เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 28726 เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 03 ก.ย. 12, 16:27

นักเรียนมารายงานตัวว่ายังติดตามอย่างใกล้ชิดครับ  เจ๋ง
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 03 ก.ย. 12, 16:39

เราควรสอนประวัติศาสตร์ให้เป็น "ปกติ" ครับ

ในชีวิตคนเรานั้น มีกิจกรรมต่างๆเกิดขึ้นทุกวัน การกินการอยู่ การทำมาหาเลี้ยงชีพ เรื่องเหล่านี้ เราเหมือนปลาที่อยู่ในน้ำ เห็นทุกวันเจอทุกวันก็ไม่ได้รู้สึกว่าน่าจดจำอะไร เรื่องทุกถูกบันทึกไว้ส่วนมากจึงเป็นเรื่องที่ "ผิดปกติ" ยิ่งเจ็บปวดมากยิ่งจดจำมาก ถ้าถึงกับบ้านแตกเมืองล่ม ก็ถึงกับกลายเป็นวาระแห่งชาติื บดบังเรื่องปกติที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาส่วนมากในประวัติศาสตร์จนจมหายไปหมด

ดังนั้น ถ้าจะปรับปรุงการสอนประวัติศาสตร์ ก็ควรคำนึงถึงประเด็นนี้ให้มากไว้ เรื่องรบทัพจับศึกไม่ต้องเอาออก แต่รักษาสัดส่วนให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่มีศึกจริง สงครามก็จะไม่ยึดครองพื้นที่ในหน้าประวัติศาสตร์ไปหมด แน่นอนว่าถ้าเรายึดพงศาวดาร(ซึ่งย่อมต้องเน้นการบันทึกเหตุการณ์ผิดปกติ)ก็คงยากที่จะทำตามนี้ได้ ส่วนที่จะต้องหามาเติมก็คืองานของนักประวัติศาสตร์ล่ะครับ ถึงที่สุดผมเชื่อว่าทุกอย่างมันจะเข้าที่เข้าทางเอง เพราะว่ามันปกตินี่แหละครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 03 ก.ย. 12, 18:27

ก่อนที่ที่จะเริ่มสอนประวัติศาสตร์ให้แก่เด็กมัธยมนั้น  เห็นควรให้ผู้สอนได้ศึกษาข้อมูลให้ลึกซึ้งเสียก่อน เมื่อถึงเวลาสอนจึงค่อยแนะให้เด็กไปค้นคว้า
อาจจะแนะนำหนังสือให้เด็กไปอ่าน  แล้วให้เด็กคิดวิเคราะห์แล้วมานำเสนอในชั้นเรียน  การให้คะแนนควรให้น้ำหนักไปที่วิธีการคิดวิเคราะห์ของเด็ก
ไม่ใช่้ยึดเอาถูกผิดที่วันเวลาเหมือนข้อสอบในปัจจุบัน  แต่ที่ประสบกันอยู่ในปัจจุบันหากเด็กไปค้นคว้าและเห็นต่างจากครูหรือจากตำราเรียน  ครูกลับบอกว่า
ตอบได้แต่ไม่ได้คะแนน  เพราะอย่างนี้การศึกษาไทยจึงได้เตี้ยลงทุกวัน

ส่วนการคิดวิเคราะห์เชิงลึกอย่างเรื่องคุณหญิงโมหรือโม้นั้น  ออกจะเกินกำลังสำหรับเด็กในวัยมัธยม  ควรจะยกให้เป็นงานวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษาครับ
แต่ก็หวังว่า งานวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษานั้นเมื่อวิจัยมาแล้วก็ควรจะนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ด้วย  ไม่ใช้วิจัยเสร็จก็ประดิษฐานไว้บนหิ้งบูชา
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 03 ก.ย. 12, 19:53

นั่งอยู่หน้าห้องดูอาจารย์แต่ละท่านเข้ามาให้ความเห็นกันด้วยความตื่นตาตื่นใจ  รอท่านอาจารย์ใหญ่เรียกให้ตอบก็ไม่ถูกท่านเรียกซะที จึงขออาจหาญยกมือแล้วกล่าวประเด็นเลย


