เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 13883 สวัสดีครับ ขอฝากตัวเป็นสมาชิกใหม่ด้วยครับ
kmint
อสุรผัด
*
ตอบ: 7


 เมื่อ 21 ส.ค. 12, 12:10



 สวัสดีอาจารย์ทุกท่านในเรือนไทยนะครับ
ขอร่วมพูดคุยในนี้ด้วยนะครับ เพิ่งค้นเจอเรือนไทย เพราะกำลังสนใจเรื่อง เจ้าอนุวงศ์ เข้ามาโดยบังเอิญ
ดีใจมากเหมือนได้เจอขุมทรัพย์ในโลกอินเตอร์เนตเลย
ในนี้มีผู้รู้มากมายจริงๆ ผมเป็นคนที่สนใจในประวัติศาสตร์มาก ขอขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่เข้ามาให้ความรู้ด้วยครับ
ด้วยความเคารพจากใจจริง












บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 21 ส.ค. 12, 12:29

ขอร่วมพูดคุยในนี้ด้วยนะครับ เพิ่งค้นเจอเรือนไทย เพราะกำลังสนใจเรื่อง เจ้าอนุวงศ์ เข้ามาโดยบังเอิญ

สนใจในประเด็นไหน โปรดขยายความ

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
kmint
อสุรผัด
*
ตอบ: 7


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 21 ส.ค. 12, 13:01

ในหนังสือของ ดนัย ไชยโยธา. (2546). ประวัติศาสตร์ไทย อ้างไว้ถึงการลงโทษเจ้าอนุวงศ์ไว้ว่า
      "ครั้นเจ้าอนุวงศ์มาถึงกรุงเทพมหานครแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ทำกรงขังเจ้าอนุวงศ์และครอบครัวเป็นการประจาน ประชาชนไปดูและสาปแช่งทุกวัน เจ้าอนุวงศ์ถูกขังได้ 7-8 วันก็ป่วยตาย"
แต่ในหนังสือ จากเวียงจันทน์ ถึงบางกอก ตามรอยเจ้าอนุวงศ์ คลี่ปมประวัติศาสตร์ไทย-ลาว ผมจำชื่อนายทัพไม่ได้ที่เป็นนายทหารเรือที่รบเก่งๆ ได้ทำกรงใส่ท่านตั้งแต่นำล่องเรือลงมากรุง
สรุป แล้วท่านน่าจะโดนขังกรงประจานตั้งแต่แรกแล้วใช่ไหมครับ หรือเพิ่งโดนโทษนี้เมื่อล่องมาถึงพระนคร
และอยากเรียนถามอาจารย์ว่า การลงทัณฑ์ ลงโทษเจ้านายกบฎสมัยโบราณมีรูปแบบที่แน่นอนหรือไม่ครับ ว่าเมื่อไหร่จะประจาน ชนิดการประจาน
หรือเมื่อไหร่จะประหาร ชนิดการประหาร สถานที่ประหาร และ สถานที่ลงทัณฑ์นั้น มีรูปแบบแน่นอนเหมือนปัจจุบันหรือไม่ หรือขึ้นกับ คำสั่งกษัตริย์ เป็นพระองค์ๆไปครับ
      อีกกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับหนังสือ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ได้นำเสนอหลักฐานอย่างรอบด้านว่าคุณหญิงโมไม่น่าจะมีตัวตนอยู่จริง พร้อมทั้งตั้งคำถามว่าวีรกรรมต่าง ๆ นั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ รวมทั้งการสร้างเร่งรีบสร้างอนุเสาวรีย์นั้นเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในสมัยจอมพล ป. หรือไม่
อาจารย์มีความเห็นเช่นไรครับ
ด้วยความเคารพ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 21 ส.ค. 12, 18:03

ก่อนอื่น ถ้าคุณkmint ยังไม่ได้อ่านเรื่องกบฏบวรเดช ผมขอแนะนำให้หาเวลาเข้าไปอ่านกระทู้เรื่องเสียหน่อยนึงก่อนนะครับ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5194.0

