เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4]
  พิมพ์  
อ่าน: 41769 อิเหนา ฉบับพระนิพนธ์สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 25 ก.ย. 12, 15:59

   เมื่อใกล้จะถึงตอนจบของเรื่อง  ตัวละครก็แยกย้ายกันไป   เราคงจำได้ถึงตัวประกอบชื่อระเด่นวิรันตะกะ โอรสของท้าวจกรกาที่ติดตามปันหยี ยาเหย็งไปเป็นคนสนิททุกหนทุกแห่งคล้ายสังคามาระตาในอิเหนา  แต่ไม่มีบทอะไรมากกว่านั้น     ตอนนี้อินูก็ปูนบำเหน็จให้ด้วยการให้กลับไปครองเมืองของพ่อตามเดิม   และประทานนางบุษบาส้าหรีธิดาท้าวมันดาหราไปให้เป็นชายา    ส่วนพี่เลี้ยงของอินูก็ไปได้ครองจังหวัด พร้อมกับได้พี่เลี้ยงของระเด่นจันตะหรา กิระหนาไปเป็นภรรยาด้วย  เป็นอันว่าเป็นตอนจบของตัวละครหนุ่มสาวทุกตัวในเรื่อง
   ท้าวดาหาเมื่อกลับมาถึงเมืองก็เลื่อนตำแหน่งมหาเดหวีขึ้นเป็นประไหมสุหรี   นางก็ดำรงตำแหน่งนี้ด้วยดี  จนได้รับการจากราษฎรยกย่องว่าเป็นผู้มีจริยธรรมและขันติธรรม    ข้อนี้คงจะทำให้ลิกูเดือดดิ้นมิใช่น้อย  ชานหมากยาเสน่ห์ที่เคยกินประจำนานเข้าก็หายขลัง ทั้งเกือบหมดเพราะแบ่งให้ลูกสาวไปด้วย    ก็ใช้ให้น้องชายเดินทางไปขอจากนักพรตคนเดิมมาอีกครั้ง     น้องชายก็ทำตาม  แต่เคราะห์ร้าย  คราวนี้ไปถึงเชิงเขาที่พำนักของนักพรตผู้นั้นเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง  ฟ้าผ่าลงมาบนศีรษะตายคาที่
   พอลิกูทราบข่าวก็เสียใจร้องไห้ทั้งวันทั้งคืน อาลัยน้อง  ทั้งหวังว่าท้าวดาหาจะเห็นใจที่ตัวเองต้องสูญเสียน้องชายไป   แต่ในเมื่อยาเสน่ห์หมดฤทธิ์เสียแล้ว   ท้าวดาหาก็เลยไม่เหลียวแล     นางก็ยิ่งตรอมใจ กลายเป็นโรคร้าย ซูบผอมเหลือหนังหุ้มกระดูก จนกระทั่งวันหนึ่งก็เลยตายไปโดยท้าวดาหาเองก็ไม่รู้เรื่องด้วย    มารู้เมื่อตายไปแล้วก็ให้พนักงานจัดการฝังศพไปตามควร
    เป็นอันจบบทบาทของตัวร้ายในเรื่องแต่เพียงนี้

   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 27 ก.ย. 12, 11:01

ตอนจบของเรื่องนี้เป็นแบบแฮปปี้เอนดิ้งกันอย่างทั่วถึง    ไม่เว้นแม้แต่ท้าวมันดาหวันซึ่งไม่มีน้ำยานักในการรบ  ต้องยกลูกสาวทั้งสองให้ปันหยี สะมิหรังไป  แล้วก็ส้มหล่น ลูกสาวคนหนึ่งได้เป็นชายาพระเจ้ากรุงกุรีปั่น อีกคนเป็นชายาพระเจ้ากรุงจกรกา   พ่อตาก็เลยได้หน้าได้ตาเบิกบานไป

เมื่ออภิเษกพระโอรสให้ครองเมืองแทนแล้ว  ท้าวกุรีปั่นก็สละราชบัลลังก์ปลีกตัวออกจากทางโลก ไปบวชอยู่ที่กุหนุงวิลิศ ซึ่งเป็นที่อยู่ของพระขนิษฐา บิกู คัณฑะส้าหรี   นับแต่นั้นก็มีนักบวชและบัณฑิตมากมายไปเฝ้ากันหนาแน่นอยู่ที่นั่น   ท้าวกุรีปั่นก็ครองเพศนักบวชอยู่ที่นั่นตลอดไป