ปัญหาหนึ่งในเรื่องการเรียนประวัติศาสตร์คือ  เด็กเองก็ไม่รู้ว่าประวัติศาสตร์หลักสูตรปัจจุบันที่นักเรียนไทยกำลงเรียนกันนั้น  เรียนไปเพื่อจุดประสงค์อะไร ถ้ายังไม่มีวัตถุประสงค์ที่แน่ชัด ก็ยังไม่อาจจะวางเป้าหมายเพื่อปรับปรุงได้  เช่นจะเรียนเพื่อให้เข้าใจรากเง่าของเรา  เรียนเพื่อให้เข้าใจธรรมชาติกิเลสของมนุษย์และวงล้อประวัติศาสตร์ เรียนเพื่อเสริมสร้างการใช้ตรรกะเหตุผล ป้องกันสิ่งเลวร้ายในอนาคต เรียนให้รู้เท่าทันผู้นำ  หรือแม้แต่เรียนเพื่อไปร้องบันไซแล้ววิ่งเข้าหาปืนกลเพื่อตายอย่างมีเกียรติเพื่อองค์จักรพรรดิแบบที่นักเรียนญี่ปุ่นเรียนกันสมัยก่อนสงครามโลก  ฯลฯ เพราะการเรียนประวัติศาสตร์มีส่วนปลูกฝังความเชื่อและแนวคิดต่างๆ แก่พลเมืองได้มาก


แต่โดยส่วนตัวผมมีความรู้สึกว่า  ต้องย้ำว่าเป็นความรู้สึกส่วนตัวเท่านั้นนะครับ   คือประวัติศาสตร์แบบที่นักเรียนไทยกำลังเรียน เป็นประวัติศาสตร์ที่มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นไปที่การปลูกฝังลัทธิชาตินิยมให้กับผู้เรียน เรียนแล้วมีความเป็นผู้ตามที่ดี เป็นพลเมืองที่ว่านอนสอนง่ายสำหรับผู้นำเป็นหลัก


ทำไมผมถึงรู้สึกอย่างนั้น?

เพราะผมรู้สึกว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เราเรียน เราได้เรียนแต่เรื่องของผู้นำ กษัตริย์ ขุนนางต่างๆ และสิ่งที่เราเรียนก็มุ่งเน้นไปที่การเทอดทูนอัจริยภาพ  ความกล้าหาญ  ความเด็ดขาด  สิ่งดีๆ ต่างๆ ฯลฯ ของผู้นำเป็นหลัก  ประชากรส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้อยู่ใต้การปกครองเท่านั้น ชีวิตจะเป็นไปไหนทางไหน ขึ้นอยู่กับอัจริยะภาพของผู้นำ   เมื่อมีปัญหาวิกฤติใดๆ  ขอเพียงรออัศวินม้าขาว ผู้มีบุญญาธิการมาเกิด และนำพาเราไปสู่ความสว่างไสวรุ่งโรจน์   ขอเพียงให้เราเป็นผู้ตามที่ดีเท่านั้น


เราไม่เคยเรียนเลยว่าชีวิตของคนธรรมดา ไพร่ ในอดีตมีความเป็นอยู่อย่างไร กินอะไร อึที่ไหน อยากเปลี่ยนสถานภาพเป็นชนชั้นปกครองทำได้หรือไม่  ตามกองทัพไปรบมีเสบียงแจกหรือต้องพกไปเอง ถ้าตายไปลูกเมียได้สวัสดิการอะไรบ้าง ฯลฯ   เรารู้แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้านายหรือชนชั้นนำผู้ปกครองเท่านั้น     ถ้าเรียนเรื่องการต่อสู้ ความขัดแย้ง  ตำราเรามักมีเพียงสองด้าน ขาวกับดำ ส่วนเรื่องเทาๆ เราเลือกที่จะไม่เล่า ปกปิดไว้  ตัวอย่างเช่นคนส่วนใหญ่รู้จักพระเจ้าเสือจากประวัติศาสตร์แบบนิทานว่าชอบปลอมตัวเป็นสามัญชน  มีน้ำพระทัยกว้างขวาง เช่นไม่เอาโทษต่อพันท้ายนรสิงห์  แต่น้อยคนคงรู้ว่าพระเจ้าเสือนี่โหดเหี้ยมอำมหิต  เข่นฆ่าผู้คนมากมาย ชอบมีอะไรกับเด็กสาวๆ เล็กๆ แถมยังฆ่าทิ้งอีกไม่น้อย  สมัยนี้คงต้องเรียกว่าซาดิสต์ แต่เรื่องพวกนี้ต้องไปแอบหาอ่านเอาเอง  หรือแม้แต่ความขัดแย้งระหว่างเจ้านายพระองค์ต่างๆ  ต้องหาอ่านจากบันทึกของเจ้านายด้วยกัน  และไม่มีในตำราให้ศึกษา เพราะนอกจากพูดเรื่องไม่ดีของข้าศึกศัตรู ตำราของเราจะไม่กล่าวถึงสิ่งไม่ดีของใคร ยกเว้นแต่เพื่อยกย่องผู้นำอีกคน


