เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 14931 อาลัยอังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 25 ส.ค. 12, 12:54

                                           อัง                 คารลอยล่องฟ้า          สู่สวรรค์
                                           คาร                วะจากบรรณ             พิภพหล้า
                                           กัลยาณ           มิตรวงวรรณ              กวีรัตน์  
                                           พงศ์               ประพันธ์ทั่วหน้า         สลดล้วนอาลัย


 อังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ ด้านกวีนิพนธ์ วัย 86 ปี เสียชีวิตอย่างสงบ เมื่อเวลา 01.30 น.วันที่ 25 สิงหาคม 2555 หลังจากป่วยเป็นเป็นโรคหัวใจและโรคเบาหวานเรื้อรัง โดยจะมีพิธีอาบน้ำศพเย็นวันนี้ เวลา 17.00 น.วัดตรีทศเทพ และจะมีพิธีสวดพระอภิธรรมศพเป็นเวลา 7 วัน

ประวัติ  อังคาร กัลยาณพงศ์

      อังคาร กัลยาณพงศ์ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายเข็ม และนางขุ้ม กัลยาณพงศ์ ในวัยเด็กร่างกายเคยเป็นอัมพาตเคลื่อนไหวไม่ได้ มีหมอมารักษาด้วยสมุนไพรจนหาย เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดใหญ่และโรงเรียนวัดจันทาราม เรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนพระพุทธเจ้าหลวงอุปถัมภ์และโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดนครศรีธรรมราช ศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่าง มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วไปเรียนที่คณะจิตรกรรมและประติมากรรมมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นศิษย์ของศิลปินใหญ่อย่างเช่น ศ. ศิลป พีระศรี. อ, เฟื้อ หริพิทักษ์,จึงได้ติดตามและร่วมมือกับอาจารย์ในด้านศิลปกรรม โบราณคดี และประวัติศาสตร์
       ความเป็นกวีนั้นเป็นพรสวรรค์ที่อังคารเชื่อมั่นและฝึกฝนมาตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยม เมื่อออกจากมหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ได้ร่อนเร่เรียนรู้และสร้างสรรค์การวาดภาพและเขียนบทกวี ได้มีโอกาสคุ้นเคยกับศิลปินและกวีร่วมยุคสมัยหลายคน มีผลงานบทกวีปรากฏในหนังสือ "อนุสรณ์น้องใหม่" มหาวิทยาลัยศิลปากร กระทั่งได้พบกับสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้ก่อตั้งกและเป็นบรรณาธิการคนแรกของ "สังคมศาสตร์ปริทัศน์" บทกวีของอังคาร กัลยาณพงศ์ จึงได้พิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง มีผลงานที่จัดพิมพ์สร้างความตื่นตัวตื่นใจให้กับวรรณกรรมไทยมาเนิ่นนาน เช่น กวีนิพนธ์ (2507), ลำนำภูกระดึง (2512), สวนแก้ว (2515), บางกอกแก้วกำสรวลหรือนิราศนครศรีธรรมราช (2512) อันเป็นเล่ม

         ในปี 2532 ได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ด้านกวีนิพนธ์ ซึ่งเป็นกวีร่วมสมัยที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น จินตกวี ผู้ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในด้านวรรณศิลป์และทัศนศิลป์

        อังคาร กัลยาณพงศ์ ได้สมรสกับคุณอุ่นเรือน มีบุตรชาย 1 คน บุตรสาว 2 คน คือ ภูหลวง อ้อมแก้ว และวิสาขา กัลยาณพงศ์ โดยสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมและงานประพันธ์ทั้งร้องกรองและร้อยแก้วเป็นอาชีพ


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29 ส.ค. 12, 10:56 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 25 ส.ค. 12, 12:57

                          อาลัยท่านอังคาร  กัลยาณพงศ์

 

                        และแล้วหิมาลัยก็สะเทือน
                        ฟ้าลั่นเลื่อนมืดคลุ้มคลุมครอบหล้า
                        จักรวาลและดวงดาริกา
                        ก็สะท้านหลั่งน้ำตากันพร้อมราย

