เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 8793 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 06 ส.ค. 12, 12:10

จดหมายพระราชทานพระอาการ โปรดเกล้าให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าบุตรีเชิญออกให้ เมื่อ เดือน ๓ แรม ๕ ค่ำปีจอ โทศก เวลาเช้า ๔ โมงเศษ มีข้อความดังนี้

"...จงรู้อาการโรคของข้าซึ่งเจ็บครั้งนี้ เดิมให้กะเสาะกะแสะกินเข้าไม่มีรสตั้งแต่เป็นมาสักปีเศษสองปีแล้ว กินเข้าเก้ามือสิบมื้อจะมีรสสักมื้อหนึ่ง เบื่อเข้าสวยกินแต่เข้าต้มเข้าบุหรี่เข้ามูนกะทิ มือหนึ่งได้สักถ้วยหนนึ่งข้อนถ้วย แล้วเจ็บหลังเสียดท้องข้างซ้ายตามชายโครงตั้งแต่ยอดยอกจนไปถึงเกลียวปัศฆาฏ ตามสายเสียดตั้งแต่ชายโครงลงไปกระทั่งข้อเท้า ได้ให้นวดก็หายบ้าง พอประทังอยู่บ้าง .... กินยาหลายขนานแล้ว พอประทังมาได้ ร่างกายก็ซูบผอมลงทุกวัน ๆ

เดี่ยวนี้เจ็บล้มหมอนนอนเสื่อ เสียดเฟ้อข้างตำหระซ้ายแล้วเกิดใหม่แต่ปิดอุจจาระปิดผายลมเสีย นอนหงายไม่ได้ ให้เสียดให้เต้นในท้อง ให้ปวดฝักให้คลื่นให้เหียน ให้หิวเป็นกำลังกินเข้าไม่ได้เลย ให้เจ็บหน้าตะโพกนอนไม่หลับ

แล้วเกิดโรคอีกอย่างหนึ่งให้ขัดปัสสาวะเบาออกเล็กน้อย ให้ปวดอยู่หลายวันจึงค่อยเบาออกมา ได้คลายปวดหน่อยหนึ่ง...."


พอจะประมาณได้ว่าการปวดร้าวชายโครงถึงข้อเท้า คงจะเป็นด้วยระบบเส้นประสาท ซึ่งอาจจะเกิดจากนิ่วในไตกระมังครับ ถึงได้ฉี่น้อย นอนได้ข้างเดียว ต้องนอนหงายอย่างเดียว ท่านคงเป็นนิ่วจนสวรรคต
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 09 ส.ค. 12, 09:01

      พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกวีเอกผู้หนึ่งในรัชกาลที่ ๒   แต่เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วก็มิได้ทรงสร้างสรรค์วรรณคดีอีก  มุ่งไปทางด้านการปกครองและศาสนา      แต่ความเป็นกวียังทิ้งร่องรอยไว้ในภาษาที่ทรงใช้  เป็นภาษาที่อ่อนหวาน สละสลวยในเนื้อความ  ถนอมน้ำพระทัยเจ้าฟ้ามงกุฎ ตลอดจนให้เกียรติผู้ที่ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึง

      เห็นได้จากจดหมายกระแสพระราชโองการที่ทรงมีไปถึงสมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร  ในช่วงเวลาท้ายๆเมื่อใกล้สิ้นแผ่นดิน   ทรงบรรยายถึงเรื่องที่อัดอั้นตันพระทัยอยู่ ในเรื่องศาสนานิกายธรรมยุติที่เจ้าฟ้ามงกุฎทรงสถาปนาขึ้นมา  ว่าด้วยการห่มผ้าอย่างพระมอญ

            “พ่อมั่งขา

            พ่อจงเป็นเชฐมัตตัญญู พ่อจงรู้วารน้ำจิต และอธิบายของข้าผู้พี่ อันขันธะทุพพลภาพมากอยู่แล้ว      ด้วยแผ่นดินศรีอยุธยา ทรงพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์แล้ว กับพี่ด้วยอีกคนหนึ่ง เป็น ๓ ตั้งแต่แผ่นดินล้นเกล้าล้นกระหม่อมสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ท่านได้ปราบดาภิเษกปีขาลนั้นมาได้ ๕ ปี ถึงปีมะแมพี่จึงเกิด    ตั้งแต่จำความได้มา จนอายุได้ ๒๒ ปี ได้บวชในแผ่นดินนั้น ต่ออายุ ๒๓ จึงสิ้นแผ่นดินไป     มาเป็นแผ่นดินของล้นเกล้าล้นกระหม่อมอีก ๑๖ ปี จึงมาเป็นแผ่นดินของพี่

