เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4977 ลานคนเมืองหน้า กทม. เสาชิงช้า
ลุงแก่
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 16 ก.ย. 00, 12:00

"ผู้ว่าสมัคร" ทำพิธีบวงสรวงวันนี้ เดินหน้าขุดที่จอดรถใต้ดินหน้า กทม.

สรุปข่าวว่า นายสมัคร สุนทรเวช ผว.กทม.จะเป็นประธานในพิธีบวงสรวงการขุดเจาะพื้นที่เพื่อก่อสร้างลานคนเมืองและที่จอดรถใต้ดิน บริเวณหน้าศาลาว่าการ กทม. เสาชิงช้า เนื่องจากเกรงว่าจะทำความเสียหายแก่โราณสถานหรือโบราณวัตถุที่อยู่ใต้ดิน ดังนั้นจึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีของกรมศิลปากรมาคอยตรวจสอบและควบคุมงานขุดตลอดเวลา ๑๘๐ วัน เพื่อคอยดูแลแนะนำบริษัทก่อสร้างถึงวิธีการขุดเจาะ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อโบราณสถานหรือโบราณวัตถุหากพบ
(เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๓ หน้า ๓๔)

เราลองมาตรวจดูสิว่าเมื่ก่อนนั้น พื้นที่นี้เขาใช้ทำอะไรกัน
ในนิราศของพระอยุ่(ฉบับพิมพ์ ร.ศ. ๑๑๒ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๓๖) มีความกล่าวถึงตลาดเสาชิงช้าตอนหนึ่งว่า
"แล้วคิดไปถึงเดือนยี่พิธีไสย..........   มีงานใหญ่แห่ชิงช้าเมื่อหน้าหนาว
พวกหญิงชายมาดูกันกรูกราว.........   ทั้งเจ๊กลาวแขกฝรั่งทั้งญวนมอญ
เราคิดพาพวกเหล่าเมียสาวสวย........ทั้งรูปรวยเดินหลามตามสลอน
ไปดูแห่ตามระหว่างหนทางจร..........กรรมกรตามหลังออกพรั่งพรู
เราจะออกเดินหน้าวางท่าใหญ่..........มิให้ใครลดเลี้ยวเกี้ยวแม่หนู
คอยระวังดูเหล่าพวกเจ้าชู้..............   เกี้ยวเมียกูเตะให้คว่ำขะมำดิน
พาเมียหยุดดูชิงช้าหน้าตลาด...........ใครไม่อาจเข้ามาขวางกลัวคางบิ่น
แสนสบายมิได้มีที่ราคิน..................   เลิกงานลินลาศมาบ้านเบิกบานใจ"

จากนิราศนี้บอกว่าเสาชิงช้าอยู่หน้าตลาดซึ่งเข้าใจว่าตลาดเสาชิงช้าเก่า สร้างมาก่อนรัชกาลที่ ๕  อาจจะเป็นร้านโรงทำด้วยไม้ธรรมดา แต่เดิมตลาดเสาชิงช้านี้ขายทองรูปพรรณเช่น สายสร้อย กำไล แหวน ตุ้มหู ฯลฯ ทำด้วยทองเหลือง เลยมีคำพูดเรียกกันว่า "ทองเสาชิงช้า" ซึ่งปัจจุบันคงไม่มีใครรู้จักหรือได้ยินกันแล้ว
ในสมัยแรก เสาชิงช้าไม่ได้ตั้งอยู่ในที่ปัจจุบัน แต่อยู่ค่อนขึ้นไปทางเหนือเล็กน้อย สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๒๗ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ (ได้สังเกตในรูปแนวถนนบำรุงเมืองเปรียบเทียบตำแหน่งที่ตั้งของเสาชิงช้าเดิม พอประมาณได้ว่าอยู่ในตำแหน่งขอบทางเท้าริมถนนในปัจจุบัน - ลุงแก่) และย้ายมาตั้งใหม่ตรงที่ตั้งในที่ปัจจุบันนี้เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ในสมัยรัชกาลที่ ๕