เรื่องคุณหญิงโมนั้น ในหนังสืออัตชีวประวัติของจอมพลประภาส จารุเสถียร ตอนต้นเป็นเรื่องราวที่ตนร่วมทัพไปปราบกบฏบวรเดชนั้น มีข้อความกล่าวถึง“เรื่องบังเอิญที่แทรกเข้ามา”สั้นๆอยู่สักหน้ากระดาษเศษๆ แต่มีความสำคัญเกี่ยวกับวิวาทะเรื่องความมีตัวตนจริงของคุณหญิงโมตามที่ปรากฏในประวัติศาสตร์หรือไม่ ซึ่งว่ากันสนุกปากหลังจากที่จอมพลประภาสเขียนเรื่องนี้นานทีเดียว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 21 ส.ค. 12, 18:07

ความช่วงดังกล่าวข้างต้น ผมได้คัดลอกมาดังนี้

………ภายหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในการยึดปากช่อง เมื่อเคลื่อนตัวเข้ายึดเมืองโคราช ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งให้นำรถถังไปพักที่วัดแห่งหนึ่งใกล้กับประตูเมืองปัจจุบัน
ที่ต้องไปอยู่วัดเช่นนั้น เพราะโรงทหารแน่นมาก และอยูปะปนกัน สับสนไปหมด มีทั้งพวกทหารเก่าที่เป็นทหารโคราช เป็นทั้งพวกกบฏบ้างไม่ได้ไปกับพวกกบฏบ้าง รวมทั้งพวกที่ไปร่วมกับกบฏแล้วกลับมาอยู่บ้าง อยู่ระหว่างการสอบสวน
สภาพเช่นนี้ย่อมไม่ปลอดภัยและไม่เหมาะนักสำหรับรถถัง ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพสูง สมควรจะเก็บไว้ต่างหาก รักษาดูแลให้ดี จึงแยกเอาไปพักไว้ในพื้นที่ๆเป็นวัด
เหตุที่พบเนื่องจากข้าพเจ้าเห็นว่าบริเวณตรงนั้นเป็นพื้นเรียบ มีที่บังศรีษะดี ก็เอาผ้าไปปูเอาหมอนไปหนุนหัวนอน นอนไปนอนมาอยู่ว่างๆก็เลยเช็ดขัดออกแล้วอ่านดู ปรากฏว่าเป็นเรื่องราวของท่านคุณหญิงโม เป็นวีรสตรี
รู้สึกว่ามีความสำคัญมาก จึงนำความไปเรียนให้นายพันเอกพระเริงรุกปัจจามิตร(แม่ทัพใหญ่)ท่านทราบ
ความจริงก็ไม่ได้รายงานหรือกราบเรียนอย่างเป็นทางการอะไร เป็นแต่ว่านายพันเอกพระเริงรุกปัจจามิตรท่านชอบนั่งรถยนต์หุ้มเกราะ รถถังออกตรวจเมืองโคราชในตอนเช้าๆ
คล้ายๆออกโชว์ อวดธง เป็นการบำรุงขวัญทหาร
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง ก็เป็นการที่ให้ผู้คิดกบฏ เข้าร่วมกับพวกกบฏ ให้บังเกิดความหวาดกลัวไปด้วย
ในตอนเช้านายพันเอกพระเริงรุกปัจจามิตรจะนัดให้เอารถยนต์หุ้มเกราะไปรับ ขึ้นนั่งบนป้อมแล้วสั่งให้พวกเราขับไปรอบเมืองสักรอบหรือสองรอบ เสร็จแล้วจะสั่งให้ไปจอดที่ร้านกาแฟหน้าโรงหนังตรงสี่แยกใหญ่ เนื่องจากที่นั่นมีร้านกาแฟใหญ่มีคนไปชุมนุมกันมาก


ภาพสมัยที่ยังไม่มีอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โคราชเป็นอย่างนี้



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 21 ส.ค. 12, 18:09

เมื่อนั่งแล้วท่านก็เลี้ยงกาแฟนายทหาร ใครมีเรื่องอะไรก็มาคุยกัน
ข้าพเจ้าได้เล่าให้นายพันเอกพระเริงรุกปัจจามิตรฟังเรื่องพบแผ่นศิลาจารึกเรื่องคุณหญิงโม
ท่านก็บอกว่า อ๊า นั่นมันที่ฝังกระดูกพวกกูนี่หว่า แม่โมนี่เป็นโครตกูนี่
แล้วท่านก็ให้พาไปดู ผลสุดท้ายท่านก็สั่งเขาขุดขึ้นมาเก็บไว้ที่โรงทหาร เอามาทั้งแผ่นศิลาจารึกและสื่งอื่นๆด้วย

เก็บไว้จนมาถึงสมัยจอมพลผิน ชุณหวันจึงได้ทำเป็นอนุสาวรีย์
นี่เป็นเรื่องบังเอิญที่แทรกเข้ามา ……….