            พระสงฆ์ผู้เป็นสงฆรัตนในกรุงศรีอยุธยาก็เห็นนุ่งสบงทรงจีวรเป็นลูกบวบทั้งสิ้นด้วยกัน แต่พม่ารามัญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่นั้นแหละ เห็นครองผ้าผิดกับพระภิกษุของเรา จึงเรียกกันว่า พระมอญ        เดี๋ยวนี้พระไทยก็ห่มผ้าเป็นมอญ          โดยอัตโนมัติปัญญาของพี่ เห็นว่าถ้าล้นเกล้าล้นกระหม่อมยังเสด็จอยู่ ก็เห็นจะให้ประชุมพระราชาคณะ ได้ว่ากล่าวกันให้เห็นว่าควรไม่ควรนานแล้ว นี่พี่กลัวจะเป็นบาปเป็นบุญ เป็นคุณเป็นโทษ พระสงฆ์จะแตกร้าวกันไป จึงมิได้ว่ากล่าว          แต่ใจนั้นรักแต่อย่างบุราณอย่างเดียวนั้น และสืบไปเบื้องหน้าพระภิกษุไทยซึ่งห่มผ้าเป็นมอญนั้นศูนย์ไปพี่เห็นว่าจะควรกับศรีอยุธยา
            ก็ถ้าแม้นกลับมากขึ้นอีกด้วยเหตุอันใดอันหนึ่ง ชื่อของพี่ผู้ได้เป็นเจ้าแผ่นดิน ก็มีแต่จะเสียไป เขาจะว่าเป็นเมืองมอญเมืองพม่าไปเสียมาแต่ครั้งแผ่นดินนั้น นี่แลเป็นความวิตกของพี่มากนักหนา
            ให้พ่อเห็นแก่พี่ ช่วยเอาขึ้นแจ้งกับกรมหมื่นนุชิตชิโนรส เธอเป็นบรมญาติอันใหญ่ ทรงไว้ซึ่งผ้ากาสาวพัตร์ ทั้งรู้พระสัทธรรมของพระเจ้าเป็นอันมาก แล้วก็เป็นพระภิกษุศรีอยุธยา พี่มีจีวรอยู่ผืนหนึ่ง ให้พ่อช่วยถวายกรมหมื่นนุชิต ถ้าเธอจะรับเอาไว้ครองได้ ก็ให้ถวายเธอเถิด ถ้าเธอมิรับไว้ครองแล้ว ก็ให้เอาคืนมาเสีย”
           

           เรื่องนี้ทรงอดกลั้นอยู่ถึง ๒๑ ปี จนจวบจะสวรรคต จึงได้ตัดสินพระราชหฤทัยมีจดหมายกระแสพระราชโองการ โดยโปรดให้ พระราชโอรส คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอรรณพ  กรมหมื่นอุดมรัตนราษี ต้นราชสกุล ‘อรรณพ ณ อยุธยา’ จดตามพระราชดำรัส  ณ วันอังคาร เดือน ๓ แรม ๒ ค่ำ ปีจอโทศก เพลาตี ๒ ทุ่มเศษ (พ.ศ. ๒๓๙๓)
         
           เมื่อได้รับพระบรมราชโองการ     ‘พ่อมั่ง’ ก็ไปกราบทูล "กรมหมื่นนุชิตชิโนรส" หรือสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส  ปรากฏว่า เมื่อรับพระราชทานจีวรแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ท่านก็ทรงครองทันที และทรงครองแบบที่สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีพระราชประสงค์มาตลอดพระชนมชีพ           
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 10 ส.ค. 12, 20:40

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดที่จะทำบุญให้ทานมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เช่น

๑. ทรงตั้งโรงทานแจกทานสำหรับประชาชนที่โรงทานหน้าพระบรมมหาราชวัง เมื่อความทราบถึงพระบรมชนก (รัชกาลที่ ๒) ก็ทรงโปรดยินดีในการกระทำครั้งนี้ ก็ทรงตั้งโรงทานเพิ่มเติมขึ้นอีก

๒. คราวเกิดไทยยกกองทัพไปปราบเมืองไทรบุรี กองทัพเกิดขาดแคลนอาหาร พระองค์ทรงโปรดให้ตั้งโรงทานเลี้ยงกองทัพและชาวเมือง แถมยังทรงเป็นกังวลเรื่องมีหมูหรือไม่ ทรงทราบว่าแขกไม่ทานหมู ทรงเป็นห่วงว่าจะผิดประเพณีแก่เขา

๓. เมื่อก่อสิ้นพระชนม์ ทรงแจกทานราษฎรคนละบาท ทรงแจกให้กับพระสงฆ์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก

๔. การไม่ทำบาปนี้ พระองค์ยังทรงเห็นว่า "หอยเบี้ย" ที่ใช้ในพระราชอาณาจักรของพระองค์นั้น ชาวเรือต้องจับหอยมาขายในเมืองไทย ซึ่งหมายถึงการฆ่าสัตว์ หอยจำนวนมากต้องมาตาย จึงทรงเลี่ยงติดต่อไปยังทูตอังกฤษ อยากทำเหรียญดอกบัว - เมืองไทย และเหรียญช้างขึ้นเพื่อไม่ให้เป็นบาป
บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 10 ส.ค. 12, 21:08

ยังไม่เคยอ่านพงศาวดารรัชกาลที่สาม แต่ตั้งท่าไว้แล้ว
ได้อ่านจดหมายเหตุหลวงอุดมสมบ้ติตอนต้นๆ(ยังอ่านไม่จบ)
เห็นได้ว่าความตั้งใจในการรักษาอาณาเขตของพระองค์ท่านเต็มเปี่ยม
โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างผู้บริหารประเทศในยุคประชาธิปไตย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 15 ส.ค. 12, 09:35

พระบรมปัจฉิมโอวาท  แม้แต่ประชวรหนักใกล้จะสวรรคต  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้าก็ยังทรงห่วงใยบ้านเมือง

"การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง    ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้
การงานสิ่งใดของเขาที่ดี   ควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขา  แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว"


จาก พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3
บันทึกการเข้า
tikky1974
อสุรผัด
*
ตอบ: 27


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 15 ส.ค. 12, 15:36

นักเรียนใหม่...ขอมานั่งเรียนด้วยคนนะค่ะ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 15 ส.ค. 12, 16:07

เชิญคุณทิกกี้มาที่ ห้องเรียนภาษาไทย ด้วย

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 20:51

^
ครูเพ็ญรับน้องใหม่ไปแล้ว  ยิ้มเท่ห์

      " วัดไหนไหนก็ไม่ลือระบือยศ
     เหมือนวัดราชโอรสอันสดใส
     เป็นวัดเดิมเริ่มสร้างไม่อย่างใคร
     ล้วนอย่างใหม่ทรงคิดประดิษฐ์ทำ
     ทรงสร้างด้วยพระมหาวิริยาธึก
     โอฬารึกพร้อมพริ้งทุกสิ่งขำ
     ล้วนเกลี้ยงเกลาเพราเพริศดูเลิศล้ำ
     ฟังข่าวคำลือสุดอยุธยา "
                         เพลงยาวสรรเสริญพระเกียรติ  โดย นายมี

       วัดราชโอรสฯหรือวัดจอมทองเมื่อแรกสร้างนั้นมีความงดงามแปลกตาเป็นที่เลื่องลือ กระทั่งมีชาวไทยและชาวต่างชาติลงเรือมาชมมิได้ขาดรวมทั้ง จอห์น ครอเฟิร์ด (John Crawfurd)ราชทูตอังกฤษที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในสมัยรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเขียนบันทึกยกย่องวัดแห่งนี้ไว้ว่า "เป็นวัดที่สร้างขึ้นได้อย่างงดงามที่สุดของบางกอก"

  เมื่อทรงปฏิสังขรณ์เสร็จจึงน้อมเกล้าฯถวายเป็นพระอารามหลวงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมราชชนกโปรดเกล้าฯพระราชทานนามว่า "วัดราชโอรส"อันหมายถึงวัดที่พระราชโอรสทรงสถาปนา


 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์พระอารามไว้เป็นจำนวนมาก  ถึงกับมีคำกล่าว ในรัชกาลที่ ๓ ถ้าใครสร้างวัดวาอารามก็เป็นคนโปรด  ในจำนวนวัดที่ทรงสร้างบูรณะและปฏิสังขรณ์   ไม่มีวัดไหนเป็นที่เลื่องลือเสมอด้วยวัดราชโอรส  


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 31 มี.ค. 20, 09:48

วันที่ 31 มีนาคม  วันระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า

ถวายบังคมพระมหาเจษฎา
ธิราชราชามานั่งเกล้า
แม้เสด็จนิพพานนานเนา
แต่ร่มเงาพระบุญญายังถาวร
อำนาจพระราชศรัทธามหาศาล
โปรดได้มาบริบาลผันผ่อน
หล่อเลี้ยงรักษาประชากร
สยามให้พ้นร้อนได้เย็นใจ

บุญกุศลเปนของมีจริง
พระบารมียอดยิ่งยังเห็นได้
ทั้งหมดมาประมวลถ้วนรวมไว้
ขับไข้ให้ห่างเขตประเทศเทอญ


ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 31 มี.ค. 20, 09:49

.