ผลจากการเรียนแบบนี้ ทำให้เราปลูกฝังค่านิยมการนิยมชมชอบลัทธิดลบันดาล พึ่งพาผู้มีอำนาจ รออัศวันขี่ม้าขาวมานำพาเรา ไม่ได้สอนให้พึ่งพาตัวเองนัก แถมมีมุมมองเรื่องต่างๆ แค่มุมเดียว จนมันซึมสายเลือดจริงๆ    และเรายังถูกสอนให้ต้องเทอดทูนวีรบุรุษเหล่านั้นด้วย  สิ่งที่เขียนไว้ในตำราคือประวัติศาสตร์สำเร็จรูป สมบูรณ์แล้ว ห้ามแย้งห้ามเห็นต่าง  เรียนแล้วให้จำเอาก็พอไม่ต้องวิเคราะห์มาก ยิ่งเมื่อบวกกับเรื่องชาตินิยมแล้วเรื่องคุณหญิงโมก็เป็นตัวอย่างที่ดี  ว่าสอนให้เชื่อง่ายกว่าสอนให้คิดเป็นมากๆๆๆๆๆๆ


ดังนั้น ถ้าจะเปลี่ยนวิธีการสอน อาจต้องมามองกลับมาที่วัตถุประสงค์ ว่าเราต้องการให้ผู้เรียนมุ่งเน้นไปทางไหนก่อน ยกเลิกวัตถุประสงค์ปัจจุบัน คือการเรียนประวัติศาสตร์แบบด้านเดียวเพื่อรองรับระบบชาตินิยมและการเป็นพลเมืองผู้ตามที่ดี แล้วถึงจะมาดูที่เนื้อหาจะวิธีในรายละเอียดอีกที
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 04 ก.ย. 12, 16:42

แยกกระทู้ใหม่ตามความประสงค์ของคุณเพ็ญชมพูแล้วนะคะ

"คำถามจากหนังสือ "การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี" - "วีรกรรมนี้เกิดขึ้นจริงหรือ?"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 04 ก.ย. 12, 18:38

พรรคพวกยกขบวนไปทุ่งสัมฤทธิ์กันหมดแล้ว   
สงสัยกระทู้นี้จะค้างอยู่แค่นี้สักพักใหญ่ละค่ะ    หรืออาจจะตกจอไปเลยก็ได้
บันทึกการเข้า
Seventoon
อสุรผัด
*
ตอบ: 2


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 04 ก.ย. 12, 18:54




คุณเทา ชมพู ขอสมัครเป็นนักเรียนด้วยคนครับ ผมแก่แล้ว แต่สนใจศึกษาประวัติศาตร์ ยุโรป-จีนมากเลยอ่ะครับ

ไปเจอกระทู้นี้มาครับ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1727.35;wap2

สุดยอดจริงจริงเลยอ่ะครับ


ขอบคุณมากครับ ยังอ่านไม่จบนะ เพราะว่าผมอยากจะซื้อหนังสือประวัติศาตร์อังกฤษควบคู่ด้วยกันด้วยน่ะครับผม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 04 ก.ย. 12, 18:58

สำนวนเขียนไม่เหมือนคนแก่เลยนะคะ

ท่านที่สนใจกระทู้ที่คุณ seventoon เอ่ยถึง อ่านได้ที่นี่ค่ะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1727.0
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 04 ก.ย. 12, 19:52

ผมยังไม่มีพาหนะจะไปกับเขาได้ เลยจะยังขออยู่ในห้องเสวนานี้

ดูๆไปแล้ว ลักษณะประวัติศาสตร์ของไทยก็คล้ายๆกับของอเมริกา

คนที่เรียกตนเองว่าเป็นอเมริกันก็มาจากหลายแหล่งหลายเชื้อชาติ คนที่เรียกตนเองว่าเป็นไทยก็เช่นเดียวกัน จะต่างกันก็ตรงที่คนอเมริกันเป็นพวกคนผิวขาวเป็นส่วนมาก ในขณะที่คนไทยเป็นพวกคนผิวเหลืองเป็นส่วนมาก
  