ไม่เห็นมีอะไรเกี่ยวกับจอมพลป. อ้อสมัยจอมพลผิน ผู้เขียนหมายถึงสมัยที่จอมพลผินซึ่งขณะนั้นเป็นนายพันเอกหลวงชำนาญยุทธศาสตร์ ได้ขึ้นมาเป็นแม่ทัพแทนนายพันเอกพระเริงรุกปัจจามิตร นะครับ

ภาพนี้ เป็นอนุสาวรีย์ที่นำมาประดิษฐานในปี๒๔๗๗


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 21 ส.ค. 12, 18:25

ขอให้เข้าไปอ่านคุณวิกี้ ที่กล่าวถึงประเด็นต่างๆของอนุสาวรีย์นี้โดยละเอียดด้วย(นอกเหนือจากเรื่องที่จอมพลประภาสเขียนไว้ข้างต้น)

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B5

พิธีเปิดอนุสาวรีย์ที่จัดทำขึ้นใหม่ให้สง่างามยิ่งขึ้นบนฐานเดิม เมื่อปี๒๕๑๐


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 21 ส.ค. 12, 18:30

ในหนังสือของ ดนัย ไชยโยธา. (2546). ประวัติศาสตร์ไทย อ้างไว้ถึงการลงโทษเจ้าอนุวงศ์ไว้ว่า
      "ครั้นเจ้าอนุวงศ์มาถึงกรุงเทพมหานครแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ทำกรงขังเจ้าอนุวงศ์และครอบครัวเป็นการประจาน ประชาชนไปดูและสาปแช่งทุกวัน เจ้าอนุวงศ์ถูกขังได้ 7-8 วันก็ป่วยตาย"
แต่ในหนังสือ จากเวียงจันทน์ ถึงบางกอก ตามรอยเจ้าอนุวงศ์ คลี่ปมประวัติศาสตร์ไทย-ลาว ผมจำชื่อนายทัพไม่ได้ที่เป็นนายทหารเรือที่รบเก่งๆ ได้ทำกรงใส่ท่านตั้งแต่นำล่องเรือลงมากรุง
สรุป แล้วท่านน่าจะโดนขังกรงประจานตั้งแต่แรกแล้วใช่ไหมครับ หรือเพิ่งโดนโทษนี้เมื่อล่องมาถึงพระนคร

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ได้บันทึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ไว้ว่า

"เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงให้พระอนุรักษโยธา พระโยธาสงคราม หลวงเทพนรินทร์ พระนครเจ้าเมืองขอนแก่นราชวงศ์เมืองชนบท กับไพร่ 300 คน คุมตัวอนุกับครอบครัวลงมาส่งถึงเมืองสระบุรี พระยาพิไชยวารีขึ้นไปตั้งรับครอบครัวลงมาส่งเสบียงอยู่นั้น ก็ทำกรงใส่อนุ ตั้งประจานไว้กลางเรือ ให้พระอนุรักษ์โยธา พระโยธาสงครามตระเวนลงมาถึงกรุงเทพมหานคร วันเดือนยี่ ขึ้น ๑๑ ค่ำ โปรดให้จำไว้ทิมแปดตำรวจบุตรหลายชายหญิง และภรรยาน้อยก็ส่งไปเป็นชาวสะดึงทั้งสิ้น

