เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 9152 อยากทราบเรื่องเจ้าจอมมารดาลูกจันทร์ ในรัชกาลที่ ๒
benzene
อสุรผัด
*
ตอบ: 125


 เมื่อ 09 ส.ค. 12, 11:43

เรียนถามผู้รู้ทุกท่านครับ เหี่ยวกับประวัติ และเรื่องเล่าต่างๆ เกี่ยวกับเจ้าจอมมารดาลูกจันทร์ ธิดาเจ้าสุก หลวงพระบาง ถ้ามีรูปภาพด้วย จะขอบคุณเป็นอย่างยิ่งครับ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 09 ส.ค. 12, 12:02

ได้ข้มูลเบื้องต้นว่า เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์มีอยู่ ๒ ท่านคือ เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ใหญ่ และเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์เล็ก

เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ใหญ่ ให้ประสูติพระธิดา ๒ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าหญิงนิ่มนวล (๒๓๕๔) และ พระองค์เจ้าหญิงโสภา (๒๓๖๓)

เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์เล็ก ให้ประสูติพระธิดา ๑ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าหญิงแม้นเขียน (๒๓๖๐)

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 09 ส.ค. 12, 12:13



คงจะเป็นเจ้าจอมมารดารุ่นเล็ก   ที่รำไทยสวยงามมากและเป็นครูของหม่อมคนหนึ่งของสมเด็จกรมพระยาดำรง

มีเอกสารในเรื่องนี้ที่ชื่อ แค้นของกวี   คุณหนุ่มสยามลองหาดูนะคะ    เคยเล่าไว้นานแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 09 ส.ค. 12, 12:28

เรียกกันว่า เจ้าจอมมารดาลูกจันทร์เล็ก  เพราะมีชื่อซ้ำกันอยู่อีกท่านหนึ่ง  มีพระองค์เจ้าพระองค์เดียวคือพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าแม้นเขียน สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๖ 
เคยเขียนถึงเจ้าจอมมารดาท่านนี้ไว้ใน แค้นของกวี
http://vcharkarn.com/reurnthai/poet.php

ส่วนในวิกิพีเดียเล่าไว้ว่า
เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์เล็ก เจ้าจอมมารดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เกิดในปี พ.ศ. 2341 ธิดาในเจ้าสุกแห่งหลวงพระบาง บ้างก็ว่าสืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองเวียงจันทน
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 09 ส.ค. 12, 16:00

เจ้าจอมมารดาจัน หรือ ลูกจันทน์  หรือลูกจันทน์เล็ก  เป็นธิดาของเจ้าสุก เมืองนครหลวงพระบาง
เจ้าสุก ได้พาขึ้นถวายตัวในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
ตั้งแต่อายุได้ ๘ ขวบ  และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนางละครหลวง  รับพระราชทานเบี้ยหวัด
ปีละ ๑๐ ตำลึง  

ต่อมา  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  โปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าจอมอยู่งาน
รับพระราชทานเบี้ยหวัด ปีละ ๑ ชั่ง  และมีประสูติการพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าชาย ๑ พระองค์  และพระองค์เจ้าหญิง ๑ พระองค์
พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าชายสิ้นพระชนม์แต่ยังทรงพระเยาว์  ส่วนพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงเจริญพระชนม์มา
คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน  เมื่อมีประสูติการพระเจ้าลูกเธอแล้ว  ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเพิ่ม
เป็นปีละ ๓ ชั่ง  ตลอดรัชกาล

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยหวัด เหลือปีละ ๒ ชั่ง  
เนื่องจากไม่ได้มีราชการอันใดต้องปฏิบัติรับผิดชอบ

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ ให้เป็นครูฝึกหัดละครหลวง  รับพระราชทานเบี้ยหวัด
ปีละ ๒ ชั่ง ๑๑ ตำลึง  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ พระราชทานเบี้ยหวัดคงเดิม
และรับราชการในหน้าที่ครูฝึกหัดละคร

