คุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์เขียนถึงเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ไว้ใน "เวียงวัง" ดังนี้
เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นเจ้าจอมพระสนมท่านสุดท้าย เพราะหลังจากมีพระองค์เจ้าหญิงประสูติ พ.ศ.๒๓๖๖ คือ พระองค์เจ้าแม้นเขียนแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯก็เสด็จสวรรคต พ.ศ.๒๓๖๗ ถัดมาอีกปีเดียว แต่พระองค์เจ้าแม้นเขียนมิใช่พระราชธิดาองค์สุดท้าย พระราชธิดาองค์สุดท้ายประสูติ พ.ศ.๒๓๖๗ คือพระองค์เจ้ากนิษฐน้อยนารี ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาอัมพาหรืออำภา เป็นพระองค์ที่ ๕ ของเจ้าจอมมารดาอัมพา
เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์นี้ว่ากันว่าอายุเพียง ๑๘-๑๙ ปี รูปร่างหน้าตาสวยสดงดงาม
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสด็จสวรรคตแล้ว ว่ากันว่า กรมหลวงภูวเนตรฯ ทรงส่งเพลงยาวไป ‘เกี้ยว’ เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์จึงออกจากวังหลวงไปอยู่วังกรมหลวงภูวเนตรฯ
การออกจากวังหลวงไปนั้น ไม่ทราบแน่ชัดว่าออกไปเฉย ๆ หรือกราบถวายบังคมลา แต่น่าจะเดาว่าในฐานะของเจ้าจอมมารดา มีพระเจ้าลูกเธออยู่ ๆ คงจะออกไปเฉย ๆ ไม่ได้ เห็นจะต้องมีท้าวนางกราบทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์จึงได้ไปเป็น ‘หม่อม’ ในพระองค์เจ้าทินกร
อยู่ต่อมาพักหนึ่ง เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ก็ออกจากวังพระองค์เจ้าทินกร ย้ายไปอยู่วังกรมหมื่นพิทักษ์เทเวศร์ (พระองค์เจ้ากุญชร กรมพระพิทักษ์เทเวศร์) พระเชษฐาองค์กลาง
ไม่นานนักก็ย้ายไปอยู่วัง กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ (พระองค์เจ้าพนมวัน กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์) พระเชษฐาองค์ใหญ่
ว่ากันว่า เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ ท่านเตร็ดเตร่ไปเรื่อย ๆ แม้จะเป็นที่ทราบกันอยู่ แต่เมื่อออกมาจากวังแล้ว ท่านก็มี ‘สิทธิสตรี’ เช่นเดียวกับคุณพุ่ม
ตรงนี้อาจมีผู้ถามว่าแล้วพระสุริยภักดีและเจ้าจอมอิ่มทำไมจึงต้องพระราชอาญาถึงประหารชีวิตทั้งคู่
เพราะมีผู้ฟ้องร้องขึ้นไปกราบบังคมทูล จึงได้โปรดฯให้ลูกขุนพิจารณาโทษ ลูกขุนพร้อมกันตัดสินโทษตามกฎมณเฑียรบาล ซึ่งกำหนดโทษไว้ว่า
‘อนึ่ง ข้าเฝ้าทั้งปวงใช้หนังสือกาพย์ โคลงเข้าวัง สื่อชักคบค้ากำนัลสาวใช้ฝ่ายใน โทษถึงตาย
อนึ่ง ข้าฝ่ายในคบผู้ชายหมู่นอกใช้หนังสือกาพย์โคลงไปมา โทษถึงตาย’
เสมอนางกำนัลสาวใช้ยังโทษถึงตาย นี่เป็นถึงเจ้าจอมในรัชกาลปัจจุบัน
ส่วนเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์นั้น เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ล่วงแล้ว เมื่อออกไปก็ไปอยู่วังเจ้านาย พูดง่าย ๆ ว่าถึงจะมีผัวใหม่ ก็ได้เจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ บางทีจะโปรดฯพระราชทานให้ด้วยซ้ำไป เพราะเคยมีปรากฏแล้วเรื่องพระราชทานเจ้าจอมที่ยังสาวและมิได้มีพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลก่อนให้แก่พระบรมวงศ์
เรื่องหญิงตามชายไปโดยสมัครใจ และภายหลัง หญิงเลิกราไปอยู่กับชายอื่นนี้ ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้ทรงประกาศพระราชบัญญัติเรื่องลักพาความตอนหนึ่งว่า
‘...อนึ่ง หญิงซึ่งตามชายไปโดยความสมัครรักใคร่กันเอง บิดามารดามิได้ยอมยกให้ ไม่ได้แต่งมีทุนสินสอดอย่างนี้ ก็เชื่อว่าเป็นหญิงไม่ดี ชายจะถือว่าเป็นเมียไม่ได้ ก็เมื่อไม่สมัครอยู่กับชาย จะหนีกลับมาหาบิดามารดาแลญาติพี่น้องก็ดี จะตามชายอื่นไปก็ดี ชายที่เรียกว่าเป็นผัวนั้น จะตามฟ้องร้องเร่งรัดเอาตัวหรือจะเอาเบี้ยปรับแก่ชายชู้ใหม่ไม่ได้ เพราะมันมาฉันใดให้มันไปฉันนั้น...’