แล้วรับสั่งให้ทำที่ประจานลงหน้าพระที่นั่งพุทธไธยสวรรย์ ทำเป็นกรงเหล็กใหญ่สำหรับใส่อนุที่รั้วตารางล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน มีกรงเหล็กน้อยๆ สำหรับใส่บุตรหลาน ภรรยาอนุถึง ๑๓ กรง มีเครื่องกรมกรณ์ คือ ครก สาก สำหรับโขลก มีเบ็ดสำหรับเกี่ยวแขวน มีกะทะสำหรับต้ม มีขวานผ่าอก มีเลื่อยสำหรับเลื่อยไว้ครบทุกสิ่ง แล้วตั้งขาหยั่งเสียบแป้นเวลาเชัา ๆไขอนุกับอ้ายโยปาศัก ๑ อ้ายโปสุทธิสาร ๑ อ้ายเต้ ๑ อ้ายดวงจันทร์ ๑ อ้ายสุวรรณจักร ๑ อ้ายปัน ๑ บุตรอนุ ๗ คน อีคำปล้องภรรยาอนุ ๑ อ้ายสุริยะ ๑ อ้ายง่อนคำใหญ๋ ๑ อ้ายปาน ๑ อ้ายคำบุ ๑ อ้ายดี ๑ หลานอนุห้าคนรวม ๑๔ คน ออกมาขังไว้ในกรงจำครบแล้ว ให้นางคำปล้องเป็นอัครเทพีถึงพัดกางหมากเข้าไปนั่งปรนนิบัติอยู่ในกรง ให้นางเมียน้อยสาว ๆซึ่งเจ้าพระยาสุภาวดีส่งมาอีกในครั้งหลังนั้น แต่งตัวถือกระบายใส่ข้าวปลาอาหารไปเลี้ยงกันที่ประจาน ราษฎรชายหญิงทั้งในกรุงทั้งนอกกรุงพากันมาดูแน่นอัดไปทุกเวลามิได้ขาดที่ลูกยังญาติพี่น้องต้องเกณฑ์ไปทัพตายเสียครั้งนั้น ก็มานั่งบ่นพรรณนาด่าแช่งทุกวัน

ครั้งเวลาบ่ายแดดร่มก็เอาบุตรหลานที่จับได้มาขึ้นขาหย่างเป็นแถวกันไปร้องประจานโทษต่อเวลาจวนพลบก็เอาเข้ามาจำไว้ที่ทิมดังเก่า ทำดั่งนี้อยู่ได้ประมาณ ๗ วัน ๘ วัน พออนุป่วยเป็นโรคลงโลหิตก็ตายโปรดให้เอาศพไปเสียบประจานไว้ที่สำเหร่"

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 21 ส.ค. 12, 19:43

คุณkmintต้องการหารูปเหตุการณ์นั้น ในรัชกาลที่๓ ที่ไหนจะมี

มีแต่ภาพเขียนเหตุการณ์คล้ายกันในเมืองญวนเมื่อพ.ศ.๒๓๗๘ หลังจากกบฏเจ้าอนุถึง๘ปี ก็ยังมีการจับบาดหลวงชาวฝรั่งเศสที่เข้าไปตั้งมิชชั่นนารีเผยแพร่ศาสนาคริตส์ไปประหารด้วยวิธีการทรมาน เช่นใช้คีมเหล็กหนีบเนื้อออกเป็นชิ้นๆดังในภาพที่ฝรั่งเขียนขึ้น การทารุณกรรมเช่นนี้ก็เคยทำกันในยุโรป แต่ได้เลิกๆไปแล้ว ส่วนชาวเอเซียนั้นยังเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ในจีนยิ่งแล้วใหญ่ จนในที่สุด ฝรั่งก็อ้างเหตุว่าป่าเถื่อนต้องยึดเป็นเมืองขึ้นซะ

ในสมัยรัชกาลที่๔ ทรงเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ การลงทัณฑ์ที่ทารุณกรรมก็โปรดให้เลิกเสียแม้จะมิได้หมดไปโดยสิ้นเชิง จนกระทั่งรัชกาลที่๕ จึงเลิกจารีตนครบาลหมดและหันมาใช้วิธีการแบบตะวันตกจนทุกวันนี้