อเมริกาเป็นดินแดนของคนที่ไปแสวงหาความเป็นอิสระเสรี ไทยก็เป็นดินแดนเช่นนั้นเหมือนกัน  ในดินแดนอเมริกา เหล่าประชากรช่วยกันสร้างให้เกิดขึ้น ในดินแดนของไทยก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เพียงแต่มีวัฒนธรรมและความเชื่อต่างกัน เขาเห็นว่าทุกคนมีภาระและหน้าที่ๆจะต้องพยุงสภาพนั้นๆ ในขณะที่เราเห็นว่าเป็นภาระและหน้าที่เป็นของผู้นำ ซึ่งเป็นลักษณะปรกติในจิตวิญญาณที่มีมายาวนานในสังคมของคนในเอเซีย  สภาพของจิตวิญญาณในลักษณะนี้ยังเห็นได้ในสังคมของเราในปัจจุบันในแวดวงต่างๆ ทั้งในวงการเมือง วงราชการ และวงคหบดี      

  
บันทึกการเข้า
Seventoon
อสุรผัด
*
ตอบ: 2


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 04 ก.ย. 12, 21:46

สำนวนเขียนไม่เหมือนคนแก่เลยนะคะ

ท่านที่สนใจกระทู้ที่คุณ seventoon เอ่ยถึง อ่านได้ที่นี่ค่ะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1727.0


อา  แหม แก่แล้วอ่ะ ผมอ่ะ แต่ทำตัวเด็กไง 55+
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 04 ก.ย. 12, 21:53

     ในอเมริกา ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเขาได้รับการส่งเสริมมาก  เมืองทุกเมืองไม่ว่าเมืองเล็กเมืองน้อยยังไงก็ต้องมีพิพิธภัณฑ์หรือหอประวัติศาสตร์ของเมืองที่แสดงถึงกำเนิดของเมืองนั้น ควบคู่ไปกับเมืองใหญ่มีประวัติศาสตร์ของรัฐ       สิ่งสำคัญที่เขาเน้นให้เยาวชนสำนึกคือ กว่าจะมาเป็นประเทศมั่งคั่งสมบูรณ์ พลเมืองอยู่ดีกินดีอย่างทุกวันนี้     นักบุกเบิกอเมริกันที่อพยพจากตะวันออกมาตะวันตกต้องฝ่าฟันความลำบากขนาดไหน กว่าจะสร้างบ้านสร้างเมืองขึ้นมาให้ลูกหลานอยู่กันได้สบาย
    การสอนประวัติศาสตร์ของอเมริกาก็มีจุดหมาย(หรือเรียกว่าวัตถุประสงค์เด่นชัดเหมือนกัน) ว่าเขาสอนให้เยาวชนภูมิใจในความบากบั่นอดทนของบรรพบุรุษ   ทางรัฐตะวันตก  นักบุกเบิกดูจะเป็นฮีโร่มากที่สุด    หลักฐานที่เขาช่วยกันเก็บของเก่าและจำลองของใหม่ก็คือสรรเสริญการอพยพบุกเบิกมาตั้งถิ่นฐาน     แต่...ดิฉันก็มองเห็นว่า นักประวัติศาสตร์หรือครูปวศ. ก็อมพะนำบางเรื่องไว้ไม่สอนเยาวชนตัวเล็กตัวน้อยตามความจริงอีกด้านหนึ่งเหมือนกัน   คือไม่สอนว่าพวกคนขาวไปแย่งดินแดนของอินเดียนแดงมาเป็นของตัวเอง    แต่ไปสอนว่าดินแดนเหล่านี้ว่างเปล่าไร้เจ้าของ  ใครที่ขยันจะมาตั้งถิ่นฐานเพื่อทำให้ที่ทางเจริญขึ้นก็ทำได้ทั้งนั้น  ส่วนอินเดียนแดงคือ "เผ่าคนเถื่อน" ที่อาศัยเป็นกลุ่มเล็กๆในท้องถิ่น  เป็นพวกโหดร้ายป่าเถื่อน  รังควานฝรั่งที่เข้าไปอย่างสันติ  ทำให้ฝรั่งต้องป้องกันตัวเองไม่ให้พวกนี้รุกราน  เพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้าได้สำเร็จ
    เพราะงั้น เราก็ต้องมาดูว่า ประวัติศาสตร์ของชาติซึ่งมีหลายด้านหลายมุม  หลายสีทั้งขาว ดำและเทา เราจะเลือกอะไรมาสอนเด็กประถมเป็นพื้นฐาน   มัธยมสอนอะไร แล้วถึงอุดมศึกษาจะสอนอะไร
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 04 ก.ย. 12, 21:55