ต่อมา  ป่วยเป็นโรคชรา  ให้...และ...ไม่ได้   หาหมอมารักษา  อาการห็หาได้คลายไม่
๗ - ๓ - ร ๑ ชวดสัมฤทธิศก  บ่ายหอบมาก  เวลา ๑๐ ทุ่มนาน  ถึงแก่กาลกิริยา  นับอายุได้ ๙๐ ปี
เป็นเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๒ ที่อายุยืนมาถึง ๕ แผ่นดิน

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน  ทรงจัดการศพ  เจ้าพนักงานเชิญศพลงหีบทองทึบ
เมื่อสรงน้ำหลวงพระราชทานแล้ว   จากนั้น  เชิญหีบศพลงจากตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าแม้นเขียน  แล้วเชิญออกทางประตู...  ขึ้นวอประเทียบ มีเครื่องประกอบเกียรติยศ
คือ ฉัตรเบญจา ๔ คู่ กลองชนะเขียว ๔ คู่ ประโคมแห่แหนศพไปไว้ยังวัง...

(อ้างอิงจากความทรงจำส่วนตัว  ผู้ใดสนใจจะนำไปอ้างอิงต่อ  โปรดใช้ดุลยพินิจ)
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 09 ส.ค. 12, 18:38

คุณหลวงความจำดีมาก   ยิ้มเท่ห์

ต่อไปนี้เป็นข้อมูลจาก คุณวิกกี้ ฉบับเต็ม

เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์เล็ก เจ้าจอมมารดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เกิดในปี พ.ศ. ๒๓๔๑ ธิดาในเจ้าสุกแห่งหลวงพระบาง บ้างก็ว่าสืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองเวียงจันทน์ มีพี่น้องที่ปรากฎนามอีกสองคนคือ คุณลูกอิน และคุณทองดี หม่อมละครในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
 
บิดาของคุณลูกจันทน์ได้นำมาถวายตัวแก่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ พร้อมกับน้องสาวอีกสองคนดังกล่าว ได้เป็นละครหลวงรุ่นเล็ก ในรัชกาลที่ ๑ ในบท นางวิยะดา เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแล้ว คุณลูกจันทน์มีอายุประมาณ ๑๑-๑๒ ปี ต่อมาจึงได้เป็นละครหลวงในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ในบทนางมะเดหวี และรับราชการเป็นเจ้าจอม และให้ประสูติกาลพระราชธิดา ๑ พระองค์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแม้นเขียน (พ.ศ. ๒๓๖๖-๒๔๕๖)
 
ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ กล่าวกันว่ากรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ซึ่งเป็นพระโอรสของรัชกาลที่ ๒ ทรงส่งเพลงยาวไปเกี้ยวเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์เล็กจึงใช้ "สิทธิสตรี" ออกจากวังหลวงไปอยู่วังกรมหลวงภูวเนตรฯ จนได้เป็นหม่อมในกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ แต่ต่อมาไม่นานก็ย้ายไปยังวังของกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ พระเชษฐาองค์ใหญ่ และเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์เล็กก็เตร็ดเตร่ไปเรื่อย ๆ
 
เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์เล็กได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๔ และ ๕ และเป็นครูละครสำคัญของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ด้วย ท้ายที่สุดเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์เล็กถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ วันเสาร์ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีชวด สัมฤทธิศก หรือวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๑ สิริรวมอายุได้ ๙๐ ปี
 
 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 09 ส.ค. 12, 18:52

คุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์เขียนถึงเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ไว้ใน "เวียงวัง" ดังนี้

เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นเจ้าจอมพระสนมท่านสุดท้าย เพราะหลังจากมีพระองค์เจ้าหญิงประสูติ พ.ศ.๒๓๖๖ คือ พระองค์เจ้าแม้นเขียนแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯก็เสด็จสวรรคต พ.ศ.๒๓๖๗ ถัดมาอีกปีเดียว แต่พระองค์เจ้าแม้นเขียนมิใช่พระราชธิดาองค์สุดท้าย พระราชธิดาองค์สุดท้ายประสูติ พ.ศ.๒๓๖๗ คือพระองค์เจ้ากนิษฐน้อยนารี ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาอัมพาหรืออำภา เป็นพระองค์ที่ ๕ ของเจ้าจอมมารดาอัมพา

เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์นี้ว่ากันว่าอายุเพียง ๑๘-๑๙ ปี รูปร่างหน้าตาสวยสดงดงาม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสด็จสวรรคตแล้ว ว่ากันว่า กรมหลวงภูวเนตรฯ ทรงส่งเพลงยาวไป ‘เกี้ยว’ เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์จึงออกจากวังหลวงไปอยู่วังกรมหลวงภูวเนตรฯ

การออกจากวังหลวงไปนั้น ไม่ทราบแน่ชัดว่าออกไปเฉย ๆ หรือกราบถวายบังคมลา แต่น่าจะเดาว่าในฐานะของเจ้าจอมมารดา มีพระเจ้าลูกเธออยู่ ๆ คงจะออกไปเฉย ๆ ไม่ได้ เห็นจะต้องมีท้าวนางกราบทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์จึงได้ไปเป็น ‘หม่อม’ ในพระองค์เจ้าทินกร

อยู่ต่อมาพักหนึ่ง เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ก็ออกจากวังพระองค์เจ้าทินกร ย้ายไปอยู่วังกรมหมื่นพิทักษ์เทเวศร์ (พระองค์เจ้ากุญชร กรมพระพิทักษ์เทเวศร์) พระเชษฐาองค์กลาง

ไม่นานนักก็ย้ายไปอยู่วัง กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ (พระองค์เจ้าพนมวัน กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์) พระเชษฐาองค์ใหญ่

ว่ากันว่า เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ ท่านเตร็ดเตร่ไปเรื่อย ๆ แม้จะเป็นที่ทราบกันอยู่ แต่เมื่อออกมาจากวังแล้ว ท่านก็มี ‘สิทธิสตรี’ เช่นเดียวกับคุณพุ่ม

ตรงนี้อาจมีผู้ถามว่าแล้วพระสุริยภักดีและเจ้าจอมอิ่มทำไมจึงต้องพระราชอาญาถึงประหารชีวิตทั้งคู่

เพราะมีผู้ฟ้องร้องขึ้นไปกราบบังคมทูล จึงได้โปรดฯให้ลูกขุนพิจารณาโทษ ลูกขุนพร้อมกันตัดสินโทษตามกฎมณเฑียรบาล ซึ่งกำหนดโทษไว้ว่า

 ‘อนึ่ง ข้าเฝ้าทั้งปวงใช้หนังสือกาพย์ โคลงเข้าวัง สื่อชักคบค้ากำนัลสาวใช้ฝ่ายใน โทษถึงตาย

อนึ่ง ข้าฝ่ายในคบผู้ชายหมู่นอกใช้หนังสือกาพย์โคลงไปมา โทษถึงตาย’

เสมอนางกำนัลสาวใช้ยังโทษถึงตาย นี่เป็นถึงเจ้าจอมในรัชกาลปัจจุบัน

ส่วนเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์นั้น เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ล่วงแล้ว เมื่อออกไปก็ไปอยู่วังเจ้านาย พูดง่าย ๆ ว่าถึงจะมีผัวใหม่ ก็ได้เจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ บางทีจะโปรดฯพระราชทานให้ด้วยซ้ำไป เพราะเคยมีปรากฏแล้วเรื่องพระราชทานเจ้าจอมที่ยังสาวและมิได้มีพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลก่อนให้แก่พระบรมวงศ์

เรื่องหญิงตามชายไปโดยสมัครใจ และภายหลัง หญิงเลิกราไปอยู่กับชายอื่นนี้ ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้ทรงประกาศพระราชบัญญัติเรื่องลักพาความตอนหนึ่งว่า