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 21 ส.ค. 12, 20:16

สุนทรภู่จับเอาเจ้าละมานมารับเคราะห์กรรมแบบเดียวกับเจ้าอนุวงศ์ของลาว พ.ศ. ๒๓๗๑

ตอนพระอภัยมณีเป่าปี่สะกดทัพจับเจ้าละมานได้ใส่กรงเหล็กขังไว้ให้ชาวเมืองผลึกดู

ฝ่ายข้าเฝ้าชาวบุรินทร์สิ้นทั้งหลาย             ทั้งหญิงชายชื่นใจทั้งไอศวรรย์
เที่ยวดูเหล่าชาวละมานสำราญครัน            แต่ล้วนฟันเสี้ยมแซมแหลมแหลมเล็ก
บ้างดูท้าวเจ้าละมานชาญฉกาจ                เขาจำกราดตรึงองค์ไว้กรงเหล็ก
แขกฝรั่งทั้งพราหมณ์จีนจามเจ๊ก               ผู้ใหญ่เด็กเดินดูเป็นหมู่มุง
บ้างหัวเราะเยาะหยันพวกฟันเสี้ยม             มันอายเหนียมนั่งนิ่งเหมือนลิงถุง
จนพลบค่ำตรำตรากให้ตากยุง                 พวกชาวกรุงตรวจตราในราตรี


วาระสุดท้ายของเจ้าละมานเป็นเช่นไร เจ้าอนุวงศ์ก็เป็นเช่นนั้น

 เศร้า
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 21 ส.ค. 12, 21:10

กรณีเจ้าอนุวงศ์ มีมุมมอง ๒ ด้าน ฝ่ายไทยถือว่าเจ้าอนุวงศ์เป็น กบฎ แต่ฝ่ายลาวถือว่าเจ้าอนุวงศ์คือ วีรบุรุษ

เรื่องเจ้าอนุวงศ์นี้ มหาสิลา วีระวงศ์ "นักปราชญ์ลาว" ได้เรียบเรียงหนังสือ "ประวัติศาสตร์ลาว" แล้วกล่าวถึงไว้ด้วย จะขอตัดตอนมาเสนอเพี่อเปรียบเทียบทัศนะกับ "ประวัติศาสตร์ไทย" ดังต่อไปนี้

ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นทางนครจัมปาสักคือ มีภิกษุรูปหนึ่งชื่อสา อยู่แขวงเมืองสระบุรี เติมกัมมัฎฐานมาพักอยู่ภูเจ็ดโง้ง แขวงจัมปาสัก ภิกษุสาได้แสดงตนเป็นผู้วิเศษว่าสามารถเรียกเอาไฟจากพระอาทิตย์มาให้เผาบ้านเผาเมืองได้ด้วยการทดลองให้คนเห็น โดยเอาแก้วส่องใส่ดวงอาทิตย์ แล้วเอาเชื้อไฟรองรับไว้ก็เกิดไฟไหม้สมจริง คนทั้งหลายจึงเชื่อและนับถือพระภิกษุสา พระภิกษุสาจึงจัดตั้งเป็นกองทัพมาตีเอาบ้านเล็กเมืองน้อยได้หลายเมือง แล้วเลยยกทัพมาตีเอานครจัมปาสัก เจ้าหมาน้อยเจ้านครจัมปาสักไม่ทันรู้ตัวก็แตกหนีเข้าป่า ภิกษุสาก็เข้ายึดเอาเมืองจัมปาสักได้

เจ้าพระยานครราชสีมากับพระโพธิสารราชเจ้าเมืองโขงได้ยกทัพมาตีอ้ายสา ฝ่ายอ้ายสาเก็บรวบรวมเอาข้าวของได้แล้วก็แตกหนีไปอยู่ที่ภูเขาย่าปุ เมืองอัตตะปือ

พระเจ้าแผ่นดินสยามได้ทราบจากหนังสือบอกของพระยานครราชสีมา จึงแต่งให้พระยามหาอำมาตย์เป็นแม่ทัพขึ้นมาตีอ้ายสา แต่จับอ้ายสาไม่ได้ จึงคุมเอาเจ้าหมาน้อยลงไปกรุงเทพฯ และเจ้าหมาน้อยก็เลยถึงแก่พิราลัยอยู่ในกรุงเทพฯ นั้นเอง ดังนั้นพระเจ้าแผ่นดินไทยจึงสั่งให้พระเจ้าอนุไปตามจับอ้ายสามาให้ได้