เราควรจะสอนประวัติศาสตร์ไทยเสียใหม่อย่างไรดี

บทความของคุณสายพิน แก้วงามประเสริฐข้างล่างนี้ น่าจะเป็นคำตอบหนึ่งของคำถามข้างบน

วิชาประวัติศาสตร์ไทยจะนำไทยไปอาเซียน ? โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ มติชน วันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

เรื่องที่ต้องเตรียมความพร้อมเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นอกจากความรู้ด้านภาษา การรู้จักประเทศเพื่อนบ้านแล้ว สิ่งที่จำเป็นมากคือทัศนคติดี ๆ ที่มีต่อกัน อย่างที่จุดเน้นที่อาเซียนประกาศไว้คือ "หนึ่งประชาคม หนึ่งอัตลักษณ์" คือต้องมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความเป็นหนึ่งเดียวจะเกิดขึ้นไม่ได้ หรือเกิดได้ยากในขณะที่การกินแหนงแคลงใจกันยังมีอยู่

จึงจำเป็นต้องพยายามให้อคติที่มีต่อกันเบาบางจนหมดสิ้นไปให้จงได้

อคติที่มีต่อกันเกิดจากอะไร หากมองที่ตัวเองเป็นสำคัญ น่าจะเกิดจากการที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านน้อย โดยการเรียนผ่านตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยรัฐชาติ สมัยชาตินิยม โดยเน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของ "เรา" ส่วน "เขา" เป็นผู้ร้ายไป หรือเน้นความรักชาติ ชาติของเราย่อมยิ่งใหญ่เหนือใคร คนไทยในตำราเรียนประวัติศาสตร์จึงเป็นคนเก่งที่ไม่มีใครเหมือน

ผู้ผ่านระบบการศึกษาถูกปลูกฝังให้เห็นเพื่อนบ้านเป็นศัตรู เพราะตำราเรียนประวัติศาสตร์มุ่งเน้นเรียนเรื่องศึกสงคราม เช่น ในส่วนที่เกี่ยวกับพม่าจะกล่าวถึงการสู้รบระหว่างไทยกับพม่าว่ามีหลายสิบครั้ง และมักยกกรณีศึกสงครามสมัยสมเด็จพระนเรศวร ศึกบางระจัน การกอบกู้เอกราชของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี รวมทั้งสงครามเก้าทัพ ศึกรบพม่าที่ท่าดินแดงสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นต้น

ตำราเรียนยังสรุปว่าไทยกับพม่าทำศึกสงครามสมัยอยุธยา ๒๔ ครั้ง ธนบุรี ๑๐ ครั้ง รัตนโกสินทร์ ๑๐ ครั้ง รวมเป็น ๔๔ ครั้ง และอธิบายต่อว่า ส่วนใหญ่พม่าเป็นฝ่ายยกทัพมา และไทยเป็นฝ่ายตั้งรับ โดยให้เหตุผลการที่เป็นเช่นนี้เพราะ "พม่าเป็นรัฐที่มีกำลังทหารเข้มแข็ง และต้องการเข้ามามีอำนาจเหนือดินแดนไทย ไทยจึงตอบโต้ด้วยการใช้แสนยานุภาพทางทหาร เพราะไม่สามารถใช้วิธีการทางการทูตได้..." นี่เป็นการอธิบายประวัติศาสตร์ในมุมมองของตนเอง

ในส่วนของความสัมพันธ์กับลาว ตำราเรียนประวัติศาสตร์ไทยอธิบายเกี่ยวกับเรื่องศึกสงคราม ที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์บาดหมาง และบาดแผลที่ทำให้ไม่อาจเป็นมิตรที่ดีต่อกันได้จริง ๆ น่าจะเป็นกรณีที่ตำราเรียนประวัติศาสตร์ไทยแม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรไปหลายฉบับแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ตำราเรียนประวัติศาสตร์ไม่เคยหลงลืมที่จะเขียนเลยคือ กรณีศึกเจ้าอนุวงศ์ที่ไทยกล่าวหาว่าเป็น "กบฏ" และยกกรณีวีรกรรมของท้าวสุรนารีว่าใช้อุบายมอมเหล้าทหารลาว จนสามารถโจมตีกองทัพเจ้าอนุวงศ์แตกพ่ายไป

