยุทธหัตถี หากศึกษาตามประวัติศาสตร์ นานาชาติบอกว่าอาจจะไม่เกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้น แต่ไม่ได้เป็นไปตามความเข้าใจของไทย ขณะที่วันที่ ๑๘ ม.ค. ของทุกปี ที่เป็นวันกองทัพไทย เสมือนเป็นสิ่งยืนยันว่า สงครามยุทธหัตถีได้เกิดขึ้นจริง เป็นที่เรียบร้อย จึงมีความขัดแย้งกันอยู่

"รัฐบาลต้องการมุ่งเน้นเรื่องปรองดอง แต่กลับมีข้อมูลที่อาจมีผู้ไม่ประสงค์ความปรองดองสามารถใช้มาโจมตีรัฐบาล หรือมองว่าไม่ได้สร้างความปรองดองได้ เพราะพอดูรายละเอียดจะพบว่ามีการพูดถึง การกำเนิดรัฐไทย สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา แต่ไม่ได้มีการพูดถึงล้านนาหรืออีสานเลย คำถามคือล้านนาเป็นไทย อีสานเป็นไทยหรือไม่"

เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องการเมืองในหนังสือ ยังส่งผลให้การปรองดองเกิดขึ้นตามเป้าประสงค์ได้ยาก เพราะมีความตอนหนึ่งระบุว่า พรรคไทยรักไทยดำเนินนโยบายแบบประชานิยม และนายทักษิณ ชินวัตร มีปัญหาทุจริตการเลือกตั้ง รวมถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการดำเนินนโยบายเน้นความโปร่งใส แต่ก็ยังมีการใช้นโยบายประชานิยม แต่กลับพูดถึงการเข้ามาของพล.อ.ประยุทธ์ ว่าทำการรัฐประหาร เพื่อขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่หนังสือเล่มนี้ทำโดยหน่วยงานของรัฐ จึงทำให้หนังสือมีความลำเอียง และแท้จริงแล้วหนังสือประวัติศาสตร์ ไม่มีความจำเป็นที่จะโจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และชื่นชมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้ขัดกับเป้าประสงค์ที่ต้องการให้เกิดการปรองดอง

"ผมว่าไม่ต้องรีบร้อนที่จะต้องเขียน รอให้เหตุการณ์ตกผลึกก่อนจะดีกว่า การนำข้อมูลเหล่านี้มาใส่ตอนที่สถานการณ์ยังมีความระหองระแหง จะเป็นชนวนให้เกิดความแตกแยก และนำไปสู่การต่อต้านซึ่งกันและกันได้ อีกทั้งในทางวิชาการที่ต้องมีความน่าเชื่อถือ มีความทันสมัย สอดคล้องกับยุคสมัย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่ในขณะที่บรรณานุกรมของหนังสือเล่มนี้ กลับไม่มีหนังสือต่างประเทศที่พูดถึงประวัติศาสตร์ไทยแม้แต่เล่มเดียว อ่านแล้วไม่สามารถเชื่อถือว่าเป็นบรรทัดฐานทางประวัติศาสตร์ได้

เวลานี้หากจะลุกขึ้นมาเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ ไม่สามารถเขียนภายใต้กลไกราชการได้อีกต่อไป จะทำให้เป็นปัญหาเสียมากกว่า นอกจากนี้ จะต้องมีเวลามากกว่าสองเดือน มีเวลามากพอที่จะให้รายละเอียดต่าง ๆ และควรต้องมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน ภาคนักวิชาการ เพราะประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะผูกขาดได้อีกต่อไป"


ข้อมูลจาก ข่าวสด

เหตุการณ์ทางการเมืองที่เพิ่งผ่านมาก็กลับกลายเป็น "ประวัติศาสตร์" ในหนังสือเล่มนี้เสียแล้ว    รูดซิบปาก



บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 27 ต.ค. 15, 18:13


ถ้าจะวงเล็บขยายความชื่อหนังสือเป็น

 ประวัติศาสตร์ชาติไทย (ฉบับราชการ)

ก็น่าจะบอกตัวตนของหนังสือได้ดีขึ้นครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 27 ต.ค. 15, 18:46

อ้างถึง
หนังสือเล่มนี้มี ๒ เป้าหมาย ๑.ตอบสนองเชิงนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ ๒.ตอบสนองความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย แต่ความจริงกลับมีความขัดแย้งกันในตัว ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ข้อเท็จจริงทางวิชาการ อาจไปขัดกับวัตถุประสงค์ได้ ยกตัวอย่างเช่น สงครามยุทธหัตถี หากศึกษาตามประวัติศาสตร์ นานาชาติบอกว่าอาจจะไม่เกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้น แต่ไม่ได้เป็นไปตามความเข้าใจของไทย ขณะที่วันที่ ๑๘ ม.ค. ของทุกปี ที่เป็นวันกองทัพไทย เสมือนเป็นสิ่งยืนยันว่า สงครามยุทธหัตถีได้เกิดขึ้นจริง เป็นที่เรียบร้อย จึงมีความขัดแย้งกันอยู่

ถ้าหากว่าเราสามารถนั่งยานเวลาไปสัมภาษณ์สมเด็จพระนารายณ์  พระเพทราชา และเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ให้เล่าถึงเหตุการณ์ตอนท้ายรัชสมัย
เราก็จะได้เหตุการณ์ 3 เรื่อง ที่แตกต่างกันออกไป
ประวัติศาสตร์ไม่ว่าเรื่องไหน  ไม่มีข้อเท็จจริงที่ตายตัวจนกระดิกกระเดี้ยไม่ได้   ถ้ามีได้ก็มักเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่นวันเดือนปีเกิด
แม้แต่ยุทธหัตถี  พม่าบ้นทึกอย่าง ไทยบันทึกอีกอย่าง
ฝรั่งบันทึกอึกอย่าง  แล้วจะตัดสินอย่างไร ในการเชื่อฝรั่งมากกว่าไทยหรือพม่า

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.055 วินาที กับ 20 คำสั่ง