พระเจ้าอนุจึงให้เจ้าราชบุตรโย้ โอรสของพระองค์ยกทัพไปตีอ้ายสา และขับอ้ายสาได้ ส่งลงไปกรุงเทพฯ ด้วยความชอบอันนี้ พระเจ้าอนุจึงขอให้เจ้าราชบุตรได้เป็นเจ้านครจัมปาสักแทนเจ้าหมาน้อยตามแผนการของพระองค์ที่ได้กะไว้ในการจะกู้เอกราช เมื่อเจ้าราชบุตรได้เป็นเจ้านครจัมปาสักแล้วก็รีบจัดการเกณฑ์ไพร่พลขุดดินพูนกำแพงเมือง, สร้างหอโรง, ก่อกำแพงวัง และสร้างหอพระแก้วไว้เป็นที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย

พระเจ้าอนุวงศ์ เป็นนักรบผู้สามารถและเข้มแข็งผู้หนึ่ง ทั้งมีความรักชาติ รักอิสรภาพเป็นที่สุดพระองค์จึงพยายามคอยหาโอกาสที่จะปลดแอกจากความเป็นประเทศหัวเมืองขึ้นของไทยอยู่ตลอดมาในการที่พระองค์ทำการกู้อิสรภาพในคราวนั้น พระองค์คิดแต่เพียงจะกู้อิสรภาพฟื้นฟูประเทศให้กลับคืนเป็นเอกราชเท่านั้น มิได้คิดจะรบเอาประเทศไทยหรือรบรากับประเทศไทยเพื่อแก้แค้นแทนพระราชบิดา ดังนั้น พระองค์จึงสั่งให้เจ้าราชวงศ์ยกกองทัพลงไปกวาดต้อนเอาครัวคนลาวที่ไทยกวาดไปไว้เมืองสระบุรีคืนมาเวียงจันท์ ส่วนพระองค์ก็ลงไปกวาดเอาครอบครัวเมืองโคราช

ฝ่ายกรุงเทพฯ เมื่อได้ทราบว่าเจ้าอนุแข็งเมืองและยกพลลงไปกวาดเอาครอบครัวคนลาวคืนมาเวียงจันท์ จึงได้ยกกองทัพออกติดตามตีกองทัพพระเจ้าอนุและเจ้าราชวงศ์จนถึงเวียงจันท์ ท้ายที่สุดพระเจ้าอนุก็ถูกไทยจับได้ ด้วยความช่วยเหลือของเจ้าน้อยเมืองพวนเชียงขวางและถูกส่งลงไปกรุงเทพฯ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ แล้วสิ้นพระชนม์ที่กรุงเทพฯ

กองทัพไทยตีได้นครเวียงจันท์ครั้งที่ ๒ ในรัชกาลของพระเจ้าอนุนี้ พระเจ้าแผ่นดินไทยองค์ที่ ๓ (พระนั่งเกล้า) ได้สั่งให้ทำลายนครเวียงจันท์หมด โดยให้รื้อทำลายกำแพงเมือง ตัดต้นไม้ลงให้หมด ไม่ผิดกับการทำไร่แล้วเอาไฟเผา นครเวียงจันท์ถูกไฟเผาเป็นเถ้าถ่าน พระพุทธรูปหลายร้อยหลายพันองค์ถูกไฟเผาจนละลายกองระเนระนาดอยู่ตามวัดต่าง ๆ วัดในนครเวียงจันท์เหลือเพียงวัดเดียวที่ไม่ถูกไฟไหม้คือวัดศรีสะเกษ

การที่พระเจ้าแผ่นดินไทยสั่งให้ทำลายเวียงจันท์ให้สิ้นซาก ก็เพื่อมิให้เวียงจันท์กลับคืนเป็นเมืองได้อีก แล้วให้ล้มเลิกอาณาจักรล้านช้างเวียงจันท์เสีย มิให้มีเมืองและเจ้าครองเมืองอีกต่อไป ราชวงศ์ล้านช้างเวียงจันท์จึงสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้

นครเวียงจันท์ที่สวยงามอุดมสมบูรณ์จึงเป็นเมืองร้างตั้งแต่ปีนั้นมา ไทยได้ไปตั้งกองรักษาการณ์หรือกองข้าหลวงผู้ปกครองนครอาณาเขตดินแดนเวียงจันท์อยู่ที่จังหวัดหนองคาย และภายหลังได้ย้ายไปตั้งอยู่จังหวัดอุดรธานี เมื่อฝรั่งเศสมาได้เวียงจันท์แล้ว