                        อาลัยท่านอังคาร กัลยาณพงศ์
                        ถ้อยอักษรร่วงลงหล่นเป็นสาย
                        “เสียเจ้า” ร้าวรานปานจะตาย
                        คลับคล้ายว่าเสียแก้วนครา

                        แม้กวีมิใช่มีเพียงเดียวหนึ่ง
                        แต่ก็เป็นกวีซึ่งหนึ่งในหล้า
                        ทอถ้อยทิพย์ถักธารธรรมนำจากฟ้า
                        ลากเส้นสายร่ายมาจากจักรวาล

                        โลกมิได้อยู่ด้วยมณีเดียว
                        แต่เมื่อสิ้นก็กรูเกรียวศัพท์ผสาน
                        เหมือนเพชรยอดแตกร้ายสลายลาญ
                        แสนเสียดายท่านอังคารปานขาดใจ

 
                        ชมัยภร  แสงกระจ่าง

                        ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๕
บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 25 ส.ค. 12, 14:03

ด้วยความอาลัยและความคารวะ
เคยอ่านข้อเขียนของท่านที่ไว้อาลัยอาจารย์ศิลป
หนังสือเล่มนั้นซื้อไว้ถึงสองเล่มเพราะชอบเป็นพิเศษ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
POJA
พาลี
****
ตอบ: 298


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 25 ส.ค. 12, 14:25

ขอร่วมอาลัยด้วยค่ะ

ขอคารวะในงานของท่าน

อ.ชมัยพร ท่านก็นิพนธ์ได้จับใจค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 25 ส.ค. 12, 14:26

อนิจจาน่าเสียดาย
ฉันทำชีวิตหายไปครึ่งหนึ่ง
ส่วนที่สูญนั้นลึกซึ้ง
มีน้ำผึ้งบุหงาลดามาลย์


ได้ยินกลอนบทนี้ตั้งแต่ยังเรียนหนังสืออยู่ ครั้งนั้นยังคิดว่าหมายถึงคนที่เอาแต่เรียนไม่ทำกิจกรรม ชีวิตในส่วนที่มีน้ำผึ้งและดอกไม้อันหอมหวานจะหายไป เข้าใจคนละอย่างกันที่กวีท่านต้องการ  อายจัง

ขอไว้อาลัยการจากไปของศิลปินแห่งชาติ อังคาร กัลยาณพงศ์ ด้วยความเคารพ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 25 ส.ค. 12, 14:38

รำลึกถึงอีกบทหนึ่งค่ะ
ทุ่งข้าว
ทุ่งข้าวเขียวขจี                สีสดชื่นระรื่นลมไหว
ปูปลามาเล็มไคล             ในน้ำใสใต้สันตะวา
สาหร่ายชูดอกกระจิดริด      แมลงน้อยนิด ไร้เดียงสา
เกาะดอกหญ้าบนคันนา       แมงมุงตั้งท่าตะครุบกิน
ควายเคี้ยวเอื้องนอนหนอง    แววตาหม่นหมองไม่สิ้น
เหลือบริ้นวนเวียนบิน          เกาะกินเลือดล้นพุงกลวง
กบเขียดร้องเสียงใส          เสมือนน้ำบนใบบัวหลวง
งูอะไรสีเงินยวง               เลื้อยไปล้วงรูปูนา
ยางขาวถลาบิน               จิกปลากินเกาะกิ่งหว้า
เงาเมฆสีหม่นลอยมา         แสงแดดกล้ากึ่งกลางวัน
ถอนกล้ามาเหนื่อยเมื่อยล้า   เข้าร่มไม้ชายคาประหนึ่งสวรรค์
แก้ห่อข้าวออกวางพลัน      ชวนกันนั่งล้อมวงกิน
น้ำพริกเจือแมงดา            แกล้มยอดหว้าหวั่นใจถวิล
ว่าสวรรค์ในแคว้นแดนดิน    คือถิ่นทุ่งทองของไทยเอย


บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 25 ส.ค. 12, 14:42

๏ แล้งโลกกวีที่หล้าวูบฟ้าไหว
จะไปรจนารุ้งมณีเกียรติศักดิ์
อำลาอาลัยมนุษย์ชาติน่ารัก
จักมุ่งนฤมิตจิตรจักรวาล

๏ ให้ซึ้งซาบกาพย์กลอนโคลงฉันท์
ไปทุกชั้นอินทรพรหมพิมานสถาน
สร้างสรรค์กุศลศิลป์ไว้อนันตกาล
นานช้าอมตะอกาลิโก ๚๛

บางตอนจาก "ปณิธานกวี" อังคาร กัลยาณพงศ์
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 25 ส.ค. 12, 18:48

นึกถึงสมัยก่อนหลายปีแล้วที่ผมเอาบทกวีของท่านอังคารที่ชื่อ "เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง" มาถกเถียงบรรยายกันในความลึกซึ้งงดงาม กับหลายท่านในที่นี้ ทำให้เกิดมิตรภาพความทรงจำที่ดีงามกับบอร์ดนี้

วันนี้ได้ข่าวเศร้าก็เลยนึกถึงเรือนไทย นึกถึง อจ เทาชมพู คุณเครซี่ฮอร์สและท่านอื่นๆ

ท่านอังคารจากไปอย่างยิ่งใหญ่ ผู้คนแซ่ซ้องสรรเสริญกันทั่วสารทิศ รำลึกถึงท่านด้วยความอาลัยรัก
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 25 ส.ค. 12, 18:53

ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า คำว่า"ท่าน" ที่ใช้เรียกบุรุษที่สองนั้น แต่เดิมน่าจะใช้เรียกบุคคลระดับหม่อมเจ้าเท่านั้น ไม่ได้ใช้กับสามัญชนจนเกร่อกันเช่นปัจจุบัน
ทราบว่าท่านอังคารน่าจะเป็นคนแรกๆ (น่าจะเป็นคนแรก) ที่ได้รับการเรียกขานถึงด้วยคำว่าท่าน   เมมโมรี่ผมชักจะช๊อตๆแล้วครับ เอาเป็นว่าผมเคยได้ยินเลาๆมาว่ายังงี้
แต่ยังไม่แน่ใจมูลเหตุที่คนอื่นเรียกท่านอังคารว่า "ท่านอังคาร" นั้นมีมาอย่างไร  หรือเรียกท่านเพื่อล้อกับชื่อ "ท่านจันทร์"?
รบกวนผู้รู้ชี้แจงแถลงไขด้วยครับ ขอบพระคุณครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 25 ส.ค. 12, 19:30

คำว่า "ท่านอังคาร" มีจุดเริ่มต้นเป็นคำล้อเล่น   จากมิตรสหายชาวหน้าพระลานของคุณอังคาร    เพราะสมัยนั้นมี "ท่านจันทร์" หรือหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี เป็นกวีชาวหน้าพระลาน และเป็นที่สนิทสนมรักใคร่นับถือในกลุ่มศิลปินและนักเขียนชาวละแวกนี้
จึงมีการพูดกันว่า เมื่อมีท่านจันทร์ ก็มีท่านอังคาร   แล้วดูเหมือนจะมีท่านพุธด้วย    แต่ก็เป็นคำเรียกเล่นๆกัน ไม่จริงจัง
ต่อมา ด้วยเกียรติยศที่คุณอังคารได้รับจากแวดวงวรรณศิลป์ จนได้เป็นศิลปินแห่งชาติ    คำว่า "ท่านอังคาร" ก็เลยกลายเป็นคำเรียกจริงจังขึ้นมา  ด้วยความยกย่องจากคนรุ่นลูกศิษย์ลูกหาของท่าน