‘...อนึ่ง หญิงซึ่งตามชายไปโดยความสมัครรักใคร่กันเอง บิดามารดามิได้ยอมยกให้ ไม่ได้แต่งมีทุนสินสอดอย่างนี้ ก็เชื่อว่าเป็นหญิงไม่ดี ชายจะถือว่าเป็นเมียไม่ได้ ก็เมื่อไม่สมัครอยู่กับชาย จะหนีกลับมาหาบิดามารดาแลญาติพี่น้องก็ดี จะตามชายอื่นไปก็ดี ชายที่เรียกว่าเป็นผัวนั้น จะตามฟ้องร้องเร่งรัดเอาตัวหรือจะเอาเบี้ยปรับแก่ชายชู้ใหม่ไม่ได้ เพราะมันมาฉันใดให้มันไปฉันนั้น...’

ประกาศฉบับนี้ แม้จะทรงตำหนิผู้หญิงว่าไม่ดี แต่พิจารณาอีกแง่ดูจะเป็นการให้ ‘สิทธิสตรี’ ไม่น้อยทีเดียว

ในสมัยก่อนโน้น คงจะมีการฟ้องร้องเกี่ยวกับลูกหลานหนีตามผู้ชายกันเสมอๆ  ประกาศเรื่องเกี่ยวกับการลักพา จึงมีความอีกตอนหนึ่งว่า

 ‘บุตรหญิงของใคร ๆ จงระวังรักษาเอง จงหาผัวให้เป็นที่ชอบใจเร็ วๆ เถิด ถ้าเกิดเหตุติดตามผู้ชายไป ก็จะต้องคงลงให้ถามตามใจหญิงสมัคร ผู้ลอบลักพาถ้าไม่ได้ขอสมาก็ให้มีเบี้ยละเมิด ของซึ่งหายในเวลาหญิงหนีตามชายไป (ถ้า) เจ้าทรัพย์สาบาลไว้ว่าหายไปเวลานั้น ผู้ลักพาก็ต้องใช้ ต้องเร่งรัดให้ใช้เจ้าของทรัพย์จนเต็ม หรือตามใจเจ้าทรัพย์ จะยอมลดยอมให้บ้าง (แต่) จะให้ว่ายิ่งกว่านี้ไปไม่ได้ เพราะบิดามารดาแลญาติผู้ใหญ่เลี้ยงบุตรหลานไม่ดี...’

เรื่องเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ คงจะ ‘ดัง’ อยู่ไม่น้อย เมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ จึงทรงประกาศ มีพระบรมราชานุญาตให้เจ้าจอมพระสนมในรัชกาลก่อน ๆ หรือแม้แต่ในรัชกาลของพระองค์ที่มิได้มีพระองค์เจ้าลูกยาเธอและลูกเธอ กราบถวายบังคมลาออกจากราชการได้ ให้กราบถวายบังคมลาโดยตรง แม้จะออกไป ‘มีลูกมีผัว’ ก็ไม่ทรงหวงห้าม แต่ ‘ห้ามแต่อย่าให้สนสื่อหาชู้หาผัวแต่ตัวยังอยู่ในราชการด้วยอุบายทางใดทางหนึ่งก่อนกราบบังคมทูลพระกรุณาเป็นอันขาดทีเดียว เป็นดังนั้นจะเสียพระราชกำหนดสำหรับแผ่นดินไป...’

