เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 8720 พระวรกัญญาปทาน
ศ.ดร.
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 11 พ.ค. 01, 04:23

ไม่ทราบว่า กระทู้นี้จะเป็น ชนวน อะไรอีกหรือไม่ หลังจากที่ เปิดอ่านกระทู้เก่าบางกระทู้ ถ้าเรื่องที่ถามนี้เป็นการลบหลู่เบื้องสูง จนเกืนไป ต้องขออภัยไว่ ณ ที่นี้ และ ถ้า ท่านที่ทราบแต่ไม่ประสงค์ ที่จะแสดงความคิดเห็น  ก็สุดแล้วแต่  วิจารณญาณของท่าน

คำถามมีอยู่ว่า มีท่านใดทราบหรือไม่ว่า ด้วยเหตุผลประการใด ที่ ล้นเกล้าร.6 ทรงถอนหมั้น พระวรกัญญาปทาน

ขอขอบพระคุณ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 05 พ.ค. 01, 02:50

แฮ่ะๆ ลึกๆ ก็คงไม่มีใครรู้พระทัยท่านหรอกครับ แล้วท่านสวรรคตไปแล้วจะถามใครได้ล่ะ

แต่ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า เมื่อทรงถอดหมั้นนั้น มีประกาศที่เป็นทางการออกมาฉบับหนึ่ง เป็นประกาศกระทรวงวังหรืออะไรก็ไม่แน่ใจ แจ้งว่าทรงเสร้าสลดพระราชหฤทัยยิ่งที่จะทรงถอนหมั้น เพราะ "พระราชอัธยาศัยไม่ต้องกัน"

ซึ่งก็เป็นเหตุผลธรรมดา ฟังขึ้น ผมก็เชื่อ ก็ถ้าคู่หมั้น (คู่ไหนก็ตาม เจ้านายหรือสามัญชนก็ตาม) มาค้นพบว่าอัธยาศัยไปด้วยกันไม่ได้ จะถอนหมั้นก็ไม่เห็นแปลก เป็นเรื่องน่าเห็นใจ

แต่เหตุผลลึกไปกว่านั้น ถ้ามี แหะๆ ไม่รู้ครับ
บันทึกการเข้า
อะแฮ่ม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 08 พ.ค. 01, 17:14

เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้มีประกาศพระบรมราชโองการถอนหมั้นด้วยเหตุว่า "พระอัธยาศรัยไม่ต้องกัน" ทั้งยังพระราชทานโซ่ทองให้ท้าวนางเฒ่าแก่และโขลนไป "เกาะพระวรกัญญาฯ" มา " "ติดศาลา ณ พระบรมมหาราชวัง" อีกด้วย ถึงจะทรงติดศาลในพระบรมมหาราชวังแล้ว พระวรกัญญาฯ ก็ยังทรงทิฐิมานะไม่ยอมขอพระราชทานอภัยโทษ ทั้งยังห้ามผู้ใดกราบบังคมทูลพระกรุณาแทนอีกด้วย เชื่อว่าหากทรงละทิฐิเสีย ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ คงโปรดพระราชทานให้แน่นอน
พระวรกัญญาฯได้ถวายพระราชนิพนธ์ศกุนตลาคืนแถมยังใช้กระดาษคั่นหน้าและใช้หมึกแดงขีดเส้นข้อความด้วย จึงพออนุมาณว่า ล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๖ ทรงโปรดสนทนากับหม่อมเจ้าวรรณพิมล วรวรรณ (ท่านหญิงติ๋ว) ซึ่งเป็นพระขนิษฐษต่างชนนีอย่างมาก พระวรกัญญาฯ อาจไม่สู้พอพระทัยและทรงวู่วามตามวิสัยสตรี ดดยอาจจะเพียงมีพระประสงค์แค่เตือนหรือตัดพ้อเท่านั้น แต่นับว่า"หนักหนาและสาหัส"ยิ่ง เพราะพระราชนิพนธ์นี้เป็น"ของพระราชทานอันล้ำค่า"ซึ่งจะต้องเก็บไว้บูชาพระราชประดิพัทธ์ อีกทั้งข้อความซึ่งทรงขีดเขียนกำกับตอน"ฤษีทุรวาสสาปท้าวทุษยันต์ให้ลืมนางศกุนตลา จนนางต่อว่า ว่า "พูดง่ายๆคล่องๆเหมือนร่องน้ำ จะหาจริงสักคำเก็บไม่ได้" และ "ขอทรงพระเจริญเถิดพระราชา ตัวข้าขอลาแต่บัดนี้"
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ใช้พระราชอำนาจในฐานะพระมหาก็ฃษัตริย์ปลดปล่อยพระองค์เจ้าวัลลภาเทวีออกจากพระบรมมหาราชวัง และโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังที่สี่แยกถนนพิชัยให้เป็นที่ประทับ ซึ่งพระองค์ได้ตั้งชื่อว่า "พระกรุณานิเวศน์" และประทับที่นี่ตราบจนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔
(หมายเหตุ: เก็บความจาก พระเจ้าวรวงศ์เธฮ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี, ศิลปวัฒนธรรม, พฤษจิกายน ๒๕๓๗)
บันทึกการเข้า
นวล
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 08 พ.ค. 01, 23:31