จากคำนำเสนอ : การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

 เศร้า
บันทึกการเข้า
kmint
อสุรผัด
*
ตอบ: 7


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 21 ส.ค. 12, 22:48

ในหนังสือ  การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ผมอ่านมานานมากแรกๆพออ่านจบก็รู้สึกไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่เลยเก็บไว้ชั้นหนังสือชั้นล่างจนจำเนื้อหาแทบไม่ได้ ไปๆมาๆ หนังสือเสียหายหมดคราวน้ำท่วมที่ผ่านมา เลยอดนำมาทวนซ้ำแถมเป็นหนังสือหายากไปซะแล้ว เศร้า พอดีได้ยินเรื่องเจ้าอนุวงศ์จึงเกิดความสงสัยอีกรอบ จึงนำมาเรียนถามท่านอาจารย์ในนี้ตามหัวข้อที่ว่า
ตามที่ท่านอาจารย์ Navarat.c ยกมากล่าวไว้
เรื่องบังเอิญที่แทรกเข้ามา”สั้นๆอยู่สักหน้ากระดาษเศษๆ นั้น" ที่กล่าวว่าได้ค้นพบแผ่นศิลาจารึกเรื่องคุณหญิงโมได้มีการตรวจวิเคราะห์ด้วยหลักโบราณคดีสมัยใหม่หรือไม่ครับ
ถ้ามีจะค้นหลักฐานการพิสูจน์ทราบหลักศิลานั้นได้จากแหล่งใดบ้าง หรือถ้าไม่มี เราสามารถเชื่อจากการกล่าวอ้างของท่านจอมพลผินได้เลยหรือ
เพราะศิลาจารึกไม่น่าจะค้นพบได้ง่ายดายเพียงแค่นอนหนุนเจอเท่านั้น 
ส่วนเรื่องในวิกี้ื ที่กล่าวว่า "แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีเรื่องเล่าถึงวีรกรรมของท้าวสุรนารีอย่างแพร่หลายแล้ว ซึ่งงานวิจัยของสายพิณ แก้วงามประเสริฐกลับละเลยที่จะกล่าวถึงประเด็นดังกล่าว" 
อันนี้ถ้าแพร่หลายอย่างมากเหตุใดวีรสตรีระดับนี้สถูปจึงดูไม่เหมาะสมกับ ฐานะทางสังคมในระดับวีระสตรี (รูปสถูปวีระสตรีก่อนบูรณะค่อนข้างเล็กมาก) ทั้งๆที่เป็นเรื่องวีรสตรีที่แพร่หลายในขณะนั้นอีกทั้ง technology ขณะนั้นสามารถหล่อรูปเหมือนทองแดงขนาดใหญ่ได้
จากรูปของอาจารย์ Navarat.c น่าจะหมายถึงบาทหลวงJoseph Marchand  ซึ่งไม่ใช่กษัตริย์ รายนั้นโดนling chi (รูปวิธีการling chi น่ากลัวมากๆ) ซึ่งพิเข้าใจระดับความโหดของโทษสามัญชนได้ แต่ในกรณีกษัตริย์ หรือผู้สำเร็จราชการในศตวรรษที่19
ที่โดนโทษ ling chi น่าจะหมายถึง ซู่ซุ่น ไจ่หยวน และ ตวนหวา (ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใน สมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิง) โทษกบฎกล่าวโทษโดยพระนางซูซีไทเฮา แต่ได้รับการลดหย่อนเปลี่ยนวิธีตายในภายหลังซึ่งหลักการประหารน่าจะมีวิธีแน่นอนในประเทศจีนมานานมาก น่าจะต่างจากไทย ตามที่ผมเข้าใจที่สงสัยคือระดับ กษัตริย์ น่าจะโดนท่อนจันทร์ หรือ บั่นเศียรแต่ในกรณีนี้ทำไมกลายเป็นขังกรงประจานทางไทยต้องการส่งสัญญาณอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 21 ส.ค. 12, 23:23