เล่าเรื่องเสียยืดยาว เพราะทั้งคุณพุ่มและเจ้าจอมมารดาลูกจันทน์มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกันกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ เอ่ยพระนามกรมหลวงภูวเนตรฯ ผู้รู้จักท่านคงมีไม่มากนัก นอกเสียจากผู้สนใจเรื่องกวี แต่ถ้าหากบอกว่า ท่านเป็นผู้ทรงนิพนธ์เรื่องแก้วหน้าม้าที่กำลังแข่งกันกระโดดโลดเต้นในจอโทรทัศน์สองช่องอยู่เวลานี้ และเป็นผู้ทรงนิพนธ์เรื่อง พระมณีพิชัย หรือ ส่วนมากเรียกว่า เรื่องนางยอพระกลิ่น (กินแมว) ก็คงจะร้องอ๋อไปตาม ๆ กัน

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 09 ส.ค. 12, 18:55

เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์
เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๒
ธิดาเจ้าสุก แห่งราชอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง
มีพระองค์เจ้า คือ
๑. พระองค์เจ้าหญิงแม้นเขียน

บิดาพามาถวายตัวในรัชกาลที่ ๑ ตั้งแต่อายุ ๘ ขวบพร้อมกับน้องสาวอีก ๒ คน ได้เป็นละครหลวงรุ่นเล็ก ในรัชกาลที่ ๑ ในบท “นางวิยะดา” เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๑ ท่านอายุได้เพียง ๑๑ หรือ ๑๒ ปี ต่อมาจึงได้เป็นละครหลวงรัชกาลที่ ๒ ในบท “นางมะดีหวี” ต่อมาได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๔ และ ๕ และเป็นครูละครสำคัญของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ด้วย ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ วันเสาร์ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีชวด สัมฤทธิศก (๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๑) สิริอายุ ๙๐ ปี


ที่มา

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/12/K8690433/K8690433.html

ภาพ พระองค์เจ้าหญิงแม้นเขียน


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 09 ส.ค. 12, 19:15

บิดาพามาถวายตัวในรัชกาลที่ ๑ ตั้งแต่อายุ ๘ ขวบพร้อมกับน้องสาวอีก ๒ คน ได้เป็นละครหลวงรุ่นเล็ก ในรัชกาลที่ ๑ ในบท “นางวิยะดา” เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๑ ท่านอายุได้เพียง ๑๑ หรือ ๑๒ ปี ต่อมาจึงได้เป็นละครหลวงรัชกาลที่ ๒ ในบท “นางมะดีหวี” ต่อมาได้เป็นครูละครหลวงในรัชกาลที่ ๔ และ ๕ และเป็นครูละครสำคัญของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ด้วย ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ วันเสาร์ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีชวด สัมฤทธิศก (๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๑) สิริอายุ ๙๐ ปี

ที่มา

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/12/K8690433/K8690433.html

จากหนังสือศิลปินแห่งละคอนไทยของคุณธนิต อยู่โพธิ์


บันทึกการเข้า
benzene
อสุรผัด
*
ตอบ: 125


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 09 ส.ค. 12, 19:17

ขอบพระคุณทุกท่านครับ เสียดายที่ไม่มีรูปท่านอยู่เลย บางทีอาจจะมีในหอจดหมายเหตุ
ที่ผมถามขึ้นมา ก็เพราะท่านเป็นนางละครที่มีชีวิตโลดโผนอยู่ทีเดียว และเป็นตัวดีมีฝีมือด้วย จึงได้ไปเป็นครูสอนละครหลวง และละครเจ้านายหลายวัง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 09 ส.ค. 12, 19:57

ชีวิตของเจ้าจอมลูกจันทร์เล็ก  ธิดาเจ้าสุกแห่งหลวงพระบาง   กับเสด็จในกรมฯทั้ง ๓ พระองค์ นั้นคุณนัดดา อิศรเสนา ณ อยุธยาเล่าเอาไว้ชัดเจนพอสมควรในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระยาอิศรพงศ์พิพัฒน์  (ม.ล.สิริ อิศรเสนา)   
ตอนท้ายท่านให้รายละเอียดว่า
" เจ้าจอมมารดาลูกจันทร์ เมื่อวัยชราหมดที่พึ่ง   สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงรับมาอุปถัมภ์ไว้ ณ วังประตูสามยอด   เลี้ยงดูพอสมแก่ฐานะที่เคยเป็นครูละครของเจ้าจอมมารดาชุ่ม  เจ้าจอมมารดาในพระองค์ท่าน  และเมื่อสิ้นชีพแล้ว ได้จัดการปลงศพประทานอีกด้วย"

