ประวัติและวีรกรรมของนางสาวบุญเหลือไม่มีกล่าวถึงในหลักฐานร่วมสมัยในรัชกาลที่ ๓ หรือพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์
หลักฐานที่เป็นงานเขียนเก่าที่สุดที่พูดถึง "นางสาวบุญเหลือ" คือสมุดสั่งสอนทหารแบบสั่งสอนที่ ๑ ว่าด้วยพระราชวงศ์และพงศาวดาร พิมพ์ที่โรงพิมพ์กรมทหารบก มณฑลนครราชสีมา เมื่อ ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) นิพนธ์โดยพลเอกพระองค์เจ้าบวรเดช ขณะดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารมณฑลนครราชสีมา เขียนยกย่องวีรกรรมของ "นางสาวเหลือ" ว่าเป็นผู้จุดเกวียนบรรทุกกระสุนดินดำ
งานเขียนเรื่องที่สองคือ เรื่อง "ท้าวสุระนารี" ของพันตรีหลวงศรีโยธา (ศรี จูฑะพล) พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ เพื่อจำหน่ายในงานเปิดอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีในปีเดียวกัน ในเรื่องนี้กล่าวถึง "นางสาวทองเหลือ" บุตรีหลวงเจริญ ได้รับมอบหมายจากคุณหญิงโมให้เป็นผู้ปรนนิบัติเพี้ยรามพิชัย ผู้ทำหน้าที่ดูแลเกวียนกระสุนดินดำ โดยหวังว่าถ้ากำจัดเพี้ยนายนี้ได้ ก็จะสามารถฉกฉวยเอาเกวียนและกระสุนดินดำมาใช้ประโยชน์ได้ หรืออาจทำลายเพื่อไม่ให้ฝ่ายลาวนำมาใช้ทำร้ายพวกครัว
เรื่องที่สามอยู่ในหนังสือที่ระลึกเนื่องในพิธีเปิดอนุสรณ์สถานของนางสาวบุญเหลือ พ.ศ. ๒๕๒๙ เขียนโดยพันโทเนตร อุตมัง โดยใช้ชื่อว่า เนตรนิมิตร ภาพของ "นางสาวบุญเหลือ" คล้ายคลึงกับงานเขียนของพันตรีหลวงศรีโยธา แต่ต่างกันตรงชื่อ และประเด็นการจุดดินระเบิดของนางสาวบุญเหลือที่หลวงศรีโยธาให้ภาพว่าคุณหญิงโมมอบหมายให้นางสาวทองเหลือฆ่าเพี้ยรามพิชัยหรือจุดทำลายดินระเบิด ขณะที่เนตรนิมิตรเชื่อว่าคุณหญิงโมไม่ได้สั่งให้นางสาวบุญเหลือทำเช่นนั้น เป็นการแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า
ในระหว่างที่มีการบันทึกเทปที่บริเวณหน้าอุโบสถเก่าที่มีรูปปั้นของพระยาปลัดทองคำ เจ้าเมืองนครราชสีมา สามีของท้าวสุรนารี หรือ ย่าโม อาจารย์เรนนี่ กล่าวว่า ตนเองมีจิตสัมผัสต่อสิ่งลี้ลับเมื่อมายืนอยู่ตรงนี้ ท่านปลัดทองคำและย่าโมรวมทั้งนางสาวบุญเหลือก็มาอยู่ตรงนี้ด้วยกัน โดยท่านปลัดทองคำบอกว่าแม่บุญเหลือเป็นเมียของท่านอีกคนหนึ่ง ส่วนย่าโมเป็นเมียหลัก แม่บุญเหลือเป็นเมียสองไม่ใช่ลูกสาวบุญธรรม และแม่บุญเหลือก็เป็นคนบอกเรนนี่เองว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ คุณย่าบุญเหลือก็อยู่ที่นี่อยู่ตรงก้านธูปแม่บุญเหลืออยู่ด้านหลังปลัดทองคำ พร้อมชี้ให้กล้องแพนไปที่บริเวณที่ตั้งธูปเทียน
เรื่องของแม่หมอเรนนี่เป็นเรื่องหนึ่งที่คนในสมัยหลังกล่าวถึงนางสาวบุญเหลือ แต่พิเศษกว่าเรื่องอื่น ๆ ตรงที่ได้จากโลกวิญญาณ 
เว็บไซต์เรือนไทยนี้มีเสน่ห์ตรงที่มีสมาชิกที่มีวุฒิภาวะดังที่เจ้าเรือนได้กล่าวไปแล้ว นอกจากนั้นก็คือการมุ่งวิเคราะห์ ถกเถียง หาข้อมูลเชิงลึกอย่างจริงจังโดยเฉพาะในเรื่องประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเกิดการศึกษาค้นคว้า ใช้เอกสารหลักฐานอ้างอิงในเรื่องที่ยังมีข้อขัดแย้งอยู่ ดังที่คุณ “เพ็ญชมพู”ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
“ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของไทยมีหลายเรื่องซึ่งมีข้อขัดแย้งกัน เช่นเรื่องคนไทยมาจากไหน (อยู่ที่นี่มาก่อนหรือมาจากภูเขาอัลไต), เรื่องศิลาจารึก (เขียนโดยพ่อขุนรามคำแหงหรือรัชกาลที่ ๔), เรื่องท้าวสุรนารี (มีตัวตนจริงหรือไม่ ถ้ามีสร้างวีรกรรมอย่างที่เล่าขานกันมาจริงหรือไม่) เรื่องหลังนี้น่าสนใจและเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกระทบกับความรู้สึกของคนในท้องถิ่นมาก คนที่ค้นคว้าหาความจริงในเรื่องนี้เช่นคุณสายพิน แก้วงามประเสริฐ แม้จะเผยแพร่ในแง่วิชาการ ก็ยังถูกกล่าวว่าเสียหาย หนังสือ “การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” ก็ถูกเรียกร้องให้เผา จนสำนักพิมพ์ต้องงดการจำหน่าย แม้เมื่อเรื่องนี้นำมาเขียนเป็นกระทู้ในเรือนไทย “คำถามจากหนังสือการเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี -วีรกรรมนี้เกิดขึ้นจริงหรือ” ก็ยังถูกซักฟอกในหลายประเด็นเชียว
การหาข้อเท็จจริงของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีต วิธีสืบค้นให้ได้ความจริงที่สุดต้องอาศัยหลักฐานปฐมภูมิ (primary source) ขอยกตัวอย่างการสืบค้นเรื่อง “ท้าวสุรนารี” หลักฐานปฐมภูมิในเรื่องนี้ได้แก่ใบบอก คำให้การของบุคคลทั้งฝ่ายไทยและลาวในสมัยนั้น ส่วนหลักฐานทุติยภูมิ (secondary source) เช่นพงศาวดารหรือตำนานที่เขียนในสมัยหลัง ๆ การให้ความสำคัญย่อมน้อยลงมา
ประวัติและวีรกรรมของ "นางสาวเหลือ" "นางสาวทองเหลือ" "นางสาวบุญเหลือ" ข้างต้น เป็นหลักฐานชั้นหลังห่างจากหลักฐานปฐมภูมิและทุติยภูมิมาก จะน่าเชื่อถือเพียงใด ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตรแต่ละท่าน