เกี่ยวกับตลาดเสาชิงช้านี้ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญนาคพันธุ์) ได้เล่าว่าตลาดเสาชิงช้าเดิมทีเดียวอยู่ตรงตึกโค้งสามชั้นริมถนนบำรุงเมือง ด้านที่จะเลี้ยวไปถนนดินสอปัจจุบันนี้ (น่าจะอยู่บริเวณด้านถนนศิริพงษ์ที่ตัดจากถนนบำรุงเมืองอ้อมไปทางด้านหลังศาลาว่าการ กทม. มากกว่า เพราะถ้าตลาดเดิมเป็นดังกล่าว ก็จะอยู่ติดกับเทวสถาน(โบสถ์พราหมณ์)พอดีซึ่งเป็นจุดปลายถนนตรีเพชร หลังวัดสุทัศน์ ซึ่งจะขัดกับข้อความในพระราชหัถเลขา ที่จะได้กล่าวต่อไป - ลุงแก่)

ในบันทึกของหมอบรัดเลย์กล่าวว่า นาย ร.ศ. สกอตต์ เจ้าของห้างสกอตต์แอนด์โก ได้นำไฟแกสเข้ามาใช้ในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๙ โดยตั้งโรงที่ในพระบรมมหาราชวัง ถึงรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๑๗ เกิดโรงแกสระเบิด จึงมาสร้างโรงแกสที่บริเวณเสาชิงช้า มีกำแพงทึบ ๔ ด้าน ด้านหน้าตรงกับวัดสุทัศน์เป็นประตูใหญ่ ข้างในขุดเป็นสระใหญ่เลี้ยงจรเข้ให้คนเข้าไปดูได้ ต่อมามีบริษัทไฟฟ้าเกิดขึ้นจึงรื้อโรงแกสลงหมด แล้วย้ายเสาชิงช้าออกมาตั้งตรงที่ตั้งอยู่ปัจจุบันนี้ ตรงโรงแกสที่รื้อสร้างเป็นตลาด ได้สร้างเป็นตึกแถวยาวหักวกเป็นรูปสี่เหลี่ยมจรดกันสี่ด้าน เว้นช่องเป็นประตูตรงกลางทุกด้าน ภายในทำเป็นตลาดใหญ่ แล้วย้ายตลาดเสาชิงช้าเดิมมาตั้งที่สร้างใหม่นี้ ตามจดหมายเหตุกล่าวว่าผู้สร้างตึกชื่อ มิสเตอร์ สุวาราโต และเข้าใจว่าจะเปิดตลาดเมื่อปี ร.ศ. ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๔)

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๔๙๘ ทางเทศบาลนครกรุงเทพได้รื้อตึกตลาดเสาชิงช้านี้ทั้งหมดแล้วทำเป็นลานกว้างใหญ่สำหรับเล่นกีฬา สระจรเข้ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้นก็มีอยู่กลางลานนี้

ในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๙ ถึงกรมหลวงนเรศวรฤทธิ์และเจ้าพระยาเทเวศน์วงษ์วิว้ฒน์ ความตอนหนึ่งว่า
"ด้วยตลาดเสาชิงช้าตอนข้างในแล้วเสร็จพอที่จะเปิดให้เข้าไปขายของในนั้น รื้อร้านที่โสโครกเสียได้สักคราวหนึ่ง ฉันได้กำหนดว่าจะเปิดในวันที่ ๑๘ คือเดือน ๖  ขึ้นค่ำหนึ่ง เพราะเหตุว่าถ้าจะเปิดในเวลาสงกรานต์ จะเป็นการชุลมุนกับเรื่องก่อพระทราย แลกระทุ้งรากที่วัดเบญจมบพิตร แต่มีเรื่องที่จะต้องพูดกับเธอ แลกรมศุขาภิบาล ๒-๓ เรื่อง คือ
๑. ในตลาดนั้นอยากจะให้ติดไฟฟ้า คิดประมาณดูว่าจะต้องติดกิ่งฟากโรงตลอดฟากเดียวไม่ติดตามตึกโดยรอบริมขอบถนนนี้ด้านละ ๕ ดวง ด้านสกัดด้านละ ๑ ดวง รวมเป็น ๑๒ ดวง ในตลาดเพียงสัก ๓ ดวงก็พอ เพราะเหตุว่าของเหล่านั้นย่อมขายในเวลากลางวัน ติดไฟไว้พอให้สว่างในการที่จะรักษาของอันเก็บไว้ในตลาด รวมเป็นไฟข้างใน ๑๕ ดวง ไฟที่ถนนในระหว่างตึกที่จะไปเว็จแลไปบ่อน้ำ ถ้าจะมีแต่มุมละดวงก็เกือบจะพอดอกกระมัง ถ้าเช่นนั้นก็จะเป็นไฟเพียง ๑๙ ดวง ๆ หนึ่ง ๒๐ แรงเทียน ถ้ากรมศุขาภิบาลจะให้ได้จะเป็นที่ยินดีมาก หรือจะเกี่ยงอยู่ว่าในตลาดไม่ใช่เป็นท้องถนน จะให้เจ้าของตลาดใช้ค่าไฟฟ้า ๓ ดวงข้างในนั้นก็ได้ การที่จะติดเหล่านี้ถ้าเธอมีความสงสัยให้หารือเจ้าหมื่นเสมอใจ แต่ถ้าติดไฟให้ได้จุดทันวันกำหนดเปิดตลาดจึงจะเป็นการดี
๒. ที่เสาชิงช้าซึ่งจะยกพื้นขึ้นรอบแลจะปักเสาโคนสี่มุมนั้น ถ้าสำเร็จได้ด้วยในเวลานั้นจะเป็นการงดงามมาก
๓. เมื่อตลาดได้ย้ายไปในที่ใหม่แล้ว ตลาดเก่านั้นจะได้ให้รื้อทันที เมื่อรื้อลงแล้วขอให้กรมศุขาภิบาลได้ทำพื้นที่นั้นให้สิ้นความโสโครก ให้เป็นลานใหญ่สำหรับรถเดินไปมาได้โดยสดวกโดยเร็วด้วย"

สถานที่ตามพระราชหัตถเลขาข้อ ๑ มีหลักฐานแสดงเป็นภาพถ่ายทางอากาศ ที่ได้ถ่ายไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ซึ่งเป็นอาคารตึกแถว ๒ ชั้น จำนวน ๒ แถว วงรอบตลาดภายใน แต่มองไม่เห็นพื้นที่ศาลาว่าการ กทม.

ดังนั้นในการก่อสร้างอาคารจอดรถใต้ดินนี้ ก็ไม่น่าจะพบโบราณสถานหรือโบราณวัตถุใด แต่อาจจะพบก้นบ่อเลี้ยงจระเข้ก็ได้กระมัง

แต่ถ้าท่านผู้ว่าสมัครคิดจะรื้อฟื้นโครงการสร้างอาคารจอดรถใต้ดินที่สนามหลวง โดยเฉพาะด้านทิศเหนือหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านควรจะประสานงานกับกรมศิลปากรแต่เนิ่นๆ เพราะอาจจะได้พบซากฐานกำแพงของวังหน้า และอาจจะมีปืนใหญ่และลูกกระสุนโบราณจมอยู่อีกเป็นแน่ ก็ตรงนั้นเคยเป็นโรงคลังแสงและสนามฝึกซ้อมทหารของวังหน้านี่นา


 
บันทึกการเข้า
ลุงแก่
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 17 ก.ย. 00, 00:00

ถ้าอ่านเพิ่มเติมในหนังสือของ อ.คึกฤทธิ์ฯ จะมีเรื่องบ้านทรงไทยที่ท่านปลูกไว
้ที่่ซอยสวนพลู ท่านก็ซื้อเรือนเก่าจากบริเวณที่เป็นศาลาว่าการ กทม. ทุกวันน
ี้แหละครับ และท่านกล่าวด้วยว่ามีผีเรือนอยู่ในเสาตกน้ำมันของบ้านหลังนี้ติด
ไปด้วยแต่ก็ไม่ได้ไปรบกวนท่านแต่อย่างใด
บันทึกการเข้า
Homeless UK
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 17 ก.ย. 00, 00:00