อย่างไรก็ตาม ดิฉันเห็นเป็นส่วนตัวว่าชีวิตส่วนตัวกับทั้ง ๓ พระองค์ ไม่เกี่ยวอะไรกับความเป็นครูละครของท่าน     ถ้าหากว่าคุณ benzene จะบรรยายประวัติท่านไว้ในนิทรรศการให้คนเข้าชมงานได้อ่านกัน   ลงความยาวขนาดกลางๆอย่างที่คุณ NAVARAT.C นำมาลงก็คงจะดีกว่ากระมัง    ขอเสนอให้พิจารณาด้วยค่ะ

บันทึกการเข้า
benzene
อสุรผัด
*
ตอบ: 125


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 09 ส.ค. 12, 22:26

ครับผม เป็นความรู้ที่ผมไม่เคยอ่านมาก่อน ดีมากๆ เลยครับ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 10 ส.ค. 12, 07:38

ชีวิตของเจ้าจอมลูกจันทร์เล็ก  ธิดาเจ้าสุกแห่งหลวงพระบาง   กับเสด็จในกรมฯทั้ง ๓ พระองค์ นั้นคุณนัดดา อิศรเสนา ณ อยุธยาเล่าเอาไว้ชัดเจนพอสมควรในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพระยาอิศรพงศ์พิพัฒน์  (ม.ล.สิริ อิศรเสนา)  
ตอนท้ายท่านให้รายละเอียดว่า
" เจ้าจอมมารดาลูกจันทร์ เมื่อวัยชราหมดที่พึ่ง   สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงรับมาอุปถัมภ์ไว้ ณ วังประตูสามยอด   เลี้ยงดูพอสมแก่ฐานะที่เคยเป็นครูละครของเจ้าจอมมารดาชุ่ม  เจ้าจอมมารดาในพระองค์ท่าน  และเมื่อสิ้นชีพแล้ว ได้จัดการปลงศพประทานอีกด้วย"



เข้าใจว่าเป็นช่วงสมัยที่สมเด็จกรมพระยาดำรง ทรงอยู่ในตำแหน่งนายกสภาหอพระสมุด ทรงรวบรวมโน๊ตเพลงไทยเดิมและจัดทำเป็นโน๊ตเพลงสากลขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อทำเรื่องดนตรีไทยแล้วก็ต้องมีท่ารำประกอบ สมเด็จกรมพระยาดำรงจึงทรงใหครูนาฏศิลป์ต่าง ๆ รวบรวมท่านาฏศิลป์ไว้ มีการรำท่าแม่บทต่าง ๆ และบันทึกเป็นภาพเป็นหลักฐานให้กับวงการนาฏศิลป์สืบมา