ขอเสนออีกเหตุผลหนึ่งต่างไปจากของคุณอะแฮ่มค่ะ

สาเหตุส่วนหนึ่งสันนิษฐานว่าอาจมาจากการที่พระองค์หญิง
ได้ทรงตีพิมพ์บทความ "ดำริหญิง" ในหนังสือดุสิตสมิตรารายสัปดาห์
เมื่อปี 2463 ซึ่งเปรียบเทียบสิทธิหน้าที่และความแตกต่าง
ระหว่างหญิงและชายอย่างค่อนข้างจะแข็งกร้าวเกินที่ชายไทยใน
ยุคนั้นจะรับได้ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมาย จนมีบางกลุ่ม
(ผู้ชาย) ไม่พอใจในพระองค์หญิงเพราะท่านแสดงตนว่าเก่งกล้า
สามารถเกินผู้ชาย แม้ว่าองค์พระเจ้าอยู่หัวเองจะทรงชื่นชมและสนับสนุน
ในความคิดของพระองค์หญิง (พระองค์เองเคยทรงพระราชนิพนธ์
บทความอันเกี่ยวกับสิทธิสตรีเหมือนกัน) แต่เมื่อว่าที่พระมเหสีได้
เกิดทำให้กลุ่มบุคคล (ชั้นสูงมีอำนาจ) ในเวลานั้นไม่สบอารมณ์เป็นอันมาก
อีกทั้ง ทรงเห็นว่าองค์หญิงเองก็มีพระทัยค่อนข้างแข็ง อาจไปด้วยกันไม่ได้
และเกิดปัญหาตามมาในภายหลัง พระองค์จึงทรงตัดไฟเสียแต่ต้นลม
และทรงโปรดเกล้าฯให้ยกเลิกพระราชพิธีหมั้นดังกล่าว และเมื่อพระองค์หญิง
ได้ถวายคืนหนังสือศกุนตลา พร้อมทั้งได้ทรงใช้หมึกขีดเส้นใต้คำกลอน
เชิงประชดประชัน พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงกริ้วจัด ถึงกับสั่งให้ควบคุม
พระองค์หญิงไว้ในพระราชวังหลวงชั้นในจนสิ้นรัชกาล  แม้ว่าพระองค์ได้ทรง
ประกาศถอนหมั้นไปแล้ว แต่คิดว่าโดยส่วนลึกในพระราชหฤทัยยังคงรัก
และอาลัยพระองค์หญิงอยู่ เพราะพระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้
หลังจากได้ประกาศถอนหมั้น...
"แสนเสียดายดวงจันทร์อันทรงกลด
งาดหมดไม่มีราศีหมอง
พิศพักตร์วิไลลักษณ์น่าประคอง
นวลละอองลออเอี่ยมสำอางองค์..."