ส่วนเรื่องในวิกี้ื ที่กล่าวว่า "แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีเรื่องเล่าถึงวีรกรรมของท้าวสุรนารีอย่างแพร่หลายแล้ว ซึ่งงานวิจัยของสายพิณ แก้วงามประเสริฐกลับละเลยที่จะกล่าวถึงประเด็นดังกล่าว"
อันนี้ถ้าแพร่หลายอย่างมากเหตุใดวีรสตรีระดับนี้สถูปจึงดูไม่เหมาะสมกับ ฐานะทางสังคมในระดับวีระสตรี (รูปสถูปวีระสตรีก่อนบูรณะค่อนข้างเล็กมาก) ทั้งๆที่เป็นเรื่องวีรสตรีที่แพร่หลายในขณะนั้นอีกทั้ง technology ขณะนั้นสามารถหล่อรูปเหมือนทองแดงขนาดใหญ่ได้

คนสมัยนี้โดยทั่วไปมักเข้าใจว่าวีรกรรมของคุณหญิงโมคงเป็นที่รู้จักแพร่หลายของคนสมัยโน้น คือคนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ หลังเหตุการณ์เจ้าอนุวงศ์ลงมา, แต่ปรากฏว่า ไม่ใช่

สายพิน แก้วงามประเสริฐ ผู้ค้นคว้าและวิจัยเรื่อง การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เล่มนี้ ตรวจพบว่าวีรกรรมของคุณหญิงโมไม่ปรากฏในเอกสารสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่เพิ่งมีสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ เมื่อเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) แต่งพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ แล้วใส่เรื่องนี้เข้าไปด้วยข้อความสั้น ๆ เพียงไม่กี่บรรทัด สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๗๗ กราบทูลสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (สาส์นสมเด็จ, เล่ม ๔, คุรุสภา ๒๕๐๕, หน้า ๓๑๓) ว่า "เรื่องท่านผู้หญิงโม้นี้ดูก็ประหลาด ดูในพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ ซึ่งถวายมา ไม่เห็นแสดงว่าแผลงอิทธิฤทธิ์อะไร เป็นแต่ว่าคุมพวกผู้หญิงเป็นกองหลังเท่านั้น ทำไมจึงยกย่องกันนักหนาไม่ทราบ"

จากคำนำเสนอ : การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

 ขยิบตา


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 21 ส.ค. 12, 23:29

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีลายพระหัตถ์ตอบสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 22 ส.ค. 12, 06:37

อ้างถึง
ตามที่ท่านอาจารย์ Navarat.c ยกมากล่าวไว้
เรื่องบังเอิญที่แทรกเข้ามา”สั้นๆอยู่สักหน้ากระดาษเศษๆ นั้น" ที่กล่าวว่าได้ค้นพบแผ่นศิลาจารึกเรื่องคุณหญิงโมได้มีการตรวจวิเคราะห์ด้วยหลักโบราณคดีสมัยใหม่หรือไม่ครับ
ถ้ามีจะค้นหลักฐานการพิสูจน์ทราบหลักศิลานั้นได้จากแหล่งใดบ้าง หรือถ้าไม่มี เราสามารถเชื่อจากการกล่าวอ้างของท่านจอมพลผินได้เลยหรือ
เพราะศิลาจารึกไม่น่าจะค้นพบได้ง่ายดายเพียงแค่นอนหนุนเจอเท่านั้น


ช่วยกลับไปอ่านใหม่นะครับ ไม่ใช่การกล่าวอ้างของท่านจอมพลผิน แต่เป็นจอมพลประภาส จารุเสถียร
และ"เรื่องบังเอิญที่แทรกเข้ามา” สั้นๆอยู่สักหน้ากระดาษเศษๆนั้นก็ใช่ครับ สั้นเท่าที่เห็นและไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ต่ออย่างไร ส่วนจะมีการตรวจวิเคราะห์ด้วยหลักโบราณคดีสมัยใหม่ที่คุณถามหรือไม่ ผมคิดว่ากรมศิลปากรคงจะทราบคำตอบหากมีการพบแผ่นศิลาจารึกนั้นจริง ส่วนผมไม่เคยศึกษาลงลึกในเรื่องนี้จึงยังตอบไม่ได้ แต่ถ้าตั้งใจจะทำคงค้นหาเรื่องที่จอมพลประภาสเขียนได้ไม่ยาก

อาจจะยังอยู่ที่ค่ายสุรนารีก็ได้นะครับ


บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.053 วินาที กับ 20 คำสั่ง