ประกาศฉบับนี้ แม้จะทรงตำหนิผู้หญิงว่าไม่ดี แต่พิจารณาอีกแง่ดูจะเป็นการให้ ‘สิทธิสตรี’ ไม่น้อยทีเดียว
ในสมัยก่อนโน้น คงจะมีการฟ้องร้องเกี่ยวกับลูกหลานหนีตามผู้ชายกันเสมอๆ ประกาศเรื่องเกี่ยวกับการลักพา จึงมีความอีกตอนหนึ่งว่า
‘บุตรหญิงของใคร ๆ จงระวังรักษาเอง จงหาผัวให้เป็นที่ชอบใจเร็ วๆ เถิด ถ้าเกิดเหตุติดตามผู้ชายไป ก็จะต้องคงลงให้ถามตามใจหญิงสมัคร ผู้ลอบลักพาถ้าไม่ได้ขอสมาก็ให้มีเบี้ยละเมิด ของซึ่งหายในเวลาหญิงหนีตามชายไป (ถ้า) เจ้าทรัพย์สาบาลไว้ว่าหายไปเวลานั้น ผู้ลักพาก็ต้องใช้ ต้องเร่งรัดให้ใช้เจ้าของทรัพย์จนเต็ม หรือตามใจเจ้าทรัพย์ จะยอมลดยอมให้บ้าง (แต่) จะให้ว่ายิ่งกว่านี้ไปไม่ได้ เพราะบิดามารดาแลญาติผู้ใหญ่เลี้ยงบุตรหลานไม่ดี...’
เรื่องเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ คงจะ ‘ดัง’ อยู่ไม่น้อย เมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ จึงทรงประกาศ มีพระบรมราชานุญาตให้เจ้าจอมพระสนมในรัชกาลก่อน ๆ หรือแม้แต่ในรัชกาลของพระองค์ที่มิได้มีพระองค์เจ้าลูกยาเธอและลูกเธอ กราบถวายบังคมลาออกจากราชการได้ ให้กราบถวายบังคมลาโดยตรง แม้จะออกไป ‘มีลูกมีผัว’ ก็ไม่ทรงหวงห้าม แต่ ‘ห้ามแต่อย่าให้สนสื่อหาชู้หาผัวแต่ตัวยังอยู่ในราชการด้วยอุบายทางใดทางหนึ่งก่อนกราบบังคมทูลพระกรุณาเป็นอันขาดทีเดียว เป็นดังนั้นจะเสียพระราชกำหนดสำหรับแผ่นดินไป...’
เล่าเรื่องเสียยืดยาว เพราะทั้งคุณพุ่มและเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกันกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ เอ่ยพระนามกรมหลวงภูวเนตรฯ ผู้รู้จักท่านคงมีไม่มากนัก นอกเสียจากผู้สนใจเรื่องกวี แต่ถ้าหากบอกว่า ท่านเป็นผู้ทรงนิพนธ์เรื่องแก้วหน้าม้าที่กำลังแข่งกันกระโดดโลดเต้นในจอโทรทัศน์สองช่องอยู่เวลานี้ และเป็นผู้ทรงนิพนธ์เรื่อง พระมณีพิชัย หรือ ส่วนมากเรียกว่า เรื่องนางยอพระกลิ่น (กินแมว) ก็คงจะร้องอ๋อไปตาม ๆ กัน