ส่วนทางเมืองกากะหลัง  ท้าวกากะหลังก็จัดการแต่งตั้งพระโอรสคือสิงหะมนตรีขึ้นครองเมืองต่อไป  ส่วนพระองค์เองก็เจริญรอยตามพระเชษฐา ชวนพระชายาออกบวชตามท้าวกุรีปั่น ไปประทับอยู่ที่กุหนุงวิลิศด้วยกันอีก 2 องค์

กรุงกุรีปั่นและกรุงกากะหลังก็เจริญรุ่งเรือง มีพ่อค้าวานิชเดินทางมาค้าขายอุ่นหนาฝาคั่ง    นักบวชทั้งสองคือท้าวกุรีปั่นและท้าวกากะหลังก็สวดมนตร์สรรเสริญองค์สังหยัง(น่าจะตรงกับองค์ปะตาระกาหลาในอิเหนา) อยู่เป็นประจำ  เพื่อจะให้พระเจ้าทรงโปรดบันดาลความผาสุกสถาพรแก่ลูกหลานที่ครองกรุงกันสืบต่อไป

เรื่องปันหยี สะมิหรังก็จบลงเพียงแค่นี้
ต่อไปจะเปรียบเทียบกับเรื่องอิเหนาค่ะ  ขอเวลาหน่อย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 29 ก.ย. 12, 18:55

เรื่องอิเหนาในถิ่นกำเนิดคือประเทศชวานั้นมีหลายสำนวนด้วยกัน    อิเหนาของไทยว่ากันว่าตรงกับฉบับมาลัตของชวา  ไม่ใช่ฉบับ หิกะยัต ปันหยี สะมิหรัง ซึ่งเป็นฉบับนี้
สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯทรงวิเคราะห์ว่าอิเหนาน่าจะเป็นนิทานมากกว่าพงศาวดาร   ถ้าพิจารณาจากฉบับนี้ดิฉันก็อยากจะสันนิษฐานต่อไปว่า น่าจะเป็นนิทานที่พวกกำบูหรือละครเร่นำมาเล่นละคร   เพราะมีกล่าวเอาไว้ชัดเจนในเนื้อเรื่องว่า นางเอกเมื่อปลอมเป็นกำบู เล่นละครเรื่องปันหยี สะมิหรังถวายให้อินูซึ่งเป็นพระเอกและชายาของอินูได้ดู   
จากเนื้อเรื่อง ปันหยี สะมิหรัง เป็นคนละฉบับกับอิเหนาฉบับดั้งเดิมจากมลายู  ที่แพร่เข้ามาในไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา และมาแต่งใหม่อีกครั้งในสมัยรัตโกสินทร์   จึงเอาเนื้อเรื่องมาเทียบกันได้ยาก    เท่าที่เห็นว่าเหมือนกัน ก็คือในโครงเรื่องใหญ่  มีตรงกันว่า
๑ กล่าวถึงพระราชาพี่น้องวงศ์เทวัญ ลงมาครองเมืองต่างๆในชวา     ในปันหยี สะมิหรังมีพี่น้อง 3 คน  ในอิเหนามี 4 คน
๒ ลูกชายและลูกสาวของเมืองพี่เมืองน้อง ได้หมั้นหมายกันตั้งแต่เล็ก
๓ พระเอกนางเอกของเรื่องมีเหตุให้ต้องพลัดพรากจากกัน    จนต้องมะงุมมะงาหราตามหากัน
๔ นางเอกปลอมตัวเป็นชาย
๕ พระเอกเจอนางเอกแล้วจำไม่ได้ 
๖ ในช่วงที่มะงุมมะงาหรา  ทั้งพระเอกนางเอกต่างก็ได้เมืองตามรายทางไว้ในอำนาจ  ได้ธิดาเจ้าเมืองมาเป็นบริจาริกา  เพิ่มพูนบารมีกันทั้งสองฝ่าย
๗ เมื่อจำกันได้ ก็จบกันด้วยดี
๘ ชื่อเสียงของพระเอกเลื่องลือไปไกลเมื่อขึ้นครองราชย์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 30 ก.ย. 12, 11:29