ขอบคุณครับคุณลุง

ดีนะครับทีกรุงเทพยังไม่เก่ามาก แค่ประมาณ 200ปี ถ้าเก่ากว่านี้ขุดไปคงเจอ
อะไรแปลกๆ อย่างในลอนดอนเนี่ยะ บางทีจะสร้างตึก ขุดดินไปดันเจอโครงกระดูก
หรือ หม้อ ให ต่างๆนาๆ ซากหมู่บ้าน  เคยดูสารคดีนะครับ

เอ... ผมคิดว่าการย้ายเสาชิงช้านี่่น่าจะยากเหมือนกันนะครับ
เพราะรู้สึกว่าตามหลักการ จะต้องตั้งตำแหน่งตามโหราศาสตร์และดาราศาสตร์
เคยได้ยินมาครับ ว่าคล้ายๆกับการสร้างสิ่งศักด์สิทธ์อื่นๆ ของพราหมณ์ในปราสาทหินเก่าๆ
ที่มีลักษณะพิเศษทางดาราศาสตร์ จำไม่ค่อยได้แล้วครับ เพราะว่าเคยได้ยินเมื่อนานมาแล้ว
บันทึกการเข้า
ยู้
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 17 ก.ย. 00, 00:00

คิดว่าน่าจะยากนะคะคุณ Homeless UK
เพราะเสาชิงช้าคือเสาหลักของกรุงเทพ
เมืองท่ีมีชื่อยาวท่ีสุดในโลก เพื่อนอเมริกันเค้าก็ยังรู้ชื่อนี้เลยค่ะ
น่าดีใจออก อืมปรกติแล้วการสร้างบ้าน
ในเมืองไทยคนโบราณค่อนข้างพิถีพิถัน
มากเหมือนกัน เพราะทราบมาว่า
แทบทุกบ้านนิยมสร้างศาลพระภูมิ
เพื่อความร่มเย็นและเป็นสุข
โดยจะมีการนำดอกไม้และธูปเทียน
มาบูชาพร้อมกับอาหารทุกวันพระ
ก็เลย คิดว่าเมื่อคนไทยค่อนข้างมี
พิธิและระเบียบประเพณีเช่นนี้
การย้ายเสาชิงช้าท่ี
มีความหมายของประเทศชาติ
คงยุ่งยากมากๆ แต่ไม่ทราบลายละเอียด
เท่าคุณ ิHomeless UK- หรอกค่ะ

แต่คิดว่าคงมีผู้รู้มาช่วยตอบเรื่องนี้
แน่ๆ ขอบคุณคุณลุงแก่นะคะท่ีหาเรื่อง
ดีๆมาให้อ่านกันค่ะ

เรื่องผีนี่ก็ไม่เอาด้วยคนค่ะ
เคยเห็นคนตายต่อหน้าก็ตอน
ย่าและยายเสีย ก็ไม่กลัวเท่าไหร่
แต่ท่าเป็น วิญญาณ คงไม่เอาด้วยแล้วค่ะ
เพราะไม่สนุกแน่ๆแท้



 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 17 ก.ย. 00, 00:00

เสาชิงช้าเป็นคนละแห่งกับหลักเมืองค่ะ    เสาชิงช้ามีไว้สำหรับให้พราหมณ์โล้ชิงช้า ในพิธีโล้ชิงช้าของไทย ต่อมาก็เลิกไป
ที่คุณยู้พูดดิฉันเข้าใจว่าหมายถึงหลักเมืองมากกว่า  แล้วจะมาพาไปทัวร์ในบทความหน้า
อย่างไรก็ตาม ทั้งเสาชิงช้าและโบสถ์พราหมณ์ เป็นโบราณสถาน เคลื่อนย้ายไปไหนไม่ได้อยู่แล้ว กรมศิลปากรจะดูแลเรื่องนี้เอง
ถ้าคุณสมัครจะทำลานจอดรถใต้ดิน ก็ต้องไม่กระทบกระเทือนโบราณสถานค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.058 วินาที กับ 19 คำสั่ง