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 11 ส.ค. 12, 20:19

เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ เป็นเด็กสวยมาตั้งแต่ยังเล็ก  จึงได้รับบทนางวิยะดาในอิเหนา    เมื่อโตเป็นสาวก็เป็นที่เลื่องลือว่างามแบบชาวเหนือ  ผิวเป็นแตงร่มใบ  จริตกิริยาน่ารัก เป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ มาก     เมื่อเสด็จสวรรคต เจ้าจอมลูกจันทน์อายุแค่ 18 ปี    ส่วนกรมหลวงภูวเนตรฯ กำลังหนุ่มแน่น พระชันษาได้ 23 ปี     ท่านมีโอกาสเห็นเจ้าจอมลูกจันทน์ที่ไหนไม่ทราบ  แต่เห็นแล้วศรรักก็ปักทรวง   ประกอบกับสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 2 แล้ว  เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์มีอิสระมากขึ้น     กรมหลวงภูวเนตรคิดว่ามีหวัง   ก็เลยกล้าส่งเพลงยาวถึง 
ขอยกมาตอนหนึ่งค่ะ
......................................                           ..........................
เห็นอยู่เดียวเปลี่ยวอารมณ์มานมนาน                         คิดสงสารแสนรักจึงชักจูง
เดิมไม่เศร้าเสื่อมสลดมียศอยู่                                 เคยเป็นคู่เคียงหงส์ที่วงศ์สูง  (หมายถึงรัชกาลที่ 2)
ก็สิ้นหงส์แล้วจงวกลงนกยูง (หมายถึงพระองค์เอง)         อย่าให้ฝูงกากวนไม่ควรเคียง (น่าจะมีขุนนางหนุ่มๆมาเล็งอยู่เหมือนกัน)
อยากพบพักตร์รักใคร่ให้สนิท                                 ขอชอบชิดชิงรักอย่าหักหวน
ถ้าโฉมงามตามอารมณ์เห็นสมควร                            จงประมวลมิตรใจเป็นไมตรี
จะพูนเพิ่มพิศวาสไม่คลาดเคลื่อน                             ทุกวันเดือนมิได้คลายคิดหน่ายหนี
เฝ้ารักใคร่ไปจนตายวายชีวี                                    อยู่เมืองผีจะขออยู่เป็นคู่กัน
แม้เกิดใหม่ให้ได้พบประสบสิ้น                                บาดาลดินแดนดลบนสวรรค์
ทุกทุกชาติอย่าขาดรักเลยสักวัน                              จนม้วยดับกัปป์กัลป์พุทธันดร

เจ้าจอมมารดาลูกจันทน์ฟังฝีพระโอษฐ์เจ้าชายกวีก็คงจะใจอ่อนระทวย    แม้จะต้องสูญเสียเบี้ยหวัด และต้องตัดขาดจากพระเจ้าลูกเธอแม้นเขียนซึ่งยังเป็นทารก ก็ยอม  จึงออกจากวังหลวงไปเป็นหม่อมอยู่ในวังกรมหลวงภูวเนตรฯ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 12 ส.ค. 12, 08:00

อยากพบพักตร์รักใคร่ให้สนิท                                 ขอชอบชิดชิงรักอย่าหักหวน

จะพูนเพิ่มพิศวาสไม่คลาดเคลื่อน                             ทุกวันเดือนมิได้คลายคิดหน่ายหนี

เพลงยาวตอนนี้ต่างจากใน ตู้หนังสือเรือนไทย

............................................................

เห็นอยู่เดียวเปลี่ยวอารมณ์มานมนาน            คิดสงสารแสนรักจึงชักจูง
เดิมไม่เศร้าเสื่อมสลดมียศอยู่                    เคยเปนคู่เคียงหงส์ที่วงศสูง
ก็สิ้นหงส์แล้วจงวกลงนกยูง                       อย่าให้ฝูงกากวนไม่ควรเคียง

...........................................................

อย่าพบพักตรรักใคร่ให้สนิท                      ขอชอบชิดเชิงรักอย่าหักหวน
ถ้าโฉมงามตามอารมณ์เห็นสมควร               จงประมวลมิตรใจเปนไมตรี
จะพูลเพิ่มพิศวาสไม่คลาดเคลื่อน                ทุกวันเดือนมิได้คลายหน่ายหนี
เฝ้ารักใคร่ไปจนตายวายชีวี                       อยู่เมืองผีจะขออยู่เปนคู่กัน
แม้นเกิดไหนให้ได้พบประสบสิ้น                 บาดาลดินแดนดลบนสวรรค์
ทุกทุกชาติอย่าขาดรักเลยสักวัน                 จนม้วยดับกัปป์กัลป์พุทธันดร

............................................................

เห็นด้วยว่า

อยาก น่าจะถูกต้องกว่า อย่า,  ชิง ดูจะดีกว่า เชิง

พูน น่าจะถูกต้องกว่า พูล,  มี คิด ดีกว่า ไม่มี

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.071 วินาที กับ 20 คำสั่ง