ไม่แน่ใจว่าเรื่องเดิมของปันหยี สะมิหรังฉบับนี้ เป็นฉบับที่มีผู้แต่งรวดเดียวจบตั้งแต่ต้นถึงปลาย   หรือว่าแต่งเป็นตอนเล็กตอนน้อยก่อน  เล่นเฉพาะบางตอน แล้วต่อมาจึงมีผู้เรียบเรียงเข้าด้วยกันเป็นเรื่องยาวตั้งแต่ต้นจนจบ     แต่จะเป็นอย่างไหนก็ตาม   ลักษณะการวางโครงเรื่องออกไปทางดราม่า เพื่อสนุกสนานเร้าใจ มากกว่าจะเห็นร่องรอยการบันทึกพงศวดารอยู่ในเนื้อเรื่อง   

ถ้ามองในแง่ดราม่า   ปันหยี สะมิหรังมีองค์ประกอบด้านนี้ค่อนข้างมาก  เช่นมีตัวละครโหล (stock character) เป็นตัวเอกๆอยู่หลายตัว    คำว่าตัวละครโหลนี้คือตัวละครยอดนิยมที่ปรากฏอยู่ในนิทานและเรื่อยมาจนนิยายฮิททั่วไปไม่ว่าชาติไหน    เช่นนางเอกเคราะห์ร้ายถูกข่มเหงรังแก   
ตัวละครโหลตัวนี้ ฝรั่งมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า damsel in distress  หรือถ้าเป็นนิทานเจ้าหญิงเจ้าชายก็เรียกว่า princess in distress   ซินเดอเรลลาในนิทานฝรั่งเศสก็ดี  สโนไวท์ในนิทานพื้นบ้านของเยอรมันก็ดี  นางเอื้อยในนิทานปลาบู่ทองก็ดี    เรื่อยมาจนพจมานในบ้านทรายทอง  ล้วนแต่ damsel in distress ทั้งนั้นค่ะ
ส่วนปันหยี สะมิหรัง   damsel หรือ pricess in distress  คือระเด่นจันตะหรา กิระหนา 
ตัวละครโหลตัวที่สอง คือแม่เลี้ยงใจร้าย  cruel or wicked  stepmother   อันที่จริงคนใจร้ายมีได้ทั้งชายและหญิง  แต่พ่อเลี้ยงใจร้ายมักไม่ค่อยมีให้เห็นเป็นตัวละครโหล   แม่เลี้ยงใจร้ายดังกว่า    ซินเดอเรลลา สโนไวท์ ปลาบู่ทอง  ไปจนหม่อมป้าแห่งบ้านทรายทอง  จัดเข้าประเภทแม่เลี้ยงใจร้ายได้ครบถ้วน
ในปันหยี สะมิหรัง ก็แน่นอน...ลิกู แม่เลี้ยงของจันตะหรา กิระหนา  ตรงเป๊ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 01 ต.ค. 12, 09:16

นอกจากมีแม่เลี้ยงใจร้าย  ก็ต้องมี wicked sister มาเป็นลูกคู่ด้วย   ซินเดอเรลลามีพี่สาวสองคนลูกแม่เลี้ยง ที่คอยกลั่นแกล้ง   นางเอื้อยมีนางอ้ายนางอี่   ในปันหยี สะมิหรัง มีก้าหลุ อาหยัง ซึ่งออกเวทีมาเพื่อการอิจฉาโดยเฉพาะ   ไม่มีบทอื่น
ยังไม่รวมตัวละครโหลตัวอื่นๆ เช่นเจ้าชายรูปงาม พระเอกของเรื่อง     อินูในเรื่องนี้บุคลิกภายนอกคล้ายอิเหนา แต่น่าจะจืดกว่าในเรื่องนิสัยเจ้าชู้และเอาแต่ใจ   

เนื้อเรื่องของปันหยี สะมิหรัง  เน้นไปที่เรื่องอิจฉา  รักๆใคร่ๆ และพลัดพรากจากกัน   ซึ่งถ้าเป็นละครเร่แล้วก็น่าจะสบอารมณ์ชาวบ้านอยู่มาก   เจ้าหญิงนางเอกต้องตกระกำลำบาก พลัดพรากจากบ้านเมือง    ปลอมตัวเป็นชาย  เจอกับพระเอกแต่พระเอกก็จำไม่ได้  เป็นสีสันให้คนดูได้ลุ้นไปจนกระทั่งจบเรื่อง   