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวัลลภาเทวี ทรงพระนามเดิมว่า
ม.จ. วรรณวิมล หรือที่เรียกกันในหมู่พระญาติว่า "ท่านขาว"
เจ้าพี่เจ้าน้องของพระองค์หญิงหนึ่งท่านก็ได้แก่ ม.จ.หญิงลักษมีลาวัณ
(ภายหลังคือพระนางเธอลักษมีลาวัณในรัชกาลที่ 6)
บันทึกการเข้า
อะแฮ่ม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 09 พ.ค. 01, 14:58

เพิ่มเติมอีกนิดครับ ผมเคยอ่านพบว่า เดิมล้นเกล้า ร.๖ ทรงเคยพอพระทัยพระธิดาองค์หนึ่งในกรมพระยาดำรงฯ แต่ถูกขัดขวางจากท่านเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) จะด้วยสาเหตุใดนั้น ผมจำไม่ได้แล้วครับ หากคุณนวลเคยอ่านพบ และมีข้อมูลกรุณาเล่าสู่กันอ่านด้วยครับ
บันทึกการเข้า
อ่านบ้างฟังบ้าง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 09 พ.ค. 01, 19:12

หุ..หุ..เรื่องมันเยอะ..ถ้าสนใจเรื่องแบบนี้..นะลองหาอ่านเรื่องของ ม.จ.หญิงฤดีวรวรรณดูซิ
บันทึกการเข้า
อะแฮ่ม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 11 พ.ค. 01, 11:03

คุณ"อ่านบ้างฟังบ้าง" บอกชื่อหนังสือด้วยสิครับ ผมจะได้ไปหาได้ง่ายหน่อย
ขอเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งเพิ่งไปพบที่ก้นลังหนังสือ ตามที่เสนอนี้ผู้แต่งท่านว่าอย่างนั้น

 หลังจากที่ทรงถอนหมั้นแล้ว ทรงอาลัยต่อพระวรกัญญาปทานมาก ดังพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า
"แสนเสียดายดวงจันทร์อันทรงกลด
 งามหมดไม่มีราศีหมอง
 พิศพักตร์วิไลลักษณ์น่าประคอง
 นวลละอองสำอางอี่ยมลออองค์"
 ในภายหลังจากนั้นต่อมาไม่นานก็ได้มีพระราชนิพนธ์ลงในนิตยสารฉบับหนึ่ง อธิบายเหตุผลอัน
ไม่ค่อยกระจ่างในเหตุทรงถอนหมั้นนั้น ให้คนทั้งหลายได้ทราบความจริง ดังความตอนหนึ่ง ดังนี้
"อย่าทะนงอวดองค์ว่างามเลิศ
 สวยประเสริฐยากที่จะเปรียบได้
 อย่าทะนงอวดองค์ว่าวิไล
 อันสุรางค์นางในยังมากมี
 อย่าทะนงอวดองค์ว่าทรงศักดิ์
 จะใฝ่รักแต่องค์พระทรงศรี
 นั่งรถยนต์โอ่อ่าวางท่าที
 เป็นผู้ดีแต่ใจไพล่เป็นกา
 อย่าดูถูกลูกผู้ชายที่เจียมตน
 อย่าดูถูกฝูงชนที่ต่ำกว่า
 อย่าทะนงอวดองค์ว่าโสภา
 อันชายใดฤๅจะกล้ามาง้องอน
 การสิ่งนี้สิเป็นธรรมดา
 มนุษญ์เราเกิดมาย่อมผันผ่อน
 รู้จักรักรู้จักกินรู้จักนอน
 รู้ตระแหน่แง่งอนทุกคนไป"

ผมเคยอ่านพบในหนังสือดิฉันฉบับนานมาแล้วในคอลัมน์ของคุณหมอวิบูลย์ วิจิตรวาทการ
บรรยายเรื่องการพบกันครั้งแรกของ ร.๖ กับพระวรกัญญาฯ ซาบซึ้งมาก แต่เสียดายที่จำรายละเอียดไม่ได้แล้ว
บันทึกการเข้า
อ่านบ้างฟังบ้าง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 11 พ.ค. 01, 16:23

บันทึกของ ม.จ.หญิงฤดีวรวรรณ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.051 วินาที กับ 17 คำสั่ง