ในสมัยหนึ่งการนำประวัติศาสตร์เรื่องนี้มาเรียนอาจก่อให้เกิดความรักชาติ เกิดความฮึกเหิม แต่ทำให้มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเพื่อนบ้าน เป็นการฝึกนิสัยข่มคนอื่นที่เห็นว่าด้อยกว่าตน จนทำให้คนไทยคนลาวส่วนหนึ่งมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อกัน ทั้งที่หากมองไปรอบ ๆ บ้านแล้ว ไทยกับลาวมีภาษา มีประเพณีวัฒนธรรม วิถีการดำรงชีวิตใกล้เคียงกันมากที่สุด และอาจมาจากบรรพบุรุษที่มีรากเหง้าเดียวกันก็เป็นได้ แต่ความเป็นไทยที่ถูกสร้างให้มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง จึงไม่ค่อยเห็นอกเห็นใจใครนัก

ความหยิ่งทะนงองอาจว่าเราเหนือกว่าลาว กลับถูกท้าทายเมื่อไม่นานมานี้ ด้วยการที่ลาวสร้างอนุสาวรีย์เจ้าอนุวงศ์ ตั้งตระหง่านหันหน้ามาทางฝั่งไทยแบบไม่ยี่หระ สื่อนัยอะไรบางอย่าง รวมทั้งการสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่โดยให้ชื่อสนามกีฬาว่า "เจ้าอนุวงศ์" โดยได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากเวียดนาม ชื่อสนามกีฬาและการรับความช่วยเหลือจากเวียดนาม เป็นการบอกเล่าประวัติศาสตร์ของลาวสมัยที่เจ้าอนุวงศ์ถูกกองทัพสยามตามไปโจมตี แล้วต้องหนีไปพึ่งญวนหรือเวียดนาม

เป็นการสื่อนัยว่าปัจจุบันลาวเห็นเวียดนามเป็นมิตรที่ดีกว่าไทย ตั้งแต่อดีตจนอาจถึงปัจจุบัน เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งสำหรับเพื่อนบ้านที่มีวัฒนธรรมประเพณีใกล้เคียงกันมาก น่าจะเข้าใจกันมากกว่าที่เป็นอยู่ หากไทยไม่มัวแต่ใช้ตำราเรียนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างความภูมิใจในตนเอง แต่ไม่ได้นึกถึงจิตใจของผู้อื่น ทำให้ต้องขาดโอกาสดีๆ ในการที่จะมีเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดเช่นนี้

ในส่วนของเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ปัจจุบันที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังง่อนแง่น เพราะมีกรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งความสัมพันธ์จะดีหรือไม่ดีช่วงนี้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกัมพูชากับรัฐบาลไทยเป็นสำคัญ ทำให้บางรัฐบาลความสัมพันธ์แย่มาก ทั้งที่ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนทั้งสองชาติที่อยู่บริเวณชายแดนกลับไม่ได้มีปัญหาต่อกัน

ในส่วนของตำราเรียนประวัติศาสตร์ไทยเมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์กับกัมพูชา มักจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ในสมัยอยุธยาที่กล่าวว่า เขมรยอมอ่อนน้อมต่อไทย แต่มักถือโอกาสที่ไทยติดศึกสงครามเข้ามากวาดต้อนผู้คนกลับไป รวมทั้งการกล่าวถึงสมัยสมเด็จพระนเรศวรที่ไปจับพระยาละแวก กษัตริย์เขมรมาทำพิธีปฐมกรรม ซึ่งในส่วนนี้น่าจะเป็นประวัติศาสตร์บาดหมางที่สุด ที่ไม่ควรกล่าวถึง แต่มักจะพบอยู่เสมอเมื่อเกิดข้อพิพาทกับกัมพูชา ที่คนไทยส่วนหนึ่งที่ผ่านการเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนแบบโบราณ มักจะนำเรื่องราวที่เป็นบาดแผลของชาติอื่นมากล่าวเพื่อให้ตนเองเกิดความสะใจ แต่กลับลืมนึกไปว่า แล้วจะเกิดประโยชน์อันใด และหากเป็นเราถูกหมิ่นหยามเช่นนี้ จะรู้สึกอย่างไร?

หากพิจารณาเนื้อหาในตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่มุ่งเน้นการเรียนเพื่อส่งเสริมความรักชาติ โดยต้องกล่าวถึงศึกสงคราม ความเก่งกล้าสามารถของคนไทย โดยไปเหยียบย่ำชาติอื่นแล้ว ดูเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสรรค์ความเข้าใจอันดีกับผู้อื่น และอาจเป็นการฝึกนิสัยที่ไม่ดีให้กับเด็กด้วย

การเรียนประวัติศาสตร์แบบสากลนิยมจริง ๆ สิ่งสำคัญไม่ใช่เนื้อหาเรื่องราวที่เน้นความเป็นวีรบุรุษวีรสตรีเท่านั้น เพราะความสำเร็จใด ๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากมีผู้เก่งกล้าสามารถเพียงผู้เดียว แต่ต้องหมายรวมถึงการร่วมมือร่วมใจที่จะทำให้ประเทศชาติเดินไปได้เท่านั้น