ส่วนเรื่องการทำศึกแผ่พระราชอำนาจ ซึ่งเป็นหัวใจของพงศาวดาร  เรื่องนี้กล่าวถึงเหมือนกัน แต่ก็เป็นเพียงฉากหลังของเรื่องซึ่งไม่ได้เน้นอารมณ์สะเทือนใจจากเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด    จะเห็นได้ว่าผู้แต่งไม่ได้พูดถึงความสูญเสียหรือความสะเทือนใจในการแพ้ชนะในสงคราม 
ตัวอย่างคือระเด่นวิรันตะกะโอรสของท้าวจกรกาหันมาจงรักภักดีกับปันหยี ยาเหย็งจนถึงกับติดตามเป็นคนสนิทออกจากเมืองไปด้วย  ไม่ได้รู้สึกเลยว่านี่คือศัตรูที่ฆ่าพ่อตัวเองและชิงบัลลังก์ไป   แม้แต่ลุงและอามาแก้แค้นแทนพ่อ  ระเด่นวิรันตะกะก็ไม่ได้เข้าร่วมมือด้วย

นอกจากนี้เหตุผลอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้ในเรื่องพูดถึงการแผ่อำนาจของอินูผู้เป็นพระเอก    แต่ชื่อเรื่อง ปันหยี สะมิหรัง เป็นชื่อนางเอกเมื่อปลอมเป็นชาย  ก็คงพอจะบอกได้ว่า เรื่องนี้ ตัวเอกที่แท้จริงคือใครกันแน่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 03 ต.ค. 12, 11:18

  ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งที่เห็น ระหว่างปันหยี สะมิหรังกับอิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒  คือความสมเหตุสมผล หรือที่มาที่ไปของเรื่อง อิเหนามีประเด็นสอดคล้องเป็นเหตุเป็นผลกันมากกว่า      ผิดกับปันหยี สะมิหรังที่ผูกเรื่องไว้หลวมๆ ชวนให้ฉงนสนเท่ห์และคัดค้านได้หลายจุดด้วยกัน
   ในอิเหนา  การที่อิเหนามะงุมมะงาหรา ยกพลไปตามเมืองใหญ่ๆ  ๒ ครั้งใหญ่ก็มีสาเหตุ  คือไปติดผู้หญิงอันได้แก่นางจินตะหราลูกสาวเจ้าเมืองหมันหยา  ส่วนมะงุมมะงาหราครั้งที่สอง เกิดจากตามหาบุษบาที่ถูกลมหอบไป       แต่ระเด่นจันตะหรา กิระหนาหนีพ่อและแม่เลี้ยงออกจากเมืองดาหา ไปตั้งเมืองใหม่ ปล้นสะดมคนเดินทาง แล้วตั้งตัวเป็นปันหยี สะมิหรังเจ้าเมืองผู้ชายนี่ยังมองไม่เห็นเหตุผลว่าทำไม   ในเมื่อทางง่ายกว่านั้นก็คือตรงไปพึ่งบารมีท้าวกุรีปั่นผู้เป็นลุงและเป็นพ่อของคู่หมั้นก็หมดเรื่อง       
   ส่วนนางพี่เลี้ยงที่ติดตามมา บทจะปลอมเป็นชายก็กลายเป็นแม่ทัพเอกฝีมือเลิศขึ้นมาเฉยๆ ไม่มีที่ไปที่มา  รบใครชนะหมด  แม้แต่แม่ทัพนายกองของเมืองใหญ่อย่างกุรีปั่น
   เมื่ออินูยกพลมาที่เมืองของปันหยี สะมิหรัง   เจอกันสมใจแล้ว  นางเอกก็อมพะนำไว้ไม่ยอมเปิดเผยตัว  จนแล้วจนรอด     ก็ไม่รู้ว่าทำไปทำไมเหมือนกัน      อินูเองก็ไม่รู้ว่านี่คือผู้หญิง แต่ก็พะวงหลงใหลรักใคร่จนได้   จนไม่ไยดีเจ้าสาวก้าหลุ อาหยัง     เมื่อไม่ไยดีแต่แรกก็ไม่น่าจะยอมแต่งด้วย  แต่เมื่อยอมแต่งแล้วก็กลับหนีชายาออกจากเมือง กลับไปหาปันหยี สะมิหรัง เสียเฉยๆ ทั้งๆก็ไม่รู้ว่านี่คือผู้หญิง และเป็นคู่หมั้น   ดูมันสับสนกันพิกล
   เรื่องของก้าหลุ อาหยัง ก็เป็นความไม่ลงตัวของบทบาทในเรื่องอีกประเด็นหนึ่ง   ตามเนื้อเรื่องเธอเป็นลูกสาวท้าวดาหา แม้เกิดจากลิกูก็ถือได้ว่าเป็นมเหสีอันดับสาม  ไม่ใช่นางทาส    เธอจึงเป็นเจ้าหญิงโดยกำเนิด     เธอได้อภิเษกกับอินูก่อนหญิงอื่น อย่างถูกต้องตามราชประเพณี   ก็ต้องถือว่าเธอเป็นประไหมสุหรีของอินู   ไม่ใช่จันตะหรา กิระหนาซึ่งมาทีหลัง     
   ประเด็นนี้ ในเรื่องอิเหนาเองคำนึงถึงความถูกต้องตามประเพณี     เห็นได้จากเมื่ออภิเษกอิเหนาในตอนท้าย   จินตะหราอยู่ในตำแหน่งประไหมสุหรีฝ่ายขวา   ส่วนบุษบาแม้เป็นคู่หมั้นเดิมและเป็นวงศ์เทวาสูงกว่าจินตะหรา ก็ยังต้องเป็นประไหมสุหรีฝ่ายซ้าย   ตามลำดับก่อนหลัง     แต่ในปันหยี สะมิหรัง เหมือนคนแต่งไม่รู้จะทำอย่างไรกับก้าหลุ อาหยัง  เลยทำเป็นลืมว่าเธอเป็นชายาเอกของอินู   แต่จับเธอแต่งงานใหม่ไปกับสิงหมนตรีเสียเฉยๆ  โดยท้าวดาหาผู้พ่อก็ไม่ได้ปริปากว่าอะไรสักคำ     ไม่มีใครมองด้วยว่า ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความผิดของก้าหลุ อาหยังเลยสักนิดเดียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 04 ต.ค. 12, 14:47

 ทางด้านการวางตัวละคร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง   วรรณกรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะเป็นที่จดจำกันได้ยาวนานมากน้อยแค่ไหน ก็แล้วแต่ว่าจะสร้างตัวละครเอกให้มีสีสันประทับใจ  พอจะตราตรึงในความทรงจำของคนอ่านได้สั้นหรือยาวนานแค่ไหน      เราคงได้ยินผ่านหูบ่อยๆว่า  คนอ่านมักจะจำชื่อเรื่องไม่ได้ แต่จำตัวละครเอกที่ประทับใจพวกเขาได้แม่นยำกว่า

ตัวละครจะประทับใจคนอ่าน(หรือคนดู)มากน้อยแค่ไหนไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นคนดีหรือเลวแค่ไหน   แต่อยู่ที่มีความโดดเด่นชัดเจน ผุดขึ้นมาเหนือตัวละครอื่นๆได้หรือไม่     ในอิเหนา เราคงจะเห็นว่าไม่มีตัวละครชายคนไหนเด่นขึ้นมาได้เท่าอิเหนา  มีทั้งสีขาวและดำอยู่ในตัว  ทั้งรูปงาม  เก่งกล้า  นิสัยดื้อรั้น เอาแต่ใจตัวเองเป็นใหญ่   ไม่เกรงกลัวใคร  ข่มตัวละครชายอื่นๆให้ด้อยสีสันลงไปได้หมด โดยเฉพาะจรกา ซึ่งเป็นคู่แข่งก็ขี้ริ้วขี้เหร่  ซ้ำยังบทบาทถูกจำกัดจนจืดชืดไร้อารมณ์ใดๆ 