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 31 มี.ค. 20, 09:55

จาก FB คลังประวัติศาสตร์ไทย

เรื่องลี้ลับ ฉบับวังหลวง!!! (ภาค3)
บุรุษร่างท้วมเดินหายเข้าไปในพระบรมสาทิสลักษณ์


ในสมัยรัชกาลที่5 เมื่อการก่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทแล้วเสร็จ พระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศ์ ก็เสด็จฯย้ายเข้ามาประทับภายในพระที่นั่งองค์นี้ พระที่นั่งองค์นี้ถูกออกแบบให้มีช่องตามฝาผนังเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่างๆ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนี้ยังเป็นชัยภูมิอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งอยู่ข้างพระมหามณเทียรอันเป็นสถานที่ประทับและเป็นที่สวรรคตของพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกรัชกาล

"เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งขณะที่สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์(องค์ต้นราชสกุลจักรพงษ์)ยังทรงพระเยาว์นั้น พระองค์ได้ประทับเล่นภายในพระที่นั่ง อยู่ๆพระองค์ก็ทรงเห็นบุรุษร่างท้วมสวมเสื้อผ้าอาภรณ์โบราณแปลกตาเดินผ่านมาทางด้านหน้าพระองค์แล้วเดินเลยหายเข้าไปในพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ด้วยความที่เจ้าฟ้าจักรพงษ์พระชนม์ยังน้อย พระองค์จึงตะโกนเรียกออกไปตามประสาเด็กว่า"นั่นใครกัน ออกมาเดี๋ยวนี้..ออกมาสิ!! แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีใครออกมา

เหล่าข้าหลวงพระพี่เลี้ยงในบริเวณนั้นเมื่อเห็นเหตุการจึงซักไซ้ทูลถามสมเด็จเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ว่าพระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นอะไร ไม่นานนักความจึงทราบถึงฝ่าละอองพระบาทของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา(พระอัครมเหสีในขณะนั้น) ท่านจึงรับสั่งถามเจ้าฟ้าจักรพงษ์อีกครั้งหนึ่งว่าบุรุษนั่นมีรูปลักษณะอย่างไรหน้าตาผิวพรรณเป็นอย่างไร สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์จึงตอบไปตามที่พระเนตรเห็น สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯก็ทรงทราบได้ทันทีว่า บุรุษที่เดินหายเข้าไปในภาพนั้น แท้จริงคือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมาปรากฏพระองค์ให้เจ้าฟ้าจักรพงษ์ได้ทอดพระเนตรเห็น

ดังนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาฯจึงทรงรีบเป็นธุระจัดหาดอกไม้ธุปเทียนแพพาสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ไปถวายและขอขมาลาโทษที่ไปล่วงเกินดวงพระวิญญาณ หลังจากนั้นเจ้านายและผู้คนในวังทั้งหลายจึงได้รู้ว่าดวงพระวิญญานสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ทุกรัชกาลจะยังคอยปกปักรักษาพระบรมหาราชวังและพสกนิกรของพระองค์อยู่เสมอ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 31 มี.ค. 20, 09:57

อีกเวอร์ชั่นหนึ่ง เล่าว่า

บรรดาปราสาทพระราชมณเฑียรที่สร้างมาพร้อมกับกรุงรัตนโกสินทร์นั้น นอกจากจะมีความใหญ่โตโอฬารแล้ว ยังมีความเก่าดูน่าวังเวง ทั้งยังไม่ค่อยมีผู้คน บรรยากาศจึงชวนให้นึกถึงเรื่องผีและวิญญาณ ชาววังฝ่ายหน้าฝ่ายในจึงมีเรื่องประเภทนี้เล่ากันมาก และเรื่องที่ซุบซิบกันมากกว่าทุกเรื่องก็คือ เรื่องพระวิญญาณ ร.๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีผู้อ้างว่าเห็นอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะพวกที่อยู่เวรยามในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งชั้นบนเป็นที่เก็บพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี และเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปขนาดใหญ่ของรัชกาลต่างๆ ซึ่งเป็นสถานที่โอ่โถงรโหฐานและวังเวงมากแห่งหนึ่ง