คำว่า "ท่าน" ครั้งหนึ่งในอดีตสัก 50-60 ปีถอยหลังกลับไป   เป็นคำเรียกหม่อมเจ้าอย่างไม่เป็นทางการ      แต่ต่อมาสักประมาณสิบกว่าปีมานี้กลายเป็นคำเรียกส.ส.ในสภา  แทนคำว่า "คุณ" ที่เสื่อมความนิยมไปเมื่อไรก็ไม่ทราบ     จนบัดนี้ก็เลยถูกนำมาแทนที่คำว่า "คุณ" ไปเสียแล้ว    ความหมายเป็นคำเรียกอย่างสุภาพเช่นเดียวกับ "คุณ" ในอดีต   
ดิฉันก็เรียนสมาชิกบางท่านในเรือนไทยนี้ว่า "ท่าน" เหมือนกัน ให้เกียรติในอาวุโส ภูมิรู้ และตำแหน่งในสังคมภายนอกเรือนไทยที่ท่านมีอยู่   พอจะเรียกว่า "ท่าน"ได้โดยไม่เป็นการยกยอปอปั้นเกินเหตุค่ะ
บันทึกการเข้า
kwang satanart
อสุรผัด
*
ตอบ: 48


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 25 ส.ค. 12, 19:31

จำได้ว่าเคยอ่านเจอมาว่าอย่างนั้นค่ะ  มีคนขานนามท่าน ล้อกันกับท่านจันทร์  มจ.จันทร์จิรายุพัฒน์   รัชนี  ที่ใครๆเรียกกันว่า  ท่านจันทร์  ซึ่งเป็นมหากวี อีกท่านหนึ่งน่ะค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 25 ส.ค. 12, 21:04

ท่านรอยอินกำหนดหลักเกณฑ์การใช้คำว่า "ท่าน" ไว้ดังนี้

๑. เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๒ใช้แทนผู้ที่เราพูดด้วย เป็นคํากลาง ๆ หรือแสดงความเคารพ

๒. เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๓ ใช้แทนผู้ที่เราพูดถึงด้วยความเคารพ เช่น ท่านไม่อยู่ คุณพ่อท่านหลับแล้ว หรือโดยไม่เจาะจง เช่น อย่าลักทรัพย์ท่าน  

๓. เป็นคำนาม ใช้ประกอบหน้าชื่อบรรดาศักดิ์หรือตําแหน่งแสดงความยกย่อง เช่น ท่านขุน ท่านอาจารย์ ท่านเจ้าอาวาส

ท่านอังคารก็อยู่ในข้อ ๓ นี่แหละ

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 25 ส.ค. 12, 21:47

คารวะกวี อังคาร กัลยาณพงศ์ โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 26 ส.ค. 12, 00:41

ขอบพระคุณครับ อจ เทาชมพู อจ เพ็ญชมพูและคุณกวาง

ผมคุ้นๆมาว่าอย่างนั้นแต่หน่วยความจำเลอะเลือนเลยต้องมาเรียนถามเอาจากอาจารย์ในนี้แหละครับ

ปัจจุบันทุกคนกลายเป็นท่านกันไปหมดแล้ว ผมยังฮาเลยที่ ผบ ทบ ท่านนึงท่านโมโหนักข่าว แต่พยายามทำให้มันดูดีโดยการเรียกนักข่าวว่า ท่าน เหมือนกัน

สำหรับท่านอังคารนั้น ผมมีความรู้สึกว่า ตัวตนของท่านนั้นยิ่งใหญ่จึงทำให้บทกวีของท่านยิ่งใหญ่  หากไม่ใช่ตัวตนเช่นนี้คงเขียนบทกวีที่มุ่งตรงสู่หัวใจและจับใจคนอ่านไม่ได้อย่างนี้เลย
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 26 ส.ค. 12, 00:52

ขอแสดงความอาลัยและคารวะท่านอังคารด้วยครับ


เข้ามาเสริมว่า  นึกออกว่าอีกสังคมหนึ่งที่ใช้สรรพนามเรียกขานกันว่าท่าน คือวงการศาลครับ จะใช้คำว่าท่านเรียกผู้พิพากษากัน เช่นท่านไพโรจน์  ท่านอวิน แบบนี้เป็นต้น
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.061 วินาที กับ 19 คำสั่ง