เมื่อเทียบกับอินูในเรื่องปันหยี สะมิหรัง อินูดูครึ่งๆกลางๆอยู่หลายตอน  ตอนเปิดฉากออกมาก็ไม่ปรากฏว่าเก่งไปกว่านางเอกซึ่งสวมบทบาทเป็นเจ้าเมืองชาย     ต่อมาถูกอาจับแต่งงานก็ยอมแต่ง แล้วสลัดความรับผิดชอบด้วยการหนีออกจากเมืองทีหลัง    จะว่ารักและซื่อสัตย์ต่อคู่หมั้นก็ไม่เชิง เพราะเดินทางไปตามรายทางก็ไปได้ลูกสาวเจ้าเมืองอื่นๆมาเป็นชายาด้วยความเต็มใจ     จะว่าฉลาดก็ยิ่งไม่ใช่ใหญ่ เพราะเจอปันหยี สะมิหรังตอนปลอมเป็นกำบูก็ยังจำไม่ได้    การวางตัวให้อินูทำอะไรครึ่งๆกลางๆหลายตอนแบบนี้ ไปลดทอนน้ำหนักความประทับใจลงมาก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 05 ต.ค. 12, 09:56

    นอกจากน้ำหนักตัวละคร ของปันหยี สะมิหรัง  น้อยกว่าเมื่อเทียบกับอิเหนา การวางโครงเรื่องก็มีหลายตอนซึ่งไม่สมเหตุสมผลเช่นกัน    ทำให้ขาดจุดเด่นไปเป็นช่วงๆ   อย่างเช่นการสร้างเมืองใหม่ของปันหยี สะมิหรังด้วยการปล้นสะดมคนเดินทางแล้วชักชวนกวาดต้อนเข้ามาเป็นชาวเมือง   
   หลังจากลงทุนลงแรงขนาดนี้ บทปันหยีจะทิ้งเมืองไปก็ทิ้งไปง่ายๆ     ข้อนี้ผู้แต่งอ้างว่าเกรงชาวเมืองรู้ว่าตนเองเป็นหญิงก็ฟังไม่ขึ้น  เพราะตอนมาตั้งเมืองก็ยกขบวนชาววังจากตำหนักมามากมาย   ทุกคนย่อมรู้ว่าเจ้านายของตนเป็นหญิง  คนมากขนาดนี้ จะเก็บความลับไว้ย่อมทำไม่ได้อยู่ดี   จากนั้นเมื่อปันหยีกลับมาอีกครั้ง  เมืองก็ร้างไปแล้วต้องรื้อเมืองทิ้ง     เป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้แสดงความสามารถใดๆของปันหยี สะมิหรัง
   เหตุการณ์อื่นๆที่ผู้แต่งผูกขึ้น   ดูครึ่งๆกลางๆอยู่หลายตอน  สิงหมนตรีลูกชายท้าวกากะหลังถูกวางตัวให้เป็นตัวละครสำคัญมาแต่แรก เพราะเอ่ยควบคู่ไปกับพระเอกนางเอก    แต่เมื่อแสดงบท แทนที่จะเป็นผู้ร้ายหรือคู่แข่งสำคัญก็กลายเป็นตัวตลกบ้าๆบอๆ ไป   แต่ตอนจบก็หักมุมให้ขึ้นครองเมือง กลายเป็นพระราชาที่ดี แฮปปี้เอนดิ้งไปเฉยๆ       เช่นเดียวกับก้าหลุ อาหยังตัวอิจฉาของเรื่อง ที่ตอนจบก็ได้เป็นราชินี ทำเสน่ห์สามีต่อไปโดยไม่มีใครว่า
   ส่วนลิกูซึ่งเป็นนางแม่เลี้ยง  ผู้ก่อเรื่องขึ้นมา  บทจะหมดบทก็หมดไปเฉยๆ คืออยู่ๆเสน่ห์ยาแฝดก็หายขลังไปง่ายๆ     แล้วก็ตายไปโดยไม่ได้เข้มข้นให้สมกับผูกเรื่องขึ้นมา   การวางโครงเรื่องให้เข้มข้น   แล้วคลี่คลายแบบง่ายๆทำนองนี้มีอยู่หลายตอนในเรื่อง
   

