ไม่เคยเรียนเรื่องการเฝ้าศพเสียด้วยค่ะ สมัยอยู่ร.ร. ก็ไม่มีสอนไว้ในหลักสูตร

เคยแต่จำได้รางๆจากหนังสือว่า เมื่อถึงวันสิ้นโลกก็จะถึงกำหนดของวันพิพากษา หรือ The Judgment Day พระผู้เป็นเจ้าจะพิพากษาความดีชั่วของมนุษย์ในขั้นสุดท้ายว่าใครจะได้ไปอยู่สวรรค์ ใครจะตกนรกหมกไหม้ชั่วกัปป์ชั่วกัลป์ ไม่มีการเวียนมาเกิดใหม่อย่างพุทธศาสนา
เมื่อถึงวันพิพากษา ผู้ตายทั้งหมดที่หลับไหลอยู่ในสุสาน ก็จะฟื้นกลับขึ้นมาในรูปกายเดิมครบถ้วน ด้วยความเชื่อข้อนี้จึงกลายมาเป็นเงื่อนไขของการฝังศพผู้ตายลงในหลุมศพโดยไม่เผา เพราะถ้าเผาจนหมดอย่างคนไทย จะไม่มีรูปกายให้ฟื้นขึ้นมารับคำพิพากษาอีก
ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดา ก็เป็นหน้าที่ลูกหลานจะดูแลหลุมศพให้ดี มิให้ใครมารบกวนศพของบรรพบุรุษหรือก่อความเสียหายอย่างใดแก่สุสาน ถ้าเป็นเศรษฐีผู้ดีมีตระกูลก็สร้างอาคารใหญ่ไว้มั่นคงแข็งแรง บรรจุโลงศพเรียงกันเป็นตับไว้ในนั้นเสียเอง หลายๆปีจะเปิดที คือต่อเมื่อมีใครตายแล้วต้องหามโลงไปเก็บในนั้น ใส่กุญแจแข็งแรงไม่ให้ใครงัดเข้าไปได้
ส่วนกษัตริย์และราชินีก็มีที่เก็บพระศพหลายแบบ เช่นในยุคกลางก็เก็บไว้ในโบสถ์ เท่ากับเจ้าอาวาสโบสถ์ดูแลให้เสร็จสรรพ คุณประกอบไปเดินดูโบสถ์เก่าๆในอังกฤษจะเห็นรูปหินอ่อนนอนหงายพนมมือกันอยู่มากหน้าหลายตา นั่นแหละค่ะ
ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น โบสถ์สร้างใหญ่โตประจำอาณาจักร ก็มีธรรมเนียมว่าเป็นที่เก็บพระศพของพระเจ้าแผ่นดิน ทั้งราชาและราชินี หลายต่อหลายพระองค์ คือ Westminster Abbey เป็นที่เก็บพระศพเหล่านี้ ไม่ต้องมีลูกหลานมาดูแล ราชอาณาจักรและศาสนจักรดูแลให้เอง
คุณ piyasann พูดถึง heir หรือทายาท (อ่านออกเสียงว่าแฮร์ เหมือน hair แต่สะกดด้วย e ค่ะ) ถ้าเป็นกษัตริย์หรือราชินีที่ครองราชย์ ต่อให้สิ้นพระชนม์ไปโดยไม่มีลูก ก็จะมี heir อยู่เสมอ คือนับจากญาติใกล้ชิดทางสายเลือดเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นหลัก อาจเป็นน้อง เป็นหลานลุงหลานอา หรือลูกพี่ลูกน้อง ยังไงก็ได้ที่เป็นญาติ รับรองว่ายังไงก็ต้องเจอเข้าสักคน
พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๑ ทรงเป็นสาวพรหมจารีไม่เคยเสกสมรส เมื่อสิ้นพระชนม์ ราชบัลลังก์ก็ตกไปอยู่กับพระญาติที่เป็นเจ้าชายชาวสกอต ซึ่งร้อยวันพันปีไม่เคยเห็นหน้ากัน พระองค์ก็ต้องข้ามจากสกอตแลนด์มานั่งบัลลังก์อังกฤษ ชื่อพระเจ้าเจมส์ที่ ๑ ค่ะ