สิ่งสำคัญในการเรียนประวัติศาสตร์ คือการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยผ่านการตั้งประเด็นข้อสงสัย การรวบรวมหลักฐาน การวิพากษ์ความน่าเชื่อถือของหลักฐานว่าใครเขียน เขียนทำไม เนื้อหาที่ต้องการนำเสนอคืออะไร ไปจนถึงการจัดความสัมพันธ์ของข้อมูล และนำเสนอเรื่องราวแบบหลากหลายรอบด้านตามที่หลักฐานบ่งบอก ไม่สรุปหรืออธิบายอย่างหนึ่งอย่างใดตามความเชื่อของตนเอง

การเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนจึงไม่ใช่การเรียนแบบท่องจำ เรื่องที่สอนกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เรื่องศึกสงคราม หรือไทยเก่งกว่าใคร แต่การเรียนประวัติศาสตร์ควรเรียนเพื่อฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ การหาเหตุผลอย่างรอบด้าน เพื่อนำความรู้ที่เรียนไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้ ควรเป็นการเรียนเพื่อให้เข้าใจอดีตว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ และเรียนเพื่อที่จะระมัดระวังปัจจุบัน ประวัติศาสตร์จึงเป็นการเรียนเพื่อทบทวนอดีต ไม่ใช่การจมปลักอยู่กับอดีตอันรุ่งเรืองหรือรันทดหดหู่

ในโอกาสที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีการเตรียมการกันตั้งหลายเรื่อง แต่เรื่องที่ไม่ได้มีการกล่าวถึงกันอย่างชัด ๆ คือ กระบวนการหล่อหลอมกล่อมเกลาทัศนคติต่อเพื่อนบ้านในทางลบที่ผ่านตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่เป็นอุปสรรคต่อการอยู่ร่วมกับคนอื่น

แม้ว่าจะมีแนวคิดในการจัดทำหลักสูตรอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับ ๗ สาขาวิชา โดยในนั้นมีวิชาประวัติศาสตร์อยู่ด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจุดเน้นการทำหลักสูตรนี้เพียงเพื่อนำประวัติการก่อตั้งอาเซียนไปใส่ไว้ แต่ในส่วนการเรียนเรื่องความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านยังเหมือนเดิมแล้ว หลักสูตรอาเซียนในส่วนของวิชาประวัติศาสตร์คงไม่สามารถทำให้การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนราบรื่นไปได้

นอกจากต้องมีการปรับเนื้อหาในตำราเรียนประวัติศาสตร์ในโรงเรียน ให้กล่าวถึงศึกสงครามให้น้อยลง เขียนประวัติศาสตร์ด้วยความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้นแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ต้องมีการเตรียมความพร้อมคือ ครูผู้สอนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนที่ผ่านกระบวนการศึกษาด้วยระบบเก่า ที่ยังมุ่งเน้นไทยรบกับพม่า ต้องให้ครูผู้สอนเหล่านี้ได้เห็นความสำคัญของการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ในการฝึกกระบวนการคิดให้กับเด็ก มากกว่าที่จะให้สอนกันแบบเดิม ๆ ที่เน้นการจดจำ แต่ควรปฏิรูปครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ทั้งระบบ ให้สามารถใช้กระบวนคิดอย่างมีวิจารณญาณ ฝึกให้เด็กคิดเป็น โดยจัดอบรมครูอย่างจริงจัง ด้วยวิทยากรที่มีความรู้ด้านการใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์อย่างเชี่ยวชาญ และมีความคิดทัศนคติที่ทันสมัย ไม่ล้าหลังคลั่งชาติ

เรื่องสำคัญของการรวมเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน คือการมีทัศนคติที่ดีต่อกัน เป็นการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน การรู้จักและเข้าใจคนอื่นอย่างที่เขาเป็น นั้นย่อมส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากเราปล่อยให้ตำราเรียนประวัติศาสตร์ ถูกมองว่ามีทัศนคติเหยียดหยามเพื่อนบ้าน หากเป็นเช่นนี้ต่อไป วิชาประวัติศาสตร์ไทยจะนำไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างไร?