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 08 ต.ค. 12, 21:33

   ความแตกต่างอีกอย่างระหว่างอิเหนากับปันหยี สะมิหรังก็คือ   เรื่องอิเหนามีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวระเด่นมนตรีผู้เป็นตัวเอกของเรื่อง  เมื่อดูจากเนื้อเรื่องแล้วจะเห็นได้ว่า ความเป็นไปทั้งหลายมีเหตุเกิดมาจากการแหวกกรอบประเพณีของพระเอกทั้งสิ้น       ความเป็นหนุ่มคะนองและเป็นเจ้าชายของเมืองใหญ่ที่ไม่ต้องเกรงใจใคร ทำให้อิเหนาเป็นคนเอาแต่ใจ อยากทำอะไรก็ทำ     อยากทิ้งคู่หมั้นไปมีหญิงอื่นที่ไม่คู่ควรกันก็ทำตามอยาก    ต่อมาเห็นคู่หมั้นสวยกว่าก็ลืมคนเก่า อยากได้คนใหม่    เมื่อผู้ใหญ่ไม่เห็นใจ อิเหนาก็ใช้วิธีเผาเมือง ลักตัวผู้หญิงไปเสียเฉยๆ
   การกระทำที่ลบหลู่ผู้ใหญ่และก่อความเดือดร้อนให้ทุกฝ่ายแบบนี้ เมื่อรู้ไปถึงบรรพบุรุษผู้เป็นเทพชั้นผู้ใหญ่ อิเหนาจึงถูกลงโทษให้พลัดพรากจากคนรัก และพลัดบ้านพลัดเมืองมะงุมมะงาหราไปหลายปีกว่าจะกลับมาครองเมืองได้       กวีผู้แต่งได้แสดง "เหตุ" และ "ผล" ที่ตามเหตุมาให้เข้าใจกันดี
   ผิดกับปันหยี สะมิหรัง  ที่อย่างแรกคือศูนย์กลางของเรื่องอยู่ที่ตัวนางเอกมากกว่าพระเอก     เมื่อดูจากเนื้อเรื่องแล้ว   ผู้แต่งอาจมีจุดประสงค์ให้คนดู(หรือคนอ่าน)สงสารการตกระกำลำบากจนต้องพลัดบ้านพลัดเมืองของระเด่นจันตะหรา กิระหนา   มีคู่หมั้นก็ต้องพลัดพรากจากกันอยู่นาน     แต่ความอ่อนเหตุผลในการผูกเรื่องทำให้กลับตาลปัตร  กลายเป็นว่านางเอกไม่ควรจะทำตัวเองให้ลำบากขนาดนั้นก็ได้ แต่ก็กลับทำ      เช่นการปิดปากไม่ยอมบอกพระเอกว่าตัวเองเป็นใครเมื่อพบกันครั้งแล้วครั้งเล่า    การสร้างเมืองแล้วก็ทิ้งเมืองไปง่ายๆ   รวมทั้งทิ้งแม่เลี้ยงที่แสนดีกับตัวเองด้วย โดยไม่บอกเหตุผล    การมีชายากำมะลอ   การปลอมเป็นกำบูทั้งๆไม่เคยฝึกละครมาก่อน  ฯลฯ   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 08 ต.ค. 12, 21:35

     ทั้งหมดนี้ผู้แต่งอาจมุ่ง "ดราม่า" ในเรื่อง มากกว่าจะให้น้ำหนักกับเหตุและผลในพฤติกรรมตัวละคร      ถ้ามองในแง่สีสัน ปันหยี สะมิหรังก็มีสีสันทำนองเดียวกับเรื่องจักรๆวงศ์ๆของไทย คือไม่ต้องไปคิดถึงเหตุผลอะไรมาก     ลูกเขยฆ่าพ่อตาที่เป็นยักษ์ตาย  ลูกสาวก็ไม่เห็นจะสะเทือนใจ   เศร้าโศกที่พ่อตายแล้วก็แล้วกัน หลังจากนั้นก็อยู่กับสามีต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
     ดังนั้นถ้าจะอ่านปันหยี สะมิหรังก็ควรคำนึงถึงข้อนี้ด้วย    จึงจะอ่านได้สนุก   

     ขอจบกระทู้เพียงแค่นี้ค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.052 วินาที กับ 19 คำสั่ง