ทุกคนที่อ้างว่าเห็นเล่าตรงกันว่า ทรงพระภูษาแดงลอยชายปราศจากฉลองพระองค์ แค่เห็นด้านหลังก็รู้ว่าเป็นองค์พระนั่งเกล้าฯ เพราะอ้วนใหญ่กว่าทุกรัชกาล คนที่อยู่เวรยามเห็นก็ไม่กล้าร้อง เพราะพระเจ้าอยู่หัวบรรทมอยู่ไม่ห่างไปนัก กลัวจะถูกเฆี่ยนหลังลาย ได้แต่ตัวสั่นงันงกรีบก้มกราบด้วยความกลัว

เรื่องหนึ่งเล่ากันว่า เหตุเกิดตอนกลางวันขณะที่พระอาทิตย์ยังไม่สิ้นแสง เวลาราว ๕ โมงเย็น พวกฝ่ายในได้เชิญเสด็จ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ หรือ “ทูลกระหม่อมเล็ก” ไปทรงเล่นตามประสาเด็กกับพระโอรสของเจ้านายต่างกรมอีก ๒-๓ พระองค์ที่มีชันษา ๕-๖ พรรษาไล่เลี่ยกัน ในห้องโถงชั้นล่างของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เพราะเป็นห้องที่โล่งไม่มีเครื่องตกแต่ง เพื่อให้เจ้านายพระองค์น้อยกระโดดเต้นกันได้สะดวก

ในขณะที่เจ้านายพระองค์น้อยกำลังทรงเล่นซ่อนหากันอยู่ โดยทูลกระหม่อมเล็กเป็นฝ่ายหา ก็ทรงร้องโวยวายขึ้นมาว่า

“ใครนี่...ใครที่อยู่ข้างนอกเข้ามานี่หน่อยซิ”

พวกมหาดเล็กก็วิ่งกันเข้าไปด้วยความแปลกใจ ทรงรับสั่งอย่างไม่พอพระทัยว่า

“พิลึกแท้ๆ ซุ่มซ่ามเข้ามาได้ยังไง...เร็วไปจับตัวมาให้ฉัน”

ทรงชี้พระหัตถ์ไปทางห้องมุขตะวันออกที่เป็นห้องรับรองแขกเมือง

“ใคร รูปร่างเป็นยังไงพระเจ้าข้า” มหาดเล็กคนหนึ่งทูลถาม
“อ้วนๆ ตัวใหญ่” ทรงยกพระหัตถ์ทำกิริยาประกอบ “แก่แล้ว นุ่งผ้าแดงแปร๊ดเลย เดินหายเข้าไปทางนี้แหละ”

มหาดเล็กได้ฟังก็สังหรณ์ใจกันแล้ว และ เมื่อเดินค้นหาก็ไม่พบสิ่งผิดปกติ ถามยามรักษาการณ์ทั้ง ๒ ด้านก็ว่าไม่เห็นใครผ่านเข้าไป แต่เมื่อทูลกระหม่อมเล็กทรงพระดำเนินไปถึงพระบรมรูปรัชกาลต่างๆ ทรงหยุดเพ่งพินิจพระบรมรูปรัชกาลที่ ๓ อยู่ชั่วครู่ ก็ทรงชี้พระหัตถ์ไปที่พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งอย่างเด็กๆ ที่ยังไร้เดียงสาว่า

“นี่แหละ...นี่แหละ...อีตาคนนี้นี่แหละ”

เท่านั้นเอง เหล่ามหาดเล็กก็ขนลุกซู่ รีบอุ้มทูลกระหม่อมเล็กกลับไปส่งให้ฝ่ายในทันที

เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระพันปีหลวงทรงทราบ จึงทรงรำพึงว่า พวกเด็กๆไปวิ่งเล่นกันอึกทึกครึกโครมเป็นที่รบกวนพระราชหฤทัย หรือทรงระลึกถึงลูกๆหลานๆ จึงปรากฏพระองค์ให้เห็น ทรงจัดพวงมาลัยและธูปเทียนให้ข้าหลวงไปขอพระราชทานอภัยอย่างเงียบๆ โดยไม่แพร่งพรายให้เอิกเกริก พร้อมรับสั่งอย่างเฉียบขาดว่า

“หากอีคนไหนนำเรื่องนี้ไปพูด จะถูกเฆี่ยนหลังขาดเชียว”

เรื่องนี้จึงถูกปกปิดเป็นเรื่องลับ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะมีคนซุบซิบ นานๆเข้าก็ซุบซิบดังขึ้น จนกาลเวลาผ่านไปหลายปี จึงเป็นเรื่องที่เล่ากันอย่างเปิดเผยของทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน

นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับผีและวิญญาณ ถ้าจะพูดกันอย่างสำนวนทุกวันนี้ ก็ต้องบอกว่า “ไม่เชื่อ ก็อย่าลบหลู่ละกัน”

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9580000075001
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.083 วินาที กับ 20 คำสั่ง