 เจ๋ง

บันทึกการเข้า
saimai
อสุรผัด
*
ตอบ: 44


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 05 ก.ย. 12, 21:39

มาลงทะเบียนเรียนค่ะ

-พร้อมเรียนและพร้อมเปิดใจรับรู้
-จะตั้งใจเรียน+และจะหมั่นหาความรู้เพิ่มเติมค่ะ   ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 05 ก.ย. 12, 22:06

ดิฉันก็ไม่รู้ว่าลาวสอนประวัติศาสตร์ในโรงเรียนของเขาอย่างไรแบบไหน   ให้รู้สึกเป็นมิตรกับคนไทยหรือเปล่า   และมีนักวิชาการลาวมาเรียกร้องให้เปลี่ยนประวัติศาสตร์ลาวให้รับกับ AEC หรือไม่
การสร้างหลักสูตรวิชาอะไรก็ตาม อย่างแรกคือดูจุดมุ่งหมายว่าจะสอนไปทำไม    ถ้าสอนเพื่อเตรียมรับ AEC หรือ AC ให้ประเทศเพื่อนบ้านอยู่กันได้อย่างสันติ  ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน    ก็ต้องเน้นเนื้อหาให้เป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายนี้     เพราะในโลกสมัยใหม่ การยกพลเข้าต่อสู้ล้มตายกันอาจสิ้นเปลืองทั้งงบประมาณและชีวิต   สงครามอาจเปลี่ยนรูปแบบเป็นแบบอื่นเช่นการชิงชัยกันทางเศรษฐกิจ   หลักสูตรการสอนก็ต้องเปลี่ยนไปจากเดิมเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

โดยส่วนตัว ดิฉันไม่มีความรู้สึกทางลบกับประเทศเพื่อนบ้านประเทศไหน   แต่ก็ไม่ลืมว่า ถ้าคนไทยบางคนรู้สึกในทางลบกับลาวอย่างคุณสายพินว่าจริง   ก็น่าจะมีคนลาวบางคนรู้สึกในทางลบกับไทยเช่นกัน   คุณสายพินมีคำตอบสำหรับข้อนี้หรือไม่ว่าจะแนะนำให้แก้ไขอย่างไรดี   ถ้าไทยเปลี่ยนประวัติศาสตร์แล้ว  เราจะดำเนินการอย่างไรให้ลาวปรับเปลี่ยนประวัติศาสตร์ด้านเขาบ้าง เพื่อประสานความเข้าใจอันดีระหว่างกัน 
หรือว่ามุ่งจะเปลี่ยนของเราอย่างเดียวพอ   แต่ประวัติศาสตร์ลาวคงไว้อย่างที่เป็นอยู่  ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด?
บันทึกการเข้า
saimai
อสุรผัด
*
ตอบ: 44


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 05 ก.ย. 12, 22:07

เห็นด้วยกับคุณประกอบ(อีกแล้ว) ว่าเรียนไปเพื่อจุดประสงค์อะไรถ้ายังไม่มีวัตถุประสงค์ที่แน่ชัด ก็ยังไม่อาจจะวางเป้าหมายเพื่อปรับปรุงได้ ขอนอกเรื่องนิดนึงนะคะว่า เมื่อก่อนนี้ดิฉันก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ค่อยสนใจกับวัตถุประสงค์ในการทำอะไรมากนัก รู้สึกว่าตัวเองสะเปะสะปะมากระบบความคิดวกไปเวียนมา ต่อมา ก็มาคิดถึงตอนเรียนวิทยาศาสตร์ ก่อนเริ่มการทดลองแต่ละครั้ง ต้องเขียนวัตถุประสงค์ก่อนเพื่อที่เราจะได้รู้เราจะทดลองไปทำไมเพื่ออะไร จากวัตถุประสงค์นี้เอง ทำให้ดิฉันมีกรอบความคิดและการกระทำมากขึ้น

เพราะฉะนั้นเราต้องมีวัตถุประสงค์ไปเลยว่า เรียนไปเพื่ออะไร
- รู้รากเหง้าของตนเอง
- ปรับปรุงในจุดด้อย ไม่ผิดซ้ำซาก  และพัฒนาสิ่งที่ดีให้ดียิ่งขึ้นไป
เป็นต้น

ควรเรียนประวัติศาสตร์ที่ใกล้ตัวก่อน เป็นตัวตั้งต้น เพราะยุคสมัยใกล้ หรือจะห่างก็ยังไม่มาก ยังพอจินตนาการถึงได้ไม่ยาก แล้วค่อยๆย้อนหลังกลับไปในอดีต จะได้เรียนรู้ข้อเท็จจริงและ เปรียบเทียบและวิเคราะห์ ไปพร้อมๆกัน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.086 วินาที กับ 20 คำสั่ง