ความหมายดั้งเดิมของคำว่า "ราชา"
คำว่า "ราชา" ท่านพุทธทาสภิกขุเคยเทศฯว่า รากศัพท์ดั้งเดิมจริงๆ นั้นมาจากคำที่แปลว่า พอใจ ท่านบอกว่าในสมัยโบราณสมัยสังคมคนยังไม่วัวัฒนาการ ยังแทบไม่ต่างจากมนุษย์ถ้ำสักเท่าไหร่นั้น (พระพุทธศาสนามีบางพระสูตรที่พูดถึงสังคมบุพกาลแบบนี้ เช่น อัคคัญญสูตร ซึ่งมีคนชอบยกไปเทียบกับทฤษฎีการเมืองของฮอบส์หรือสัญญาประชาคมของรุสโซ) คนเพิ่งจะรู้จักรวมตัวกันเป็นชุมชน มีผู้นำ ผู้นำนั้นบางคนก็ไม่เข้าท่า บางคนก็หลงอำนาจโหดร้าย (ผมพูดถึงผู้นำชุมชนสมัยสังคมโบราณนะครับ ไม่ใช่นักการเมืองเดี๋ยวนี้) แต่บางคนก็มีความสามารถในการปกครองบริหารและบริการชุมชน จนกระทั่งทำให้คนอื่นในสังคมมีความสุข ออกอุทานออกมาได้ว่า พอใจ พอใจ คำอุทานว่า พอใจ พอใจ นั่นแหละ ที่ต่อมากลายเป็นชื่อตำแหน่งของผู้นำสังคม ผู้ปกครองสังคม คือ "ราชา" ราชา คือผู้ที่สามารถทำให้คนใต้ปกครองของพระองค์ พอใจในชีวิต นั่นคือความหมายดั้งเดิมแท้ๆ ของคำว่า "ราชา" อันนี้ตามทีท่านพุทธทาสท่านเทศน์นะครับ
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเล่าไว้ในสูตรนั้น ถึงมูลเหตุของการที่คำว่า "ราชา" คำนี้จะเกิดขึ้นในโลก ในสมัยแรกที่มนุษย์เพิ่งจะมีกันขึ้นในโลก คนอยู่กันอย่างไม่มีการปกครอง คือ อยู่กันอย่างตามธรรมชาติ
ครั้นมีมากคนขึ้น ความเดือดร้อนก็เกิดขึ้น เนื่องจากมีคนประพฤติเกเร เช่น ขโมยข้าวที่คนอื่นทำไว้ เป็นต้น และนับวัน จะมีแต่เรื่องชนิดนี้มากมายขึ้นทุกที ครั้นมาถึงวันหนึ่ง มนุษย์เหล่านั้นเหลือที่จะทนความเดือดร้อนต่อไปไหว ได้หาทางแก้ไข
จนในที่สุดตกลงกัน สมมุติให้มนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งมีร่างกายแข็งแรง รูปร่างงดงาม น่าเลื่อมใส มีสติปัญญาดี ประพฤติตัวน่านับถือ น่าไว้วางใจ เป็นต้น ให้เป็นหัวหน้าผู้ทำหน้าที่แบ่งปันที่ดิน สั่งสอนลงโทษคนทำผิดกติกา และให้รางวัลคนทำดี ทำถูก เป็นต้น
เมื่อมนุษย์ผู้ได้รับสมมุติคนนี้ ปฏิบัติหน้าที่ของตนมานานนัก ผลก็เกิดขึ้นอย่างตรงข้าม อย่างที่ไม่เคยมีมาแต่ก่อน คือ อยู่เป็นสุขสงบ ไม่มีใครต้องเดือดร้อนชนิดที่ บาลีท่านมักใช้สำนวนว่า นอนไม่ต้องปิดประตูเรือน หรือทำบ้านไม่ต้องมีประตู มารดาเอาแต่ให้ลูกน้อย ๆ เต้นรำอยู่ที่หน้าอก เพราะไม่มีเรื่องร้อนใจ ดังนี้เป็นต้น
เมื่อมนุษย์เหล่านั้น ซึมซาบในรสของความสงบสุขอันใหม่นี้ มากเข้า ๆ จนถึงวันดีคืนดีวันหนึ่ง คำพูดได้หลุดออกมาเองจากปากของคนเหล่านั้นว่า "ราชา ๆ"
ท่านอย่าหลงผิดว่า คำว่า "ราชา" นี้ เป็นคำพิเศษหรือคำสมมุติแต่งตั้ง สำหรับเราซึ่งไม่ใช่มีภาษาบาลีเป็นภาษาของตน ได้ยึดถือเอาความหมายของคำ ๆ นี้ สูงไปเสียทางหนึ่งแล้ว แต่สำหรับมนุษย์ ซึ่งเป็นเจ้าของภาษานั้น เขารู้สึกในคำ ๆ นี้ อย่างธรรมดา ๆ เหมือนคำ ๆ อื่น ๆ คือ หมายความว่า " ผู้ที่ทำความยินดีพอใจให้เกิดแก่คนอื่น "
คำว่า ราชา นี้ รากหรือธาตุของคำ ก็คือ "รช" ซึ่งแปลว่า กำหนัดหรือยินดีนั่นเอง รากคำ ๆ นี้ สำเร็จรูปเป็นคำอื่นต่าง ๆ กันออกไป เช่นคำว่า ราคะ เป็นต้น ซึ่งหมายถึง ความกำหนัดยินดีทางกามารมณ์โดยเฉพาะ แต่นั่นมันยินดีจัดเกินไป
ขอให้ท่านผู้ฟังทุกคน กำหนดความหมาย ของคำว่า ราชา ๆ นี้ ไว้อย่างถูกต้อง พระราชา มิได้หมายถึงผู้มีอำนาจตัดคอคน หรือเสกสรรคนให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็หามิได้ นั่นเป็นเพียงส่วนประกอบของการกระทำ เพื่อทำหน้าที่ตามอุดมคติ แต่อุดมคติของคำ ๆ นี้ อยู่ที่ "ทำความยินดีพอใจ ให้เกิดแก่ผู้อื่น" ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องตัดคอคนเลยก็ได้ เอาใจความสั้น ๆ ก็คือว่า "ผู้ทำความยินดีให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง" นั่นเอง
จากหนังสือ "ภูตผีปีศาจ ในตัวคน ข้าราชการ และ นักการเมือง" ของ ท่านพุทธทาสภิกขุ
